‘ความเป็นชายอันเป็นพิษ และการจัดสรรทรัพยากรที่อยุติธรรมใน Dallas Buyers Club

29 มิถุนายน 2563

Amnesty International Thailand

บทความโดย เปมทัต จันทร์หอม  

ภาพ Dallas Buyers Club

Dallas Buyers Club เป็นภาพยนตร์แนวดรามาชีวประวัติที่กำกับโดยณอง-มาร์ค เวลเล จุดเด่นของภาพยนตร์คือการนำเสนอประเด็นความอยุติธรรมในสังคมอย่างความไม่เท่าเทียมทางเพศสภาพและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรทางการแพทย์ได้อย่างแยบยล ถึงแม้ว่าประเด็นที่หยิบยกขึ้นมาจะเป็นเรื่องเคร่งเครียด จนบางคนอาจมองว่าเข้าถึงยาก แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็หาได้ละเลยหน้าที่หลักของมันไม่ นั่นคือดึงผู้ชมให้ติดตามเรื่องราวที่นำเสนอและตรึงความสนใจไว้ตลอดเรื่อง โดยต้องชื่นชมสองผู้เขียนบทอย่างเคลก โบร์เท็นและเมลิสา วอลแล็คที่วางปมของตัวละครหลักได้หนักแน่นในช่วงต้นเรื่อง และฝีมือการแสดงของสองแมทธิว แม็คคอนาเฮย์ในบทบาทรอน วูดรูฟ และจาเร็ด เลโตในบทบาทชารอนที่ถ่ายทอดความรู้สึกของตัวละครได้อย่างสมจริง ซึ่งส่งพวกเขาทั้งสองเข้ารับรางวัลออสการ์ ด้วยเหตุนี้ Dallas Buyers Club จึงสามารถสอดประสานประเด็นความอยุติธรรมทั้งสองได้อย่างแนบเนียนและดึงผู้ชมให้คล้อยตามเหตุผลของเนื้อเรื่องโดยไม่ตะขิดตะขวงใจแต่อย่างใด

 

บริบทของภาพยนตร์คือเมืองดัลลาส รัฐแท็กซัส ในปี 1985 ท่ามกลางการแพร่กระจายเชื้อโรคเอดส์ ตัวดำเนินเรื่องหลักมีนามว่า รอน วูดรูฟ คาวบอยเสเพลผู้เหยียดเพศเป็นอาจิณ วูดรูฟถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคเอดส์ และมีเวลาเหลือเพียงสามสิบวันในการใช้ชีวิต เขาจึงต้องตามหายารักษามายื้อชีวิตตัวเอง อย่างไรก็ตาม ในเวลานั้นเอดส์ยังเป็นโรคใหม่ในวงการแพทย์และยังไม่มียารักษา แต่ด้วยความพยายาม วูดรูฟสืบทราบมาว่าได้มีบริษัทยาแห่งหนึ่งกำลังทดลองยาต้านไวรัสอะซิโดไทมิดีน (AZT) ที่มีศักยภาพรักษาโรคเอดส์ได้กับผู้ป่วยในโรงพยาบาล วูดรูฟได้ขโมยยาดังกล่าวมาบริโภค แต่แทนที่อาการจะดีขึ้น สุขภาพของเขากลับแย่ลงอย่างน่าใจหาย เมื่อนาฬิกาชีวิตยังคงนับถอยหลัง วูดรูฟไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากข้ามชายแดนไปยังแม็กซิโกตามคำบอกเล่าที่ว่ามีหมอผู้ซึ่งสามารถรักษาโรคเอดส์ได้ ที่นั่นหมอชาวเม็กซิกันได้รักษาวูดรูฟโดยใช้ยาทางเลือกจนเขากลับมาแข็งแรงและมีชีวิตรอดเกินสามสิบวัน แต่ยารักษาทางเลือกนี้กลับผิดกฎหมายในสหรัฐฯ วูดรูฟตระหนักว่า AZT แท้จริงแล้วเต็มไปด้วยสารพิษและรังแต่ทำให้สุขภาพของผู้ป่วยโรคเอดส์แย่ลงกว่าเดิม ต่างกับยาทางเลือกที่ช่วยชีวิตเขา แต่ยาทางเลือกนี้ไม่มีจำหน่ายในสหรัฐฯ เนื่องจากมันไม่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) เขาจึงริเริ่มทำธุรกิจลักลอบขนยาทางเลือกมาจำหน่ายในดัลลาส โดยร่วมลงทุนกับเรยอน ผู้ป่วยโรคเอดส์ที่เป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) และก่อตั้งสโมสรขึ้นภายใต้ชื่อ “Dallas Buyers Club”

 

ในประเด็นความไม่เท่าเทียมทางเพศ ภาพยนตร์เลือกที่จะไม่นำเสนออำนาจนำของผู้ชายเหนือผู้หญิงและ LGBTQ หรือการเลือกปฏิบัติจากเพศสภาพโดยตรง แต่ภาพยนตร์เน้นถ่ายทอดความไม่เท่าเทียมนี้ผ่านความรู้สึกนึกคิดของของตัวละครชายที่ถูกหล่อหลอมมาในสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่อย่างวูดรูฟ วูดรูฟมีคุณลักษณะความเป็นชายที่ครบถ้วน เขาชอบแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นเล่นไพ่หรือพนันวัวกระทิง วูดรูฟต้องการเป็นผู้ชนะทั้งสิ้น แต่ความเป็นชายแบบสุดขั้วของวูดรูฟหาได้เป็นสิ่งที่น่าพิศสมัยไม่ เนื่องจากมันทำให้เขาดูถูกผู้หญิงว่าด้อยศักยภาพกว่าผู้ชาย และเหยียดหยามเกย์ที่เกิดมาเป็นผู้ชายแต่กลับไม่ปฏิบัติตามบทบาทที่สังคมคาดหวัง 

 

ความเป็นชายของวูดรูฟไม่ได้เป็นพิษต่อผู้หญิงและ LGBTQ เท่านั้น แต่มันยังเป็นพิษต่อตัวเขาเองด้วย เมื่อวูดรูฟรู้ว่าตนเป็นเอดส์และมีเวลาเหลือเพียงสามสิบวันให้ใช้ชีวิต ห้วงความคิดแรกที่โผล่ขึ้นหาใช่ความกลัวตายไม่ หากแต่เป็นความกลัวการสูญเสียความเป็นชาย เนื่องจากตามความเข้าใจทั่วไปในสมัยนั้น เอดส์เป็นโรคติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน วูดรูฟรู้ว่าเขาไม่ได้มีรสนิยมรักร่วมเพศ และเขาเองก็ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน แต่คำวินิจฉัยจากปากหมอก็ทำให้ความเป็นชายเขาสั่นคลอน วิกฤติอัตลักษณ์ประเดประดังเข้าหาเขาอย่างไม่หยุดหยั้ง เมื่อเขากลับต้องกลายเป็นสิ่งที่ตัวเองชิงชัง ความเป็นชายที่เคยทระนงก็กลายเป็นภาระหนักอึ้งที่เขาต้องแบกรับ วูดรูฟหันไปพึ่งสุราและยาเสพติดเพื่อบรรเทาความผิดหวังในตัวเอง ส่งผลให้สุขภาพของเขาที่แย่อยู่แล้วเข้าขั้นวิกฤต สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงเมื่อเพื่อนผู้ชายรอบตัวเขารับรู้เรื่อง พวกเขาปฏิบัติกับวูดรูฟดั่งที่วูดรูฟปฏิบัติกับกลุ่ม LGBTQ นั่นคือ ดูถูกและเหยียดหยาม เขารู้สึกแปลกแยกและโดดเดี่ยวเมื่อต้องตกเป็นผู้ถูกกดขี่ในความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ผู้ชายเป็นใหญ่ วูดรูฟจึงได้ลิ้มรสความไม่เท่าเทียมทางเพศ 

 

ในส่วนมุมมองของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในสังคมชายเป็นใหญ่ ภาพยนตร์ได้ให้ชารอนเป็นตัวแทนของกลุ่มดังกล่าว ที่โดนความเป็นชายเป็นใหญ่กดทับมาตลอดชีวิต ชารอนมาจากครอบครัวที่มีหน้ามีตาในสังคม พ่อของเขาคาดหวังให้เขาเป็นผู้ชายอันความต้องการซึ่งเขาไม่อาจให้ได้ ชารอนตีตัวห่างออกจากครอบครัวและไม่หวนคืนกลับไปอีก ความกดดันจากผู้เป็นพ่อส่งผลให้เขามีปัญหาทางจิต เขาใช้ชีวติเยี่ยงคนคนที่ไม่มีศักดิ์ศรีในตัวเอง และหันไปพึ่งยาเสพติดเพื่อบรรเทาความขมขื่น ความสำคัญของชารอนต่อเนื้อเรื่องคือ เขาช่วยเปลี่ยนมุมมองของวูดรูฟต่อผู้หญิงและ LGBTQ จากมุมมองที่ดูถูกดูแคลน ไปสู่มุมมองที่เห็นว่าการถูกยอมรับและเคารพความแตกต่างและหลากหลายทางเพศเป็นศักด์ศรีที่มนุษย์ทุกคนพึงมี ชารอนกระทำการดังกล่าวผ่านมิตรภาพที่เขามอบให้วูดรูฟ เมื่อสังคมเดิมไม่ต้อนรับวูดรูฟอีกต่อไป เขาจำเป็นต้องไปคลุกคลีกลุ่มผู้ป่วยโรคเอดส์ที่เป็น LGBTQ เพื่อผลประโยชน์ของธุรกิจแม้ว่าเขาจะรังเกียจกลุ่มคนเหล่านี้แรกเริ่ม แต่ต่อมาความสัมพันธ์ได้พัฒนาต่อยอดไปเป็นมิตรภาพเมื่อชารอนและกลุ่มผู้ป่วยโรคเอดส์ปฏิบัติต่อวูดรูฟด้วยความจริงใจ วูดรูฟตระหนักว่าผู้คนที่เขารังเกียจมาตลอดชีวิตกลับไม่ได้น่ารังเกียจอย่างที่เขาคิดและไม่ได้รังเกียจเขากลับ แต่เป็นตัวเขาในอดีตและความเป็นที่ชายที่เป็นพิษของเขาเองที่น่ารังเกียจ เพราะมันลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนกลุ่มนี้

 

ควบคู่ไปกับประเด็นความไม่เท่าเทียมทางเพศ ภาพยนตร์นำเสนอความไม่เป็นธรรมในการกระจายทรัพยากรภายใต้ทุนนิยม ยารักษาโรคอันเป็นสิ่งซึ่งผู้ป่วยโรคเอดส์ทุกคนพึงได้รับเพื่อรักษาชีวิต แต่มีเพียงผู้ป่วยที่มีกำลังทรัพย์ที่สามารถมีชีวิตรอด ขณะที่ผู้ป่วยที่ไม่มีกำลังทรัพย์น้อยต้องป่วยตาย ส่วนผู้ที่ได้ประโยชน์ที่แท้จริงคือนายทุนจากบริษัทยาเพียงไม่กี่คน ความเหลื่อมล้ำสะท้อนให้เห็นความขาดตกบกพร่องในแง่มุมทางศีลธรรมของทุนนิยมที่อนุญาตให้กำไรมีความสำคัญกว่าชีวิตมนุษย์ เมื่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาอ้างว่ายาของ Dallas Buyers Club ขาดคุณสมบัติในการจดทะเบียนทางกฎหมายและไม่สามารถนำมาจำหน่ายได้ บริษัทผู้ผลิต AZT จึงสามารถผูกขาดยารักษาโรคเอดส์และกำหนดราคาไว้สูงได้ นอกจากนี้แล้วภาพยนตร์ยังวิพากวิจารณ์บทบาทของรัฐในฐานะสถาบันทางสังคมที่พึงปกป้องและมอบความยุติธรรมให้กับพลเมือง แต่กลับเลือกที่จะเข้าข้างทุน โดยอนุญาตให้บริษัททดลองยา AZT ที่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย 

 

กล่าวโดยสรุป Dallas Buyers Club ถ่ายทอดความไม่เป็นธรรมในสังคมในประเด็นความไม่เท่าเทียมทางเพศและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงยารักษาโรคได้อย่างแนบเนียน

 

ในประเด็นความไม่เท่าเทียมทางเพศ ภาพยนตร์นำเสนอความเป็นชายที่เป็นพิษในสังคมชายเป็นใหญ่ โดยพิษของมันไม่ได้จำกัดอยู่เพียงผู้หญิงและกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงตัวผู้ชายเองด้วย

 

ภาพยนตร์ยังแสดงให้เห็นว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จะเกิดขึ้นไม่ได้หากว่าความเท่าเทียมทางเพศยังไม่เป็นที่ยึดถือ  

 

ในประเด็นความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงยารักษาโรค ภาพยนตร์นำเสนอความไม่เป็นธรรมในการกระจายทรัพยากรภายใต้ระบบทุนนิยม ทุนนิยมที่มุ่งแสวงหากำไรมิอาจมอบความความยุติธรรมให้กับผู้ป่วยโรคเอดส์ได้ เนื่องจากมันขาดซึ่งหลักศีลธรรมมาคอยกำกับ ยิ่งไปกว่านั้น ภาพยนตร์ยังวิจารณ์รัฐทุนนิยมที่มักเป็นผู้กระทำความอยุติธรรมต่อพลเมืองของตนเสียเอง