4 สิ่งที่รัฐบาลควรทำและไม่ควรทำในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

30 มีนาคม 2563

Amnesty International Thailand

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมแถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ถึงการประกาศพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก. ฉุกเฉิน) โดยประกาศว่าสิ่งใดที่ประชาชนควรทำ (Do) และสิ่งใดที่ไม่ควรทำ (Don’t) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มี..63 เป็นต้นไป เพื่อเป็นไปตามการคุ้มครองในสิทธิ เสรีภาพและความปลอดภัยของประชาชน แอมเนสตี้ี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยจึงอยากชวนมาดูว่า แล้วอะไรบ้างคือสิ่งที่รัฐบาลควรทำและไม่ควรทำในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นนี้

 

การประกาศพ.ร.ก. ฉุกเฉินในครั้งนี้กำลังจะให้อำนาจมากมายแก่รัฐบาล โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อจัดการ COVID-19 แต่จากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินหลายครั้งที่ผ่านมา เรายังคงเห็นการจัดการกับผู้เห็นต่างหรือผู้วิพากษ์วิจารย์การทำงานของภาครัฐอยู่ด้วย แอมเนสตี้ ประเทศไทยจึงอยากย้ำอีกครั้งว่าในสถานการณ์ฉุกเฉินแบบนี้ รัฐบาลควรใช้อำนาจอย่างไรให้สอดคล้องกับเจตนารมย์ของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

 

4 สิ่งที่รัฐบาลควรทำ 

 

1. คำนึงถึงความปลอดภัยและความเป็นอยู่ของประชาชนทุกกลุ่ม ก่อน “ความมั่นคงของชาติ”

ความมั่นคงของชาติ ไม่เท่ากับ “ความมั่นคงของมนุษย์”

ความมั่นคงของชาติในทัศนคติของรัฐบาลที่นำโดยอดีตผู้บัญชาการทหารบกเป็นเรื่องภัยคุกคามสมัยอดีตมากกว่า เช่น สงครามโลก หรือสงครามเย็น ที่มีการต่อสู้กันระหว่างกองกำลังทหารของนานาประเทศด้วยอาวุธสงคราม เจ็บและล้มตายด้วยอาวุธ

ขณะที่ภัยคุกคามในสมัยปัจจุบันที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่คือ โรคระบาด ในสถานการณ์นี้มิติทางสังคมและเศรษฐกิจของประชาชนนั้นสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึงแล้วหรือยัง? การทำงานที่บ้าน (work from home) เป็นไปได้สำหรับบางอาชีพหรือเปล่า? เช่น พนักงานกวาดถนน พนักงานทำความสะอาดประจำออฟฟิศ พนักงานส่งของ หรือคนงานก่อสร้าง หรือแม้กระทั่งกลุ่มคนไร้บ้าน รัฐมีมาตรการอย่างไรในในการคุ้มครองกลุ่มบุคคลเหล่านี้

 

2.ยอมให้ประชาชนแสดงความเห็นเกี่ยวกับจัดการ COVID-19 ของรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐได้

จริงอยู่ว่าตอนนี้เราต้องการข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ ทุกคนจะได้เข้าใจสถานการณ์ตรงกัน แต่รัฐบาลควรเปิดพื้นที่ให้มีการแสดงความคิดเห็นและต้องยอมรับว่า  “คุณหยุดให้คนวิจารณ์ไม่ได้” ประชาชนย่อมมีสิทธิแสดงความเห็นต่อการทำงานของรัฐบาลที่เสียงส่วนใหญ่ของประเทศเลือกมา 

การรับฟังความเห็นที่หลากหลายจะช่วยให้รัฐบาลได้รับฟังปัญหาจากประชาชน และนำมาเติมเต็มช่องโหว่ ของการบริหารสถานการณ์ได้อีกด้วย

 

3.สนับสนุนให้สื่อมวลชนเผยแพร่ข้อมูลจากหลากหลายแหล่ง เพื่อเติมเต็มความครบถ้วนของข้อมูล

สื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ประชาชนรู้สึกไม่แน่นอน ส่วนหนึ่งเกิดจากการรับทราบข้อมูลที่จำเป็นอย่างไม่เพียงพอ

การแถลงข่าวของฝ่ายรัฐบาลช่วยให้เห็นความคืบหน้าในการจัดการของภาครัฐ ขณะเดียวกันสื่อมวลชนไม่ควรถูกปิดกั้นให้นำเสนอข้อมูลอื่น ๆ อันเป็นทางเลือกในการรับรู้และเข้าใจสถานการณ์ของประชาชนที่กระทบต่อความเป็นอยู่ของพวกเขา

 

4. กำชับให้เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติงานโดยไม่เพิ่มความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควร

มาตรา 9 วรรคสอง ตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน กำหนดไว้ว่านายกรัฐมนตรีอาจกำหนดเงื่อนไขการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อไม่ให้ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินเหตุสมควร

แปลว่าหากประชาชนรู้สึกว่าได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้ (มาตรา 17)

 

4 สิ่งที่รัฐบาลไม่ควรทำ

 

1. หลีกเลี่ยงใช้เจ้าหน้าที่ทหารในงานที่เขาไม่มีประสบการณ์หรือไม่เชี่ยวชาญ

เจ้าหน้าที่ทหารอาจได้รับคำสั่งให้ตรวจค้นบ้าน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของผู้ติดเชื้อไวรัสหรือบุคคลที่รัฐบาลกล่าวหาว่ากำลังทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลง

เจ้าหน้าที่ทหารที่ไม่มีประสบการณ์ในการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญากับพลเรือน ไม่มีความเข้าใจในเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัว (privacy) ของประชาชน หากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารที่ไม่มีความอ่อนไหวในเรื่องดังกล่าว อาจยิ่งสร้างความตื่นตระหนกให้สาธารณะได้

 

2. ไม่ข่มขู่ จับกุม หรือดำเนินคดีกับคนวิพากษ์วิจารณ์ โดยอ้าง “ข่าวปลอม”

รัฐบาลมีหน้าที่ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้ประจักษ์ต่อสาธารณะ 

แม้ว่า พ.ร.ก. ฉุกเฉิน จะให้อำนาจดำเนินคดีกับผู้เสนอข่าวบิดเบือนได้ แต่เจ้าหน้าที่รัฐควรใช้อำนาจนี้อย่างระมัดระวัง การติดป้าย “ข่าวปลอม” ให้กับทุกคำวิพากษ์วิจารณ์ จะยิ่งสร้างความตื่นตระหนกให้สาธารณะ

รัฐบาลต้องชี้แจงข้อกล่าวหาให้ชัดเจนต่อประชาชน และไม่กระทำการใดที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัวที่จะแสดงความคิดเห็น

 

3. ต้องกวดขันไม่ให้เกิดการทรมานในระหว่างการควบคุมตัว

พ.ร.ก. ฉุกเฉินให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัวบุคคลที่ต้องสงสัยว่าทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน

เจ้าหน้ารัฐควรมีขั้นตอนการปฏิบัติที่ทำให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าเขาจะไม่ถูกทรมานหรือทำร้ายร่างกายและจิตใจในระหว่างการควบคุมตัว ดังเช่นข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

4.ไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของประชาชนโดยไม่จำเป็น

เป้าหมายของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในครั้งนี้คือเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของCOVID-19 

พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการตรวจค้นและเรียกดูข้อมูลของประชาชน ซึ่งอาจหมายรวมถึง การขอพาสเวิร์ดลงชื่อเข้าใช้ทวิตเตอร์/เฟซบุ๊ก

เจ้าหน้าที่รัฐต้องใช้อำนาจให้สอดคล้องกับเป้าหมายของภารกิจโดยไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของประชาชน