เปิดวงเล่าเรื่องสิทธิมนุษยชนผ่านภาพถ่าย ฉลอง 75 ปี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

29 กันยายน 2566

Amnesty International Thailand

A Picture is Worth a Thousand Words

 

“ภาพหนึ่งภาพแทนคำพูดเป็นพันคำ” คือหนึ่งในสำนวนที่ใช้อธิบายความหมายที่ทรงพลังของ ‘ภาพถ่าย’ ภาษาไร้เสียง ที่เต็มไปด้วยพลังการสื่อสาร และเนื่องในโอกาสครบรอบ 75 ปี ‘ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน’ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย อยากเชิญชวนให้สื่อมวลชนหรือบุคคลทั่วไป ร่วมส่งภาพชุดเข้าประกวดในหัวข้อ ‘สิทธิมนุษยชน’ เพื่อให้ภาพถ่ายได้เล่าเรื่องราวที่ช่วยกันสะท้อนสังคม

แอมเนสตี้ ประเทศไทย ได้เปิดวงเสวนาเล็กๆ เกี่ยวกับเทคนิคและมุมมองการเล่าเรื่องผ่านภาพถ่ายไปเมื่อปลายสิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีวิทยากรที่อยู่ในแวดวงถ่ายภาพและสิทธิมนุษยชนมาร่วมแลกเปลี่ยน อย่าง‘ยศธร ไตรยศ’ ช่างภาพ จาก Realframe, ‘ภานุมาศ สงวนวงษ์’ ช่างภาพ จาก Thai News Pix และ ‘ผศ.กานตชาติ เรืองรัตนอัมพร’ อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาภาพยนตร์และภาพถ่าย คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ‘ปิยนุช โคตรสาร’ ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

 

 

เริ่มต้นกันที่ ‘ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน’ (Universal Declaration of Human Rights หรือ UDHR) คืออะไรกันแน่ คำถามนี้ได้รับคำตอบจาก ‘ปิยนุช’ ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยว่า เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงเมื่อปี พ.ศ. 2488 ผลพวงของสงครามครั้งนั้น นำมาสู่หายนะของมนุษยชาติ เพราะทำให้ทั่วโลกได้เห็นความโหดร้ายของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การย่ำยีเด็กและสตรี ต่อมาในปี พ.ศ. 2491 สมัชชาสหประชาชาติได้ประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ใช้เป็นแนวทางสู่เสรีภาพและความเท่าเทียมเพื่อให้ทุกคนมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี โดยมีรายละเอียด 30 ข้อ ขณะที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 48 ประเทศแรกที่ให้การรับรองปฏิญญาสากลฉบับนี้

ทำไมถึงจัดการประกวดภาพถ่ายสิทธิมนุษยชน ในฐานะหัวเรือใหญ่ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ‘ปิยนุช’ ออกตัวทันทีในวงเล่าเรื่องสิทธิผ่านภาพถ่ายว่า เธอไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องภาพถ่ายแบบช่างภาพมืออาชีพ แต่หากมองว่าภาพถ่ายเปลี่ยนแปลงโลกหรือสร้างอะไรบางอย่างให้สังคมดีขึ้นได้ เธอเชื่อว่าภาพที่สื่อความหมายจะสร้างความหวัง ความหมาย และความเปลี่ยนแปลงให้โลกใบนี้ได้ในสักวันหนึ่ง จึงเป็นที่มาของการจัดประกวดภาพถ่ายเล่าเรื่องสิทธิมนุษยชนในครั้งนี้และหลายปีที่ผ่านมา

“เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของเราทุกคนเพราะฉะนั้นทุกคนมีสิทธิที่จะใช้การกดชัตเตอร์ เพื่อบันทึกเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นแค่เสี้ยววินาที การกดชัดเตอร์มีความหมายต่อมวลมนุษยชาติมาก โดยเฉพาะภาพที่ถ่ายทอดเรื่องราวสิทธิมนุษยชนและอาจนำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้”

 

หัวข้อการส่งภาพถ่ายเข้าประกวดในปีนี้ต่างจากปีที่แล้วอย่างไร ‘ภานุมาศ สงวนวงศ์’ หรือ ‘ปาล์ม’ ช่างภาพจาก Thai News Pix เท้าความให้ฟังว่า ปีที่แล้วโจทย์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เป็นการประกวดภาพถ่ายที่ใช้เพียงรูปเดียว แต่ปีนี้เป็นการประกวดภาพชุดหรือที่เรียกกันว่า ‘Photo Story’ อีกทั้งปีนี้ยังไม่มีการแยกประเภทบุคคลที่เข้าร่วมประกวดภาพถ่าย ซึ่งต่างจากปีที่แล้วที่แยกระหว่างสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไป ความเปลี่ยนแปลงของโจทย์มีเหตุผลที่ซ่อนอยู่ในนั้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ‘ภานุมาศ’ อธิบายว่า โจทย์ Photo Story ปีนี้ เป็นเรื่อง ‘สิทธิมนุษยชน’ ที่ให้หมายความว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะรับรู้เรื่องสิทธิเท่าๆ กัน จึงอยากให้ทุกคนที่ส่งเข้าประกวดใช้วิธีการเล่าเรื่องในรูปแบบและมุมมองของตัวเอง ผ่านภาพเล่าเรื่องที่ไม่แบ่งแยกให้เห็นความแตกต่างในภาพที่ต้องการนำเสนอ

 

 

‘Photo Story’ หรือ การเล่าเรื่องผ่านภาพคืออะไร ‘ยศธร ไตรยศ’ ช่างภาพ จาก Realframe เชื่อว่าไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็เล่าเรื่องได้ เขาอยากให้นักถ่ายภาพทุกคนมองไปที่เรื่องราวและชีวิตของตัวบุคคล หรือประเด็นที่อยู่ใกล้ตัวเป็นหลัก เพราะความหมายของ ‘Photo Story’ สำหรับยศธร เขาคิดว่าภาพเล่าเรื่องไม่ใช่ภาพข่าวสถานการณ์เสมอไป จึงไม่จำเป็นต้องถ่ายภาพให้จบภายในวันเดียว แต่เป็นภาพที่ต้องอาศัยการละลายพฤติกรรมให้เกิดความเชื่อใจ ไว้ใจ ระหว่างคนถ่ายกับคนต้นเรื่อง สิ่งสำคัญคือการให้ ‘เวลา’ กับการถ่ายภาพ เพื่อเก็บรายละเอียดให้ได้ครบสมบูรณ์ตามที่ตั้งใจ

ภาพเล่าเรื่องบางชุด ช่างภาพอาจต้องใช้เวลาเฝ้าติดตามถ่ายเรื่องราวอยู่หลายวัน หลายเดือน หรือบางอย่างอาจต้องใช้เวลาเป็นปี แต่สำหรับการส่งภาพประกวดครั้งนี้ ยศธรแนะนำว่าผู้เข้าร่วมไม่จำเป็นต้องใช้การวางแผนที่ใหญ่ แต่จำเป็นต้องใช้ความเข้าใจ ใส่ใจรายละเอียด และทำให้ภาพชุดที่ต้องการถ่ายถอด สามารถเล่าเรื่องราวที่สะท้อนอะไรบางอย่างเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนได้ก็เพียงพอแล้วสำหรับเขา

ยศธร ยกตัวอย่างภาพถ่ายที่ไปตามถ่ายชีวิตแรงงานข้ามชาติ ย่านปากคลองตลาด ในกรุงเทพฯ ภายใน 24 ชั่วโมง เพื่ออธิบายให้เห็นว่า ระยะเวลาภายใน 1 วัน มีอะไรเกิดขึ้นกับคนกลุ่มนี้บ้าง และพวกเขาใช้ชีวิตอย่างไร เขาอธิบายอีกว่า ภาพชุดนี้มีเป้าหมายชวนให้คนที่เห็น ตั้งคำถามกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งแนะนำว่าการถ่ายภาพเล่าเรื่องที่ต้องตามติดชีวิตผู้คน อาจไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไหร่ สำหรับช่างภาพมือใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์ถ่ายภาพเล่าเรื่อง แต่เชื่อว่าทุกคนที่รักการถ่ายภาพหรืออยากทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นสามารถทำได้แน่นอน สำหรับยศธรสิ่งสำคัญคือใช้สายตาที่เข้าใจประเด็นการเล่าเรื่องอย่างลึกซึ้ง การที่จะทำแบบนั้นได้ คือการต้องให้เวลากับเรื่องราวที่ต้องการเล่าผ่านภาพถ่าย

 

 

สำหรับใครที่สนใจการถ่ายภาพ ‘ยศธร’ แนะนำว่าให้มองประเด็นใกล้ตัวที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน  เช่น การจอดรถในที่ๆ ใครก็ไม่รู้เอาสิ่งของมาขวางทางไว้ หรือภาพสะพานลอยในความมืด ทั้งที่อยู่ในเมืองใหญ่ คนปกติจอดรถในที่จอดรถคนพิการ เขามองว่าภาพเหล่านี้สามารถสะท้อนถึงความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน และความเหลื่อมล้ำบางอย่างในสังคมได้ เพราะปัจจุบันยังมีบางพื้นที่แสงสว่างยังเข้าไม่ถึง ที่พักอาศัยอาจมีป้ายไฟสว่างมากเกินไปส่องเข้าไปในบ้าน คนพิการไม่ได้จอดรถหรือใช้ Universal Design  ที่ทำขึ้นมา เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนกลุ่มนี้เป็นพิเศษ เพราะมีข้อจำกัดทางร่างกาย อีกประเด็นที่ต้องไม่ลืมและให้ความสำคัญที่สุด ยศธรย้ำว่า ช่างภาพต้องนึกถึงความปลอดภัยของตัวเองเป็นหลัก ไม่ควรทำงานบนความเสี่ยง หรือทำอะไรที่อันตรายเกินไป ถ้าต้องการถ่ายภาพเล่าเรื่องผ่านตัวบุคคล เขาแนะนำว่าให้เลือกเคสหรือคนคนที่ไว้ใจ พูดคุยกันได้ สำหรับช่างภาพมือใหม่ไม่ต้องรีบทำอะไรที่ยากและเสี่ยงเกินไป เพื่อให้ได้เพียงภาพชุดหนึ่งขึ้นมา  เขาพูดทิ้งท้ายว่า บางครั้งการถ่ายภาพ การคิดประเด็นยากกว่าด้วยซ้ำไป 

“จริงๆ การถ่ายภาพเพื่อสะท้อนให้เห็นอีกมุมหนึ่งในสังคม ไม่จำเป็นต้องเป็นเฉพาะภาพเชิงลบ หรือสะท้อนสิ่งที่เป็นปัญหาเท่านั้น เราอาจถ่ายภาพใครสักคนหนึ่ง ที่เขาอาจจะไม่ใช่คนที่เราเห็นกันตามหน้าสื่อปัจจุบัน เพื่อทำให้เห็นความเป็นมนุษย์ของเขา อาจจะเป็นเรื่องของกลุ่มชาติพันธุ์ ชนกลุ่มน้อยที่อยู่ห่างออกไป เพื่อทำให้เรื่องของเขามีคนรู้จักและไม่ถูกละเลยในสังคม”

 

ตัวอย่างภาพชุด Outsider Fulltime : Story by จักรพันธ์ ทองดี

จาก Workshop Shoot it Rights ร่วมกับกลุ่ม Realframe และ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

ขณะที่ ‘ภานุมาศ’ จาก Thai News Pixอธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อเราจะทำ Photo Story สิ่งสำคัญที่ต้องคิดทุกครั้งคือ เราต้องการจะสื่อสารอะไร นำเสนอประเด็นแบบไหน ดังนั้นการเรียงรูปภาพให้เล่าเรื่องได้ จึงเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กับการคิดประเด็น เขาฝากถึงผู้เข้าร่วมทุกคนว่า ก่อนส่งภาพเข้ามาร่วมประกวด หากมีเวลาอยากให้ลองเรียงรูปภาพดูก่อนว่า หากเรียงแบบนี้จะเล่าเรื่องและถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกออกมาได้หรือไม่ โดยอาจจะเป็นภาพถ่ายที่เกิดจากสถานการณ์ข่าว ชีวิตประจำวัน หรือเรื่องใกล้ตัวที่สนใจ เพราะปีนี้อยากย้ำว่า เป็นหัวข้อ ‘สิทธิมนุษยชน’ ที่เปิดกว้างและให้อิสระมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา 

“การถ่ายภาพในบางครั้ง แม้เราอาจไม่ได้เข้าไปพูดคุยกับบุคคลที่เราต้องการถ่ายโดยตรง แต่การแสดงออกให้เห็นชัดเจนว่า ช่างภาพกำลังถ่ายรูปอยู่ คือทำให้คนที่ถูกถ่ายรับรู้ว่ากำลังจะมีภาพของเขาอยู่หลังเลนส์กล้อง ก็จะมีส่วนช่วยลดทอนการถูกตำหนิหรือพูดในเชิงลบว่าเป็นการแอบถ่ายลงไปได้ สิ่งนี้เรียกว่าการขอ Concent หรือความยินยอม ที่ทำให้คนถ่ายและคนถูกถ่ายเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นร่วมกัน และในภาษาภาพ การทำงานที่ใกล้ชิดกับผู้คนด้วยการสร้างความเข้าใจ เชื่อว่าจะทำให้เห็นพลังของเรื่องราวที่ถูกถ่ายออกมาได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น”

ถ่ายภาพบุคคลอย่างไรไม่ให้ละเมิดสิทธิ  ผศ.กานตชาติ เรืองรัตนอัมพร อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาภาพยนตร์และภาพถ่าย คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายในวงเล่าเรื่องสิทธิมนุษยชนว่า หากเราไม่ชอบถ่ายรูปหรือไม่ชอบถูกถ่ายรูปแบบไหน ก็ไม่ควรไปทำแบบนั้นกับคนอื่น และการแสดงตัวหรือแนะนำว่าเป็นใคร มาจากไหน ก่อนถ่ายภาพคนอื่น สำหรับเขาในฐานะอาจารย์ที่ให้ความรู้กับนักศึกษา ถือว่าเป็นสิ่งสำคั ที่จะช่วยลดการถูกมองว่า เป็นช่างภาพที่อยู่ในกลุ่มแอบถ่าย โดยเฉพาะการถ่ายภาพที่เป็นธรรมชาติไม่ให้ผู้ถูกถ่ายรู้ตัว ไม่มีการจัดท่าทาง หรือที่ช่างภาพเรียกกันว่าถ่ายภาพแคนดิด (Candid Photography)

ผศ.กานตชาติ ย้ำว่า “เราไม่สามารถคุยเรื่องจริยธรรมหรือการละเมิดเป็นขาวกับดำได้”เพราะภาพข่าว บางสถานการณ์เป็นสถานการณ์ที่อาจไม่ง่ายที่จะควบคุม สิ่งที่ควรคำนึงถึงคือ ถ่ายภาพอย่างไรให้ละเมิดสิทธิคนที่อยู่ในรูปน้อยที่สุด แต่เรื่องนี้สำหรับเขาคิดว่า ไม่มีคำตอบที่ตายตัว ดังนั้นการคำนึงถึงผลกระทบของคนที่อยู่ในภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ และการเลือกภาพ ถือเป็นอีกกลไกหนึ่งที่จะช่วยให้พิจารณาทุกอย่างได้ถี่ถ้วนมากขึ้น 

“การถ่ายภาพที่อยู่ในระยะที่เขามีปฏิสัมพันธ์ได้ เขาสังเกตเห็นตัวเราว่ากำลังถ่ายภาพได้ การใช้ระยะของเลนส์ที่ไม่ปกปิด หรือใช้ความใกล้ชิดต่างๆ ทำให้รู้ว่ากำลังถูกถ่าย มันจะทำให้คนที่อยู่ในเรื่องรู้ว่าเขากำลังถูกถ่ายนะ ก็คือบอกเค้าด้วยว่าเอาไปทำอะไร สำหรับผมถ้าบอกได้แบบนั้นก็จะสวยนะครับ แต่อย่างน้อยแค่เขารู้แล้วว่าถูกถ่ายก็เพียงพอ เพราะเมื่อรู้เขามีสิทธิที่จะปฏิเสธ ถ้ารู้สึกว่ามันไม่โอเค ให้แฟร์ๆกันไป”

การแต่งภาพหรือเลือกสีโทนสีในภาพถ่ายควรใช้วิธีการอย่างไร ในมุมมองของ ‘ยศธร’ มองว่า การแต่งภาพไม่ใช่สิ่งที่ผิดหากอยู่ในขอบเขตของงาน สำหรับเขามองว่า ไม่ควรแต่งภาพให้ผิดเพี้ยนจนเกินความเป็นจริง เช่น ไม่ตัดต่อจนถึงขั้นดัดแปลงให้ไม่เหมือนเดิม แต่สามารถเพิ่มลดเเสง หรือลบข้อบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ บางอย่างได้ และส่วนตัวเชื่อว่าช่างภาพจะยิ่งรู้สึกภาคภูมิใจในงานตัวเองหากถ่ายได้ดีตั้งแต่ต้น โดยที่ไม่ต้องปรับแต่งอะไรมากมายหลังได้ภาพมา

ด้าน ‘ผศ.กานตชาติ’ มองว่า สิ่งที่สำคัญกว่าการแต่งรูปคือ กระบวนการคิดที่นำมาสู่การได้รูปภาพหรือ Photo Story ก่อนที่จะแต่งภาพนั้นออกมา สำหรับเขาในฐานะกรรมการย้ำในวงเล่าเรื่องสิทธิผ่านภาพถ่ายว่า  ทุกคนต้องไม่ลืมว่าโจทย์การประกวดปีนี้ปลี่ยนไป สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กว่าการคิดประเด็นหรือแต่งภาพ นั่นคือการเรียงรูปภาพอย่างไรให้เล่าเรื่องได้ เช่น ถ่ายภาพมาแล้วพบว่า บางรูปถ่ายดีรูปเดียว และมีบางรูปอาจดูไม่ดี แต่เมื่อนำมาทำภาพชุดแล้ว กลับช่วยให้ภาพที่เหลือมีพลังมากขึ้น สำหรับเขาการเล่าเรื่องผ่านภาพถ่าย มีหลายรูปแบบ และอยู่ที่มุมมองของช่างภาพที่อยู่หลังเลนส์

“ผมคิดว่าการให้เวลากับการทำการบ้าน การลงพื้นที่ หรือว่าการทำความเข้าใจในฐานะมนุษย์ด้วยกัน มันสำคัญมากกว่าเรื่องอุปกรณ์เยอะ ผมบอกน้องๆ เสมอว่า วิธีการหรือการทำงานทางด้านมานุษยวิทยาต่างๆ มันสำคัญมากกว่าการใช้เทคนิคการใช้กล้อง ซึ่งบางทีเราสามารถไปหาได้ดูจากยูทูบ แต่ประสบการณ์ในการลงพื้นที่ การให้เวลากับมัน อันนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนน่าจะต้องหาด้วยตัวเอง”

 

 

‘ผศ.กานตชาติ’ เล่าว่าอีกเรื่องหนึ่งที่ใช้เวลานานมากในการหาทางออกหรือทางสายกลาง นั่นคือกฎหมาย พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (Personal Data Protection Act หรือ PDPA) เขาย้ำว่ากฎหมายนี้ไม่ใช่กฎหมายควบคุมสื่อ แต่มีขึ้นมาเพื่อใช้จัดการกับข้อมูลเหมือนในต่างประเทศ แต่ไทยกลับเหมารวมคำว่า ‘ข้อมูล’ ว่ามี ‘ภาพถ่าย’ รวมอยู่ในนั้น จึงอาจทำให้คนสับสนว่า PDPA ใช้ควบคุมการถ่ายภาพด้วยหรือไม่ เพราะภาพถ่ายจัดอยู่ในหมวดหมู่ข้อมูล แต่สำหรับเขามองว่า การภาพถ่ายหากไม่ได้ใช้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์หรือไปละเมิดสิทธิใคร ก็สามารถถ่ายภาพนั้นได้ โดยเฉพาะภาพเชิงสร้างสรรค์ที่ทำให้สังคมดีขึ้น

“ถ้าคุณทำอย่างถูกต้อง คุณมีมารยาท คุณได้ภาพมาอย่างชอบธรรม อย่างแฟร์ อย่างนี้ก็ไม่ควรจะต้องถูกบังคับหรือถูกเอาผิดเรื่อง PDPA สำหรับการประกวดถ้าเป็นไปในเชิงศิลปะ หัตถกรรม สื่อสารมวลชน มันไม่เกี่ยวกัน ไม่อยากให้คิดว่ากฎหมายที่มันมีเจตนาดีเพื่อจะได้ช่วยแก้ปัญหาการถูกหลอกลวงจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรือการนำข้อมูลของเราไปใช้ในทางมิชอบ ซึ่งไม่ควรมากลายเป็นกฎหมายควบคุมสื่อ” 

เมื่อพูดถึงกฎหมายควบคุมสื่อ “ภานุมาศ” ในฐานะช่างภาพข่าวมีมุมมองว่า การถ่ายภาพข่าวให้ไม่ละเมิดสิทธิคนอื่น สิ่งแรกคือการแสดงตัวให้ชัดเจนว่าจะทำอะไร หรือเป็นใครจากสังกัดไหน สถานการณ์จริงในปัจจุบันพบว่า สื่อเกือบ 100% ส่วนใหญ่จะแสดงตัวตนว่าเป็นสื่อเวลาถ่ายงาน ลงพื้นที่จริง ส่วนน้อยที่อาจจะไม่แสดงตัวหรือแอบถ่าย เพราะประเด็นที่ได้รับมอบหมายหรือวิสัยทัศน์ขององค์กรของแต่ละสังกัดไม่เหมือนกัน ส่วนการถ่ายภาพแคนดิด สำหรับเขามองว่า ภาพนั้นจะเป็นการละเมิดสิทธิหรือไม่ขึ้นอยู่กับมุมมองภาพที่ถ่ายทอดออกมา ที่สำคัญภาพบางภาพ หากเลือกสื่อสารผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง อาจทำให้คนเข้าใจผิด หรือเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนที่อยู่ในภาพไปตลอดกาล ฉะนั้นการเล่าเรื่องภาพด้วยข้อเท็จจริงในงานข่าวถือเป็นหัวใจสำคัญ

‘ภานุมาศ’ ทิ้งท้ายว่าสำหรับโจทย์ในการประกวดครั้งนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุด อาจไม่ใช่ความสวยงามของภาพถ่ายเพียงอย่างเดียว เพราะโจทย์คือเรื่องสิทธิมนุษยชน สำหรับเขาจึงไม่ใช่รูปที่ต้องสวยงามเท่านั้น สิ่งสำคัญกว่าคือการเล่าเรื่องที่สะท้อนประเด็นสิทธิมนุษยชนได้ดี อีกทั้งในงานข่าวและสารคดีส่วนใหญ่จะใช้การ Crop เพื่อตัดภาพให้องค์ประกอบภาพ หรือ Composition ลงตัว สำหรับเขาทำได้ แต่ต้องไม่ทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนไป เพราะถ้าความจริงเปลี่ยน สำหรับงานข่าวคือปัญหาใหญ่ ซึ่งภาพถ่ายอื่นๆ ก็ไม่ควรสื่อสารผิดเช่นกัน

“ภาพข่าวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิมนุษยชน เราต้องตั้งโจทย์ไว้ก่อนว่า ต้องไม่เริ่มต้นจากการไปละเมิดคนอื่น ถ้าเราจะเล่าเรื่องสิทธิแต่ปรากฏว่าเราเริ่มต้นด้วยการละเมิดคนอื่น มันไม่รู้จะเล่าต่ออย่างไร เพราะว่าเริ่มต้นการทำงานก็กระทบกับสิทธิคนอื่นไปแล้ว ฉะนั้นเวลาที่เราถ่ายรูปต้องเข้าใจเรื่องนี้ แล้วก็ระมัดระวังเป็นพิเศษนะครับ”

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ชวนช่างภาพทุกคนมาร่วมขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนผ่านภาพถ่าย เพราะเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคน

 

 

รายละเอียดกิจกรรมประกวดภาพถ่าย 

สำหรับกิจกรรมประกวดภาพถ่ายเล่าเรื่องผ่านภาพ ในหัวข้อ ‘สิทธิมนุษยชน’ ของแอมเนสตี้ ประเทศไทยครั้งนี้ มีทั้งหมด 10 รางวัล ประกอบด้วย 

รางวัลที่ 1 จำนวน 1 รางวัล รางวัลละ 20,000 บาท พร้อมโล่พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ

รางวัลที่ 2 จำนวน 1 รางวัล รางวัลละ 10,000 บาท พร้อมโล่พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ

รางวัลที่ 3 จำนวน 1 รางวัล รางวัลละ 7,000 บาท พร้อมโล่พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ

รางวัลชมเชย จำนวน 7 รางวัล รางวัลละ 5,000 บาท พร้อมโล่พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ

 

กติกา และเงื่อนไขในการประกวด

1. ผู้สมัคร 1 คน สามารถส่งภาพชุดเข้าประกวดได้ไม่น้อยกว่า 5 ภาพ แต่ไม่เกิน 7 ภาพ

2. ภาพถ่ายที่ส่งเข้าประกวด ต้องเป็นภาพถ่ายที่ถ่ายด้วยตนเอง และไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น ทั้งนี้ ต้องเป็นภาพถ่ายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 – 30 ตุลาคม 2566

3. ไฟล์ที่นำส่งต้องมีขนาดไม่ต่ำกว่า 5 ล้านพิกเซล (2650x1920 พิกเซลขึ้นไป) เป็นภาพที่ถ่ายด้วยกล้องดิจิตัล (DSLR, Mirrorless, Compact, Action camera หรือกล้องจากโทรศัพท์มือถือ) หรือจะเป็นกล้องฟิล์มโดยให้แสกนเป็นไฟล์ดิจิตอลตามขนาดที่กำหนด ทั้งนี้การประกวดไม่เปิดรับภาพที่ถ่ายจากอากาศยานไร้คนขับ (โดรน)

4. ภาพที่ส่งเข้าประกวดต้องเป็นภาพสีเท่านั้น สามารถตกแต่งเพื่อปรับปรุงคุณภาพของภาพได้แต่ต้องไม่เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ต้องไม่ปรับสีสันจนผิดไปจากธรรมชาติที่ควรเป็นหรือจนเสียคุณภาพเชิงเทคนิคของภาพและต้องไม่มีการตัดต่อ การลบหรือการเพิ่ม หรือการกระทำการใดๆ ที่ส่งผลต่อข้อเท็จจริงที่ปรากฏในภาพ

5. ภาพที่ส่งเข้าประกวดต้องไม่มีลายน้ำ เครดิตภาพ ตัวอักษร หรือกราฟิกใดๆ ลงบนภาพ รวมทั้งห้ามเว้นขอบภาพเป็นสีขาวหรือสีใด ๆ

6. ภาพถ่ายที่ส่งเข้าประกวดต้องไม่เคยได้รับรางวัลจากการประกวดใด ๆ มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการประกวดในเวทีสาธารณะ หรือการประกวดภายในของสมาคม ชมรม หรือองค์กรอื่นใด

7. ไฟล์ภาพถ่ายทุกไฟล์ที่ส่งเข้าประกวด แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยจะไม่ส่งคืนให้ผู้เข้าร่วมประกวด นอกจากนี้แล้วผู้ที่ส่งภาพเข้าประกวดต้องรักษาภาพต้นฉบับไว้ ในกรณีที่คณะกรรมการตัดสินภาพมีข้อสงสัย สามารถเรียกให้ผู้เข้าร่วมประกวดแสดงภาพต้นฉบับได้

8. ภาพถ่ายที่ส่งเข้าประกวดต้องไม่มีข้อผูกมัดในเรื่องกรรมสิทธิ์ภาพจากหน่วยงานต่าง ๆ รวมไปถึงต้องไม่ใช่ภาพที่ส่งขายตาม Stock Photo ทุกแห่ง ทั้งนี้ผู้จัดการประกวดจะไม่รับผิดชอบเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ที่เจ้าของผลงานมีสัญญาผูกพันต่อบุคคลหรือหน่วยงานใด ๆ ซึ่งเจ้าของผลงานต้องเป็นผู้รับผิดชอบในกรณีนี้เอง

9. แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ทั่วโลก) มีสิทธิที่จะนำภาพถ่ายทุกภาพที่ได้รับรางวัลไปเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ  เพื่อรณรงค์เพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจในประเด็นสิทธิมนุษยชน โดยไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์แก่เจ้าของภาพ และไม่ต้องแจ้งให้เจ้าของภาพทราบล่วงหน้าภายในระยะเวลา 4 ปี นับจากวันประกาศผลรางวัล ทั้งนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ทั่วโลก) จะระบุชื่อเจ้าของผลงานให้ทุกครั้งที่นำภาพถ่ายไปใช้ และเมื่อพ้นจากช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว หากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ทั่วโลก) มีความประสงค์จะใช้ภาพใด แอมเนสตี้ ประเทศไทยจะติดต่อขออนุญาตจากเจ้าของภาพก่อนเป็นรายกรณี

10. แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ทั่วโลก) มีสิทธิ์นำภาพที่เข้าร่วมการประกวดไปเผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ อาทิ สื่อโซเชียลมีเดีย สื่อออนไลน์ เว็บไซต์ การแสดงนิทรรศการ การตีพิมพ์ภาพลงในสูจิบัตร รวมถึงสื่อสิ่งพิมพ์อื่นๆ ขององค์กร เฉพาะที่เป็นกิจกรรมที่ไม่หวังผลทางการค้าได้ โดยไม่ต้องแจ้งให้เจ้าของภาพทราบล่วงหน้าภายใน 2 ปี และจะมีระบุชื่อเจ้าของผลงานทุกครั้งที่นำภาพถ่ายไปใช้ และเมื่อพ้นจากช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว หากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ทั่วโลก) มีความประสงค์จะใช้ภาพใด แอมเนสตี้ ประเทศไทยจะติดต่อขออนุญาตจากเจ้าของภาพก่อนเป็นรายกรณี

11. เจ้าหน้าที่และกรรมการของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และคณะกรรมการตัดสินรางวัลไม่มีสิทธิ์ร่วมส่งภาพถ่ายเข้าประกวดในครั้งนี้

12. การพิจารณาผลงานขึ้นกับดุลพินิจของกองประกวด และการตัดสินของกองประกวดถือเป็นที่สิ้นสุด หากปรากฏว่าภาพที่เข้าประกวดไม่เป็นไปตามกติกาข้อใดข้อหนึ่งที่กำหนดไว้ข้างต้น ผู้ส่งภาพเข้าประกวด ไม่มีสิทธิ์อ้างว่ากระทำผิดเพราะอ่านกติกาไม่ครบถ้วน คณะกรรมการฯ มีอำนาจในการตัดสินผู้ส่งภาพเข้าประกวด และการตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุด ผู้ส่งภาพเข้าประกวดไม่มีสิทธิ์อุทธรณ์ใด ๆ ทั้งสิ้น

13. แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนด และเงื่อนไข รวมถึงของรางวัล โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

 

หลักเกณฑ์การพิจารณา

1. ภาพถ่ายสามารถสะท้อนให้เห็นถึงประเด็นสิทธิมนุษยชน

2. ภาพถ่ายสามารถสะท้อนมุมมองของผู้ถ่ายภาพในเชิงสร้างสรรค์

3. ภาพถ่ายมีคุณค่าและความงามในเชิงศิลปะ

 

ช่องทางการสมัครเข้าร่วมโครงการ 

ผู้ประสงค์จะส่งภาพถ่ายเข้าประกวดได้ตามลิงก์แบบฟอร์มนี้  https://forms.gle/C9mQDYPMjiht9ZKQA

 

โดยระยะเวลาที่เปิดรับภาพคือ วันนี้-15 พฤศจิกายน 2566

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อคุณเนาวรัตน์  โทร. 089-922-9585

 

ระยะเวลาดำเนินการ

  • เปิดรับผลงานตั้งแต่วันนี้-15 พฤศจิกายน 2566
  • ประกาศผลรอบแรกวันที่ 21 ธันวาคม 2566
  • ประกาศผลรางวัลและพิธีรับมอบในงานประกวด “รางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน” ซึ่งจะจัดขึ้นในปี 2567

 

หมายเหตุ : วันเวลาอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม

 

คณะกรรมการตัดสิน (The Panel of Judges)

1. สุภิญญา กลางณรงค์ Cofact Thailand

2. ผศ. กานตชาติ เรืองรัตนอัมพร กลุ่มวิชาภาพยนตร์​และภาพถ่าย คณะวารสารศาสตร์​และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัย​ธรรมศาสตร์

​3. ยศธร ไตรยศ ช่างภาพ จาก Realframe

4. ภานุมาศ สงวนวงษ์ ช่างภาพ จาก Thai News Pix

5. ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย