6 ผลกระทบของ “โคโรนาไวรัส” ต่อสิทธิมนุษยชน

7 กุมภาพันธ์ 2563

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

 การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (2019-nCov) ซึ่งเริ่มจากเมืองอู่ฮั่น (มณฑลหูเป่ย) ของจีนช่วงปลายปี 2562 ได้ถูกประกาศให้เป็นภัยฉุกเฉินทางสาธารณสุขระดับโลกโดยองค์การอนามัยโลก (WHO)

 

จนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ คาดว่ามีผู้ติดเชื้อนี้แล้วมากกว่าสองหมื่นคนทั่วโลก ทางการจีนรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในมณฑลหูเป่ย โรคนี้ได้แพร่กระจายไปอีก 25 ประเทศและดินแดนทั่วโลก  

 

แนวทางรับมือกับการแพร่ระบาดที่เป็นอยู่มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนของประชาชนหลายล้านคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิทธิด้านสุขภาพของบุคคล ซึ่งได้รับการรับรองตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่กำหนดให้บุคคลมีสิทธิเข้าถึงบริการดูแลด้านสุขภาพ สิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การห้ามการเลือกปฏิบัติในแง่การให้บริการรักษาพยาบาล เสรีภาพที่จะไม่ต้องเข้ารับการรักษาหากไม่ให้ความยินยอม และหลักประกันที่สำคัญอื่น ๆ 

 

“การเซ็นเซอร์ การเลือกปฏิบัติ การควบคุมตัวโดยพลการ และการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ควรเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส” 

“การละเมิดสิทธิมนุษยชนแทนที่จะช่วยเหลือ กลับขัดขวางการรับมือกับภัยฉุกเฉินทางสาธารณสุข ทำให้ประสิทธิภาพน้อยลง” 

นิโคลัส เบเคลัง ผู้อำนวยการภูมิภาค แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว 

 

สิทธิอื่น ๆ ตกอยู่ใต้ความเสี่ยงระหว่างการแพร่ระบาดเช่นกัน รวมทั้งเสรีภาพที่จะไม่ถูกควบคุมตัวโดยพลการ และเสรีภาพในการเดินทาง เสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิทางเศรษฐกิจ-สังคม การจำกัดสิทธิเหล่านี้อาจทำได้ เฉพาะเมื่อเป็นไปตามหลักการที่สอดคล้องกับความจำเป็น ความได้สัดส่วน และความถูกต้องตามกฎหมาย

 

1. การเซ็นเซอร์ข้อมูลตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน

 

รัฐบาลจีนได้ดำเนินการอย่างกว้างขวาง เพื่อปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับโคโรนาไวรัส และอันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อสาธารณสุข ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2562 แพทย์ที่อู่ฮั่นเล่าให้เพื่อนร่วมงานฟัง ถึงความหวาดกลัวว่า อาจมีคนไข้ที่มีอาการเป็นโรคทางเดินหายใจรุนแรงคล้ายกับโรค SARS ซึ่งเคยแพร่ระบาดทางตอนใต้ของจีนเมื่อปี 2545 ส่งผลให้แพทย์เหล่านี้ ถูกสั่งให้ปิดปากโดยทันที และถูกทางการของเมืองลงโทษ เนื่องจาก “ปล่อยข่าวลือ

 

“บุคลากรทางการแพทย์ของจีนพยายามส่งสัญญาณเตือนเกี่ยวกับไวรัสตัวนี้ หากตอนนั้นรัฐบาลจริงใจที่จะลดอันตรายไม่ให้เกิดขึ้น โลกย่อมสามารถรับมือกับการแพร่ของไวรัสได้ทันท่วงทีกว่านี้”

นิโคลัส เบเคลัง กล่าว

 

ในการเผยแพร่ความเห็นทางออนไลน์อีกหนึ่งเดือนต่อมา ศาลประชาชนสูงสุดของจีน ตั้งคำถามต่อการตัดสินใจของทางการเมืองอู่ฮั่น ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นการสนับสนุนการกระทำของแพทย์เหล่านั้น 

ทางการจีนยังคงควบคุมการรายงานข่าวของสื่อ และขัดขวางการรายงานในเชิงลบต่อไป ทำให้มีการเซ็นเซอร์มากขึ้น บางครั้งเป็นการปิดกั้นข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับไวรัสนี้ 

ตั้งแต่เริ่มเกิดวิกฤติ ทางการได้เซ็นเซอร์บทความหลายชิ้น รวมทั้งบทความขององค์กรสื่อกระแสหลัก อย่างเช่น สื่อในเครือของ Beijing Youth Daily และ Caijing

 

“ทางการจีนเสี่ยงที่จะปิดกั้นข้อมูล ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์ เพื่อหาทางรับมือกับโคโรนาไวรัส และช่วยให้ประชาชนสามารถป้องกันตนเองจากการติดเชื้อได้”  

“เหตุที่มีการปิดกั้นข้อมูลเหล่านี้จากประชาชนทุกคน ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโคโรนาไวรัสมากขึ้น และทำให้เกิดความล่าช้าของการรับมืออย่างเป็นผล” 

นิโคลัส เบเคลังกล่าว

 

และดูเหมือนว่า ความพยายามลดความน่ากลัวของการแพร่ระบาดเกิดจากการตัดสินใจในระดับสูงสุดของรัฐบาลจีนเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากการที่รัฐบาลจีนลอบบี้อย่างหนักหน่วงให้องค์การอนามัยโลกไม่ประกาศให้การแพร่ระบาดครั้งนี้เป็นภัยฉุกเฉินทางสาธารณสุขระดับโลก แต่สุดท้าย WHO ก็ประกาศเช่นนั้น 

 

f25dd116832cf72bd74e6624060d519fee47f9e4.jpg

 

2. สิทธิด้านสุขภาพ

 

ปัจจุบันระบบการรักษาพยาบาลที่อู่ฮั่นรับมือแทบไม่ไหว เนื่องจากทั้งสถานพยาบาลและบุคลากรง่วนกับการจัดการกับการแพร่ระบาดอย่างกว้างขวาง 

 

โรงพยาบาลหลายแห่งปฏิเสธไม่รับคนไข้ แม้คนไข้ต้องมา เข้าคิวรอเป็นเวลาหลายชั่วโมง สถานพยาบาลหลายแห่ง ไม่มีความสามารถในการตรวจสอบเชื้อที่จำเป็น

 

“ประเทศจีนต้องดูแลให้บุคคลทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากโคโรนาไวรัส สามารถเข้าถึงการดูแลสุขภาพอย่างเพียงพอในอู่ฮั่นและที่อื่น ๆ การควบคุมโรคระบาดเป็นเรื่องสำคัญ เช่นเดียวกับการป้องกันและการรักษาพยาบาล ด้วยเหตุดังกล่าว สิทธิด้านสุขภาพจึงควรเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการรับมือครั้งนี้” 

“ในขณะที่ WHO กล่าวยกย่องชมเชยประเทศจีน มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ในความเป็นจริง มาตรการรับมือที่เกิดขึ้นที่ผ่านมาและปัจจุบัน สร้างปัญหามากมาย” 

นิโคลัส เบเคลังกล่าว

 

สื่อมวลชนในท้องถิ่นรายงานว่าประชาชน ไม่สามารถเดินทางไปโรงพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีการสั่งหยุดการเดินรถโดยสารประจำทาง และในบางกรณีพวกเขาไม่สามารถเอาศพคนตายออกจากบ้านตนเองได้ 

 

3. การคุกคามและข่มขู่นักกิจกรรม 

 

ผู้ซึ่งพยายามแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับโคโรนาไวรัสในโซเชียลมีเดีย ตกเป็นเป้าหมายการคุกคามของรัฐบาลจีน ตัวอย่างเช่น ทนายความและผู้สื่อข่าวพลเมืองที่กล้าพูดอย่าง เฉินจี้ชี่รายงานว่าตนเองถูกทางการคุกคาม หลังเผยแพร่ภาพวีดิโอที่ถ่ายในโรงพยาบาลที่อู่ฮั่น

 

ชาวเมืองอู่ฮั่นอีกคนหนึ่งอย่าง ฟางปิงถูกเจ้าหน้าที่นำตัวไปควบคุมตัวชั่วคราว หลังจากเขาโพสต์วีดิโอที่มีภาพเหมือนกับเป็นศพของผู้ตายจากโคโรนาไวรัส

 

“แม้ว่าการปฏิเสธข้ออ้างที่เลื่อนลอยเกี่ยวกับไวรัสนี้เป็นเรื่องสำคัญ ทั้งนี้เพื่อดูแลให้มีการเผยแพร่ข้อมูลด้านสุขภาพที่ถูกต้อง แต่การปิดกั้นเนื้อหาข่าวและโซเชียลมีเดียที่ถูกต้องในประเด็นนี้ ไม่เป็นประโยชน์ต่อการสาธารณสุขเลย”

นิโคลัส เบเคลังกล่าว

 

 4. การปราบปรามระดับภูมิภาคต่อ “เฟกนิวส์”

 

ในขณะที่ไวรัสนี้แพร่จากจีนไปประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รัฐบาลประเทศต่าง ๆ มีแนวโน้มที่จะควบคุมการรายงานข่าวเรื่องนี้เช่นกัน 

มีผู้ถูกจับกุมและปรับในมาเลเซีย ไทย และเวียดนาม จากการโพสต์สิ่งที่เรียกว่า “เฟกนิวส์” เกี่ยวกับการแพร่ระบาดนี้

 

“รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ต้องป้องกันการจงใจบิดเบือนข้อมูล และให้คำแนะนำด้านสุขภาพอย่างทันท่วงทีและอย่างถูกต้อง อย่างไรก็ดี การจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกต้องเกิดขึ้นอย่างได้สัดส่วน ชอบธรรม และจำเป็นเท่านั้น” 

 “รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ต้องป้องกันการจงใจบิดเบือนข้อมูล และให้คำแนะนำด้านสุขภาพอย่างทันท่วงทีและอย่างถูกต้อง อย่างไรก็ดี การจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกต้องเกิดขึ้นอย่างได้สัดส่วน ชอบธรรม และจำเป็นเท่านั้น” 

“รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และที่อื่น ๆ อาจเรียนรู้บทเรียนอย่างหนึ่งจากการรับมือวิกฤติโคโรนาไวรัสของจีนได้ กล่าวคือ การอ้าง ‘เสถียรภาพ’ เพื่อควบคุมจำกัดข้อมูลข่าวสารและขัดขวางการอภิปรายถกเถียง ทำให้เกิดความเสี่ยงอย่างมาก และอาจเป็นผลลบอย่างรุนแรง” 

นิโคลัส เบเคลัง

  

5. การเลือกปฏิบัติและความเกลียดกลัวคนต่างชาติ

 

ประชาชนจากอู่ฮั่นรวมทั้งผู้ซึ่งยังไม่ได้แสดงอาการ ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ถูกปิดกั้นให้อยู่แต่ในห้องพักของตนเอง และมีการนำข้อมูลส่วนตัวไปแอบเผยแพร่ทางออนไลน์ในจีน จากรายงานของสื่อมวลชน 

 

มีรายงานอย่างกว้างขวางถึงบรรยากาศที่ต่อต้านชาวจีนหรือชาวเอเชีย ในลักษณะที่เป็น ความเกลียดกลัวคนต่างชาติ ในประเทศอื่น ๆ ร้านอาหารบางแห่งในเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และเวียดนาม ปฏิเสธไม่รับลูกค้าชาวจีน ส่วนที่อินโดนีเซียมีคนไปเดินขบวนขับไล่ชาวจีนที่พักอยู่ในโรงแรม มีข้อกล่าวหาว่า หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสและออสเตรเลียรายงานถึงวิกฤติครั้งนี้ โดยแสดงอคติแบบเหยียดเชื้อชาติ  

ประชาคมชาวเอเชียทั่วโลกได้ออกมาร้องเรียน มีการติดแฮชแท็กในทวิตเตอร์ อย่างเช่น  #JeNeSuisPasUnVirus (ฉันไม่ใช่ไวรัส) อย่างกว้างขวางในฝรั่งเศส 

 

“รัฐบาลจีนควรดำเนินมาตรการเพื่อคุ้มครองบุคคลไม่ให้ถูกเลือกปฏิบัติ ส่วนรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ควรใช้มาตรการที่ห้ามการเหยียดเชื้อชาติอย่างสิ้นเชิงต่อบุคคลที่เป็นชาวจีนและมีเชื้อสายเอเชีย วิธีการเดียวที่โลกจะต่อสู้กับการแพร่ระบาดนี้ได้ คือการสามัคคีและร่วมมือกันข้ามพรมแดน”

 นิโคลัส เบเคลังกล่าว

 

6. การควบคุมพรมแดนและการกักกันต้องได้สัดส่วนเหมาะสม 

 

ในการรับมือกับไวรัสนี้ หลายประเทศได้ปิดกั้นไม่ต้อนรับบุคคลที่เดินทางมาจากประเทศจีนหรือประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย ส่วนบางประเทศได้ใช้มาตรการกักกันผู้เข้าประเทศที่มาจากจีน 

 

รัฐบาลออสเตรเลียได้ส่งตัวพลเมืองชาวออสเตรเลียหลายร้อยคน ไปยังสถานกักตัวคนต่างด้าวที่อยู่บนเกาะคริสต์มาส ซึ่งมีสภาพความเป็นอยู่ที่ “ขาดมนุษยธรรม” ดังที่สมาคมการแพทย์ออสเตรเลียเคยอธิบายไว้ เนื่องจากผู้ลี้ภัยที่เคยถูกควบคุมตัวที่นี่ต้องเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพกายและใจอย่างมาก

 

ปาปัวนิวกินีปิดประตูไม่ต้อนรับบุคคลที่มาจากประเทศอื่น ๆ ทุกประเทศในเอเชีย ไม่เฉพาะประเทศที่มีรายงานผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสเท่านั้น ส่งผลให้นักศึกษาชาวปาปัวนิวกินีบางส่วนถูกทิ้งอยู่ในฟิลิปปินส์ เพราะไม่สามารถขึ้นเครื่องบินกลับบ้านได้ ตามคำสั่งของทางการปาปัวนิวกินี  

 

การกักกันซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการเดินทาง อาจกระทำได้ตามกฎหมายระหว่างประเทศ เฉพาะเมื่อเป็นการกระทำอย่างได้สัดส่วน ภายในเวลาที่กำหนด ตอบสนองเป้าประสงค์ที่ชอบธรรม ทำเพราะจำเป็นอย่างยิ่ง และให้ทำโดยสมัครใจเป็นไปได้ และให้ทำอย่างไม่เลือกปฏิบัติ การกักกันต้องเกิดขึ้นในลักษณะที่ปลอดภัยและแสดงความเคารพต่อผู้ถูกกักกัน โดยต้องมีการเคารพและคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกักกัน ต้องให้พวกเขาเข้าถึงการดูแลด้านสุขภาพ อาหาร และสิ่งจำเป็นอื่น ๆ  

 

“รัฐบาลประเทศต่าง ๆ กำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ท้าทาย และต้องดำเนินมาตรการทั้งเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส และประกันว่าบุคคลที่ได้รับผลกระทบ สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่จำเป็นได้” 

นิโคลัส เบเคลังกล่าว