สรภัส นามปากกา 'นักเขียนอิสระ' ผู้ชนะที่เล่าเรื่องสั้น 'ส่งต่อ' ถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนไทย

2ึ7 กรกฎาคม 2566

Amnesty International Thailand

 

“เพราะการเขียนไม่ใช่แค่การเล่าเรื่องทั่วไปผ่านตัวอักษร มันมีอะไรที่แฝงและซ่อนเร้นอยู่สารพัดอย่างในดินแดนสนธยาชื่อว่าประเทศไทย ที่บางเรื่อง บางความจริง บอกออกมาตรงๆ ไม่ได้ เฉกเช่นการที่มีคนถูกอุ้มหาย หรือถูกบังคับให้สูญหาย ไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตกับครอบครัวคนรักได้อีกตลอดกาลฟากฝั่งของผู้มีอำนาจรับรู้เรื่องราว แต่กลับพบสายลมของความนิ่งเฉยที่โบยบินอยู่ในอากาศ เพียงเพราะบางเรื่องเกิดจากความเห็นต่างระหว่างหน่วยงานภาครัฐและประชาชน” 

 

คำกล่าวข้างต้นกลายเป็นใจความสำคัญที่เหล่านักเขียนอิสระในโครงการ Writers that Matter พยายามส่งเสียงและสื่อสารถึงสาธารณะ เมื่อถูกถามว่าทำไมถึงตัดสินใจเขียนเรื่องสั้นเรื่องใหม่อีกครั้งเป็นปีที่สอง ทุกคนบอกตรงกันว่าต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้ตัวอักษรมีพลังผ่านงานเขียน ด้วยความหวังของวันนี้และพรุ่งนี้ สังคมไทยจะมองเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสากล และร่วมสร้างวัฒนธรรมที่เคารพสิทธิกันและกันให้เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย 

 

พิมพิศา หล่อประพันธ์ เป็นนักเขียนอิสระที่ใช้ชีวิตในต่างประเทศ  มีนามปากกาว่า ‘สรภัส’เธอคือหนึ่งในผู้ที่อยากให้ตัวอักษรเปลี่ยนโลกให้เกิดสิทธิเสรีภาพที่แท้จริงได้ในสักวันหนึ่ง ปีที่แล้วงานเขียนของเธอได้รับคัดเลือกจากกรรมการให้เป็นผู้ชนะในโครงการ Writer That Matter ปี 2565 แต่สิ่งที่คาดไม่ถึงคือเรื่องที่เธอได้รางวัลเป็นงานเขียนเรื่องแรกในชีวิต หลังสมัครเรียนวิชาเขียนเรื่องสั้น เพราะหลงรักในการอ่านและการเขียนมาตั้งแต่เด็ก ปีนี้เธอได้เขียนเรื่องสั้นให้โครงการนี้อีกครั้ง เพราะต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการตีแผ่สังคมผ่านการเล่าเรื่องในมุมมองของเธอ 

 

รู้จักนักกิจกรรมที่เป็น ‘เพื่อนวันเฉลิม’ ทำให้อยากเขียนมากขึ้น 

เรื่องสั้นเรื่องแรกในชีวิตของพิมพิศา ใช้ชื่อเรื่องว่า ‘ส่งต่อ’ เป็นงานเขียนชิ้นแรกในชีวิต เรื่องราวทั้งหมดได้รับแรงบันดาลใจจากการหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยของวันเฉลิม ประเด็นนี้เป็นอีกแรงผลักดันที่ทำให้เธอตัดสินใจเขียนเรื่องสั้นส่งเข้าประกวดเมื่อปีที่แล้ว จนได้รับรางวัลจากแอมเนสตี้ ประเทศไทย ไปในที่สุด 

พิมพิศา เล่าว่า ที่ผ่านมาทุกวันครบรอบของผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหายหรืออุ้มหาย จะมีคนโพสต์ตามสื่อออนไลน์แพลตฟอร์มต่างๆ ว่า คนนั้นหายไปกี่วัน กี่เดือน กี่ปีแล้ว ทำให้เธอคิดว่าคนในสังคมจะตระหนักหรือจำเรื่องนี้ได้ ก็ต่อเมื่อถึงวันครบรอบการสูญหายเท่านั้น ทำให้เธอตั้งคำถามว่า แล้วในอีก 10 – 20 ปีข้างหน้า คนที่ถูกทรมานหรือถูกบังคับให้สูญหายเหล่านี้จะมีคนจดจำพวกเขาได้อีกหรือไม่ จึงเป็นอีกแรงขับเคลื่อนให้เธอสร้างสรรค์ตัวละคร และสะท้อนเรื่องราวกรณีการถูกทรมาน-อุ้มหาย 

 

“ปกติเวลาเขียนเรื่องเกี่ยวกับการทรมาน-อุ้มหาย ส่วนใหญ่คนจะไปโฟกัสที่คนหายอย่างเดียว แต่เราคิดว่าอยากเขียนเรื่องที่สะท้อนถึงคนที่เขาต้องรอไปเรื่อยๆ โดยไม่มีคำตอบว่าคนที่หายไปมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร หรือเกิดอะไรขึ้นกับคนนั้น นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขียนเรื่องนี้ขึ้นมา หลังเข้าคอร์สเรียนเขียนเรื่องสั้น” 

 

เส้นทาง สู่ ‘นักเขียนอิสระ’ ในชีวิตของพิมพิศา 

ด้วยความที่เธอเป็นคนชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็กๆ และอยากเป็นนักเขียนตั้งแต่อายุประมาณ 9-10 ขวบ ตอนแรกพิมพิศายอมรับว่าไม่มีความรู้อะไร รู้แค่ว่าการเป็นนักเขียนต้องมีอะไรมากกว่าแค่การสร้างตัวละครหรือพล็อตเป็นองค์ประกอบขึ้นมา เมื่อได้เรียนการเขียนเรื่องสั้นแบบเต็มตัว ทำให้รู้ว่าการเขียนมีรายละเอียดมากกว่าที่เธอเข้าใจอยู่ รวมถึงการที่ผลงานชิ้นแรกในชีวิตเรื่อง ‘ส่งต่อ’ ได้รับรางวัลในโครงการ Writers That Matter เมื่อปี 2565 สร้างความประทับใจและความภูมิใจให้เธอเป็นอย่างมาก ผลพวงของรางวังจุดประกายให้เธอมีความมั่นใจที่จะสื่อสารเรื่องราวในสังคมผ่านงานเขียนต่อไป

ส่วนนามปากกา ‘สรภัส’ เธอเล่าว่า มีแรงบันดาลใจจากหนังสือที่เธอชอบอ่านตั้งแต่ตอนเด็ก ที่นักเขียนใช้นามปากกาว่า ‘สรจักร’ ยอมรับว่าในตอนนั้น เป็นแฟนพันธุ์แท้ที่ชอบอ่านงานเขียนของคนๆ นั้น ไม่คิดว่าตัวเองจะได้เป็นนักอิสระในวันนี้ เรื่องที่พิมพิศาชอบขณะนั้น เป็นเรื่องราวที่ผู้เขียนใช้วิธีการเล่าเรื่องแบบหักมุม ซึ่งเธอคิดว่าเป็นสิ่งที่น่าประทับใจมาก จึงทำให้เธอตั้งชื่อนามปากกาของตัวเองให้คล้ายคลึงกับนักเขียนที่เธอชื่นชอบ 

งานเขียนแบบวรรณกรรม เป็นอีกประเด็นที่พิมพิศาพูดถึงเรื่องนี้ เธอมองว่างานวรรณกรรมแม้จะเป็นงานเขียนเชิงบันเทิงคดี แต่สิ่งที่ต้องไม่ลืมคือ ‘ความจริง’ ที่ใส่ไว้ในการเล่าเรื่องผ่านตัวละคร ทำให้คนอ่านรู้สึกสนุกได้โดยที่ไม่ลืมโลกแห่งความเป็นจริง และสามารถเห็นถึงปัญหาบางอย่างที่ถูกซุกไว้ใต้พรมได้อย่างไม่ถูกปกปิดไว้เป็นความลับ

 

“ส่วนตัวมองว่าวรรณกรรมควรเป็นอะไรที่ทําให้เราลืมความเป็นจริง แต่ก็เห็นความเป็นจริง มันอาจจะไม่ใช่โลกความจริง แต่มันสะท้อนความจริง”

 

คุยเรื่องสิทธิ กับนักเขียนอิสระ เจ้าของรางวัล Writers That Matter 2565 

สังคมไทยตื่นตัวเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น แต่ยังกระจุกอยู่ในกลุ่มคนบางกลุ่ม ที่อาจยังไม่กว้างขวางมากนัก หรือมีการเลือกรับสารในประเด็นที่ต้องการรับรู้เพียงอย่างเดียว พิมพิศา เปรียบเทียบเรื่องนี้กับการดูข่าวสารบ้านเมืองของกลุ่มคนที่เธอเรียกว่า ‘ชนชั้นกลาง’ ที่จะเลือกเนื้อหาในประเด็นที่ตัวเองสนใจเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้ดูบริบทหรือความเห็นของกลุ่มคนอีกจำนวนหนึ่งอย่างเปิดใจ ท้ายที่สุดทั้งสองกลุ่มกลายเป็นบุคคลที่เห็นต่าง และไม่ลงรอยกันในแง่ความเชื่อและความคิดที่ไม่เหมือนกัน 

 

“ความเหลื่อมล้ำยังสูง มันเลยทําให้เรื่องสิทธิมนุษยชน อาจจะเข้าใจไม่เหมือนกัน เหมือนเป็นแนวคิดแบบตะวันตก เพราะมีบางคนเข้าใจไม่ตรงกันหรือบางคนไม่เข้าใจเลย”

 

เมื่อพูดถึงการเข้าร่วมโครงการ Writers That Matter พิมพิศาเล่าว่า เห็นงานประชาสัมพันธ์ผ่านกลุ่มนักเขียนที่ตัวเองฝังตัวอยู่ระหว่างเรียนเขียนเรื่องสั้น จากนั้นในโซเชียลมีเดียเริ่มมีการโพสต์รับสมัครนักเขียนอิสระประกวดเรื่องสั้นอีกครั้ง การได้เห็นเวิร์กชอปที่น่าสนใจ ทำให้เธอตัดสินใจสมัครเข้าไป และได้รับแรงบันดาลใจมากมายจากผู้เข้าร่วมและวิทยากรทุกคน สิ่งที่จุดประกายการเป็นนักเขียนให้เพิ่มยิ่งขึ้น เพราะในงานวันนั้นมีเคสของพ่อคนหนึ่งที่ลูกโดนทรมาน จนตัวเองต้องพบแพทย์เพื่อรักษาอาการทางจิต เรื่องราวที่เกิดขึ้นยิ่งทำให้เธอเห็นว่าการทรมานอุ้มหาย ไม่ได้เจ็บปวดแค่คนถูกทำให้หาย แต่ยังเป็นบาดแผลลึกและร้ายไปถึงคนที่อยู่เบื้องหลังทวงคืนความยุติธรรม

 

“สังคมปกติจะโฟกัสกับแค่ว่าผู้เป็นเหยื่อโดนอะไรบ้าง หายไปกี่วัน แต่จริงๆ คนที่อยู่เบื้องหลังเขาก็มีความเจ็บปวดของเขาเหมือนกัน มันทําให้เราเห็นอีกมิติหนึ่ง ไม่ใช่แค่ว่าคนหายหรือผู้ถูกกระทำเป็นเหยื่อ แต่ว่าก็จะมีคนดูแลหรือคนที่อยู่เบื้องหลัง เขาก็มีปัญหาเจอสภาวะร้ายแรงเหมือนกัน มันเลยเป็นแรงบันดาลใจให้เราเขียนงานต่อไป”  

 

เจ้าของนามปากกา ‘สรภัส’ ยังเล่าเบื้องหลังการเป็นมาอยู่ในกลุ่มคนคลั่งรักการเขียนว่า สมัยเด็กๆ ครอบครัวไม่ปิดกั้นเรื่องการอ่านหนังสือ ทำให้เธอได้อ่านหนังสือที่เกินอายุหลายเล่ม ทำให้เธอเห็นโลกที่กว้างกว่าเด็กทั่วไป โดยเฉพาะการเห็นอกเห็นใจคนที่ถูกกระทำ แม้จะไม่เคยพบเจอกันก็ตาม ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเธอมองว่าเป็นความโชคดีที่ครอบครัวให้อิสรภาพในการใช้ชีวิต จึงทำให้เธอมีแรงบันดาลใจมาถึงทุกวันนี้ 

 

“สําหรับปีนี้ก็ จริงๆ คือ ลงคอร์สเขียนนิยายเอาไว้ แล้วก็บอกอาจารย์เหมือนกันว่าเรื่องสั้นที่เขียนได้รางวัลแล้ว เดี๋ยวจะเขียนนิยายต่อ แล้วก็บอกคนรุ่นน้องเหมือนกันว่า เดี๋ยวแอมเนสตี้จัดอีกทีปีไหน ใครอยากสนใจก็ลองเขียนดู เพราะส่วนตัวคิดว่าเรื่องสิทธิมันเป็นเรื่องที่เขียนได้ แต่เขียนอย่างไรให้สนุกและมีความหวัง”