ทำไมจึงต้องมีสิทธิมนุษยชนศึกษา

2 เมษายน 2567

Amnesty International Thailand

สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิที่ติดตัวมนุษย์ทุกคนมาตั้งแต่กำเนิด  ไม่ว่าจะเป็นคนเชื้อชาติศาสนาหรือเพศใด  ทุกคนล้วนเท่าเทียมกันรัฐมีหน้าที่ต้องเคารพปกป้องและจัดสรรให้ประชาชนเข้าถึงสิทธินี้ได้อย่างมีศักดิ์ศรีส่วนประชาชนด้วยกันจะต้องไม่ล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่น

ใจความสำคัญที่ว่ามานั้นปรากฏอยู่ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองและประกาศโดยข้อมติสมัชชาสหประชาชาติเมื่อ 10 ธันวาคม 2491 (ค.ศ.1948) หรือ 75 ปีมาแล้วที่สิทธิมนุษยชนเปรียบเสมือนเป็นร่มใหญ่ให้แก่สิทธิด้านอื่น ๆ ที่ทยอยตามมา

แต่เรายังพบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลากหลายรูปแบบจากบุคคลทั่วไปหรือองค์กรต่าง ๆ อยู่เสมอ  ทำไมจึงเป็นเช่นนั้นและจะทำอย่างไรให้เกิดการตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนแก่ทุกฝ่ายทุกคน

 

ห้องเรียนสิทธิ” – Human Rights Education

หนทางหนึ่งที่มีความเป็นไปได้ที่สุดในการสร้างความตระหนักเรื่องสิทธิมนุษยชนให้เกิดขึ้นโดยทั่วไป แอมเนสตี้โดยฝ่ายสิทธิมนุษยชนศึกษา ได้มีการจัด ห้องเรียนสิทธิ ที่เน้นกระบวนการเรียนรู้ผ่านวิธีการที่เคารพสิทธิ เช่น การมีส่วนร่วม สร้างพื้นที่ในการแลกเปลี่ยน เคารพความหลากหลาย มีการออกแบบกระบวนการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนสำหรับผู้เรียน ตั้งแต่ระดับมัธยมต้นจนถึงมหาวิทยาลัย ปัจจุบันมีสถานศึกษาทั้งโรงเรียน มหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่าง ๆ ให้ความร่วมมือแล้วมากกว่า 40 แห่ง

แล้ว “ห้องเรียนสิทธิ” คืออะไร คำถามนี้ตอบได้ด้วยสมการง่าย ๆ อันนี้เลย

สิทธิมนุษยชนศึกษา = ฉันและคุณที่ตระหนักรู้เคารพในสิทธิและความรับผิดชอบต่อสิทธิ (Human Rights Education = I + You + Recognise + Respect + Rights and Responsibilities)

แอมเนสตี้จัดสิทธิมนุษยชนศึกษาผ่านการเรียนรู้ในสถานศึกษา ผ่านการเรียนรู้นอกห้องเรียน หรือจะเรียนรู้ด้วยตนเองก็ได้ โดยในปี 2566 มีผู้เข้ามาสนับสนุนมากขึ้น มีผู้เข้า“ห้องเรียนสิทธิ” มากถึง 4,524 คนจากทั่วประเทศ

 

ผู้คนไถ่ถามอยากเรียน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวใหญ่ทางการเมืองของเยาวชนเมื่อปี 2563  และอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องใกล้ตัวที่กระทบกับตัวตนของเรา

การมีห้องเรียนสิทธิมนุษยชน หรือสิทธิมนุษยชนศึกษาจึงตอบโจทย์เยาวชนและคนรอบข้าง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้การอยู่ร่วมกัน อย่างมีความเคารพซึ่งกันและกัน แม้จะมีความแตกต่างกันบ้างในบางมิติ

ฝน-อลิสาบินดุส๊ะผู้ประสานงานกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคใต้ผู้มีความสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนมาตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาเห็นว่าหลังจากการตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาคำว่าสิทธิมนุษยชนเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้นมีคนสนใจอยากเรียนรู้ทำให้ความต้องการในการทำห้องเรียนสิทธิมนุษยชนมากขึ้นด้วยสังเกตได้จากการทำงานกับนักกิจกรรมที่สนใจให้เราไปจัดห้องเรียนต่างจากเมื่อก่อนที่คนไม่สนใจเลยหรือไม่รู้ว่าจะใกล้ชิดกับคำนี้ได้อย่างไรแต่ในขณะเดียวกันพอมีการให้ความสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้นเราก็จะพบการละเมิดหรือการคุกคามมากขึ้นเช่นกัน

การละเมิดหรือคุกคาม บางครั้งเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดายในชีวิตประจำวัน ที่ผู้คนไม่ได้ตระหนักถึงความหลากหลายและความเท่าเทียม โดยเฉพาะเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศ เคียวกะ”- ปลายฟ้าโชติรัตน์วัย 18 ปี ลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนที่รณรงค์เรื่องสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ กล่าวถึงความสำคัญของการสอนเรื่องสิทธิมนุษยชน

เรานิยามตัวเองว่าเป็น non-binary (คนที่ไม่อยู่ในกรอบของสองเพศ) เคยตัดผมสั้นแล้วถูกเพื่อนล้อว่าเป็นผู้ชายพอเราบอกเพื่อนว่าเราเป็นนักกิจกรรม LGBTQ+ เพื่อน ๆ ก็มักจะบอกว่าเพราะเธอเป็นเกย์เป็นเลสเบี้ยนใช่ไหม  เราไม่อยากถูกตีตราแบบนั้นเราชื่อเคียวกะแล้วเราก็อยากให้เขาเรียกเราด้วยชื่อของเราเหตุผลที่เรื่องแบบนี้ยังคงเกิดขึ้นอยู่เพราะโรงเรียนไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสอนเรื่องสิทธิมนุษยชน” 

 

คุณภาพชีวิตที่ดีด้วยสิทธิเด็ก

ด้านนักจิตวิทยาที่มีมุมมองสิทธิมนุษยชน อย่าง โอ๊ต-จิณณวัตรช้อยคล้าย เจ้าหน้าที่วิจัยและนักจิตวิทยา ประจำอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช  และมีโอกาสทำงานกับกลุ่มเปราะบาง กลุ่มคนที่เผชิญความรุนแรง กลุ่มม็อบ ตั้งข้อสังเกตว่า

การจะเข้าใจใครสักคน ไม่ใช่เข้าใจเฉพาะสิ่งที่เป็นปัจเจก แต่ต้องนึกถึงเรื่องการประกอบสร้างทางสังคมร่วมด้วย  กว่าใครคนหนึ่งจะมายืนตรงจุดที่ต้องขอความช่วยเหลือ ในแง่ประสบการณ์ส่วนบุคคล เขาต้องถูกกดทับซ้ำ ๆ  ในฐานะนักจิตวิทยา จะต้องพาผู้ได้รับผลกระทบทางใจจากการถูกละเมิดสิทธิหรือจากปัญหาทางสังคมต่าง ๆ กลับไปทำความเข้าใจตนเอง ทำความเข้าใจการประกอบสร้างทางสังคม ร่วมกับการเรียนรู้สิทธิของตัวเอง

โอ๊ตพบว่าหลายครั้งที่ให้บริการแก่ผู้ที่มารับบริการแล้ว ไม่ว่าจะให้ความช่วยเหลือเต็มที่อย่างไร เขาก็ยังกลับมาหาเราอยู่ดีด้วยปัญหาเดิม ๆ จึงทำให้เริ่มสงสัยว่ามีอะไรบางอย่างในสังคมที่ทำให้เขาไม่สามารถหลุดพ้นได้ เมื่อศึกษามากขึ้นจึงรู้ว่าการจะทำให้เด็กได้รับสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้เขาเติบโตสมวัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดีนั่นคือเครื่องมือที่ชื่อว่า “สิทธิเด็ก  โดยสิ่งที่แตกต่างกันอย่างมากระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่คือ เด็กไม่สามารถเลือกตั้งได้ ซึ่งส่งผลต่อชีวิตของเด็กถึง 20 ปีจึงควรให้ความสำคัญกับเสียงของเขามาก ๆ เพราะนั่นหมายถึงเวลาหนึ่งในสามของชีวิต

จากความสนใจเรื่องสิทธิเด็กและเรื่องความหลากหลายทางเพศ ซึ่งโอ๊ตนิยามตนเองว่าอยู่ในกลุ่ม LGBTQ เป็นคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากวาทกรรม ปัญหาโครงสร้างสังคมที่กดทับ ประกอบกับประสบการณ์ที่ไม่ดีในวัยเด็ก จึงได้ลองคุยกับตัวเองและร่วมเข้าอบรมเพื่อให้เข้าใจตัวเองผ่านบริบททางสังคม ทำให้มีความสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ อีกทั้งเห็นว่าการเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งจำเป็นแต่กลับไม่มีบรรจุในหลักสูตร ทำให้ตัดสินใจสมัครเข้าร่วมอบรมกระบวนกรของแอมเนสตี้ (Training of Trainers) เพื่อลองหาความรู้ และหลังจากนั้นยังมีโอกาสได้เป็นกระบวนกรในห้องเรียนสิทธิอีกด้วย

 

ห้องเรียนสิทธิกับความเปลี่ยนแปลง

ในขณะที่ ฝน-อลิสาบินดุส๊ะ เป็นอีกคนหนึ่งที่เข้าร่วมอบรมกระบวนกรของแอมเนสตี้ หลังจากเคยร่วมจัดห้องเรียนสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคใต้มาด้วยกันบ่อยครั้งแล้ว เพราะเห็นว่าการอบรมจะมีส่วนช่วยเพิ่มเติมความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน ได้ความรู้และรูปแบบของการอธิบายเรื่องสิทธิมนุษยชนให้ผู้อื่นเข้าใจง่าย รับรู้ว่าแนวคิดนี้มาจากอะไร รวมถึงการได้แลกเปลี่ยนเทคนิคกับเพื่อนที่เข้าร่วมอบรม

ด้วยระยะเวลาที่มีส่วนร่วมกับห้องเรียนสิทธิมานานพอสมควร ฝนมองเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นว่า

ถ้าเป็นกลุ่มนักกิจกรรมก็จะเห็นความเข้าใจในประเด็นที่ต่างจากตัวเองมากขึ้น ในเรื่องสิทธิมนุษยชนคุณจะเลือกเคารพบางสิทธิไม่ได้มันทำให้เขาเข้าใจความเป็นมนุษย์ของกันและกันมากขึ้นส่วนใหญ่ประเด็นแบบนี้ก็จะขัดแย้งอยู่ในพื้นที่เช่นกลุ่มคนที่ทำงานด้าน LGBTQ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้กับกลุ่มที่เรียกร้องเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกในพื้นที่ 3 จังหวัดแต่เดิมเขามีความไม่รู้จักกันอยู่ แนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนจะเข้าไปบอกว่าทุกสิทธิ์นั้นเกี่ยวเนื่องกัน จะแบ่งแยกไม่ได้การทำให้เกิดความตระหนักตรงนี้สิ่งที่เราเห็นว่ามันเปลี่ยนคือเขาสามารถซัปพอร์ตกันบนหลักการ โดยไม่จำเป็นว่าสิ่งที่เพื่อนเรียกร้องต้องเป็นประเด็นที่ตัวเองให้ความสนใจมากที่สุด

 

ห้องเรียนสิทธิในทุกแห่งหนเพื่อเยาวชน

แม้จำนวนผู้เข้าห้องเรียนสิทธิในปีที่ผ่านมาจะมีผู้ให้ความสนใจมากขึ้น แต่ก็ยังจัดว่าเป็นจำนวนที่ค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับเยาวชนหลายสิบล้านคนทั่วประเทศที่กำลังเผชิญกับการถูกล่วงละเมิด และยังไม่รู้จักสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเอง  นี่เองจึงเป็นที่มาของความฝันจากสมาชิกแอมเนสตี้รายหนึ่งจากหนองบัวลำภู ที่อยากริเริ่มกิจกรรมห้องเรียนสิทธิในจังหวัดของตน ให้เป็นพื้นที่โมเดลทุกอำเภอ

นิคกี้-ศุภวิชญ์วงศ์วิริยะชัยคือสมาชิกแอมเนสตี้รายนั้น เขาเป็นสมาชิกแอมเนสตี้มา 5 ปีแล้ว หลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เขากลับบ้านมาทำธุรกิจส่วนตัวที่จังหวัดหนองบัวลำภู และใช้เวลาที่เหลือให้กับการเป็น NGO ทำงานด้านเด็กและเยาวชน เคยเข้าร่วมเรียนรู้ในห้องเรียนสิทธิ และทำงานกับแอมเนสตี้มาตลอด

นิคกี้มีความเห็นว่า เราต้องทำให้สิทธิมนุษยชน เข้าไปอยู่ในระบบการศึกษา ในสถาบันครอบครัว ในทุกช่องทางที่สามารถทำได้ เราต้องทำให้เยาวชนเรียนรู้สิทธิขั้นพื้นฐานผ่านการศึกษาและกิจกรรมต่าง ๆ เพราะการศึกษาในปัจจุบันให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชนน้อยเกินไป ทำให้บางคนยังไม่เข้าใจหรือเข้าใจเพียงผิวเผิน รวมถึงการที่ผู้ใหญ่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชน จะเป็นตัวอย่างและการปลูกจิตสำนึกให้กับเยาวชน

เรื่องสิทธิมนุษยชนศึกษาที่เป็นหลักสูตรของแอมเนสตี้ผมอยากนำมาทำในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภูให้เป็นพื้นที่โมเดลที่จะขับเคลื่อนกับเด็กในทุกอำเภอตามหลักสูตรที่แอมเนสตี้มีอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นบอร์ดเกมกระบวนกรขั้นตอนต่าง ๆ ที่จะทำให้เด็กเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน

ยังมีเรื่องที่ต้องผลักดันและช่วยกันขับเคลื่อนกันอีกมากทีเดียวเพื่อที่จะให้ห้องเรียนสิทธิเกิดขึ้นทั่วไปในทุกแห่งหนให้สิทธิมนุษยชนเบ่งบานในทุกพื้นที่ของประเทศไทย