Amnesty Regional Meet up : มรดกความขัดแย้ง 'รัฐประหาร' สู่การผลักดันกฎหมาย 'นิรโทษกรรมประชาชน' เพื่อความยุติธรรม

20 กุมภาพันธ์ 2567

Amnesty International Thailand

วันพฤหัสบดีที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับห้องหนังสือสมจริง Columbo Craft Village จังหวัดขอนแก่น จัดกิจกรรม Amnesty Regional Meet up:นิรโทษกรรม ประชาชน เปลี่ยนผ่านสู่ความยุติธรรม เปิดวงคุยเสวนาในหัวข้อ "เปลี่ยนผ่านสู่ความยุติธรรม - ไปให้ไกลกว่า "ยุติการดำเนินคดีต่อนักโทษทางการเมือง" ชวนทุกคนร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อเป็นย่างก้าวสำคัญในการผลักดันให้เกิดการเสนอชื่อเข้าร่างกฎหมาย พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ที่จะกลายเป็นสะพานเชื่อมให้สังคมปลดล็อกพันธนาการความขัดแย้ง และสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างสันติทุกฝ่าย

 

เปิดทาง 'นิรโทษกรรมประชาชน' หยุดความขัดแย้ง สร้างความยุติธรรม

บรรยากาศภายในวงเสวนามีผู้คนหลากหลายอาชีพและช่วงวัย ต่างพร้อมใจกันมาร่วมฟังวงคุย 'นิรโทษกรรมประชาชน' ทุกคนมาด้วยความหวังและความเชื่อว่าหากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่าน จะทำให้ประเทศไทยก้าวต่อไปอย่างสันติ จิณห์วรา ช่วยโชติ เจ้าหน้าฝ่ายรณรงค์และการสื่อสาร แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ขึ้นกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมด้วยความเป็นกันเอง พร้อมทั้งเล่าถึงจุดประสงค์และที่มาอย่างคร่าวๆ ก่อนที่กำหนดการจะดำเนินต่อไปอย่างเรียบง่าย

"ภายในงานจะมีกิจกรรมมากมาย ทั้งการอ่านบทกวี นิทรรศการภาพผู้ถูกดำเนินคดี และวงเสวนาที่จะเชิญชวนทุกคนมาร่วมลงชื่อเพื่อเสนอร่างพิจารณา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน เพื่อให้เราสามารถเสนอร่างนี้ได้ จึงอยากเชิญชวนทุกคนมาร่วมกิจกรรมนี้ เพราะเราต้องการรายชื่อให้ครบ 10,000 รายชื่อ เพื่อให้เราสามารถเสนอชื่อเข้าร่างได้" จิณห์วรา เล่าที่มาของการจัดงานให้ผู้เข้าร่วมฟัง

 

 

จุดเริ่มต้น 'ความอยุติธรรม' จากการดำเนินคดี

พัฒนะ ศรีใหญ่ ทนายความเครือข่ายศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พูดคุยให้เห็นถึงภูมิหลังก่อนที่จะมีการผลักดันให้เกิดร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน เขาเล่าย้อนกลับไปช่วงที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามายึดอำนาจเมื่อ 2557 ที่เป็นจุดเริ่มต้นทำให้การดำเนินคดีส่วนใหญ่มาในรูปแบบของประกาศและคำสั่งการรักษาความสงบต่อกลุ่มหรือคนที่มีความเห็นต่างทางการเมืองในขณะนั้น และคำสั่งหลักที่ถูกหยิบขึ้นมาใช้ในช่วงเวลานั้น คือคำสั่งที่ 3/2558 'การห้ามชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป' คำสั่งนี้เขามองว่าเป็นเหมือนอาวุธที่ คสช. ใช้หยุดการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน เพราะมีคนได้รับผลกระทบจำนวนมากในตอนนั้น

เช่นเดียวกับ ยาใจ ทรงพล สนธิรักษ์ หนึ่งในคนที่ถูกดำเนินคดีจากการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ เขาเล่าให้เห็ภาพของความผิดแปลกที่เกิดขึ้นในขั้วอำนาจที่นำโดย คสช. ตอนนั้นว่า พบความผิดปกของการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐหลายระดับจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่เกิดขึ้นในตอนนั้น โดยเขาอ้างว่าการสลายการชุมนุมช่วงนั้นไร้ซึ่งการแจ้งหมายศาลต่อนักกิจกรรมและผู้เข้าร่วมทุกคน ทำให้พวกเขาที่ออกมาเคลื่อนไหวถูกนำตัวไปดำเนินคดีและถูกฝากขังโดยที่ไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว ตามคำอนุมัติของศาล ณ ขณะนั้น

 

เมื่อคดีการเมืองไม่โปร่งใส อะไรคืออุปสรรคสร้างความหวาดกลัว

"ในคดีที่เป็นการเมือง เราในฐานะที่เป็นนักกฎหมายก็ควรจะต้องยิ่งทำให้มันมีความชัดเจนและโปร่งใสได้มากที่สุด แต่ความเป็นจริงแล้วกลับไม่เป็นเช่นนั้น กลับกลายเป็นว่าการกระทำนี้จะเข้าข้อกฎหมายหรือไม่ แต่จะขอดำเนินคดีไว้ก่อน"

ประโยคด้านบนคือคำพูดของ พัฒนะ ศรีใหญ่ ทนายความเครือข่ายศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่พยายามเล่าให้เห็นความผิดปกติของกระบวนการยุติธรรมที่มีความผิดปกติว่า พบความพยายามใช้ข้อกฎหมายเข้ามาปิดปากประชาชน ไม่ให้พวกเขากล้าใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ หรือแม้กระทั่งพยายามทำให้สำนวนคดีของนักกิจกรรมหรือผู้เข้าร่วมชุมนุมบางคน มีเรื่องราวที่ผิดไปจากความเป็นจริง สิ่งเหล่านี้สร้างบรรยากาศที่ขุ่นมัวในสังคม สร้างความหวาดกลัวให้กลุ่มคนที่ต้องการออกมาใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก และถึงแม้ว่าปัจจุบันจะอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านไปยังรัฐบาลชุดใหม่ แต่ พัฒนะ ยังมองว่าสถานการณ์ยังมีความเลวร้ายซ่อนลึกอยู่เช่นเดิมในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะประชาชนและนักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดีในกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพียงเพราะใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกของตัวเองในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่ต้องการส่งเสียงให้ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น และเข้ากับสังคมในปัจจุบัน

 

 "สภาพของความเป็นจริงก็เป็นอย่างที่เราเห็น สถานการณ์ยังมีความเป็นไปในลักษณะที่ไม่ดีขึ้นจากเดิม มีการแจ้งข้อกล่าวหาทุกวัน มีการเพิ่มคดีขึ้นทุกวัน และมีผู้ต้องหาคดีทางการเมืองที่ไม่ได้รับการประกันตัวมากขึ้นทุกวันเช่นเดียวกัน" พัฒนะ พูดถึงปัญหาในกระบวนการยุติธรรมไทย

 

จะเป็นอย่างไรเมื่อ 'กระบวนการยุติธรรม' ถูกมองว่า 'ไม่ยุติธรรม'

"กระบวนการและขั้นตอนตั้งแต่ชั้นต้นน้ำไปยังชั้นปลายน้ำไม่มีความเหมือนกับที่เราเคยเรียนมาด้วยซ้ำ"

เสียงจากยาใจ ทรงพล สนธิรักษ์ ผู้ที่เคยถูกดำเนินคดีจากการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกทางการเมือง ที่หวังว่ากระบวนการยุติธรรมจะเป็นที่พึ่งพาได้ เพราะทุกครั้งที่ออกไปร่วมชุมนุมถึงแม้ไม่ได้ขึ้นปราศรัย แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ตั้งข้อหากว่าว่าผิดถึง 22 คดี เพราะอยู่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่บังครับใช้ พรก.ฉุกเฉิน และยาใจเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ออกมาตั้งคำถามถึงการทำงานของรัฐบาล ณ ขณะนั้น เกี่ยวกับการบริหารจัดการวิกฤตโรคระบาดดังกล่าว

"ในตอนนั้นทนายความของเราพยายามโต้แย้งถึงเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมตามสิทธิที่เรามีอยู่ในรัฐธรรมนูญ มีการนำหลักการต่างๆ ทั้งปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หรือแม้แต่หลักการของประเทศต่างๆ ขึ้นมาอธิบาย แต่ศาลกลับมองข้ามไป และให้เหตุผลว่าในขณะนั้นมีการประกาศ พรก.ฉุกเฉิน และเรามีการฝ่าฝืนออกมาร่วมชุมนุมทั้งๆ ที่มีการสั่งห้ามแล้ว"

 

 และนับตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา ยาใจต้องเดินทางไปรายงานตัวตามหมายเรียกในทุกเดือน เขามองว่าเป็นความเดือดร้อนที่ผู้มีอำนาจพยายามสร้างบรรยากาศให้ประชาชนเกิดความกลัวต่อการออกมาเรียกร้องและใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกของตัวเอง เพราะการที่ต้องรายงานตัว ต่อสู้คดี เป็นผลพวงด้านลบที่ทำให้บางคนต้องสูญเสียทั้งโอกาสและเวลาในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเรียนหนังสือ ใช้ชีวิต หรือหน้าที่การงาน

"อย่างผมที่อาศัยอยู่ในจังหวัดขอนแก่น แต่คดีความเกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ การรายงานตัวก็ต้องเดินทางไปที่กรุงเทพฯ ซึ่งพอผ่านมาแล้ว เราก็ได้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นที่มีความกระทบกับชีวิตของใครหลายๆ คน" ยาใจ พูดถึงผลกระทบจากการถูกดำเนินคดี เพียงเพราะใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก

 

นิรโทษกรรมประชาชน กับการ...ก้าวผ่านความขัดแย้ง

รศ.ดร.อลงกรณ์ อรรคแสง อาจารย์ประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ให้ข้อมูลการเปลี่ยนผ่านสู่ความยุติธรรมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้นแล้ว ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1980 ที่ต่างประเทศนิยมใช้ในการก้าวข้ามความขัดแย้ง โดยเฉพาะในสังคมที่ถูกปกครองโดยระบอบเผด็จการ โดยคำจำกัดความหลักที่ใช้คือ Transitional Justice ที่เป็นกลไกและเครื่องมือทางกฎหมายที่ใช้ได้กับเรื่องนี้อย่างครบวงจรทั้งในมิติของการเมืองและวัฒนธรรม

สำหรับ รศ.ดร.อลงกรณ์ เขามองว่าร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน เป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวหรือประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งที่อยู่ในมาตรการก้าวข้ามความขัดแย้ง (Transitional Justice) เท่านั้น เพราะการจะทำให้สังคมสันติและปรองดองต่อไปได้ จะต้องตั้งคณะกรรมการแสวงหาความจริงขึ้นมา เพื่อศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เพื่อไม่ให้ประเด็นและเหตุการณ์ต่าง ๆ เลือนหายไปตามกาลเวลา สิ่งเหล่านี้เขาเห็นว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวต้องทำควบคู่ไปกับการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน ถึงจะเป็นทางออกที่ได้ประโยชน์ในระยะยาว

"เราต้องทำให้เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ต้องจดจำ ไม่ใช่พูดกันอยู่บนอากาศ ซึ่งนอกจากการผลักดันให้เกิดการนิรโทษกรรมแล้ว อาจจะต้องมีการสร้างอนุสรณ์สถานเกี่ยวกับการทำร้ายประชาชนด้วยการกฎหมายขึ้นมา พยายามนำสิ่งเหล่านี้เข้าไปอยู่ในส่วนต่างๆ ทั้งภาพยนตร์ ละคร หรือแม้กระทั่งหนังสือเรียน"

 

นิรโทษกรรมประชาชน ช่วยคลี่คลายความขัดแย้งได้อย่างไร ?

"การนิรโทษกรรมเราไม่ได้พูดถึงเรื่องที่นอกเหนือกฎหมายแต่อย่างใด แต่มันมีเรื่องของหลักการระหว่างประเทศ หรือสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่รับรองในเรื่องของสิทธิในการรับการเยียวยาจากรัฐ และสิทธิในกระบวนการยุติธรรม"

เฝาซี ล่าเต๊ะ เจ้าหน้าที่รณรงค์เชิงนโยบาย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ชวนให้ทุกคนได้ลองมองถึงมุมของการนิรโทษกรรมที่ไม่ใช่การพยายามลืมกับสิ่งที่รัฐเคยทำเอาไว้กับประชาชน แต่เป็นการทำตามขอบเขตของหลักการสากลที่ได้มีการระบุไว้
เพราะหากย้อนกลับไปตั้งแต่การรัฐประหารที่เกิดขึ้นอย่างบ่อยครั้งภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ 2540 พบการชุมนุมเกิดขึ้นหลายครั้ง และมีผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากความขัดแย้งมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งยังมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบไม่ได้รับการเยียวยาจากหน่วยงานรัฐ จึงทำให้เกิดการรวมกลุ่มของประชาชนบางส่วน และได้ผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนนี้ขึ้นมา แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.คดีที่ได้รับการนิรโทษกรรมโดยทันที โดยไม่ต้องมีการพิจารณามูลเหตุจูงใจ และ 2.คดีที่ต้องมีการพิจารณามูลเหตุจูงใจจากสถานการณ์ทางการเมือง

"หากนิรโทษกรรมได้ผ่านไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อาจทำให้ประเทศไทยได้มีบทบาทบนเวทีโลกมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยได้ประกาศกร้าวว่าจะลงสมัครเป็นคณะกรรมการสมัชชาแห่งสหประชาชาติ แต่การที่มีกฎหมายปิดปากการประท้วงหรือการชุมนุม เป็นไปไม่ได้เลยที่จะได้รับการรับรองจากเวทีโลก" เฝาซี พูดถึงข้อดีของการผ่านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน

ทั้งนี้ เฝาซี พูดทิ้งท้ายว่ากระบวนการนิรโทษกรรมเป็นหนึ่งในกลไกที่จะนำพาให้การเมืองของประเทศไทยเข้าไปอยู่ในหลักการนิติรัฐและนิติธรรม (หลักการที่ให้ความสำคัญกับกฎหมายเป็นหลักการเมืองการปกครอง โดยนิติรัฐเป็นรูปแบบของกฎหมาย และนิติธรรมเป็นการบังคับใช้กฎหมาย ที่มีจุดร่วมคือความเป็นธรรม) และสามารถทำงานได้อย่างอิสระมากยิ่งขึ้น เนื่องจากไม่ถูกควบคุมจากฝ่ายอื่นๆ

 

 

"นกยังคง/บินจากไป/ในเสรี" บทกวีโดยเมฆ' ครึ่งฟ้า

ในคุกยังอดข้าวอาจพวกเราจะอดตาย ในรัฐซึ่งทำลายเศรษฐกิจและการเมือง

สูญเสียสิทธิเรียกร้องทั้งปากท้องยังฝืดเคือง แออัดขนัดเนืองใต้บาทเบื้องชนชั้นนำ

รัฐซึ่งล่ามโซ่ตรวนกระบวนการยุติธรรม กลับขาวขึ้นเป็นดำป้ายความผิดคิดฉ้อฉล

ยกปืนขึ้นปราบปรามและคุกคามประชาชน กฎหมายไร้เหตุผลกดหัวคนให้งมงาย

ในคุกยังถูกขังและเรายังคงป่วยไข้ ยังคงส่งเสียงไอถูกขังในบ้านตัวเอง

รัฐซึ่งมีอำนาจอยู่เหนือรัฐมิยำเกรง ไม่รู้จะร้องเพลงชาติต่อไปได้กี่วัน

นอกในกลายเป็นคุกเราต่างผูกขาติดกัน ทางรอดคือถอดพันธนาการจากร่างกาย

หยุดถือปืนยืนยามห้ามนกบิน นกมิอาจอยู่ดินสิ้นความหมาย

เมื่อปีกบอบบางกางอย่างท้าทาย ก็ป่นได้จนแหลกผงแม้กรงทอง

การต่อสู้ผู้กักขังดั่งกรรมสิทธิ์ ของชีวิตเพื่อปลอดภัยในจับจ้อง

จากละโมบมือมารผลาญจับจอง หมายครอบครองขย้ำพุ่มชำเรา

ฟ้าจึงเป็นที่อยู่ควรคู่สร้าง ผ่านเส้นทางยะเยือกให้เงียบเหงา

ผ่านสองตาทอดวิถีโลกสีเทา ให้สองเท้าเทียวทางอย่างทระนง

เพียงสองมือถือปืนยืนข่มขู่ มือใครก็ไม่รู้อยู่สูงส่งให้เกาะคนแล้วนอนลง

ให้คุดคู้อยู่แต่ในกรง นกยังคงบินจากไปในเสรี

 

อ้างอิง : https://www.matichon.co.th/article/news_2771736