Remember Me หากสยามยังอยู่… เรื่องเล่าจากน้องสาว เพื่อน และนักกิจกรรมรุ่นใหม่ 

31 ตุลาคม 2566

Amnesty International Thailand

31 ตุลาคม คือวันคล้ายวันเกิดของสยาม ธีรวุฒิ ถ้าวันนี้เขายังอยู่เขาจะได้ฉลองวันเกิดครบรอบอายุ 37 ปี กับครอบครัวและผองเพื่อนที่รักเขาเป็นจำนวนมาก เขาอาจได้ไปกินสุกี้เอ็มเค ซึ่งเป็นเมนูโปรดของเขา หรือผัดพริกแกงถั่วฝีมือของแม่กัญญา เมนูโปรดที่จะขอให้แม่ทำให้กินเสมอ หรือเขาอาจจะไม่ได้ทำอะไรเลย แต่ยังคงสนใจในเรื่องของวัฒนธรรมสังคมและการเมือง และนี่ต่างเป็นภาพของสยามที่เราจินตนาการไปบ้างว่าเขาจะเป็นแบบนั้นแบบนี้ และหากวันนี้เขาไม่ได้ถูกบังคับให้สูญหายไป สยาม ธีรวุฒิก็คงจะมาเป็นผู้ตอบคำถามเหล่านั้นด้วยตนเองว่า เขาทำอะไร เป็นใคร และความฝันคืออะไร

สยาม ธีรวุฒิ ไม่ใช่กรณีแรกที่ถูกบังคับให้สูญหาย นับตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค. 2562 ที่เราสันนิษฐานว่าสยามได้หายตัวไปในประเทศเวียดนามพร้อมกับผู้ลี้ภัยชาวไทยคนอื่น ๆ1 และเป็นเวลาถึง 4 ปีที่เราไม่ได่ข่าวหรือความคืบหน้าใดเลยจากการหายตัวไปของเขา แต่ความคิดถึงของบรรดาเพื่อนนักกิจกรรม ครอบครัว หรือผู้คนในสังคมที่รับรู้เรื่องราวความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับสยาม และผู้ลี้ภัยที่ถูกบังคับให้สูญหายก็ไม่เคยจางหายไป และยังคงถ่ายทอดพูดถึงเพื่อให้ทุกคนในสังคมได้ระลึกและไม่ลืม

จากน้องสาวของสยาม ธีรวุฒิ อิ๊งของพี่ไอซ์ (สยาม) ที่อิ๊งบอกกับเราว่าพี่ไอซ์เรียบร้อยและชอบอ่านหนังสือกว่าเธอเยอะมาก หรือเพื่อนอย่างแก้วใส ที่เขาบอกว่าแม้ไม่ได้ใกล้ชิดกับสยามมาก แต่สำหรับเขาสยามเป็นเพื่อนที่ไม่มีทางเกลียดใครได้ น่ารัก ถ่อมตน และรอบรู้ และนักกิจกรรมคนรุ่นใหม่ผู้เป็นรุ่นน้อง เก็ท โสภณที่ไม่เคยได้มีโอกาสพบกับสยาม แต่ได้ทำงานขับเคลื่อนในประเด็นเรื่องของการซ้อมทรมานและการอุ้มหาย และปัจจุบันเขาคนนั้น “เก็ท” โสภณ อยู่ในเรือนกลางพิเศษกรุงเทพฯ จากการถูกตัดสินให้มีความผิดเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา ในคดีมาตรา 112

 

สยามคือใคร

อิ๊งน้องของสยามบอกกับเราว่าพี่ไอซ์ (สยาม) แก่กว่า 2 ปี และต่างจากเธอในวัยเด็กมาก โตมาก็ชอบอ่านหนังสือ ทั้งสองคนมักจะมีกิจกรรมที่ทำร่วมกันคือการจูงมือกันไปงานสัปดาห์หนังสือแทบจะทุกปี สองพี่น้องหิ้วหนังสือกันอย่างบ้าคลั่ง แต่อิ๊งก็จำแทบไม่ได้แล้วว่าเมื่อไหร่นะที่เป็นครั้งสุดท้ายที่ได้ไปเดินงานหนังสือด้วยกัน

“เป็นเด็กเรียน เรียบร้อย ไม่เหมือนเรา เราซน เล่น เขาจะอยู่บ้าน ตั้งใจเรียน ไม่เกเร ไม่เล่น ไม่ชอบออกไปไหน ไม่เหมือนกับเราที่จะเล่น ไปโน่นนี่ เขาเป็นเด็กดีเลย เรียนดีด้วย ต่างกันเลย”

“อย่างงานหนังสือเมื่อก่อนจะไปด้วยกันบ่อย แต่พอพี่ไอซ์ไม่อยู่ก็แทบจะไม่ได้ไปเลย หรือบางทีก็ไปคนเดียว เพราะปกติงานหนังสือเราจะไปอยู่แล้วไปกันสองคน นั่งรถไฟฟ้าไปกัน ต่างคนต่างหอบหนังสือกันสองคน เคยคุยกันส่งไปรษณีย์เถอะมันหนักไม่ต้องแบก…”

นอกจากนี้อิ๊งยังเสริมกับเราด้วยว่า ตอนแรกไอซ์ตัดสินใจไม่เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย เพราะอยากช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัว แต่ทุกคนก็อยากให้ไอซ์เรียน การศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง    การได้พบเจอกับเพื่อนนักกิจกรรม สำหรับอิ๊งนี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พี่ชายของเธอสนใจสังคมการเมืองมากขึ้น สำหรับเธอและครอบครัวไม่มีใครห้ามเพราะเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องปกตินั่นเอง

“จริง ๆ เขาอยากช่วยที่บ้าน ตอนจบมัธยมปีที่ 6 เขาก็ไม่อยากเรียนต่อ แต่พ่อก็บอกว่าไปเรียนก่อนก็ได้ เรียนรามก็ได้ เพื่อที่จะได้เรียนจบ เขาก็เลยไปเรียนราม เพราะรามไม่ต้องไปนั่งเรียน แค่ไปสอบ เขาเลยตัดสินใจเรียนรามเพราะแค่ไปสอบ ตอนนั้นเขาเลยไปอยู่หอเพื่อน จุดที่สนใจเรื่องการเมืองก็คิดว่าเพราะมีเพื่อน พี่ ๆ น้อง ๆ ที่รามฯ”

สำหรับแก้วใส เพื่อนคนหนึ่งของสยามที่เคยพานพบรู้จักกันสมัยที่ในรั้วมหาวิทยาลัยรามคำแหง ปัจจุบันแก้วใสมีร้านเป็นของตนเองที่ทำร่วมกับเพื่อนในนาม “The Ordinary Bar”   แก้วใสบอกกับเราว่าจุดโฟกัสในชีวิตของเขาตอนนี้คือลูก ครอบครัว ร้าน และยังคงทำงานขับเคลื่อนทางสังคมแล้วแต่จังหวะที่จะเกิดขึ้น แต่ช่วงชีวิตที่ผ่านมาการทำงานของเขาไม่ว่าจะเป็นในนามกลุ่มประกายไฟ หรือนักกิจกรรมทางสังคมการเมือง หากย้อนไปก่อนปี 2553 ช่วงแรกที่เริ่มรู้จักกับสยามหรือไอซ์ แม้จะไม่ได้สนิทกันมาก แต่สยามสำหรับแก้วใส คือชายหนุ่มที่สุภาพ อ่อนโยน ชอบเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ให้บรรดาเพื่อน ๆ ฟัง แก้วใสบอกกกับเราว่า หากใครทำให้สยามเกลียดได้ต้องไม่ใช่คนธรรมดา

“เรารู้จักสยามในนามของพวกนักศึกษาราม (ในนามของกลุ่มประกายไฟการละคร) ช่วงนั้นก็จะมีหลายหลุ่ม กลุ่มศึกษาพวกมาร์กซิสต์ก็มี กลุ่มประกายไฟแยกออกมาเป็นประกายไฟการละคร ก็เริ่มจากประมาณนั้น ทำกิจกรรมตั้งแต่ยังเรียนกันอยู่”

“รู้จักกันก่อนปี 2553 เเต่ไม่ได้สนิทอะไรกันขนาดนั้นก็คือผ่าน ๆ ‘เอ้าว่าไงคุณสยาม เออเป็นไงบ้าง’ ก็มาแวะเวียนไปมาหาสู่บางทีสยามก็มานั่งเล่นที่บ้านเรา มาซ้อมละครกันหรือมาคุย แล้วก็ดึก ๆ แกก็จะกลับบ้านนั่งรถเมล์กลับบ้าน”

“เป็นเพื่อนน่ารักจิตใจดี คือถ้าใครทำให้สยามโกรธได้นี่ มึงก็เหี้ยมากเหมือนกัน”

“มันไม่เคยโกรธใครอะไรเท่าไร เราว่านะ มันจะแบบ แล้วก็แบบมีข้อมูลเยอะชอบศึกษา ประวัติศาสตร์ เพลง เพลงมันก็ชอบ”

ถ้านั่นเป็นสายตาของเพื่อนสมัยเรียนและทำกิจกรรมมาร่วมกัน ในมุมมองของนักกิจกรรมคนรุ่นใหม่     เก็ท โสภณ จากโมกหลวงริมน้ำ ที่เราได้มีโอกาสชวนเก็ทคุยในประเด็นการขับเคลื่อนการทรมานและการอุ้มหาย รวมไปถึงแรงบันดาลใจหลาย ๆ อย่างที่ทำให้เขาและกลุ่มเพื่อนนักกิจกรรมทำงานในประเด็นดังกล่าวได้

“ณ ช่วงเวลานั้น แทบจะไม่มีคนพูดถึงเรื่อง  พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหาย กันจริง ๆ เลย มันไม่มีใครทำอะไรต่อ”

“ในมุมของคนที่ไม่ได้รู้จักกันตั้งแต่แรก แต่รู้จักกันผ่านประวัติ เราเริ่มต้นรู้จักเขา จากการที่เขาเล่นละครแค่นี้ ทำไมต้องโดนดำเนินคดีในประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเพื่อนเขาก็โดนดำเนินคดีไปถึง 2 ปี 6 เดือน และเมื่อเราไปค้นข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องเจ้าสาวหมาป่า เราพบว่าบทนี้มันดี”

 

วันที่สยามหายไป

แม่ก็ถามทุกวันว่าสยามไม่ไลน์มาหรอทำไม

ซึ่งตอนนั้นเราก็ไม่รู้จะบอกยังไงดี…

อิ๊งบอกกับเราว่าปกติทั้งคู่จะคุยกันตลอด รวมถึงแม่ด้วย ไม่ว่าจะเทศกาลใด แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ด้วยกันแล้ว แต่ยังคงส่งข้อความหากันแทบจะทุกวัน และทุกเทศกาล การที่อยู่ดีดีข้อความเหล่านี้หายไป ทำให้อิ๊งและแม่เริ่มสงสัยว่าไอซ์หายไปไหน

“ปกติเขาจะทักหาเราทุกวัน อวยพรวันเกิด สวัสดีปีใหม่ สงกรานต์ แต่พอเดือนมกราคม เขาไม่ส่งอะไรมาให้เราเลย เราคิดว่าเขาคงไม่ว่าง ไปหาที่อยู่ไหม เดือนมีนาคม- เมษายน มันเงียบผิดปกติ หายไปนานหลายเดือน เราเลยรู้สึกว่าเขาหายไปไหน เราเลยไปเข้าเฟซบุ๊กถามเพื่อนเขา พี่พอจะติดต่อกับเขาครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ ทักไปหาคนที่พอจะเป็นไปได้ว่าเขาอยู่ไหน ก็เลยนั่นแหละ เขาก็บอกกันว่าถูกกวาดล้าง ซึ่งตอนแรกเราไม่เชื่อ”

“เรารู้ก่อนข่าวเพราะสังเกตว่าเขาหายไป ก่อนที่จะเป็นข่าว ตอนนั้นเราไม่ได้อะไรแล้ว ตอนเป็นข่าวพี่ประทับจิตร นีละไพจิตรก็โทรมาบอกว่า ต้องบอกแม่นะ แม่ก็เลยตามกันไปที่กองปราบวันนั้น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น คนที่กองปราบกวนจริงนะ ๆ ก็ต้องยอมรับ คนหายทำไมไม่รับแจ้งความ เราเถียงเขา เขาตอบเพราะมันเป็นคดีใหญ่ คดีร้ายแรง พี่ปู      ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนก็ไปด้วย ดูเจ้าหน้าที่เขาพูดตัด ๆ ไม่สนใจฟังและไม่รับเรื่องเรา ถามเรากลับว่าว่าเป็นข่าวจริงหรือเปล่า”

สำหรับแก้วใสวันที่เขารู้เรื่อง เขาอุทานออกมาเลยว่า “จะเป็นยังไงบ้างวะ อย่าเพิ่งนะมึงไอซ์ อย่านะเว้ย!” นอกจากนี้เขายังบอกว่าบางครั้งแม่กัญญาก็โทรมาคุยกันถามสารทุกข์สุกดิบ ชวนคุยกัน “บางทีก็โทรมาคุยเล่นกับเรา เป็นยังไงบ้างลูกอะไรแบบนี้” สำหรับแก้วใสในฐานะเพื่อนที่เคยร่วมงานและผ่านช่วงเวลาของการขับเคลื่อนมาด้วยกัน หากมีอะไรที่เขาพอที่จะทำได้ เขาก็จะทำสิ่งนั้น

“ตอนนั้นเราก็พยายามถามหลาย ๆ คนว่าอะไรยังไงช่วยยังไงได้บ้าง แต่มันมีองค์กรหลักทำเราก็เลยช่วย ๆ เขาทำ ในฐานะที่เรายังอยู่ไทย เราก็เลยแบบกระโดดเข้าไปช่วยแม่สยามกับเพื่อน ไปติดตามไปส่งหนังสือไปกสม. ไปเป็นเพื่อนแม่ เอ็นดูคือแม่ไม่ค่อยออกมาทำอะไรแบบนี้ ก็เลยมาให้กำลังใจกัน”

 

เรื่องราวของสยามที่ยังอยู่ในใจ

4 ปีที่สยาม ธีรวุฒิหายตัวไป ทุกคนพยายามขับเคลื่อนและไม่ทำให้เรื่องของเขานั้นลบเลือนไปตามกาลเวลา แม้ว่าจะผ่านมาถึง 4 ปีแล้วแต่ความทรงจำของทุกคนที่มีต่อสยามนั้นยังอยู่ นักกิจกรรมรุ่นใหม่ได้ออกมาขับเคลื่อนในเรื่องของการบังคับให้สูญหายและถ่ายทอดเรื่องราวของพวกเขาให้คนรุ่นใหม่และคนทั่วไปในสังคมได้รับรู้และไม่ลืม

สำหรับอิ๊งมีหลายสิ่งหลายอย่างในบ้านที่พอเห็นแล้วก็นึกถึงพี่ไอซ์อยู่ตลอด และสิ่งของหลายสิ่งยังคงอยู่ แม้ว่าจะย้ายมาบ้านหลังใหม่ก็ตาม และอิ๊งยังเสริมอีกว่าชีวิตก็เหมือนกับในละครโดยเฉพาะเรื่องการถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ

“หนังสือ ปัจจุบันหนังสือที่เขาซื้อยังอยู่ ตอนย้ายบ้านเราก็เอามาหมดเลย มีวิดีโออุลตร้าแมนที่เขาชอบดูตอนเป็นเด็ก (แต่แม่เอาไปขาย) มีหนังสือที่เขาชอบอ่าน และโน๊ตบุ๊คเขา ทุกวันนี้แม่ก็ใส่เสื้อพี่ไอซ์อยู่นะ มีของของเขาปกติ ไม่ได้ทิ้ง เคยมีเจ้าหน้าที่มาที่บ้าน และคิดว่าเราเป็นเมียพี่ไอซ์ก็มี ชีวิตเหมือนละครเลยเขาก็มองว่าซ่อนอยู่ในบ้านนั่นแหละ ไม่หายไปไหนหรอก”

“ย้อนกลับไปจริง ๆ เลยนะ ตอนปี 2557 ที่เขาหนีไป เหมือนที่แม่บอกคือมีมาทั้งขับรถตาม มาที่บ้านรื้อข้าวของกระจาย ‘พี่กูอยู่ในตู้เสื้อผ้าหรอ มารื้อขนาดนี้’ ตอนนั้นเรายังไม่มีโทรศัพท์มือถือถ่ายรูปไม่ได้ มีเอารถทหารมาจอด มาถามถึงสยาม เราก็บอกว่าเราไม่รู้ ตอนมารื้อ เรายังคิดในใจเลยว่าแล้วใครจะเก็บของที่เขารื้อ และเขาก็มีมาขับรถตาม มาดักรอหน้าบ้าน โอ๊ย ยิ่งกว่าอาชญากรรมร้ายแรง นี่พี่กูไปทำอะไรมานะ แต่ก็อาจจะเป็นหน้าที่ของพวกเขาที่ต้องทำ”

สำหรับแก้วใส นอกจากน้ำเสียงนิ่ง ๆ ของสยาม ที่แสดงถึงการเคารพคนอื่น ๆ รวมถึงไปถึงกิจวัตรของสยาม “โมเมนต์ยื่นบุหรี่” ก็เป็นสิ่งที่เขาจดจำ มวลรวมความอบอุ่นของสยามก็เป็นภาพที่แก้วใสจดจำได้

“ประทับใจน่ารักใจดี จิตใจดี เออ มันไม่หวง อยากนำเสนออะไรใหม่ ๆ ให้กับเพื่อน”

“ชอบเวลามันอมยิ้มตลกดี จังหวะแบบอมยิ้ม”

เก็ท โสภณ บอกกับเราว่านอกจากเรื่องราวของสยาม ที่มีส่วนผลักดันให้เขาทำงานในประเด็นเรื่องการถูกบังคับให้สูญหายแล้วนั้น เขายังได้พบเจอกับคุณแม่กัญญา แม่ของสยามอยู่บ่อยครั้ง จากการที่เขาต้องโทรไปสอบถามข้อมูลของพี่สยามหรือพี่ไอซ์ในการทำงาน เขาพบว่าความคิดถึงของแม่กัญญาที่มีต่อลูกนั้นมากมายขนาดไหน

“สำหรับผมเรื่องราวของสยามจี้จุดอ่อนไหวของผม ผมเซนซิทีฟกับเรื่องแบบนี้มาก      แม่กัญญารอสยามกลับบ้านทุกวัน แม่แต่งตัวสวย ๆ ทุกวัน ดูแลสุขภาพตัวเอง เพื่อรอลูกกลับบ้าน เพราะเขากลัวว่าวันหนึ่งที่ลูกเขากลับมาบ้านและเห็นแม่โทรม ลูกเขาจะว่าแม่ว่า ทำไมแม่ไม่ดูแลตัวเอง”

“หรือตอนจัดนิทรรศการคืนยุติธรรม เราได้ของที่ใช้ประจำตัวของผู้ถูกบังคับสูญหาย เราได้เห็นกางเกง เสื้อ ของสยามว่าแม่เขาเก็บไว้ดีทุกชิ้น เราเชื่อแล้วว่าแม่เขารอลูกเขากลับมาทุกวัน”

 

4 ปีที่สยาม ธีรวุฒิหายตัวไป ถ้ามีโอกาสได้เจอกันอีกจะบอกสิ่งใดกับเขา

สำหรับอิ๊งเธอไม่ได้พูดอะไรยาว เพียงแต่บอกว่าคงชวนกินข้าวและคิดว่าแม่น่าจะคุยมากกว่า ส่วนแก้วใสเขาจะเข้าไปกอดและตื้นตันมากที่ได้เจอกันอีกครั้ง และเก็ทก็คือคำขอบคุณจากใจที่เขามีให้ต่อสยาม

“อันดับแรกคือถ้าได้เจอกันจะชวนกินข้าว แบบ กินข้าวกันไหม นั่งคุยกันถามเป็นยังไงบ้าง คิดว่าคนที่คุยน่าจะเป็นแม่มากกว่า”

“วิ่งเข้าไปกอดแล้วก็ตบไหล่มันแล้วก็ร้องไห้ กูคิดว่ามึงตายแล้วแม่ง ไอ้หยาม!! คงจะจับมันฟัดเหวี่ยงอะ คงแบบน้ำตาไหลหนัก”

“เราขอบคุณจริงๆ ที่เขาสู้มาก่อน อยากจะบอกว่าแม่พี่รอกินข้าวกับพี่อยู่นะ น้องพี่ก็ยังรอพี่กลับบ้านอยู่นะ ถ้าวันหนึ่งเจอก็คงบอกพี่ไอซ์รีบกลับบ้านนะแม่รออยู่ เพื่อนเขาก็รอกินเหล้าอยู่ มันเป็นเรื่องตลกที่ตลกไม่ออกว่าพวกเขาหายไปแล้ว”

ก่อนจบบทสัมภาษณ์ครั้งนี้ อิ๊งบอกกับเราว่า ครั้งสุดท้ายที่เจอสยามคือที่ต่างประเทศ ณ ร้านกาแฟแห่งหนึ่งที่เธอไม่เคยลืมมันเลย และที่นั่นก็เป็นการเจอกันครั้งสุดท้ายของทั้งสองคน

"พอเล่าแล้วก็พึ่งนึกขึ้นได้ว่าไม่เคยเล่าให้ใครฟัง เขาสั่งกาแฟ เราสั่งโกโก้ เขาบอกว่าเขาไม่ยอมติดคุกที่ไทยเด็ดขาด ถ้าติดจะติดที่อื่น เราบอกว่าจะขนาดนั้นเลยหรอ เราก็ไม่คิดว่ามันจะมาถึงขนาดนี้ เพราะเราไม่รู้อนาคต สุดท้ายก็เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมาจริง ๆ หลังจากนั้นก็ไม่เคยนั่งคุยกันจริงจังแบบนั้น เหมือนวันที่กินกาแฟด้วยกัน..."

.

บทสัมภาษณ์จากน้องสาว เพื่อน และนักกิจกรรมที่มีต่อสยาม ธีรวุฒิ คือการถ่ายทอดเรื่องราวความ  ทรงจำของคนที่ล้วนสัมพันธ์และระลึกถึงเขาอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังทำให้เราเห็นว่าคนที่ถูกบังคับให้สูญหายทุกคนล้วนมีชีวิตเหมือนกับเรา มีครอบครัว มีคนที่เขารักและรักเขา เขาไม่ได้ต่างอะไรจากเราเลยแม้แต่น้อย และนั่นคือการยืนยันถึงการทำบทสัมภาษณ์ “Remember Me” เรื่องราวของผู้ถูกบังคับให้สูญหายให้กับสังคมได้รับรู้จดจำ และไม่ลืม