สิทธิมนุษยชนในมุมมองของนักจิตวิทยา ผู้เข้าร่วมอบรม Training of Trainers "โอ้ต-จิณณวัตร ช้อยคล้าย"

5 มกราคม 2567

Amnesty International Thailand

“โอ้ต-จิณณวัตร ช้อยคล้าย” ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่วิจัยและนักจิตวิทยา ประจำอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช

 “สิ่งแรกที่เป็นแรงจูงใจให้หันมาสนใจปัญหาสังคม เกิดขึ้นตอนที่เรายังไม่รู้จักและยังไม่เข้าใจสิทธิมนุษยชนด้วยซ้ำ ในช่วงการประท้วงก่อนรัฐประหารปี 2557 เป็นเวลาเดียวกับที่เรากำลังจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย บรรยากาศบ้านเมืองเต็มไปด้วยความตึงเครียด มีประกาศเคอร์ฟิว เราเป็นเด็กฐานะยากจนที่อยู่คนเดียวในเมือง อยากทำงานพาร์ตไทม์กลางคืนเพื่อเก็บเงินเรียนต่อมหาวิทยาลัย ก็ทำไม่ได้ เราเกิดคำถามว่าทำไมประเทศถึงเป็นแบบนี้” โอ้ตกล่าว

โอ้ตติดตามการเมืองและปัญหาสังคม ท่ามกลางสถานการณ์ที่ค่อย ๆ นำไปสู่การรัฐประหารในปี 2557 เริ่มจากการชุมนุม ความรุนแรง ความเกลียดชัง การขัดขวางการเลือกตั้งด้วยความรุนแรง โอ้ตบอกว่าช่วงนั้นการจะหาเพื่อนหรือคนที่สามารถพูดคุยเรื่องเหล่านี้ได้เป็นเรื่องยาก จนกระทั่งเขาเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งโอ้ตเรียกว่า ‘จุดเบิกเนตร’

“สิ่งที่ค้างคาสงสัยในหัวถูกสังเคราะห์และชำระผ่านบทเรียน ผ่านการถกเถียงกับอาจารย์ กับเพื่อนอย่างอิสระ เมื่อเรียนจบสาขาจิตวิทยาทำให้มีความเข้าใจมนุษย์และสังคมในระดับหนึ่ง เรามีโอกาสทำงานกับกลุ่มเปราะบาง กลุ่มคนที่เจอความรุนแรง กลุ่มม็อบ แต่แล้วเราก็ค้นพบว่างานที่ทำนั้นปลายน้ำมาก เราถามตัวเองว่าในฐานะนักจิตวิทยา เราทำได้แค่นี้จริง ๆ เหรอ” โอ้ตกล่าว

หลังจากนั้น โอ้ตพาตัวเองไปเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน แล้วนำความรู้ที่ได้มาใช้กับงาน ซึ่งพิสูจน์ผลได้จากผู้รับบริการที่มีการบอกต่อกัน ผู้รับบริการหลายคนบอกว่าโอ้ตมีมุมมองไม่เหมือนนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์คนอื่นที่มักโฟกัสแค่อาการ แต่เข้าไม่ถึงชุดประสบการณ์ สังคมที่เขาเจอมา

โอ้ตบอกว่าการจะเข้าใจใครสักคน ไม่ใช่เข้าใจเฉพาะสิ่งที่เป็นปัจเจก ว่าเพราะเขาคิดแบบนี้ เขาเลยกระทำแบบนี้ เขาถูกเลี้ยงมาแบบนี้ เขาเลยเป็นแบบนี้ แต่ต้องนึกถึงเรื่องการประกอบสร้างทางสังคมร่วมด้วย โอ้ตบอกต่อว่า กว่าใครคนหนึ่งจะมายืนตรงจุดที่ต้องขอความช่วยเหลือ ในแง่ประสบการณ์ส่วนบุคคล เขาต้องถูกกดทับซ้ำ ๆ โอ้ตเสริมว่า ในฐานะนักจิตวิทยา เขาต้องพาผู้ได้รับผลกระทบทางใจจากการถูกละเมิดสิทธิหรือจากปัญหาทางสังคมต่าง ๆ กลับไปทำความเข้าใจตนเอง ทำความเข้าใจการประกอบสร้างทางสังคม ร่วมกับการเรียนรู้สิทธิของตัวเอง

 

 

ในฐานะที่เป็นคนหนึ่งที่เคยออกมาร่วมชุมนุมในปี 2563 คุณคิดว่าปัจจุบันสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยเป็นอย่างไร หลังจากการตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

จากที่เห็นตามข่าวรู้สึกว่าดีขึ้น คนที่ตื่นตัวไม่ใช่คนเฉพาะกลุ่มอีกแล้ว สังคมมีกระแสความตื่นตัวเป็นวงกว้าง บวกกับการที่ไม่ได้มีแค่สถานการณ์ในบ้านเรา แต่มีสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในต่างประเทศด้วย ทำให้เกิดความตระหนักรู้มากขึ้น เกิดการเปรียบเทียบว่ามีอะไรบ้างที่เราควรจะได้ แต่กลับไม่ได้เหมือนคนในต่างประเทศ

 

ช่องว่างระหว่างวัยถือเป็นอุปสรรคหนึ่งของการสื่อสาร-สร้างความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

เรามองว่าอยู่ที่วิธีการสื่อสาร ถ้าเป็นคนรุ่นเราหรืออายุน้อยกว่าเรา หากพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา โดยมีหลักฐานที่ชัดเจนจะเป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย แต่ขณะเดียวกัน คนรุ่นก่อนมักจะมีสิ่งที่เรียกว่าความไม่ลงรอยทางความคิด เขามีความคิดความเชื่อที่ถูกหล่อหลอมมาในยุคสมัยของเขา การจะนำวิธีที่เราใช้กับน้อง ๆ คนรุ่นใหม่ไปใช้กับคนรุ่นก่อนที่มีความคิดความเชื่อแบบหนึ่ง มันจึงเกิดการปะทะกันทางความคิดและตัวตนของเขา ถ้าถามว่าสร้างความเปลี่ยนแปลงได้บ้างไหม เราคิดว่าคนรุ่นก่อนก็น่าจะมีความเอ๊ะบ้าง แต่ถ้าถามว่าทำให้เขาเปิดใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ไหม เราคิดว่าค่อนข้างยาก

 

ทราบมาว่าคุณสนใจเรื่องสิทธิเด็ก และเรื่องความหลากหลายทางเพศ เพราะอะไรคุณถึงสนใจ 2 เรื่องนี้เป็นพิเศษ

สิทธิเด็กมาจากการเรียนจิตวิทยา เราเชื่อว่าประสบการณ์ที่เคยถูกเลี้ยงดูมาในวัยเด็กของทุกคน มันมีผลต่อรูปแบบการใช้ชีวิต วิธีคิด และการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น จากการทำงานด้านนี้ หลายครั้งที่เราให้บริการผู้ที่มารับบริการ เราค้นพบว่า ไม่ว่าจะให้ความช่วยเหลือเต็มที่ยังไง เขาก็จะกลับมาหาเราอยู่ดีด้วยปัญหาเดิม ๆ เราไม่ได้มีปัญหาในการให้บริการกับผู้ที่มารับบริการด้วยปัญหาเดิม ๆ แต่เราเริ่มสงสัยว่ามีอะไรบางอย่างในสังคมที่ทำให้เขาไม่สามารถหลุดพ้นได้ ซึ่งตอนแรกเราก็หันไปสนใจปัญหาสังคม ปัญหาเชิงโครงสร้าง พอได้ศึกษามากขึ้น เราจึงรู้ว่าการจะทำให้เด็กได้รับสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้เขาเติบโตสมวัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดี นั่นก็คือเครื่องมือที่ชื่อว่าสิทธิเด็ก

อีกเรื่องที่เราเห็นความสำคัญ สิ่งหนึ่งที่เด็กและผู้ใหญ่ต่างกัน คือเด็กไม่สามารถเลือกตั้งได้ การที่ผู้ใหญ่เลือกอะไรบางอย่างผ่านเสียงของตัวเอง มันมีผลต่อชีวิตของเด็กตั้ง 20 ปี ดังนั้น เราควรจะให้ความสำคัญกับเสียงเขามาก ๆ เพราะเขาไม่สามารถเลือกอะไรได้ตั้ง 20 ปี ซึ่งหมายถึงเวลา 1 ส่วน 3 ของชีวิต

ส่วนเรื่องความหลากหลายทางเพศ เรานิยามตัวเองอยู่ในกลุ่ม LGBTQ เราเป็นคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ ทั้งจากวาทกรรม ปัญหาโครงสร้างสังคม หรือปัญหาต่าง ๆ ที่กดทับ บวกกับประสบการณ์ที่ไม่ดีในวัยเด็ก เราก็เลยลองคุยกับตัวเอง ร่วมกับการเข้าอบรมเพื่อให้เข้าใจตัวเองผ่านบริบททางสังคม เราพบว่าคนที่อยู่ในเฉดความหลากหลายทางเพศจะมีประสบการณคล้าย ๆ กัน ซึ่งมาจากปัญหาเดียวกันตามที่กล่าวไปแล้ว ทำให้เรามีความสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ

 

ผู้ใหญ่มักพูดว่า ‘ที่ทำไปเพราะหวังดี’ ขณะที่เด็กหลายคนกลับไม่มีความสุขกับสิ่งนั้น คุณมีความเห็นอย่างไร

มันมีกฎหมายบางอย่างที่คำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก ซึ่งมาจากแนวคิดสิทธิเด็กอยู่แล้ว แต่ผู้ใหญ่ในบ้านเรา ไม่ได้เข้าใจสิทธิเด็กมากพอ และเอาคำว่าเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของเด็กมาตีความแบบผิด ๆ ไม่ว่าจะในฐานะผู้ปกครอง หรือในฐานะตัวแทนของรัฐที่ต้องการควบคุมเด็ก โดยอ้างว่าเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเอง ซึ่งไม่ได้ให้ความสำคัญกับเสียงหรือความต้องการของเด็ก เราคิดว่าปัญหาอยู่ตรงนี้

 

ทำไมคุณถึงตัดสินใจเข้าร่วมอบรมกระบวนกรของแอมเนสตี้

เรามีความสนใจในการทำงานกับเด็กที่เป็นกลุ่มอยู่แล้ว การเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งจำเป็น แต่กลับไม่มีบรรจุในหลักสูตร ทำให้เรารู้สึกว่าน่าไปลองหาความรู้ จึงตัดสินใจสมัครเข้าไป

 

การอบรมกระบวนกร และห้องเรียนสิทธิมนุษยชน ให้อะไรกับคุณ

อย่างแรกคือเราได้เครือข่าย เพราะเราไปแบบไม่รู้จักใครเลย การเข้าอบรมทำให้เราได้เจอแกนนำม็อบคนรุ่นใหม่ ได้รู้จักคนที่ถูกดำเนินคดี ม.112 หรือคนที่ต่อสู้ในประเด็นที่ตัวเองไม่เคยนึกถึง เช่น เรื่องที่ดินทำกิน ชุมชนพื้นเมือง เหมืองแร่ ซึ่งถือเป็นการเปิดโลก เรามองว่าสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เรื่องรายบุคคล แต่เป็นเรื่องของคนทุกคน หลังการอบรมและรับฟังเรื่องราวของคนที่ต่อสู้ในเส้นทางนี้ ทำให้เราเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนกว้างและลึกขึ้น

 

คุณเคยจัดห้องเรียนสิทธิมนุษยชนมาแล้วกี่ครั้ง การตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง ช่วยเล่าบรรยากาศให้ฟังหน่อย

ก่อนหน้าเข้าอบรมกับแอมเนสตี้ เราเคยจัดห้องเรียนสิทธิมนุษยชนร่วมกับน้อง ๆ ที่รู้จักกันมาก่อน ซึ่งตอนนั้นไม่ได้ลงลึกอะไรมาก พอหลังจากเราผ่านการอบรมกับแอมเนสตี้แล้ว เราก็ได้ชุดข้อมูลใหม่ ๆ ชุดความรู้ต่าง ๆ ที่ลึกขึ้น เราเลยกลับไปชวนน้อง ๆ กลุ่มเดิมจัดห้องเรียนสิทธิมนุษยชนอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นการจัดห้องเรียนสิทธิมนุษยชนครั้งแรก หลังจากที่เราเข้าอบรมกับแอมเนสตี้ ครั้งนั้นได้ผลตอบรับดีมาก เรามีโอกาสเข้าไปทำในโรงเรียน จากเด็ก 10 คน ขยายเป็น 30 คน มีบางคนเข้ามาคุยกับเราว่าเขาไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อน เป็นสิ่งที่เปิดโลกของเขามาก

ครั้งที่ 2 แอมเนสตี้เชิญเราไปร่วมที่โรงเรียนหญิงล้วน ค่อนข้างท้าทายมากเพราะเป็นโรงเรียนที่มีความเป็นอนุรักษนิยมสูง แวบแรกที่เข้าไปคุณครูก็ตำหนินักเรียนต่อหน้าเราเลย และพอเป็นห้องประชุมที่นักเรียนต้องนั่งกับพื้น กระบวนกรอยู่บนเวที การสวัสดีของเขาคือการกราบ เราตกใจมากที่เห็นแบบนั้น วันนั้นเด็กประมาณ 600-700 คน

ครั้งที่ 3 เป็นกระบวนกรห้องเรียนสิทธิมนุษยชนเหมือนกัน แต่เจาะจงที่เรื่องการถูกกดทับของผู้มีประสบการณ์ทางจิตเวช ผู้มีปัญหาทางจิตเวชไม่ได้ต่อสู้แค่เรื่องภายในของตัวเอง แต่มีบางอย่างในสังคมที่ทำงานกับเขา ทำให้เขาไม่สามารถหลุดพ้นหรือเยียวยาบาดแผลที่เกิดจากประสบการณ์นั้นได้ ทั้งการถูกตีตราว่าการมีปัญหาทางจิตเวชแปลว่าเป็นคนบ้า หรือการสร้างภาพว่าเขาน่ากลัว อันตราย เป็นคนที่ไม่ควรเข้าใกล้

 

คุณเจอปัญหาอะไรบ้างในการจัดห้องเรียนสิทธิมนุษยชน

ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเจอปัญหาอะไร แต่มีครั้งหนึ่งเราไปจัดห้องเรียนสิทธิมนุษยชนที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ในเรื่องความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นพื้นที่อ่อนไหวทางศาสนาและการเมือง เยาวชนที่เข้าร่วมอบรมก็เป็นเยาวชนที่อยู่ในกลุ่ม LGBTQ แต่ด้วยพื้นที่ก็มีข้อท้าทาย อย่างปกติการอบรมจะมีป้ายติดไว้ว่าห้องประชุมนี้อบรมเรื่องอะไร ปรากฏว่าวันนั้นที่เราไป เขาก็เขียนตรงตัวเลยว่า ‘สิทธิมนุษยชนและความหลากหลายทางเพศ’ ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่มีการประชุมโต๊ะอิหม่ามในโรงเรียน เราไม่รู้ว่าถ้าเขาเห็นจะเกิดอะไรขึ้น จึงเปลี่ยนป้ายให้เหลือแค่คำว่าสิทธิมนุษยชน เราต้องระมัดระวังว่าจะไปสร้างความขัดแย้งให้คนในพื้นที่หรือเปล่า

 

คุณมองเห็นความเปลี่ยนแปลงใดบ้าง หลังจากจัดห้องเรียนสิทธิมนุษยชน

เราจะถามว่าก่อนเข้าอบรม เขาคาดหวังอะไร และเมื่ออบรมเสร็จเขารู้สึกยังไง แต่ถ้าเขาไม่ได้บอก เราก็จะให้เขียนใส่กระดาษโน้ต เราไม่แน่ใจว่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมมากน้อยแค่ไหน แต่โดยส่วนตัวแค่มีเด็กเดินมาคุยกับเรานอกรอบ เราก็รู้สึกว่าได้ทำอะไรบางอย่างแล้ว ไม่กล้าพูดว่าประสบความสำเร็จ แต่เราได้ทำให้ภายในความคิดของคนหนึ่งคนเกิดการทำงานในเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งทุกครั้งที่จัดห้องเรียนจะมีอย่างน้อยหนึ่งคนเดินมาเพื่อถามอะไรบางอย่าง

 

คุณอยากให้แอมเนสตี้มีทิศทางในงานเกี่ยวกับเยาวชนอย่างไร

แอมเนสตี้อาจต้องขอความร่วมมือจาก NGO หรือองค์กรภาครัฐที่ทำงานเกี่ยวกับเยาวชน เพื่อให้เกิดความตื่นตัวในเรื่องสิทธิเด็กมากกว่านี้ เรามองว่ามีหลายองค์กรที่ทำงานด้านเด็ก แต่พอถึงเวลาที่มีประเด็นเยาวชน กลับไม่ค่อยเห็นการขยับหรือออกมายืนข้างเยาวชนเท่าที่ควร

 

ถ้าให้คุณริเริ่มกิจกรรมร่วมกับแอมเนสตี้สักกิจกรรมหนึ่ง คุณอยากทำกิจกรรมอะไร รูปแบบใด เพื่อส่งเสริมรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชน

คิดว่าเป็นนิทรรศการ ส่วนตัวชอบนิทรรศการที่คิดโดยคนกลุ่มเปราะบาง อาจเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ หรือคนพิการ เรารู้สึกประทับใจกับกิจกรรมที่เกิดขึ้นจากความคิดเขา เราอาจเป็นผู้ร่วมออกแบบ แต่แก่นสารที่จะสื่อให้มาจากตัวเขา วิถีชีวิตของเขา

 

 

สิ่งที่แอมเนสตี้ควรปรับปรุง พัฒนาการทำงาน

ในฐานะที่เข้าร่วมอบรมเรื่องสิทธิมนุษยชน คิดว่าแอมเนสตี้อาจต้องเพิ่มความใกล้ชิดกับอาสาสมัครหรือผู้เข้ามาทำงานด้วย แอมเนสตี้เป็นผู้ให้ความรู้และสนับสนุนให้คนออกไปทำกิจกรรม สิ่งหนึ่งที่ต้องระมัดระวัง ในฐานะคนทำงานด้านสิทธิ์ เราไม่ควรที่จะไปละเมิดสิทธิ์ของคนอื่น อาจต้องมีกลไกเพื่อตรวจสอบตรงนี้ เราได้ยินมาเหมือนกันว่ามีบางคนที่ทำงานด้านสิทธิ์ แต่กลับละเมิดสิทธิ์ของคนอื่น เช่น Sexual Harassment ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว ทั้งด้วยคำพูด การกระทำ หรือกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกทริกเกอร์ (Trigger)

 

สิ่งที่อยากสื่อสารกับสังคมในเรื่องสิทธิมนุษยชน

สิทธิมนุษยชนคือสิ่งที่ทำให้คุณกลับมาอยู่กับตัวเอง กลับมาพินิจพิเคราะห์ตัวเองว่าเรามีอะไร อาจเริ่มที่ทรัพยากรภายใน แล้วค่อยเชื่อมโยงถึงสิทธิ์

สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของการตระหนักรู้ถึงอำนาจภายใน จากการถูกกดทับ การถูกทำร้ายจากภายนอก เราอาจยังไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิ์อะไรบ้าง แต่ถ้ายืนยันเรื่องอำนาจของตัวเองได้ อย่างน้อยเราก็จะกล้าเรียกร้องสิทธิ์ในสิ่งที่เราถูกเอาเปรียบ หรือถูกละเมิดได้