หยุดส่งต่อปัญหาสังคมให้เยาวชน "เคียวกะ-ปลายฟ้า เคียวกะ โชติรัตน์" Youth Network แอมเนสตี้ประเทศไทย

5 มกราคม 2567

Amnesty International Thailand

เมื่อถามว่าถ้ามองย้อนกลับไป อะไรคือจุดที่ทำให้เคียวกะสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนและคิดว่าจะต้องลงมือทำอะไรสักอย่าง ในขณะที่เด็กรุ่นเดียวกันยังไม่ได้นึกถึงเรื่องนี้ เคียวกะบอกว่า ความจริงแล้วมาจากความเจ็บปวดที่ได้เผชิญระหว่างการเติบโต

“เราขับเคลื่อนเรื่องความหลากหลายทางเพศ เพราะเราเป็นนอน-ไบนารี่ (Non-binary) ตอนอายุประมาณ 9-10 ปี เราตัดผมสั้นมาก เวลาไปโรงเรียนครูจะบอกว่าไว้ผมทรงนี้ไม่ได้นะ-คุณเป็นผู้หญิงต้องผมยาว ต้องเรียบร้อย ต้องเป็นแบบนั้นเป็นแบบนี้ และก็โดนบูลลี่อยู่บ่อย ๆ เราเลยเกิดคำถามว่าทำไมคนในสังคมถึงต้องเหยียดกัน เพียงเพราะความแตกต่าง ทั้งที่ความหลากหลายควรจะเป็นเรื่องปกติ มันไม่ควรเป็นสิ่งที่ทำให้ใครต้องถูกกดทับหรือต้องรู้สึกโดดเดี่ยว ในตอนนั้นไม่ว่าจะไปไหน ทุกคนจะถามว่าเคียวกะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย บางครั้งถามก่อนที่จะถามชื่อด้วยซ้ำ”

“เคียวกะ-ปลายฟ้า เคียวกะ โชติรัตน์” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ผู้มีความสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนมาตั้งแต่อายุ 11 ปี จากการไปค่ายซัมเมอร์แคมป์ที่ประเทศอินเดีย ซึ่งมีเยาวชนจาก 16 ประเทศเข้าร่วม ถือเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญของการเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนและวัฒนธรรมที่หลากหลาย

หลังจากนั้น เคียวกะมีความสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น เธอพยายามหาความรู้เพิ่มเติมจากสิ่งต่าง ๆ จากการอ่านข่าว อ่านหนังสือ พูดคุยเรื่องสิทธิมนุษยชนหรือปัญหาสังคมกับเพื่อน และเข้าร่วมกิจกรรมสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ทำแบบนั้นมาเรื่อย ๆ จนอายุ 16 ปี เธอก็เริ่มเขียนหนังสือและได้ตีพิมพ์หนังสือที่มีชื่อว่า ‘Be The Change เด็กกล้า...ท้าเปลี่ยนโลก’ ปัจจุบันเคียวกะเป็นนักกิจกรรมที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความหลากหลายทางเพศ ระบบการศึกษา และสิ่งแวดล้อม

 

 

จากหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมาอาจกล่าวได้ว่า โรงเรียนคือหนึ่งในสถานที่ซึ่งมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเยาวชนมากที่สุด คุณคิดว่าปัญหานี้เกิดขึ้นจากอะไร เพราะดูเหมือนบางครั้งบุคลากรในโรงเรียนก็ยังไม่เข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชน

ส่วนหนึ่งมาจากทัศนคติของคุณครู หรือผู้มีอำนาจที่คิดว่าตัวเองสามารถควบคุมทุกอย่างได้ พวกเขาคิดว่าเด็กไม่ได้มีสิทธิในความเป็นมนุษย์เท่ากับผู้ใหญ่ พวกเขาไม่เข้าใจในสิ่งที่เด็กต้องการ พวกเขามองว่าความต้องการและข้อเรียกร้องของเด็กคือการเอาแต่ใจ ปัญหาที่ใหญ่มากคือการที่ผู้ใหญ่ไม่เปิดใจรับฟังเยาวชน ซึ่งนำไปสู่ Generation Cycles คือเมื่อมีผู้ใหญ่ละเมิดสิทธิของเด็กรุ่นหนึ่ง พอเด็กเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีความเจ็บปวดทางใจ ก็มีแนวโน้มที่เขาจะละเมิดสิทธิของเด็กรุ่นต่อไป ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องรณรงค์และส่งเสริมความตระหนักรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน เพื่อหยุดวงจรการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเด็ก

 

คุณเคยพบเห็นสิ่งใดบ้างที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในโรงเรียน และคิดว่าจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร

เราไม่เคยเรียนที่โรงเรียนไทยมาก่อน แต่จะเป็นโรงเรียนญี่ปุ่นที่ไทย โรงเรียนญี่ปุ่นที่ญี่ปุ่น และโรงเรียนนานาชาติที่ไทย ไม่แน่ใจว่าจะมีความเหมือนหรือแตกต่างกับการเรียนที่โรงเรียนไทยแค่ไหน จากประสบการณ์ของเรา สิ่งที่เคยเจอและคิดว่าหนักที่สุดคือการโดนบูลลี่จากทั้งคุณครูและนักเรียนด้วยกัน คุณครูส่วนใหญ่จะมาจากประเทศแถบยุโรปหรืออเมริกา เขาค่อนข้างมีความคิดเหยียดเชื้อชาติ ทำไมเด็กเอเชียทำแบบนี้-ทำแบบนี้ไม่ได้ เขาจะมีมาตรฐานของตัวเอง บางคนถึงขั้นบูลลี่เด็กในเรื่องของภาษา เพราะไม่ใช่เด็กทุกคนที่พูดภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เกิด นอกจากนี้ยังมีการบูลลี่กันเองของนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรงผม การแต่งกาย อัตลักษณ์ต่าง ๆ ถ้าเราไม่ทำตัวตามมาตรฐานของคนส่วนใหญ่ เราจะโดนบูลี่ทันที อันนี้คือสิ่งที่เราเห็นกับตา แต่ถ้าได้ยินมาจากเพื่อนต่างโรงเรียนก็จะเป็นเรื่องที่โรงเรียนกดดันเด็กที่ไปร่วมชุมนุมทางการเมือง หรือการลงโทษนักเรียนที่ผมยาวด้วยการตัดผม โดยที่นักเรียนไม่เต็มใจ

การแก้ไขเบื้องต้น อย่างแรกคือการเปลี่ยนระบบการศึกษา เข้าไปดูอย่างจริงจังว่าทำไมปัญหานี้จึงเกิดขึ้น มันเป็นเรื่องของอำนาจที่ไม่เท่ากันในสถานศึกษา รวมถึงทัศนคติของคุณครู เพราะคุณครูเป็นคนที่มีความสำคัญมากในระบบการศึกษา เขาเป็นผู้ส่งต่อความรู้ให้กับเด็กและเยาวชน ถ้าเขาไม่มีทัศนคติที่ดีต่อความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนของเด็ก ปัญหานี้ก็จะเกิดขึ้นไม่มีวันจบ

 

ช่องว่างระหว่างวัยจากประสบการณ์ชีวิตหรือวิธีคิดของคนต่างรุ่น หลายครั้งเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ คุณมองเรื่องนี้อย่างไร มีวิธีแก้ไขอย่างไรบ้าง

เรื่องนี้เกิดขึ้นกับเราบ่อยมาก เราได้เห็น Generation Gap กับพ่อแม่ของเรา โดยเฉพาะกับพ่อ เราคิดว่าเป็นเรื่องยากมากที่จะสื่อสารหรือแก้ไขปัญหานี้ เพราะเรามีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน เติบโตมาไม่เหมือนกัน สิ่งหนึ่งที่ผู้ใหญ่ต้องเข้าใจคือสังคมมีความเปลี่ยนแปลง มันไม่ได้คงอยู่แบบเดิม สิ่งนี้ต้องอาศัยเวลาและการเปิดใจรับฟัง แน่นอนว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนประสบการณ์ของใครได้ แต่ที่เราทำได้คือการสื่อสาร การทำความเข้าใจ พูดคุยกันบ่อย ๆ สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เยาวชนได้ออกมาแสดงความคิดเห็น

 

คุณคิดว่าอะไรเป็นสิ่งที่ทำให้เยาวชนไทยมีภาวะเครียด-ไม่มีความสุข

น่าจะเป็นแรงกดดันจากสังคม ต้องเป็นเด็กดี ต้องมีเกรดดี เด็กต้องแบกความคาดหวังเยอะมากจากครอบครัว สังคม เพื่อน ครู คนที่อยู่รอบข้าง สิ่งนี้ทำให้เด็กไม่มีความสุขในชีวิต ผู้ใหญ่หลายคนชอบบอกว่าถ้าเรียนได้เกรดดี ต่อไปจะประสบความสำเร็จในชีวิต ทั้งที่ความจริงการเรียนได้เกรดดีไม่ได้การันตีว่าในอนาคตเด็กจะประสบความสำเร็จร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะในระบบการศึกษาปัจจุบันก็ยังเน้นให้เด็กท่องจำเพื่อนำไปสอบ เขาไม่ได้เน้นให้เด็กเข้าใจและเรียนรู้ทักษะอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตในอนาคต นอกจากนี้ยังมีโซเชียลมีเดียที่ในทางหนึ่งกำหนดมาตรฐานว่าเราต้องเป็นแบบคนไหน ต้องมีรูปร่างหรือรสนิยมแบบไหน ทำให้เด็กรู้สึกกดดันว่าเขาจะเป็นตัวของตัวเองไม่ได้ เพราะเขาต้องพยายามเป็นคนแบบที่สังคมยอมรับและอยากให้เขาเป็น

 

เพราะอะไรจึงตัดสินใจร่วมงานเป็น Youth Network ให้กับแอมเนสตี้ คุณมองเห็นอะไรในโอกาสนี้

ก่อนหน้านั้นเราทำงานกับ Bangkok Pride ซึ่งทำให้รู้สึกว่าตัวเองเป็นนักกิจกรรมในไทยแล้ว และอยากจะรู้จักเพื่อนนักกิจกรรมหรือเครือข่ายนักกิจกรรมให้มากขึ้น พอเห็นว่าแอมเนสตี้กำลังเปิดรับสมัคร Youth Network เราคิดว่าเป็นโอกาสที่ดี เป็นประตูที่จะเปิดโอกาสให้เราและเยาวชนคนอื่น ๆ ที่อยากเรียนรู้และอยากเป็นกระบอกเสียงในเรื่องสิทธิมนุษยชน เราคิดว่าการที่เยาวชนร่วมกันทำกิจกรรมหรือคิดแคมเปญ จะช่วยให้สังคมเข้าใจและเปิดใจรับฟังเสียงของเยาวชนมากขึ้น

 

จากการเป็นตัวแทนเยาวชนบนเวทีระหว่างประเทศ อุปสรรคในการรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชนของไทยกับของโลก มีความแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน

คิดว่ามีความแตกต่างค่อนข้างมาก ในประเทศแถบยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา ผู้คนสามารถประท้วงหรือเรียกร้องได้อย่างเต็มที่ ใครอยากแสดงออกก็สามารถทำได้เลย แต่ในประเทศไทยเราต้องระวังเรื่องกฎหมาย ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อนที่จะจัดการชุมนุม สถานที่ไหน วันไหน เวลากี่โมง ทำให้บางครั้งจะเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบมาอยู่ในบริเวณที่ชุมนุมเยอะมาก บางคนถูกเจ้าหน้าที่ถ่ายรูปโดยไม่ได้รับอนุญาต การไม่มีเสรีภาพในการแสดงออกทำให้เราต้องระวังตัวตลอด เพราะอาจถูกดำเนินคดีได้ อีกทั้งประเทศไทยยังมีเรื่องที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม เช่นเดียวกับประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บางประเทศไม่สามารถประท้วงได้เลย ถ้าเขาออกไปก็จะถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงหรืออาจถึงขั้นถูกยิง

 

การเป็น Youth Network ของแอมเนสตี้ให้อะไรกับคุณ

ทำให้ได้รู้จักเครือข่ายนักกิจกรรม รู้จักเยาวชนที่มีความสนใจคล้ายกัน ทำให้เราได้คุยเรื่องปัญหาสังคมอย่างปลอดภัย มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ร่วมกันคิดและลงมือทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ในโรงเรียน เพราะถ้าเราพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนหรือปัญหาสังคมในโรงเรียน คุณครูจะบอกว่าอย่าพูดเรื่องการเมืองในโรงเรียน นี่คือสิ่งที่เราเจอมากับตัว และอีกสิ่งหนึ่งคือการได้เรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนจากคนที่อยู่ใน Youth Network และจากพี่ ๆ ในแอมแนสตี้

 

แอมเนสตี้เป็นหนึ่งในองค์กรที่ออกมาเรียกร้องให้ผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองได้รับการประกันตัว แต่ปัจจุบันยังคงมีผู้ถูกคุมขังจากข้อหาที่มาจากการแสดงออกทางการเมือง หลายคนเป็นเยาวชน ยังเป็นนักศึกษา คุณมีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร

พอรู้ว่าจะมีการเปลี่ยนรัฐบาล เรามีความหวังสูงมาก ว่าสถานการณ์หลายอย่างจะดีขึ้น ตอนนั้นเราคิดว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทยจะต้องลดลง แต่หลังจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่กลับกลายเป็นว่าเรารู้สึกสิ้นหวังแทน เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลแล้วทำไมยังมีคนถูกดำเนินคดี ม.112 หรือกฎหมายอื่น ๆ ที่มาจากการแสดงออกทางการเมือง ซ้ำยังไม่ได้รับสิทธิประกันตัว ทั้งที่ในช่วงหาเสียงมีหลายพรรคที่ประกาศว่าจะแก้ไขปัญหานี้ แต่กลับไม่เห็นถึงความเปลี่ยนแปลง แถมที่ผ่านมามีคนถูกดำเนินคดีและถูกคุมขังในเรือนจำเพิ่มขึ้นอีก สิ่งที่น่าเศร้าที่สุดคือหลายคนยังเป็นเยาวชน ยังเป็นนักศึกษา แทนที่รัฐจะปกป้องเยาวชน แต่รัฐกลับลิดรอนสิทธิของพวกเขา

 

คุณอยากให้แอมเนสตี้มีทิศทางในงานเกี่ยวกับเยาวชนอย่างไร

อยากเห็นแคมเปญที่คิดโดยเยาวชนมากขึ้น สิ่งนี้น่าจะเป็นเรื่องที่ Youth Network สามารถทำได้ เพราะทุกครั้งที่เจอกัน เราคุยกันเยอะมาก เรามีไอเดียเยอะมาก อีกอย่างก็คือ แน่นอนว่าแอมเนสตี้เป็นองค์กรที่เปิดโอกาสให้กับเยาวชน แต่อยากให้เข้าถึงเยาวชนมากขึ้น เพิ่มความเฟรนด์ลี่ เพราะบางคนอาจคิดว่าแอมเนสตี้เป็นองค์กรเคร่งขรึม เข้าถึงยาก หรืออาจคิดว่าต้องเป็นคนที่มีความสามารถสูงเท่านั้นจึงจะเข้ามาร่วมกับแอมเนสตี้ได้

 

 

สิ่งที่แอมเนสตี้ควรปรับปรุง พัฒนาการทำงาน

อย่างที่บอกไปแล้ว เยาวชนอาจคิดว่าแอมเนสตี้เป็นองค์กรที่เข้าถึงยาก อย่างคอนเทนต์ในโซเชียลมีเดียที่เห็นส่วนใหญ่จะเป็นโพสต์ภาพสี่เหลี่ยม แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นวิดีโอที่อธิบายข้อมูลต่าง ๆ คนน่าจะเข้าใจมากขึ้น เราคิดว่าถ้ามีการสื่อสารในหลากหลายรูปแบบจะทำให้เยาวชนสนใจและกล้าเข้ามาทำความรู้จักกับแอมเนสตี้มากขึ้น

 

ถ้าให้คุณริเริ่มกิจกรรมร่วมกับแอมเนสตี้สักกิจกรรมหนึ่ง คุณอยากทำกิจกรรมอะไร รูปแบบใด เพื่อส่งเสริมรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชน

เรื่องนี้เคยคุยกับเพื่อนใน Youth Network และน่าจะเป็นไอเดียร่วมกันแล้ว เราอยากทำเป็น Human Rights Festival มีดนตรีสดและการแสดงผลงานศิลปะที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เรื่องความหลากหลายทางเพศ ภายในงานจะมีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การดีเบต เวิร์กชอป มีร้านขายอาหารและสินค้าจากท้องถิ่น และอีกอย่างที่อยากทำคือการทัวร์จัดกิจกรรมตามต่างจังหวัด รณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชน โดยให้เยาวชนเป็นผู้นำจัดกิจกรรมให้กับเยาวชนด้วยกันเอง

 

คุณคิดว่าเยาวชนในยุคสมัยนี้ต้องการอะไร เยาวชนอยากเห็นสังคมในทิศทางไหน

ในฐานะเยาวชนคนหนึ่ง สิ่งที่เราอยากเห็นมากที่สุดคือการแก้ไขปัญหาที่เป็น Generation Cycles ปัญหาที่เกิดขึ้นวนเวียนจากรุ่นสู่รุ่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ซึ่งหลายปัญหาเป็นสิ่งที่เยาวชนไม่ได้สร้าง แต่วันหนึ่งเยาวชนก็จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เราอยากเห็นผู้ใหญ่ให้ความสำคัญกับปัญหาสังคมที่เป็นอยู่ รวมถึงอยากให้ผู้ใหญ่เปิดใจ มีพื้นที่ปลอดภัยให้เยาวชนสามารถเป็นตัวของตัวเองได้