สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ในมุมมองของตัวแทนคลับแอมเนสตี้ขอนแก่น "เป๋า-ณัฐพล อภิรักษ์ลี้พล"

5 มกราคม 2567

Amnesty International Thailand

จากการเริ่มอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ที่มีเนื้อหาทางการเมือง ทำให้ “เป๋า-ณัฐพล อภิรักษ์ลี้พล” สนใจการเมืองมาตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นมัธยม ซึ่งเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ และกระแสการตื่นรู้ของประชาชน หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมปลาย คนหนุ่มจากนนทบุรีก็จากบ้านไปศึกษาต่อที่เมืองหมอแคน ปัจจุบันเขาเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

เป๋าเล่าว่าการเข้ามหาวิทยาลัย เป็นส่วนสำคัญที่เปิดโอกาสในการเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ไม่เพียงวิชาความรู้ในห้องเรียน แต่รวมถึงการได้พบเห็นปัญหาของจริงด้วยตาตัวเอง เป๋าเป็นหนึ่งในกลุ่มทะลุฟ้า เป็นเจ้าของสองขาที่ร่วมกิจกรรม ‘เดินทะลุฟ้า’ ในปี 2564 และเคยร่วมเคลื่อนไหวกับคนรุ่นใหม่ในขณะที่การชุมนุมอยู่ในกระแสสูง จนกระทั่งเขาได้รู้จักกับแอมเนสตี้ และตัดสินใจก่อตั้งคลับแอมเนสตี้ขอนแก่น นอกจากนี้ เขายังร่วมทำกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ เช่น การออกค่ายสำรวจความเดือดร้อนและการต่อสู้ของชาวบ้านที่เหมืองแร่ทองคำ อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย

 

ทำไมคุณจึงสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน

ผมมีโอกาสลงพื้นที่ไปเห็นปัญหาของชาวบ้าน ซึ่งได้รับผลกระทบจากกฎหมายและการเอารัดเอาเปรียบที่ไม่เป็นธรรม การออกค่ายหรือการทำกิจกรรมในหลายพื้นที่ ทำให้ได้เห็นอะไรหลายอย่างที่ไม่เคยเห็น ผมค่อย ๆ เรียนรู้จากการต่อสู้ของพี่น้องประชาชน และค่อย ๆ เห็นความไม่เป็นธรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ยิ่งเราเรียนคณะนิติศาสตร์ด้วย มันยิ่งรู้สึกว่ากฎหมายที่เราเรียนในห้องเรียน กับกฎหมายที่ไปเจอในชีวิตจริง เป็นเหมือนหนังคนละม้วน

 

คุณคิดว่าปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนของท้องถิ่น มีความแตกต่างกับปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในเมืองหลวงหรือไม่ อย่างไร

ผมคิดว่าโดยเนื้อแท้หรือต้นเหตุของมันไม่ได้แตกต่างกัน มันอาจแตกต่างกันในเชิงรายละเอียด ลักษณะของพื้นที่ซึ่งมีวัฒนธรรมและทรัพยากรที่แตกต่างกัน อย่างภาคอีสานมักจะเกิดการละเมิดสิทธิจากการสร้างอุตสาหกรรมของนายทุน ที่มาจากกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ไม่มีมาตรการรองรับผลกระทบที่เกิดกับชาวบ้าน ผมมองว่าทุกปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยมาจากปัญหาโครงสร้างทางการเมือง โครงสร้างเศรษฐกิจ ปัญหาในระดับนโยบายที่เอื้อผลประโยชน์ให้กับนายทุนและผู้มีอำนาจในมิติต่าง ๆ

 

ในฐานะคนที่เคยออกมาร่วมเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ปัจจุบันเรามีรัฐบาลใหม่แล้ว คุณมองว่าข้อเรียกร้องต่าง ๆ ในการชุมนุมช่วง 2-3 ปีที่แล้ว ได้รับการตอบสนองหรือยัง เพราะอะไร

ผมคิดว่ายัง อย่างเพื่อนของเราที่ออกมาร่วมต่อสู้ในช่วงปี 2563-2564 มีหลายคนที่ยังอยู่ในเรือนจำ ซึ่งหมายถึงเรายังไม่มีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ยังมีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการปิดปากผู้ที่ออกมาพูดถึงปัญหา หรืออย่างเรื่องรัฐธรรมนูญ เราก็ยังไม่มีรัฐธรรมที่มาจากประชาชนจริง ๆ แม้ว่าวันนี้จะมีรัฐบาลใหม่ ข้อเรียกร้องของเราก็ยังไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

 

เมื่อครู่คุณพูดถึงรัฐธรรมนูญ คุณคิดว่าถ้ามีการแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เราจะสามารถคลี่คลายปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งได้หรือไม่ อย่างไร

ผมคิดว่าถ้าจะให้เป็นประชาธิปไตยจริง ๆ ก็ต้องแก้ไขได้ทั้งฉบับ รัฐธรรมนูญปี 2560 ถูกแก้ไขโดยคณะรัฐประหาร ซึ่งเขาเขียนออกมาเพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้กับตัวเองและกลุ่มอำนาจเก่า ซึ่งถ้าจะให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เราต้องแก้ไขกฎหมาย เรื่องกติกาในการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ส.ว. หรือ สสร. ที่ต้องมาจากการเลือกตั้ง

 

ทำไมคุณจึงตัดสินใจร่วมก่อตั้งคลับแอมเนสตี้

ผมถูกจับดำเนินคดีจากการร่วมแสดงออกทางการเมืองในช่วงเรียนปี 2 ที่กรุงเทพฯ นำมาซึ่งเงื่อนไขหลายอย่างให้ต้องกลับมาเรียน หลังจากนั้นผมได้ลองชักชวนเพื่อน ๆ มาทำกลุ่มนักศึกษาเพื่อที่จะขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชนและปัญหาการเมืองในมหาวิทยาลัย เราก็ทำกันมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งมีโอกาสร่วมงานกับแอมเนสตี้ และได้พูดคุยกันว่าอยากทำเป็นคลับขึ้นมา ทางเรามองว่าการมีคลับในมหาวิทยาลัยจะเป็นผลดี ทั้งในแง่การมีข้อมูลในการทำงานและการสร้างการรับรู้ให้มากขึ้น

 

เสียงตอบรับของคนในมหาวิทยาลัยต่อคลับแอมเนสตี้เป็นอย่างไร

ถ้ามองที่กลุ่มเป้าหมายก็ถือว่าเป็นไปในทางที่ดี คลับเป็นชุมนุมหนึ่งในคณะนิติศาสตร์ที่มีคนให้ความสนใจ เฉลี่ยต่อปีมีคนเข้ามาร่วมกับเราประมาณ 40-50 คน สำหรับผมคิดว่าเป็นจำนวนที่เยอะแล้ว

 

จากการก่อตั้งคลับแอมเนสตี้ในมหาวิทยาลัย คนรุ่นใหม่มีความสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนด้านไหนเป็นพิเศษ

สิทธิทางการเมือง สิทธิการแสดงออก และสิทธิทางสิ่งแวดล้อม ผมคิดว่าเป็นเพราะบริบทของสังคมไทยที่คนรุ่นใหม่เคยถูกกดทับมา อย่างการถูกระเบียบต่าง ๆ กดทับมาในตอนที่ยังเป็นนักเรียน การถูกปิดกั้นในการแสดงความคิดเห็นจากผู้ใหญ่ สิ่งเหล่านี้ทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน หลังจากที่เขาได้เรียนรู้และพบเห็นสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น รวมถึงโลกาภิวัตน์ที่ทำให้การเข้าถึงข้อมูลเป็นเรื่องง่ายขึ้น และเมื่อเขาเข้าใจปัญหา เขาจึงลุกขึ้นมาทวงสิทธิ์ของตัวเอง

 

ปัญหาหรืออุปสรรคของคลับแอมเนสตี้ในมหาวิทยาลัย

ด้วยความเป็นนักศึกษาที่มีภาระในการเรียน บางครั้งอุปสรรคก็มาในรูปแบบของการต้องจัดสรรเวลาให้ได้ ทั้งการเรียนและการทำกิจกรรม อาจทำให้หลายคนรู้สึกเหนื่อยล้าไปบ้าง

 

ช่วยเล่าถึงสิ่งที่คุณทำในฐานะคลับแอมเนสตี้ให้ฟังสักกิจกรรมหนึ่ง

ล่าสุดเป็นค่ายเหมืองแร่ทองคำ อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย นักศึกษานิติศาสตร์ช่วยกันไปออกค่ายเรียนรู้ปัญหาในพื้นที่ เราลงไปพูดคุยกับชาวบ้าน ทำความเข้าใจว่าชาวบ้านประสบปัญหาและได้รับผลกระทบยังไง มันเกี่ยวข้องยังไงกับปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ กิจกรรมที่เราทำเน้นการส่งเสริมความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ส่งเสริมหัวใจที่รักความเป็นธรรม ไม่ทนต่อความอยุติธรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม

 

หลายคนพูดว่าการจะรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชนให้ได้ผล โดยเฉพาะในสังคมไทย ต้องทำไปพร้อมกับการรื้อโครงสร้างทางวัฒนธรรมเชิงอำนาจ ความคิดความเชื่อ ขนบเก่าบางอย่างเสียก่อน คุณมีความเห็นอย่างไร

เห็นด้วย ในมุมของผมคิดว่าต้องทำควบคู่กัน อย่างที่ตอบไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเหมือง โรงงาน น้ำ ป่า ที่ดิน ล้วนมาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ปัญหาในระดับนโยบายของภาครัฐ การจะเปลี่ยนแปลงสังคมไม่ใช่แค่เรื่องการละเมิดสิทธิ์จากกลุ่มทุนหรือผู้มีอำนาจ แต่การสร้างความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย เราต้องทำงานทางความคิด ทำให้ผู้คนเห็นถึงโครงสร้างที่มีปัญหา ทั้งโครงสร้างทางวัฒนธรรม อำนาจ เศรษฐกิจ

 

อะไรคืออุปสรรคของการรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชนในไทย

เรื่องการถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ การที่จะไปออกค่ายเรียนรู้ปัญหาสังคม หรือการรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชน การเรียกร้องให้ปล่อยเพื่อนของเราที่อยู่ในเรือนจำ หรือการเรียกร้องให้ปรับแก้กฎหมาย เรื่องเหล่านี้ก็ยังมีเจ้าหน้าที่คอยติดตาม คอยถ่ายรูป ตามไปที่บ้าน ผมคิดว่านี่เป็นอุปสรรคหนึ่งของการรณรงค์ บางคนถูกเจ้าหน้าที่คุกคามไปถึงคนในครอบครัว จนไม่อยากทำกิจกรรมอีกเลย

 

ทำอย่างไรให้เยาวชน คนรุ่นต่อไป สนใจและให้ความสำคัญเรื่องสิทธิมนุษยชนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ผมคิดว่าเราต้องทำงานกับเขา สร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจให้กับเด็กและเยาวชน สนับสนุนการทำกิจกรรมของพวกเขา บริบทของนักศึกษาไม่ได้มีทรัพยากรมากมายที่จะใช้ขับเคลื่อน การสนับสนุนในที่นี้อาจไม่ใช่เรื่องเงินทุน แต่หมายถึงข้อมูลหรือเครื่องมือในการรณรงค์ต่าง ๆ

 

ข้อแนะนำสำหรับแอมเนสตี้ เพื่อปรับปรุง พัฒนาการทำงาน

จากที่ได้รู้จัก แอมเนสตี้เป็นองค์กรที่มีความมุ่งมั่น ทำงานอย่างเป็นระบบ โดยส่วนตัวการร่วมงานกับแอมเนสตี้เป็นไปด้วยดีมาตลอด ไม่รู้สึกว่ามีอะไรต้องปรับปรุง แต่ถ้าจะต้องเสนอก็อาจเป็นเรื่องการสนับสนุนทรัพยากรต่าง ๆ ในการทำกิจกรรมของคลับ

 

สิ่งที่อยากสื่อสารกับสังคมในเรื่องสิทธิมนุษยชน

ในสังคมยังมีผู้ถูกกดขี่และเอารัดเอาเปรียบอยู่อีกมาก ยังมีการละเมิดสิทธิ์ ยังไม่มีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ และยังมีกลุ่มคนที่หวังใช้อำนาจรัฐเพื่อหาผลประโยชน์ให้พวกพ้อง ผมอยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญของสิทธิมนุษยชน อีกเรื่องคือรัฐธรรมนูญที่ยังไม่ถูกแก้ไข และยังไม่รู้ว่าทางรัฐบาลที่ประกาศว่าจะแก้ไขนั้น จะแก้ไขไปในทิศทางไหน ผมอยากเชิญชวนให้ทุกคนช่วยกันติดตาม เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง