'น้ำพริกมะเขือ - แกงไข่ไก่' ในขันโตก สู่การตั้งคำถามถึงการเยียวยาคนสูญหายชาวลาหู่

28 สิงหาคม 2566

Amnesty International Thailand

เสียงปลายสายจาก ‘สิละ จะแฮ’ ที่เล่าเรื่องผู้สูญหายของชาวลาหู่ ยังเต็มไปด้วยความทรงจำที่ไม่มีวันลืม เขาเล่าว่าเคยเป็นหนึ่งในชาวลาหู่ที่ถูกทรมานในหลุมดิน 12 วัน หลังได้รับหนังสือเชิญให้เข้าไปในค่ายทหารพูดคุยทำความเข้าใจกับทหารระดับผู้บังคับบัญชา เพราะเป็นแกนนำชาวลาหู่ที่ออกมาเรียกร้องและทวงคืนความยุติธรรมให้กับชาวบ้านที่ถูกซ้อมทรมานและถูกบังคับให้เป็นบุคคลสูญหาย จนทำให้หลายครอบครัวต้องมีชีวิตที่เปลี่ยนไปตลอดกาล

จะฟะ จะแฮ อายุ 14 ปี คือ ผู้สูญหาย ที่มีศักดิ์เป็นหลานชายของ ‘สิละ’ เด็กชายคนนี้หายตัวไปในช่วงเดียวกันกับตอนที่เขาถูกทรมานในหลุมดิน นับตั้งแต่ตอนนั้นถึงปัจจุบันคิดเป็นเวลาเกือบ 20 ปี ที่ไม่ได้เจอหลานชาย เหตุการณ์ในครั้งนั้นถูกตั้งข้อสงสัยว่าหลานมองเห็นการสังหารในขบวนการค้ายาเสพติด จนทำให้กลายเป็นบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหาย ถึงแม้จะทำหนังสือร้องเรียนไปหลายส่วนที่เกี่ยวข้องให้ตรวจสอบพยานหลักฐานให้รัดกุม แต่เรื่องราวในตอนนั้นกลับถูกทำให้เงียบ ไร้ซึ่งความคืบหน้าในการติดตามตัวผู้สูญหาย

“ผมเคยถูกจับไปขังไว้ในหลุมดินนาน 12 วันเพื่อทรมานในนั้น ตอนอยุ่ในหลุมถูกล่ามโซ่ที่ขากับพี่น้องที่ถูกทรมานหลายคน เท่าที่จำได้ประมาณ 7-8 คนอยู่ในนั้นด้วยกัน ตอนนั้นทรมานมากๆ แต่เรื่องของผมถ้าเทียบกับคนอื่นถือว่าน้อยมาก เพราะหลายคนถูกกระทำความรุนแรงเกินกว่าเหตุ บางคนถูกเอากระแสไฟฟ้าช็อตร่างกาย ช็อตอวัยวะเพศ ผมรู้เห็นทั้งหมด ตอนนั้นที่เกิดเหตุประมาณปี 2544 – 2545 ช่วงนั้นเป็นช่วงเดียวกันกับที่หลานชายหายตัวไป”

เหตุผลที่ทำให้สีละถูกจับกุม เพราะเขาเป็นหนึ่งในคนที่แนะนำให้ชาวบ้านออกมาเรียกร้องสิทธิในฐานะเครือข่ายชาติพันธุ์ชาวลาหู่ เขาทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน แต่ละวันจะมีชาวบ้านมาปรึกษาขอความช่วยเหลือ ทำให้เขามีหน้าที่เป็นคนกลาง เชื่อมประสาน สร้างความเข้าใจระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ วันหนึ่งได้รับเชิญให้ไปพบกับผู้บังคับบัญชา แต่เมื่อเข้าไปในค่ายทหาร กลับไม่มีใครอยู่ จนถูกคุมขังให้ไปอยู่ในหลุมดินร่วมกับพี่น้องชาวลาหู่คนอื่นๆ ขณะที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ไม่มีใครกล้ายื่นหนังสือร้องเรียนหรือขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐ เพราะกลัวอำนาจมืดที่อยู่นอกเหนือกฎหมาย ทำให้เขาและชาวบ้านต้องทนทุกข์จากการถูกทรมานอยู่หลายวัน

“ตอนนั้นไม่มีใครกล้าทำอะไร คนในครอบครัวไม่กล้าบอกภาครัฐ เพราะเกิดความกลัว ช่วงนั้นเหมือนกับเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน ไม่มีกฎหมาย ไม่มีกติกา ไม่มีอะไรแล้ว ไม่ผ่านตำรวจ ไม่ผ่านอัยการ ไม่ผ่านศาล ทหารต้องการค้นบ้านไหนก็เอาค้อนไปทุบ เข้าไปเอาทรัพย์สินที่อยากได้ไป อ้างว่าใช้กฎอัยการศึก ที่น่ากลัวคือหากอยากพาคนไหนไปก็พาไปเลย”  

สิละ เล่าว่า เขาได้รับการปล่อยตัวเร็วกว่าพี่น้องคนอื่นๆ เพราะมีนักการเมืองท้องถิ่นในสมัยนั้น ช่วยเจรจาต่อรองกับผู้บังคับบัญชาในค่ายทหารให้ได้ปล่อยตัว แต่ที่เสียใจมาถึงทุกวันนี้ คือการที่เขาไม่สามารถช่วยชาวบ้านตรงนั้นทุกคนให้หลุดพ้นจากหลุมดินได้ สิ่งที่โหดร้ายและฝังใจที่สุดคือการที่ชาวบ้านจำนวนมากต้องบาดเจ็บสาหัส ถูกทำร้ายจนเสียชีวิต ถูกหิ้วไปฝังดินตามแนวชายแดน เพื่อบังคับให้เป็นบุคคลสูญหาย

แม้จะปัจจุบันเรื่องราวจะคลี่คลายลง แต่สิ่งที่ยังฝังลึกในจิตใจระหว่างการใช้ชีวิตในแต่ละวันของเขา คือความเจ็บช้ำจากการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ วันเวลาผ่านไปทุกครอบครัวยังไม่ได้รับการเยียวยา แต่ยังตั้งหน้าตั้งตารอคอยความจริงให้ปรากฏ เพื่อให้ได้รับการเยียวยาทางจิตใจโดยการทำให้บุคคลอันเป็นที่รักกลับคืนสู่สภาพเดิมให้ได้มากที่สุด ‘จะฟะ’ หลานชายของสีละเป็นหนึ่งในความหวังนั้น ที่เขาต้องการรับรู้ชะตากรรมที่แท้จริง

 

รอวันที่ ‘หลานชาย’ ได้กลับมากินข้าวด้วยกันที่บ้าน

“ถ้าหากว่าเขายังมีชีวิตอยู่หรือไม่มีชีวิตแล้วก็ตาม ถ้าเป็นไปได้ ถ้ากลับมาได้ ก็อยากให้กลับมากินข้าวด้วยกันตามปกติตามวิถีชีวิตที่เคยเป็นมา เพราะหลานผมเป็นอีกคนหนึ่งที่หายไปในช่วงปีเดียวกันพร้อมกับคนอื่นๆ  ประมาณ 17 -18 ปีที่แล้วที่หายไป ตอนนั้นหลานยังเด็ก อายุประมาณ 13-14 ปี เขาถูกนำตัวไปเป็นกลุ่มๆ จากนั้นหายตัวไปแล้วไม่กลับมาบ้าน มาร่วมโต๊ะอาหารด้วยกันอีกเลย” ประโยคสั้นๆ แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเป็นห่วงใย ความรัก และความหวัง ว่าสักวันหนึ่งหลานชายอาจมีโอกาสได้กลับมากินข้าวด้วยกันอีกครั้ง หลังเป็นบุคคลสูญหายมานานเกือบ 20 ปี

 ‘ขันโตก’ เป็นสำรับประจำโต๊ะอาหารของครอบครัว ‘สีละ’ ไม่ว่าจะไปเที่ยว อยู่บ้าน ขันโตกจะเป็นภาชนะใส่อาหารทุกชนิดที่ทำกินในครอบครัว ส่วนคนที่รับหน้าที่เป็นแม่ครัว ยกให้ภรรยาผู้เป็นที่รักรับบทบาทผู้นำด้านอาหาร ส่วนเมนูโปรดของคนในบ้านจะเป็นแกงเนื้อ แกงหมู แกงไก่ แต่อาหารที่นั่งประจำใจของ ‘สีละ’ คือ  ‘แกงไข่ไก่’ ถ้าเมนูนี้ในขันโตก เขาไม่ต้องการอาหารอื่นอีกเลย เพราะเป็นเมนูโปรดที่กินได้ทุกมื้อ ไม่มีเบื่อ วิธีทำนั้นแสนง่าย ต้มน้ำเดือด ใส่พริก ใส่เกลือ หั่นตะไคร้ ผักชี เทเครื่องเทศ และตีไข่ลงไปในน้ำร้อน เพียงเท่านี้ก็จะได้เมนู ‘แกงไข่ไก่’ อาหารจานโปรดคู่ใจที่สีละรอวันที่หลานชายจะได้กลับมากินข้าวด้วยกันอีกสักครั้งหนึ่ง

“ผมเป็นคนกินง่าย ไม่ชอบเป็นภาระให้กับใคร ไม่ชอบเป็นภาระให้กับภรรยา ถ้าเขาไม่ว่างทำอาหารให้กินผมก็จะทำกินเอง หรือทำรอกินกับลูกๆ อีก 5 คน ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็จะมีหลานชายมาร่วมโต๊ะอาหารด้วยในบางครั้ง”  

‘น้ำพริกมะเขือ’ เป็นอีกเมนูที่ต้องมีในขันโตก วัตถุดิบปัจจุบันหาซื้อได้ง่ายในหมู่บ้าน ส่วนปลามีทั้งซื้อจากตลาดและหาเองจากลำห้วย ลำคลองตามธรรมชาติ ส่วนการจัดจานนั้นแสนง่าย ทุกคนจะมีจานคู่ใจ 1 ใบ ตักข้าวสวยมากินพร้อมกันที่โต๊ะอาหารที่มีขันโตกเป็นภาชนะรับรองอาหารทุกชนิดที่ทำ ซึ่งน้ำพริกที่ขาดไม่ได้ สีละบอกว่าจะต้องเป็นน้ำพริกมะเขือเทศฝีมือของภรรยา

“พริกหนุ่ม พริกแห้ง มะเขือเทศ หอมแดง ผักชี คนลาหู่ถือว่าน้ำพริกมะเขือเทศเป็นอาหารประจำชนเผ่า ถ้าสักวันหนึ่งได้มีโอกาสอยู่กับหลาน อีกเมนูที่อยากกินด้วยกันก็คือน้ำพริกมะเขือเทศนี่แหละ”

สถานการณ์ที่ประชาชนถูกทรมานและถูกบังคับให้เป็นบุคคลสูญหายของชาวลาหู่ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงรายในยุคนั้น ไม่มีตัวเลขแน่ชัด แต่ข้อมูลจากนายสีละพบว่า มีไม่ต่ำกว่า 20 คนที่ถูกจับกุม ถูกเชิญไปอยู่ในหลุมดินเพื่อทรมานร่างกายและจิตใจ ทุกครอบครัวยืนยันว่าที่ผ่านมาไม่เคยได้รับการเยียวยา ที่ผ่านมามีการไปยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน รัฐสภาพ กองทัพบก แต่ท้ายที่สุดเรื่องเงียบและไม่ได้รับการชดเชยกลับมา

 

 

ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการแก้ปัญหาบุคคลถูกบังคับให้สูญหาย

ผลกระทบด้านจิตใจเป็นสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้ และการถูกบังคับให้สูญหายส่งผลกระทบไปถึงวัฒนธรรมความเชื่อของชาวลาหู่ หากเป็นไปได้สีละต้องการให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องสืบข้อเท็จจริงจนครอบครัวสิ้นข้อสงสัย เพราะจากการกระทำหลายอย่างบ่งชี้ว่าเจ้าหน้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของชาวบ้าน แต่ด้วยข้อจำกัดบางอย่างอาจทำให้ชาวลาหู่เข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม ที่ผ่านมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ได้เข้ามาร่วมตรวจสอบในพื้นที่ จนพบข้อเท็จจริงว่าทหารปฏิบัติหน้าที่เกินกว่าเหตุ แต่ทุกวันนี้ยังไม่ได้รับการช่วยเหลืออะไร

“ผมอยากจะพูดกับนายทหารสองคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เพราะเขารู้ว่าที่จับชาวบ้านไปเขารู้ เขาเป็นคนไปจับ เขาเป็นคนให้ซ้อม เขาเป็นคนที่ให้ขังในหลุมดิน เขาเป็นคนให้เอาไปฝัง ผมอยากจะเจอนายทหารสองคนนั้น ตอนนี้เป็นยังไงแล้วก็ไม่รู้”

ประเทศไทยบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 กฎหมายนี้ใช้คุ้มครองประชาชนทุกคนบนแผ่นดินไทยให้ได้รับความคุ้มครองหากถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจโดยมิชอบ เพื่อป้องกันและหยุดยั้งการถูกทรมาน บังคับให้สูญหาย และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการใช้ชีวิตของทุกคน

 

#แล้วกลับมากินข้าวด้วยกันนะ

#RememberMe

#กลับสู่วันวาน