รีวิวหนังสือ ผู้หญิง อำนาจ Women & Power a Manifesto

15 ตุลาคม 2564

Amnesty International Thailand

เขียนโดย สุทธิดา กมลเลิศ

ผลงานจากโครงการ Writers that Matters: นัก(อยาก)เขียน เปลี่ยนโลก 

ในหัวข้อ สิทธิมนุษยชนผ่านมุมมองของฉัน

รีวิวหนังสือ ผู้หญิง I อำนาจ Women & Power a Manifesto, Mary Beard เขียน

นราวัลลภ์ ปฐมวัฒน แปล, สำนักพิมพ์ Bookscape.

 

Women & Power ผลงานของ Mary Beard นักประวัติศาสตร์ด้านอารยธรรมกรีก-โรมันโบราณ ได้พาเราย้อนกลับไปสืบค้นรากเหง้าความคิดและวัฒนธรรมที่อยู่เบื้องหลังแนวคิด “ความเกลียดชังเพศหญิง” (misogyny) ผ่านตัวอย่างทั้งเทพปกรณัมกรีก ผลงานของเชกสเปียร์ ภาพเขียนและประติมากรรม ไปจนถึงเหตุการณ์ร่วมสมัยและประสบการณ์ตรงของผู้เขียน ตัวอย่างเหล่านี้เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า การทำให้ผู้หญิงเงียบเสียงนั้นเป็นธรรมเนียมที่วัฒนธรรมตะวันตกได้ปฏิบัติมานับพันปีแล้ว อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะพูดถึงวัฒนธรรมตะวันตก แต่ทว่าปรากฏการณ์เหล่านี้ก็สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่สังคมไทย

หนังสือเล่มนี้พูดถึงสองประเด็นที่สำคัญ คือ “เสียงของผู้หญิงในพื้นที่สาธารณะ” และ “ผู้หญิงที่มีอำนาจ” โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญคือ กลไกในการทำให้ผู้หญิงเงียบเสียง การปฏิเสธที่จะรับฟังเสียงของผู้หญิง รวมถึงการกีดกันผู้หญิงออกจากศูนย์กลางอำนาจ 

ในประเด็นแรก ผู้เขียนเริ่มต้นด้วยเหตุการณ์ที่จารึกไว้ในตอนต้นของมหากาพย์ โอดิสซี (Odyssey) ของกวีโฮเมอร์ อันเป็นหลักฐานชิ้นแรกที่มีการบันทึกเอาไว้ว่าผู้ชายบอกให้ผู้หญิง “หุบปาก” และยังบอกว่าเสียงของเธอนั้นไม่สมควรให้ใครได้ยินในที่สาธารณะ ดังเช่นที่หนุ่มน้อยเทเลมาคัสได้พูดกับเพเนโลพีผู้เป็นมารดาว่า

ท่านแม่ จงกลับขึ้นห้องไปเสียเถิด กลับไปทำงานของท่านกับหูกและกระสวย… การปราศรัยเป็นเรื่องของบุรุษเท่านั้น เป็นเรื่องของบุรุษทั้งมวล… และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นเรื่องของข้าพเจ้า เหตุเพราะในราชสำนักแห่งนี้ข้าพเจ้าเป็นผู้ครองอำนาจสูงสุด” (หน้า 14,15)

ผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตว่า การที่หนุ่มน้อยด้อยประสบการณ์สามารถสั่งสตรีวัยกลางคนผู้เฉลียวฉลาดให้หุบปากได้นั้นช่างดูเป็นเรื่องที่น่าขัน แต่ก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าในวัฒนธรรมตะวันตกนั้นเสียงของผู้หญิงไม่ได้รับการรับฟังในพื้นที่สาธารณะ ยิ่งไปกว่านั้น ยังแสดงให้เห็นว่ากระบวนการสำคัญในการเติบโตของผู้ชายคือเรียนรู้ที่จะเข้าควบคุมสิทธิการพูดในที่สาธารณะและจัดการให้ผู้หญิงเงียบเสียง

ในโลกกรีกและโรมันโบราณ การปราศรัยของผู้หญิงในที่สาธารณะนับเป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจ เว้นแต่เพียงสองกรณีเท่านั้น กรณีแรกคือ ผู้หญิงได้รับอนุญาตให้พูดในฐานะเหยื่อและผู้พลีชีพ และสองคือ พูดเพื่อปกป้องครัวเรือน ลูก และสามีของตน หรือสิทธิ์ของผู้หญิงคนอื่น ๆ อาจกล่าวได้ว่า หากเป็นสถานการณ์ที่รุนแรงผู้หญิงจะสามารถพูดเพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของเพศตนเองในที่สาธารณะได้ ทว่าพวกเธอไม่สามารถพูดแทนเพศชายหรือคนในสังคมโดยรวมได้ จึงสรุปได้ตามที่นักปราชญ์สมัยศตวรรษที่สองกล่าวเอาไว้ว่า

“ผู้หญิงควรปกป้องระมัดระวังมิให้เสียงของเธอเล็ดลอดไปถึงหูคนนอก ดั่งการปกป้องมิให้ร่างกายถูกเปลื้องผ้า” (หน้า 23)

            ยิ่งไปกว่านั้น นักเขียนในยุคโบราณต่างเน้นย้ำว่า ทำนองและน้ำเสียงของผู้หญิงไม่เพียงเป็นภัยคุกคามที่บ่อนทำลายเสียงกล่าวปราศรัยของผู้ชายเท่านั้น แต่ยังเป็นภัยต่อความมั่นคงทางสังคมและการเมือง เนื่องด้วยเสียงทุ้มต่ำแสดงถึงความกล้าหาญอย่างลูกผู้ชาย ส่วนเสียงสูงแสดงถึงความขี้ขลาดแบบผู้หญิง นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการพูดที่แบ่งแยกเพศ (gendered speaking) เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงการตัดสินว่าการกล่าวปราศรัยที่ดีนั้นวัดกันที่อะไร และคำพูดของใครควรค่าแก่การรับฟัง แน่นอนว่าปัจจัยทางเพศก็มีส่วนสำคัญ 

สำหรับประเด็นเรื่องอำนาจของผู้หญิง ผู้เขียนได้ตั้งคำถามที่น่าสนใจเอาไว้ว่า ทำไมนิยามโดยทั่วไปของคำว่า “อำนาจ” จึงไม่มีผู้หญิงรวมอยู่ด้วย? แม้ว่าในปัจจุบันจะมีผู้หญิงอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจจำนวนมากขึ้น แต่ทว่าแบบแผนเชิงความคิดและวัฒนธรรมเมื่อเรานึกถึงผู้มีอำนาจนั้นก็ยังคงเป็นภาพผู้ชายอยู่ดี กล่าวคือ เราไม่มีภาพต้นแบบที่แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงที่มีอำนาจนั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร นอกจากว่าเธอจะดูเหมือนผู้ชาย ผู้หญิงที่สามารถส่งเสียงให้ผู้คนรับฟังได้สำเร็จนั้นส่วนมากมักเลือกใช้วิธีการแสดง “ความเป็นคนสองเพศ” (androgyne) ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ดูมีความเป็นชายมากขึ้นและดูเหมาะสมกับการมีอำนาจ ด้วยเหตุนี้ ผู้หญิงจึงยังคงถูกมองว่าเป็นผู้อยู่นอกศูนย์กลางอำนาจ เมื่อผู้หญิงได้เข้ามามีอำนาจก็มักจะถูกมองว่าเป็นคนนอกผู้รุกล้ำเขตแดน

ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างว่าบทละครของชาวเอเธนส์นั้นได้สร้างภาพตัวละครหญิงอย่างมีเดีย ไคลเทมเนสตรา แอนทิโกนี ฯลฯ ว่าเป็นผู้ใช้อำนาจในทางที่ผิด ยึดอำนาจมาโดยไม่ชอบธรรมซึ่งนำไปสู่ความโกลาหล ความแตกแยกของรัฐ ความตายและหายนะ ดังนั้น การใช้อำนาจของผู้หญิงในตำนานกรีกนี้จึงถูกใช้สร้างความชอบธรรมให้แก่การกีดกันผู้หญิงออกจากอำนาจในชีวิตจริง และเสริมความชอบธรรมให้ผู้ชายใช้อำนาจปกครอง ดังเช่นกรณีของ เมดูซา ที่ถูกสาปให้เป็นอสูรกายไม่ว่าใครก็ตามที่จ้องมองเธอจะกลายเป็นหิน ดังนั้น จึงต้องมีวีรบุรุษที่จะต้องสังหารเมดูซา ซึ่งผู้ชายก็ได้อ้างสิทธิ์อันชอบธรรมในการเข้ายึดอำนาจของผู้หญิงอย่างเหี้ยมโหด ภาพการตัดศีรษะเมดูซาถือเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่สื่อถึงการต่อต้านอำนาจของผู้หญิงมาจนถึงปัจจุบัน ผู้เขียนได้ตั้งคำถามถึงรูปปั้นเพอร์ซิอัสที่กำลังเหยียบย่ำลงบนร่างอันไร้ชีวิตของเมดูซา ขณะที่มือข้างหนึ่งชูศีรษะของเธอขึ้นกลางอากาศ ว่าเป็นการประกาศชัยชนะอย่างกล้าหาญ หรือเป็นการแสดงความเกลียดชังเพศหญิงอย่างป่าเถื่อนกันแน่ นอกจากนี้ เทพีอะธีนาก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงถึงโลกในอุดมคติของผู้ชายซึ่งผู้หญิงไม่เพียงถูกจำกัดบทบาทหน้าที่เท่านั้นแต่ยังถูกจำกัดออกไปโดยสิ้นเชิง

จะเห็นได้ว่า การกีดกันผู้หญิงออกจากอำนาจโดยเด็ดขาดนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ยุคเริ่มต้นของประวัติศาสตร์โลกตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นในชีวิตประจำวัน ในเชิงวัฒนธรรม หรือในโลกจินตนาการก็ตาม ในตอนท้ายของเรื่องผู้เขียนได้ชวนให้เราพิจารณาไตร่ตรองว่าแท้จริงแล้ว อำนาจคืออะไร มีจุดมุ่งหมายเพื่ออะไร และประเมินค่าได้อย่างไร

“หากผู้หญิงไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างอำนาจอย่างแท้จริงแล้ว สิ่งที่น่าจะต้องนิยามใหม่ควรจะเป็นอำนาจแทนที่จะเป็นผู้หญิงใช่หรือเปล่า” (หน้า 84)

เมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วก็ชวนให้ฉันนึกถึงงานเขียนของไพลิน ภู่จีนาพันธุ์ (2560) ที่ได้แสดงให้เห็นภาพของประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่รายล้อมไปด้วยนัยของอำนาจชนชั้นทางเพศระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย รวมถึงระบบความเชื่อและวัฒนธรรมที่ตอกย้ำความไม่เสมอภาคและไม่เท่าเทียมทางเพศในสังคมไทย ด้วยการกำหนดบทบาทหน้าที่ภายในโครงสร้างทางสังคมที่แตกต่างกัน โดยเพศหญิงมักจะถูกกำหนดบทบาทให้อยู่ในพื้นที่ส่วนตัวมากกว่าพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ทางการเมือง

แม้ในปัจจุบันเสียงของผู้หญิงจะถูกรับฟังมากขึ้นแต่ก็ยังไม่ได้รับการรับฟังทั้งในพื้นที่ทางวัฒนธรรมและพื้นที่ทางการเมืองเท่าที่ควร อีกทั้งยังคงมีกรอบจำกัดบางอย่างอยู่ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีหลายคนที่ไม่อยากฟังเสียงของผู้หญิงที่กำลังเรียกร้องในประเด็นต่าง ๆ พวกเขาจะพยายามทำให้เสียงของผู้หญิงที่ออกมาแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะเงียบลงด้วยการกล่าวหาว่าเสียงของพวกเธอเป็น‘ขยะ’ และ ‘หยาบคาย’ ไปจนถึงการข่มขู่คุกคามในทุกรูปแบบ ซึ่งสอดคล้องกับที่ผู้เขียนกล่าวเอาไว้ในหนังสือว่า

“ถึงผู้หญิงจะไม่ถูกบังคับให้ปิดปากเงียบ แต่ก็ยังมีราคาสูงลิบลิ่วที่พวกเธอต้องจ่ายเพื่อให้ผู้คนรับฟังอยู่ดี” (หน้า 17)

นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องการมีสิทธิ์มีเสียงและเพศสภาพยังเชื่อมโยงกับปัญหาการกลั่นแกล้งและการมุ่งร้ายในโลกออนไลน์ ตั้งแต่การด่าทอไปจนถึงการขู่ฆ่า ฉันกำลังจะพูดถึงการพยายามออกมาส่งเสียงของกลุ่ม ‘เฟมินิสต์’ ที่เคลื่อนไหวอยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างทวิตเตอร์ที่ถูกแปะป้ายว่าเป็น‘เฟมทวิต’ ในความหมายที่ว่า “พวกผู้หญิงประสาทแดก” (พวกเขาอาจลืมไปว่าผู้ชายก็เป็นเฟมินิสต์หรือเฟมทวิตได้เหมือนกัน) หลายคนเมื่อเห็นคำนี้ก็คงจะเบือนหน้านี้และอยากจะบอกให้ฉันหุบปาก เหมือนกับที่เทเลมาคัสสั่งเพเนโลพีให้กลับขึ้นห้อง แต่ขอบอกเลยว่าฉันจำเป็นต้องพูดถึงเรื่องนี้ แล้วเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับหนังสือเล่มนี้ได้อย่างไร? เกี่ยวแน่นอน เพราะมันเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ในโลกที่ผู้ชายยังเป็นใหญ่นั้นเสียงของผู้หญิงยังไม่ถูกรับฟังเท่าที่ควรและเมื่อผู้หญิงออกมาพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นก็มักจะถูกโจมตีอยู่เสมอ ในกรณีของเฟมทวิตก็สะท้อนให้เห็นปัญหานี้เป็นอย่างดี เมื่อผู้หญิงออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมและพยายามบอกให้ทุกคนรับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม ผลที่ตามมาคือพวกเธอมักจะถูกมองว่า ‘ก้าวร้าว’ ‘หัวรุนแรง’ ‘เรียกร้องมากเกินไป’ และถูกตีตราว่าเป็นสิ่งเลวร้ายในสังคม ในขณะเดียวกันหากผู้พูดเป็นผู้ชายก็มักจะได้รับความสนใจมากกว่าและถูกมองว่า ‘กล้าหาญ’ นี่แหละ เทเลมาคัสในยุคศตวรรษที่ 21

อาจกล่าวได้ว่า โครงสร้างสังคมแบบชายเป็นใหญ่ให้อำนาจกับผู้ชายในการแสดงออกได้อย่างเปิดเผย ในขณะที่การกระทำบางอย่างผู้หญิงไม่สามารถทำได้เท่าเทียมกับผู้ชาย แม้แต่การออกมาพูดถึงปัญหาที่พวกเธอเผชิญก็ยังถูกตัดสินว่าสิ่งไหนควรพูดหรือไม่ควรพูด และพูดได้มากน้อยแค่ไหน ดังนั้น การที่เฟมทวิตพยายามที่จะเรียกร้องในประเด็นต่าง ๆ หรือพยายามส่งเสียงของตนเองก็แสดงให้เห็นว่าพวกเธอต้องการ ‘โอกาส’ ‘อำนาจ’ และ ‘พื้นที่’ จึงต้องมีการช่วงชิงการนิยามความหมายของคำว่า ‘เฟมทวิต’ ใหม่เพื่อให้เฟมทวิตเป็นมากกว่ากลุ่มคนที่ประสาทแดก แต่เพื่อให้สังคมยอมรับเสียงของพวกเธอด้วย

สุดท้ายนี้ ฉันมีความมุ่งหวังที่อยากจะให้ทุกคน (นั่นหมายถึง ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศไหนก็ตาม) ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ และหวังว่าทุกคนจะเข้าใจในประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น เพราะสิทธิมนุษยชนคือสิทธิของพวกเราทุกคน

ฉันอยากจะเน้นย้ำว่า “สิทธิของผู้หญิง คือ สิทธิมนุษยชน” การที่ฉันเลือกที่จะพูดถึงสิทธิของผู้หญิงอย่างเฉพาะเจาะจงก็ไม่ได้หมายความว่าฉันละเลยสิทธิของคนกลุ่มอื่นหรือเพศอื่น ฉันยังให้ความสำคัญต่อสิทธิของคนทุกคน แต่ที่ต้องยกเรื่องสิทธิของผู้หญิงมาพูดนั้นก็เพราะว่าผู้หญิงจำนวนมากในหลายประเทศทั่วโลกยังคงถูกกดขี่ข่มเหง ถูกขูดรีดทางเพศ ถูกเลือกปฏิบัติ ไปจนถึงขาดสิทธิในการศึกษาและสิทธิตามกฎหมายต่าง ๆ ที่ไม่เท่าเทียมกับผู้ชาย ยิ่งไปกว่านั้น สภาวะ “ไร้สิทธิไร้เสียง” ของผู้หญิงยังแสดงให้เห็นถึงการลิดรอนอำนาจของผู้หญิง ไปจนถึงการถูกจำกัดเสรีภาพทางกฎหมาย วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และด้านอื่น ๆ อีกด้วย นอกจากนี้ หลายคนก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้มากนักเมื่อเทียบกับการเรียกร้องประชาธิปไตย พวกเขามองเห็นแต่ข้อเรียกร้องของฝ่ายประชาธิปไตยจนละเลยเสียงของผู้หญิงที่ออกมาเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ ซ้ำร้ายบางคนยังมองว่าเรื่องเพศไม่ใช่การเมืองและมีความพยายามที่จะผลักประเด็นเรื่องเพศออกจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยการบอกว่า “ต้องเรียกร้องประชาธิปไตยก่อน” ฉันจึงอยากจะบอกว่า เราสามารถเรียกร้องทุกประเด็นไปพร้อมกันได้ เราสามารถเป็นผู้เรียกร้องประชาธิปไตย เป็นนักสตรีนิยม และเป็นนักสิทธิมนุษยชนไปพร้อมกันได้

ดังนั้น หากคุณเชื่อในหลักของความเท่าเทียมก็ต้องนับรวมคนทุกคนและทุกเพศอย่างเสมอภาคกัน อย่างน้อยเราต้องเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้มีเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งถือเป็นสิทธิพื้นฐานของทุกคน รวมถึงการให้สิทธิผู้หญิงได้ตัดสินใจเลือกกระทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง การกีดกันผู้หญิงออกจากการพูดในที่สาธารณะก็เท่ากับว่าเป็นการกีดกันผู้หญิงออกจากอำนาจด้วย