สิทธิมนุษยชน-สิ่งที่ไม่อาจพรากไปได้ "จุ๊บจิ๊บ-อชิรญา บุญตา" ประธานคลับแอมแนสตี้ลำปาง

5 มกราคม 2567

Amnesty International Thailand

“จุ๊บจิ๊บ-อชิรญา บุญตา” นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ผู้ก่อตั้งและประธานคลับธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เธอเป็นคนรุ่นใหม่ที่หัวใจเปี่ยมล้นด้วยความหวังว่าสังคมไทยสามารถดีกว่านี้ได้ ความสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนของเธอมีเหตุผลง่าย ๆ คือความต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้น

“เราถามตัวเองว่าแล้วอะไรล่ะ ที่จะพาไปถึงเป้าหมายนั้น จนได้คำตอบว่าการที่จะทำให้ครอบครัวดีขึ้น ทำให้ประชาชน เพื่อน ๆ คนรอบตัวมีชีวิตที่ดีขึ้นได้คือสวัสดิการ ซึ่งสิ่งที่อยู่ข้างเดียวกับสวัสดิการก็คือสิทธิมนุษยชน เพราะเหตุนั้น เราจึงนำตัวเองเข้ามาร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลง และสนใจพัฒนาสิทธิมนุษยชนควบคู่ไปด้วย เพราะถ้าเรามีสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย เราก็คงจะมีอย่างอื่นที่ทำให้พ่อแม่พี่น้องและคนอื่น ๆ มีชีวิตที่ดีขึ้น” จุ๊บจิ๊บกล่าว

 

 

คุณคิดว่าปัจจุบันสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยเป็นอย่างไร

เราคิดว่าเหมือนการเดินไปข้างหน้า 2 ก้าว และถอยหลังอีก 3 ก้าว ไม่ใช่ว่าเราไม่เดินไปไหนเลย แต่บางครั้งเราเดินไปข้างหน้าแล้วก็เดินกลับ ทุกวันนี้ยังมีการละเมิดสิทธิ การจับกุมคุมขังโดยไม่เป็นธรรม ในวันนี้มีผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ 36 คน ไม่รวมการแทรกแซงการตัดสินคดีในศาล รวมถึงการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความความคิดเห็น เราคิดว่ามันคือการเดินถอยหลังอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เหมือนวังวนที่พอจะเดินไปข้างหน้าแล้วสังคมเกิดความกลัวทำให้ถอยหลังกลับมาอีก เรามองว่าสิ่งนี้กำลังทำให้สังคมแย่ลง อีกทั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนก็ยังถูกคุกคาม ไม่ว่าในทางปฏิบัติหรือทางกฎหมาย

 

พอจะยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมหรือชี้ต้นตอของสถานการณ์ที่เรียกว่า ‘เดินไปข้างหน้า 2 ก้าว ถอยหลัง 3 ก้าว’ ได้ไหม

ยกตัวอย่างการรัฐประหาร ตามสถิติประเทศไทยน่าจะเกิดการรัฐประหารทุก 10 ปี เวลาที่เรากำลังคิดเรื่องใหม่ ๆ เวลาที่กำลังคิดจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เวลาที่จะคิดเรื่องที่มาของ ส.ว. ใหม่ ๆ ก็มักมีความหวาดกลัวจากหน่วยงานรัฐและกองทัพอยู่เสมอ และจะใช้เรื่องพวกนี้มาบอกว่ารัฐบาลพลเรือนกำลังล้มล้างระบอบการปกครอง เพราะฉะนั้นจึงต้องยึดอำนาจ หลังจากนั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็จะถดถอยไปกับการรัฐประหาร ซึ่งถ้ากลับมาที่คำถามว่าต้นตอคืออะไร ก็น่าจะเป็นความกลัว

 

ช่วยเล่าถึงกิจกรรมหรือการรณรงค์ที่คุณเคยทำ ในช่วงก่อนที่จะมีคลับแอมเนสตี้ให้ฟังหน่อย

ส่วนใหญ่เราจะพูดเรื่องสิทธิทางการเมือง สิทธิการเลือกตั้ง เราเริ่มสนใจการทำงานสิทธิ์ผ่านการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ตอนนั้นเราอยู่มัธยม อาจไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรมาก แต่ก็เป็นจุดที่ทำให้ตั้งคำถาม จนเข้าเรียนปี 1 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เราจึงเริ่มเคลื่อนไหว เช่น เรื่องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ ศึกษาเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น และเริ่มเข้าไปช่วยงานเพื่อน ๆ ที่อยู่ในกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

 

ทำไมจึงตัดสินใจร่วมก่อตั้งคลับแอมเนสตี้ในมหาวิทยาลัย

เราเกิดและเติบโตในต่างจังหวัด ต่างจังหวัดไม่พอยังต่างอำเภอด้วย แต่เราเป็นคนที่สนใจประวัติศาสตร์ สนใจการต่อสู้ของประชาชน เรารู้สึกว่าชีวิตประจำวันของเราก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาสิทธิมนุษยชนเหมือนกัน แต่ในบทบาทของเราที่เป็นเด็กต่างจังหวัดและต่างอำเภอ เราก็ไม่รู้จะทำอะไร ไม่รู้จะบอกใคร หรือไม่รู้จะหาแนวร่วมจากไหน ทำให้คิดว่าถ้าอยู่มหาวิทยาลัย เราน่าจะมีศักยภาพและความสามารถในการชวนคนอื่น ๆ ให้มาทำกิจกรรมด้วยกัน

การมีคลับที่ลำปางทำให้เราได้เปิดพื้นที่ให้กับนักกิจกรรมในภูมิภาค หรืออย่างแคบที่สุดคือบริเวณมหาวิทยาลัยให้มารู้จักกัน การเปิดคลับทำให้พื้นที่ในการแสดงออกเรื่องสิทธิมนุษยชนกว้างขึ้น และยังทำให้เราได้เชื่อมต่อกับคนอื่น ๆ เราจึงตัดสินใจเปิดคลับขึ้นมา

 

เสียงตอบรับของคนในมหาวิทยาลัยต่อคลับแอมเนสตี้เป็นอย่างไร

คลับของเราเปิดมาได้ 3 เดือน เพิ่งทำกิจกรรมไป 2 ครั้ง ในกิจกรรมแรกที่คลับเปิดตัวกับคนในมหาวิทยาลัย วันนั้นเราทำเรื่องผู้ลี้ภัย กระแสตอบรับเป็นไปในทางที่ดี มีคนบอกว่าเหมือนได้เรียนวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง ทำให้คนที่เข้าร่วมกิจกรรมได้ฉุกคิด มีคนกลับไปศึกษาเพิ่มเติมเพราะไม่ได้เชื่อที่เราพูดเสียทีเดียว เราคิดว่าการทำกิจกรรมช่วยให้คนหันมาสนใจเรื่องนี้มากขึ้น

ล่าสุดเราได้จัดนิทรรศการ ‘สิทธิมนุษยชนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย’ เป็นกิจกรรมที่นำผลงานศิลปะจากผู้ส่งเข้าประกวดไปจัดแสดง ภายในนิทรรศการมีการเล่าถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา และพูดถึงว่าสังคมพูดถึง 6 ตุลาอย่างไร ทั้งในหนังสือ หนังสือพิมพ์ บทเพลง ภาพยนตร์ ซึ่งหลายคนบอกว่าเป็นนิทรรศการที่ดีมาก เป็นอีกมุมมองหนึ่งที่เขาไม่เคยเห็น

 

ปัญหาหรืออุปสรรคของคลับแอมเนสตี้ในมหาวิทยาลัย

อุปสรรคภายในมหาวิทยาลัย ด้วยความเป็นคลับตั้งใหม่ ความท้าทายอยู่ที่การอธิบายว่าแอมเนสตี้คืออะไร วันที่เราจัดกิจกรรมมีคนเข้ามาถามเยอะมากว่าแอมเนสตี้คือใคร แอมเนสตี้ได้รับเงินทุนจากใคร เป็นเรื่องการเมืองใช่ไหม ขณะที่อีกด้านคือการทำให้คนที่มาร่วมกิจกรรมรู้สึกปลอดภัย เช่น ถ้ามาร่วมแล้วจะไม่ถูกดำเนินคดี หรือจะไม่มีผลต่ออนาคตการทำงานของเขา เราเลยคิดว่าอุปสรรคหรือความท้าทายคือการอธิบายให้คนทั่วไป หรือนักศึกษาด้วยกันเข้าใจว่า เรากำลังทำอะไรอยู่

ส่วนอุปสรรคภายนอกมหาวิทยาลัย น่าจะเป็นการรับมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ อย่างเช่นงาน 6 ตุลา ที่ผ่านมา ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเยี่ยมชม มาถ่ายรูป เราเป็นมือใหม่แต่ก็ต้องฝึกพูดคุยกับเขาให้ได้ว่าไม่ให้ถ่าย หรือทำแบบนั้นแบบนี้ไม่ได้

 

ในพื้นที่หรือชุมชนของคุณ มีอะไรบ้างที่เป็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน

ปัญหาที่ทุกคนได้รับ ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ รวยหรือจน คือคนทุกคนต้องหายใจ ช่วงหน้าหนาวที่ลำปางมีฝุ่น PM 2.5 ซึ่งหนักมากพอ ๆ กับเชียงใหม่ และอยู่ยาวด้วย คนทั่วไปไม่ได้มองว่ารัฐต้องเข้ามาช่วย เพราะคิดว่าเป็นภัยธรรมชาติเหมือนฝนตก เดี๋ยวก็หายเอง แต่เรานึกย้อนกลับไป การเกิดฝุ่น PM 2.5 ไม่ได้อยู่ดี ๆ ก็เกิด แต่มีปัจจัยที่เกิดจากมนุษย์ด้วย ตรงนี้ทำให้คิดว่าเรามีสิทธิ์ที่จะมีอากาศที่สะอาด และพอมันถูกพรากไป รัฐก็ต้องชดเชยและแก้ไขให้เรา ตรงนี้คือหนึ่งในปัญหาสิทธิมนุษยชนที่ชาวลำปางต้องเจอ

 

ทำอย่างไรให้คนรุ่นถัดไปให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น

เราเชื่อในวิธีการที่หลากหลาย เชื่อว่าการสนับสนุนสิทธิมนุษยชนมีได้หลายวิธี เราคิดว่าการทำให้คนมาสนใจ จะต้องเป็นองค์กรหรือคนคนหนึ่งที่พยายามชักชวนคนที่ยังไม่ตระหนักรู้มาทำอะไรก็ได้ในสิ่งที่เขาถนัด ไม่ใช่ว่าเขาติดเงื่อนไข เช่น เป็นเด็กอายุ 14 ไม่สามารถออกมาชุมนุมได้ แต่เราก็ยังบอกว่าทุกคนต้องออกมาชุมนุม เรากำลังบอกว่าทุกคนมีเงื่อนไขของตัวเอง เราอาจชวนคนที่ถนัดในเรื่องนั้น ๆ ทำสิ่งที่เขาถนัด เช่น เขายังเป็นเด็กอายุ 14 แต่เขาอาจถนัดวาดรูป เขาอาจเป็นศิลปินที่ผลักดันเรื่องสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ของเขา ซึ่งมันอาจสร้างแรงกระเพื่อมไปถึงระดับประเทศ หรือระดับโลกก็ได้ เราคิดว่าการให้ความสำคัญกับความถนัดของแต่ละคน จะทำให้คนรุ่นถัดไปหันมาสนใจเพิ่มขึ้น

และถ้าถามว่าจะทำอย่างไรให้คนรุ่นถัดไปให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชน ก็อาจต้องทำให้เขารู้ว่าสิ่งที่เขาเจออยู่ สิ่งที่เขาเป็น สิ่งที่เขาพบเห็น มาจากการถูกละเมิดสิทธิ์ ทำให้รู้ว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ร่วมนี้ ถ้าเขาเจอเหตุการณ์ละเมิดสิทธิ์แล้วจะทำอะไรได้บ้าง เพราะเมื่อถูกละเมิดสิทธิ์แล้วสามารถร่วมสู้ไปด้วยกันได้ จะทำให้เขาเห็นทั้งความสำคัญและเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง

 

เท่าที่คุณรู้จักแอมเนสตี้ กิจกรรมหรือแคมเปญใดของแอมเนสตี้ที่คุณคิดว่าสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมอย่างมีนัยยะสำคัญ

ส่วนตัวคิดว่าเป็นแคมเปญ Free Ratsadon เราเห็นว่าแคมเปญนี้สร้างความตระหนักให้กับสังคมโดยรวม ทำให้สังคมได้ยืนยันในหลักการว่าถ้าผู้ถูกกล่าวหายังไม่ถูกตัดสิน ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ หลักการนี้ยืนยันว่าถ้าบุคคลใดบุคคลหนึ่งถูกจับกุมคุมขังโดยไม่เป็นธรรม หรือไม่ได้รับสิทธิ์ประกันตัว มันคือสิ่งที่ไม่ปกติ

การที่แคมเปญนี้ได้กระแสตอบรับ ไม่ว่าจะในทางใดก็ตาม ทำให้เห็นว่าสังคมมีการก้าวไปข้างหน้า หรือหยุดอยู่กับที่ หรือประชาชนกำลังเหนื่อยล้ากับการต่อสู้ แคมเปญ Free Ratsadon เป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เห็นว่าสังคมกำลังบอกอะไรกับพวกเรา

 

แอมเนสตี้เป็นหนึ่งในองค์กรที่ออกมาเรียกร้องให้ผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองได้รับการประกันตัว แต่ปัจจุบันยังคงมีผู้ถูกคุมขังจากข้อหาที่มาจากการแสดงออกทางการเมือง ซึ่งคดีความเกิดขึ้นตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว คุณมีความเห็นอย่างไร

คดีทางการเมือง ไม่ว่าในรัฐบาลที่แล้วหรือรัฐบาลนี้ก็ตาม เราอยากถามเขาว่าคุณกำลังส่งต่อสิ่งใดให้กับคนรุ่นต่อไป สังคมที่เราอยู่กันด้วยความหวาดกลัว สังคมที่ต้องประจบประแจง หรือสังคมที่ต้องสรรเสริญผู้มีอำนาจ เท่านั้นถึงจะอยู่รอด หรือสังคมที่เอาชีวิตประชาชนไปสังเวยเพื่อแลกกับอำนาจ สังคมแบบนี้ใช่ไหมที่คุณต้องการ

คดีทางการเมืองที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ สำหรับเรามันงี่เง่ามาก มันขัดต่อสิทธิมนุษยชน คุณคิดจริง ๆ เหรอว่าประเทศที่คุณกำลังสร้างอยู่ ประเทศที่สร้างด้วยความหวาดกลัวของประชาชน จะนำมาซึ่งการพัฒนา เราคิดว่าไม่ใช่ การพัฒนาประเทศต้องมาจากการร่วมออกแบบประเทศไปด้วยกัน ต้องวิพากษ์วิจารณ์กันได้ กฎหมายไม่ใช่สิ่งที่ตายไปแล้ว กฎหมายที่ขัดต่อสิทธิมนุษยชนย่อมต้องเปลี่ยนแปลงไปตามสังคม เช่นเดียวกับ ม.112 ที่ไม่ใช่สิ่งสถาพร ไม่ใช่สิ่งที่แก้ไขไม่ได้ เพราะฉะนั้น การเรียกร้องให้แก้ไขหรือยกเลิกจึงไม่ใช่เรื่องเลวร้าย ไม่ใช่สิ่งที่จะไปฆ่าใครได้ ถึงขนาดที่ประชาชนต้องรับโทษจำคุก

 

อะไรคืออุปสรรคสำคัญของการรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชนของไทย และของแอมเนสตี้

อุปสรรคของสังคมไทยคือความพยายามจำกัดหรือเซ็นเซอร์สิทธิในการแสดงความคิดเห็น การที่รัฐเข้ามาแทรกแซงเนื้อหา ข้อมูล หรือการเข้าถึงสิ่งที่เราเผยแพร่ เช่น การส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมาคอยดูเราจัดนิทรรศการ มันเป็นอุปสรรคมากในการรณรงค์ ทำให้คนที่อยากเข้าร่วมก็ไม่กล้าเข้าร่วมเพราะกลัว ทำให้คนที่จัดกิจกรรมต้องคิดแล้วคิดอีกว่าจะจัดดีไหม เพราะการจัดกิจกรรมนั้นสั้น แต่คดีความยาว ยกอีกตัวอย่างของการจำกัดเนื้อหาในการเผยแพร่ อย่างเช่น เรื่อง 6 ตุลา เราไม่เคยเห็นการพูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา ในแบบเรียน รัฐพยายามทำให้เราลืมในสิ่งที่เขาไม่อยากให้จำ ซึ่งพอเราจะรณรงค์เรื่องสิทธิในการมีชีวิต สิทธิในการไม่ถูกทรมาน การจะยกตัวอย่างเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ก็กลายเป็นเรื่องยาก

ส่วนอุปสรรคของแอมเนสตี้ เรามองว่าอารมณ์ของคนในสังคมก็เป็นอุปสรรคเหมือนกัน เช่น แอมเนสตี้รณรงค์เรื่องการยกเลิกโทษประหาร ล่าสุดที่มีเยาวชนอายุ 14 ไปก่อเหตุ อารมณ์ของสังคมกำลังขับเคลื่อนไปในทางที่ทำไมต้องคุ้มครองเด็ก ทำไมกฎหมายต้องคุ้มครองเยาวชนที่นิสัยแย่ ทำไมไม่ลงโทษประหารเหมือนกับผู้ใหญ่ ซึ่งการรณรงค์ของแอมเนสตี้เหมือนเป็นการแทงสวน แม้แต่การรณรงค์ให้ไม่เปิดเผยข้อมูลของเยาวชน เราคิดว่าสื่อหรือรัฐก็เป็นส่วนหนึ่งของอุปสรรคนี้ เพราะสื่อเองก็มักนำเสนอข่าวไปในทิศทางตรงข้ามกับการรณรงค์ แม้แต่รัฐก็ไม่ได้ออกมายืนยันว่าเพราะอะไรจึงควรปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน ทำให้แอมเนสตี้เหมือนเป็นองค์กรที่ยืนอยู่ตัวคนเดียว

 

ในฐานะที่เป็นกรรมการเยาวชน อยากทราบวิสัยทัศน์ของคุณว่าอยากให้แอมเนสตี้มีทิศทางในงานเกี่ยวกับเยาวชนอย่างไร

จากประสบการณ์ของตัวเอง การที่ได้มาร่วมกับแอมเนสตี้ เราเข้ามาแบบไม่รู้จักใครเลย ไม่รู้จักพี่สตาฟคนไหนเลย แต่เพราะเห็นโครงการ ‘Writers that Matter นัก(อยาก)เขียน เปลี่ยนโลก’ เราคิดว่าแม้จะอยู่ลำปางก็สามารถเข้าร่วมกิจกรรมนี้ได้ จึงส่งผลงานเข้าไปร่วมกิจกรรม เป็นกิจกรรมแรกที่รู้สึกว่ามีส่วนร่วมกับแอมเนสตี้ หลังจากนั้นเราได้รู้จักพี่บางคน และติดตามแอมเนสตี้มาโดยตลอด จนได้เข้าร่วมกิจกรรมค่าย ‘Training of Trainers’ เป็นค่ายแรกที่เราไป ซึ่งก็ไม่รู้จักใครเลย

คิดในมุมของเยาวชน เราอยากทำกิจกรรมที่สามารถเข้าร่วมได้ทั้งแบบออนไลน์และออนไซต์ คือการที่เยาวชนสามารถเลือกกิจกรรมที่เหมาะกับตัวเอง เพราะเราอาจไม่เหมาะกับการไปรณรงค์หน้ารัฐสภา เพราะเราอยู่ต่างจังหวัด แต่เราอาจเหมาะกับกิจกรรมที่เป็นการเขียนหรือแต่งนิยาย เพราะเป็นคนชอบเขียนนิยายอยู่แล้ว

ในฐานะกรรมการเยาวชน เราอยากช่วยแอมเนสตี้ออกแบบกิจกรรมที่ทำให้เยาวชนมีส่วนร่วมมากขึ้น อย่างล่าสุดเราจัดกิจกรรมประกวดวาดภาพ ก็มีน้อง ๆ จากต่างอำเภอที่ไม่รู้จักเราเลย ส่งผลงานเข้ามาร่วมกิจกรรม และได้เข้ามารู้จักกับแอมเนสตี้ ซึ่งตรงนี้เราคิดว่าประสบความสำเร็จ ในการคิดค้นกิจกรรมใหม่ ๆ ให้คนกลุ่มใหม่ ๆ รู้จักแอมเนสตี้มากขึ้น

 

 

สิ่งที่แอมเนสตี้ควรปรับปรุง พัฒนาการทำงาน

ถ้าในฐานะกรรมการเยาวชน อย่างที่บอกไปว่าอยากให้แอมเนสตี้มีกิจกรรมที่เข้าร่วมแบบออนไลน์เพิ่มขึ้น แต่ถ้าในฐานะนักกิจกรรมที่ไม่เคยรู้จักแอมเนสตี้มาก่อน และมีโอกาสเข้าไปร่วมกิจกรรมกับแอมเนสตี้ เรารู้สึกอบอุ่นใจทุกครั้งที่ได้ร่วมงานกับแอมเนสตี้ เราคิดว่าที่เป็นอยู่ค่อนข้างดีมากอยู่แล้ว แต่ถ้าต้องเสนอจริง ๆ จากประสบการณ์ส่วนตัว อยากให้มีการรับมือกับผู้เข้าร่วมที่มีความหลากหลายให้มากขึ้น ด้วยความที่ต่างคนต่างมา อาจมีความคิดความเชื่อที่ไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างล่าสุดที่เราได้รับผลกระทบจากผู้เข้าร่วมเวิร์กชอปคนหนึ่ง ถ้ามีการสแกนผู้เข้าร่วมมากกว่านี้ หรือมีการพูดคุยกันก่อนว่าสิ่งไหนควรทำ สิ่งไหนไม่ควรทำ อาจทำให้เรารู้สึกปลอดภัยกับการไปร่วมกิจกรรมกับแอมเนสตี้มากขึ้น

อีกเรื่องที่อยากฝากคือในฐานะของคลับ เรารู้สึกว่าเจ้าหน้าที่ HRE มีน้อยเกินไป เพราะคลับมีมากขึ้น แต่เจ้าหน้าที่มีเท่าเดิม งานอาจหนักเกินไปสำหรับเจ้าหน้าที่ หรืออาจทำให้การทำงานของเราช้าลง ซึ่งไม่ได้ผิดที่ตัวเจ้าหน้าที่หรือใครเลย เพราะมาจากจำนวนงานที่มากขึ้น เราเข้าใจ แต่ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้มีเจ้าหน้าที่มากขึ้น

 

สิ่งที่อยากสื่อสารกับสังคมในเรื่องสิทธิมนุษยชน

เราอยากให้ทุกคนรู้สึกร่วมกันว่าสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนบนโลกใบนี้ สิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถถูกพรากไปได้ และสิทธิมนุษยชนไม่ใช่แค่คำพูดลอย ๆ แต่เป็นสิ่งที่อยู่ในทุกการตัดสินใจของคนเรา ในการจะทำหรือไม่ทำอะไร เพราะฉะนั้น สิทธิมนุษยชนควรถูกคุ้มครองทางกฎหมายด้วยว่าถ้ามีคนมาละเมิดสิทธิของเรา เราสามารถทำอะไรได้บ้าง

เรารู้ว่าทุกคนมีด้านที่ต้องใช้ชีวิตเป็นของตัวเอง มีด้านที่ต้องดูแลครอบครัว หาเลี้ยงปากท้อง แต่ทุกการกระทำและทุกการตัดสินใจของรัฐหรือผู้มีอำนาจ ล้วนส่งผลกระทบมาถึงพวกเราทุกคน ไม่ว่าจะในทางสิทธิเสรีภาพ หรือเรื่องปากท้อง เราจึงอยากชวนให้ทุกคนมาสนใจและร่วมสนับสนุนสิทธิมนุษยชนไปด้วยกัน