รู้ทัน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565
ป้องกันไม่ให้มีใครถูกทรมาน - อุ้มหาย

25 สิงหาคม 2566

Amnesty International Thailand

เพราะ…การทรมาน-อุ้มหายเป็นอาชญากรรมพิเศษ ที่ทุกฝ่ายต้องเฝ้าระวังและรู้ทันกฎหมาย เพื่อใช้ป้องกันตัวเองและช่วยผู้อื่นที่ตกอยู่ในเหตุการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกทำร้าย ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และอาจนำไปสู่การถูกบังคับให้เป็นบุคคลสูญหายในที่สุด

 

เนื่องใน ‘วันผู้สูญหายสากล’ ปีนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์แนชั่นแนล ประเทศไทย ใช้โอกาสนี้มาสรุปเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชบัญญัติพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราม การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. พ.ศ.2565 ให้ทุกคนได้รับรู้เรื่องนี้อย่างง่าย เพื่อนคลายข้อสงสัย และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ พ.ร.บ. ฉบับนี้ หลังมีผลบังคับใช้ไปตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ผ่าน Q&A ถาม - ตอบ พร้อมคำอธิบายให้ทุกคนได้เข้าใจและนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน

 

Q: พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหายมีไว้ใช้ทำอะไร?

A: พ.ร.บ. นี้ มี 3 หลักการสำคัญ คือ ป้องกัน ปราบปราม เยียวยา

 

1.เพื่อป้องกัน ไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐทรมาน  หรือกระทำการที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่อประชาชนหรืออุ้มหาย เช่น กำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐ ทุกหน่วยงาน  ทั้งตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่ป่าไม้ สรรพสามิตร ปปส. หากจับใคร ต้องแจ้งอัยการและฝ่ายปกครองทันที ต้องบันทึกวิดีโอการจับและควบคุมตัวบุคคลตลอดเวลา จนกว่าจะส่งตัวให้พนักงานสอบสวน  และต้องทำบันทึกการจับกุมและควบคุมตัวโดยละเอียด เพื่อให้ตรวจสอบได้

2.เพื่อปราบปราม เจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำผิด โดยกำหนดให้ เจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะหน่วยงานใดก็ตาม หากทรมาน กระทำการที่โหดร้ายฯ หรือการอุ้มหายประชาชน จะต้องถูกดำเนินคดีและถูกลงโทษ

3.เพื่อเยียวยา ประชาชนที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐทรมาน ถูกกระทำอย่างโหดร้ายฯ หรือครอบครัวผู้ถูกเจ้าหน้ารัฐอุ้มหาย นอกจากมีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากรัฐ ยังมีสิทธิได้รับการเยียวยาประการอื่น เช่น การฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ นอกจากนั้นหากคนในครอบครัวถูกเจ้าหน้าที่รัฐอุ้มหาย ตำรวจหรือดีเอสไอหรืออำเภอจะต้องสืบค้นจนกว่าจะมีหลักฐานที่เชื่อได้ว่าผู้ถูกอุ้มนั้นเสียชีวิต หรือหากยังมีชีวิต อยู่ที่ใด อย่างไรอีกด้วย

 

Q: พ.ร.บ.นี้มีประโยชน์ต่อใคร ?

A: คุ้มครองทุกคนที่อยู่ในเมืองไทย คุ้มครองคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศ

 

มีประโยชน์ต่อทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย รวมทั้งกลุ่มเปราะบาง เช่น  คนยากจน แรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัย ผู้ใช้ยาเสพติด กลุ่มชาติพันธุ์ ผู้ต้องสงสัยในคดีเล็กคดีน้อย ฯลฯ ซึ่งคนกลุ่มนี้เสี่ยงต่อการถูกทรมาน ถูกปฏิบัติอย่างโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือถูกอุ้มหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น อาจถูกจับเป็นแพะ และถูกทรมานฯ ให้รับสารภาพ หากถูกทรมานจนเสียชีวิต หรือเป็นผู้ที่ทราบการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ก็อาจถูกเจ้าหน้าที่รัฐอุ้มหายไป เช่น กรณีของบิลลี่ ผู้นำกะเหรี่ยงบางกลอย ที่หายไปหลังจากถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแก่งกระจานจับกุม

นอกจากนี้กฎหมายยังคุ้มครองคนไทยที่อยู่ต่างประเทศ หากมีหลักฐานว่า เขาถูกทรมาน ถูกกระทำโหดร้ายฯ หรือถูกอุ้มหาย โดยมีเจ้าหน้าที่ไทยเกี่ยวข้อง กฎหมายสามารถลงโทษเจ้าหน้าทีไทยได้ และยังคุ้มครองคนไทยที่ตกเป็นผู้เสียหายตาม ในต่างประเทศ ให้สามารถเอาลงโทษผู้กระทำความในประเทศไทยได้ด้วย 

 

Q: การกระทำแบบไหนเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหาย?

A: การทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรี และการบังคับให้ผู้อื่นเป็นบุคคลสูญหาย

 

ความผิดตาม พรบ.ป้องกันปราบปรามการทรมานฯ มี 3 ฐานความผิด ได้แก่  1.ความผิดฐานกระทำทรมาน (อุ้มทรมาน) 2.ความผิดฐานกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และ 3.ความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย (อุ้มหาย)

 

ผู้กระทำความผิดทั้ง 3 ฐาน ต้องเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหน้าที่หรืออ้างอำนาจหน้าที่โดยตรง เพื่อกระทำการบางอย่าง เช่น เป็นตำรวจหรือทหาร ที่ปฏิบัติหน้าที่เข้าจับกุมผู้ต้องหา หรือเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจับและซ้อมคู่อริ โดยอ้างว่าคู่อรินั้นค้ายา เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ที่ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ร่วมหรือช่วยเจ้าหน้าที่ในการกระทำผิด ก็อาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมายนี้ได้เช่นกัน

มาตรา 5 กำหนดความผิดฐานกระทำทรมาน ว่าผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือกระทำด้วยประการใดๆโดยใช้หรืออ้างอำนาจรัฐ (โดยตรงหรือโดยปริยาย) ทำให้ผู้อื่นเจ็บปวดหรือทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจ โดยมี “วัตถุประสงค์พิเศษ” เพื่อ 1.ให้ได้ข้อมูลหรือคำรับสารภาพจากผู้ถูกทรมานหรือจากผู้อื่น หรือ 2.เพื่อลงโทษผู้ถูกทรมานโดยมีสาเหตุจากการกระทำของผู้นั้นหรือผู้อื่น หรือ 3.เพื่อข่มขู่หรือขู่เข็ญผู้ที่ถูกทรมานหรือผู้อื่น หรือ 4.เป็นการเลือกปฏิบัติไม่ว่ารูปแบบใดก็ตาม เจ้าหน้าที่รัฐผู้นั้นทำผิด “ฐานกระทำการทรมาน”

 

มาตรา 6 ความผิดฐาน กระทำการที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ว่า ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐ กระทำด้วยประการใดๆ ที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหน่ึงต่อไปนี้ คือ 1.โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือ 2.ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  จนมีผลทำให้ ผู้ถูกกระทำถูกลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ หรือถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ หรือเกิดความเจ็บปวดหรือทุกข์ทรมานแก่ร่างกายหรือจิตใจ แต่ไม่ถึงขั้นร้ายแรงหรือ ไม่มี “วัตถุประสงค์พิเศษ” ตามาตรา 5  เจ้าหน้าที่ผู้นั้นมีความผิดฐาน กระทำการที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

การกระทำ “โหดร้าย” กับ “ไร้มนุษยธรรม” คือการกระทำที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดหรือทุกข์ทรมานต่อร่างกายหรือจิตใจแก่ผู้ถูกกระทำ เช่น บังคับให้อดนอน ให้ยืนขาเดียวเป็นเวลานานๆ  ส่วน “ย่ำยีศักดิ์ศรี” คือการเหยียดหยาม การทำให้ไร้ศักดิ์อ์ศรี ไม่เคารพ ทำให้เกิดความรู้สึกด้อยค่ากว่า ต่ำกว่า

มาตรา 7 หากเจ้าหน้าที่รัฐคนใดเอาตัวบุคคลไป แต่ปฏิเสธว่าไม่ได้ทำ หรือปกปิดชะตากรรมหรือสถานที่ควบคุมตัวบุคคลนั้น ทำให้บุคคลนั้นไม่ได้รับการคุ้มครอง ถือว่าเจ้าหน้าที่รัฐนั้นกระทำผิด “ฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย”

มาตรา 42 ผู้บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่รัฐ หากทราบว่าผู้ใต้บังคับบัญชาของตนจะกระทำผิดหรือได้กระทำความผิดตามกฎหมายฉบับนี้ ไม่ห้ามหรือป้องกัน หรือระงับการกระทำผิด หรือไม่ส่งตัวเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดไปดำเนินคดี ผู้บังคับบัญชานั้นมีความผิด เช่นกัน โดยต้อง รับโทษกึ่งหนึ่ง

 

Q: มาตรา 5 ต่างกับมาตรา 6 อย่างไร?

A:  มาตรา 5 แตกต่างจาก มาตรา 6 อย่างสิ้นเชิง ตรงเจตนาหรือการกระทำของเจ้าหน้าที่

 

แม้พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเป็นกฎหมายที่อนุวัติการตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี เเต่ตามอนุสัญญาข้างต้นและพ.ร.บ.เอง กลับมิได้นิยามความหมายของการทรมานหรือการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายฯ ไว้ มีเพียงเเต่กำหนดองค์ประกอบของความผิดฐานดังกล่าวไว้เท่านั้น

ความเเตกต่างที่สำคัญระหว่างความผิดทั้ง 2 มาตรา คือ การกระทำทรมาน จะต้องเป็นการกระทำใดก็ตามที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดหรือทุกข์ทรมานอย่าง ‘ร้ายเเรง’ ซึ่งการใช้ระดับความร้ายเเรงก็มิได้มีการกำหนดไว้ในอนุสัญญาทั้งสองฉบับเช่นกัน  ในบริบทของกฎหมายระหว่างประเทศมีตัวอย่างของการกระทำความผิดฐานกระทำทรมานเเละการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายฯ ไว้หลายตัวอย่าง

มาตรา 5 คือการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้กำลังทำร้ายร่างกายให้บุคคลที่ถูกควบคุมตัวบาดเจ็บ มีบาดแผล เจ็บปวดร่างกาย และทุกข์ทรมาน จนส่งผลกระทบไปถึงจิตใจและชีวิตประจำวันที่จะต้องใช้ในอนาคต เช่น สอบปากคำโดยใช้ถุงดำคลุมหัวและใช้ไม้ตีทรมานเพื่อให้รับสารภาพ ทำร้ายร่างกายจนพิการหรือใช้ชีวิตได้ไม่เหมือนเดิม เรียกว่า ‘การทรมาน’

มาตรา 6 คือการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้วิธีการทำร้ายผู้ถูกควบคุมตัว แม้โดยที่ไม่ทำให้ร่างกายของบุคคลนั้นมีบาดแผล แต่ทำให้เจ็บปวดและทุกข์ทรมานด้วยวิธีการบางอย่าง เช่น พูดข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว  ดูหมื่น เหยียดหยาม จนเกิดความทุกข์ทรมาน หรือผู้ต้องขังป่วยแต่ผู้คุมกล่ันแกล้วไม่นำตัวส่งโรงพยาบาล จนเกิดความทุกข์ทรมาน  

 

Q: พ.ร.บ.นี้บังคับใช้ย้อนหลังได้หรือไม่ ?

A: การถูกบังคับให้สูญหาย ดำเนินคดีย้อนหลังได้ อยู่ที่การตีความ

 

ข้อหากระทำทรมานและการกระทำที่โหดร้าย การลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมย่ำยีศักดิ์ศรี เอาผิดย้อนหลังไม่ได้ หมายความว่าหากเกิดขึ้นก่อนวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งเป็นวันที่กฎหมายมีผลบังคับ ดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ในข้อหาตามกฎหมายนี้ไม่ได้ แต่เจ้าหน้าที่ก็อาจต้องรับผิดตามกฎหมายอาญาอื่น เช่น ในข้อหาทำร้ายร่างกาย กักขังหน่วงเหนี่ยว หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ม. 157 เป็นต้น

 

ส่วนการกระทำให้บุคคลสูญหาย หรืออุ้มหาย นอกจากเจ้าหน้าที่จะต้องสืบสวนจนกว่าจะรู้ชะตากรรม อีกปัญหาคือจะดำเนินคดีได้หรือไม่ ถ้าปัจจุบันยังไม่ทราบชะตากรรมผู้สูญหาย ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่คนในแวดวงถกเถียงกัน ส่วนหนึ่งเห็นว่าเป็นกฎหมายพิเศษที่ใช้ป้องกันและปราบปราม จึงจะต้องตีความไปในทางคุ้มครองสิทธิผู้สูญหาย โดยให้ถือว่าความผิดที่เริ่มเกิดขึ้นก่อน 22 กุมภาพันธ์ 2566 ถ้าดำเนินมาเรื่อยๆ จนถึงหลังวันที่ 22 กุมภาพันธ์แล้วยังไม่ทราบชะตากรรม น่าจะยังเป็นความผิดต่อเนื่องที่ดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดได้ หากมีหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่คนนั้นเอาตัวไปเพื่อปกปิดชะตากรรม

 

Q: สืบจนกว่าจะทราบชะตากรรมของบุคคลนั้นคืออะไร

A: รู้ว่าตาย รู้ว่าอยู่ คือการบ่งบอกว่า ทราบชะตากรรม และต้องมีหลักฐานให้ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้

 

ข้อถกเถียงหนึ่งที่ถูกพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง คือ ความผิดของบุคคลนั้นจะเริ่มนั้นเมื่อใด ร่าง พ.ร.บ. ระบุไว้เพิ่มเติม ในมาตรา 7 ว่าผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐควบคุมตัว หรือลักพาบุคคลใด โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิเสธว่ามิได้กระทำการดังกล่าว หรือปกปิดชะตากรรมหรือสถานที่ปรากฏตัวของบุคคล จนส่งผลให้บุคคลนั้นไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย

 

การกระทำความผิดข้างต้นให้ถือเป็นความผิดต่อเนื่องจนกว่าจะทราบชะตากรรมของบุคคลนั้น นอกจากนี้ จะต้องสืบสวนจนกว่าจะพบบุคคลที่ถูกกระทำให้สูญหาย ตามมาตรา 10 ที่กำหนดให้ดำเนินการสอบสวนจนกว่าจะพบบุคคลที่ถูกกระทำให้สูญหาย หรือปรากฏหลักฐานอันน่าเชื่อว่าบุคคลนั้นถึงแก่ความตาย ถ้าเป็นภาษาชาวบ้านหมายถึงต้องหาจนกว่าจะเจอ

 

'รู้ว่าตาย รู้ว่าอยู่' คือ การบ่งบอกว่า ทราบชะตากรรม และต้องมีหลักฐานให้ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่นรู้ว่าไม่ได้ไปไหน แต่หนีไปอยู่ออสเตรเลีย หรือเป็นศพลอยแม่น้ำโขง แบบนี้เรียกว่าทราบชะตากรรม หรือมีหลักฐานว่าถูกขังอยู่ในคุกเขมรอันนี้เรียกว่ารู้ชะตากรรมเช่นกัน

 

Q: ผู้ทำผิดตาม พ.ร.บ. นี้จะได้รับโทษอย่างไรบ้าง?

A: มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5-30 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 1 แสนบาท-1 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับฐานความผิดที่กระทำ

 

  • ผู้กระทำผิดฐานกระทำการทรมาน มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5-15 ปี และปรับตั้งแต่ 1-3 แสนบาท
  • หากผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัส จะมีโทษหนักขึ้นจำคุก 10-25 ปี และปรับตั้งแต่ 2-5 แสนบาท
  • และจะต้องรับโทษหนักขึ้น หากถึงขั้นเสียชีวิต มีโทษจำคุก 15-30 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 3 แสน-1 ล้านบาท นอกจากโทษที่พูดถึงข้างต้น ยังระบุโทษถึงผู้ให้การสนับสนุน ผู้สมคบ รวมถึงผู้บังคับบัญชาที่ทราบการกระทำผิด ซึ่งมีโทษหนักเบาต่างกันออกไป

 

ความผิดตามกฎหมายนี้ หมายความว่า หากเจ้าหน้าที่กระทำความผิด ต้องได้รับโทษ ผู้บังคับบัญชารู้เห็นเป็นใจ ไม่ห้ามปราม ต้องได้รับโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่กำหนดไว้ ถ้าพิสูจน์ทราบได้ว่าเป็นคนสั่ง ผู้บังคับบัญชาจะต้องรับโทษเต็มอัตราโทษที่กำหนด

 

Q: ความผิดตาม พ.ร.บ.นี้มีอายุความกี่ปี?

A: นับอายุความตามกฎหมายอาญา คือ 20 ปี

 

พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหายซึ่งหมายถึงการใช้ตามประมวลกฎหมายอาญาที่ 20 ปี แต่ยังให้คงข้อที่ให้เริ่มนับอายุความเมื่อทราบชะตากรรมของผู้เสียหายไว้อยู่

 

Q: เจ้าหน้าที่รัฐตามกฎหมายนี้คือใครบ้าง?

A: ข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น พนักงานรัฐวิสาหกิจ ข้าราชการทางการเมือง บุคคลที่ได้รับมอบอำนาจหรือแต่งตั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐ ฯลฯ

 

ใน พ.ร.บ. นี้ ‘เจ้าหน้าที่ของรัฐ’ หมายถึง บุคคลที่ใช้อำนาจรัฐหรือได้รับมอบอำนาจ หรือได้รับแต่งตั้ง อนุญาต สนับสนุน หรือยอมรับ โดยตรงหรือโดยปริยายเช่น ทำให้ประชาชนเห็นว่าปฏิบัติหน้าที่  เช่น ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานในหน่วยงานรัฐ ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ทหาร ป่าไม้ สรรพสามิต กรมอุทยาน พนักงานส่วนท้องถิ่น ลูกจ้างส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาพ ข้าราชการทางการเมือง เป็นต้น

 

Q : ผู้รู้เห็นเป็นใจใน พ.ร.บ. นี้จะโดนลงโทษอย่าง ?

A : ผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องรับโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่กำหนดไว้

 

ใน พ.ร.บ. มาตรา 42 ระบุว่า ผู้บังคับบัญชาใดทราบว่าผู้ใต้บังคับชาของตนกระทำหรือได้กระทำความผิดและไม่ได้ดำเนินการตามความเหมาะสม เพื่อป้องกันและระงับการทรมาน อุ้มหาย หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ผู้บังคับบัญชาจะต้องรับโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่กำหนดไว้ เช่น ทราบว่าลูกน้องกำลังจะไปอุ้มคนแต่ไม่ยับยั้ง ไม่ห้าม ไม่แก้ไข แล้วลูกน้องก็ไปอุ้มคนต้องได้รับโทษกึ่งหนึ่ง แต่ถ้าอ้างว่าไม่รู้เห็นกับการกระทำที่เกิดขึ้น ต้องไปดูที่พยานหลักฐาน แต่สุดท้ายต้องมาดูความจริงก่อนว่าเกิดอะไรขึ้น เช่น เรารู้ว่าคนนี้ถูกอุ้มไปโดยเจ้าหน้าที่ แต่เราหาพยานหลักฐานไม่ได้ ก็ไม่สามารถลงโทษได้ จึงเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่ต้องหาความจริงว่าเขาอุ้มไปไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ที่สำคัญคือต้องพูดถึงข้อเท็จจริงก่อน และสืบสวนหาหลักฐาน

 

Q : อุปกรณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องมีระหว่างควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย?

A : บันทึกภาพและเสียงด้วยภาพเคลื่อนไหวตลอดเวลาด้วยกล้อง Body Camera หรือกล้องติดตัวตำรวจ หากไม่บันทึก เจ้าหน้าที่อาจมีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ม. 157 หากจับกุมโดยไม่มีกล้องจากเหตุสุดวิสัย หากเกิดความรุนแรง จะต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวน

 

มาตรา 22 ระบุว่า การควบคุมตัวทุกครั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบ จะต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับและควบคุม กระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าวไป ยกเว้นเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถกระทำได้ แต่ต้องลงบันทึกเหตุการณ์เป็นหลักฐานไว้ในบันทึกการควบคุมตัว เพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างทาง เช่น การทรมาน ย่ำยีศักดิ์ศรีจากจุดที่ถูกจับ จากที่ลับตาคน หรือแวะไปในที่ใดที่หนึ่งเพื่อรีดไถเอาเงินต่อรองหรือรีดเอาข้อมูล เพื่อให้ได้คำรับสารภาพ เมื่อถึงสถานีตำรวจจะได้ง่ายต่อการดำเนินคดี 

 

Q : หากถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุม ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ?

A : ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่บันทึกภาพสามารถใช้โทรศัพท์บันทึกภาพเองได้ ผู้เห็นเหตุการณ์สามารถบันทึกภาพในจุดเกิดเหตุที่พบเห็นได้

 

หากถูกจับกุมหรือควบคุมตัวแล้วเจ้าหน้าที่รัฐไม่มีกล้อง Body Camera หรือกล้องติดตัวตำรวจ ผู้ถูกจับกุมสามารถใช้โทรศัพท์มือถือบันทึกภาพในจุดเกิดเหตุระหว่างการถูกจับกุมเองได้ ในกรณีนี้ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย เพราะโทรศัพท์มือถือไม่ใช่ของกลาง และหากเราเป็นผู้พบเห็นเหตุการณ์สามารถบันทึกภาพเหตุการณ์ได้ด้วยเช่นกันโดยที่ไม่ผิดกฎหมาย ***ถ้าการจับกุมตัวไม่ได้เกิดจากเหตุสุดวิสัย การไม่มี Body Camera เจ้าหน้าที่มีความผิดทางอาญา มาตรา 157 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและผิดวินัย

 

Q : เจ้าหน้าที่รัฐต้องบันทึกข้อมูลอย่างไรระหว่างสอบปากคำ

A : ต้องบันทึกข้อมูลอย่างละเอียดเกี่ยวกับการควบคุมตัว

 

เมื่อถูกจับกุมตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องทำบันทึกอย่างละเอียดเกี่ยวกับการควบคุมตัว เช่น บันทึกเกี่ยวกับอัตลักษณ์ผู้ถูกควบคุมตัว วันเวลาสถานที่ของผู้ถูกควบคุมตัว ใครเป็นคนออกคำสั่ง ใครเป็นคนสั่ง วันเวลาสถานที่ปล่อยตัว สภาพร่างกายจิตใจผู้ถูกควบคุมตัว ทั้งก่อนและหลังถูกปล่อยตัว “ต้องบันทึกละเอียด” โดยเฉพาะสภาพร่างกายและจิตใจ ว่ามีบาดแผลหรือไม่ เป็นบาดแผนที่เกิดจากการถูกควบคุมตัวหรือเปล่า

 

Q : เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยแล้ว ต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างไร ?

A : จับกุม ควบคุมแล้ว ต้องแจ้งฝ่ายปกครอง อำเภอ หรืออัยการทันที

 

พ.ร.บ. ระบุว่า เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยแล้ว เช่น เจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องแจ้งฝ่ายปกครอง อำเภอ หรืออัยการทันทีว่าบุคคลที่จับคือใคร จับด้วยข้อหาอะไร และใช้วิธีการจับกุมอย่างไร เพื่อให้หน่วยงานในพื้นที่รับทราบเรื่อง เพื่อบันทึกข้อมูลเอาไว้ในสารบบป้องกันการเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินไม่คาดคิด

 

Q : เมื่อถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุมตัว คนใกล้ชิดมีสิทธิทำอะไรได้บ้าง ?

A : บุคคลที่ถูกจับกุมสามารถตั้งคำถามกับเจ้าหน้าที่รัฐได้ว่า แจ้งฝ่ายปกครอง อำเภอ หรืออัยการ หรือยัง?

 

ผู้ถูกควบคุมหรือถูกจับตัวมีสิทธิตั้งคำถามว่าแจ้งฝ่ายปกครอง อัยการ หรือนายอภเภอหรือยัง เพราะประชาชนมีสิทธิที่จะต้องรับรู้ เช่น หากเกิดเหตุในกรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องแจ้งให้กับอัยการและผู้อำนวยการสำนักการสอบสวนและนิติกร กรมการปกครอง ส่วนต่างจังหวัดแจ้งกับอำเภอในพื้นที่รับผิดชอบ เช่น สมมติว่าญาติเราถูกจับ เราไม่รู้ว่าใครจับ เราสามารถไปหาอำเภอหรือติดต่ออัยการเพื่อสอบถามว่าใครจับ อยู่ที่ไหน หน่วยงานจะต้องชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ถ้าไม่แจ้งอาจเข้าข่ายเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีพิรุธ ฉะนั้นคนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัวควรสอบถามที่นี่ก่อน เพื่อเป็นหลักฐาน

 

Q : ถ้าสงสัยว่ามีคนถูกทรมาน อุ้มหาย ผู้พบเห็นทำอย่างไรได้บ้าง

A : ผู้พบเห็นเหตุต้องสงสัย แจ้งอัยการ ฝ่ายปกครอง ตำรวจให้ตรวจสอบได้ทันที

 

คนที่รู้เบาะแสเกี่ยวกับการทรมาน การกระทำโหดร้าย หรือการอุ้มหาย สามารถแจ้งทุกฝ่ายได้ ไม่ว่าจะเป็นอัยการ ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ถ้าเข้าใจโดยสุจริตสามารถแจ้งความได้ ต่อมาถ้าพบว่าไม่ได้เกิดขึ้นจริง ผู้แจ้งไม่มีความผิด ไม่ถูกดำเนินคดีใดๆ พ.ร.บ. นี้มีเจตนาเชิญชวนให้คนช่วยเป็นหูเป็นตา เช่น เราสงสัยว่า เห็นคนโดนจับกุมก็ไปแจ้งตำรวจ แจ้งนายอำเภอได้ทันที

 

Q : ใครสามารถยื่นคำร้องต่อศาลได้ใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ ?

A : คนในครอบครัว ญาติพี่น้อง สามีภรรยา คนรัก อัยการ ฝ่ายปกครองทนายความ

 

พ.ร.บ. นี้ ญาติพี่น้อง อัยการ ฝ่ายปกครอง ทนายความ หากเห็นว่ามีการถูกทรมานหรือการกระทำโหดร้ายย่ำยีศักดิ์ศรี หรือบังคับให้เป็นบุคคลสูญหาย สามารถร้องต่อศาลในท้องที่เพื่อให้ไต่สวนได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นใครศาลจะทำการไต่สวน แล้วสั่งให้เจ้าหน้าที่พาตัวผู้ถูกจับมาตรวจสอบ เช่น ให้หมอตรวจสอบและถ้าศาลเห็นว่าคนเหล่านี้ถูกทรมาน ถูกละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ศาลจะสั่งให้เยียวยา เช่น เปลี่ยนที่คุมขัง ส่งรักษาตัวโรงพยาบาล หรือถ้าจับโดยมิชอบจะสั่งให้ปล่อยตัวได้ โดยผู้แจ้งจะต้องมีพยานหลักฐานให้แน่ชัด ถ้าไม่มีหลักฐานชัดเจนศาลจะยุติการสอบสวนทันที