คุยเรื่อง Training of Trainers สู่ห้องเรียนสิทธิมนุษยชน กับ "ฝน-อลิสา บินดุส๊ะ"

5 มกราคม 2567

Amnesty International Thailand

“ฝน-อลิสา บินดุส๊ะ” นักกฎหมายและผู้ประสานงานของกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคใต้ ผู้มีความสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนมาตั้งแต่ตอนเป็นนักศึกษา เธอได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก และร่วมกิจกรรมกับแอมเนสตี้มาอย่างต่อเนื่อง

หลังจากการทำงานเรื่องสิทธิชุมชนในพื้นที่ ฝนขยายการทำงานของตัวเองสู่การเป็นกระบวนกร ออกแบบกระบวนการเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนและกฎหมาย จัดห้องเรียนสิทธิมนุษยชนตามพื้นที่ต่าง ๆ จนเมื่อแอมเนสตี้เปิดอบรม Training of Trainers จึงไม่ใช่เรื่องยากเลยที่เธอจะตัดสินใจเข้าร่วมการอบรมในครั้งนั้น

กล่าวได้ว่า ฝนคือคนหนึ่งที่ทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชนในพื้นที่อย่างจริงจัง และการจัดห้องเรียนสิทธิมนุษยชนตามแต่ละพื้นที่ ทำให้เธอมีประสบการณ์และมองเห็นความเป็นไปได้ของการอยู่ร่วมกันภายใต้ความหลากหลาย

 

 

ก่อนหน้าที่จะเข้าอบรมกระบวนกรของแอมเนสตี้ คุณทำอะไรมาบ้าง และอะไรที่ทำให้ตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมนี้

ก่อนที่จะเข้าร่วม Training of Trainers ของแอมเนสตี้ เราก็เป็นนักกิจกรรมของแอมเนสตี้อยู่แล้ว ในการจัดห้องเรียนสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคใต้ งานส่วนหนึ่งของกลุ่มเราคือขยายและสร้างพื้นที่เรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนให้กับนักเรียน-นักศึกษา เรามีการจัดห้องเรียนอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งบางครั้งก็จัดร่วมกับแอมเนสตี้ จนทราบว่าแอมเนสตี้จะมีการจัดอบรมกระบวนกรที่ทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชน เราก็เลยสนใจว่าจะเพิ่มเติมความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนได้อย่างไรบ้าง มีไอเดียในการออกแบบกระบวนการได้อีกอย่างไรบ้าง เราคาดหวังว่าจะได้เทคนิคหรือทักษะต่าง ๆ เพิ่มเติม

 

คุณคิดว่าปัจจุบันสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยเป็นอย่างไร หลังจากการตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

คำว่าสิทธิมนุษยชนเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น คนใช้มากขึ้น มีคนสนใจอยากเรียนรู้ ทำให้ความต้องการในการทำห้องเรียนสิทธิมนุษยชนก็มากขึ้นด้วย สังเกตได้จากการทำงานกับนักกิจกรรม เขาก็สนใจให้เราไปจัดห้องเรียน ต่างจากเมื่อก่อนที่คนไม่สนใจเลย หรือไม่รู้ว่าจะใกล้ชิดกับคำนี้ได้ยังไง แต่ในขณะเดียวกันพอมีการให้ความสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น เราก็จะพบการละเมิดหรือการคุกคามมากขึ้นเช่นกัน

 

คุณคิดว่าปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนของท้องถิ่น มีความแตกต่างกับปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในเมืองหลวงหรือไม่ อย่างไร

คิดว่ามีความต่าง ตอนแรกฝนเริ่มทำงานในพื้นที่เรื่องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม เรื่องสิทธิชุมชน แต่ในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง การมีส่วนร่วม ซึ่งมองในมุมนี้ก็จะมีความต่างกันตามสภาพแวดล้อมของวิถีชีวิต มุมมองในการมองเรื่องสิทธิ์ ถ้าเป็นภูมิภาคอาจเห็นได้ชัดในเรื่องของชุมชน เรื่องของทรัพยากร และในอีกแง่คือผลกระทบที่มีต่อชีวิต ถ้าเป็นชุมชนในภูมิภาค เรื่องทรัพยากร เรื่องสิ่งแวดล้อม จะส่งผลต่อชีวิตและที่อยู่อาศัยได้ง่ายและเห็นได้ชัด

 

ในพื้นที่หรือชุมชนของคุณ มีอะไรบ้างที่เป็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน

ตั้งแต่เรื่องความมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร เราอยู่สงขลา ซึ่งมีโครงการนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของรัฐที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอยู่บ่อยครั้ง หรือเรื่องที่น่าจะเจอกันทุกคนคือเรื่องอำนาจนิยมในโรงเรียนที่ละเมิดสิทธิ์ในเนื้อตัวร่างกาย และอาจเพราะเป็นพื้นที่ซึ่งมีความขัดแย้งทางแนวคิดทางการเมือง ก็ค่อนข้างจะส่งผลให้สถาบันหรือหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ได้เปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น

 

การอบรมกระบวนกร และห้องเรียนสิทธิมนุษยชน ให้อะไรกับคุณ

การอบรม Training of Trainers ในครั้งนั้น เราได้รู้ว่าการเรียนเรื่องสิทธิมนุษยชนศึกษามีวัตถุประสงค์อย่างไร เราได้ความรู้และรูปแบบของการอธิบายเรื่องสิทธิมนุษยชนให้ผู้อื่นเข้าใจง่าย รับรู้ว่าแนวคิดนี้มาจากอะไร รวมถึงการได้แลกเปลี่ยนเทคนิคกับเพื่อนร่วมอบรม

 

คุณเคยจัดห้องเรียนสิทธิมนุษยชนมาแล้วกี่ครั้ง บรรยากาศและการตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง

ถ้านับหลังจากอบรมกับแอมเนสตี้ก็น่าจะประมาณ 8-9 ครั้ง ส่วนผลตอบรับและบรรยากาศจะแตกต่างกันไปในผู้เรียนแต่ละกลุ่ม สิ่งหนึ่งที่เห็นเวลาไปจัดก็คือความสนใจของคนที่อยากจะเรียนรู้ แต่การเรียนเรื่องสิทธิมนุษยชน เราไม่สามารถไปใส่ให้เขาอย่างเดียว แบบนั้นเขาอ่านเอาเองก็ได้ แต่การออกแบบการเรียนรู้ของเราคือการสร้างความตระหนักว่าเขามีสิทธิ์ และหน้าที่ของเขาคือการใช้มัน การตระหนักคือวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ของเรา และคิดว่าเราทำได้ตามเป้าหมาย วัดจากการที่มีคนอยากเรียนรู้ต่อ

 

ช่วยเล่าถึงคนที่มาเรียนให้ฟังหน่อย ส่วนใหญ่เป็นใคร ช่วงวัยไหน

ที่เห็นเยอะจะเป็นนักศึกษา มัธยมก็มีบ้าง หลายคนมาชวนคุยหลังจบคลาส ซึ่งตัวเราเองก็จะสำรวจทุกครั้งว่าเขาอยากเรียนเรื่องอะไรต่อ หรือนัดกันว่าจะไปทำกิจกรรมอะไรต่อ ในวัยนักเรียน-นักศึกษา เขาก็เริ่มพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนกันอยู่แล้ว แต่ว่าไม่สามารถอธิบายได้ เช่น อะไรบ้างที่เรียกว่าสิทธิมนุษยชน หรือเราเรียกร้องได้แค่ไหน ห้องเรียนของเราจะเริ่มที่สิทธิมนุษยชนพื้นฐาน หรือไม่ก็ไปที่เสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งในประเด็นหลังนี้ คนรุ่นใหม่ค่อนข้างให้ความสนใจ

 

คุณเจอปัญหาอะไรบ้างในการจัดห้องเรียนสิทธิมนุษยชน

ที่เคยเจอจะเป็นเรื่องภาษา เพราะภาษาสิทธิมนุษยชนก็ไม่ง่าย ทั้งในการแปลไทยเป็นไทยด้วย แต่ครั้งหนึ่งเราเคยไปจัดห้องเรียนที่ปัตตานี การคิดครั้งแรกของนักศึกษาที่นั่นจะเป็นการคิดด้วยภาษามลายู ก็จะยากสำหรับเราไปอีกขั้น ซึ่งหลายครั้งต้องอาศัยการยกตัวอย่าง และหลังจากเรียนแล้ว เราจะเน้นให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดเห็นหรือแลกเปลี่ยน ตรงนี้ก็จะกลับไปยากสำหรับเขาในการสื่อสารภาษาไทย

 

มีบ้างไหมที่ชุดความคิดของคนแต่ละพื้นที่มีความขัดแย้งกับเนื้อหาของห้องเรียนสิทธิมนุษยชน หรืออย่างเมื่อครู่ที่เล่าถึงห้องเรียนที่ปัตตานี

มีที่ความคิดของเขามองว่าขัด หรือบางคนอาจตั้งธงมาแล้วว่าไม่เอาสิทธิมนุษยชน เพราะเป็นพื้นที่ซึ่งมีความขัดแย้งเรื่องศาสนาและการเมืองด้วย แต่เราก็จะยืนยันเสมอว่าเราพูดบนหลักการสิทธิมนุษยชน คุณจะซื้อหรือไม่ซื้อก็ได้ หมายความว่านี่คือชุดคุณค่าหนึ่ง เช่นกัน-ศาสนาก็เป็นอีกชุดคุณค่าหนึ่ง คุณมีสิทธิ์ที่จะเลือก และสิ่งที่เรากำลังอธิบายหรือชวนคุยคือเรื่องสิทธิมนุษยชน เราไม่ได้บอกว่าการเป็น LGBTQ ไม่ผิดหลักศาสนา แต่เราคุยในมุมของสิทธิมนุษยชน และเป็นสิ่งที่โลกเขาคุยกัน ซึ่งประเทศมุสลิมเองก็ยอมรับสิ่งนี้ นั่นหมายถึงเพื่อการอยู่ร่วมกันในโลกได้อย่างสันติ เราจะอธิบายบนหลักการประมาณนี้ พร้อมกับการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน

 

คุณมองเห็นความเปลี่ยนแปลงใดบ้าง หลังจากจัดห้องเรียนสิทธิมนุษยชน

ถ้าเป็นกลุ่มนักกิจกรรมก็จะเห็นความเข้าใจในประเด็นที่ต่างจากตัวเองมากขึ้น ในเรื่องสิทธิมนุษยชนคุณจะเลือกเคารพบางสิทธิ์ไม่ได้ มันทำให้เขาเข้าใจความเป็นมนุษย์ของกันและกันมากขึ้น ส่วนใหญ่ประเด็นแบบนี้ก็จะขัดแย้งอยู่ในพื้นที่ เช่น กลุ่มคนที่ทำงานด้าน LGBTQ ในพื้นที่ 3 จังหวัด กับกลุ่มที่เรียกร้องเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกในพื้นที่ 3 จังหวัด แต่เดิมเขามีความไม่รู้จักกันอยู่ แนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนจะเข้าไปบอกว่าทุกสิทธิ์นั้นเกี่ยวเนื่องกัน จะแบ่งแยกไม่ได้ การทำให้เกิดความตระหนักตรงนี้ สิ่งที่เราเห็นว่ามันเปลี่ยนคือเขาสามารถซัปพอร์ตกันบนหลักการ โดยไม่จำเป็นว่าสิ่งที่เพื่อนเรียกร้องต้องเป็นประเด็นที่ตัวเองให้ความสนใจมากที่สุด

 

สำหรับประชาชนคนธรรมดา คุณคิดว่าจะสามารถช่วยรณรงค์หรือสนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชนได้อย่างไร

สิทธิมนุษยชนควรเป็นเรื่องพื้นฐาน ไม่ควรมีอะไรที่ซับซ้อน การรณรงค์ง่ายที่สุดคือการช่วยกันพูดเรื่องนี้ ช่วยกันสร้างความตระหนักรู้ว่าเราทุกคนมีสิทธิ์ กล้าที่จะยืนยันสิทธิ์ของตัวเอง หรือถ้าเห็นการละเมิดสิทธิ์ก็ช่วยกันส่งเสียง ไม่ว่าจะเป็นช่องทางใดก็ตามที่แต่ละคนสามารถลงแรงกับมันได้

 

อุปสรรคของการรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชนของไทย คืออะไร

ความเป็นประเทศไทย หมายถึงวัฒนธรรมของไทย หรือกฎหมาย รวมทั้งสถาบันทางสังคม สถาบันศาสนา สถาบันครอบครัวและอื่น ๆ ไม่ได้ให้คุณค่ากับเรื่องของการเคารพความเป็นมนุษย์ ที่บอกว่าทุกคนมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เท่ากัน เพราะแต่ละสถาบันก็จะมีเรื่องของอำนาจนิยม แม้แต่ในโรงเรียน สถาบันเหล่านี้พร้อมจะให้อีกคนมีอำนาจเหนือเนื้อตัวร่างกายของอีกคน และคนที่อยู่ใต้อำนาจนั้นก็ต้องยอม ด้วยสังคมถือว่านั่นคือความดีรูปแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้น อุปสรรคสำคัญคือการรื้อวัฒนธรรมที่กดทับสิทธิมนุษยชน

 

 

ข้อแนะนำสำหรับแอมเนสตี้ เพื่อปรับปรุง พัฒนาการทำงาน

แอมแนสตี้เป็นองค์กรรณรงค์เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง ยิ่งคนตื่นรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น แอมเนสตี้อาจต้องทำงานหนักขึ้น ซึ่งก็ต้องมีการทำงานที่กระจายออกไปจากพื้นที่กรุงเทพฯ ให้มากขึ้น

 

สิ่งที่อยากสื่อสารกับสังคมในเรื่องสิทธิมนุษยชน

สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่หลายคนรู้อยู่แล้ว เป็นอะไรที่ไม่ต้องมาเข้าเรียนก็ได้ แต่การมาเรียนรู้ร่วมกันก็สามารถสร้างความเข้าใจและมั่นใจได้มากขึ้น เพราะไม่ว่าคุณจะเป็นใคร คุณมีสิทธิมนุษยชนในตัวเอง และมีสิทธิ์ที่จะใช้มัน