กรีดยาง ทำไร่ ไปศาลอาชีพหลักของนักปกป้องสิทธิฯ ที่วังสะพุง

12 ตุลาคม 2561

เรื่องและภาพโดย วิรดา แซ่ลิ่ม

ป้าย ‘นับถอยหลังวันปิดเหมืองถาวร’ ยังคงตั้งอยู่ที่เดิมหน้าทางเข้าหมู่บ้านนาหนองบง ในอ.วังสะพุง จ.เลย เช่นเดียวกันกับการต่อสู้ของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดที่ยังคงยืนหยัดคัดค้านอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำที่ตั้งอยู่ในบ้านเกิดของพวกเขา

 

เบื้องหน้าที่เราคุ้นตาคือกลุ่มพ่อๆ แม่ๆ ที่ยืนยัน ‘ไม่ต้อนรับ’ การพัฒนาที่ชุมชนไม่มีส่วนร่วม แต่เบื้องหลังการต่อสู้ที่ผ่านมา รจนา กองแสน หรือ รจน์เป็นหนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่เลือกทิ้งชีวิตสาวโรงงานใกล้กรุงเทพฯ กลับบ้านมาเป็นส่วนหนึ่งของทีม หลังเกิดเหตุการณ์สำคัญในวันที่ 15 พฤษภาคม ปี 2557 ชายฉกรรจ์หลายคนบุกเข้ามาในหมู่บ้านเพื่อเปิดทางให้รถบรรทุกขนแร่ทองคำออกจากพื้นที่ เป็นเหตุการณ์ความรุนแรงที่ชาวบ้านได้รับบาดเจ็บหลายราย

 

ผ่านมาสี่ปี ทุกวันนี้นอกจากทำมาหากินด้วยการกรีดยาง และทำไร่ หน้าที่ของเธอที่เพิ่มมาคือ ไปศาล และเก็บบันทึกข้อมูลเพื่อต่อสู้ทางคดีที่มีโจทก์เป็นหน่วยงานภาครัฐและบริษัทเอกชน เส้นทางชีวิตจากคนที่เคยออกจากชุมชนไปไกล กลายมาเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและต่อสู้เพื่อรักษาทรัพยากรในบ้านเกิดได้อย่างไร เราชวนคุณปูเสื่อนั่งคุยกับรจน์ ในสวนยางที่อยู่ไม่ไกลจากปากทางเข้าบริษัทเหมืองแร่ทองคำ  

 

 IMG_3920.JPG

เล่าให้ฟังหน่อยว่าเราโตมาในสภาพแวดล้อมแบบไหน?

แต่ก่อนเราก็เป็นเด็กชนบท ตอนเย็นเลิกเรียนมาก็ลงไปทุ่งนารอบบ้านเพื่อไปหาเก็บผัก เก็บหอย เก็บปูตามประสาเด็ก วันว่างๆ เสาร์อาทิตย์ก็จะมีโมเมนต์แบบ...ไปเล่นที่ทุ่งนา ไปว่ายน้ำกับเด็กๆ ด้วยกัน แล้วก็เห็นแม่ถือตะกร้าไปเก็บหอย แล้วเราก็เห็นภูเขา มันจะมีแต่ละฤดู ฤดูฝน จะมีหน่อไม้ และก็มีเห็ด มีสัตว์ต่างๆ ที่อยู่บนภูเขาที่มันเป็นซุปเปอร์มาเก็ตให้เรา จะกินอะไรเราก็ไปหา มันมหัศจรรย์มาก

 

 

แล้วชีวิตช่วงวัยรุ่นเป็นอย่างไรบ้าง?

ตอนนี้ก็ยังเป็นวัยรุ่นอยู่นะ (ขำ)

มันเป็นชีวิตของคนแถวนี้ที่จบม.6 หรือแค่ม.3 แล้วต้องไปทำงานข้างนอกเพื่อจะหาเงินมาให้ที่บ้าน เราเรียนหนังสืออยู่บ้านจนถึง ม.6 แล้วก็มีโอกาสไปทำงานที่ปทุมธานี นวนคร ก็เป็นชีวิตสาวโรงงาน

 

ตอนที่เราไปทำงานมันก็ยังไม่มีเหมือง แต่ก่อนเราอยู่บ้านเราเห็นแต่ภูเขา เห็นแต่ทุ่งนา แต่พอเราไปอยู่ตรงนั้น เราเห็นแสงสี เรารู้สึกว่าเราไม่เคยเห็น มีตลาด มีเซเว่นทั้งวันทั้งคืน ในแบบที่ฉันมีเงินก็กินได้ ถ้าอยู่บ้าน หกโมงเย็นถึงสองทุ่มเขาปิดไฟหมดแล้ว แต่เรากลับบ้านตลอดนะช่วงปีใหม่ มีอยู่ช่วงหนึ่ง เราเห็นทหารเต็มบ้านไปหมดเลย เฮ้ย บ้านกูเป็นอะไรวะ แล้วถ้าเราโทรกลับมาที่บ้าน เราก็จะได้ยินว่าแม่ประชุม ฉันไปประชุม ฉันไปอบรม แม่! แม่เป็นชาวบ้านแม่จะไปอบรมอะไรนักหนา ทำไมแม่ไม่อยู่บ้าน แล้วน้องล่ะ? แม่ก็บอกว่าไปประชุม กฎหมายตัวนั้นตัวนี้ ไปประชุมเรื่องสิทธิ ที่อื่นเขาเป็นแบบนี้นะ แล้วไม่อยากให้บ้านเราเป็นแบบนั้น ตอนนี้บ้านเราเป็นแบบนี้อยู่

 

คือตอนนั้นเราก็รู้ว่าบ้านมีเหมืองทอง แต่เราก็เป็นเหมือนคนอยู่ข้างนอก ก็ยังไม่รู้ว่าเหมืองทองแล้วไงเหรอ จนช่วงก่อนวันที่ 15 พ.ค.นี่แหละ ป้าที่อยู่อีกอำเภอหนึ่งโทรมา ป้ารู้จักคนที่รับจ้างเป็นมือปืน เขามาเล่าให้ป้าฟังว่ามีพี่น้องอยู่ตำบลเขาหลวงที่สู้เรื่องเหมืองแร่ไหม เขามาจ้างนะ เขามาจ้างให้ไปฆ่า ป้าบอกว่า แม่มึงใช่ไหมที่เป็นแกนนำสู้เรื่องเหมือง เขาจ้างไปฆ่านะ เราเลยโทรไปหาแม่ แม่ก็บอกว่าจริง

 

ตอนนั้นทำงานสิ้นปีจะมีโบนัสใช่ไหม เราก็รอว่าจะรอเอาโบนัสดีไหม แต่แล้วแม่เราจะเป็นยังไง ก็เลยคิดว่าทำงานก็มีเงินให้แม่มันก็จริงอยู่ แต่เราไม่ได้อยู่กับเขา เลยตัดสินใจกลับบ้านดีกว่า เรากลับบ้านตอนสิ้นปี 2557 หลังเหตุการณ์ ในเหตุการณ์เราไม่ได้อยู่ แต่เห็นภาพ เห็นข่าวว่าพ่อไม้โดนชก เราก็แบบว่า เฮ้ย บ้านเราเหมือนในหนังเลยอะ ทำไมมันเถื่อนขนาดนี้

 

 IMG_3791.JPG

กลับมาบ้านแล้วชีวิตเป็นอย่างไรบ้าง?

กลับมาบ้านแรกๆ ยังทำตัวไม่ถูกอะ คือทุกอาทิตย์ฉันต้องชอปปิ้ง ฉันมีห้างที่ต้องไปเดิน แล้วฉันมาอยู่บ้าน ค่ำก็นอน ต้องไปกรีดยาง กลางคืนต้องไปอยู่ในป่า แล้วมีเรื่องเหมืองเข้ามาเกี่ยวพ่อๆ แม่ๆ เขาก็จะมีประชุม พี่ก็สงสัยว่าเขาประชุมอะไรกัน เพราะตอนนั้นยังไม่ได้เข้าไปอยู่ในกลุ่ม แต่ก่อนชีวิตทำงานเราส่วนตัวมากเลยนะ บ้านของเราก็จะมีแต่ครอบครัวและพี่น้อง แต่อันนี้คือไม่ เดี๋ยวแขกมา เดี๋ยวอาจารย์มา เดี๋ยวนักศึกษามา ฝรั่งมา แม่ก็พยายามพูดทุกวันว่า มึงต้องเข้าไปในกลุ่มนะ ไปช่วยเขาเก็บข้อมูล เพราะมันมีแต่คนแก่ ไม่มีคนที่จะถ่ายรูปหรือทำงานเขียนได้

 

เราก็พยายามนั่งฟังเพื่อจะทำความเข้าใจสิ่งที่พ่อๆ แม่ๆ เขาพูด มันต้องเป็นเรื่องราวของบ้านเราสิไม่งั้นเขาคงไม่มาพูด แล้วก็มีโอกาสได้ไปที่อื่น ได้ไปอบรมบ้าง แต่ช่วงที่เรากลับมา ต้องไปอบต.บ่อย เดือนหนึ่ง ไปอบต.สองครั้ง จากนั้นก็ต้องไปศาล เดือนหนึ่งสี่ครั้งห้าครั้ง เรามาในจุดนี้พอดี

 

ไปอบต.เราก็เป็นคนเก็บข้อมูล ก็จะเห็นว่าชาวบ้านมีจำนวนน้อย แต่หน่วยงานรัฐคนเยอะมาก เขาไม่ได้ป้องกันให้ชาวบ้าน เราเข้าออกเขาก็ตรวจ  แต่คนของบริษัทหรือรัฐด้วยกันกลับเดินเข้า-ออกสบายมาก คุณไม่ต้องโดนตรวจอะไร เฮ้ย ทำแบบนี้กับเราได้ยังไง ทั้งที่เมื่อก่อนเราคิดว่าคนที่ใส่ชุดกากี เขาต้องทำเพื่อประชาชน พอเราเห็นเขาแล้วเราควรจะต้องรู้สึกสบายใจ แต่พอเราไปเจอเหตุการณ์แบบนี้เรารู้สึกว่าเหมือนเราโดนทำร้าย เหมือนเราโดนลิดรอนสิทธิยังไงก็ไม่รู้ ทำไมเขาไม่ดูแลเรา พอไปอบต. ก็มีเรื่องคดีเกิดขึ้น คดีพวกนี้มันเป็นคดีที่หน่วยงานรัฐฟ้องชาวบ้านเอง จนเราแบบ... เหรอ? ทำไมถึงฟ้องเราทั้งที่คุณก็รู้ว่าเราทำเพื่ออะไร เราทำเพื่อรักษาทรัพยากร เราทำเพื่อรักษาสิทธิของเรานะ แต่คุณมองเห็นว่าเราไปสู้กับทุน คุณเห็นทุนดีกว่าเราเหรอ แต่ก่อนเราไม่กล้าคุยกับเขาด้วยซ้ำ เรากลัวเราพูดผิด พูดไม่ถูก แต่ตอนนี้ ฉันรู้แล้วว่าฉันทำอะไรอยู่ ฉันไม่ได้ทำผิด ฉันสามารถถาม สามารถคุย สามารถเถียงคุณได้เมื่อคุณไม่รู้

 

 IMG_3768.JPG

องค์ความรู้สำคัญแค่ไหนในการสู้เรื่องสิทธิ?

 

ความรู้สำคัญมากเลย เราใช้แค่แรงโกรธไม่ได้ มันไม่มีประโยชน์อะไรที่จะด่าๆๆ ชุมชนเราดี เรามีนักศึกษา มีอาจารย์ มีหลายหน่วยงานที่เข้ามาให้ความรู้กับเรา พยายามเอาเราไปดูงานข้างนอกว่าตอนนี้โลกข้างนอกไปถึงไหนแล้ว ตรงนี้เราก็โชคดี

 

 

ที่ผ่านมาชาวบ้านโดนมาแล้วกี่คดี?

 

ที่บริษัทฟ้องเรา 19 คดี ทั้งแพ่งและอาญา จากนั้นเป็นหน่วยงานรัฐฟ้อง 4 คดี คดีที่มาใหม่คือ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ก็งงเหมือนกันว่าเราไปชุมนุมตอนไหน เราไม่ได้ไปชุมนุม เพิ่งมีคำพิพากษาคดีพ.ร.บ.ชุมนุมฯ  ไป เราก็ชนะ ทุกคดีเราชนะหมดเลย มันแสดงให้เห็นว่าที่เราสู้เ เราสู้เพราะได้รับผลกระทบจริงๆ ไม่ได้แค่ไปคัดค้านให้เขาดูไม่ดี จากที่เราสู้ชนะๆ มาทำให้มวลชนเราเพิ่มขึ้น เขาเห็นว่ามันสู้จริงๆ จนเหมืองปิดได้

 

 

เวลาฟ้องเขาฟ้องกี่ล้าน?

ที่เยอะมากคือคดีซุ้มประตู 50 ล้าน เราทำซุ้มประตูบอกว่าหมู่บ้านนี้ไม่เอาเหมือง เขาฟ้องเรา 50 ล้าน ทีนี้เราก็สู้จนคำพิพากษาออกมาดีมาก คือศาลบอกว่าเราทำเพื่อให้หน่วยงานรัฐเข้ามาดูแลเรา ขนาดศาลก็บอกนะว่าให้เข้ามาดูแลฉัน เพราะฉันได้รับผลกระทบ

 

 

เวลาโดนฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นสิบล้าน รู้สึกอย่างไรกันบ้าง?

คนโดนคดีเนอะ แค่มีหมายศาลมาก็รู้สึกว่าใจมันอ่อนล้าและอ่อนเพลีย เราไม่ได้โดน แต่เราเห็นจากแววตาของคนที่โดน ล่าสุดคนใกล้ตัว แม่เราก็โดนพ.ร.บ.ชุมนุมฯ มันเห็นว่าเขาเครียด เครียดว่าจะทำยังไง เพราะเขาเคยไปดูคนอื่นขึ้นศาล ต้องนั่งบัลลังก์ แล้วศาลต้องถาม ศาลถามไม่พอ ฝั่งโจทก์เขาก็ต้องถามเรา มันมีความกังวลว่าเราจะตอบถูกไหม? คดีสิ้นสุดแล้วเราจะติดคุกไหม?

 

มีคดีหนึ่งแม่ๆ ต้องเข้าไปอยู่ห้องขังเพื่อรอการประกันตัว แม่เราเป็นคนสุดท้ายที่ได้ออกมา (ขำ) ทีแรกบอกว่าจะปล่อยพร้อมกัน แต่ไม่ เอาออกมาทีละคน จนเย็นแล้ว จะหมดเวลาราชการแล้ว เราก็ตกใจ แม่ฉันล่ะเพราะว่าเราไม่มีสินทรัพย์อะไร เราต้องอาศัยคนอื่น เราไม่มีที่ดินที่จะเอาไปประมูล เห็นหน้าแม่แล้วอยากร้องไห้มากเลย นั่นแหละ เรามองเห็นคนที่ติดคดีจนตอนนี้เขาเชียวชาญไปแล้วแหละ

 

จริงๆ คดีมันก็มีทางบวกนะ แต่ก็ไม่อยากติดคดีนะ (ขำ) คือเราได้รู้กฎหมาย 157 คืออะไร ละเว้นการปฏัติหน้าที่เหรอ อู้ย! ฉันรู้กฎหมาย บางทีเราเล่าให้คนอื่นฟังเพราะเราเจอใช่ไหม เขาก็แบบ... ยัยนี่รู้เรื่องกฎหมายเหรอ จริงๆ ไม่ (ขำ) ที่บ้านฉันโดนแบบนี้เลยเล่าไปแบบนั้น

 

 

ตอนนี้มาถึงขั้นฟ้องกลับแล้ว อะไรทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าเราจะใช้สิทธิทางกฎหมายด้วยการฟ้องกลับ?

คือเราโดนฟ้องมาหลายคดี คำพิพากษาของศาลก็ดีมาก สิ่งที่เราทำ เรารักษาทรัพยากรของเรา ไม่ใช่แค่ให้ตัวเรานะ เราให้ทุกคน เราให้เด็กที่จะเกิดใหม่ เราไม่มีลูกหรอกนะ ก็ทำให้หลานๆ เราก็อยากทำให้เห็นว่าที่เราฟ้องกลับเพราะเรามีผลกระทบแบบนี้จริงๆ นะ อยากให้คุณเข้ามาช่วยเหลือเราจริงๆ นะ

 

ทีนี้การฟ้องกลับของเรามันตรงกับที่บริษัทล้มละลาย มันเลยไปไหนไม่ได้ อยู่กันไปแบบนี้ ก็ต้องรอดูว่าจะเป็นยังไง ตอนนี้เราฟ้องกลับสองคดีแล้ว เรื่องสิ่งแวดล้อมที่ให้เขามาฟื้นฟู และเราก็เรียกค่าเสียหายด้วย

 

 IMG_3704.JPG

นอกจากคดีความเราต้องเจอกับอุปสรรคอะไรอีกบ้าง?

คนที่ไม่ได้ต่อสู้เขาก็จะมองว่าเราเป็นพวกคัดค้าน พวกหัวรุนแรง พวกทำให้ประเทศชาติไม่มั่นคง (ขำ) ถึงขนาดนั้นเลยนะ บางคนเขาเห็นว่าเราโดนคดี เขาบอกว่ามาอยู่กับพวกนี้ไม่ดี โดนคดี ในความเข้าใจของคนทั่วไป คนโดนคดีมันต้องเป็นคนไม่ดีอยู่แล้วใช่ไหม คือเราต้องไปศาล เราต้องเสียเวลาตลอดเลย คนอื่นเห็นเขาก็คิดว่า เออ ถ้ามาอยู่ในกลุ่มนี้มันก็ไปแต่ศาลๆ แล้วชีวิตฉันจะได้ทำอะไร ไปอบต. ไปทำไม? ไปทะเลาะกับเขา ตำรวจก็เยอะแยะ ฉันกลัว

 

 

ตั้งแต่มีเรื่องเหมืองเข้ามา มันทำให้เรามองบ้านเรา และมองชีวิตเราเปลี่ยนไปไหม?

ตั้งแต่มีเหมือง ชีวิตเปลี่ยนไปมากเลยอะ จากที่แต่ก่อนเราทำงาน เรามีความรู้สึกว่า เราไปหาสิ่งที่ไม่เคยมี สิ่งที่ไม่เคยกิน แต่อยู่บ้านคือชีวิตที่พออยู่พอกิน เราเห็นว่าเราไปเก็บตรงนี้แล้วมาทำอาหาร พอเรากลับมาแล้วคิดย้อน แบบ เฮ้ย กูไปหาอะไรวะ ที่นี่คือสุดยอดของชีวิตแล้ว เรามีทรัพยากรที่เราอาศัยเขามาตั้งนานแล้วนะ พอกลับมาบ้านเสียใจมากเลย มองไปภูเขา...ไม่มี แต่ก่อนเคยขึ้นเขาลูกนี้ ปูปลา ผักอะไร เราก็ได้แค่มอง สิ่งที่เราเคยกินมันไม่ได้กินแล้ว ตอนนี้เศรษฐกิจก็แย่พอแล้ว อาหารการกินเราก็ต้องไปซื้อ น้ำเราก็ต้องไปซื้อ เดือนหนึ่งต่อหลังคาเรือนเนี่ยหมดไปเท่าไหร่ ต่อเดือน ต่อปี  แต่รายได้เราแค่นี้ น้อยลงกว่าแต่ก่อนเสียด้วยซ้ำ  เราก็ต้องใช้ชีวิตแบบนี้ไป

 

หมายเหตุ: แม้ที่ผ่านมาจะยังไม่มีหน่วยงานใดยืนยันอย่างเป็นทางการว่าสารปนเปื้อนที่ตรวจพบในแหล่งน้ำธรรมชาติและในสัตว์น้ำเป็นผลโดยตรงมาจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำแต่ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้สูญเสียความเชื่อมั่นในการบริโภคน้ำและผักในบริเวณชุมชน ส่วนหนึ่งจึงแก้ปัญหานี้ด้วยการซื้อน้ำและอาหารมาบริโภคแทน

 

 

โชคดีหน่อยที่ไร่ของเราไม่ได้อยู่แถวนี้  อยู่ไกลออกไปประมาณ 5 กิโลเมตร ที่ไร่ก็จะปลูกผัก พอเอามาทำกินได้ แต่ก่อนรู้สึกว่า แม่ทำไมเจ้ามาช้า ที่ดินแถวนี้เขาเอาไปหมดแล้ว สมัยก่อนใช้เวลาเดินทางไปไร่ครึ่งวัน ต้องนอนไร่ เรื่องของเรื่องคือเด็กอยากดูการ์ตูน ฉันต้องมีเพื่อนต้องเล่นกับเพื่อน แล้วแม่พาไปนอนไร่ กว่าจะได้กลับ ใช้เวลาเดินทางเยอะมาก ตอนนี้รู้สึกว่า แม่ขอบคุณนะ วันหนึ่งได้มานั่ง มามองดู เออฉันนี่โชคดีมากเลยนะที่ฉันมีต้นทุนชีวิตขนาดนี้ ที่ฉันมีที่ทำกิน มีที่ปลูกข้าว มีที่หาปลา นอนเปลที่ไร่รู้สึกว่า ฉันอยากอยู่ไร่สักสองวันได้ไหม เพราะว่าแต่ละครั้งเราต้องรีบกลับออกมา เพื่อมาทำข้อมูลคดี

 

 

นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในความหมายของเราคืออะไร?

 

นักปกป้องสิทธิ ใครก็เป็นได้เนอะ ไม่ต้องมีความรู้อะไรก็เป็นได้ นักปกป้องสิทธิที่เราเข้าใจก็คือเป็นคนที่สามารถลุกขึ้นมาทำเพื่อส่วนร่วมได้ แล้วก็เสียสละชีวิตส่วนตัวมาก พรุ่งนี้ต้องไปศาลแต่ฉันต้องกรีดยาง ฉันต้องเสียสละเวลาที่จะต้องกรีดยางแล้วไปศาล ต้องเห็นความเดือดร้อนของคนอื่นเป็นเรื่องของตัวเองมากๆ  เพื่อนพี่น้องของเราที่อื่นก็เจอกับเหมืองแร่ ต้องประสบพบเจอปัญหาเหมือนกัน เราก็จะอยากช่วยเขาเหมือนที่เขาอยากช่วยเรา นักปกป้องสิทธิต้องมีจิตใจที่ยิ่งกว่านางสาวไทย (ขำ)

 

 

ท่ามกลางคดีความ และความท้าทายมากมาย อะไรคือเหตุผลที่ทำให้เรายังยืนหยัดต่อสู้?

 

สิ่งที่เราทำหยุดไม่ได้หรอก เพราะเรารู้ว่าถ้าหยุดแล้วมันจะเป็นแบบไหน เพราะตรงนี้ถ้าไม่หยุด สารเคมีมันอยู่บนภูเขาจะอีกกี่ล้านปีมันก็จะยังอยู่ และมันต้องลงมาข้างล่าง มันเป็นเรื่องที่ไม่ต้องใช้วิทยาศาสตร์หรอก น้ำอยู่บนภูเขามันจะไปไหนมันก็ต้องลงข้างล่างใช่ไหม แล้วข้างล่างเราเป็นอะไร เป็นที่นา ที่ทำมาหากิน ชาวบ้านต้องใช้ชีวิตอยู่แบบนั้น ภูมิประเทศของเรา เราอยู่ใต้ภูเขา เราหากินกับภูเขากับที่นา แต่คุณกลับเอาภูเขาของเราไป เหมือนคุณมาอยู่บ้านเขาแล้วคุณทิ้งขยะ คุณไม่ยอมเก็บขยะไปด้วย นี่แหละ เป็นสาเหตุที่หยุดไม่ได้อะ ต้องสู้ สู้จนมีรุ่นต่อไป เรารู้สึกว่าเราหวงแหนทรัพยากรของเรามากอะ

 

ถ้าเราวางตัวเป็นกลาง เราพูดถึงบริษัทที่เขาลงทุนเยอะแยะขนาดนี้ ถ้าจะจบไปเลยดื้อๆ กูไม่ทำ กูจบ มันก็ไม่ง่ายใช่ไหม เพราะตอนนี้มันมีกฎหมายของรัฐที่เอื้อประโยชน์อย่างเต็มที่ เราก็ต้องยอมรับตรงนั้นด้วย

 

คือเราทำแล้วมันให้ผลดีขึ้น ให้ทุกคนได้รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น มันมีผลกระทบนะ คุณจะมาทำอีกเหรอ เรายังมีความหวังว่า ตอนนี้มันปิดแล้ว มันต้องปิดจริงๆ นะ มันยังมีความหวังอยู่ตลอด ถามว่ามันใช้เวลายาวนานไหม มันก็น่าจะยาวนาน เราก็เผื่อใจไว้เจ็บ ยังไงก็ต้องสู้ เหมือนจะมีความสุขเลยเนอะ แต่มันก็มีความสุขนะ อันนี้ไม่รู้เป็นผลดีของเหมืองรึเปล่านะ แต่ก่อนคุ้มน้อยคุ้มใหญ่เราจะรู้จักกันแค่งานบุญประจำปีที่บ้านนี้จะมาเที่ยวบ้านนี้ แต่ว่าตอนนี้ถ้ามันมีเรื่องเหมืองเข้ามา เรารู้จักกันหมดเลยนะ เราไปศาลด้วยกัน เราเห็นทุกคน เราได้คุยด้วย อันนี้แม่คนนี้นะ น้องคนนี้นะ แต่ก่อนฉันอยู่บ้านฉัน รู้แค่บ้านฉัน ตอนนี้มีเพื่อนเยอะ ได้รู้เรื่องราวชีวิตเขามันก็สนุกดี

 

คือในมิติการต่อสู้มันก็จะมีน้ำตาบ้าง แต่พอเรามองหน้ากันเรามีกันและกันเรามีความสุข แค่เหมืองไม่ได้ทำต่อ ไม่มีเสียงระเบิด ไม่มีเสียงรถ เราก็รู้สึกว่ามันเป็นชัยชนะของเราแล้ว มันไม่ใช่เพราะใคร มันเป็นเพราะชาวบ้านนี่แหละที่ต่อสู้ นับถือจริงๆ นับถือพ่อแม่ที่สู้กันมาก่อน ฉันแค่ประชาชนคนหนึ่ง ฉันไม่มีอะไรเลย ต้นทุนของฉันคือทรัพยากร…