สู่ฝันเพื่อวันที่ดีกว่า #3 กับสิทธิและเสรีภาพของความหลากหลายในภาคเหนือ

15 ธันวาคม 2566

Amnesty International Thailand

ถึงแม้สถานการณ์ทางสังคมจะมีความเปลี่ยนแปลง แต่การละเมิดสิทธิมนุษยชนยังคงมีอยู่ให้เห็นได้อย่างชัดเจน

ในวันอาทิตย์ที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดกิจกรรมวงเสวนาพูดคุยในประเด็นสิทธิมนุษยชนของพื้นที่ภาคเหนือ ผ่านหัวข้อ ‘การต่อสู้ ความท้าทาย และความหวัง การขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนในภาคเหนือ สู่บทเรียนเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุม’ พร้อมทั้งการแสดงศิลปะเสียงเงียบจากลานยิ้มการละคร ที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาทางสังคม

 

เปิดวงคุย เปิดประตูสู่การเรียนรู้

ท่ามกลางความหนาแน่นของการจราจรในตัวเมืองเชียงใหม่ บรรยากาศของวงคุยเต็มไปด้วยผู้คนที่หลั่งไหลเข้ามาอยู่เรื่อยๆ บ้างได้รับเชิญจากแอมเนสตี้ ประเทศไทย บ้างเห็นการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย

วงเสวนาเริ่มต้นขึ้นตอนห้าโมงเย็นด้วยการกล่าวต้อนรับจาก สินีนาฏ เมืองหนู ผู้จัดการฝ่ายระดมทุนและสมาชิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เล่าถึงความเป็นมาของกิจกรรม ที่ก่อนหน้านี้ได้เดินสายพบปะสมาชิกและเหล่าผู้สนับสนุนจากทั้งภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก่อนที่จะมาสิ้นสุดลงในช่วงท้ายของปี 2566 ที่จังหวัดเชียงใหม่

“วงคุยนี้นับเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ให้เราได้ออกมาแลกเปลี่ยน พูดคุยในประเด็นที่มีความสำคัญ และมีความจำเป็นในเรื่องของสิทธิมนุษยชนไปด้วยกัน”

และก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงของการพูดคุย สถานการณ์การชุมนุมตลอดปีที่ผ่านมาได้ถูกหยิบยกขึ้นเล่าเป็นประเด็นแรก เพื่อฉายให้เห็นภาพได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นถึงสิ่งที่รัฐกระทำกับประชาชนตลอดมา เนื่องจากสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบเป็นอีกหนึ่งแคมเปญที่แอมเนสตี้ ประเทศไทยให้ความสำคัญ และตัวเลขกว่า 3,000 ครั้งที่ถูกบันทึกไว้ คือจำนวนของการชุมนุมที่เกิดขึ้น นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา โดยมีทั้งผู้คนที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุม

“ไม่มีประชาชนคนใดหรอกที่จะยอมใช้ต้นทุนความเสี่ยงของตัวเองเพื่อ ออกมาเผชิญกับอันตรายต่างๆ บนท้องถนนที่รวมถึงชีวิตและอนาคตของพวกเขา หากแต่พวกเขาเหล่านั้นเดือดร้อนและมีความหวังที่จะได้รับการแก้ไขปัญหาต่างๆ แต่สิ่งที่พวกเชาได้รับกลับเป็นการปิดปากไม่ให้พูด” เฝาซี ล่าเต๊ะ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์เชิงนโยบาย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย

 

กลุ่มชาติพันธุ์ภาคเหนือ กับปัญหาและอุปสรรคในการเคลื่อนไหว

ไม่เพียงแต่กลุ่มคนเมืองเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิ เหล่าพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์เองต่างต้องประสบกับปัญหาในการเข้าถึงที่ดินทำกิน จนต้องกลายเป็นคนที่ไร้ซึ่งความมั่นคงในชีวิต และมีความจำเป็นต้องออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับตัวเอง แต่อย่างไรก็ตามในแง่มุมของกฎหมายกลับไม่สามารถเปิดอิสระให้คนเหล่านี้สามารถแสดงออกได้อย่างเต็มที่

“พื้นที่ที่พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์อยู่เป็นพื้นที่เปราะบาง จะเห็นว่ารัฐยึดไปเป็นพื้นที่เวนคืนของนโยบายคาร์บอนเครดิต เพื่อให้กับกลุ่มทุน และอีกรูปแบบหนึ่งคือการเข้าโครงการนโยบายต่างๆ ที่คนได้ประโยชน์คือทุนกับรัฐ ทำให้ทุนสามารถปล่อยคาร์บอนได้” ลิขิต พิมานพนา Free Indigenous People (FIP) ชาติพันธุ์ปลดแอก

ทั้งนี้ ในมุมมองของความหวังเอง ลิขิตกลับมองว่ายังคงมีโอกาสน้อย เพราะถึงแม้จะมีการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลมายังชุดใหม่แล้ว แต่เนื่องจากเป็นรัฐบาลที่มีความเป็นกลุ่มทุน จึงอาจเป็นข้อจำกัดหนึ่งที่ทำให้การผลักดันสิทธิเสรีภาพของกลุ่มชาติพันธุ์เป็นไปได้ช้า แต่สุดท้ายแล้วการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นล้วนต้องอาศัยการพูดคุยและเจรจาหาข้อตกลงระหว่างกัน

“สิ่งที่ผมหวัง คือสิทธิชาติพันธุ์มีความเท่าเทียมกับคนทั่วไปในรัฐธรรมนูญ คืนศักดิ์ศรีความเป็นชาติพันธุ์ รื้อประวัติ ให้รัฐออกมาขอโทษ และอีกเรื่องคือการกระจายอำนาจ ที่นำไปสู่การถกเถียงและเห็นขบวนการต่อสู้ของชาติพันธุ์”

 

ภาคเหนือ กับทรัพยากรที่ไม่อาจเข้าถึง

“ปัญหาหลักคือความมั่นคงในที่อยู่ ความมั่นคงในการเข้าถึงที่ดินและทรัพยากร เป็นสิ่งที่มีความผูกพันกับพี่น้องชาติพันธุ์โดยตรง”

สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่ของภาคเหนือ เพราะถึงแม้ว่าทรัพยากรต่างๆ จะมีอยู่มากมาย แต่ประชาชนบางกลุ่มกลับถูกจำกัดสิทธิในการเข้าถึง กลุ่มคนที่ต้องอาศัยป่าเป็นแหล่งพักพิงเริ่มถูกไล่ที่ให้ย้ายออกมาอยู่ด้านนอก และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นที่ส่งผลให้มีการจับกุมเพิ่มมากขึ้น

ประชากรในพื้นที่ภาคเหนือจำนวนไม่น้อยยังคงมีความเป็นกลุ่มคนเปราะบางที่ถูกมองข้าม และในจังหวัดเชียงใหม่ก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่สามารถสะท้อนปัญหาเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน เพราะด้วยความหลากหลายที่เพิ่มมากขึ้นในตัวเมือง กลุ่มคนที่หลั่งไหลเข้ามาอาศัยอยู่เริ่มมีความหนาแน่น การขยายตัวของภาคธุรกิจเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ขณะเดียวกันประชากรดั้งเดิมกลับถูกทอดทิ้ง เพราะนโยบายและกฎหมายที่ออกมามีความขัดแย้งต่อการดำรงชีวิตของกลุ่มคนเหล่านี้

อีกทั้งมุมมองของการต่อสู้เรียกร้องสิทธิกลับไม่ได้รับอิสระในการแสดงออก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับเพิกเฉยต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเข้ามาใช้พื้นที่ของกลุ่มทุน และสงกรานต์ยังเพิ่มเติมในแง่มุมของสิทธิมนุษยชนอีกว่าเป็นสิ่งที่สามารถขยายไปได้เรื่อยๆ อย่างไม่มีจุดสิ้นสุด เพื่อรองรับต่อความต้องการของกลุ่มคนที่ถูกกดขี่ ซึ่งหากทิศทางของการแก้ไขปัญหาคือการต้องบรรลุเป้าหมายเดิมจากนโยบายที่ถูกตั้งไว้ อาจยังไม่เพียงพอต่อรักษาไว้ซึ่งความเป็นตั้งเดิมของพื้นที่นั้นๆ

“หลายๆ เรื่องอาจไม่ได้มีความเกี่ยวเนื่องกับอำนาจรัฐโดยตรง เพียงแต่ต้องได้รับการยอมรับในเชิงอัตลักษณ์ทางสังคมก่อน ซึ่งท้ายที่สุดอาจนำไปสู่การรับรองในเชิงกฎหมายและนโยบายต่อไป แต่ตราบใดที่เท่าที่ยังไม่มีการรับรู้ในสังคมทั่วไปก่อน การได้กฎหมายหรือนโยบายมาก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง”

 

อัตลักษณ์ทางเพศกับสิทธิที่ถูกจำกัด

ความหลากหลายทางเพศ ประเด็นที่บ่อยครั้งจะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่นโยบายและกฎหมายยังไม่รองรับสิทธิของคนเหล่านี้ได้อย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าในประเทศไทยมีประชากรผู้มีความหลากหลายกระจายตัวอยู่ทั่วไปใน แต่ในขณะเดียวกัน เสียงที่ถูกถ่ายทอดออกมากลับไม่สามารถดังมาพอให้ได้ยินถึงชนชั้นปกครองที่มีอำนาจ

“เรื่องเพศเป็นเรื่องที่มีความใกล้ตัวกับทุกคนมาก” ณัฐมน สะเภาคำ นักวิจัยอิสระสายสตรีนิยมและผู้ก่อตั้งกลุ่ม Sapphic Pride (Feminist LBQ+ advocacy) เล่าถึงเหตุผลของการจัดตั้งกลุ่มอัตลักษณ์ทางเพศเนื่องจากสังคมยังมีพื้นที่ปลอดภัยไม่มากพอให้คนกลุ่มนี้ได้ออกมาแสดงความเป็นตัวเองได้อย่างอิสระ ซึ่งหนึ่งในตัวอย่างที่สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำนี้ยังคงอยู่ คือกรณีการแต่กายตามเพศสภาพเพื่อเข้ารับปริญญาที่ต้องผ่านกระบวนการพิสูจน์มากมายจึงจะได้รับการอนุญาต

เพราะระบบการศึกษาเป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่สามารถทำให้ผู้คนมีความเท่าเทียมกัน แต่ในสังคมที่อุดมไปด้วยความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ วัฒนธรรม และการดำรงชีวิต เพศกลับถูกใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสิน แบ่งแยกชนชั้น และผลักดันให้คนบางกลุ่มไม่ได้ยอมรับเท่าที่ควร และสุดท้ายก็กลายเป็นการซ้ำอยู่จุดเดิม

“ในสังคมเรามีเฟมินิสต์ที่เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม มีทั้งคนที่สนใจเรื่องศิลปะ และอยู่ในวงการการศึกษา แต่ว่าเรายังไม่เคยเห็นเฟมินิสต์ที่เป็นผู้บรรยายในสาธารณะ ไม่เคยเห็นคนที่ได้แสงและมีสถานะทางสังคม พอตัวเราที่เป็นใครก็ไม่รู้ออกมาพูด แม้ว่าจะศึกษามาดีแค่ไหน แต่คนอื่นๆ ก็จะไม่เข้า เพราะว่าไม่เคยมีมาก่อน”

ทั้งนี้ณัฐมนมองว่าการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนสามารถทำได้โดยการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ออกมาแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากซึ่งการกีดกันจากคำว่าเพศ เพราะปัจจุบันประเด็นนี้ได้กลายมาเป็นเรื่องพื้นฐานทางสังคมที่ทุกคนสามารถพบเจอได้กลับตัวเอง ไม่เพียงแค่ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น แต่ผู้ชายและผู้หญิงเองต่างต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงนี้ไปพร้อมกัน

 

เล่าเรื่องสิทธิผ่านแสงสีและการแสดง

เพราะสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เช่นเดียวกับวงการศิลปะ ที่บ่อยครั้งตัวของศิลปินได้หยิบเอาประเด็นทางสังคมขึ้นมาเล่า ผ่านรูปแบบต่างๆ ให้มีความน่าสนใจ A bullet have no eye ละครในรูปแบบไร้เสียงพูดถูกจัดแสดงขึ้นโดยกลุ่มลานยิ้มการละครหลังจากที่วงเสวนาจบลง เพื่อถ่ายทอดถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมที่เกิดจากการถูกละเมิดสิทธิ โดยผ่านมุมมองของคนดูแต่ละคน

และหลังจากที่ได้การแสดงละครในประเทศฟิลิปปินส์ ยอร์ช หนึ่งในสมาชิกล้านยิ้มการละครรู้สึกว่าสังคมไทยควรมีพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกคนได้แสดงออกอย่างเสรี จึงกลายมาเป็นเป็นแรงบันดาลใจในการริเริ่มนำสิ่งใหม่ๆ เข้ามาประกอบกัน สร้างเป็นผลงานศิลปะที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม ซึ่งหนึ่งในรูปแบบที่ยอร์ชได้สอดแทรกมา คือการที่ต้องทลายซึ่งกำแพงแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของการแสดง และทำให้ทุกคนสามารถแตะต้องผลงานศิลปะได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้เห็นถึงความใกล้ตัวในประเด็นที่กำลังสื่อสาร

“ตัวผมเองอยากโชว์ว่างานศิลปะมันมีอำนาจในตัวมันเองที่สูงมากจนรัฐสั่นกลัวได้เลยนะ งานศิลปะไม่ได้มีแค่ร้อง เล่น หรือเต้นอย่างเดียว มันสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการพูดถึงประเด็นบางอย่างที่มีความอ่อนไหวได้ด้วย และผมรู้สึกแค่อยากทำงานสักชิ้นเพื่อจะบอกว่าใครก็สามารถทำงานศิลปะได้เหมือนกัน”

ทั้งนี้ A bullet have no eye นั้นมีความเกี่ยวเนื่องกับประเทศไทยโดยตรง เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐใช้กระสุนเป็นเครื่องมือในการคงไว้ซึ่งอำนาจที่กดขี่ประชาชนรัฐ และสร้างเป็นความหวาดกลัวให้กับผู้ที่มีความเห็นต่าง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงในอดีต หรือการใช้กำลังในการเข้าสลายการชุมนุม ที่สุดท้ายกระสุนเหล่านั้นก็ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องไกลตัว และเลือนหายไปจากสังคมในที่สุด

ยอร์ชระบุอีกว่าต้องการให้คนที่กำลังเสพผลงานของตัวเองได้ปลดปล่อยจิตใจได้อย่างอิสระไปตาม แสง สี และเสียงที่ถูกนำมาประกอบ โดยที่ไม่ต้องคำนึงถึงความหมายมากนัก เพราะสุดท้ายแล้วประเด็นที่ศิลปินต้องการสื่อสารล้วนเป็นผลลัพธ์ที่มาจากการตีความของคนดู

“งานศิลปะมันคู่กับมนุษย์อยู่แล้ว เกิดมาเป็นของคู่กันพอสมควร คนเราสามารถมีสิทธิในการทำศิลปะ และมีสิทธิมากๆ ในการพูดถึงเรื่องอะไรสักอย่างตามสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเอง ไม่ว่าจะในประเทศแบบไหน เพราะมันจะมีกฎหมายเรื่องของสิทธิอยู่เป็นของตัวเองอยู่แล้ว ซึ่งการตะโกนบางอย่างออกมา การอ่านบทกวี การวาดภาพมันเป็นการกระทำที่มนุษย์ทุกคนพึงจะทำได้”