เมื่อการปลดแอกไม่ได้มีแค่การเปล่งเสียง! คุยกับแอดมินเพจ 'PrachathipaType' ศิลปินวัย 40 ที่สร้างงานศิลปะเรื่องสิทธิมนุษยชน ผ่านตัวอักษรเชิงสร้างสรรค์

15 ธันวาคม 2566

Amnesty International Thailand

ผมคิดว่ามันมีความน่าเศร้าของการเป็นคนวัย 40 ปี คือเราไม่รู้ว่าความคิดเราจะหมดอายุเมื่อไหร่ ความสามารถในการทำงานของเรามันจะหมดความหมายในโลกที่โดน disruption ที่มีของใหม่ สิ่งใหม่มาแทนที่เมื่อไหร่ หลายคนก็เลือกที่จะเป็นสายโอน ทำอะไรก็ว่าไป แต่ถ้าเราไม่ได้มีทรัพยากร ไม่ได้มีเงินหรือมีหลายอย่างที่พร้อมเหมือนคนอื่น แต่เรายังมีไอเดีย มีความคิดสร้างสรรค์เชิงศิลปะ จึงทดลองกับทีมทำมันขึ้นมา พอทำในโซเชียลแล้วมันดี มันก็เป็นทางหนึ่งที่พอจะทำอะไรได้ 

รู้สึกตัวอีกที ตอนนี้ความสิ้นหวังที่เกิดขึ้นกับคนรุ่นใหม่ ผมว่ามันหนักหนากว่าช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ตอนปี พ.ศ. 2540 เสียอีก 

 

 

เป็นคำตอบที่เกิดจากการตกผลึกทางความคิดของคนที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาค่อนชีวิต ชายวัยเลข 4 ผู้สวมหน้ากาก ‘กายฟอว์คส์’ (Guy Fawkes mask) หรือหน้ากากขาว และในบางครั้งเขาเลือกใส่หน้ากากลวดลายอื่นๆที่พ่นหรือเพนท์เองคือเจ้าของคำตอบนี้ และยังเป็นชายที่อยู่เบื้องหลังเพจ ‘PrachathipaType’ เพจที่รวมนักออกแบบที่ใช้ศิลปะของตัวอักษร ในการสื่อสารประเด็นทางการเมือง ที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยอันแรงกล้าไว้ด้วยกันผ่านงานศาสตร์และศิลป์ที่บ่มเพาะมาจากแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์  

 

อีกใจความสำคัญด้านบนเป็นคำพูดของชายคนนี้ ที่ได้พูดถึงการส่งเสริมและสนับสนุนช่วยนักกิจกรรมที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม เขาเล่าว่าจำนวนเงินที่โอนเพื่อสนับสนุน บางทีมาจากการทำของขายแล้วแบ่งกำไร หรือไม่ก็ให้คนที่โอนเข้ากองทุนต่าง ๆ เอาสลิปมาแลกสติกเกอร์ที่ออกแบบไว้ หากคำนวณมูลค่าจะคิดเป็นเงินมากกว่า 3 เท่าของค่าพิมพ์สติกเกอร์ ซึ่งแบบของสติกเกอร์จะมีบางชุดที่เพจ Prachathipa Type เอามาจากงานศิลปะจากทางบ้านที่ส่งเข้ามาร่วมกิจกรรมของเขาและทีมงานด้วย

 

 “คืออยากให้งานศิลปะของเราจุดประกายให้เกิดความร่วมแรงร่วมใจ เพราะมันจะมีคุณค่าและมูลค่ามากกว่าครับ” แอดมินเพจ Prachathip Type พูดถึงจุดยืนเรื่องงานศิลปะสำหรับเขา 

แต่ด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่าง แม้เขาจะเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงไม่ได้ แต่เรื่องราวที่เขาต้องการสื่อสาร ยังสามารถเปล่งเสียงและเจตจำนงค์ออกมาได้อย่างทรงพลัง ด้วยการสื่อสารเรื่องราวผ่านตัวอักษร น้ำหนักของลายเส้น และการควบแน่นอารมณ์ผ่านพลังแห่งสี ที่จิกกัดสังคม และสะท้อนความนึกคิดของพวกเขาได้อย่างอิสระผ่านการใช้ศิลปะทางความคิดและการลงมือผลิต ทำให้หลายผลงานที่พวกเขารังสรรค์ขึ้นมาทัชใจคนที่พบเห็นจำนวนไม่น้อย 

เช่น ผลงานการออกแบบโลโก้ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เมื่อช่วงปี 65 ที่  ‘PrachathipaType-ประชาธิปไทป์ทำตั้งใจโลโก้ให้ผู้สมัครที่เป็นตัวเต็งหลายคน หนึ่งในนั้นคือโลโก้เบอร์ 8 ของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ดัดแปลง ‘ช.’ ให้เป็นเลข ‘8’ จนไปเข้าตาชัชชาติ ที่ถึงกับต้องโทรมาขอใช้โลโก้ดังกล่าว

อีกผลงานที่หลายคนอาจคุ้นตา คือฟอนต์ไทยหัวหายที่ลบส่วนหัวของตัวอักษรไปหมด เพื่อสื่อสารถึงการที่รัฐไม่เคยเห็นหัวของประชาชน โดยงานชิ้นนี้ ‘PrachathipaType’ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์ที่สมาชิกวุฒิสภา (สว.) คว่ำร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนกว่าแสนคนร่วมลงชื่อสนับสนุน

 

ทำไมต้องสื่อสารการเมืองผ่านศิลปะของตัวอักษร?

 

 

แอดมินเพจ ‘PrachathipaType’ ย้อนจุดเริ่มต้นของการออกมาเคลื่อนไหวในนาม ‘PrachathipaType’ ให้ฟังว่า เขาเป็นคน Gen-X ที่เคยผ่านวิกฤตช่วงต้มยำกุ้งมาแล้ว ตอนนั้นเขาได้ลิ้มรสถึงความสิ้นหวังจากทางตรงและทางอ้อมในชีวิตก่อนจะย่างเข้าสู่วัยเลข 4 ทุกวันนี้ ทั้งการที่เห็นพ่อแม่ของเพื่อนบางคนทำธุรกิจแล้วล้มละลาย แล้วตัดสินใจเลือกที่จะจบชีวิตตัวเอง รวมไปถึงการเห็นคนรู้จักที่ไปเรียนต่างประเทศแล้วต้องรีบกลับบ้านมาที่ประเทศไทยมาอย่างกะทันหัน เพราะพิษเศรษฐกิจทั่วโลกในช่วงนั้น ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงในระดับที่คนเกือบทั้งโลกต้องเป็นกังวล เพราะส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คน และนักลงทุนที่ทำธุรกิจมหาศาล

ช่วงเวลาแห่งความมืดมนและหมดหวังในประเทศตอนนั้น แอดมินเพจ ‘PrachathipaType’ เล่าว่า กินเวลายาวนานเกือบ 3 ปีแต่แสงแห่งความหวังใหม่ได้สาดส่องเข้ามาในชีวิตผู้คนอีกครั้ง เมื่อช่วงเวลาแห่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจเริ่มผลิบานในทิศทางที่ดีขึ้นอีกครั้งในช่วงปี 2543 ทำให้เกิดการผลักดันโครงการใหม่ๆ ของภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ เริ่มเบ่งบาน งานสร้างสรรค์ที่รัฐไทยส่งเสริมในช่วงนั้น จนทำให้คนเกิดการตื่นตัว คือการเกิดองค์กรอย่างสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน)  OKMD, ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC), TK Park พื้นที่การเรียนรู้สำหรับทุกคน และโครงการกรุงเทพเมืองแฟชั่น โดยได้รับการส่งเสริมไปจนถึงเวทีระดับโลก จนทำให้ตัวเขาที่มีโอกาสได้ไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ รู้สึกอยากกลับบ้านเกิดมาพัฒนาประเทศให้ดีขึ้นทันทีที่เรียนจบ 

“เรารู้สึกตัวอีกที คนรุ่นผมหลายคนอาจมีอาชีพที่มั่นคง มีฐานะโอเคมีคุณภาพชีวิตที่โอเค โดยที่เราเคยผ่านช่วงที่ประเทศมีความหวังมาแล้ว ปรากฏว่าการที่เราปล่อยให้ความพังพินาศหลายหลายอย่าง มันเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา จนเยาวชนยุคนี้รู้สึกว่าสังคมไม่มีความหวังจนถึงต้องออกมาเคลื่อนไหวผ่านการชุมนุมหรือกระแสที่มีการตั้งกลุ่มย้ายประเทศขึ้นมา”

แต่สุดท้าย…ความหวังและความฝันที่เริ่มก่อตัว มีอันต้องพังลงไปอีกครั้งเมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้นในปี 2549 ความขัดแย้งทางการเมือง ที่ปลุกความเกลียดชังของผู้คนลากยาวมาจนถึงปี 2553 และยิ่งทวีความความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เมื่อเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อเหลือ-เสื้อแดง ชนวนเหตุที่สร้างเงื่อนปมจนนำมาสู่ยุคของม็อบกปปส. และนำมาสู่การรัฐประหารอีกครั้งในปี 2557 

 

วัยเลข 4 ที่คิดว่างานศิลปะใช้ตะโกนเพื่อแสดงสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกได้ 

แอดมินเพจ ‘PrachathipaType’ ใช้ถ้อยคำผ่านประโยคที่เสียดทานสังคมระหว่างพูดคุยกันว่า ความเดือดดาลของผู้คนที่รู้สึกถูกกดขี่โดยรัฐในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เป็นปัจจัยที่นำมาสู่การเคลื่อนไหวของคนวัยหนุ่มสาวในช่วงปี 2563 ที่ออกมารวมพลังคลื่นมวลชนออกมาชุมนุมประท้วงเรียกร้องเรื่องสิทธิเเละเสรีภาพในครั้งนั้น ทำให้เขาที่ย่างก้าวเข้าสู่วัยเลข 4 ตระหนักว่า แม้คนรุ่นเขาหลายคนอาจมีอาชีพที่มั่นคงแล้ว แต่เหมือนกับว่าคนรุ่นเขาได้ปล่อยให้เกิดความพังพินาศหลายอย่างในประเทศโดยที่ไม่ทำอะไรมาตลอดในช่วง 10 กว่าปี จนทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกสิ้นหวังกับประเทศ แล้วตัดสินใจออกมาชุมนุมประท้วง จนมีปรากฎการณ์ที่พบว่า คนรุ่นใหม่บางคนอยากย้ายไปอยู่ต่างประเทศ เพราะมองว่ามองไม่เห็นอนาคตของประเทศที่บอกว่ามีประชาธิปไตย  

 

"รวมถึงทุกวันนี้ยังมีคนที่อายุ 30-40 ปี ที่อยากให้ลูกหลานไปเติบโตในประเทศอื่น จึงตั้งใจทำงานส่งลูกเรียนในโรงเรียนอินเตอร์ หรือโรงเรียนสองภาษา ด้วยความหวังว่าพวกเขาจะได้เติบโตขึ้นไปทำในสิ่งที่รัก ที่ไหนสักแห่งบนโลกใบนี้ รวมถึงครอบครัวที่มีธุรกิจเป็นทุนเดิม กลับกล้าเสี่ยงไปเริ่มต้นสายอาชีพใหม่ในต่างประเทศ เพราะเหตุการณ์บ้านเมืองในประเทศไทยทุกวันนี้ หลายสถานการณ์ทำให้หลายครอบครัวอาจไม่รู้จะสอนลูกหลานให้ยึดมั่นในความถูกต้องได้อย่างไร"

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เขารู้สึกว่าวิกฤตสังคมที่คนรุ่นใหม่ต้องเผชิญในตอนนี้ หนักกว่าตอนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งเสียอีก เรียกว่าเป็นความสะเทือนใจจนทำให้หลายคนต้องออกมาร่วมเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วง แต่ด้วยข้อจำกัดที่เกิดขึ้นตามช่วงวัยและจังหวะชีวิต จึงทำให้เขาช่วยเหลืออะไรไม่ได้มาก ประกอบกับตอนนั้นยังไม่เห็นใครนำศิลปะการออกแบบตัวอักษรมาใช้ในการเคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ระหว่างการชุมนุมประท้วงเท่าไหร่นัก จึงอยากใช้ความสามารถของตัวเองที่มีในด้านนี้ มาช่วยเคลื่อนไหวอีกทางหนึ่ง และนำมาสู่ที่มาของคำว่า ‘PrachathipaType’ ที่เกิดจากการเล่นคำ 2 คำ  คือ คำว่า ประชาธิปไตยกับคำว่า ‘Typography’ ที่แปลว่าศิลปะการออกแบบด้วยตัวอักษร 

รู้สึกตัวอีกที ตอนนี้ความสิ้นหวังที่เกิดขึ้นกับคนรุ่นใหม่ ผมว่ามันหนักหนากว่าช่วงต้มยำกุ้งเสียอีก แล้วเราจะไม่ทำอะไรเลยหรอ แต่ด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นตามช่วงอายุ และจังหวะชีวิต เราคงไม่ได้ ให้ความช่วยเหลืออะไรมากมาย ถ้าเราไปอยู่ในม็อบ เพื่อนเราหลายๆ คนอาจเน้นเป็นท่อน้ำเลี้ยง แต่สำหรับเราคิดว่านอกเหนือจากนั้น เราขอใช้ศิลปะของเราช่วยอีกทางหนึ่งก็แล้วกัน ” 

 

 

แอดมินเพจ ‘PrachathipaType’ ยังมองว่าในสังคมที่รายล้อมไปด้วยความหดหู่แบบนี้ การที่เราจะขับเคลื่อนชีวิตด้วยการโกรธแค้นและก่นด่าต่อว่ากันตลอดเวลา คงไม่เป็นผลดีกับสุขภาพของเราและทุกคนแน่นอน ดังนั้นเขาจึงหวังที่จะ “สร้างศิลปะให้คนยิ้มได้เเม้จะเจอกับเหตุการณ์ที่มันเฮงซวย”ผ่านการส่งต่องาน Creative เชิงสร้างสรรค์มอบให้กับประเทศที่มีหลายอย่างไม่สมเหตุสมผลโดยเฉพาะเรื่องสิทธิต่างๆ ที่เป็นอยู่ในตอนนี้ สำหรับเขาในฐานะศิลปินคนหนึ่ง หากสามารถทำให้คนหัวเราะกับมันได้ คงเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งที่จะทำให้เราไม่บ้าไปเสียก่อนและบางเรื่องหรือบางประเด็นในสังคมที่พูดหรือส่งเสียงไม่ได้ การใช้สัญญะทางศิลปะก็เป็นวิธีหนึ่งในการสื่อสารให้คนคิดต่อ และเชื่อมโยงประเด็นให้เข้าใจในสิ่งนั้นร่วมกันได้ 

 

สิทธิเสรีภาพที่ถูกถ่ายทอดผ่านตัวอักษร เมื่อการปลดแอกไม่ได้มีแค่การเปล่งเสียง!

เราไม่ได้ประท้วงเพื่อคนใด เรามาประท้วงเพื่ออนาคตของทุกคนร่วมกัน และตัวอักษรมันคล้ายๆกับหนัง Back to the Future เป็นหนังเกี่ยวกับการย้อนเวลาไปแก้ไขอดีตและเปลี่ยนแปลงอนาคต

การแสดงออกทางการเมืองผ่านการสื่อสารด้วยตัวอักษรของ ‘PrachathipaType’ ที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัว ได้กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานร่วมกันกับแอมเนสตี้ประเทศไทย 

งานชิ้นแรกที่เขาได้ร่วมขับเคลื่อนกับแอมเนสตี้ คือการออกแบบตัวอักษรชื่อแคมเปญ ‘Protect the Protest’ ที่เป็นภาษอังกฤษ และคำว่า ปกป้องสิทธิในเสรีภาพการชุมนุม ที่เป็นชื่อแคมเปญในภาษาไทย ที่จะนำไปใช้ในสิ่งของต่างๆ เช่น เสื้อ หมวก กระติกน้ำ สติกเกอร์ และร่มกันแดดฝน ผลิตภัณฑ์ที่ได้ร่วมออกแบบขึ้นมา จะเป็นงานศิลปะที่ถูกใช้ในการใช้สิทธิในการแสดงออก และสิทธิเสรีภาพในรูปแบบต่างๆ ได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ใช่แค่เพียงการออกเดินเท้าไปประท้วงชุมนุมเพียงอย่างเดียว ตามสถานที่ต่างๆ เหมือนที่ผ่านมา

ตอนแรกที่ได้รับโจทย์ ‘PrachathipaType’ เคยคิดจะตีความภาพที่จะสื่อสารออกมาเป็นเหมือนช่วงม็อบปี 2563 - 2564 ที่มี Visual Element (ส่วนประกอบที่ทำให้เกิดเป็นงานศิลปะ) ที่ถูกใช้เยอะมากไม่ว่าจะเป็น เป็ดยางลอยน้ำสีฟ้า ปลอกกระสุนยาง หรืออะไรต่างๆ แต่พวกเขารู้สึกช่วงเวลานั้นมันผ่านไปแล้ว จึงมองว่าคนที่ออกมาประท้วง เขารู้สึกต้องการให้คนรับรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง เมื่อเกิดการรวมตัวกันก็จำเป็นต้องพูดหรือทำให้เสียงดังพอ จึงเป็นที่มาของการคิดถึงรูปแบบตัวอักษรที่จะต้องหนักแน่น มีพลัง เพื่อสะท้อนถึงการรวมตัวกัน และใช้ลายเส้นแบบหยักในบางตัวอักษร เพื่อสื่อถึงความเร่งด่วนของการรวมตัวกันของคนที่ต้องการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก และงานออกแบบบางตัวได้เพิ่มมิติของกรอบตัวอักษร ให้เหมือนถูกดึงเข้าไปด้านในที่เป็นจิตใต้สำนึกของทุกคนที่ต้องการเปล่งเสียงและใช้สิทธิเสรีภาพของตัวเอง  

“บางทีการประท้วงเราไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง เราทำเพื่อคนที่เป็นกลุ่มที่เขาเดือดร้อนจริงๆซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มเปราะบาง อาจจะเป็นกลุ่มคนด้อยโอกาส แต่ที่สำคัญคือทั้งหมดทุกอย่างในสังคมมันเชื่อมถึงกันหมด แล้วมันก็จะมีผลต่อตัวเราลูกหลานเราในอนาคตไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ก็เลยรู้สึกอินกับอันนี้เป็นพิเศษ

นอกจากผลงานการออกแบบในแคมเปญ ‘Protect the Protest’ แล้ว ยังมีงานออกแบบอีกหลายชิ้นที่ ‘PrachathipaType’ ได้ทำร่วมกับแอมเนสตี้ ซึ่งงานที่เขารู้สึกสนุกคือการออกแบบสติกเกอร์ข้อความเรียกร้องต่างๆ เช่น ปล่อยเพื่อนเรา , Protest For Tomorrow เพราะเขาในฐานะศิลปินคนหนึ่งที่มีทีมทำเรื่องเหล่านี้ด้วยกัน เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มดีไซเนอร์ที่สนุกในศิลปะตัวอักษร จึงรู้สึกว่าการทำสติกเกอร์ให้มีสีสันขึ้นมา จะทำให้คนที่ซื้อไป กล้านำไปใช้หรือไปแปะในสิ่งของได้จริง โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าจะดูโหดร้าย หรือตะโดนว่าเห็นต่างแบบตรงๆ เกินไป จากที่เห็นยอมรับว่า ‘ขายความน่ารัก สีสัน’ เพื่อทำให้การเปล่งเสียงเรียกร้องสิทธิเป็นเรื่องที่ทุกคนกล้าใช้ กล้าคิด และกล้าทำ ในรูปแบบของตัวเอง

ผมคิดว่าเราสามารถพูดเรื่องๆ หนึ่งด้วยน้ำเสียงที่แตกแตกต่างกันได้ แล้วแต่ว่าอยากให้กลุ่มเป้าหมายคนไหนฟัง ดังนั้นถ้าเราจะพูดเรื่องสิทธิแบบตะโกน แบบก้าวร้าว บางคนอาจไม่อยากฟัง บางคนอาจไม่อยากรู้สึกถูกมองว่าเป็นคนก้าวร้าว ถ้าเป็นความน่ารักประมาณหนึ่ง มีสีสันประมาณหนึ่ง ประมาณว่าเรายึดมั่นในหลักการนี้นะ แล้วเราอยากจะแสดงออกด้วยการติดสติกเกอร์เหล่านี้ในของใช้ของเรา แต่เราไม่ได้มาแหกปากใส่กัน ตะคอกใส่กัน ตะโกนใส่กัน เราพูดด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวล ดังแต่ไม่แผดร้อง ชัดเจนแต่ไม่ก้าวร้าว ” 

 

 

แอดมิน PrachathipaType’ เชื่อว่าการประที่คนออกมาประท้วง เป็นเพราะพวกเขารู้สึกเดือดร้อนจริงๆ และที่สำคัญคือโลกทุกวันนี้ทุกอย่างในสังคมเชื่อมต่อและเข้าถึงถึงกันได้หมด ส่วนตัวเขาเชื่อว่า ถ้าทุกคนออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในแบบของตัวเอง จะมีส่วนช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลง และได้ผลตอบรับที่ดีมากขึ้นต่อตัวเรา รวมถึงลูกหลานในอนาคตไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง จึงทำให้เขารู้สึกอินกับคำว่า ‘Protest For Tomorrow’ เป็นพิเศษ และตอนนี้ก็มีคำว่า ‘Protect the Protest’ เป็นอีกคำที่ทำให้เขาเห็นว่าสิทธิในการแสดงออกนั้นสำคัญและทำได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีไหน 

“หากใครอยากสนับสนุนแอมเนสตี้ และส่งเสริมผลักดันการแสดงออกในจุดยืนของตัวเองผ่านตัวอักษรต่างๆ ที่อยู่ในผลิตภัณฑ์เหล่านี้ และอยากส่งต่อให้คนรอบข้างได้เห็น สามารถอุดหนุนสติกเกอร์และสินค้าต่างๆ ของแอมเนสตี้กันได้ เพราะข้อความต่างๆ ที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ เชื่อว่ามันสอดคล้องกับคุณค่าที่ใครหลายคนยึดถือ อย่าลืมมาอุดหนุนนะครับ”

 

ผู้ที่สนใจสามารถสั่งซื้อได้ที่เฟซบุ๊ก : Amnesty Shop Thailand หรือกดสั่งซื้อได้ที่ https://shop.amnesty.or.th/