10 วิธี ‘อย่าหาทำ’ จากทั่วโลกในการรับมือกับโควิด-19

29 พฤษภาคม 2563

Amnesty International

 ถึงแม้วิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 จะไม่ได้มีทางออกที่ง่ายดาย แต่ก็มีบางวิธีที่เราทุกคนน่าจะรู้ดีว่ายังไงก็ไม่น่าจะได้ผล การระบาดครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นนโยบายสุดประหลาดของรัฐบาลบางประเทศ มีตั้งแต่ การฉวยโอกาสใช้อำนาจเกินความจำเป็น การให้ความรู้วิทยาศาสตร์แปลกประหลาด และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างสิ้นเชิง

 

และนี่คือ คู่มือ ‘อย่าหาทำ’ ในการรับมือกับโรคระบาด – และยังสนับสนุนโดยบุคคลผู้มีอำนาจมากที่สุดในโลกบางคนด้วย

 

1. ขังประชาชนไว้ในบ้านปิดตาย

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผู้อยู่อาศัยรายหนึ่งของอพาร์ทเม้นท์เมืองออสเกเมน ประเทศคาซัคสถาน เดินทางกลับมาบ้านและพบว่าประตูทางเข้าหน้าตึกถูกเชื่อมปิดสนิท ทราบภายหลังว่ามีผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ในอพาร์ทเม้นท์ดังกล่าว ถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลด้วยอาการโรคโควิด 19 แต่ผู้อยู่อาศัยคนอื่นๆไม่ทราบเรื่องเลย บางคนพึ่งรู้ตัวว่าถูกกักขังในเช้าวันถัดมา ตึกถูกปิดตายเป็นเวลา 14 วัน โดยที่พวกเขาไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภายนอกเลย เว้นแต่พัสดุที่ถูกตรวจสอบแล้วโดยตำรวจ ในที่สุดประตูกลับมาเปิดอีกครั้งหลังจากการร้องเรียนผ่านทางสื่อออนไลน์ จากรายงานพบประชาชนถูกกักขังในบ้านของตนเองในพื้นที่อื่นๆ ของคาซัคสถาน และในประเทศเพื่อนบ้านอย่าง คีร์กีซสถานด้วย


2. ทำให้ประชาชนไร้บ้าน

เจ้าหน้าที่เมืองแอดดิสอาบาบา ประเทศเอธิโอเปีย ทำให้การเว้นระยะห่างทางกายภาพยากขึ้นกว่าที่เคย เมื่อพวกเขารื้อทำลายบ้านของผู้ใช้แรงงานรายวันจำนวนหลาย 10 หลัง ส่งผลให้ประชาชนอย่างน้อย 1,000 คน ไร้บ้านท่ามกลางเหตุการณ์โรคระบาด แรงงานไร้บ้านส่วนมากพึ่งตกงานเนื่องจากมาตรการการปิดเมือง การสั่งรื้อถอนบ้านจึงทำให้สถานการณ์ของพวกเขาที่ลำบากอยู่แล้ว แย่ลงกว่าเดิม ปัจจุบันพวกเขาอาศัยอยู่ใต้ผืนผ้าใบ หรือแผ่นพลาสติก และต้องอยู่เบียดเสียดกันท่ามกลางฝนตกหนัก

 

3. ลงโทษผู้แจ้งเหตุ

ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ชาวจีนถูกลงโทษอย่างหนักหลังพยายามให้สัญญาณเตือนภัยวิกฤตในขั้นแรกเริ่ม ช่วงปลายเดือนธันวาคม นายแพทย์หลี่ เหวินเหลียง แพทย์ประจำโรงพยาบาลกลางอู่ฮั่น ได้ส่งคำเตือนโรคโควิด 19 ให้เพื่อนร่วมวิชาชีพของเขาผ่านทางข้อความส่วนตัว ส่งผลให้เขาถูกคุมขังในข้อหาเผยแพร่ข่าวลือเท็จ และถูกบังคับให้รับรองเอกสารว่าเขาได้กระทำละเมิดกฎระเบียบสาธารณะ นายแพทย์หลี่เสียชีวิตอย่างน่าสลดด้วยโรคโควิด 19 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา


 
4. จัดงานให้มีการรวมตัวผู้คนจำนวนมาก

ประธานาธิบดีประเทศนิการากัว นายดานิเอล ออร์เตกา แสดงจุดยืนเพิกเฉยต่อคำเตือนและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับโรคระบาดโควิด 19 ขององค์กรระหว่างประเทศ ทั้งยังสนับสนุนให้ประชาชนเข้าร่วมพิธีเฉลิมฉลองทางศาสนา และกิจกรรมกลางแจ้งต่างๆ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม รัฐบาลจัดขบวนสวนสนามเพื่อแสดงออกซึ่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับผู้ป่วยโควิด 19 ในชื่อว่า ‘ความรักในช่วงโควิด 19’ 


ประชาชนกว่าพันคนออกมาเดินขบวนตามท้องถนนโดยไม่เว้นระยะห่างต่อกัน การสนับสนุนชุมนุมสาธารณะของนายออร์เกตาในครั้งนี้เป็นที่น่าประหลาดใจอย่างยิ่ง เนื่องจากเมื่อ 2 ปีที่แล้ว รัฐบาลของเขาได้วางนโยบายป้องกันและปราบปรามการชุมนุมประท้วงทุกรูปแบบมาโดยตลอด และบ่อยครั้งมีการใช้กำลังรุนแรงถึงชีวิต


5. สนับสนุนทฤษฎีการรักษาที่เป็นอันตราย

จากการแถลงข่าวในเดือนเมษายนที่ผ่านมา นายทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา แนะนำให้แพทย์ตรวจสอบว่าการฉีดยาฆ่าเชื้อโรคสามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้หรือไม่ อีกทั้งเสนอให้ผู้ป่วยโดนแสงแดดมากขึ้น (ฉายแสงยูวี (UV light) ให้กับผู้ป่วย)

นายอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโค ประธานาธิบดีประเทศเบลารุส ไม่ประกาศใช้มาตรการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลในประเทศ อีกทั้งกล่าวว่าการอบซาวน่า การทำไร่ ทำนา และการดื่มวอดก้าจะช่วยรักษาผู้คนจากไวรัสได้

 

6. แสร้งว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น

นายฌาอีร์ โบลโซนารู ประธานาธิบดีประเทศบราซิล อ้างเชื้อไวรัสเป็นเพียง ‘ไข้หวัดเล็กน้อย’และเข้าร่วมการประท้วงต่อต้านมาตรการปิดเมือง

 

7. สังหารผู้ละเมิดเคอร์ฟิว

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม รัฐบาลเคนย่าประกาศกฎห้ามประชาชนออกนอกบ้านยามวิกาล ฮิวแมนไรท์วอทช์รายงานว่ามีประชาชนอย่างน้อย 6 ราย ถูกตำรวจสังหาร เนื่องจากละเมิดข้อบังคับในช่วงเพียง 10 วันแรกของการประกาศเคอร์ฟิวเท่านั้น

นายโรดรีโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีประทศฟิลิปปินส์ รับสั่งการให้ตำรวจสามารถยิงประชาชนผู้ประท้วงที่ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับมาตรการกักตัวได้ พร้อมเริ่มยิงนักโทษที่แตกตื่น

 


8. ใช้กำลังกับประชาชนเกินกว่าเหตุ

ด้วยสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่และหนาแน่นของสถานคุมขังอิหร่าน ทำให้นักโทษลุกขึ้นประท้วงในเดือนเมษายน อย่างไรก็ตามแทนที่จะพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ในคุก เจ้าหน้าที่กลับตอบโต้ด้วยกำลังรุนแรงถึงตาย แหล่งข่าวเชื่อถือได้รายงานว่า ในคุกบางแห่งมีการใช้กระสุนปืนและแก๊สน้ำตาในการสลายการชุมนุม นักโทษกว่า 35 รายเสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บกว่าร้อยราย เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในคุกอย่างน้อยหนึ่งแห่ง ใช้กำลังทุบตีนักโทษผู้เข้าร่วมการประท้วง ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้


 
9. จำกัดการเข้าถึงน้ำ อาหาร และความช่วยเหลือ

เสบียงน้ำและอาหารกำลังลดน้อยลงในค่ายผู้ลี้ภัยบางแห่ง ในขณะที่รัฐไม่มีท่าทีให้การช่วยเหลือ ยกตัวอย่าง เมื่อวันที่ 20 เมษายน เจ้าหน้าที่ชาวบอสเนียตัดเสบียงน้ำเข้าสู่ค่ายวุคชัค (Vucjak) ด้วยคำสั่งโยกย้ายผู้ลี้ภัยไปยังค่ายใหม่

ค่ายผู้ลี้ภัยรุกบัน (Rukban) บริเวณชายแดนประเทศจอร์แดน-ซีเรีย ให้ที่อยู่กับผู้ลี้ภัยกว่า 10,000 คนผู้อพยพหนีจากข้อพิพาทซีเรียจากสภาพความเป็นอยู่ในค่ายเป็นที่น่าตกใจ เนื่องจากมีศูนย์พยาบาลเพียง 1 แห่ง ซึ่งไม่มีแพทย์ประจำการ มีแค่เพียงพยาบาลจำนวนหนึ่ง ในเดือนมีนาคมประเทศจอร์แดนประกาศห้ามอนุมัติการเดินทางข้ามแดนเพื่อส่งมอบความช่วยเหลือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ไปยังค่ายผู้ลี้ภัย เหตุเพราะความเสี่ยงต่อโรคโควิด 19 

 

10. ปิดบังข้อมูล จับกุมนักข่าว

รัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกสั่งตรวจกรองและสกัดกั้นข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับไวรัสโควิด 19

นายดาวินสัน โรฆาส (Darvinson RoJas) นักข่าวชาวเวเนซุเอลา ถูกคุมขังเป็นเวลา 12 วัน ด้วยข้อหา‘ปลุกปั่นความเกลียดชัง’ ภายหลังรายงานข่าวเกี่ยวกับการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสในประเทศ

ในประเทศอียิปต์ กองกำลังรักษาความปลอดภัยเข้าจับกุมนักข่าวผู้ตั้งคำถามเกี่ยวกับสถิติการแพร่ระบาดของทางการอียิปต์ ในเพจเฟสบุ๊คส่วนตัว เขาถูกคุมขังลับ และถูกตัดขาดการสื่อสารจากภากโลกภายนอกเป็นระยะเวลาเกือบ 1 เดือน ก่อนถูกนำตัวขึ้นศาลในคดีข้อกล่าวหา ‘เผยแพร่ข่าวเท็จ’ และ ‘เข้าร่วมองค์กรก่อการร้าย’

ในประเทศบังกลาเทศ นักข่าวอย่างน้อย 20 คนถูกข่มขู่ โจมตี และกลั่นแกล้งโดยสมาชิกพรรครัฐบาล และในบางกรณีถูกจับในข้อหาลักทรัพย์ ยักยอก และไร้ความรับผิดชอบในการผ่อนคลายความตึงเครียดช่วงการกักตัว

 


โรคระบาดไม่ใช่ข้ออ้างสำหรับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลทั่วโลก และข้อเสนอแนะของแต่ละประเทศได้ที่ COVID-19 hub