เปิดประตูบ้าน 'ชาวมานิ' สิทธิที่ตกหล่น ทั้งที่ควรได้รับ ของ...กลุ่มชาติพันธุ์ทางภาคใต้

17 ตุลาคม 2566

Amnesty International Thailand

มานิคือใคร ? ใครคือมานิ? 

 

เราเดินทางไกล เพื่อไปพบเพื่อนมนุษย์ ที่อยู่ร่วมชาติเดียวกัน 

เพื่อนกลุ่มนี้ อาศัยอยู่ใกล้ป่าเขา ที่ จ.ตรัง และ จ.สตูล ใกล้ป่าและธรรมชาติ

‘กระท่อม’ หรือ ‘ทับ’ คือบ้านที่พวกเขามีไว้ใช้พักกายใจในทุกๆ วัน 

แม้รูปทรงของบ้านจะปลูกแบบชั่วคราว แต่นี่คือศูนย์รวมจิตใจของพวกเขาทุกคน

 

 

เพื่อนที่เราเดินทางไปเปิดประตูบ้าน สู่ประตูใจ คือ ‘กลุ่มชาติพันธุ์มานิ’ ที่อาศัยใกล้ธรรมชาติ เรียกสั้นๆ ว่า ‘ชาวมานิ’ เดิมทีเขาใช้ชีวิตแบบเคลื่อนย้ายกันเป็นกลุ่ม เพื่อออกเดินทางไปตามแหล่งอาหาร แต่ปัจจุบัน…พื้นที่ป่าและทรัพยากรทางธรรมชาติมีข้อจำกัดมากขึ้น ไม่มีอิสรภาพเหมือนเก่า

 

‘ป่า’ ที่เคยอยู่ มีสภาพที่ไม่สมบูรณ์เหมือนเก่า

‘หัวมัน’ ที่เคยขุดได้ หาเก็บกินไม่ง่ายเหมือนก่อน

‘น้ำ’ ที่เคยใช้กิน ใช้อาบ ไม่ได้หมุนเวียนใช้ได้ตลอดปี 

 

สิ่งเหล่านี้ถูกเชื่อว่าเกิดจากการ ‘ขยายตัวของเมือง’ และ ‘สิ่งแวดล้อม’ ที่ทำให้หลายสิ่ง หลายอย่างเปลี่ยนไป 

 

 

ปัจจุบัน ‘ชาวมานิ’ มีบัตรประชาชนกันเกือบทุกคน ตั้งแต่ประมาณปี 2563

พวกเขามีสถานะเป็น ‘พลเมืองไทย’ เข้าถึงสิทธิสวัสดิการขั้นพื้นฐานของรัฐได้ทุกอย่าง 

แต่…ยังพบปัญหาสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธิในที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และการศึกษา 

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์ เนชั่นแนล ประเทศไทย ลงพื้นที่ 4 วัน 3 คืน ที่ จ.ตรัง และ จ.สตูล

การเดินทางครั้งนี้ มีหมุดหมาย เพื่อเข้าไปดูถิ่นฐานและพูดคุยกับชาวมานิ ที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ เราเก็บข้อมูล เพื่อนำมาขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชน ให้เข้าถึงทุกคนได้อย่างแท้จริง

สิทธิมนุษยชนสำหรับทุกคนที่ว่าได้รวมไปถึง ‘กลุ่มชาติพันธุ์’ หรือ ‘ชาวมานิ’ ด้วย 

 

จากการพูดคุยพบว่า หัวใจของปัญหาที่ทำให้ชาวมานิไม่มีที่อาศัย ไม่มีที่ดินทำกิน และเข้าไม่ถึงการศึกษา ต้นตอใหญ่ ที่อาจเป็นชนวนเหตุลำดับแรกๆ คือการที่ชีวิตของชาวมานินั้นคุ้นเคยกับธรรมชาติ  

 

การจัดสรรที่ดินทำกิน ที่ต้องย้ายชาวออกไปไกลจากที่เดิม อาจไม่ใช่สิ่งที่เขาจะตกลงร่วมได้ หรือการศึกษาขั้นพื้นฐานที่อยู่ในตำราเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ อาจไม่ตอบวิถีชีวิตเขาอย่างแท้จริง  

 

 

ส่วนเรื่องสิทธิทางการศึกษา…พบว่าเด็กชาวมานิรุ่นใหม่ เข้าไม่ถึงการเรียนการสอนทุกคนหรือบางคนเมื่อมีโอกาส ได้ก้าวเข้าไปในรั้วโรงเรียน แต่… ต้องออกเรียนกลางคัน หรือไปต่อไม่ได้ ส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อของชาวมานิที่กลัวลูกหลานหายตัวไป อีกส่วนมองว่าการศึกษาไม่ตอบโจทย์ชีวิต 

 

บางครอบครัวบอกว่า…ต้องการแค่อ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น เพื่อนำไปใช้ในชีวิตจริง เท่านั้นก็เพียงพอ อีกอย่างที่น่าสนใจคือ ชาวมานิมีความเชื่อว่า การที่คนแปลกหน้ามานำพาหรืออุ้มลูก คือการล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวขั้นรุนแรง

 

 

แอมเนสตี้ ประเทศไทยมีโอกาสคุยกับเด็ก-เยาวชน ชาวมานิรุ่นใหม่ (New Generation Maniq) น้องคนนี้ชื่อว่า ‘ยม’ อายุประมาณ 15 ปี มีบัตรประชาชน การันตีว่ามีสถานะเป็นพลเมืองไทย น้องยมบอกว่า เขาย้ายบ้านกับครอบครัวมาแล้ว 5 ครั้ง ทับหรือบ้าน ที่อยู่ล่าสุดคือ อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล  ที่ผ่านมาน้องยมเคยเรียนหนังสือ คำบอกเล่าจากนอกบอกว่าเรียนอยู่ 3 ปี แต่ก็ต้องหยุดไป ด้วยปัจจัยบางอย่าง 

 

ปัจจุบันน้องยมทำอาชีพรับจ้าง ตัดปาล์ม ทำสวน กรีดยาง ช่วงเช้า – เย็น ใครมาจ้างยินดีรับงานทั้งหมด น้องยมมีสไตล์แต่งตัวแบบคนบ้าน คนบ้านหมายถึงคนที่เกิดในเมือง ใส่เสื้อ กางเกง แขวนเครื่องประดับ ต่างจากพี่น้องมานิรุ่นเก่า ที่ยังชื่นชอบการใส่ผ้าขาวม้า ผ้าถุง ในชีวิตประจำวันเวลาไปไหน มาไหน

 

 

 

ชาวมานิรุ่นใหม่อีกคน คือ ‘เหน่ง’ อายุ 13 ปี น้องเหน่งเล่าว่า เขาย้ายจาก อ.ทุ่งหว้า มาอยู่ที่ อ.ละงู จ.สตูล ที่พักของน้องเหน่งปัจจุบัน ตั้งอยู่ท้ายสวนยาง แถวน้ำตกวังสายทอง แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ น้องเหน่งพูดภาษาไทย สำเนียงใต้ชัดเจน ไปทำงานรับจ้างทั่วไปกับชาวบ้านตามสวนในบางวัน

 

เหตุผลที่ทำให้เขาเป็นอีกคนที่พูดไทยได้ เพราะมีโอกาสได้เรียนหนังสืออยู่ช่วงหนึ่ง 

ในอนาคตน้องเหน่งบอกว่า ถ้ามีครอบครัว มีลูก ยังมีเรื่องให้คิดว่าจะส่งเรียนหรือไม่

เพราะยังมีความเชื่อว่า ถ้าส่งลูกออกไปเรียนหรือไปอยู่ไกลๆ จะไม่ได้กลับบ้านมาบ้านอีกเลย

 

 

นี่คือเรื่องราวส่วนหนึ่งของ ‘กลุ่มชาติพันธุ์’ หรือ ‘ชาวมานิ’ ที่แอมเนสตี้ ประเทศไทยตั้งใจสื่อสารให้สังคมได้รับรู้ว่า ในพื้นที่ภาคใต้ของไทยยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่เป็นเพื่อนมนุษยช์เหมือนกับเรา พวกเขาต้องการสิทธิขั้นพื้นฐานที่จับต้องได้จริงและเข้าถึงได้ทุกคน

 

สิทธิที่ต้องการมากที่สุดในตอนนั้นคือ สิทธิในที่ดินทำกิน เพราะจะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะหล่อเลี้ยงชีวิตของเขาและครอบครัวในระยะยาวได้ และสิทธินั้นต้องเป็นสิทธิที่ไม่ทำให้วัฒนธรรม ความเชื่อแตกสลายไปกับสังคมยุคใหม่ แอมเนสตี้ยืนยันว่า เราจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย และระดับสากล ให้เรื่องนี้เป็นเรื่องของทุกคนต่อไป 

 

สมัครสมาชิกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย เพื่อรับสิทธิประโยชน์ในการเข้าร่วมกิจกรรมขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชน และเป็นส่วนหนึ่งในการแบ่งปันสิ่งดีๆ แบบ Be One More! ได้ที่ https://shorturl.asia/RfG7B   หรือร่วมสนับสนุนบริจาคเพื่อเรื่องสิทธิมนุษยชน ได้ที่ https://bit.ly/3ZDmWbT 

 

#Amnesty #HumanRights #สิทธิมนุษยชน #สิทธิในที่ดินทำกิน #กลุ่มชาติพันธุ์ #ManiqPeople #ชาวมานิ