วันสตรีสากล 2021: แด่หญิงกล้าผู้ท้าทายโลก

8 มีนาคม 2564

เรื่อง: พัชรพร ศุภผล อาสาสมัครแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

ทุกวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี ถือเป็นวันสตรีสากล หรือ international women's day (IWD) ซึ่งเป็นวันที่สตรีจากทั่วทุกมุมโลก รวมถึงองค์กรสหประชาชาติจะร่วมเฉลิมฉลองให้กับวันสำคัญนี้ เพื่อรำลึกถึงการต่อสู้ของผู้หญิงครั้งสำคัญ ที่ลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจของโลกที่ขับเคลื่อนด้วยผู้ชายท่ามกลางการความปั่นป่วนครั้งใหญ่ในโลกอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตของประชากรที่เฟื่องฟูและการเพิ่มขึ้นของทุนนิยมที่รุนแรง

วันสตรีสากลในปีนี้ใช้แคมเปญ #ChooseToChallenge  ที่หยิบยกเรื่องความท้าทายมาเป็นแนวคิดหลัก และแสดงจุดยืนต่อต้านอคติและความไม่เท่าเทียมทางเพศ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างโลกที่ทุกคนมีส่วนร่วมในที่สุด จึงเชิญชวนให้ทุกคนโพสต์ภาพยกมือลงในโซเชียลมีเดีย พร้อมติดแฮชแท็ก #ChooseToChallenge และ #IWD2021 เพื่อให้กำลังใจเหล่าหญิงกล้าจากทั่วทุกมุมโลก ที่ไม่เคยหยุดเคลื่อนไหว และไม่เคยหยุดนิ่งที่เรื่องของตัวเอง

 

สองมือของหญิงทอผ้า การท้าทายอำนาจทุนนิยม

ความเป็นมาของวันสตรีสากลนั้น เริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2400 เกิดขึ้นจากกลุ่มแรงงานสตรี ในโรงงานทอผ้า ที่รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ลุกฮือเดินขบวนประท้วงนายจ้าง ที่เอารัดเอาเปรียบ ขูดรีด ใช้แรงงานพวกเธออย่างหนักหน่วงแลกกับค่าจ้างและการพักผ่อนเพียงน้อยนิด เพียงเพราะต้องการผลผลิตจำนวนมากที่จะสร้างเม็ดเงินมหาศาลให้พวกเขา ซึ่งสำคัญกว่าคุณภาพชีวิตของพวกเธอ

การประท้วงครั้งนั้น มีผู้ไม่พอใจลอบวางเพลิงเผาโรงงานที่พวกเธอชุมนุมอยู่ ส่งผลให้ผู้หญิง 119 คำต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์เรียกร้องสิทธิในครั้งนี้ ซึ่งเหตุการณ์ประท้วงและเสียชีวิตของพวกเธอเกิดขึ้นในวันเดียวกัน คือวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2400

จากนั้นในปี พ.ศ. 2450 แรงงานสตรีในโรงงานทอผ้าที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ทนไม่ไหวต่อการเอารัดเอาเปรียบ กดขี่ทารุณของนายจ้างที่ใช้งานพวกเธอเยี่ยงทาส พวกเธอกล่าวว่า “นี่ไม่ต่างอะไรกับการเป็นทาสผิวดำให้กับพวกผิวขาว” พวกเธอทำงานหนักถึงวันละ 17 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด เป็นผลให้เกิดความเจ็บป่วยล้มตาย และหากตั้งครรภ์จะถูกไล่ออกจากงาน ทั้งหมดนี้แลกกับค่าแรงเพียงน้อยนิด


เสียงของการกดขี่ในครั้งนั้น ดังถึงคลาร่า เซทคิน (Clara Zetkin) นักการเมือง นักกิจกรรม และเป็นนักสตรีนิยมสายสังคมนิยม ชาวเยอรมัน เธอลุกขึ้นมาชักชวน ปลุกระดมให้เหล่าแรงงานสตรีเหล่านั้น หยุดงานประท้วงในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2450 เพื่อให้ได้มาซึ่งสวัสดิการอันเท่าเทียม และนอกเหนือจากนั้น เธอได้ยื่นข้อเรียกร้องข้อสำคัญที่จะเปลี่ยนชีวิตของผู้หญิงในชิคาโก ด้วยข้อเสนอให้ “ผู้หญิงมีสิทธิในการเลือกตั้ง”

แม้ว่าการประท้วงในครั้งนั้นจะไม่สำเร็จ และมีผู้หญิงหลายร้อยคนถูกจับกุมและทำร้ายร่างกาย แต่พลังของคล่าร่าและแรงงานสตรีเหล่านั้น ส่งผลให้สตรีทั่วโลกตระหนักรู้ถึงสิทธิและเสรีภาพของตนเอง นำมาซึ่งการเดินขบวนประท้วงเรียกร้องให้กับสิทธิที่ตัวเองพึงได้รับหลายต่อหลายครั้ง

 

เสียงของผู้หญิงไม่ได้หยุดนิ่งแค่เรื่องของตัวเอง แรงสั่นสะเทือนของคลาร่า นำมาสู่การประท้วงเพื่อยุติการใช้แรงงานเด็ก ในปี พ.ศ. 2451  ซึ่งขับเคลื่อนโดยกลุ่มแรงงานหญิง กลุ่มคนตัวเล็กที่มักถูกมองว่าไร้ค่า ในที่สุดการต่อสู้ของแรงงานหญิงอันยาวนานกว่า 2 ปี ก็ประสบความสำเร็จ เมื่อตัวแทนจากสตรีจาก 17 ประเทศ เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยมครั้งที่ 2 ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก  โดยที่ประชุมได้รับรองข้อเรียกร้องของบรรดาแรงงานสตรีคือ

ลดเวลาทำงานเหลือ 8 ชั่วโมงต่อวัน เพิ่มเวลาให้สตรีศึกษาเรียนรู้พัฒนาศักยภาพตามความสนใจของตัวเอง 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง  ปรับสวัสดิการให้เท่าเทียมแรงงานชาย และคุ้มครองสวัสดิการของแรงงานหญิงและแรงงานเด็ก ในที่สุดก็มาถึงข้อรับรองสำคัญข้อสุดท้าย คือ การรับรองให้วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันสตรีสากล ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2453

 

คลื่นเคลื่อนโลก

ทุก ๆ ปี ในวันสตรีสากล จะมีการกำหนดแคมเปญในการเฉลิมฉลองขึ้น โดยแคมเปญในปีนี้คือ #ChoosetoChallenge ด้วยการรณรงค์ให้ทุกคนร่วมโพสต์ภาพตัวเองยกมือขึ้น พร้อมติดแฮชแท็ก #ChoosetoChallenge เพื่อสื่อสารกับโลกว่า

“เราทุกคนสามารถเลือกที่จะท้าทายและออกมาเรียกร้องเรื่องอคติทางเพศและความไม่เท่าเทียมทางเพศที่เกิดขึ้นกับพวกเราได้ เราทุกคนสามารถเลือกแสวงหาการสนับสนุนและเฉลิมฉลองในวันสตรีสากลได้  และเราทุกคนสามารถช่วยเหลือและสร้างโลกใบนี้ได้”

แคมเปญนี้ ชวนให้นึกถึงขบวนการเคลื่อนไหวของสตรีนิยมในตะวันตก เมื่อร้อยปีก่อน แน่นอนว่ามนุษย์ทุกคนมีพลังอำนาจในการท้าทายโลก แต่ไม่ใช่มนุษย์ทุกคนที่จะมีสิทธิ์ทำได้อย่างเสรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ “มนุษย์เพศหญิง” ที่สังคมกำหนดให้พวกเธอต้องเป็นเพศที่อ่อนแอ และรอคอยความช่วยเหลือ การลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจใดในโลกล้วนต้องแลกด้วยความโกรธเกรี้ยวของผู้มีอำนาจ  แอมเนสตี้เชิญคุณสำรวจขบวนการเคลื่อนไหวของสตรีนิยม ผ่านคลื่นสามคลื่นที่สร้างแรงกระเพื่อมไปทั้งโลก หรือที่รู้จักกันในนาม “Wave Of Feminism” ซึ่งแบ่งการเคลื่อนไหวเป็นสามลูกคลื่นดังนี้ 

 

คลื่นลูกที่ 1 การเรียกร้องเพื่อสิทธิทางการเมือง

 คลื่นลูกแรกนี้ เกิดขึ้นในช่วงระหว่างปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20  หรือราวปี พ.ศ. 2391-2463 เป็นช่วงที่ประเทศไทยยังคงถูกเรียกว่า “สยาม” คลื่นลูกแรกนี้นำโดยสตรีผิวขาวชนชั้นกลางในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ เป็นการต่อสู้เพื่อสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง (suffrage movement) และการปลดปล่อยสาธารณะอื่น ๆ อันได้แก่ สิทธิในการศึกษา สิทธิในการทำงานนอกบ้าน สิทธิในการถือครองทรัพย์สินหลังสมรส และสิทธิอนามัยในการเจริญพันธ์

คลื่นลูกนี้แม้จะเป็นคลื่นลูกสำคัญที่ส่งผลให้ผู้หญิงได้ใช้สิทธิ์และเสียงของตนเองในพื้นที่สาธารณะ โดยเฉพาะการได้ร่วมกำหนดทิศทางของประเทศที่ยังคงมีผู้นำชายเป็นผู้บริหาร แต่เมื่อเธอกลับเข้าไปในบ้าน กลับถูกกดขี่ในพื้นที่ส่วนตัวของเธอเอง เป็นสาเหตุให้คลื่นลูกที่สองถือกำเนิดขึ้น 

 

คลื่นลูกที่ 2 The personal is political เพราะเรื่องส่วนตัวก็เป็นเรื่องการเมือง

กระแสการเคลื่อนไหวของสตรีนิยมในคลื่นลูกที่สอง เริ่มขึ้นราวปี พ.ศ. 2503 จุดประกายจากสหรัฐอเมริกา และเคลื่อนไหวไปยังประเทศอื่น ๆ อย่างรวดเร็ว จากคลื่นลูกแรกที่ขับเคลื่อนผ่านรัฐในรูปของกฎหมายและสวัสดิการต่าง ๆ และขยายไปสู่การปลดปล่อยสาธารณะ

คลื่นลูกนี้มุ่งสร้างจิตสำนึกให้ผู้คนรับรู้ร่วมกันว่า ยังมีผู้หญิงอีกมากมายที่ต้องประสบกับปัญหาการเหยียดเพศ การกดขี่ทางเพศ การถูกคุกคาม ข่มขืน ความรุนแรงในครอบครัว โดยเฉพาะการถูกสามีของตนเองทำร้ายร่างกายและข่มขืน ซึ่งใคร ๆ ต่างมองว่าเป็น “เรื่องส่วนตัว” ของพวกเธอเอง จนมีวลีที่เป็นเป้าหมายสำคัญของคลื่นลูกนี้ว่า The personal is political  ผู้หญิงถูกกดขี่ในพื้นที่ส่วนตัวเพราะพวกเธอเป็นผู้หญิง แต่ปัญหาการกดขี่ไม่ได้เป็นเรื่องส่วนตัวอีกต่อไป 

แม้พวกเธอจะมีเสียงในการเลือกตั้ง แต่พวกเธอกลับถูกปิดปากเงียบในห้องนอนของเธอเอง แม้เธอจะมีสิทธิในการศึกษาและทำงานนอกบ้าน แต่การถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงาน และสถานศึกษากลับเป็นสิ่งที่ผู้หญิงพูดไม่ได้  ทั้งหมดนี้เชื่อมโยงกับบรรทัดฐานทางสังคม และการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

 

คลื่นลูกที่ 3 การต่อสู้ท่ามกลางความหลากหลายและโลกออนไลน์

ในที่สุดคลื่นลูกที่สามก็ปรากฏขึ้นในราวปี พ.ศ.2533 ท่ามกลางการกดขี่ทางเพศและโลกของชายเป็นใหญ่

คลื่นลูกนี้ เคลื่อนไหวด้วยแนวคิดว่า การกดขี่ทางเพศและความไม่เท่าเทียมทางเพศ มีที่มาจากหลากหลายระบบร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น ระบบชายเป็นใหญ่ อำนาจนิยม ชาตินิยม  ทุนนิยม จารีตนิยม ผู้หญิงแต่ละคนมีประสบการณ์การกดขี่ที่หลากหลาย เราไม่สามารถตัดสินปัญหาของพวกเธอได้โดยไม่คำนึงถึงอัตลักษณ์ต่างๆ ที่แตกต่างกัน เช่น  ชาติพันธุ์ วิถีทางเพศ ศาสนา สภาพร่างกาย ถิ่นที่อยู่ และ ชนชั้นทางสังคม 

วัฒนธรรมกระแสหลัก (Pop Culture) ถูกนำมาใช้ในการแสดงความโกรธเกรี้ยวอย่างสร้างสรรค์ อาทิ การถือกำเนิดของวงดนตรี riot grrrl ซึ่งเป็นวงดนตรีร็อคของผู้หญิง ที่แต่งเพลงโดยใช้เนื้อหาเกี่ยวกับการถูกล่วงละเมิดทางเพศ และความไม่เป็นธรรมทางเพศอื่น ๆ จนกลายเป็นพื้นที่สำคัญของศิลปินหญิงใหม่ ๆ ออกมาสร้างสรรค์ผลงานและขับเคลื่อนสังคม

ขบวนการเคลื่อนไหวในคลื่นลูกที่สามยังเปลี่ยนแปลงจากการประท้วงบนท้องถนนเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ โดยเชื่อว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็สามารถเรียกร้องความเท่าเทียมได้ ดังจะเห็นได้จากกระแส #Metoo ที่ผู้คนทั่วโลกใช้ติดแฮชแท็กบนโลกออนไลน์ บอกเล่าประสบการณ์การถูกคุกคามทางเพศของตนเอง

กระแส #Metoo ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ของผู้หญิงที่เคยเป็นเหยื่อ กล้าลุกขึ้นมาท้าทายจารีตของสังคมที่มักตีตราพวกเธอว่า เป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ และชี้ให้โลกได้เห็นว่าใครคือผู้ร้ายที่แท้จริง

 

การผลิบานของสตรีนิยมในไทย

การเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพของผู้หญิงไทยนั้น ดูเหมือนจะเริ่มมาตั้งแต่สมัยอำแดงเหมือน ที่รักใคร่กับนายริดแต่ถูกพ่อแม่บังคับให้แต่งงานกับนายภู อำแดงเหมือนไม่ยินยอมและยื่นถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจนสำเร็จ หรือในกรณีอื่น ๆ เช่นอำแดงจั่นก็ได้ยื่นฎีหาถวายต่อพระองค์ เรื่องที่ถูกนายเอี่ยมสามีลักเอาชื่อตนไปขาย โดยที่ตนไม่รู้

ทว่าเมื่อพิจารณาแล้วกรอบการเคลื่อนไหวของสตรีในไทยนั้นกลับมีหมุดหมายอยู่ที่การถวายฎีกา ซึ่งเป็นระบบที่ต้องอาศัยพึ่งพาอำนาจการช่วยเหลือของเพศชายเพื่อให้ปลดแอกตัวเอง และยังเป็นเรื่องปัจเจกมากกว่าส่วนรวม ขาดการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม ซึ่งแตกต่างจากการเคลื่อนไหวของสตรีนิยมในตะวันตก

แต่ก็ใช่ว่า สตรีนิยมในไทย จะไม่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกเลย ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ราวปี พ.ศ. 2417 ผู้หญิงชนชั้นกลางที่ได้รับการศึกษา เริ่มมองเห็นถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศ โดยพวกเธอเริ่มออกมาเรียกร้องสิทธิสตรีผ่านสิ่งพิมพ์ในยุคนั้น อาทิ หนังสือ “กุลสตรี”

ข้อเรียกร้องของผู้หญิงยุคนั้นได้แก่ ความเท่าเทียมทางการศึกษา ผู้หญิงสมควรได้เรียนหลักสูตรเดียวกับผู้ชายโดนเฉพาะหลักสูตรที่เกี่ยวกับการบริหารบ้านเมือง ซึ่งกีดกันไม่ให้ผู้หญิงเรียนอย่างเด็ดขาด และสิทธิในการทำงานนอกบ้านเฉกเช่นเดียวกับผู้ชาย ซึ่งนับว่าเป็นข้อเรียกร้องที่มีความคล้ายคลึงกับคลื่นลูกแรกของขบวนการเคลื่อนไหวสตรีนิยมในตะวันตก

 

2475 การมาถึงของผู้หญิงและประชาธิปไตย

หลังประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย ในปีพ.ศ.2475 ขบวนการเคลื่อนไหวของสตรีนิยมในไทย ก็ถือกำเนิดขององค์กร “สมาคมสตรีไทยแห่งกรุงสยาม” เพื่อช่วยเหลือผู้หญิงในกลุ่มอาชีพต่าง ๆ โดยเฉพาะโสเภณีและกรรมกร นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมของสตรีที่เด่นชัด

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาองค์กรเพื่อสตรีก็ถือกำเนิดตามมาอีกเป็นจำนวนมาก และขับเคลื่อนแก้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมให้กับผู้หญิงไทยอีกมากมาย อาทิ การเรียกร้องเมื่ออีกฝ่ายจดทะเบียนสมรสซ้อน

การเคลื่อนไหวขององค์กรเพื่อสตรีในไทยดำเนินการชิดใกล้กับการเมืองของไทยตลอดมา โดยในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก็ได้จัดตั้งกลุ่มผู้หญิง เพื่อศึกษาถึงความด้อยโอกาสของผู้หญิงในสังคม และเรียกร้องให้ผู้หญิงร่วมต่อสู้ทางการเมืองกับกลุ่มแนวร่วมอื่น ๆ

จนถึงปัจจุบันนี้ พ.ศ.2564 ก็ยังคงมีการรวมตัวของผู้หญิงเช่น กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก ที่ออกมาเรียกร้องสิทธิสตรีและเพศหลากหลายเช่น สวัสดิการผ้าอนามัย การทำแท้งเสรี สมรสเท่าเทียม และอื่น ๆ ควบคู่กับการเรียกร้องประชาธิปไตย

แม้จะถูกโจมตีหลายครั้งว่า เรื่องของผู้หญิงนั้นไม่สำคัญไปกว่าการมีประชาธิปไตย แต่พวกเธอก็ยังคงสู้เพื่อสิทธิของตัวเองและเพศอื่น ๆ ต่อไปเพราะตระหนักดีว่า The personal is political  

 

#IWD2021 #ChoosetoChallenge แด่หญิงกล้าผู้ท้าทายโลก

ไม่ว่าจะกี่ปีผ่านไป ปัญหาการถูกกดทับของผู้หญิงก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ในปี พ.ศ.2564 นี้ แอมเนสตี้ก็ขอร่วม ติดแฮชแท็ก #IWD2021 #ChoosetoChallenge ยกมือเคียงข้างให้กำลังใจเหล่าหญิงกล้าจากทั่วทุกมุมโลก ที่ไม่เคยหยุดเคลื่อนไหว และไม่เคยหยุดนิ่งที่เรื่องของตัวเอง

ในปี 2564 นี้จะครบรอบ 4 ปี การต่อสู้ของ “ไลลา เดอ ลิมา” วุฒิสมาชิกหญิงทนายความนักสิทธิมนุษยชนและอดีต รมว.ยุติธรรมฟิลิปปินส์ ซึ่งถูกจับกุมตัวด้วยข้อกล่าวหารับเงินจากเครือข่ายนักค้ายาเสพติดจากในเรือนจำ จำนวน 5 ล้านเปโซหรือเกือบ 3.6 ล้านบาท

ไลลา เดอ ลิมา คือผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจของ ประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตร์เต ผู้นำฟิลิปปินส์ เธอวิจารณ์และต่อต้านนโยบายปราบปรามยาเสพติดของดูเตร์เต ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 7,700 ราย รวมถึงตกเป็นเหยื่อสังหารเกลื่อนตามถนนมากกว่า 2,500 ศพ

“ผมจะต้องทำลายเธอต่อหน้าสาธารณะ” คือคำอาฆาตของดูแตร์เตที่มีต่อเธอ เขาเดินหน้ากล่าวหาว่าเธอ เป็นหนึ่งในผู้ลักลอบค้ายาเสพติดรายใหญ่ที่สุดของประเทศ อย่างสุดกำลัง เป็นการท้าทายอำนาจที่ราคาแพงเพราะเธอต้องจ่ายด้วยสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของตนเอง

หันกลับมาที่ไทย แม่สุ สุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ หรือแม่ของเพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์  ก็ได้เดินเท้าทะลุฟ้า ตลอด 247.5 กิโลเมตร จากโคราชถึงกรุงเทพฯ เพื่อเน้นย้ำข้อเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 และปล่อยผู้ที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี แถลงการณ์แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุว่า ในขณะที่การชุมนุมในประเทศไทยเริ่มเข้มข้นขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ทางการต้องลดแนวทางตอบโต้ที่รุนแรงอย่างเร่งด่วน และยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ชุมนุมโดยผู้ชุมนุมโดยสงบหลายร้อยคนรวมทั้งเยาวชน ถูกดำเนินคดีอาญา และหลายคนถูกควบคุมตัวมาเป็นเวลาหลายสัปดาห์

โดยการเดินเท้าของแม่สุในครั้งนี้ ได้มีแม่ของไมค์ และแม่ของทนายอานนท์ ผู้ต้องหาจากคดี ม.112 และยังคงอยู่ในเรือนจำ เข้าร่วมด้วย นับเป็นสองเท้าของผู้หญิงตัวเล็ก ที่สู้เพื่อลูก สู้เพื่อโลก ท่ามกลางหนทางมากมาย นี้คือการท้าทายที่พวกเธอเลือกด้วยตัวเอง

////

ข้อมูลอ้างอิง

Anastasia Flouli. (2018). 3 Waves of Feminism. Retrieved 6 March 2021 from http://gestproject.eu/wp-content/uploads/2016/11/Anastasia-Flouli-AUTH-3-Waves-of-Feminism.

Internationalwomensday. (2011). History of International Women's Day. Retrieved 6 March 2021 from

            https://www.internationalwomensday.com

วารุณี  ภูริสินสิทธิ์. (2545). สตรีนิยม : ขบวนการและแนวคิดทางสังคมแห่งศตวรรษที่ 20. กรุงเทพมหานคร :

โครงการจัดพิมพ์คบไฟ.