อ่าน อะ Rights? เรียนรู้เรื่องสิทธิผ่านโลกแห่งตัวหนังสือ

8 สิงหาคม 2566

Amnesty International Thailand

เพราะการอ่านเปรียบเสมือนประตูที่จะพาเราไปสู่โลกใหม่ๆ การได้แบ่งปันเรื่องราวที่สั่งสมมาจากการอ่านหนังสือมาเล่าให้คนอื่นฟังจึงไม่ต่างอะไรนักกับการได้พาผู้ฟังท่องไปสู่สถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ

วันอาทิตย์ที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จึงจัดกิจกรรม อ่าน อะ Rights? ณ คาเฟ่อันแสนสงบในย่านเจริญกรุง House of Commons - Bookcafe & space เพื่อเชิญชวนให้เหล่านักอ่านที่มีความสนใจในประเด็นสิทธิมนุษยชนร่วมแบ่งปันประสบการณ์ของตัวเอง ผ่านหนังสือเล่มโปรดที่แต่ละคนมีอยู่แล้ว

 

ร้อยเรียงเรื่องเล่า จับเข่าคุยกัน

กิจกรรมภายในงานดำเนินไปด้วยความเรียบง่าย ผู้เข้าร่วมจำนวน 14 คนต่างหยิบยกหนังสือขึ้นมาอวดโฉมกันภายในวงคุย บ้างเป็นหนังสือวรรณกรรมเรื่องแต่ง บ้างเป็นสารคดีที่มีเนื้อหาอิงเข้ากับประวัติศาสตร์และสถานการณ์บ้านเมืองบ้านเมือง นับเป็นสวรรค์ของนักอ่านที่จะได้มาพบปะพูดคุย และเจอกับหนังสือเนื้อหาดีๆ เล่มใหม่

ท่ามกลางเสียงรถขวักไขว่อันแสนวุ่นวายบนถนนเส้นเจริญกรุง การนั่งกับพื้นคล้ายจับเข่าคุยกันนับเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้บรรยากาศดูผ่อนคลาย ทุกคนสามารถโฟกัสกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้ไม่น้อย และเมื่อที่นั่งทั้งหมดถูกจับจองจนครบ คำถามแรกที่ถูกยกขึ้นมาในวงคุยคือ ความหมายของสิทธิมนุษยชนในนิยามของคุณคืออะไร แน่นอนว่าคำตอบนั้นไม่ได้มีการกำหนดไว้อย่างตายตัว เนื่องจากต้องการเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นออกมาได้อย่างอิสระ

 

 

เลิศ หนึ่งในผู้เข้าร่วมที่นับได้ว่าอยู่ใน Generation X ยกมือตอบเป็นคนแรก “สิทธิมนุษยชนน่าจะหมายถึงการทำงานที่มีสวัสดิการแบบไม่กดขี่กัน” คำตอบที่พูดออกมานั้นล้วนเป็นประสบการณ์ที่พี่เลิศได้รับจากตอนทำงานในบริษัทขนาดใหญ่ ที่บางครั้งแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านถูกกดขี่ทั้งค่าแรงที่ไม่สมเหตุสมผล หรือแม้แต่สวัสดิการที่ไร้ซึ่งความเท่าเทียมกัน 

ถัดมาไม่นาน ผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ ต่างพากันยกมือให้คำนิยามคำว่าสิทธิมนุษยชน ร้อยเรียงเชื่อมโยงต่อกันไปเรื่อยๆ จากจุดเริ่มต้นที่มีความเกี่ยวข้องกับทุนนิยม นำไปสู่สิทธิการมีคุณภาพชีวิตที่ดี การเข้าถึงระบบการศึกษาที่ต้องสามารถทำได้อย่าเท่าเทียม หรือแม้แต่สิทธิทางการเมืองเองก็ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจน ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ล้วนมีความสัมพันธ์กันทั้งนั้น ประหนึ่งทุกคนมีเส้นเรื่องเดียวกัน เพียงแค่มุมมองของการเล่ามีความแตกต่าง

 

เปิดมุมมองใหม่ๆ ผ่านการอ่านหนังสือ

สำหรับในส่วนการแบ่งปันประสบการณ์ของแต่ละคนนั้นเริ่มต้นด้วยการหยิบปากสีขึ้นมาหนึ่งแท่ง เพื่อเปรียบเทียบอารมณ์ของตนเองหลังจากที่อ่านหนังสือเล่มนั้นจบลง กิจกรรมดำเนินไปเรื่อยๆ กินเวลา 10 นาทีโดยประมาณ หลังจากนั้นจึงเข้าสู่ช่วงของไฮไลต์ที่แต่ละคนจะต้องรีวิวสิ่งที่ตนเองได้อ่านมาให้เพื่อนๆ ในวงได้ฟัง

“เราเลือกหนังสือเรื่องการศึกษาของผู้ถูกกดขี่ เนื่องจากเป็นหนังสือที่คิดว่ามีความใกล้ตัว และเป็นสิ่งพื้นฐาน เพราะว่าระบบการศึกษาเป็นระบบพื้นฐานในการสร้างระบบการปกครอง และอีกอย่างหนึ่งหนังสือเล่มนี้เตือนสติได้ว่าเรากำลังยอมรับการกดขี่เองอยู่หรือเปล่า เราเองรู้ตัวอยู่ไหม หรือกระทั่งมันเตือนสติคนที่กำลังผลักดันสังคมให้ปลดแอกตัวเองจากการกดขี่ ว่าเขากำลังกดขี่กันเองอยู่หรือเปล่า เขาได้มองคนที่ร่วมกระบวนการไปด้วยกันเป็นคนอย่างเท่าเทียมจริงๆ ไหม”

คำพูดของภู่กัน หนึ่งในผู้เข้าร่วมที่เดินทางมาจากจังหวัดขอนแก่น ที่เล่าถึงเหตุผลของการเลือกหนังสือเรื่อง “การศึกษาของผู้ถูกกดขี่” โดยก่อนหน้านี้ ภู่กันเคยเข้าร่วมกิจกรรมกับทางแอมเนสตี้มาบ้างแล้ว และรู้สึกชื่นชอบถึงการได้เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันประเด็นสิทธิมนุษยชนให้เกิดขึ้นสังคมไทย จึงต้องการนำเรื่องราวที่ตนมีมาแชร์กับผู้อื่นที่มีความสนใจเช่นเดียวกัน

เช่นเดียวกับพี่เลิศ ที่รู้สึกว่าการนำหนังสือเรื่อง “INTRODUCTION TO NO.112” มาในกิจกรรมนี้จะสามารถทำให้คนอื่นได้เห็นภาพชัดเจนถึงบทบาทของมาตรา 112 ที่ถูกนำมาใช้เป็นเกมทางการเมืองอย่างในปัจจุบันนี้ อีกทั้งเพื่อผู้อ่านได้เห็นถึงมุมมองของการบิดเบือนกฎหมายมาตรานี้มากยิ่งขึ้น คนที่ถูกลงโทษต้องยืนหยัดต่อสู้กับความอยุติธรรมเช่นไรบ้าง

 

 

เพราะสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคน

ไม่เพียงแค่แลกเปลี่ยน แต่วงคุยของกิจกรรม อ่าน อะ Rights? ยังเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ โดยที่จะไม่มีการปิดกั้น หรือสร้างกำแพงขึ้นมาขวางผู้เข้าร่วม และในช่วงท้าย หนึ่งในเจ้าหน้าที่แอมเนสตี้ได้ขมวดวงคุยเข้ามาให้แคบลง เพื่อสรุปถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนที่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับชีวิตประจำวันเราได้อย่างเข้าใจง่าย เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้เห็นภาพชัดมากยิ่งขึ้นถึงสิ่งที่ตนเองได้อ่านมานั้นมีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับสิ่งที่นับได้ว่าเป็นเรื่องพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน ก่อนที่จะปล่อยให้ทุกคนได้ใช้เวลาที่เหลือไปกับการร้อยเรียงลูกปัดให้กลายเป็นสร้อยเครื่องประดับ

ทั้งนี้ สามารถเรียนรู้เกี่ยวกับประเด็นนี้เพิ่มเติมผ่านการศึกษาปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ได้ที่ https://www.amnesty.or.th/our-work/hre/udhr/ 

และถึงแม้ว่าแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จะไม่ได้จัดกิจกรรมที่เป็นวงคุยมากนัก แต่ครั้งนี้ถือได้ว่าเสียงตอบรับนั้นเป็นไปในทางที่ดี เนื่องจากนักอ่านหลายคนเองได้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการอ่าน ที่จะสามารถนำพาเราไปสู่สิ่งใหม่ๆ ได้เรื่อยๆ อย่างไม่มีจุดสิ้นสุด เป็นการเรียนรู้ที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมากนัก เพียงแค่ใช้เวลาที่มีให้คุ้มค่ามากที่สุด

“คิดว่าในอนาคตน่าจะสามารถเข้าร่วมกิจกรรมกับทางแอมเนสตี้ได้อีก น่าจะมีโอกาสไปเข้าร่วมได้” เลิศกล่าวทิ้งท้าย

 

 

สมัครสมาชิกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทยเพื่อรับสิทธิประโยชน์ในการเข้าร่วมกิจกรรมขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชน และเป็นส่วนหนึ่งในการแบ่งปันสิ่งดีๆ แบบ Be One More! ได้ที่ https://shorturl.asia/RfG7B  

หรือร่วมสนับสนุนเราผ่านการบริจาคเพื่อผลักดันการทำงานที่มีประโยชน์เช่นกิจกรรม อ่าน อะ Rights? ที่ https://www.amnesty.or.th/donate/