เมนูในความทรงจำที่ทันได้กินด้วยกันครั้งสุดท้าย : ชัชชาญ บุปผาวัลย์ กับแกงหน่อไม้ใส่ปลาหมึกแห้ง

28 สิงหาคม 2566

Amnesty International Thailand

“พ่อผมเป็นคนกินหลากหลาย ถ้าเป็นเมนูในความทรงจำ พ่อผมชอบทำแกงหน่อไม้ใส่ปลาหมึกแห้ง ที่รู้สึกว่าเป็นอะไรที่สเปเชี่ยลนะ พ่อชอบกินปลาหมึกแห้ง ตอนปีที่เขาตาย กลางปีไปเจอเขาก็จะเอาปลาหมึกแห้งข้ามไป ทันได้กินด้วยกันครั้งสุดท้ายอยู่ เป็นปลาหมึกแห้งตัวเล็กๆของมหาชัย”

ก่อการ บุปผาวัลย์ หรือเต๋อ บุตรชายของชัชชาญ บุปผาวัลย์ หรือ ‘สหายภูชนะ’ นักกิจกรรมและผู้ลี้ภัยทางการเมืองในประเทศลาวที่ถูกอุ้มหายและพบร่างริมแม่น้ำโขงที่นครพนมเมื่อปี 2561 ค่อยๆ นึกถึงเมนูอาหารจานโปรดของพ่อที่ยังคงอยู่ในความทรงจำของเขาอย่างแจ่มชัด ที่หากต้องเลือกมาพูดสักหนึ่งเมนู คงไม่พลาดที่จะเล่าถึงเมนูนี้

 

 

เคล็ดไม่ลับ กับสูตรแกงหน่อไม้ใส่ปลาหมึกแห้งของชัชชาญ บุปผาวัลย์

“ไม่น่ารีบตาย น่าจะบอกสูตรก่อน เพราะไม่มีใครทำเหมือนแล้ว ไม่ทันได้อยู่บอกสูตรเลย” พี่เต๋อพูดแล้วขำเล็กน้อย เขาคนนี้ชอบเล่นมุกตลกร้ายกับเรื่องที่เกิดขึ้นกับพ่อกับคนที่พูดคุยด้วยอย่างอารมณ์ดีเหมือนเดิมเสมอ แต่คนฟังจะกล้าขำไหมนั้นอีกเรื่อง เพราะเรื่องที่ครอบครัวบุปผาวัลย์ต้องเจอนั้นมันโหดร้ายจนเกินจะจินตนาการ

“เวลากินก็จะเป็นน้ำข้นๆ เพราะเขาใส่ข้าวเบื่อ คือข้าวเหนียวทำแช่น้ำแล้วเอาไปตำให้มันเหนียว คล้ายๆใส่แป้งมันในราดหน้า น้ำก็จะข้นหน่อย รสชาติมันก็จะเป็นกลิ่นสมุนไพร มีความคื่นๆ อธิบายไม่ถูก แล้วก็นัวๆ เพราะว่ามันปรุงรสได้แค่เค็ม แล้วก็จะตำพริกกระเทียมลงไปก็จะออกเผ็ดหน่อย แล้วแต่บ้าน บ้านผมวิธีการทำคือตำพริก กระเทียม หอมแดง แล้วเอาไปคั่วในน้ำมันหน่อยหนึ่ง หน่อยเดียวจริงๆ แล้วก็ใส่น้ำใบย่านาง แล้วก็ใส่หน่อไม้ลงไปต้ม ต้มเสร็จค่อยใส่เนื้อสัตว์ แล้วตุ๋นไว้ให้เนื้อเปื่อย แล้วค่อยใส่ปลาหมึกแห้ง แล้วแต่สูตรแต่ละบ้าน บ้านผมเวลาพ่อมีผักอะไร พ่อก็จะใส่ ใส่ไปเรื่อย คอนเซ็ปเดียวกับแกงโฮ้ ข้นๆ กินกับข้าวเหนียว สดร้อนๆ เริ่มหิวแล้ว (ขำ)”

แม้พ่อจะไม่เคยบอกสูตรแต่เต๋อค่อยๆเล่าให้เราฟังถึงวิธีการทำแกงหน่อไม้สูตรบ้านบุปผาวัลย์ ทีละขั้นตอนได้อย่างละเอียดและเปี่ยมไปด้วยอรรถรส  จนเหมือนว่าแกงหน่อไม้ใส่ปลาหมึกแห้งได้ปรากฏอยู่บนหน้าของพวกเราทุกคนในบทสนทนา และแน่นอนว่าทำให้เราท้องเริ่มร้องไปโดยปริยาย

 

เมนู (รอบ) บ้านๆ กับ pop culture สะท้อนตัวตนคนอีสานที่แทรกซึมในตัวตนของพ่อ

เมนูบ้านๆ หากินได้จากวัตถุดิบรอบบ้าน พี่เต๋อเล่าให้เราฟังว่าพ่อของตนเป็นคนง่ายๆ กินง่ายอยู่ง่าย ถึงขนาดที่ว่าขอเพียงมีเสียมเดินเข้าป่าไปพ่อก็อยู่ได้แบบสบายๆ เมนูแกงหน่อไม้จึงเป็นเมนูประจำของพ่อ เพราะหน่อไม้สดก็ขุดหาจากต้นไผ่ที่ขึ้นชุมข้างบ้าน ใบย่านางในสวน และบางครั้งหากมีเงินก็จะซื้อเนื้อสัตว์มาใส่

“พ่อเป็นคนกินง่ายๆ จริงๆพ่อเป็นคนแบบอีสานแท้ แบบที่ผมเคยเห็นโคว้ทอาจารย์วัฒน์ วรรลยางกูรพูดถึงพ่อตอนช่วงพ่อตาย พูดเหมือนประมาณว่าพ่อทำกินเก่งอ่ะ แมลง ล่อแมลงมา แล้วก็เอามาคั่วแบบอีสาน พ่อก็ทำเป็น แกงหน่อไม้มันก็เป็นเมนูง่ายๆที่แบบหาได้ตามแถวบ้าน ใช้เนื้อสัตว์ไม่เยอะ ถ้ามีตังค์ จริงๆพ่อจะชอบใส่กระดูกหมู ซี่โครงหมูอ่อน กับปลาหมึกแค่นี้แหละ แล้วก็มันทำง่าย วัตถุดิบก็อยู่ในแถวบ้าน ไมได้มีอะไรที่ต้องใช้เยอะ เลยรู้สึกว่าทำกินบ่อย”

อาหารที่เป็นมากกว่าอาหาร แต่บ่งบอกถึงตัวตนและรากเหง้าของคนอีสานท้องถิ่น เต๋ออธิบายให้เราเข้าใจถึงเบื้องหลังอาหารเหล่านี้กับวัฒนธรรมด้านอาหารที่เกี่ยวเนื่องไปถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และการมองโลกของคนในพื้นที่ “ผมไม่แน่ใจว่าจะเข้าใจ pop culture ของคนอีสานหรือเปล่า คนอีสานเวลามาอยู่ในกรุงเทพ พอรู้ว่าเป็นคนอีสานก็จะมีความแน่นแฟ้นกันเป็นพิเศษ เหมือนถ้าข้างบ้านเป็นคนอีสาน ถ้ารู้ก็จะ อ้าวคนอีสานเหมือนกันเลย เหมือนจะมีความแน่นแฟ้นเป็นพิเศษ เป็นเมนูที่พอถ้าพ่อทำก็จะเอาไปแบ่งเพื่อนบ้าน คือไม่ได้ทำทุกวัน ถึงขั้นติดบ้าน แต่เป็นโอกาสพิเศษอะไรประมาณนี้  ซึ่งจริงๆอยู่ที่มุกดาหารก็ไม่ได้มีอะไรพิเศษเพราะว่าหาหน่อไม้สดได้ง่าย อยู่กรุงเทพหน่อไม้สดหายาก มันก็จะเป็นเมนูพิเศษหน่อย คือบางคนขุดมาจากที่ต่างจังหวัดแล้วเขาเอามาทำที่กรุงเทพมาแบ่งเพื่อนบ้าน มันเป็นเมนูที่ทำให้เราคิดถึงบ้านเกิด”

 

ข้าวจี่ลาว ความรักและความรู้สึกผิด กับการต้องจำลาของชายสองคน

ความสัมพันธ์ของพ่อกับลูกชายที่ซับซ้อนและเต็มไปด้วยหลายความรู้สึกผสมกัน และแน่นอนว่าก็เพราะความเป็นมนุษย์ของคนๆหนึ่งนั่นเองที่ทำให้เกิดความซับซ้อนทางความรู้สึกต่างๆเหล่านี้

“มีอย่างหนึ่งที่เดียวนี้เห็นแล้วจะคิดถึงพ่อคือ ข้าวจี่ลาว ไม่ใช่ข้าวจี่แบบข้าวเหนียวจี่ จะเป็นเหมือนขนมปังบาแกตต์ ที่เขาใส่มะละกอ ยำหมูยอ อะไรอย่างนี้ ที่ทำให้คิดถึงพ่อเพราะว่าตอนที่เขาออกมาจากคุก เราไปเจอเขาหลังประกันตัว หลังเขาลี้ภัย เขาลี้ภัยผิดกฎหมายเขาเลยต้องไปติดคุกที่ลาว พอออกมาเราพาเขาไปตลาดเช้า เขาอยากกินข้าวจี่ลาวมากเลย คือ มันเป็นภาพที่สลับกันคือเมื่อก่อนจะเป็นเราที่ไปยืนเกาะดึงเสื้อผ้าบอกว่าอยากกินอันนั้นซื้อให้หน่อย อันนี้เป็นภาพที่แบบเขายืนดูอยู่ตั้งนาน แต่เขาไม่กล้าบอกเราว่าอยากกิน เราต้องเดินเข้าไปถามว่าแบบซื้อไหม กินเปล่า มีตังค์นะ ผมคิดแทนเขานะว่าเขาอาจจะรู้สึกว่าตอนที่ออกจากครอบครัวไป เหมือนเขายังรู้สึกผิดอยู่ สุดท้ายพอลูกชายไปหาเขาก็ไม่กล้าที่จะขออะไร เวลาที่เราเดินเจอเมนูนี้ที่ไหนก็จะนึกถึงภาพพ่อ อาจเป็นมุมมองที่เขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่รู้สึกกระทำผิดต่อครอบครัวก็ได้นะ”

เต๋อเล่าถึงอีกหนึ่งเมนูอาหารอย่าง ‘ข้าวจี่ลาว’ ที่แม้จะไม่ใช่เมนูโปรดหรือเมนูที่ทานประจำของครอบครัวอย่างแกงหน่อไม้ แต่กลับเป็นเมนูที่หากเห็นจะทำให้นึกถึงพ่อขึ้นมาเสมอ เพราะข้าวจี่ลาวที่เต๋อได้ซื้อให้พ่อที่ตลาดเช้าในประเทศลาวในเช้าวันหนึ่งนั้น กลับเป็นมากกว่าการซื้ออาหารเช้าทานกินกัน แต่เป็นช่วงเวลาที่พ่อและลูกได้สัมผัสถึงเส้นความสัมพันธ์บางอย่างระหว่างกัน ไม่ว่าจะเป็นความรัก ความคิดถึง ความรู้สึกผิด และความเข้าใจ เหล่านี้สะท้อนการมองความสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูกของเต๋อไว้ว่า เขาสองคนไม่ใช่เพียงพ่อลูก แต่เป็นคนสองคน ที่ต่างเติบโตและมีชีวิตของตนเอง และในวันนี้การอำลาพ่อของเขา ก็เป็นเพียงการอำลาของชายสองคน ที่จะไม่ตัดสินกัน และไม่จำเป็นต้องให้อภัยหรือลืมเรื่องราวใดๆ เพราะแม้เวลาจะสิ้นสุดลงและจำต้องลา ชายทั้งสองคนนี้ก็จะลากันด้วยความรักและเข้าใจเสมอไป

“เมนูนี้จะเแบบ เวลาเห็นชอบคิดถึงเขา เหมือนไม่ได้ลาในฐานะลูกนะ แต่เป็นในมุมมองว่า two grown men มาลากันว่าสิ่งที่เขาทำกับสิ่งที่เราทำ เราให้อภัยเขา”

เต๋อเปิดเพลง Monsters โดย James Blunt ที่มี  Iam Tongi หนึ่งในผู้เข้าประกวดรายการ American Idol นำมาร้อง ให้เราฟังระหว่างเล่า

อาจจะเป็นความรู้สึกที่ทำให้แบบเวลาที่เห็นเมนูอาหารอะไรอย่างนี้จะรู้สึกอย่างนี้มากกว่า …เศร้าเนอะ จริงๆทั้งเพลงชอบความหมายมัน”

I'm not your son, you're not my father

We're just two grown men saying goodbye

No need to forgive, no need to forget

I know your mistakes and you know mine

And while you're sleeping, I'll try to make you proud

So, daddy, won't you just close your eyes?

Don't be afraid, it's my turn

To chase the monsters away

 

#แล้วกลับมากินข้าวด้วยกันนะ

#RememberMe

#กลับสู่วันวาน