บันทึกข้อกล่าวหา ม.110 คดีประวัติศาสตร์ไทย กับ...เอกชัย – บุญเกื้อหนุน - สุรนาถ นักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง

7 กรกฎาคม 2566

Amnesty International Thailand

บันทึกข้อกล่าวหา ม.110 คดีประวัติศาสตร์ครั้งแรกในเมืองไทย กับ…เอกชัย – บุญเกื้อหนุน - สุรนาถ นักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง  

 

กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ การแสดงออกทางความคิด รวมถึงการเคลื่อนไหวในที่ชุมนุม ยังเป็นปัญหาที่หลายฝ่ายต้องร่วมกันหาทางออก หลังพบว่าในช่วงปี 2563 – 2565 ที่ผ่านมา มีนักกิจกรรมที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเสรีภาพในประเทศไทย ถูกจับกุม คุมขัง และถูกดำเนินคดีมากกว่า 1,000 คน  ในจำนวนนี้มีนักกิจกรรมกว่า 200 คน ถูกดำเนินคดีความมั่นคงในราชอาณาจักรไทย และมี 5 คน ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 เพราะการเคลื่อนไหวชุมนุม มีพฤติกรรมเข้าข่ายประทุษร้ายต่อพระราชินี ขัดขวางขบวนเสด็จ คดีนี้โทษสูงสุดคือ ‘จำคุกตลอดชีวิต’ หรือ ‘ประหารชีวิต’ 

 

เหตุการณ์ครั้งนั้น เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ขณะที่กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ‘คณะราษฎร 2563’ ประกาศจุดยืนชุมนุมครั้งใหญ่ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร เพื่อยื่นข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลและรัฐสภา 3 ข้อ ได้แก่ 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออก 2. แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน  และ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ นับเป็นเรื่องราวที่ต้องถูกจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ไทย เพราะไม่เคยมีนักกิจกรรมถูกดำเนินคดีลักษณะนี้  

 

ถนนพิษณุโลก หน้าแยกนางเลิ้ง คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการแจ้งข้อกล่าวหาคดี ม.110 ซึ่งเป็นคดีแรกในประวัติศาสตร์ไทย ช่วงเวลานั้นนักกิจกรรมทั้ง 5 คน อยู่ในเหตุการณ์ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลทำตามข้อตกลงเป็นเวลาเดียวกันกับที่ขบวนเสด็จพระราชดำเนินไปในย่านนั้น หลังคดีความเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ใช้เวลาสืบพยานหลักฐานนานกว่า 2 ปี และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 28 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา  

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มีโอกาสพูดคุยกับนักกิจกรรม ที่ถูกดำเนินคดีดังกล่าว ถามไถ่ชีวิตความเป็นอยู่ของแต่ละคนว่าหลังมีคดี ม.110 เป็นชนักติดหลังว่า ชีวิตต้องเจอเรื่องราวอะไรบ้างหลังออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในฐานะประชาชน 

 

วินาทีที่รู้ว่าโดน คดี ม.110 ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย 

 

บุญเกื้อหนุน เป้าทอง หรือ ฟรานซิส คือ หนึ่งในนักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดี 110 ปัจจุบันเขามีอายุ 23 ปี เรียนอยู่ที่วิทยาลัยนานาชาติ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหิดล แม้การต่อสู้คดีจะสิ้นสุดลง ศาลยกฟ้องแล้ว แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังเป็นความทรงจำที่ยากจะลืมสำหรับเขา เพราะนั่นคือจุดเริ่มต้นที่เขาออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเต็มตัวครั้งแรกในชีวิต   

 

“เริ่มตั้งแต่เห็นว่าพรรคอนาคตใหม่โดนศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบ เมื่อปี 2563 ในตอนนั้นผมและเพื่อนเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่สมควรที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทยที่บอกว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตย จึงตัดสินใจว่าต้องออกมาแสดงจุดยืนของพวกเรา มันก็เลยเป็นภาพที่ออกมาว่า มีนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศออกมาประท้วงร่วมกันซึ่งผมก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย” 

 

แม้จะถูกยกฟ้องคดี ม.110 ไปแล้ว แต่ บุญเกื้อหนุน ยังจำความรู้สึกในวันนั้นได้ดี เพราะในตอนนั้นเขาไม่รู้ว่าโทษที่จะต้องได้รับจากคดี ม.110 เป็นอย่างไร ร้ายแรงหรือหนักแค่ไหน เพราะไม่เคยมีใครถูกตั้งข้อกล่าวหาและถูกพิพากษาคดีนี้มาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย  

 

“ผมรู้สึกช็อคไปชั่วครู่หนึ่ง เพราะไม่มีใครรู้ว่า ม.110 มันมีตัวตนอยู่ และจะได้รับการประกันตัวหรือไม่ แม้แต่เอกสารข้อมูลของศาลฎีกา ก็ไม่เคยมีคำพิพากษามาก่อน พอมานั่งค้นประวัติดูก็เห็นว่า ม.110 แทบจะไม่มีใครใช้ในช่วง 100 ปีให้หลัง เวลานั้นถ้าถามว่าเครียดไหม เครียดมาก แต่ผมจะมองต่างจากคนอื่น ถ้าเราเป็นหนึ่งในคนที่ถูกฟ้องคดี ม.110 ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา จะทำให้เราได้ไปอยู่ในหนังสือประวัติศาสตร์ไทย อาจจะเป็นหนังสือประวัติศาสตร์กฎหมายที่ค่อนข้างบิดเบี้ยว แต่มันเป็นคดีใหญ่ที่คนรุ่นต่อไปควรรับรู้ไว้”   

 

สำหรับ เอกชัย หงส์กังวาน ปัจจุบันมีคดีความติดตัวกว่า 30 คดี ส่วนใหญ่เป็นคดีการเมือง หนึ่งในนั้นมีคดี 110 รวมอยู่ด้วย ปัจจุบันเอกชัยยังคงช่วยเหลือและติดตามคดีของนักกิจกรรมรุ่นน้องที่ออกมาเคลื่อนไหวที่ศาลอยู่บ่อยครั้ง ปัจจุบันผันตัวเป็นนักเขียนบทความต่างๆ ในเฟซบุ๊กของตัวเอง เขาเล่าความรู้สึกหลังโดนคดี 110 ว่าเป็นเหมือนฝัน เพราะไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะถูกดำเนินคดีร้ายแรงเช่นนี้  สิ่งที่จำได้คือเขาและบุญเกื้อหนุน ถูกออกหมายจับในวันที่ 15 ตุลาคม 2565  

 

“คดีตัวเองถ้านับทั้งหมดนะ 30 คดี  การเมืองล้วนๆ ไม่มีคดีส่วนตัวเลย คดีที่โทษหนักสุดก็ 110 เนี่ยแหละ จำได้ว่าช่วงสี่โมงเย็น เขาก็ออกหมายจับผมกับฟรานซิส (บุญเกื้อหนุน) 2 คน นักข่าวคนหนึ่งโทรบอกผมว่ามีหมายจับว่าไปขวางขบวนเสด็จ ครั้งแรกที่รู้ก็ ข้อหาอะไรวะ ไม่เคยได้ยิน ติดต่อทนายไป ทนายยังไม่รู้เลยว่า ม.110 คืออะไร เคยได้ยินแต่ ม.112” 

 

เส้นทางการเป็นนักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองของเอกชัย เริ่มต้นขึ้นช่วงปี 2546 – 2548 ในตอนนั้นเขามีอาชีพขายหวยบนดินในรัฐบาลยุคของทักษิณ ชินวัตร ต่อมาปี 2549 เกิดการรัฐประหาร รัฐบาลใหม่สั่งห้ามขายหวยบนดิน อ้างว่าผิดกฎหมาย ไม่จ่ายชดเชยประชาชน ทำให้เขาได้รับความเสียหายอย่างหนัก เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้เอกชัย ก้าวสู่การเป็นนักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองมาถึงทุกวันนี้  

 

“รัฐบาลใหม่ของคุณสุรยุทธ์ จุลานนท์ เขายกเลิกหวยบนดิน อ้างว่าผิดกฎหมาย แล้วก็ไม่มีจ่ายชดเชยอะไรเลย เราได้รับความเสียหาย ซึ่งก็ไม่พอใจ ตรงกับที่ช่วงหลังรัฐประหารจะมีกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการชุมนุมอยู่ที่นั่น เราก็เลยไปดู ดูไปดูมาก็เลยเลยเถิดมาจนถึงทุกวันนี้ 

 

สุรนาถ แป้นประเสริฐคืออีกนักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดี ม.110 ปัจจุบันทำงานกับกลุ่ม ‘บางกอกดีจัง’ มูลนิธิเยาวชนเพื่อการพัฒนา สำหรับคดี ม.110 เป็นประสบการณ์ที่ทำให้เขาต้องจดจำไปชั่วชีวิต เพราะเป็นคดีความแรกตั้งแต่เกิดมา สุรนาถถูกออกหมายจับเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 ระหว่างเดินทางกลับบ้านหลังเลิกงาน สำหรับเส้นทางการเป็นนักกิจกรรมของเขา เริ่มจากการติดตามสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ในฐานะเป็น ‘ผู้สังเกตการณ์’ นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาเห็นความสำคัญของการแสดงความคิดเห็น และการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง   

 

“มีพี่คนหนึ่งโทรเข้ามา ถามว่าตันดูข่าวรึเปล่า พอผมบอกว่าไม่ได้ดู เขาก็บอกว่าเดี๋ยวตันเปิดลิงก์ที่พี่ส่งให้ พอเปิดปุ๊บ ผมก็ตกใจ ข่าวหลายสำนักขึ้นหน้าเราว่า ออกหมายจับแกนนำเยาวชนนักพัฒนา ขัดขวางขบวนเสด็จและประทุษร้ายต่อเสรีภาพ แล้วก็คำโตๆ ก็คือโทษจำคุกตลอดชีวิต 

 

“ผมถูกฟ้องว่า ขัดขวางและประทุษร้ายต่อเสรีภาพองค์พระราชินีและรัชทายาท คือช่วงที่มีการปะทะกับ ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) กับตอนที่ผมบอกให้นั่งลง ทำมือให้พวกเขานั่งลง ผมพูดว่า “นั่งลง อย่าดันมา” หลายรอบ เหตุการณ์นี้แหละที่เขาเอาไปเขียนในคำฟ้องว่าผมคือผู้สั่งการให้มวลชนขัดขวางขบวนเสด็จและประทุษร้ายต่อเสรีภาพ” 

 

ชีวิตในเรือนจำ หลังโดนคดี 110 จากการชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ  

 

เอกชัยเล่าว่าทันทีที่เข้าไปอยู่ในเรือนจำ ไม่ได้รับผลกระทบเรื่องความเป็นอยู่เท่าไหร่นัก เพราะเคยถูกดำเนินคดีลักษณะนี้มาก่อน แค่รู้สึกคับแค้นใจที่ถูกปฏิบัติเหมือนนักโทษคดีร้ายแรง แต่นักกิจกรรมคนอื่นๆ ที่โดยข้อหาเดียวกัน และเพิ่งเคยถูกจำกัดอิสรภาพในรั้วเรือนจำครั้งแรก อาจต้องใช้เวลาปรับตัวกับสภาพแวดล้อมและกฎระเบียบมากพอสมควร แต่ยอมรับว่าเมื่อคดี ม.110 ที่ถูกกล่าวหาในตอนนั้น ทำให้เขาคิดว่าตัวเองจะต้องติดคุกตลอดชีวิต เพราะในสังคมไทยถือเป็นคดีร้ายแรงที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน 

 

“พอโดนคดีม.110 ไม่มีใครคิดเลยนะว่าจะได้ออก พวกผู้ต้องขังยังคิดเลยว่าเราต้องเน่าตายในนี้แน่ ครั้งแรกศาลให้ฝากขัง 12 วัน และตำรวจขอฝากขังต่อ ต่อมาศาลไม่อนุญาตให้ฝากขังครั้งที่ 3 

 

ขณะที่ สุรนาถ กล่าวว่า การก้าวเข้าไปในเรือนจำครั้งแรกของเขา ‘ช่องพิเศษ’ คือเส้นทางที่เขาถูกนำตัวเข้าไปในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เจ้าหน้าที่ทุกคนเร่งกระบวนการทุกอย่าง เพื่อนำตัวเขาเข้าสู่ห้องขังที่ไร้อิสรภาพ และการที่ต้องเห็นเจ้าหน้าที่ถือเอกสารที่มีตราประทับสีแดงว่า ‘ลับมาก’ ตลอดเวลาระหว่างควบคุมตัวเขา ยิ่งทำให้คิดว่าคดี ม.110 จะทำให้ชีวิตของเขาไม่ต่างจากตายทั้งเป็น หรือต้องตายอยู่ในเรือนจำไปตลอดกาล สุรนาถใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำบางขวางเป็นเวลา 9 วัน ระหว่างนั้นเขาไม่ได้ถูกขังเดี่ยวเนื่องจากมาตรการทางโควิดและไม่ได้พบทนายเป็นระยะเวลา 6 วัน กระทั่งเขาได้พบทนายโดยให้คำแนะนำว่าจะทำหนังสือขอคำชี้แจงในการย้ายกลับไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร  

 

“ผมคิดว่าต้องไปเปลี่ยนชุดที่แดนเหรอ นั่งรอจนถึงสองทุ่ม เขาพาผมขึ้นรถตู้หน้าเรือนจำ ผมถามว่าจะพาไปไหน ไม่มีใครตอบ บอกแค่ว่าย้าย ผมรู้สึกว่ามันไม่ปกติจริงๆ นะ สุดท้ายถึงรู้ว่าพาไปบางขวาง เรือนจำบางขวางที่เรารู้จัก มันก็เป็นเรือนจำนักโทษเด็ดขาด โทษสูง 

 

ผลกระทบหลังถูกดำเนินคดี ม.110 ‘ชีวิตถูกคุกคาม แค้น เสียสุขภาพจิต’  

 

บุญเกื้อหนุน อ้างว่าชีวิตหลังโดนคดี ม.110  ทำให้ชีวิตมีคนแวะเวียนมาถึงบ้านหลายครั้ง อ้างว่าเป็นคนสนิทของพ่อหรือเป็นคนรู้จักกับคนในครอบครัว แม้จะชีวิตจะถูกคุกคามบ้าง แต่เขามองว่าเป็นเรื่องที่สามารถจัดการได้ จึงไม่ได้กลัวกับสิ่งที่เกิดขึ้นมากนัก แต่ยอมรับว่าหลังถูกดำเนินคดี ม.110 ทำให้มีความคิดว่า ชีวิตคงออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่ได้อีกแล้ว ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมา บุญเกื้อหนุนใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวและเพื่อน และตกผลึกได้ว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องเริ่มจากการทำให้คนใกล้ตัว 

 

“เมื่อปีที่แล้วผมก็ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภานักศึกษาเข้าไปทำงานตรงนั้น แต่สำหรับคดีนี้ โทษจำคุก  16-20 ปี ไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีเท่าไหร่ แต่ผมก็มองว่ามันเป็นคดี SLAPP (Strategic Lawsuit Against Public Participation หรือการฟ้องปิดปาก) การใช้กฎหมายเพื่อปิดปาก เป็นคดีที่ฟ้องร้องให้เราหุบปาก และอยู่นิ่งๆ เพื่อที่ว่าเราจะได้ไม่ต้องออกไปพูดหรือทำกิจกรรมอะไรข้างนอก โดยปกติคดีพวกนี้มันจะทำให้เราเสียเงินหรือเสียอะไร แต่มันมีอัตราโทษสูง ที่อาจต้องแลกมาด้วยอิสรภาพของเราเกือบ 2 ศตวรรษ แต่ผมก็เฉยๆ นะ เพราะผมก็รู้ว่าผมไม่ได้ผิดอะไร” 

 

ส่วน เอกชัย เล่าถึงความรู้สึกที่ได้การประกันตัวออกมาเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 เพียงสั้นๆ ว่า ยังมีความแค้นระหว่างที่ได้รับโทษคดี ม.110 ในเรือนจำ เพราะได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่เหมือนผู้ที่ก่ออาชญากรรมร้ายแรง  

 

สุรนาถเป็นอีกคนที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ เพราะทำให้การทำงานภาคประชาสังคมในชุมชนของเขาต้องหยุดชะงักลง เพราะไม่มีแกนนำหลักอย่างเขาที่ทำหน้าที่เชื่อมประสานงานชุมชนที่วางแผนพัฒนาไว้ และการที่ต้องอยู่ในเรือนจำเป็นเวลานาน ทำให้ชีวิตจิตใจของเขาได้รับผลกระทบ ถึงขั้นคิดว่าอาจทำให้ศักยภาพการทำงานที่เคยเป็นจุดแข็ง อาจกลายเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ดีเหมือนเก่า เพราะไม่ได้ฝึกฝนและทำเป็นประจำ 

 

“ตอนนั้นมีความรู้สึกว่าอยากตาย เพราะเราถูกทำอะไรที่มันไม่ปกติมาตั้งแต่เข้ามาในเรือนจำ ผมเพิ่งรู้จักคำว่าอยากตายตอนอยู่ในเรือนจำ ทั้งที่เราเคยปลอบประโลม สร้างพลังงานให้คนอื่นมาตลอด แต่กลายเป็นว่าตัวผมเองนันแหละที่แย่” 

 

ชีวิตของสุรนาถ แพทย์ประเมินว่ามีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า เพราะการถูกขังในเรือนจำกว่า 10 วัน เกิดขึ้นหลังเขาเข้าพิธีแต่งงานได้เพียง 20 วัน และ 2 เดือนก่อนหน้านั้นคุณพ่อได้เสียชีวิต จึงอาจมีผลกับการตั้งหลักเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่นั้นหลังถูกดำเนินคดี ม.110  

 

“ถูกขัง 10 กว่าวัน แต่รู้สึกเหมือนถูกขังเป็นปี ยิ่งช่วงแรกๆ ยิ่งยาวนานเป็นพิเศษ คิดตลอดว่าจะกลับไปทำงานแบบเดิมได้เร็วที่สุดตอนไหนนะ คนรอบตัวก็ประเมินว่าไปคุยกับจิตแพทย์ก่อน อย่ามั่นใจไปเลยว่าจะไม่เป็นไร คือผมน่ะเพิ่งแต่งงานได้ 20 วัน ก่อนถูกจับ เพิ่งเริ่มต้นชีวิตใหม่ ย้ายบ้านมาอยู่กับแฟน ก่อนหน้านั้น 2 เดือน พ่อผมเสีย ซึ่งพ่อเป็นคนที่ทำให้ผมเป็นผมจนทุกวันนี้ มันเลยสะสมเป็นสภาวะอ่อนแอ 

 

ภาวะ ‘หมดไฟคือ ความรู้สึกของสุรนาถหลังออกจากเรือนจำช่วง 3 เดือนแรก เขาเลือกไม่ออกไปเจอโลกภายนอกหรือพบปะผู้คน ใช้ชีวิตอยู่แต่ในบ้านร่วมเดือน เพราะกลัวการจับจ้องจากสังคมหรือคนรอบข้างที่รู้ว่าเขาคือหนึ่งในนักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดี ม.110 และยิ่งหวาดกลัวทุกครั้งเมื่อพบเห็นรถมาจอดหน้าบ้านช่วงกลางคืน  

 

“พอมันจมไป 3 เดือน ผมรู้สึกว่าอยู่อย่างนี้ไม่ได้แล้ว นึกถึงคนรอบตัว นึกถึงงาน นึกถึงเพื่อนพี่ที่สู้มากับเรา จึงออกไปทำงาน เริ่มจากงานเล็กๆ ง่ายๆ ไม่ต้องลงแรงอะไรมาก ทั้งที่ปกติผมชอบทำงานหนัก ชอบลงชุมชน เป็นเวลากว่า 1 ปี ที่ผมรู้สึกว่าตัวเองชีวิตเริ่มปกติ สามารถเล่าให้คนอื่นฟังได้อย่างสบายใจ 

 

เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2566 ศาลอาญารัชดามีคำพิพากษายกฟ้องทุกข้อกล่าวหาในคดีของนักกิจกรรมและประชาชนรวม 5 ราย พร้อมเหตุผลว่า พยานหลักฐานรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งห้าเจตนาขัดขวางขบวนเสด็จและตำรวจเป็นผู้กีดขวางทางสาธารณะและการจราจรเสียเอง จำเลยทั้ง 5 คน จึงไม่มีความผิดฐานกีดขวางทางสาธารณะและกีดขวางการจราจร นับว่าเป็นการยืนหยัดต่อสู้ของประชาชนทั้ง 5 ราย ในการยืนยันสิทธิขั้นพื้นฐานคือ การชุมนุมประท้วงโดยสงบ แต่อย่างไรก็ตาม การดำเนินคดีอันแสนเนิ่นนานนี้ได้สร้างผลกระทบหลายทางต่อชีวิตทั้งสามเป็นอย่างมาก  

 

อ่านเพิ่มเติม: เสียงสะท้อนหลังศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง ทุกข้อกล่าวหา   

https://www.facebook.com/AmnestyThailand/posts/pfbid0dZPJ4sxQCNvRQmcQnbnM6MSwjVYfFzkktJuUkpoJQnrppxpe2yoi46q9PtyVoSrnl