อันนา อันนานนท์: ถ้อยแถลงเสียงเยาวชนไทยในเวทีประชุมระดับโลก ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

13 มิถุนายน 2566

Amnesty International

สิทธิมนุษยชนภายใต้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) สำหรับประเทศของฉัน เห็นได้ชัดว่ายังไม่ได้มีการนำมาใช้ในทางปฏิบัติ แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่วมร่างปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ตาม แต่ประชาชนในประเทศยังคงประสบกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งส่วนใหญ่เริ่มตั้งแต่เราเป็นเด็กนักเรียน โรงเรียนยังคงลงโทษนักเรียนด้วยการตี และบังคับให้ตัดผมทรงเดียวกับทหาร

สำหรับประเทศโลกที่หนึ่งหรือประเทศที่พัฒนาแล้ว สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานได้รับการปฏิบัติจนเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ว่าจะเป็น เรื่องความเสมอภาคในการสมรส อากาศบริสุทธิ์ น้ำประปาที่ดื่มได้ และสนามเด็กเล่นดีๆ

แต่สำหรับประเทศอย่างประเทศไทย การเรียกร้องสิทธิเหล่านี้เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นยังเป็นเรื่องที่ต้องต่อสู้ การชุมนุมประท้วงโดยสงบอาจทำให้คุณถูกตั้งข้อหาได้ เราไม่มีแม้แต่สิทธิที่จะเรียกร้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมถูกปฏิเสธจากทางการอย่างชัดเจน

 

 

หากคุณเคยประสบกับเหตุการณ์เหล่านี้บ้างหรือไม่

  • โดนแก๊สน้ำตาอย่างรุนแรงจากที่พื้นที่ชุมนุม
  • อยู่ในรายชื่อเฝ้าระวังด้านความมั่นคงของรัฐหรือถูกคุกคามขณะที่คุณอายุต่ำกว่า 18 ปีเนื่องจากกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางการเมือง
  • ถูกตั้งข้อหาหรือควบคุมตัวเนื่องจากใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกขณะที่คุณอายุต่ำกว่า 18 ปี

ปณิธานของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนหรือหลักสิทธิมนุษยชนถูกรัฐบาลละเลยแทนที่จะปกป้องอย่างชัดเจน พวกเราที่เป็นประชาชน โดยเฉพาะนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมจำเป็นต้องปกป้องตนเอง

ฉันไม่เคยเห็นตำรวจในประเทศไทยดูแลนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและคุ้มกันพวกเราไปยังที่ต่างๆ แต่ตำรวจไทยจะติดตามและคุกคามฉันที่โรงเรียน ที่บ้าน หรือแม้แต่ในคาบเรียน "มนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิ" ข้อนี้ถูกละเมิดอย่างชัดเจน

สิทธิอื่นๆ ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เช่น ข้อ 26 "การศึกษาจะต้องมุ่งไปสู่การพัฒนาบุคลิกภาพของมนุษย์อย่างเต็มที่ สิ่งนี้ควรเป็นความรับผิดชอบของรัฐ แต่เราในฐานะเด็ก จำเป็นต้องต่อสู้เพื่อข้อนี้ เราต้องสร้างหนังสือของเราเองเพื่อปกป้องนักเรียนจากการล่วงละเมิดในโรงเรียน และเราต้องร่างกฎหมายของเราเองเพื่อป้องกันตัวเองจากโรงเรียน

เมื่อ 75 ปีที่แล้ว ในช่วงเวลาที่กำลังร่างปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนกันอยู่นั้น คงไม่มีใครคิดว่าเด็กๆ ในปัจจุบันจะมีส่วนร่วมทางการเมืองและใช้สิทธิของพวกเขาอย่างเต็มที่ ดังนั้นคุณจะเห็นได้ว่ามีหลายๆ สิ่งที่ต้องได้รับการแก้ไขและปรับปรุง เราต้องปรับตัวให้เท่าทันและเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเป็นเหมือนโทรศัพท์เครื่องเก่า ซึ่งใช้งานได้ แต่ไม่สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Tiktok ได้ ในปัจจุบัน เทคโนโลยีและภัยคุกคามมีความซับซ้อนมากขึ้น คุณเห็นไหมว่ายุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป และการละเมิดสิทธิก็ซับซ้อนขึ้นด้วย ตอนนี้เราไม่เพียงแต่มีภัยคุกคามทางกายภาพเท่านั้น แต่ยังมีสปายแวร์อย่างเพกาซัสอีกด้วย โทรศัพท์จำเป็นต้องอัปเดต เราก็เช่นกัน

และวิธีที่จะสร้างและจัดการเพื่อให้หลักสิทธิมนุษยชนปรับตัวเท่าทันและใช้งานได้จริงก็คือ เราจำเป็นต้องพิจารณาปัญหาต่างๆ ที่กำลังพัฒนา ผสมผสาน เกิดขึ้นใหม่ และเปลี่ยนรูป ปัญหาต่างๆ เช่น เด็กในการชุมนุม ปัญหาสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี และการละเมิดทางออนไลน์ เราจำเป็นต้องระบุความรับผิดชอบของรัฐให้ชัดเจนทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ เราจำเป็นต้องมีการตรวจสอบและถ่วงดุลที่ดีขึ้น เราจำเป็นต้องทำให้แน่ใจว่าไม่เพียงพื้นที่ภาคประชาสังคมจะได้รับการปกป้อง แต่เราต้องดำเนินการด้วย เราจำเป็นต้องมีการรวมพลังในระดับสากลที่มากขึ้น และจำเป็นต้องให้การสนับสนุนมากขึ้นทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และทางการเงินกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

ฉันได้รับคำถามมากมายว่ารู้สึกกลัวในสิ่งที่กำลังทำอยู่และผลที่ตามมาหรือไม่? บอกตามตรงว่าฉันกลัว แต่ก็บอกตัวเองเสมอว่า ไม่ควรมีเด็กคนไหนถูกละเมิดแบบที่ฉันได้เจอมา เด็กคนอื่นๆ ก็ไม่ควรมีชีวิตอยู่ด้วยความหวาดกลัวว่าเพื่อนของพวกเขาจะถูกจับเข้าคุกหรือไม่ และเด็กไม่ควรถูกตั้งข้อหาเพียงเพราะการออกมาพูดวิพากษ์วิจารณ์

เด็กไม่ควรมีชีวิตอยู่ภายใต้การสอดแนมโดยรัฐ ขอให้ฉันเป็นคนสุดท้ายที่พบเจอกับเหตุการณ์เช่นนี้ และต้องเป็นหน้าที่ของพวกเราและหน้าที่ของพวกคุณที่จะช่วยกันปกป้อง ส่งเสริม และเติมเต็มสิทธิมนุษยชนของทุกคน