คำกล่าวเปิดงาน "เลือกตั้ง 66: วาทะผู้นำ วาระสิทธิมนุษยชน"

20 เมษายน 2566

Amnesty International

แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการสูงสุดของแอมเนสตี้

สถานที่: ลานคนเมือง กรุงเทพฯ ประเทศไทย

 

เรียน ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

 

ในนามของดิฉันเองและทีมงานที่ทุ่มเท เต็มไปด้วยอุดมการณ์และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ทั้งจากสำนักงานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออก ตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิก ดิฉันขอขอบคุณที่ให้โอกาสดิฉันมาพูดในวันนี้  

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นขบวนการเคลื่อนไหวระดับโลก ที่มีผู้สนับสนุนกว่า 13 ล้านคนทั่วโลก ที่รวมตัวกันเพื่อรณรงค์เพื่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ทำงานกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ภาคีและพันธมิตร โดยที่วันนี้ดิฉันอยู่ที่นี่กับเพื่อนร่วมงานจากสำนักงานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

 

การได้เห็นผู้คนมากมายมาเข้าร่วมงานเพื่อพูดคุยเรื่องสิทธิมนุษยชนกันในวันนี้ รวมถึงคนอีกเป็นพันคนที่กำลังดูเราอยู่จากทางบ้านนั้น ช่างเป็นแรงบันดาลใจและช่วยสร้างความหวังให้กับพวกเรา

 

มันเป็นสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเรา เพราะโลกใบนี้กำลังตกอยู่ในสภาพที่เลวร้ายเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้ง ความทุกข์ทรมาน หายนะด้านสภาพภูมิอากาศที่คร่าชีวิตคนนับพัน การคุมขังผู้เห็นต่างเป็นจำนวนหลายพันคน เพียงเพราะพวกเขาแสดงความคิดเห็นโดยสงบ การลอยนวลพ้นผิดยังคงเกิดขึ้นในทุกที่ โดยคนที่กระทำการสังหาร การทรมาน การข่มขืน และการทุจริตฉ้อโกง ยังคงสามารถหลีกหนีกระบวนการยุติธรรม สภาวะสองมาตรฐาน แนวทางแบบเลือกสนใจแค่บางเรื่อง ในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน เป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดความไม่มั่นคง ความไม่เชื่อใจกัน และความรู้สึกเคลือบแคลงสงสัย ซึ่งนำไปสู่การบ่อนทำลายระเบียบโลก ซึ่งเคยตั้งอยู่บนหลักกฎหมายระหว่างประเทศ

 

ในปีนี้ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนมีอายุครบ 75 ปี นับว่าจำเป็นอย่างยิ่ง ที่รัฐบาลทุกประเทศต้องสนับสนุนให้เกิดการเคารพและปกป้องหลักนิติธรรม (rule of law) ที่เป็นประโยชน์ต่อบุคคลทุกคนและทุกหนแห่ง มิใช่หลักนิติวิธี (rule by law)

 

โดยเริ่มจากต้องมีความเป็นผู้นำโดยตั้งมั่นอยู่บนหลักการ ไม่ว่าจะสำหรับผู้นำรัฐบาล รวมถึงผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจ การเงิน และด้านอื่นๆ

 

การเปลี่ยนแปลงจะต้องมาจากภายในประเทศ สถาบันภายในประเทศ และพรรคการเมืองภายในประเทศของพวกเรา

 

ดิฉันรู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสมาร่วมรับฟังการอภิปรายเกี่ยวกับอนาคตของประเทศไทย

 

ดิฉันรู้สึกยินดียิ่งกว่า เพราะเยาวชน ทั้งในประเทศไทยและในพื้นที่อื่นๆ บอกดิฉันว่า พวกเขามองไม่เห็นอนาคต เพราะการกดขี่ ความรุนแรง และความอยุติธรรมว่าด้วยปัญหาทางสภาพอากาศ

 

ในฐานะผู้สมัครลงรับเลือกตั้งสมาชิกสมาผู้แทนราษฎรและผู้นำประเทศในอนาคตของประเทศ พวกท่านมีความรับผิดชอบหลักในการรับฟังสารที่พวกเขาต้องการสื่อ และทำงานร่วมกับพวกเขาและผู้คนจากกลุ่มต่างๆ เพื่อสรรสร้างปัจจุบันและอนาคตสำหรับประชาชนทุกคนในประเทศ โดยปัจจุุบันและอนาคตดังกล่าวจำเป็นต้องมีการเคารพสิทธิมนุษยชน

 

ดิฉันขอพูดจากใจจริง หลังจากได้เข้าพบกับภาคประชาสังคม นักกิจกรรม และทีมแอมเนสตี้ทั้งในประเทศไทยและในระดับภูมิภาค ดิฉันคิดว่ารัฐบาลชุดหน้าของไทยกำลังเผชิญ “งานใหญ่” ในการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนต่อไป 

 

แล้วประเด็นนี้มีความสำคัญต่อผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งอย่างไร  ในฐานะผู้นำประเทศในอนาคต?

 

เด็กและเยาวชนมีบทบาทสำคัญต่อสังคม ซึ่งสามารถทำได้ผ่านการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ

 

ทว่าเด็กและเยาวชนหลายร้อยคนกลับถูกดำเนินคดีอาญา เพียงเพราะการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและในการชุมนุมประท้วงโดยสงบ โดยหลายคนถูกพรากอิสรภาพ และอาจต้องลงเอยโดยมีประวัติอาชญากรติดตัว

 

ในขณะที่ดิฉันกำลังพูดกับทุกท่านอยู่ในขณะนี้ มีผู้ประท้วงวัย 15 ปี กำลังถูกควบคุมตัวในสถานพินิจเด็กและเยาวชนเป็นเวลานับสัปดาห์แล้ว

 

พวกท่านทุกคนควรให้ความสำคัญในการหยิบยกประเด็นให้ยุติการคุกคามและการสอดส่องผู้ชุมนุมทั้งหมด ซึ่งรวมไปถึงเด็ก และยุติการฟ้องคดีต่อผู้ชุมนุมโดยสงบ รวมถึงแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายและนโยบายที่ขัดขวางการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและชุมนุมประท้วงโดยสงบอย่างเต็มที่ของเด็กและผู้ใหญ่ทุกคน

 

พวกเราทุกคนล้วนจะรู้สึกปลอดภัยมากยิ่งขึ้นเมื่อสิทธิมนุษยชนได้รับการปกป้องคุ้มครอง

 

การปกป้องคุ้มครองสิทธินั้นครอบคลุมคนทุกคน รวมถึงผู้ที่มาจากประเทศอื่น ซึ่งหมายรวมถึงผู้ลี้ภัยและผู้อพยพเช่นกัน

 

สำหรับผู้ที่เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อแสวงหาที่พักพิงและความปลอดภัยนั้น กลับต้องอยู่อย่างหวาดกลัวที่จะถูกส่งกลับ เพียงสัปดาห์ที่แล้ว เราพบว่ามีนักกิจกรรมชาวเวียดนาม ซึ่งเป็นผู้อพยพในไทยที่ได้ขึ้นทะเบียนกับทาง UNHCR เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถูกส่งตัวไปในสถานที่คุมขังของตำรวจในประเทศเวียดนามอย่างลึกลับ ชาวเมียนมาที่หลบหนีข้ามพรมแดนมาไทย ยังต้องใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัวที่จะถูกส่งกลับ และตกอยู่ในสภาวะอันยากลำบาก คนเหล่านี้มีสิทธิในการมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี และมีสิทธิที่จะขอลี้ภัย

 

ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ยาวนานในการรับและให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับผู้ลี้ภัย ทั่วทั้งภูมิภาคนี้ ด้วยเหตุเช่นนี้ ประเทศไทยจึงต้องดำเนินการต่อไป และต้องทำให้มากขึ้นกว่าที่เคยด้วย

 

สำหรับผู้นำประเทศไทย และผู้ที่อาจจะได้เข้ามาเป็นรัฐบาลในอนาคต พวกท่านต้องรับรองว่านโยบายด้านการรองรับผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ จะไม่ถูกทำให้เป็นเกมการเมือง และนโยบายเหล่านี้ต้องไม่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือประเทศอื่นๆในการกดขี่ด้วย

 

ดิฉันขอยืนยันว่าคุณต้องให้ความสำคัญในการชี้ให้เห็นวิกฤตในประเทศเมียนมา และอำนวยความสะดวกให้มีการคุ้มครองปกป้อง ซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่หลบหนีการกดขี่ทั่วภูมิภาค ทั้งจากประเทศเมียนมา เวียดนาม กัมพูชาและลาว

 

นี่คือสิ่งที่ดีต่อประชาชน ดีต่อภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และดีต่อประเทศไทยเอง ประเทศไทยสามารถและควรปฏิบัติตัวเป็นแบบอย่างของผู้นำด้านสิทธิมนุษยชนทั้งสำหรับคนภายในประเทศเอง และสำหรับภูมิภาคอาเซียน

 

สุดท้ายนี้ ดิฉันขอขอบคุณสำหรับโอกาสที่ได้แลกเปลี่ยนความเห็น เกี่ยวกับแนวทางที่เราจะช่วยกันทำงาน เพื่อสร้างโลกที่เรื่องสิทธิมนุษยชนนับเป็นสิ่งสำคัญจำเป็น และมิใช่เพียงประเด็นรองที่ไม่มีความสำคัญ