การยกเลิกสถานะพิเศษของ "จัมมู" และ "แคชเมียร์" มีแนวโน้มไปสู่ความเสี่ยงในการละเมิดสิทธิมนุษยชน

6 สิงหาคม 2562

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล อินเดีย

การตัดสินใจเพียงฝ่ายเดียวของรัฐบาลอินเดีย ในการยกเลิกสถานะพิเศษของแคว้นจัมมูและแคชเมียร์ ซึ่งถูกกำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญอินเดีย โดยไม่มีการปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในจัมมูและแคชเมียร์ และเกิดขึ้นท่ามกลางการปิดกั้นเสรีภาพและการสื่อสารของพลเรือนอย่างสิ้นเชิง มีแนวโน้มทำให้ความตึงเครียดที่เป็นอยู่เลวร้ายลง ทำให้เกิดความแปลกแยกกับประชาชนของแคว้น เสี่ยงจะนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนมากขึ้น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล อินเดีย กล่าวในวันนี้ว่า

 

“สิ่งที่เราเห็นช่วงหลายวันที่ผ่านมาในจัมมู และแคชเมียร์ คือการตรึงกำลังทหารเพิ่มเติม การปิดกั้นบริการโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตแบบเหวี่ยงแห การควบคุมจำกัดการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งทำให้เกิดความตึงเครียดในบรรดาประชาชนชาวจัมมูและแคชเมียร์เป็นอย่างยิ่ง ที่เลวร้ายกว่านั้น ทางการยังควบคุมตัวผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการเมืองที่เป็นแกนนำสำคัญไว้ในบ้าน นอกจากนั้นปัจจุบันรัฐสภาได้ลงมติที่สำคัญเกี่ยวกับจัมมู แคชเมียร์โดยไม่มีการปรึกษาหารือใด ๆ กับประชาชนที่นั่นเลย”

อาการ์ ปาเตล หัวหน้าสำนักงานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล อินเดียกล่าว

 

มาตรา 370 ตามรัฐธรรมนูญอินเดีย ซึ่งได้ถูกยกเลิกโดยรัฐบาลอินเดีย เป็นมาตราที่ประกันอำนาจปกครองตนเองของแคว้นจัมมูและแคชเมียร์ ทำให้แคว้นแห่งนี้มีอิสระในการตัดสินใจทุกด้าน ยกเว้นด้านการต่างประเทศ กลาโหม และการสื่อสาร ที่ผ่านมามาตราดังกล่าวถือเป็นข้อกฎหมายสำคัญที่ช่วยรักษาความสัมพันธ์ในเชิงประชาธิปไตยระหว่างอินเดียกับจัมมูและแคชเมียร์ รัฐบาลกลางยังเสนอให้แบ่งพื้นที่แคว้นดังกล่าวออกเป็นสองส่วน ซึ่งยิ่งจะเพิ่มบทบาทการปกครองของรัฐบาลกลางในพื้นที่เหล่านั้น 

 

โอมาร์ อับดุลเลาะห์ และเมห์บูบา มุฟติ อดีตมุขมนตรีแห่งแคว้นอ้างว่า พวกเขาถูกควบคุมตัวอยู่ในบ้าน เมห์บูบา มุฟติ ซึ่งเป็นมุขมนตรีหญิงคนแรก จนกระทั่งมีการแทรกแซงด้วยอำนาจของประธานาธิบดีในแคว้นแห่งนี้เมื่อเดือนมิถุนายน 2561 เขียนในทวิตว่า

 

 

กำลังถูกควบคุมตัวที่บ้าน ไม่ได้รับอนุญาตให้ใครมาเยี่ยม ไม่รู้ว่าจะสามารถสื่อสารได้อีกนานเพียงไร นี่คือผลจากการทำข้อตกลงกับอินเดียหรือ

 

ส่วนโอมาร์ อับดุลเลาะห์กล่าวในแถลงการณ์อย่างเป็นทางการว่า

 

 

บรรดาผู้ซึ่งสนับสนุนให้ประชาชนในจัมมู แคชเมียร์มีสิทธิเสียงด้านประชาธิปไตย ต่างถูกควบคุมตัว และที่ผ่านมามีการตรึงกำลังทหารพร้อมอาวุธจำนวนมากในพื้นที่” 

 

คาดว่าการยกเลิกมาตรา 370 จะทำให้เกิดการลุกฮือต่อต้านขนานใหญ่ในแคว้นแห่งนี้ จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลใช้การปราบปรามอย่างเข้มงวดในพื้นที่ ส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ทั้งการทำให้คนตาบอด การสังหาร และการทำให้เกิดความเจ็บปวดทุกข์ทรมานใจสำหรับประชาชนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในรายงานฉบับย่อที่ชื่อ “สูญเสียการมองเห็นในแคชเมียร์: ผลกระทบจากการยิงด้วยปืนอัดลม” ‘Losing Sight in Kashmir: The Impact of Pellet Firing Shotguns’ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล อินเดียบันทึกข้อมูลและเน้นให้เห็นผลจากการใช้ ปืนอัดลม และอาวุธอื่น ๆ ซึ่งถือว่าละเมิดมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ แม้ว่ารัฐมีสิทธิในการรักษาความสงบของสาธารณะ แต่ก็ต้องเคารพสิทธิของประชาชนในการประท้วงอย่างสงบเช่นกัน

 

การสั่งระงับบริการโทรคมนาคมอย่างเหวี่ยงแหและไม่มีเวลากำหนดในจัมมู แคชเมียร์ ยังเป็นมาตรการที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ การปิดกั้นเช่นนี้ ส่งผลให้ประชาชนในแคว้นแห่งนี้ไม่สามารถแสวงหา ได้รับ และเผยแพร่ข้อมูล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การปิดกั้นเช่นนี้ยังส่งผลให้เพื่อนและญาติไม่สามารถติดต่อหากันได้ ทำให้เกิดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยและความตึงเครียด ทำให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคง

 

“การยุติการปฏิบัติมิชอบในแคว้นจัมมู แคชเมียร์ ไม่อาจเกิดขึ้นโดยปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชน”

อาการ์ ปาเตลกล่าว

 

 

 

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อ

Nazia Erum

อีมล์: nazia.erum@amnesty.org.in

โทรศัพท์: 9606187741