ประเทศไทย: ก่อนการเลือกตั้งต้องยกเลิกมาตรการจำกัดสิทธิมนุษยชนและถอนฟ้องคดีต่อผู้วิจารณ์อย่างสงบ

7 ธันวาคม 2561

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล 

สำนักงานเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักรแถลงข้อเรียกร้องก่อนการประชุมครั้งสำคัญระหว่างรัฐบาลทหารกับพรรคการเมืองที่จะเกิดขึ้นในวันนี้ระบุทางการไทยต้องยกเลิกมาตรการพลการที่จำกัดสิทธิมนุษยชน และการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างสงบ รวมทั้งถอนฟ้องคดีต่อผู้วิพากษ์วิจารณ์อย่างสงบโดยทันที ก่อนการเลือกตั้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์
 
 
รัฐบาลทหารไทยได้กำหนดในเบื้องต้นให้มีการเลือกตั้งทั่วไป‪ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562‬ หากการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริง จะถือเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกนับตั้งแต่การทำรัฐประหารในปี 2557
 
 
ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศว่าจะจัดประชุมระหว่างรัฐบาลกับพรรคการเมืองในวันที่ 7 ธันวาคมนี้ เพื่อพูดคุยถึง “แผนและกระบวนการทางการเมืองที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไป”
 
 
แคทเธอรีน เกอร์สัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่านับแต่รัฐประหาร รัฐบาลทหารได้ประกาศใช้มาตรการที่กดขี่และไม่สมเหตุสมผลเพื่อปราบปรามการเคลื่อนไหวทางการเมืองมากมาย รวมทั้งห้ามการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมอย่างสงบ และการสมาคม
 
“รัฐบาลทหารไทยเคยให้สัญญาที่จะยกเลิกมาตรการจำกัดสิทธิเหล่านี้ในอนาคตเพื่อเตรียมการตามโรดแมปสู่การเลือกตั้ง แต่จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลทหารแทบไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ที่เป็นไปตามคำสัญญานั้นเลย”
 
 
ฟื้นฟูและเคารพสิทธิ
 
 
ในการประชุมครั้งนี้ ทางการไทยต้องประกาศมาตรการเร่งด่วนที่อนุญาตให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพของตนได้อย่างเต็มที่ โดยไม่หวาดกลัวว่าจะถูกคุมขังและคุกคาม ทางการต้องอนุญาตให้ประชาชนสามารถรับและเผยแพร่ข้อมูลทางออนไลน์และสื่อได้ สามารถเข้าร่วมรับฟังการอภิปรายและเข้าร่วมการรณรงค์สาธารณะ สามารถรวมตัวและชุมนุมอย่างสงบ สามารถวิพากษ์วิจารณ์นักการเมือง และแสดงความเห็นที่หลากหลายหรือตรงข้ามกับรัฐบาล โดยไม่กลัวว่าจะถูกคุมขังหรือถูกปราบปราม
 
 
ทางการยังควรส่งสัญญาณที่ชัดเจนเพื่อแสดงถึงพันธกิจที่จะเคารพสิทธิเหล่านี้ โดยการถอนฟ้องคดีต่อบุคคลที่ถูกมุ่งเป้าเพียงเพราะใช้สิทธิของตนอย่างสงบ รวมถึงต้องยกเลิกคำตัดสินว่าบุคคลเหล่านี้มีความผิดด้วย
 
 
ยุติการคุกคามด้วยกฎหมายต่อผู้วิพากษ์วิจารณ์อย่างสงบ
 
 
เมื่อเร็วๆ นี้ เจ้าหน้าที่ได้แจ้งความดำเนินคดีอาญากับหัวหน้าพรรคเสรีไทยและพรรคอนาคตใหม่ในเดือนกันยายนและต้นเดือนนี้
 
 
ในเดือนกันยายน พรรคการเมืองต่างๆ ได้รับอนุญาตให้จัดประชุมและเลือกตั้งกรรมการพรรคอย่างจำกัด ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นการส่งสัญญาณว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น และจะมีการผ่อนคลายการปิดกั้นทางการเมืองมากขึ้น แต่ในเดือนเดียวกัน ทางการดำเนินคดีกับพรรคอนาคตใหม่ในข้อหาละเมิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ เนื่องจากการแสดงความเห็นซึ่งถูกพิจารณาว่าเป็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐผ่านเฟซบุ๊ก
 
 
“ในขณะที่รัฐบาลทหารกำลังเริ่มจัดให้มีการเลือกตั้งเหล่านี้ พวกเขายังคงใช้แบบแผนอย่างเดิม เพื่อใช้กฎหมายคุกคามฝ่ายตรงข้ามเพื่อปิดปากพวกเขา”
 
“เป็นเวลานานแล้วที่รัฐบาลทหารใช้ข้ออ้างเรื่องความสงบเรียบร้อยสาธารณะเป็นเหตุผลเพื่อปกป้องตนเองจากการวิพากษ์วิจารณ์ รวมทั้งเพื่อใช้อำนาจควบคุมอย่างเข้มงวดของตนห้ามไม่ให้บุคคลรวมตัวและแสดงความเห็นได้”
 
 
ในเบื้องต้น ทางการต้องยกเลิกมาตรการจำกัดสิทธิโดยพลการเหล่านี้ทั้งหมด รวมทั้งคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558 ที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมอย่างสงบ และการสมาคม “ข้อห้ามเหล่านี้สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อสิทธิมนุษยชน ชีวิตทางการเมือง และชื่อเสียงของประเทศไทย” แคทเธอรีนกล่าว
 
 
ทั่วประเทศไทย นักศึกษา นักวิชาการ ผู้สื่อข่าว นักกฎหมาย นักกิจกรรม และบุคคลอื่น ๆ หลายร้อยคนต้องเผชิญกับโทษจำคุกหลายสิบปี เนื่องจากการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสงบ การชุมนุมสาธารณะ การเรียกร้องให้ฟื้นฟูสิทธิของตนเอง หรือเพียงเพราะเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง
 
“ไม่มีใครหลงเชื่อกับการดัดแปลงแก้ไขมาตรการที่กดขี่เช่นนี้อีกแล้ว”
 
“ทางการไทยเพียงแต่กล่าวรับปากจะยกเลิกมาตรการจำกัดสิทธิบางประการภายในสัปดาห์หน้า แต่มาตรการจำกัดสิทธิทั้งหมดต้องถูกยกเลิก รัฐบาลต้องไม่นำมาตรการเหล่านี้มาใช้เพื่อก่อให้เกิดความหวาดกลัว การคุกคาม และการคุมขังบุคคลที่เพียงแต่แสดงความเห็นของตนอย่างสงบ” แคทเธอรีนกล่าว