คดีทนายสมชายถึง พ.ร.บ. ทรมาน-อุ้มหาย หนทางยาวไกลกว่าจะเข้าถึงความเป็นธรรม

19 มีนาคม 2567

Amnesty International Thailand

“สิ่งที่เจ็บปวดยิ่งกว่า คือรู้ความจริงแต่ทำอะไรไม่ได้” ประโยคสะท้อนความเจ็บปวดของสนิทสุดา เอกชัย อดีตบรรณาธิการบทความ Bangkok Post ที่มีต่อกรณีอุ้มหายที่เกิดขึ้นในสังคมไทย บนเวทีเสวนา “ยุติการลอยนวลผู้กระทำความผิด: หนทางยาวไกลของงานสิทธิมนุษยชนไทยเรื่องการบังคับบุคคลสูญหาย” เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567

วันเดียวกันนี้เมื่อ 20 ปีก่อน เป็นวันที่ทนายสมชาย นีละไพจิตร ถูกอุ้มหาย และทุกวันนี้ยังไม่ทราบชะตากรรม ซึ่งหากเป็นคดีทั่วไป ระยะเวลาเท่านี้คดีก็น่าจะหมดอายุความ และผู้กระทำความผิดคงลอยนวลพ้นผิดไปแล้ว แต่สำหรับคดีอุ้มหายตามหลักสากล คดีนี้ถือเป็นคดีที่ไม่มีอายุความ เพราะเป็นการกระทำที่ต่อเนื่อง จึงต้องได้รับการสืบสวนสอบสวนต่อไปจนกว่าจะทราบชะตากรรมและหาตัวคนกระทำผิดมาลงโทษได้

 

วันที่สมชายหายตัวไป

 

 

ในช่วงแรกของงานเสวนา อังคณา นีละไพจิตร ภรรยาทนายสมชาย กล่าวปาฐกถาถึงสามีที่ถูกบังคับสูญหายว่า ทนายสมชายเป็นคนธรรมดา เกิดในครอบครัวชาวนา แต่เป็นคนที่ยืดหยัดต่อสู้เพื่อความยุติธรรม พร้อมใช้เงินทุกบาททุกสตางค์ที่หามาได้ในการช่วยเหลือผู้ยากไร้

“เขาไม่เคยเรียกตัวเองว่าเป็นทนายความสิทธิมนุษยชน เขาทุ่มเททำงานให้กับคนที่ถูกรังแก โดยไม่กลัวอันตรายที่อาจเกิดขึ้น เวลาที่ว่าความ เขาไม่เคยคิดว่าลูกความของเขาจะถูกเสมอไป แต่เขาเชื่อมั่นว่า คนที่ทำผิดก็จะต้องรับโทษเท่ากับความผิดที่ตัวเองทำ จะไม่รับโทษที่มากไปกว่าสิ่งที่เขาทำ และคนเหล่านั้นไม่ควรถูกใส่ร้ายป้ายสี ไม่ควรถูกทรมาน และไม่ควรถูกทำให้หายไป อังคณากล่าว

สมชาย นีละไพจิตร เป็นรองประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนของสภาทนายความและประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม มีบทบาทสำคัญในคดีด้านความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างนั้น รัษฎา มนูรัษฎา ทนายความสิทธิมนุษยชน และเพื่อนร่วมงานของสมชาย เล่าว่า

“คดีที่ผู้ต้องหาความมั่นคงถูกกล่าวหาว่าร่วมกันปล้นปืนในค่ายปิเหล็ง พี่สมชายและคณะไปทำการสอบข้อเท็จจริงกับผู้ต้องหาที่ไม่ได้รับการประกันตัว ได้ข้อมูลสำคัญว่าคนเหล่านี้ถูกซ้อมบังคับให้รับสารภาพว่าเป็นคนร้ายปล้นปืน พี่สมชายดำเนินการทำเรื่องร้องเรียนขอความเป็นธรรมให้กับผู้ต้องหาที่ถูกซ้อม ทำร้าย บังคับให้รับสารภาพ พี่สมชายยังได้คิดเห็นในเรื่องที่ยกเลิก พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ปี 2457 ซึ่งเป็นกฎหมายเก่าแก่ แล้วเอามาบังคับใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ควบคุมคน 7 วัน โดยยังไม่ต้องแจ้งข้อหา โดยยังไม่มีโอกาสพบญาติ มันเป็นกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม”

 

 

รัษฎาเล่าว่า สิ่งที่สมชายทำ สร้างความไม่พอใจให้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง จนอาจนำไปสู่ความรุนแรงในที่สุด

“ไม่น่าเชื่อว่าการทำงานอย่างตรงไปตรงมาของเขา จะทำให้เกิดโศกนาฏกรรม และทำให้เขาหายไปจากชีวิตของคนอีกหลายคน มีหลายคนถามดิฉันว่า ถ้าสมชายรู้ว่าความยุติธรรมที่เขาพยายามเรียกร้อง จะทำให้ตัวเขาเองต้องเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน แล้วก็ต้องพลัดพรากจากครอบครัว เขาจะยังยืนยันทำสิ่งที่เขากำลังทำหรือเปล่า ในฐานะที่ใช้ชีวิตกับเขามา 24 ปี ก่อนที่เขาจะหายตัวไป ดิฉันเชื่อว่า ไม่ว่าอย่างไร สมชายจะไม่เลิกล้มความเชื่อมั่นและอุดมการณ์ที่มี และเขาจะไม่มีวันเสียใจในสิ่งที่เกิดขึ้น อังคณากล่าวในปาฐกถา

เรื่องราวที่เกิดขึ้น สะท้อนว่าการหายตัวไปของคนธรรมดาหนึ่งคนไม่ใช่จุดจบของชีวิตคน ๆ นั้น แต่เป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ความไม่เป็นธรรมหลายกรณี โดยทนายรัษฎากล่าวว่า คดีของทนายสมชายเต็มไปด้วยข้อบกพร่องในชั้นสอบสวน ทั้งการสืบพยานหลักฐานที่ไม่สมบูรณ์ และขาดหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับจำเลย นั่นทำให้การเข้าถึงความจริงเพื่อความเป็นธรรมเป็นไปด้วยความยากลำบาก

และดูเหมือนจะเป็น “สูตรสำเร็จ” ของกรณีอุ้มหาย ที่ผู้ถูกบังคับสูญหายจะถูกตีตราว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เป็นผู้ก่อการร้าย หรือเป็นภัยต่อรัฐ ทนายสมชายเองก็ถูกกล่าวหาว่าเป็น “ทนายโจร” จากการช่วยเหลือประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้

“ตอนที่สมชายหายตัวไป ตำรวจมักจะเรียกเขาว่า ‘ทนายโจร’ ที่ไม่ต่างจากผู้สูญหายอีกหลายคน ที่ถูกตราหน้าว่าเป็นคนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด เป็นผู้ก่อการร้าย หรือเป็นผู้ที่เป็นภัยต่อรัฐ และคนไม่ดีก็สมควรที่จะหายไป การสร้างภาพลวงกับสังคมก็เพื่อไม่ให้รู้สึกผิด หากคนคนหนึ่งต้องหายไป แล้วก็ไม่ใช่หน้าที่ของสังคม ที่ต้องรู้สึกเสียใจกับคนไม่ดีคนหนึ่งที่จะหายไป” อังคณากล่าว

นอกจากนี้ ในการออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับสามี อังคณายังต้องเชิญกับการใช้ถ้อยคำเสียดแทงและเสียดสีชีวิตจากคนบางกลุ่มที่นำเรื่องเพศมาด้อยค่าการต่อสู้เพื่อค้นหาความจริงและความยุติธรรม เพียงเพราะเธอเป็นผู้หญิง รวมทั้งคำพูดของผู้มีอำนาจ ที่กล่าวหาว่า ทนายสมชายแค่ “ทะเลาะกับเมีย”

 

 

ประเด็นนี้ สนิทสุดาให้ความเห็นว่า “การด้อยค่าผู้หญิงมันเป็นเรื่องการใช้อำนาจของสังคมชายเป็นใหญ่ แล้วก็เป็นอำนาจทางการเมืองด้วย เพราะฉะนั้น เวลาเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น เรื่องที่จะเร็วที่สุด ปากไวที่สุด พล่อยออกมาได้เร็วที่สุดก็คือด้อยค่าผู้หญิงไว้ก่อน ตอนนั้นทุกคนก็ตกใจนะว่าพูดอย่างนี้ได้อย่างไร คิดอะไร มันด้อยค่าปัญหา ด้อยค่าคุณสมชาย ด้อยค่างานที่เขาทำ ไม่เห็นความสำคัญของการต่อสู้เรื่องสิทธิ แล้วก็เห็นว่าเป็นเรื่องผัวเมียทะเลาะกันเท่านั้นเอง มันรับไม่ได้นะ”

สนิทสุดา ให้ความเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนค่านิยมชายเป็นใหญ่ ในสังคมการเมืองซึ่งก็ชายเป็นใหญ่ ในสังคมที่สิทธิมนุษยชนไม่มีค่าในสายตาของคนที่มีอำนาจ

หลังจากที่ทนายสมชายหายตัวไปนาน 11 ปี วันที่ 5 ตุลาคม 2559 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้ส่งหนังสือถึงอังคณาว่า ได้งดการสอบสวนคดีสมชาย เนื่องจากไม่มีหลักฐานว่าใครเป็นผู้กระทำความผิด ขณะที่เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้กับครอบครัวว่า การที่จำเป็นต้องงดการสอบสวน เพราะถ้ายังคงคดีนี้ไว้ จะส่งผลกระทบต่อตัวชี้วัดของกรมสอบสวนคดีพิเศษ

“การงดการสอบสวนด้วยเหตุผลที่ว่ามันกระทบต่อตัวชี้วัด จึงเป็นเสมือนการให้ความสำคัญกับหน้าตาและชื่อเสียงของหน่วยงานราชการมากกว่าการปกป้องคุ้มครองประชาชนจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ” อังคณากล่าว

นอกจากจะงดการสอบสวนคดีสมชายแล้ว กรมสอบสวนคดีพิเศษยังยุติการให้ความคุ้มครองพยานในครอบครัว ด้วยเหตุผลที่ว่าครอบครัวของทนายสมชายไม่ได้อยู่ในอันตรายที่ต้องได้รับความคุ้มครอง

การที่ใครคนหนึ่งถูกบังคับให้หายไปอย่างไร้ร่องรอย แม้จะเป็นการจบปัญหาของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ก็ได้สร้างบาดแผลขนาดใหญ่ให้คนที่ยังอยู่ บาดแผลนั้นเรียกว่า “ความคลุมเครือ” ซึ่งอังคณาอธิบายว่า

ความคลุมเครือเริ่มต้นจากการไม่รู้ชะตากรรม การไม่รู้ว่าคนเหล่านั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่มี ความคลุมเครือจึงเหมือนคำสาปที่ตรึงชีวิตของครอบครัวผู้สูญหาย ก้าวไปข้างหน้าไม่ได้ ในขณะที่ถอยหลังกลับก็ไม่ได้เช่นกัน ความคลุมเครือที่ปกคลุมชีวิตทำให้หลายคนไม่สามารถเชื่อมโยงตัวเองกับสังคมได้ ผู้หญิงหลายคนที่สูญเสียสามี ไม่รู้ว่าจะจัดวางสถานะตัวเองระหว่างการเป็นหม้ายหรือสมรส เด็กๆ ไม่สามารถระบุสถานะตัวเองได้ว่าพ่อยังมีชีวิตอยู่หรือไม่มีชีวิต”

 

“บังคับสูญหาย” ไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคล

ในปี 2547 เหตุการณ์ความรุนแรงไม่ได้มีแต่กรณีบังคับสูญหายของทนายสมชายเท่านั้น แต่ยังเต็มไปด้วยเหตุการณ์ปล้นปืนและเผาโรงเรียนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งทางการเมืองมาตลอด

 

 

บุคคลหนึ่งที่ถูกจับตาดูสถานการณ์เหล่านี้มาตลอด คือ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตสมาชิกวุฒิสภาและอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในช่วงเหตุการณ์เหล่านี้ เขาตั้งข้อสังเกตว่า ตั้งแต่ปี 2547 ตามด้วยการรัฐประหารในปี 2549 และ 2557 จนถึงทุกวันนี้ เป็นเวลารวม 20 ปี มีกรณีบังคับสูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

คดีทนายสมชายเป็นจุดเริ่มต้นของคดีอุ้มหายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นคดีตากใบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสงครามยาเสพติด กรือเซะ หรือที่เป็นอยู่ในขณะนี้ก็ตาม” นพ.นิรันดร์ กล่าว

สอดคล้องกับรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ซึ่งเปิดเผยรูปแบบของการถูกบังคับสูญหายของนักกิจกรรมทางการเมือง 9 คน ซึ่งรวมถึงสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์, สยาม ธีรวุฒิ และวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ โดยศยามล ไกยูรวงศ์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุว่า ผู้สูญหายทั้ง 9 คน ได้รับคำสั่ง คสช. ให้ไปรายงานตัว แต่ทั้งหมดตัดสินใจย้ายไปอยู่ต่างประเทศ เช่น ลาว กัมพูชา และเวียดนาม และหลังจากนั้น ลักษณะการหายตัวไปก็คล้ายคลึงกัน คือมีการติดต่อกับญาติอยู่ในช่วงเวลานั้น แล้ววันต่อมาก็หายตัวไป โดยมีการดำเนินการอย่างรัดกุม และไม่ปรากฏพยานหลักฐาน

“เราไปศึกษาวิธีของต่างประเทศว่า เขามีการค้นหากรณีเหล่านี้อย่างไร ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก ถ้าไม่มีกฎหมายซ้อมทรมาน เราไม่สามารถเอาผิดได้เลย พอมีกฎหมายซ้อมทรมาน นอกราชอาณาจักรก็ยังเป็นความรับผิดชอบของรัฐ และโชคดีที่กรณีนี้มีความเห็นจากคณะผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านสิทธิมนุษยชน ชี้แจงว่ากรณีแบบนี้เป็นการบังคับให้สูญหาย และที่แน่ๆ ทั้ง 9 คนที่สูญหาย ไม่ได้มาจากเหตุผลส่วนตัว เป็นเหตุผลทางการเมือง แต่เราบอกไม่ได้ว่าเป็นการกระทำของใคร แต่โดยสภาพแวดล้อมมันบ่งบอกได้ว่า มันหายไปเพราะเหตุผลทางการเมืองศยามลอธิบาย

 

 

หากการถูกบังคับสูญหายไม่ได้มาจากความขัดแย้งส่วนบุคคล แล้วอะไรที่เป็นชนวนเหตุให้เกิดกรณีนี้ขึ้น อังคณาอธิบายไว้ในการปาฐกถาว่าจากประสบการของตัวเธอเอง การบังคับสูญหายเกิดขึ้นได้ในทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเผด็จการ หรือรัฐบาลประชาธิปไตย เพราะการบังคับสูญหายไม่ได้เกิดขึ้นเป็นนโยบายบางประการของรัฐเพียงอย่างเดียว แต่เบื้องหลังของรัฐ ยังมีระบบโครงสร้างของสถาบันองค์กรที่แฝงอยู่และควบคุมสังคมไทย อย่างที่นักวิชาการหลายคนเรียกว่า ‘รัฐพันลึก’ หรือ ‘Deep State’ หมายถึงรัฐที่อิสระ มีอำนาจ มีอาวุธ และพวกเขาไม่เคยกลัวที่จะใช้มันกับคนที่ออกมาท้าทายอำนาจของพวกเขา โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องรับผิดชอบในการที่เขาจะทำอะไรสักอย่าง

“ที่ผ่านมา แม้ประเทศไทยเปลี่ยนรัฐบาลไปหลายชุด เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีไปหลายคน แต่เจ้าหน้าที่กลุ่มนี้กลับลอยนวลและสามารถยังยืนอยู่ได้ในทุกรัฐบาล และได้รับการสนับสนุน เติบโตในหน้าที่การงาน มียศถาบรรดาศักดิ์ ในขณะที่เหยื่อยังมีชีวิตอยู่กับความไม่ปลอดภัย และการถูกข่มขู่คุกคาม”

ด้าน นพ.นิรันดร์ อธิบายว่า หลังจากการรัฐประหารในปี 2549 และ 2557 ผู้มีอำนาจพยายามอย่างมากที่จะธำรงรักษาอำนาจของตัวเองไว้ ผ่านการสร้างองคาพยพ และการรัฐประหารทางกฎหมาย อย่างรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ให้อำนาจ ส.ว. 250 คน รวมถึงตุลาการที่มาจากการรัฐประหาร กลายเป็นระบอบอำนาจนิยมในหีบห่อของคำว่า “ประชาธิปไตย”

ระบอบการเมืองอำนาจนิยมมันตามด้วยสิ่งที่เรียกว่า ‘สภาวะยกเว้นกฎหมาย’ สิ่งที่มันเกิดขึ้นในขณะนี้ คือเรากำลังเจอรัฐที่เอาความผิดปกติมาทำให้เป็นเรื่องปกติ ตรงนี้คือสภาวะยกเว้นทางกฎหมาย และอภิสิทธิ์ของการลอยนวลพ้นผิด คือทำผิดแล้วไม่ต้องรับผิด มันไม่ใช่แค่วัฒนธรรมนะครับ มันเป็นอภิสิทธิ์”

“ในสภาวะยกเว้นทางกฎหมาย การประกาศกฎอัยการศึก การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นี่คือสภาวะยกเว้นที่ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเป็นต้นเหตุของการอุ้มหาย และการซ้อมทรมานที่ร้ายแรงที่สุด การใช้อำนาจพิเศษในการจับ ตรวจค้น และไม่ให้สิทธิในการประกันตัว”นพ.นิรันดร์กล่าว

 

พ.ร.บ. ซ้อมทรมาน-อุ้มหาย อีกไกลว่าจะเข้าถึงความจริง

กรณีการหายตัวไปของทนายสมชายกลับกลายเป็นแรงกระเพื่อมที่ทำให้สังคมไทยตระหนักถึงการอุ้มหาย และนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงมากมาย หนึ่งในนั้นคือ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นความก้าวหน้าทางกฎหมายที่น่ายินดี แต่ดูเหมือนว่า หนทางในการบังคับใช้กฎหมายนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพจะยังอีกยาวไกลทีเดียว

 

 

อังคณาระบุว่า ปัจจุบันแม้จะมีกฎหมายมาควบคุม ดูแล แต่ยังไม่เห็นความพยายามของคณะกรรมการในการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการบังคับสูญหาย หรือบรรเทา ให้ความหวัง หรือให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัว จึงเป็นข้อท้าทายของรัฐบาลชุดนี้และชุดต่อ ๆ ไปในการใช้กฎหมายด้วยความยุติธรรม

“สิ่งที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมาย แต่ข้อท้าทายที่สำคัญคือ กฎหมายจะนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไร หนึ่งปีของการบังคับใช้กฎหมาย ไม่มีข่าวคราวจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการเรื่องตามหาคนหาย ไม่มีคำมั่นสัญญา ไม่ให้ความหวัง ในขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับคดีสมชายและคดีอื่นๆ ก็ยังคงลอยนวล โดยไม่มีการละอายต่อการกระทำความผิด ในขณะที่เหยื่อที่ยังมีชีวิตอยู่ คือครอบครัว ที่ส่วนมากมีผู้หญิงและเด็ก กลับถูกทำให้ต้องอยู่กับความหวาดกลัว สูญเสียอัตลักษณ์ สูญเสียศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”

 

 

ประเด็นนี้ สัณหวรรณ ศรีสด คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล กล่าวว่า ขณะที่กรณีการทรมานมีการยุติเกือบทุกกรณี แต่กรณีบังคับสูญหายกลับคงค้างอยู่ในระบบเป็นจำนวนมากกว่า 70 คดี ซึ่งสาเหตุหลักมาจากความไม่คล่องตัวของคณะกรรมการบังคับใช้กฎหมาย

“หนึ่งในกลไกที่ถูกสร้างขึ้นมาก็คือคณะกรรมการ ซึ่งมีอำนาจหลากหลาย โดยรวมถึงการให้การเยียวยา การออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง การฟื้นฟูผู้เสียหาย รวมถึงการพิจารณารายงานสถานการณ์เพื่อส่งต่อให้กับคณะรัฐมนตรี และการตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แล้วก็การกระทำให้บุคคลสูญหาย”

“องค์ประกอบคณะกรรมการส่วนใหญ่ก็จะเป็นรัฐมนตรี เป็นปลัด สไตล์คณะกรรมการตามกฎหมายไทย ก็จะใหญ่นิดหนึ่ง ไม่ค่อยคล่องตัว ส่วนใหญ่ก็จะเป็นอันดับหนึ่งของแต่ละหน่วยงานมานั่งรวมกัน วิธีการทำงานปกติก็คือออกอนุกรรมการ ให้มีอนุกรรมการมาทำงาน จะได้คล่องตัวมากขึ้น และในแต่ละวรรคก็นำไปสู่การออกอนุกรรมการ ซึ่งถ้าเกิดไม่มีการตั้งอนุกรรมการขึ้นมา เราต้องรอคณะกรรมการใหญ่อย่างเดียว ไม่น่าจะขยับไปข้างหน้าได้ง่ายๆ”

สัณหวรรณ เสนออีกว่า ควรมีกลไกภายในกำกับดูแล เช่น คณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน เพื่อรับผิดชอบทำคดีที่คงค้างอยู่ รวมทั้งต้องมีการเปิดเผยข้อมูลให้กับญาติผู้สูญหายและสาธารณชนด้วย

“ปัญหาที่สอง คือคดีที่ค้างอยู่ 70 กว่าคดี ส่วนใหญ่น่าจะอยู่ที่ DSI เพราะว่าคดีนี้เป็นคดีที่ได้รับจากสหประชาชาติ ซึ่ง DSI เป็นคนดูแล วิธีการจัดการของ DSI พอไปเจอทางตัน ไม่พบศพ ไม่พบตัวผู้กระทำผิด ก็จะถูกวางไว้แบบนั้น แต่ว่าอันนี้จริงๆ มันขัดกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศอยู่ เพราะว่าทางด้านกฎหมายระหว่างประเทศ แม้ว่าจะไม่สามารถระบุศพได้ แต่ว่าเจ้าหน้าที่ยังต้องรวบรวมพยานหลักฐานแวดล้อมอื่นๆ ต่อไป เพราะว่าพยานหลักฐานเหล่านี้อาจจะเพียงพอต่อการระบุตัวผู้กระทำผิด”

“จริงๆ เรื่องนี้มันต้องเป็นการเปลี่ยน mindset ผู้ทำการสืบสวนสอบสวน และศาลไทยด้วย เพราะว่าสิ่งที่ศาลต้องรอทุกวันนี้ ในคดีอุ้มหาย ก็คือต้องหาศพให้เจอก่อน ไม่งั้นอย่างอื่นไม่เริ่ม ทั้งที่จริงๆ มันไม่ใช่ ทุกอย่างทำไปพร้อมกันได้ อันนั้นก็คือสืบให้ทราบชะตากรรมด้วย รวบรวมพยานหลักฐานให้ได้มากที่สุด ที่อาจจะระบุตัวผู้กระทำความผิดได้ สัณหวรรณกล่าวเสริม

 

 

ไม่เพียงแต่การบังคับใช้กฎหมายเท่านั้น การทำงานขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอย่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ก็ต้องเผชิญกับทางตัน เนื่องจากข้อกฎหมาย ทำให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนกลายเป็นเพียง “เสือกระดาษ” ที่ไม่สามารถดำเนินการค้นหาความจริงได้อย่างเต็มที่ โดยศยามลกล่าวว่า

ศยามล บอกอีกว่า หลายอย่างมีข้อจำกัดตั้งแต่ก่อนที่จะมีการใช้ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการบังคับสูญหาย เพราะว่าตามหลักของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การทำงานของอัยการค่อนข้างตั้งรับ ที่รู้กันว่า ถ้าอัยการไม่ทำงานสอบสวนเชิงรุก อัยการจะได้สำนวนจากตำรวจ ซึ่งไม่รู้ว่าจะเป็นจริงหรือไม่เป็นจริง แล้วญาติของเหยื่อจะมาแจ้งผ่าน กสม. หลังจากผ่านไปประมาณ 1 เดือน ส่วนใหญ่ ซึ่งยากมากที่จะหาหลักฐาน ซึ่งประชาชนไม่สามารถหาภาพจากกล้องวงจรปิดได้  ฉะนั้นในกระบวนการอาชญากรรม จำเป็นต้องรู้หลักฐาน ณ ตอนนั้น ในความจริงประเด็นนี้มีข้อจำกัดมาก ที่จะทำให้คำร้องที่ กสม. ตรวจสอบ มักจะหาตัวผู้กระทำผิดไม่ได้

“นอกจากนี้ ไทยยังไม่ได้อยู่ในพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ที่เรียกว่า OPCAT ประเทศไทยยังไม่ได้รองรับพิธีสารนี้ ถ้าประเทศไทยรับ OPCAT กสม. จะเข้าไปดำเนินการ ถ้ามีการร้องว่ามีการละเมิดสิทธิ กสม. จะเข้าไปทันที ในการหาข้อเท็จจริง” ศยามลกล่าว

เช่นเดียวกับหน่วยงานที่มีหน้าที่ทำความจริงให้ปรากฏอย่าง “สื่อมวลชน” ยังเผชิญกับข้อจำกัดและความท้าทาย ที่ทำให้ความจริงในประเด็นเรื่องการอุ้มหายไม่ได้ถูกตีแผ่ ประเด็นนี้ สนิทสุดาให้ความเห็นว่า

“ในกรณีการรายงานข่าวอุ้มฆ่า เราจะเห็นว่าสื่อกระแสหลักมักจะเสนอข่าวจากทางรัฐเป็นหลัก เจ้าหน้าที่พูดว่าอย่างไรก็รายงานไปตามนั้น โดยไม่ตามหาความจริงว่าอะไรเกิดขึ้นจริงๆ สื่อกระแสหลักจะให้น้ำหนักว่าสิ่งที่รัฐบาลพูดนั่นแหละคือความจริง ถ้าเป็นสิ่งที่ประชาชนพูด ก็ไม่มีน้ำหนักให้เชื่อพอ”

“เมื่อเห็นว่าสิ่งที่ผู้มีอำนาจพูดเท่านั้นเป็นข่าว ก็เลยพูดแค่นี้ ไม่เน้นการตั้งคำถาม หาความจริง เพราะจะทำให้ผู้มีอำนาจโกรธ การทำข่าวสืบสวนสอบสวนเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งในการหาความจริง แต่การลงพื้นที่ต้องใช้เงิน ใช้คน ใช้เวลา การเข้าใจข้อมูลทางเอกสารต้องใช้ความรู้ ก็เลยยิ่งไม่อยากทำ แม้กระทั่งในยุคสื่อกระแสหลักเฟื่องฟูก็ไม่อยากทำ”

สนิทสุดา แสดงความคิดเห็นว่า ปัจจุบันสื่อกระแสหลักอยู่ในยุคพระอาทิตย์ตกดิน จะหวังให้ลงทุนเพื่อแสวงหาความจริงยิ่งอาจเป็นเรื่องเกินเอื้อม และหลายครั้งอคติของสื่อก็มาจากความเชื่อฝังหัวจากระบบการศึกษา ที่เน้นเชื้อชาตินิยมและเหยียดชาติพันธุ์ เช่น ความเชื่อที่ว่าทนายสมชายสนับสนุนกลุ่มมุสลิมแบ่งแยกดินแดน บิลลี่เป็นพวกชาวเขาทำลายป่า หรือนายเด่น คำแหล้ เป็นผู้บุกรุกที่ดินรัฐ ซึ่งทั้งหมดไม่ใช่ความจริง

“อคตินี้มีผลต่อสื่อที่พยายามเป็นกระบอกเสียงให้กับคนเล็กคนน้อย เพราะนอกจากจะโดนกล่าวหาว่าสิ่งที่ชาวบ้านพูดเชื่อถือไม่ได้แล้ว คนทำข่าวก็ยังไม่เป็นกลางอีก เพราะเสนอข่าวแต่ด้านเดียว จากด้านประชาชน” สนิทสุดากล่าว

ในช่วงท้าย สนิทสุดามองว่า ปัจจุบันสื่อกระแสหลักอ่อนพลังลงไปมาก ในขณะที่สื่อออนไลน์มีอิทธิพลมากขึ้น รวมถึงการแข่งขันด้านยอดวิว ทำให้สื่อออนไลน์เน้นทำข่าวกระแส และข่าวดราม่า ใน ขณะที่สื่อที่สนใจปัญหาสังคมและประชาธิปไตยก็ประสบปัญหาทางธุรกิจ และเสี่ยงโดนฟ้องปิดปาก ขณะเดียวกัน รัฐก็ลงมาเล่นด้วยการทำ IO สร้างความเกลียดชังในหมู่ประชาชน ยิ่งกว่านั้น วัฒนธรรมอำนาจนิยม ก็เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ไม่อาจพาสังคมไปสู่ความจริงและความเป็นธรรมได้

“เราต้องยอมรับว่าลำพังกฎหมายอย่างเดียวคงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะในความเป็นจริงแล้ว บ้านเราไม่มี Rule of Law ยังปกครองด้วยรัฐราชการเผด็จการ และมีระบบประชาธิปไตยแบบกลวงๆ ภายใต้อำนาจเผด็จการและอำนาจทุน”

สนิทสุดา บอกว่าความพยายามของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่จะยื้อการใช้กฎหมาย เพราะยังมีการซ้อมทรมานในค่ายทหาร การที่สถาบันการศึกษาในทุกระดับยังใช้ความรุนแรง และยังปกป้องผู้ละเมิดอยู่เสมอ สะท้อนให้เห็นปัญหาวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่ยังเข้มแข็งในสังคมไทย ทำให้สยบยอมต่อความรุนแรงของรัฐ

“ความจริงอันน่าเจ็บปวดก็คือ อุปสรรคของการนำอาชญากร ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมาลงโทษ ก็คือรัฐนั่นเอง” สนิทสุดา กล่าว

 

การเยียวยาและข้อเสนอถึงรัฐ

สำหรับการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของผู้ถูกบังคับสูญหายนั้น ศยามลระบุว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเห็นความสำคัญของญาติผู้ถูกบังคับสูญหาย ดังนั้น การเยียวยาจึงต้องไปถึงญาติด้วย ไม่ใช่แค่ผู้เสียหาย โดยจะต้องทำ 4 เรื่อง 8nvทำให้กลับคืนสู่สภาพเดิม จ่ายสินไหมทดแทน บำบัดฟื้นฟู และประกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก และจะต้องดูว่าควรมีลักษณะของการเยียวยาอย่างไรให้พอใจเพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจขึ้นมา ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่ กสม. ทำการวิจัยกับกระทรวงสาธารณสุขอยู่

“ข้อเสนอสุดท้าย เสนอให้คณะกรรมการปราบปรามการซ้อมทรมานฯ เร่งรัดการสืบสวนหาผู้กระทำความผิด โดยเอาข้อมูลจาก กสม. ไปประกอบด้วย แล้วก็ให้คณะกรรมการกำหนดค่าชดเชยให้กับญาติหรือครอบครัวผู้เสียชีวิต และชดเชยให้ครอบครัวตามความเห็นของคณะกรรมการตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน ภายใน 180 วัน และเร่งให้รัฐมนตรีให้สัตยาบันอนุสัญญาคุ้มครองผู้ถูกบังคับสูญหาย และให้สัตยาบันให้พิธีสารเลือกรับ หรือที่เรียกว่า OPCAT ให้คณะกรรมการเร่งรัดกำหนดนโยบายฟื้นฟูเยียวยาด้านร่างกาย ซึ่งเราก็หวังว่าคณะกรรมการและ ครม. จะเร่งบังคับให้ดำเนินการ” ศยามล กล่าว

 

ความเป็นธรรมที่แท้จริงคือเปิดเผยความจริง

“สำหรับครอบครัวคนหาย การอุ้มหายจึงไม่ใช่การพลัดพราก การพรากใครบางคนไปตลอดกาล แต่การอุ้มหายทำให้คนที่มีชีวิตอยู่เหมือนตายทั้งเป็น สิ่งที่ทุกคนต้องการทราบก็คือความจริง อังคณากล่าวในฐานะครอบครัวของผู้สูญหาย

เช่นเดียวกับอีกหลายครอบครัวที่สูญเสียสมาชิกในครอบครัวไปจากการถูกบังคับสูญหาย สิ่งที่ผู้สูญเสียเหล่านี้ต้องการคือการทราบความจริงว่าบุคคลที่พวกเขารักนั้นเป็นตายร้ายดีอย่างไร และใครเป็นผู้พรากบุคคลนั้นไปจากพวกเขา จากนั้นจึงนำคนผู้นั้นไปลงโทษตามกฎหมาย นี่จึงจะเรียกว่าความเป็นธรรมที่แท้จริง

 

 

ด้าน นพ.นิรันดร์กล่าวว่า การจะข้ามพ้นกับดักเชิงโครงสร้าง ประชาชนต้องตระหนักว่ากำลังต่อสู้กับระบบอำนาจนิยม ที่ใช้อำนาจโดยมิชอบ และทำตามกฎหมายโดยไม่ได้ยึดหลักความเป็นธรรม

เราต้องทำความจริงให้ปรากฏ ถ้าความจริงไม่ปรากฏ สิ่งที่เกิดขึ้นในการที่เราจะเอาคนผิดมาลงโทษ มันทำไม่ได้หรอกครับ เพราะเขายังลอยนวลอยู่ แค่รัฐประหารอย่างเดียวก็ยกเว้นความผิด นิรโทษกรรมเขา แต่เราที่ได้รับความทุกข์ทรมาน”

“เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้ต้องรายงานในรูปแบบความจริง เพราะเราอยากรู้ว่าหน่วยงานไหน องค์กรไหนที่มันทำไม่ถูก ทำไม่ถูกอย่างไร มีเหตุผลอย่างไร และเราต้องไปปฏิรูปโครงสร้างของหน่วยงานสถาบันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล เพื่อทำให้ดีขึ้นในการที่เขาจะสร้างความเป็นธรรมให้กับเรา และความเป็นธรรมตรงนี้จะต้องเป็นเครื่องมือในการจำกัดอำนาจรัฐ และเพิ่มอำนาจประชาชนในการเข้าถึงความเป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม ทนายรัษฎากล่าวว่า “การเยียวยาความเสียหายกับครอบครัวผู้เสียหายที่ดีที่สุดคือเอาคนผิดมาลงโทษ”

ทั้งนี้ นพ.นิรันดร์กล่าวว่า การแก้ปัญหานี้จะต้องใช้ความร่วมมือจากหลายฝ่าย

“จากประสบการณ์การทำงานของผม อย่าไปคิดว่าเราจะทำคนเดียวได้สำเร็จ ภาคประชาสังคม องค์กรระหว่างประเทศ  นักวิชาการ เพราะนี่คือเรื่องของโลก ต้องทำให้เกิดการทำงานที่เป็นเครือข่าย เพราะนี่คือเรื่องยาก และนี่แหละครับคือสิ่งที่ผมคิดว่าจะทำให้สังคมไทยเปลี่ยนผ่านได้ เปลี่ยนผ่านไปสู่การทำงานที่ร่วมกันเพื่อสร้างความเป็นธรรม” นพ.นิรันดร์สรุป