10 เยาวชน-คนรุ่นใหม่ ก้าวต่อไปของสิทธิมนุษยชนไทย

5 มกราคม 2567

Amnesty International Thailand

ภาพถ่าย : © ANTHONY WALLACE/AFP via Getty Images

นับตั้งแต่ปี 2536 แอมเนสตี้ ได้ก่อร่างสร้างองค์กรในประเทศไทย เพื่อทำงานด้านสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง ทั้งการรณรงค์ผ่านกิจกรรมและแคมเปญต่าง ๆ รวมถึงการผลักดันเชิงนโยบาย ผ่านการพยายามทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ที่สำคัญคือการสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนคนธรรมดา ด้วยความเชื่อที่ว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร เด็กหรือผู้ใหญ่ ประกอบอาชีพอะไร หรือจะอยู่หนใดของประเทศ ทุกคนล้วนมีสิทธิเสรีภาพและสามารถช่วยกันส่งเสริมต้นกล้าสิทธิมนุษยชนให้แข็งแรง ร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อก้าวไปสู่วันพรุ่งนี้ที่ดีกว่าด้วยกัน

อนาคตจะเป็นอย่างไร ย่อมขึ้นอยู่กับวันนี้ แอมเนสตี้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างรากฐานของการตระหนักรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งแน่นอนว่าเยาวชน-คนรุ่นใหม่คือกลุ่มคนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความเป็นไปในอนาคตของประเทศ ด้วยเหตุนี้ตั้งแต่ปี 2565 แอมเนสตี้ได้ดำเนินงานตามกรอบยุทธศาสตร์เด็กและเยาวชนโลก มุ่งเน้นให้เยาวชนเป็นศูนย์กลางการทำงาน ผ่านกิจกรรมหลายโครงการ หลากรูปแบบ ครอบคลุมทุกระดับ ทุกภูมิภาค

ตลอดเวลาที่ผ่านมา มีเยาวชน-คนรุ่นใหม่จำนวนมากให้ความสนใจเข้าร่วมงานกับแอมเนสตี้ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งช่องทางออนไลน์และออนไซต์ เช่น การร่วมรณรงค์ประเด็นสิทธิมนุษยชนผ่านแคมเปญ การออกค่ายเรียนรู้ปัญหาสิทธิมนุษยชนในท้องถิ่น หรืออาสาสมัครตามกิจกรรม ในโอกาสนี้จะขอแนะนำให้ผู้อ่านที่เชื่อมั่นในสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย และมองเห็นความสำคัญของเยาวชน มาทำความรู้จักกับ 10 เยาวชน-คนรุ่นใหม่ จาก 3 โครงการของแอมเนสตี้ ได้แก่ กระบวนกรห้องเรียนสิทธิมนุษยชน (Training for Trainer), Youth Network และนักเรียนคลับจากคลับแอมเนสตี้ในรั้วมหาวิทยาลัย ทั้งนี้สามารถติดตามอ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มของเยาวชน-คนรุ่นใหม่ทั้ง 10 คน เพิ่มเติมได้ในช่องทางสื่อสารของแอมเนสตี้

 

กระบวนกรห้องเรียนสิทธิมนุษยชน Training for Trainer

จากกระแสการตื่นตัวของคนรุ่นใหม่และนักกิจกรรมที่ออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นสิทธิมนุษยชนและการเมือง แอมเนสตี้มองเห็นว่าการออกมายืนเคียงข้างคนรุ่นใหม่ โดยการสนับสนุนข้อเรียกร้องและการแสดงออกอันชอบธรรมนั้นเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งหนึ่งในการสนับสนุนที่แอมเนสตี้มองว่าสำคัญไม่น้อยกว่าสิ่งอื่น คือการสนับสนุนชุดข้อมูลและความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน กระนั้น ด้วยข้อจำกัดในด้านต่าง ๆ ทำให้แอมเนสตี้ไม่สามารถประสานกับเยาวชนและนักกิจกรรมได้อย่างทั่วถึง จึงเป็นที่มาของการอบรมกระบวนกรห้องเรียนสิทธิมนุษยชน (Training for Trainer) เพื่อให้ผู้ผ่านการอบรมสามารถที่จะจัดห้องเรียนสิทธิมนุษยชนได้ต่อไปด้วยตัวเอง

 

 

ฝน-อลิสา บินดุส๊ะ นักกฎหมายและผู้ประสานงานของกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคใต้ หลังจากการทำงานเรื่องสิทธิชุมชนในพื้นที่ ฝนขยายการทำงานของตัวเองสู่การเป็นกระบวนกร ออกแบบกระบวนการเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนและกฎหมาย จัดห้องเรียนสิทธิมนุษยชนตามพื้นที่ต่าง ๆ ต่อมาได้เข้าร่วมอบรม Training of Trainers ของแอมเนสตี้ ฝนเล่าว่าการอบรมในครั้งนั้น ทำให้ได้รู้ว่าการเรียนเรื่องสิทธิมนุษยชนศึกษามีวัตถุประสงค์ที่แท้จริงอย่างไร และสามารถนำความรู้นั้นมาอธิบายเรื่องสิทธิมนุษยชนให้ผู้อื่นเข้าใจได้ง่ายขึ้น

“นักกิจกรรมจะเข้าใจในประเด็นที่ต่างจากตัวเองมากขึ้น ในเรื่องสิทธิมนุษยชนคุณจะเลือกเคารพบางสิทธิ์ไม่ได้ มันทำให้เขาเข้าใจความเป็นมนุษย์ของกันและกันมากขึ้น ส่วนใหญ่ประเด็นแบบนี้จะขัดแย้งอยู่ในพื้นที่ เช่น กลุ่มคนที่ทำงานด้าน LGBTQ ในพื้นที่ 3 จังหวัด กับกลุ่มที่เรียกร้องเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกในพื้นที่ 3 จังหวัด แต่เดิมเขามีความไม่รู้จักกันอยู่ แนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนจะเข้าไปบอกว่าทุกสิทธิ์นั้นเกี่ยวเนื่องกัน จะแบ่งแยกไม่ได้ การทำให้เกิดความตระหนักตรงนี้ สิ่งที่เราเห็นว่ามันเปลี่ยนคือเขาสามารถซัปพอร์ตกันบนหลักการ โดยไม่จำเป็นว่าสิ่งที่เพื่อนเรียกร้องต้องเป็นประเด็นที่ตัวเองให้ความสนใจมากที่สุด” ฝนเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของนักกิจกรรมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่เข้ามาอบรมในห้องเรียนสิทธิมนุษยชนที่ฝนเป็นกระบวนกร หลังจากที่ฝนผ่านการอบรม Training of Trainers

 

 

อีกหนึ่งในผู้เข้าร่วมอบรมกระบวนกรห้องเรียนสิทธิมนุษยชนที่อยากแนะนำให้รู้จักคือ โอ้ต-จิณณวัตร ช้อยคล้าย เจ้าหน้าที่วิจัยและนักจิตวิทยา โอ้ตเริ่มสนใจเรื่องสังคม การเมือง จากเหตุการณ์รัฐประหารในปี 2557 จนนำมาสู่ความสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน และศึกษาลงลึกในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง หลังจากเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กระทั่งจบการศึกษา ปัจจุบันเขามีความสนใจด้านสิทธิเด็ก และความหลากหลายทางเพศ

“เรามีความสนใจในการทำงานกับเด็กที่เป็นกลุ่มอยู่แล้ว การเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งจำเป็น แต่กลับไม่มีบรรจุในหลักสูตร ทำให้เรารู้สึกว่าน่าไปลองหาความรู้ จึงตัดสินใจสมัครเข้าไป” โอ้ตกล่าวถึงเหตุผลในการตัดสินใจเข้าอบรม Training of Trainers กับแอมเนสตี้

โอ้ตเล่าว่าหลังการอบรมในครั้งนั้น ได้เปิดโลกและมุมมองเรื่องสิทธิมนุษยชนให้กว้างและลึกขึ้น สิ่งหนึ่งที่ตระหนักชัดคือสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เรื่องรายบุคคล แต่เป็นเรื่องของคนทุกคน และเมื่อนำมามองผ่านเลนส์ของนักจิตวิทยา โอ้ตบอกว่าการทำความเข้าใจใครสักคน ไม่ใช่เข้าใจเฉพาะสิ่งที่เป็นปัจเจกว่าเขาคิดแบบนี้ เขาเลยทำแบบนี้ เขาถูกเลี้ยงมาแบบนี้ เขาเลยเป็นแบบนี้ แต่ต้องนึกถึงเรื่องการประกอบสร้างทางสังคมร่วมด้วย เพราะสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในสังคมหนึ่งมีผลอย่างมากต่อชีวิตของผู้คนในสังคมนั้น

 

Youth Network การเกี่ยวเนื่องและเชื่อมถึงกันของพลังเยาวชน

เพราะการให้ความสำคัญกับเยาวชนคือการรับฟังเสียงของพวกเขา นอกเหนือจากการสร้างความตระหนักรู้ สิ่งที่จำเป็นคือการมอบโอกาสให้พวกเขาเข้ามามีบทบาทในการออกแบบและวางแผนการรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชนร่วมกัน

Youth Network คือตัวแทนเครือข่ายเยาวชนระดับประเทศที่มีภูมิหลังและประสบการณ์ที่หลากหลาย ทั้งภูมิภาค อัตลักษณ์ และประเด็นที่สนใจ ตัวแทนเยาวชนจะขับเคลื่อนด้วยการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และทำกิจกรรมร่วมกับเครือข่ายเยาวชนทั้งในระดับภูมิภาค ระดับประเทศ และระดับสากล โดยมีแอมเนสตี้ประเทศไทยเป็นผู้สนับสนุน

 

 

เคียวกะ-ปลายฟ้า เคียวกะ โชติรัตน์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ผู้มีความสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนมาตั้งแต่อายุ 11 ปี ปัจจุบันเธอเป็นนักกิจกรรมที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความหลากหลายทางเพศ ระบบการศึกษา และสิ่งแวดล้อม

สำหรับเคียวกะ เธอกล่าวว่า Youth Network เป็นเหมือนประตูที่เปิดโอกาสให้เธอและเยาวชนคนอื่น ๆ ที่อยากเรียนรู้และอยากเป็นกระบอกเสียงในเรื่องสิทธิมนุษยชน เธอคิดว่าการที่เยาวชนร่วมกันทำกิจกรรมหรือคิดแคมเปญ จะช่วยให้สังคมเข้าใจและเปิดใจรับฟังเสียงของเยาวชนมากขึ้น นอกจากนี้ในมุมมองส่วนตัว การเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ ทำให้เธอได้รู้จักเพื่อนใหม่ที่มีความสนใจคล้ายกัน ได้มีพื้นที่พูดคุยเรื่องปัญหาสังคมอย่างปลอดภัย ร่วมกันคิดและลงมือทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ในโรงเรียน

และเมื่อถามเคียวกะถึงกิจกรรมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในรูปแบบที่เคียวกะอยากให้เกิดขึ้น ประกายสว่างก็ปรากฏในดวงตาของเธอ พร้อมกับคำตอบที่ว่า “เราอยากทำเป็น Human Rights Festival มีดนตรีสดและการแสดงผลงานศิลปะที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน มีเวทีดีเบต มีเวิร์กชอป มีร้านขายอาหารและสินค้าจากท้องถิ่น และอีกอย่างที่อยากทำคือการทัวร์จัดกิจกรรมตามต่างจังหวัด รณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชน โดยให้เยาวชนเป็นผู้นำจัดกิจกรรมให้กับเยาวชนด้วยกันเอง”

 

 

ฟาน-อัรฟาน ดอเลาะ คนหนุ่มจากจังหวัดปัตตานี นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ เอกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยรามคำแหง พร้อมกับทำงานพาร์ตไทม์เป็นผู้ช่วยทนายที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ฟานเป็นหนึ่งในเยาวชนที่ร่วมกิจกรรมกับแอมเนสตี้มาแล้วหลายครั้ง ฟานบอกว่าเหตุผลที่เขารับสมัครเข้ามาเป็น Youth Network เพราะต้องการมีส่วนร่วมในเชิงนโยบาย

“การที่เรามาอยู่ตรงนี้ เรามีโอกาสแสดงความคิดเห็น หรือเสนอแนวทางที่อยากทำแต่ยังไม่มีโอกาส รวมทั้งการแลกเปลี่ยนและศึกษาวิธีการทำงาน เพราะแอมเนสตี้เป็นองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งมีความซับซ้อนที่เรายังไม่รู้ การที่เรามาอยู่ตรงนี้ถือเป็นการพัฒนาศักยภาพของตัวเอง เรียนรู้กระบวนการทำงาน และเราสามารถนำสิ่งนั้นมาปรับใช้ในชีวิตของเราเองด้วย” ฟานกล่าว

ฟานมีความสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนศึกษา เขาตั้งใจว่าในอนาคตอยากจัดเวิร์กชอปเชิงปฏิบัติการณ์ให้เยาวชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในด้านต่าง ๆ ด้วยความเชื่อที่ว่าถ้าเยาวชนมีโอกาสเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง จะทำให้เยาวชนเกิดความตระหนักรู้ถึงสิทธิมนุษยชน

 

ต่อมาคือบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น นิคกี้-ศุภวิชญ์ วงศ์วิริยะชัยผู้ที่หลังจากจบการศึกษาแล้วตัดสินใจกลับบ้านมาทำธุรกิจส่วนตัวที่จังหวัดหนองบัวลำภู และมอบเวลาที่เหลือให้กับการเป็น NGO ทำงานด้านเด็กและเยาวชน

นิคกี้เป็นอีกคนหนึ่งที่หันมาสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะเหตุการณ์ทางการเมืองที่นำไปสู่การรัฐประหารในปี 2557 เขาค่อย ๆ ศึกษาเรื่องสิทธิมนุษยชนและมองเห็นความสำคัญของสิทธิมนุษยชน ในฐานะสิ่งที่จะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ รวมถึงเป็นสิ่งที่จะทำให้คนในสังคมที่มีความหลากหลายอยู่ร่วมกันได้อย่างเห็นอกเห็นใจและให้เกียรติซึ่งกัน

นิคกี้บอกถึงเหตุผลของการสมัครเป็น Youth Network ว่าเขาอยากเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนไปกับแอมเนสตี้ หรืออย่างน้อยที่สุด เขาอยากเป็นตัวเชื่อมในการส่งต่อเสียงของเยาวชนไปถึงแอมเนสตี้ และเมื่อถามถึงวิธีที่จะทำให้เยาวชนหันมาสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน นิคกี้เน้นย้ำว่าการนำเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้าไปอยู่ในระบบการศึกษา หรือแม้แต่ในสถาบันครอบครัวเป็นสิ่งจำเป็น เพราะการศึกษาในปัจจุบันให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชนน้อยเกินไป ทำให้บางคนยังไม่เข้าใจ หรือเข้าใจเพียงผิวเผิน ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงการที่ผู้ใหญ่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเยาวชนด้วย

 

Amnesty Club คลับแอมเนสตี้พื้นที่เรียนรู้และขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนในสถานศึกษา

คลับแอมเนสตี้ คือชมรมสิทธิมนุษยชนในสถานศึกษา เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับนักศึกษาและนักกิจกรรมที่มีความสนใจประเด็นสิทธิมนุษยชน คลับแอมเนสตี้กระจายอยู่ตามโรงเรียน มหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งนอกเหนือจากการขับเคลื่อนงานรณรงค์และเผยแพร่วัฒนธรรมการเคารพสิทธิมนุษยชน คลับแอมเนสตี้แต่ละแห่งจะมีกิจกรรมสอดคล้องกับประเด็นสิทธิมนุษยชนในท้องถิ่นและชุมชนนั้น ๆ อีกด้วย

 

เริ่มกันที่ภาคเหนือกับนักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ร็อค-รัฐศาสตร์ ชาแท่น ผู้ร่วมก่อตั้งคลับแอมเนสตี้พะเยา ซึ่งเป็นคลับแรกในภาคเหนือ ตอนที่ยังไม่มีคลับแอมเนสตี้ที่ลำปาง ร็อคคิดว่าควรมีคลับแอมเนสตี้ในภาคเหนือบ้าง เขาเห็นว่าควรทำอะไรบางอย่างเพื่อแสดงความเป็นเด็กรัฐศาสตร์ จึงเป็นที่มาของการตั้งคลับที่ทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชน

“ตอนนั้นผมได้รับแรงบันดาลใจจากการเปลี่ยนคณบดีใหม่ และเป็นคณบดีที่เคยต้องคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก ฉุนเฉินฯ อดีตเคยเป็นแกนนำม็อบของมหาวิทยาลัย แล้วพอวันหนึ่งเขามาเป็นคณบดี เราก็คิดว่าเป็นโอกาสที่ดีในการตั้งคลับขึ้นในมหาวิทยาลัยพะเยา เพราะอย่างน้อยก็มีพื้นที่ปลอดภัยให้ได้เคลื่อนไหวและร่วมแสดงความเห็น” ร็อคกล่าวเสริม

 

 

อีกหนึ่งตัวแทนคลับแอมเนสตี้ที่อยากแนะนำให้รู้จักคือ จุ๊บจิ๊บ-อชิรญา บุญตา นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ผู้ก่อตั้งและประธานคลับแอมแนสตี้ของมหาวิทยาลัย ความสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนของเธอมีเหตุผลง่าย ๆ คือความต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้น

“การมีคลับที่ลำปางทำให้เราได้เปิดพื้นที่ให้กับนักกิจกรรมในภูมิภาค หรืออย่างแคบที่สุดคือบริเวณมหาวิทยาลัยให้มารู้จักกัน การเปิดคลับทำให้พื้นที่ในการแสดงออกเรื่องสิทธิมนุษยชนกว้างขึ้น และยังทำให้เราได้เชื่อมต่อกับคนอื่น ๆ เราจึงตัดสินใจเปิดคลับขึ้นมา” จุ๊บจิ๊บบอกถึงเหตุผลของการก่อตั้งคลับลำปาง

จุ๊บจิ๊บเชื่อว่าการสนับสนุนสิทธิมนุษยชนมีได้หลายวิธี ซึ่งสำหรับเธอการทำให้คนมาสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน ต้องเป็นการชักชวนให้คนที่ยังไม่ตระหนักรู้มาเรียนรู้ผ่านสิ่งที่เขาถนัด จุ๊บจิ๊บยกตัวอย่างว่าบางคนอาจติดเงื่อนไขที่ไม่สามารถออกไปร่วมชุมนุมหรือร่วมทำกิจกรรมในกรุงเทพฯ แต่เขาอาจถนัดวาดรูป เขาอาจเป็นศิลปินที่ผลักดันเรื่องสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ของเขา ซึ่งอาจสร้างแรงกระเพื่อมไปถึงระดับประเทศ หรือระดับโลกก็ได้ จุ๊บจิ๊บย้ำว่าการให้ความสำคัญกับความถนัดของแต่ละคน จะทำให้เยาวชนหันมาสนใจสิทธิมนุษยชนเพิ่มขึ้น

 

 

ญี่ปุ่น-พิชชานันท์ ศรีสวัสดิ์ นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ผู้ร่วมก่อตั้งคลับแอมเนสตี้จุฬาฯ

ญี่ปุ่นถือเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีมุมมองด้านสิทธิมนุษยชนที่น่าสนใจ ยกตัวอย่างจากการพูดคุยกันช่วงตอนหนึ่ง ในข้อสังเกตที่ว่าการณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชนตามหลักสากล มีความขัดแย้งกับวัฒนธรรมไทยหรือไม่-อย่างไร ซึ่งญี่ปุ่นตอบว่า เราควรยึดถือความเป็นสากลมากกว่าวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่ง เธอตั้งคำถามกลับว่าหากวัฒนธรรมเป็นซึ่งที่ละเมิดสิทธิของประชาชนที่ถือวัฒนธรรมนั้นเอง แล้วเหตุใดเรายังต้องยึดถือวัฒนธรรมนั้นอยู่ ญี่ปุ่นกล่าวเสริมว่าบางครั้งการมีวัฒนธรรมที่แตกต่างก็เป็นสิ่งทำให้เกิดการเหยียด การเห็นว่าวัฒนธรรมหนึ่งดีกว่าอีกวัฒนธรรมหนึ่ง แต่สิ่งที่จะทำให้ไม่เกิดปัญหาที่นำไปสู่ความขัดแย้งหรือความรุนแรง นั่นคือเรื่องของสิทธิมนุษยชน เพื่อมนุษย์ทุกคนบนโลก ไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง

 

คลับขอนแก่นโดย เป๋า-ณัฐพล อภิรักษ์ลี้พล นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป๋าเล่าว่าเขาเป็นหนึ่งในกลุ่มทะลุฟ้า เป็นเจ้าของสองขาที่ร่วมกิจกรรม ‘เดินทะลุฟ้า’ ในปี 2564 และเคยร่วมเคลื่อนไหวกับคนรุ่นใหม่ในขณะที่การชุมนุมอยู่ในกระแสสูง จนกระทั่งได้รู้จักกับแอมเนสตี้ และตัดสินใจก่อตั้งคลับแอมเนสตี้ขอนแก่น ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมสิทธิมนุษยชนในฐานะคลับแอมเนสตี้ที่เขาภูมิใจ คือการออกค่ายสำรวจความเดือดร้อนและการต่อสู้ของชาวบ้านที่เหมืองแร่ทองคำ อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย

การออกค่ายเหมืองแร่ทองคำในครั้งนั้น เป็นการรวมตัวกันของนักศึกษานิติศาสตร์ร่วมกันไปออกค่ายเรียนรู้ปัญหาในพื้นที่ ลงไปพูดคุยกับชาวบ้าน ทำความเข้าใจว่าชาวบ้านประสบปัญหาและได้รับผลกระทบยังไง เกี่ยวข้องอย่างไรกับปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ เป๋าเสริมว่าทุกกิจกรรมที่เขาทำจะเน้นที่การส่งเสริมความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ส่งเสริมหัวใจที่รักความเป็นธรรม ไม่ทนต่อความอยุติธรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม

 

 

ปิดท้ายที่ Thailand Youth Delegate มีมี่-ณิชกานต์ รักวงษ์ฤทธิ์ เฟมินิสต์แอคทิวิสต์ ผู้ให้ความสำคัญกับเรื่องความเป็นธรรมทางเพศ ปัจจุบันเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เธอเป็นนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวทั้งประเด็นการศึกษา ความหลากหลายและความเป็นธรรมทางเพศ ร่วมงานกับหลายภาคส่วน อีกทั้งเป็นตัวแทนเยาวชนของแอมเนสตี้ เดินทางไปร่วมประชุม General Assembly ที่บรัสเซลส์ นอกจากนั้นยังเคยเป็นทูตนฤมิตของงานบางกอกไพรด์ เรียกได้ว่าเธอคือแอคทิวิสต์ที่ทำงานอย่างจริงจังคนหนึ่ง

เมื่อถามว่าทำไมเธอจึงสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน มีมี่กล่าวว่า สิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกัน เป็นกรอบที่ต้องยืนยัน เพราะเราไม่เอาสงคราม ไม่ต้องการการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ไม่ต้องการการทำลายสิ่งแวดล้อม

มีมี่เล่าว่าก่อนเดินทางไปร่วมประชุม General Assembly ที่บรัสเซลส์ เธอนึกภาพไม่ออกว่าโครงสร้างใหญ่ของแอมเนสตี้คืออะไร จนกระทั่งได้เห็นผู้คนจากหลายประเทศทั่วโลกมารวมตัวกันพูดเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งในฐานะตัวแทนจากประเทศไทย มีมี่บอกว่าเราต้องทำงานกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้มากขึ้น ถ้าต้องการให้โลกได้ยินเสียงของเรา ต้องให้เขาเห็นว่าปัญหาคืออะไร เราถูกกดทับจากใคร ไม่ใช่แค่ประยุทธ์หรือประวิตร แต่เราถูกกดทับจากโลก จากมหาอำนาจ จากประวัติศาสตร์ จากการล่าอาณานิคม เราต้องไปด้วยกันกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค