เมียนมา: กองทัพควรถูกสอบสวนในข้อหาอาชญากรรมสงคราม จากการตอบโต้ 'ปฏิบัติการ 1027'

26 ธันวาคม 2566

Amnesty International Thailand

ภาพถ่าย : © STR/AFP via Getty Images.

  • การโจมตีทำให้พลเรือนในรัฐยะไข่ต้องเสียชีวิตและพลัดถิ่นฐาน
  • กองทัพเมียนมาควบคุมตัวพลเรือนโดยพลการและปล้นสะดมสิ่งของมีค่า
  • แอมเนสตี้บันทึกข้อมูลการใช้ระเบิดลูกปรายของกองทัพในรัฐฉาน

กองทัพเมียนมาได้สังหารอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย ควบคุมตัวโดยพลการ และปล้นสะดมพลเรือน ระหว่างที่พยายามต้านทานการต่อต้านด้วยอาวุธที่รุนแรงสุด นับแต่การทำรัฐประหารปี 2564 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวในวันนี้

จากข้อมูลการสัมภาษณ์พลเรือน 10 คนจากเมืองเผือกตอในรัฐยะไข่ และจากการวิเคราะห์ภาพถ่าย วีดิโอ และภาพถ่ายดาวเทียม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้บันทึกข้อมูลการโจมตีที่มีลักษณะไม่เลือกเป้าหมายต่อพลเรือนและวัตถุของพลเรือน รวมทั้งการใช้ระเบิดลูกปรายที่เป็นอาวุธต้องห้ามในตอนเหนือของรัฐฉาน ซึ่งล้วนเป็นการกระทำที่ควรได้รับการสอบสวนในฐานะเป็นอาชญากรรมสงคราม

แมท เวลส์ ผู้อำนวยการแผนงานรับมือวิกฤตระหว่างประเทศ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า กองทัพเมียนมามีประวัติมือเปื้อนเลือด ฐานที่ใช้การโจมตีโดยไม่เลือกเป้าหมาย ซึ่งสร้างผลกระทบร้ายแรงต่อพลเรือน ทั้งนี้เพื่อเป็นการตอบโต้อย่างโหดร้ายต่อปฏิบัติการเชิงรุกครั้งใหญ่ของกลุ่มติดอาวุธ โดยเป็นการโจมตีที่สอดคล้องกับแบบแผนที่มีมาอย่างยาวนาน”

เกือบสามปีหลังการทำรัฐประหาร พลเรือนทั่วประเทศเมียนมายังคงต้องทนทุกข์ทรมานโดยไม่มีทีท่าว่าสถานการณ์จะดีขึ้น แม้ประเด็นนี้จะเริ่มลดความสำคัญลงในฐานะเป็นวาระระหว่างประเทศ” 

การปะทะกันเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนับแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2566 โดยองค์กรติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์สามแห่ง รวมทั้งกองทัพอาระกัน, กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา และกองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติดาระอั้ง ได้เปิดฉากโจมตีอย่างเป็นระบบต่อฐานทัพทางพรมแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือติดกับประเทศจีน เป็นปฏิบัติการเชิงรุกที่มีชื่อว่า ‘ปฏิบัติการ 1027’

กลุ่มติดอาวุธอื่น ๆ ที่ต่อสู้กับกองทัพ ได้เพิ่มปฏิบัติการเช่นกัน โดยสามารถรวมกำลังกันยึดพื้นที่และหน่วยทหารของกองทัพ และจับตัวทหารไว้ได้ การสู้รบครั้งนี้นับเป็นการปะทะกันที่รุนแรงมากสุดนับแต่การทำรัฐประหาร ตามข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ จนถึงวันที่ 15 ธันวาคม องค์การสหประชาชาติ ระบุว่า มีรายงานว่าความรุนแรงนับแต่วันที่ 27 ตุลาคม ส่งผลให้พลเรือนอย่างน้อย 378 คนเสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บอีกกว่า 505 คน และทำให้มีผู้พลัดถิ่นฐานกว่า 660,000 คน เพิ่มเติมจากผู้พลัดถิ่นทั่วประเทศที่มีอยู่แล้วเกือบสองล้านคน

 

Damaged buildings in Pauktaw, Rakhine State, after weeks of fighting, 18 December 2023. © Private

 

ทุกคนต่างต้องดิ้นรนเอาตัวรอด

ในตอนเช้าวันที่ 16 พฤศจิกายน กองทัพเมียนมาเริ่มการโจมตีทางอากาศในเมืองเผือกตอ รัฐยะไข่ หลังจากกองทัพอาระกันได้บุกยึดสถานีตำรวจแห่งหนึ่ง

หลังการโจมตีในเช้าวันนั้น กองทัพสั่งให้พลเรือนทุกคนเดินทางออกไปภายในหนึ่งชั่วโมง จากการสัมภาษณ์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกับพลเรือนเก้าคน ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ในขณะนั้น และจากการสัมภาษณ์พระภิกษุกหนึ่งรูปในหมู่บ้านใกล้เคียง ประชาชนเกือบ 20,000 คนในเมืองเผือกตอได้หลบหนีออกจากพื้นที่ทันที แต่ก็มีประชาชนอีกอย่างน้อยหลายร้อยคนที่ไม่สามารถอพยพออกไปก่อนที่กองทัพจะเริ่มการโจมตีครั้งใหม่ในตอนบ่ายได้

ผู้ทำงานชุมชนคนหนึ่งซึ่งช่วยเหลือให้ประชาชนหลบหนี แต่ตัวเองกลับไม่สามารถอพยพออกมาได้จนกระทั่งวันที่ 24 พฤศจิกายน บอกว่า ผู้สูงวัยและผู้พิการหลายคนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง แม้มีอาสาสมัครในท้องถิ่นพยายามให้ความช่วยเหลือ เขาบอกว่า “ตอนนั้นเราไม่สามารถหาเช่ารถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ และยานพาหนะอื่น ๆ ได้เลย ทุกคนต่างต้องดิ้นรนเอาตัวรอด”

พลเรือนจำนวนมากหลบหนีไปพักพิงอยู่ในวัดลอกาเต็กพานด้านนอกของเมือง “เราคิดว่ากำลังจะมีเครื่องบินและเรือรบเข้ามาในพื้นที่ ทำให้ [ภรรยาและผม] หนีออกจากบ้าน” ชายวัย 65 ปีกล่าว “แต่ก็หลบหนีไปได้ไม่ไกล”

กองทัพเริ่มโจมตีอีกครั้งในตอนบ่ายของวันที่ 16 พฤศจิกายน เป็นการยิงจากด้านในของเมืองและด้านชานเมือง รวมทั้งการยิงทางอากาศและทะเล พยานคนหนึ่งกล่าว

จากการวิเคราะห์วีดิโอและภาพถ่ายโดยนักสอบสวนด้านอาวุธของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลชี้ว่า เฮลิคอปเตอร์จู่โจมรุ่น Mi-24 Hind ได้ยิงจรวด S-5K ขนาด 57 มม. ในขณะที่เรือได้ยิงระเบิดอำนาจสูงขนาด 40 มม. เข้าโจมตีเมืองเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน เฉพาะกองทัพเมียนมาเท่านั้นที่มีระบบอาวุธดังกล่าว

การใช้อาวุธที่ขาดความแม่นยำในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น ทำให้เกิดข้อกังวลว่ากองทัพเมียนมามีศักยภาพในการแยกแยะระหว่างเป้าหมายทางทหาร กับพลเรือนหรือวัตถุของพลเรือนหรือไม่ การโจมตีเหล่านี้อาจเกิดขึ้นโดยไม่เลือกเป้าหมาย และอาจเป็นเหตุให้ควรถูกสอบสวนในข้อหาอาชญากรรมสงคราม

หลังการยิงระเบิดยุติลงในช่วงบ่ายของวันที่ 16 พฤศจิกายน ทหารได้บุกเข้ามาในวัดลอกาเต็กพาน และจับกุมประชาชนที่หลบซ่อนตัวอยู่ในวัด ตามข้อมูลของพลเรือนสี่คนซึ่งอยู่ในเหตุการณ์

ดิฉันถูกจับและเอาปืนจี้ไว้ผู้หญิงวัย 24 ปี ซึ่งหลบซ่อนตัวพร้อมกับครอบครัวและเด็กเล็กกล่าว “ทหารถามว่าดิฉันเป็นสมาชิกของเอเอ [กองทัพอาระกัน] หรือไม่....ดิฉันไม่พูดอะไรไม่ออกเลย เพราะตกใจกลัวมาก

ในช่วงกลางวันของวันที่ 16 พฤศจิกายน ผู้หญิงสามคน รวมทั้งครูสองคนและคนขายไอติมที่ตั้งครรภ์หนึ่งคน ได้ถูกสังหารขณะที่หลบซ่อนตัวอยู่ในวัดลอกาเต็กพาน ตามข้อมูลของคนหนึ่งซึ่งหลบซ่อนตัวอยู่ในวัดเช่นกัน และอีกคนหนึ่งที่เห็นศพ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลไม่สามารถยืนยันจากแหล่งข้อมูลที่เป็นอิสระได้ว่า ผู้หญิงเหล่านี้ถูกสังหารอย่างไร แต่ผู้ที่เห็นศพระบุว่าเป็นการเสียชีวิตจากบาดแผลอาวุธปืน

ในวันเดียวกัน พระภิกษุวัย 76 ปีถูกสังหารในวัด คนที่เห็นศพบอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า พระรูปนี้เสียชีวิตจากระเบิดไม่ใช่กระสุนปืน

กองทัพอาระกันรายงานว่า พระภิกษุรูปดังกล่าวเสียชีวิตจากลูกปืนใหญ่ของกองทัพเรือ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลไม่สามารถยืนยันจากแหล่งข้อมูลที่เป็นอิสระถึงรายละเอียดในข้อนี้ แม้จะได้ดูภาพถ่ายของศพของพระแล้วก็ตาม

 

เราหลับนอนด้วยความหวาดกลัว

ในคืนนั้น ทหารบังคับพลเรือนกว่า 100 คนที่วัดลอกาเต็กพาน ให้ออกมาด้านนอกขณะที่มีฝนตกหนัก “ชาวบ้านบางคนถูกมัดมือไว้ด้านหลัง” ผู้หญิงวัย 24 ปีที่ถูกจับพร้อมขู่ด้วยปืนกล่าว พวกเราต้องนั่งตากฝนกันทั้งคืน จนถึงรุ่งเช้า พวกเขาบังคับให้เราเข้าไปในวัด [และ] ล็อกประตูไว้

ผู้หญิงวัย 28 ปีซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองพร้อมกับพ่อแม่บอกว่า ทหารจากกองทัพเมียนมาได้พบที่ซ่อนตัวของครอบครัวเธอ พร้อมกับอีกสองครอบครัวในตอนบ่ายวันที่ 16 พฤศจิกายน และได้นำตัวผู้ชายไปทั้งหมด ทิ้งไว้แต่ผู้หญิงและเด็ก หลังจากได้ปล้นสะดมสิ่งของมีค่ารวมทั้งทอง เงินสด และโทรศัพท์มือถือไปแล้ว ในตอนรุ่งเช้า ทหารอีกกลุ่มหนึ่งได้เดินทางเข้ามาและจับกุมชาวบ้านไปทั้งหมด 

ทหารยังจับตัวเจ้าของร้านชำวัย 60 ปี เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พร้อมกับชาวบ้านอีกสามคน ซึ่งเจ้าของร้านชำได้ซ่อนตัวไว้ และจับอีกสองคนที่อาศัยอยู่ในถนน และนำตัวพวกเขาไปที่วัดลอกาเต็กพาน “พวกเขาขู่ว่าอาจจะฆ่าให้ตายทั้งหมดก็ได้” เขากล่าว

คนที่ติดอยู่ในวัดลอกาเต็กพานบอกว่า พวกเขาถูกล็อกกุญแจขังไว้ในหอสวดมนต์ และไม่ได้รับอาหารและน้ำเป็นเวลาสองวัน พวกเขาบอกว่า ทหารได้เอาโทรศัพท์มือถือและข้าวของที่มีค่าอื่น ๆ ของพวกเขาไป

หลังผ่านไปสองวัน ทหารได้คัดเลือกผู้ชายจำนวนหนึ่งเพื่อเดินทางไปเอาอาหารมาจากในเมือง “พวกเขาเรียกตัวผู้ชายที่ถูกจับเอาไว้บางคน และบังคับให้พังประตูเข้าไปในแผงขายของที่ตลาด และไปนำอาหารมาผู้หญิงวัย 24 ปีกล่าว

การจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่หลบภัยอยู่ในวัดลอกาเต็กพาน มีลักษณะเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ การปฏิบัติต่อพลเรือนที่ถูกควบคุมตัวเช่นนี้ รวมทั้งการปฏิเสธไม่ให้อาหารและน้ำ และการปล่อยให้ต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่รุนแรง เป็นการละเมิดหลักการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรม นอกจากนั้น การปล้นสะดมทรัพย์สินของเอกชนย่อมถือเป็นอาชญากรรมการลักทรัพย์ ซึ่งเป็นข้อห้ามตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และถือเป็นอาชญากรรมสงคราม

ผู้ทำงานชุมชนคนหนึ่งซึ่งติดอยู่ในเมือง หลังจากช่วยให้คนอื่นหลบหนีไปได้แล้วบอกว่า ในช่วงห้าคืนแรก เขาได้ยินเสียงยิงปืนและระเบิดดังอย่างต่อเนื่อง

เขาซ่อนตัวพร้อมกับชายอีกสี่คนในบ้านซึ่งไม่มีไฟฟ้าใช้ และแบตเตอรี่โทรศัพท์ของพวกเขาได้หมดลงหลังผ่านไปสองวัน พวกเขายังมีอาหารและน้ำขวดเหลืออยู่ไม่มาก “บางวันพวกเราไม่ได้กิน และเราหลับนอนด้วยความหวาดกลัว” เขากล่าว ในตอนรุ่งเช้าวันที่ 24 พฤศจิกายน เขาสามารถหลบหนีไปยังหมู่บ้านใกล้เคียงได้

“[กองทัพ] ได้ปิดกั้นการส่งความช่วยเหลือใด ๆ ให้กับไอดีพี [ผู้พลัดถิ่นในประเทศ] และราคาสินค้าก็พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว” เขากล่าว เขายังบอกว่า ได้เกิดผลกระทบร้ายแรงด้านสุขภาพต่อผู้พลัดถิ่นหลายคน โดยเฉพาะผู้สูงวัยและเด็กเล็ก เนื่องจากไม่มีที่พักพิงและผ้าห่มอย่างเพียงพอในช่วงที่ฝนตกหนัก

 

เราต้องวิ่งหลบหนีจากการโจมตีด้วยระเบิดเหล่านั้น

ในวันที่ 21 พฤศจิกายน กองทัพอาระกันได้โจมตีจนกองทัพต้องถอยร่นออกไปจากเมืองเผือกตอ และสามารถช่วยเหลือคนที่ถูกจับเอาไว้ให้ออกมาจากวัดลอกาเต็กพานได้ พยานยังบอกว่า ระหว่างที่พวกเขาหลบหนีออกมา กองทัพได้ระดมยิงใส่ในเมือง 

เราต้องวิ่งหลบหนีจากการโจมตีด้วยระเบิดเหล่านั้นผู้หญิงวัย 28 ปี ซึ่งถูกจับตัวไว้ที่วัด และต่อมาไปพักอาศัยในหมู่บ้านใกล้เคียงกล่าว “ตอนนี้ดิฉันรู้สึกว่าปลอดภัยกว่าเดิมมาก อย่างไรก็ดี เรายังคงมองเห็นเมืองเผือกตอของเรา ระหว่างที่มีเพลิงลุกไหม้พร้อมกับควันไฟเนื่องจากการทิ้งระเบิด”

ในอีกหลายวันต่อมา กองทัพยังคงระดมยิงใส่โครงสร้างของพลเรือนในเมืองเผือกตอ โดยเป็นการยิงจากทั้งในทะเลและทางอากาศ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้วิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมของเมืองเผือกตอ แม้ว่าจะมีภาพถ่ายความละเอียดสูงที่จำกัดเฉพาะบางพื้นที่ ภาพที่ชัดเจนซึ่งถ่ายเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 แสดงลักษณะในหลายพื้นที่ที่มีเพลิงไหม้อย่างกว้างขวาง ถูกทำลายและได้รับผลกระทบ รวมทั้งส่วนที่น่าจะเป็นตลาด บ้านของพลเรือน และพื้นที่รอบศาสนสถาน

นอกจากนั้น จากการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมสีผสมเท็จที่มีคลื่นอินฟราเรดที่มีความถี่ใกล้เคียงกับสีแดง ทำให้เห็นการทำลายอาคารอย่างกว้างขวางภายในโรงพยาบาล และหลุมขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้เคียง ระดับการทำลายล้าง และขนาดของหลุมที่อยู่แถวนั้นชี้ว่า ความเสียหายเหล่านี้น่าจะเป็นผลมาจากการโจมตีทางอากาศ ภาพเหล่านี้ชี้ว่า การทำลายล้างเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 21 และ23 พฤศจิกายน

 

False-colour, near-infrared satellite imagery from 1 December 2023 shows the reported hospital area. Healthy vegetation appears in shades of red and unhealthy or burned vegetation appears darker shades of black and brown. The imagery shows recently damaged and destroyed structures – highlighted with yellow boxes. A large crater, with an approximately four-metre diameter, is highlighted with a blue arrow.

 

พยานหลักฐานของระเบิดลูกปรายหรือระเบิดพวง (cluster munitions)

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังสามารถบันทึกข้อมูลการโจมตีในเมืองน้ำคำตอนเหนือของรัฐฉาน ในช่วงค่ำของวันที่ 1 ธันวาคม 2566 หรือไม่ก็ช่วงเช้ามืดของวันที่ 2 ธันวาคม กองทัพเมียนมาได้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศต่อเมืองน้ำคำ โดยการทิ้งระเบิดซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นระเบิดลูกปราย

ระเบิดลูกปรายเป็นอาวุธต้องห้ามในระดับสากล เนื่องจากมีลักษณะที่ขาดความแม่นยำ และการใช้อาวุธเช่นนี้อาจเป็นอาชญากรรมสงคราม

นักสอบสวนอาวุธของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลวิเคราะห์ภาพถ่ายห้าใบของซากระเบิดที่เก็บได้จากที่เกิดเหตุ และสามารถจำแนกเศษซากของเครื่องยิงระเบิดลูกปรายได้

นอกจากนั้น จากวีดิโอที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รับมาสองชิ้น และจากการยืนยันความถูกต้องของหน่วย Crisis Evidence Lab ของเราหลังมีการโพสต์วีดิโอทางออนไลน์ ชี้ให้เห็นเหตุการณ์ขณะที่มีการโจมตี หลังมีเสียงเครื่องบินรบบินผ่านไป เราพบว่ามีการจุดระเบิดประมาณ 10 ครั้งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาสามวินาที 

ภาพในวีดิโอมีลักษณะมืด เนื่องจากเป็นการโจมตีตอนกลางคืน แต่เครื่องบินใช้แบบแผนการจุดระเบิดที่สอดคล้องกับการจุดระเบิดเพื่อทิ้งระเบิดลูกปรายจากทางอากาศ ตามรายงานของกองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติดาระอั้ง การโจมตีครั้งนี้ทำให้ชาวบ้านเสียชีวิตไปหนึ่งคน ได้รับบาดเจ็บห้าคน และบ้านหลายหลังเกิดความเสียหาย

ลักษณะส่วนหางของระเบิด อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ภายใน และการจัดวางท่อภายในซากของเครื่องยิงระเบิดตามภาพถ่าย สอดคล้องกับเศษซากของระเบิดลูกปรายในการโจมตีครั้งก่อนหน้านี้ของกองทัพเมียนมา

 

Ordnance scrap recovered in northern Shan State, which Amnesty International has identified as a cluster munitions dispenser, consistent with the remnants of previous cluster munitions used in attacks by the Myanmar military, December 2023. © Private

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เก็บข้อมูล การใช้ระเบิดลูกปรายอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายของกองทัพเพื่อโจมตีขณะที่ประชาชนมารวมตัวในโรงเรียนในเมืองมินดัตในรัฐชิน เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2565 และที่หมู่บ้านในเมืองเดโมโซ รัฐกะยาเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2565 และในระหว่างการสู้รบในระฐกะเหรี่ยงเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2565

“ในขณะที่โลกมองดูอยู่เฉย ๆ กองทัพเมียนมาได้แสดงให้เห็นถึงความทารุณโหดร้ายต่อพลเรือนอีกครั้งหนึ่ง คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติต้องประกาศใช้มาตรการห้ามขายอาวุธอย่างเร่งด่วน เพื่อคุ้มครองพลเรือนจากหายนะภัยที่เพิ่มขึ้น” แมท เวลส์กล่าว

“การลอยนวลพ้นผิดของกองทัพต้องยุติลง เราขอย้ำข้อเรียกร้องให้ส่งกรณีของเมียนมาเข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศ และให้นำผู้ก่ออาชญากรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศมารับการไต่สวนและลงโทษ”

 

ข้อมูลพื้นฐาน

นับแต่การทำรัฐประหารเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เมียนมาต้องเผชิญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก การใช้กำลังถึงขั้นชีวิตของกองทัพต่อผู้ประท้วงอย่างสันติในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2564 เป็นสาเหตุให้มีการจับอาวุธเพื่อต่อต้านซึ่งเกิดขึ้นอย่างเข้มข้น

ในรายงานเดือนพฤษภาคม 2565 กระสุนตกจากฟ้าอย่างกับสายฝน”: อาชญากรรมสงครามและการพลัดถิ่นในภาคตะวันออกของเมียนมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลพบว่า กองทัพเมียนมาใช้วิธีการลงโทษแบบกลุ่มกับพลเรือน ผ่านการโจมตีทางอากาศและทางบกอย่างกว้างขวาง การจับกุมโดยพลการ การทรมาน การสังหารนอกกระบวนการกฎหมาย และการปล้นสะดมและเผาหมู่บ้านอย่างเป็นระบบ

ในรายงานเดือนสิงหาคม 2565 15 วันแต่เหมือนกับ 15 ปี: การทรมานระหว่างการควบคุมตัวบุคคลหลังการทำรัฐประหารในเมียนมา บันทึกข้อมูลการละเมิดโดยกองกำลังความมั่นคงของเมียนมา รวมทั้งการทรมานหรือการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ที่กระทำต่อผู้ซึ่งถูกจับกุม สอบปากคำ และควบคุมตัวบุคคล ซึ่งต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการประท้วง

ในรายงานเดือนพฤศจิกายน 2565, คลังอันตราย: เปิดโปงห่วงโซ่อุปทาน เชื้อเพลิงโหมอาชญากรรมสงครามในเมียนมา เราเรียกร้องให้ระงับการจัดส่งเชื้อเพลิงอากาศยาน เพื่อป้องกันไม่ให้กองทัพโจมตีทางอากาศอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ในวันที่ 9 ตุลาคม 2566 การโจมตีทางอากาศของกองทัพ ตามมาด้วยการยิงปืนครกใส่ค่ายโหม่งไหล่แขต ซึ่งเป็นค่ายผู้พลัดถิ่นในประเทศในรัฐคะฉิ่น ทำให้พลเรือนอย่างน้อย 28 คนรวมทั้งเด็กเสียชีวิต และทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 57 คน

 

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม หรือการติดต่อสัมภาษณ์ กรุณาติดต่อ: laurie.hanna@amnesty.org และ press@amnesty.org