สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 12 สิงหาคม - 18 สิงหาคม 2566

21 สิงหาคม 2566

Amnesty International Thailand

 

ไทย: ขอเชิญร่วมงาน “กลับสู่วันวาน…กลับมากินข้าวด้วยกันนะ”  

 

เนื่องในวันผู้สูญหายสากล ประจำปี 2566 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับ กลุ่มญาติผู้ถูกบังคับสูญหายในประเทศไทย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) และ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ชวนร่วมชมนิทรรศการ “กลับสู่วันวาน…กลับมากินข้าวด้วยกันนะ”

มาร่วมรับฟัง 9 เรื่องราวของผู้สูญหายผ่านอาหารจานโปรด และถ่ายทอดออกไปเพื่อไม่ให้เขาถูกลืม  ไม่ให้ใครถูกลบไปจากความทรงจำ และทวงคืนยุติธรรมที่ทุกครอบครัว ต้องได้รับการชดเชย เยียวยา และสืบหาจนกว่าจะทราบชะตากรรม มาร่วมยืนเคียงข้างครอบครัวผู้เสียหาย ในนิทรรศการ “กลับสู่วันวาน: #แล้วกลับมากินข้าวด้วยกันนะ”

และพบกับเวทีเสวนาหัวข้อ "เมื่อแตกสลาย จะกลับสู่สภาพเดิมได้หรือ" ในวันอาทิตย์ที่ 27 สิงหาคม 2566 เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป

สถานที่ Kinjai Contemporary (MRT: สถานีสิรินธร ทางออก 1)

ส่วนนิทรรศการจะเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 27 - 30 สิงหาคม 2566 เวลา 11.00 - 19.00 น.

 

-----

 

 

โลก: คำตัดสินคดีสภาพภูมิอากาศของสหรัฐฯ เป็นบรรทัดฐานที่อิงสิทธิมนุษยชนครั้งประวัติศาสตร์

16  สิงหาคม 2566

 

สืบเนื่องจากคำตัดสินของศาลที่เป็นคุณแก่กลุ่มเยาวชนนักกิจกรรมซึ่งกล่าวหาหน่วยงานในรัฐมอนแทนาของสหรัฐฯ ว่าละเมิดสิทธิภายใต้ธรรมนูญของรัฐในสิ่งแวดล้อมที่สะอาดและดีต่อสุขภาพด้วยการสนับสนุนนโยบายส่งเสริมเชื้อเพลิงฟอสซิล มาร์ทา ชาฟ ผู้อำนวยการฝ่ายความยุติธรรมทางสภาพภูมิอากาศ เศรษฐกิจ และสังคม และโครงการความรับผิดชอบของบรรษัท กล่าวว่า

“นี่คือคำตัดสินครั้งประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญอย่างยิ่งของกิจกรรมของเยาวชนในการผลักดันการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นเพื่อหลีกเลี่ยงหายนะด้านสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มมากขึ้น และจะช่วยขับเคลื่อนความยุติธรรมทางสภาพภูมิอากาศ

“โจทก์คือ Our Children’s Trust ที่มีตัวแทนเป็นบริษัทกฎหมายที่มีวิสัยทัศน์และไม่หวังผลกำไร และคำตัดสินถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญในความพยายามกอบกู้โลกจากผลกระทบร้ายแรงของภัยฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล แสดงให้เห็นอีกครั้งว่าวิกฤตสภาพภูมิอากาศเป็นวิกฤตด้านสิทธิมนุษยชน และทุกคนมีสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ดีต่อสุขภาพ และยั่งยืน สิทธิมนุษยชนเชื่อมโยงอย่างแยกไม่ออกกับเสถียรภาพของสภาพภูมิอากาศและระบบนิเวศ

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3P1MR9s

 

-----

 

 

เอธิโอเปีย: ทางการต้องอนุญาตให้ผู้สอบสวนและสื่ออิสระเข้าถึงเขตอัมฮาราเพื่อสอบสวนการละเมิดภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน

18  สิงหาคม 2566

 

รัฐบาลเอธิโอเปียต้องอนุญาตให้ผู้สอบสวนและสื่ออิสระเข้าถึงเขตอัมฮาราโดยทันที เนื่องจากมีรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงเกิดขึ้นหลังจากการเผชิญหน้าด้วยอาวุธอย่างต่อเนื่องระหว่างกองกำลังป้องกันแห่งชาติเอธิโอเปีย (ENDF) และกองกำลังติดอาวุธฟาโนในพื้นที่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2566

สำนักข่าวหลายแห่งรายงานว่าการโจมตีทางอากาศในเขตดังกล่าวเมื่อสัปดาห์นี้ทำให้พลเรือนเสียชีวิตจำนวนมาก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังได้รับข้อกล่าวหาเรื่องการสังหารหมู่และการบาดเจ็บล้มตายในฟีโนเตเซลาม, บาไฮร์ดาร์ และเชวาโรบิต ซึ่งสมควรมีการสอบสวนเพิ่มเติม

ไทเกอ ชากูทาห์ ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาใต้ เผยว่า หลังจากมีข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องในเขตอัมฮารา รัฐบาลเอธิโอเปียต้องให้คณะผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนอิสระในเอธิโอเปีย (ICHREE) และหน่วยงานสอบสวนอิสระอื่นๆ พร้อมกับสื่ออิสระเข้าถึงอย่างไม่ขัดขวาง เพื่อตรวจสอบข้อกล่าวหาเหล่านี้อย่างละเอียด

“รัฐบาลและกองกำลังความมั่นคงต้องเคารพและปกป้องสิทธิมนุษยชนของประชาชน”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3QMZCWv

 

----- 

 

ปากีสถาน: ทางการต้องคุ้มครองชุมชนของชนกลุ่มน้อยชาวคริสเตียน

16  สิงหาคม 2566

 

สืบเนื่องจากการโจมตีและการวางเพลิงโบสถ์อย่างน้อย 5 แห่งและบ้านของชาวคริสเตียนจำนวนมากในจรันวาลาของปากีสถาน รีฮับ มาฮามัวร์ รักษาการนักวิจัยระดับภูมิภาคประจำเอเชียใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า

“ทางการปากีสถานต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อคุ้มครองชุมชนของชนกลุ่มน้อยชาวคริสเตียนในจรันวาลาตามความจำเป็นและความประสงค์ของพวกเขา และนำตัวผู้ที่รับผิดชอบในการวางเพลิงและการโจมตีโบสถ์และบ้านเรือนมารับผิด การโจมตีดังกล่าวเพิ่มบรรยากาศของการเลือกปฏิบัติและความหวาดกลัวต่อชนกลุ่มน้อยทางศาสนา

“ทางการปากีสถานต้องจัดการกับบรรยากาศของการยกเว้นโทษเกี่ยวกับความรุนแรงต่อชนกลุ่มน้อยทางศาสนาโดยทันที การโจมตีของฝูงชนที่โหดร้ายเป็นเพียงเหตุการณ์ล่าสุดของการคุกคามด้วยความรุนแรงแบบศาลเตี้ย ซึ่งอาจเกิดขึ้นกับใครก็ตามในปากีสถานหลังจากถูกกล่าวหาว่าดูหมิ่นศาสนา ซึ่งชนกลุ่มน้อยทางศาสนามีความเสี่ยงอย่างมาก การมีอยู่ของกฎหมายหมิ่นศาสนายังคงส่งเสริมให้กลุ่มและบุคคลกล้าคุกคาม โจมตี หรือพยายามฆ่าผู้ถูกกล่าวหาหรือใครก็ตามที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสมาชิกในชุมชน”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3E5XCkG

 

-----

 

คูเวต: ต้องยุติการเลือกปฏิบัติต่อเด็กไร้สัญชาติชาวบิดุนในสิทธิด้านการศึกษา

17 สิงหาคม 2566

 

รัฐบาลคูเวตกำลังเลือกปฏิบัติต่อเด็กชาวบิดุนซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองแต่ไร้สัญชาติ โดยไม่ให้การศึกษาที่เท่าเทียมและไม่มีค่าใช้จ่ายแก่พวกเขา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวเมื่อ 17 สิงหาคม 2566 พร้อมกับเผยแพร่รายงานฉบับใหม่ก่อนเริ่มปีการศึกษาใหม่

รายงาน “I Don’t Have a Future”: Stateless Kuwaitis and the Right to Education ให้รายละเอียดวิธีการที่รัฐบาลบังคับให้เด็กชาวบิดุน ซึ่งเกิดมาในสภาพไร้สัญชาติในคูเวต ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชน ซึ่งผู้ปกครองและเด็กมองว่าด้อยกว่าโรงเรียนรัฐบาลที่พลเมืองชาวคูเวตเข้าเรียนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

เด็กชาวบิดุนเกิดในคูเวต ซึ่งมักมีพ่อแม่และปู่ย่าตายายที่เกิดในประเทศนี้เช่นกัน แต่รัฐบาลไม่ยอมรับว่าเป็นชาวคูเวต ส่งผลให้พวกเขาต้องไร้สัญชาติและเสียเปรียบทางเศรษฐกิจสังคมหลายประการ

เฮบา โมราเยฟ ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ เผยว่า คูเวตเป็นภาคีของสนธิสัญญาระหว่างประเทศหลายฉบับที่รับรองสิทธิของเด็กทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศในการได้รับการศึกษาโดยไม่มีค่าใช้จ่ายและเท่าเทียมกันโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ แต่ทางการปฏิเสธที่จะรับรองสิทธิดังกล่าวเมื่อเป็นเรื่องของเด็กชาวบิดุน

“เป็นเวลากว่าหนึ่งชั่วอายุคนแล้วที่รัฐบาลปฏิบัติต่อประชากรกลุ่มนี้แบบที่เรียกว่า ‘ผู้อยู่อาศัยผิดกฎหมาย’ และปฏิเสธไม่ให้บุตรหลานของพวกเขาเข้าโรงเรียนรัฐบาลที่ไม่มีค่าใช้จ่ายซึ่งเด็กชาวคูเวตได้เข้าเรียน นี่คือการเลือกปฏิบัติที่ชัดเจน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้รัฐบาลคูเวตยุติการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบและเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางต่อชาวบิดุน”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3P1Ga7l