สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 23 - 29 กรกฎาคม 2565

31 กรกฎาคม 2565

Amnesty International

 

เมียนมา: การประหารชีวิตครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษตอกย้ำการกดขี่ของรัฐที่โหดร้ายมากขึ้น

25 กรกฎาคม 2565

 

ตามรายงานข่าวของสื่อรัฐบาลเมียนมาระบุว่า รัฐบาลทหารเมียนมาได้ประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวทางการเมือง 4 คน ในความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย นับเป็นครั้งแรกที่มีการประหารชีวิตและได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1980

เอร์วิน วาน เดอ บอร์ก ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า การประหารชีวิตเหล่านี้ถือเป็นการลิดรอนชีวิตตามอำเภอใจ และเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของรายงานด้านสิทธิมนุษยชนที่โหดร้ายของเมียนมา ชายสี่คนถูกศาลทหารตัดสินลงโทษจากการพิจารณาคดีอย่างลับๆ และไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง ประชาคมโลกต้องดำเนินการทันทีเนื่องจากเชื่อว่ามีผู้ต้องโทษประหารชีวิตมากกว่า 100 คน หลังจากถูกตัดสินโทษในการดำเนินคดีลักษณะเดียวกัน

“เป็นเวลากว่าหนึ่งปีแล้วที่กองทัพเมียนมาได้กระทำการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม การทรมาน และการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกด้าน กองทัพจะเหยียบย่ำชีวิตของผู้คนต่อไปหากพวกเขาไม่ต้องรับผิดชอบ”

“ในช่วงเวลาที่ประเทศต่างๆ จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ กำลังดำเนินการยกเลิกโทษประหารชีวิต การนำการประหารชีวิตกลับมาใช้อีกครั้งหลังจากผ่านไปกว่าสามทศวรรษไม่เพียงแต่ขัดแย้งกับแนวโน้มทั่วโลก แต่ยังขัดต่อเป้าหมายของการยกเลิกโทษประหารชีวิตที่อยู่ภายใต้กฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ การโดดเดี่ยวตนเองของเมียนมาปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนที่สุด เราขอเรียกร้องให้กองทัพระงับการประหารชีวิตทันที โดยให้ดำเนินการเป็นขั้นตอนสำคัญอันดับแรก

 

อ่านต่อ : https://bit.ly/3Ozd0ZR



 

ญี่ปุ่น : การประหารชีวิตครั้งแรกในรอบปีของญี่ปุ่นถือเป็นการเมินเฉยต่อสิทธิในการมีชีวิต

วันที่ 26 กรกฎาคม 2565

 

จากรายงานข่าวที่ระบุว่าญี่ปุ่นได้ประหารชีวิตด้วยการแขวนคอโทโมฮิโระ คาโตะ (Tomohiro Kato) ผู้ใช้มีดแทงผู้อื่นถึงแก่ความตายจำนวน 7 ราย เมื่อปี 2551 ซึ่งเป็นการประหารชีวิตครั้งแรกในปีนี้ 

ฮิเดอากิ นาคากาวา (Hideaki Nakagawa) ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำประเทศญี่ปุ่นระบุว่า การแขวนคอโทโมฮิโระ คาโตะถือเป็นการเมินเฉยต่อสิทธิในการมีชีวิต หากไม่คำนึงถึงความผิดที่เขาได้ก่อขึ้น เขาก็ไม่ควรได้รับการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีด้วยน้ำมือของรัฐ 

“โทโมฮิโระ คาโตะ อยู่ในขั้นตอนของการร้องขอให้มีการพิจารณาโทษประหารชีวิตครั้งที่สอง การประหารชีวิตในระหว่างการขออุทธรณ์ถือเป็นการละเมิดมาตรการระหว่างประเทศที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนในการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องโทษประหารชีวิต” 

“ทางการญี่ปุ่นควรระงับการประหารชีวิตโดยทันที ซึ่งถือว่าเป็นก้าวแรกที่มุ่งไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิตอย่างสิ้นเชิง และเปลี่ยนโทษประหารชีวิตทั้งหมดเป็นโทษจำคุกแทน” ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำประเทศญี่ปุ่นกล่าวย้ำ 

โดยเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 ฟูมิโอะ คิชิดะ (Fumio Kishida) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้สั่งประหารชีวิตครั้งแรกภายใต้รัฐบาลของเขา ทั้งนี้การแขวนคอโทโมฮิโระถือเป็นการประหารชีวิตครั้งที่สองนับตั้งแต่คิชิดะเข้ารับตำแหน่งในเดือนตุลาคม 2564

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลคัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด ไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำความผิดหรือผู้บริสุทธิ์ หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด โทษประหารชีวิตละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตและเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของอาชญากรรม

ทั้งในอดีตและปัจจุบัน รัฐบาลประเทศต่างๆ ไม่ได้ใช้โทษประหารชีวิตเพียงเฉพาะในคดีอาชญากรรมร้ายแรงเท่านั้น แต่ยังถูกใช้กับผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามหรือศัตรูทางการเมือง สื่อมวลชนที่ออกมาเปิดโปงการละเมิดสิทธิ ชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ หรือผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นต้น 

ยกตัวอย่างเช่น กรณีล่าสุดที่ รัฐบาลทหารเมียนมาได้ประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวทางการเมือง 4 คน ในความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย นับเป็นครั้งแรกที่มีการประหารชีวิตและได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1980 โทษประหารชีวิตได้กลายเป็นเครื่องมือสำหรับกองทัพในการปราบปราม ข่มขู่ และคุกคามอย่างต่อเนื่องต่อทุกคนที่กล้าลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจของกองทัพเมียนมา


อ่านต่อ : https://bit.ly/3cDpJgF



 

อัฟกานิสถาน : รายงานล่าสุดชี้การปราบปรามของตาลีบันทำลายชีวิตของผู้หญิงและเด็กผู้หญิง 

วันที่ 27 กรกฎาคม 2565

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุในรายงานฉบับล่าสุดที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ว่า ชีวิตของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงในอัฟกานิสถานกำลังถูกทำลายด้วยการปราบปรามอย่างรุนแรงของตาลีบันต่อสิทธิมนุษยชนของพวกเขา

ตั้งแต่ตาลีบันเข้ายึดกุมอำนาจในเดือนสิงหาคม 2564 รัฐบาลตาลีบันก็ได้ละเมิดสิทธิของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการศึกษา สิทธิการทำงาน เสรีภาพในการเคลื่อนย้าย ทำลายระบบการคุ้มครองและสนับสนุนผู้ที่หนีจากความรุนแรงภายในครอบครัว รวมทั้งผู้หญิงและเด็กผู้หญิงที่ถูกควบคุมตัวเนื่องจากการละเมิดกฎการเลือกปฏิบัติเพียงเล็กน้อย อีกทั้งมีส่วนทำให้อัตราส่วนของเด็กและการบังคับการแต่งงานก่อนวัยอันควรในอัฟกานิสถานเพิ่มขึ้น

รายงาน Death in Slow Motion : Women and Girls Under Taliban Rule เผยให้เห็นว่าผู้หญิงที่ประท้วงอย่างสันติเพื่อต่อต้านกฎต่างๆ ที่กดขี่ได้ถูกคุมคามและจับกุมตัว รวมทั้งทรมานและบังคับให้สูญหาย

“เป็นเวลาไม่ถึงปีหลังจากตาลีบันได้ยึดอำนาจในอัฟากานิสถาน นโยบายที่มีการลงโทษอย่างรุนแรงและล้าหลังได้กีดกันสิทธิที่จะนำไปสู่ความปลอดภัยและเติมเต็มในชีวิตของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงนับล้านคน” ดร.แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว

นักวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เดินทางไปยังอัฟกานิสถานในเดือนมีนาคม 2565 การสืบสวนสอบสวนอย่างรอบด้านดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 ถึงเดือนมิถุนายน 2565 อีกทั้งยังได้สัมภาษณ์ผู้หญิงชาวอัฟกัน 90 รายและเด็กผู้หญิงอีก 11 ราย โดยพวกเขามีอายุระหว่าง 14 ปีถึง 74 ปี อาศัยอยู่ใน 20 จังหวัดจากทั้งหมด 34 จังหวัดในอัฟกานิสถาน

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้รัฐบาลตาลีบันดำเนินการเปลี่ยนนโยบายที่สำคัญและมาตรการเพื่อรักษาสิทธิของผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ขณะที่รัฐบาลต่างๆ และองค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติและคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจะต้องพัฒนาและดำเนินการตามกลยุทธ์ที่แข็งแกร่งและมีการประสานงานซึ่งกดดันให้รัฐบาลตาลีบันนำการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มาใช้อย่างเร่งด่วน

“การปราบปรามอันน่าอึดอัดใจต่อผู้หญิงชาวอัฟกานิสถานกำลังเพิ่มขึ้นทุกวัน ประชาคมโลกจะต้องเรียกร้องอย่างเร่งด่วนให้รัฐบาลตาลีบันเคารพและปกป้องสิทธิของผู้หญิงและเด็กผู้หญิง” เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวระบุ

 

อ่านต่อ : https://bit.ly/3OIqUss

 

 

อิหร่าน : คลื่นแห่งการประหารชีวิตอันน่ากลัวต้องยุติ

วันที่ 27 กรกฎาคม 2565

 

ข้อมูลจากศูนย์สิทธิมนุษยชนอับดอร์ราห์มัน โบรูมันด์ (Abdorrahman Boroumand Centre for Human Rights) ในอิหร่านและแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุว่า ทางการอิหร่านได้เริ่มประหารชีวิตประชาชนไปแล้วอย่างน้อย 251 รายตั้งแต่วัน 1 มกราคมถึง 30 มิถุนายน 2565 คาดว่าจำนวนผู้ถูกประหารชีวิตอาจเกิน 314 คนซึ่งเป็นจำนวนที่บันทึกไว้ในปี 2564 

ผู้ที่ถูกประหารชีวิตในปี 2565 ส่วนใหญ่ได้ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานฆาตกรรมและอย่างน้อย 86 รายถูกประหารชีวิตในความผิดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ทั้งนี้ตามกฎหมายระหว่างประเทศแล้วพวกเขาไม่ควรได้รับโทษประหารชีวิตและในวันที่ 23 กรกฎาคม 2565 ทางการอิหร่านได้ประหารชีวิตชายคนหนึ่งในที่สาธารณะในเมืองฟาร์ส (Fars) หลังจากที่ไม่มีการลงโทษประหารชีวิตมากว่า 2 ปีในช่วงของโรคระบาด 

ทั้งนี้ประชาคมโลก รวมทั้งสหภาพยุโรปและสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติต้องดำเนินการแทรกแซงในระดับสูงเรียกร้องให้ทางการอิหร่านยุติการลงโทษประหารชีวิตต่อผู้ที่มีความผิดเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และจะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าความร่วมมือใดๆ ในการริเริ่มต่อต้านการค้ายาเสพติดจะไม่ไปกีดกันสิทธิในการมีชีวิตทั้งโดยตรงและโดยอ้อมซึ่งเป็นการกำหนดลักษณะของการดำเนินงานต่อต้านยาเสพติดของอิหร่าน 

ศูนย์สิทธิมนุษยชนอับดอร์ราห์มัน โบรูมันด์ (Abdorrahman Boroumand Centre for Human Rights) และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล คัดค้านทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด โทษประหารชีวิตเป็นการละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตและโหดร้ายทารุณ รวมทั้งไร้มนุษยธรรมและเป็นการลงโทษที่เลวทราม

 

อ่านต่อ : https://bit.ly/3SbRKMu



ยูเครน : การจับกุมทหารยูเครน 92 นายด้วยข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติเป็นการทำลายกระบวนการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม 

วันที่ 25 กรกฎาคม 2565

 

จากรายงานข่าวที่ระบุว่าทหารกองทัพยูเครน 92 นายถูกจับกุมด้วยข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาตินั้น เดนิส คริโวชีฟ (Denis Krivosheev) รองผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำภูมิภาคยุโรปตะวันออกและเอเชียกลางกล่าวว่า การจับกุมนายทหารยูเครนทั้ง 92 รายนั้นเป็นการดำเนินการที่ขาดความโปร่งใสและอยู่บนพื้นฐานหรือพยายามที่จะป้อนข้อมูลที่ผิดพลาด ซึ่งทางการรัสเซียได้เผยให้เห็นอีกครั้งว่า พวกเขาไม่สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมระหว่างประเทศและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศเลย

“ อนุสัญญาเจนีวาได้ระบุอย่างชัดเจนว่าเชลยศึกสงครามรวมถึงนายทหารของกองทัพต้องได้รับการคุ้มครองจากการฟ้องร้องเนื่องจากมีส่วนร่วมในการสู้รบ หากมีใครถูกจับกุมด้วยข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ จะต้องมีหลักฐานเพียงพอที่จะสนับสนุนข้อกล่าวหาดังกล่าว แต่ทางการรัสเซียไม่ได้มีหลักฐานที่จะสนับสนุนข้อกล่าวหาเหล่านี้เลย แต่กลับนำข้อมูลที่บิดเบือนกล่าวหากองทัพยูเครนอย่างเช่นการทำลายโรงละครมาริอูโปล (Mariupol) ซึ่งเป็นอาคารของพลเรือนที่รัสเซียโจมตีโดยเจตนา” เดนิสกล่าว 

“ หากทางการรัสเซียจะพยายามจับกุมเชลยศึกสงครามด้วยข้อหาเหล่านี้ ทางการรัสเซียก็จะละเมิดอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่สาม (อนุสัญญาเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อเชลยศึก) การกีดกันไม่ให้เชลยศึกได้เข้าถึงกระบวนการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมก็ถือว่าเป็นอาชญากรรมสงครามเช่นเดียวกัน การที่ทางการรัสเซียจะดำเนินคดีกับนักโทษสงครามทางการรัสเซียจะต้องมีหลักฐานที่แท้จริงที่เชื่อมโยงถึงอาชญากรรมสงครามและยอมรับได้ซึ่งในกรณีนี้พวกเขาจะต้องได้รับสิทธิในการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมตามมาตรฐานสากล” รองผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำภูมิภาคยุโรปตะวันออกและเอเชียกลางกล่าว

 

อ่านต่อ : https://bit.ly/3S5h1bw



สมัชชาสหประชาชาติ : ถึงเวลาแล้วที่จะตระหนักว่าสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยเป็นสิทธิมนุษยชน

วันที่ 28 กรกฎาคม 2565

 

ในวันที่ 28 กรกฎาคมนี้ สมัชชาสหประชาชาติพิจารณาลงมติรับทราบถึงสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี การลงมติดังกล่าวมาจากพันธมิตรที่หลากหลายของประเทศสมาชิกสหประชาชาติในการรับรู้ถึงต้นทุนทางการเงินและต้นทุนมนุษย์ของการเร่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและมลพิษ

“ในวันพฤหัสบดีนี้ ทั่วโลกกำลังจับตาดูประเทศสมาชิกสหประชาชาติอย่างใกล้ชิดที่พวกเขาจะยืนยันในจุดยืนต่ออนาคตของโลก สิ่งแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพนั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการมีความสุขในสิทธิมนุษยชนด้านอื่นๆ ทั้งหมด ซึ่งจะไม่มีอิสรภาพหรือความเท่าเทียมกันใด ๆ เลย หากโลกที่เราอาศัยอยู่นี้ถูกเผาไหม้ จมดิ่งลงและกลายเป็นพิษ” เชียรา ลิกูโอริ (Chiara Liguori) นักวิจัยและที่ปรึกษาทางด้านความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว

การลงมติดังกล่าวได้รับการรับรองจากหน่วยงานของสหประชาชาติหลายแห่ง รวมทั้งองค์กรภาคประชาสังคมและองค์กรที่เป็นตัวแทนของชนพื้นเมือง 

ขณะเดียวกันรัฐบาลหลายประเทศก็ได้แสดงการสนับสนุนของพวกเขาโดยมีการแก้ไขมติอย่างเป็นทางการ 

ทั้งนี้เมื่อปีที่แล้วสมาชิกสภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ 47 รายได้รับมติที่คล้ายกันที่ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมที่ดี ปลอดภัยและยั่งยืนในฐานะสิทธิมนุษยชนสากล

เชียรากล่าวอีกว่า สมัชชาสหประชาชาติควรกดดันประเทศที่ยังไม่รับเอาสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีไปใช้ในกฎหมายของตนให้ดำเนินการเช่นเดียวกัน ขณะเดียวกันสิทธินี้ก็อาจจะเป็นเครื่องมือใหม่สำหรับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อมผู้ที่ทำงานอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยในการปกป้องเพื่อนมนุษย์จากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำลายสิ่งแวดล้อม 

 

อ่านต่อ : https://bit.ly/3BsfC92



ตูนิเซีย : การยอมรับในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถือเป็นความพ่ายแพ้สำหรับสิทธิมนุษยชน

วันที่ 27 กรกฎาคม 2565

 

จากรายงานข่าวหลังการทำประชามติที่ระบุว่าประเทศตูนิเซียได้ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ยังมีข้อบกพร่องซึ่งได้รื้อหรือคุกคามการปกป้องสถาบันที่สำคัญเพื่อสิทธิมนุษยชน เฮบา โมราเยฟ (Heba Morayef) ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำภูมิภาคตะวันออกกลางและอเมริกาเหนือกล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมากว่าตูนิเซียจะยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ทำลายสิทธิมนุษยชนและเป็นภัยต่อกระบวนการที่ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ได้ทำลายหลักประกันความเป็นอิสระของตุลาการและได้ขจัดความคุ้มครองพลเรือนจากศาลทหารและมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจในการจำกัดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ทำตามภาระผูกพันทางด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศภายในนามของศาสนา

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ซึ่งแทนที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2557 ถูกยกร่างขึ้นภายใต้กระบวนการที่ควบคุมโดยประธานาธิบดีคาอิส ไซเอด ขณะที่ชาวตูนีเซียไม่ได้รับทราบถึงกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่โปร่งใสเลยหรือแม้กระทั่งเหตุผลที่จะนำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาแทนที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2557

“สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นภายใน 1 ปีหลังจากประธานาธิบดีไซเอดอยู่ในอำนาจซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลได้พุ่งเป้าโจมตีไปยังนักวิพากษ์วิจารณ์ที่มีชื่อเสียง รวมทั้งนักการเมืองฝ่ายค้านผ่านการสอบสวนสืบสวนและการฟ้องร้องคดีอาญาซึ่งทำลายการคุ้มครองทางด้านสิทธิมนุษยชนของตูนิเซียในระดับที่น่ากังวล

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องไม่ทำหน้าที่เป็นเหตุผลในการย้อนกลับไปใช้ข้อผูกพันต่างๆ ของตูนิเซียภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

ทั้งนี้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญใดๆ ควรสอดคล้องอย่างเต็มที่และสอดรับกับภาระผูกพันของตูนิเซียภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

 

อ่านต่อ : https://bit.ly/3SagtRt