แอมเนสตี้ ประเทศไทยขอเชิญส่งภาพถ่ายเข้าประกวดในหัวข้อ "สิทธิมนุษยชน"

9 สิงหาคม 2566

Amnesty International Thailand

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยขอเชิญส่งภาพชุดเข้าประกวด ในหัวข้อ “สิทธิมนุษยชน สำหรับสื่อมวลชนและบุคคลทั่วไป เพื่อเฉลิมฉลอง 75 ปี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล” ยืนหยัดทำงานรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนมายาวนานกว่า 62 ปี แม้ว่าโลกของเราทุกวันนี้มีความรุนแรง ความอยุติธรรม และการเอารัดเอาเปรียบเกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน แต่แอมเนสตี้ยังคงมุ่งมั่นทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงและเป็นแรงบันดาลใจให้กับทุกคนที่ต้องการเห็นสังคมที่เท่าเทียมและยุติธรรมสำหรับทุกคน โดยยึดหลักการตาม "ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน" (Universal Declaration of Human Rights-UDHR) ซึ่งเป็นข้อตกลงที่สหประชาชาติได้กำหนดขึ้นเพื่อให้ประเทศสมาชิกได้ใช้เป็นแนวทางในการคุ้มครองดูแลสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองประเทศของตน โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้น

สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (General Assembly) ชึ่งประกอบด้วยสมาชิกประเทศต่างๆ ได้ลงมติรับรองและประกาศใช้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights-UDHR) เพื่อเป็นหลักการสำคัญในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาคมโลกเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2491 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 48 ประเทศแรกที่ให้การรับรองปฏิญญาสากลฉบับนี้

ถึงแม้ว่าปฏิญญาฉบับนี้จะไม่ใช่สนธิสัญญาระหว่างประเทศแต่ก็จัดเป็นกฎหมายจารีตระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญที่สุด ซึ่งประเทศต่างๆ จำต้องเคารพต่อหลักการสิทธิมนุษยชนที่ได้ตราไว้ในปฏิญญาฉบับนี้ โดยที่ปฏิญญาฉบับนี้ยังเป็นพื้นฐานสำคัญของสนธิสัญญาหรือกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนอื่นๆอีกหลายฉบับ รวมทั้งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม 

ทั้งนี้เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 75 ปีของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยจึงได้จัดประกวดภาพถ่ายในหัวข้อ “สิทธิมนุษยชน” เพื่อให้ภาพถ่ายของคุณได้เป็นส่วนหนึ่งในการเล่าเรื่องและส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนให้สู่วงกว้างมากยิ่งขึ้น

ผู้เข้าประกวดสามารถอ่านข้อมูลเกี่ยวกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) เพิ่มเติมได้ที่นี่ https://www.amnesty.or.th/our-work/hre/udhr/

 

โดยมีรางวัลดังต่อไปนี้

รางวัลที่ 1 จำนวน 1 รางวัล รางวัลละ 20,000 บาท พร้อมโล่พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ

รางวัลที่ 2 จำนวน 1 รางวัล รางวัลละ 10,000 บาท พร้อมโล่พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ

รางวัลที่ 3 จำนวน 1 รางวัล รางวัลละ 7,000 บาท พร้อมโล่พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ

รางวัลชมเชย จำนวน 7 รางวัล รางวัลละ 5,000 บาท พร้อมโล่พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ

 

กติกา และเงื่อนไขในการประกวด

1. ผู้สมัคร 1 คน สามารถส่งภาพชุดเข้าประกวดได้ไม่น้อยกว่า 5 ภาพ แต่ไม่เกิน 7 ภาพ

2. ภาพถ่ายที่ส่งเข้าประกวด ต้องเป็นภาพถ่ายที่ถ่ายด้วยตนเอง และไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น ทั้งนี้ ต้องเป็นภาพถ่ายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 – 30 ตุลาคม 2566

3. ไฟล์ที่นำส่งต้องมีขนาดไม่ต่ำกว่า 5 ล้านพิกเซล (2650x1920 พิกเซลขึ้นไป) เป็นภาพที่ถ่ายด้วยกล้องดิจิตัล (DSLR, Mirrorless, Compact, Action camera หรือกล้องจากโทรศัพท์มือถือ) หรือจะเป็นกล้องฟิล์มโดยให้แสกนเป็นไฟล์ดิจิตอลตามขนาดที่กำหนด ทั้งนี้การประกวดไม่เปิดรับภาพที่ถ่ายจากอากาศยานไร้คนขับ (โดรน)

4. ภาพที่ส่งเข้าประกวดต้องเป็นภาพสีเท่านั้น สามารถตกแต่งเพื่อปรับปรุงคุณภาพของภาพได้แต่ต้องไม่เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ต้องไม่ปรับสีสันจนผิดไปจากธรรมชาติที่ควรเป็นหรือจนเสียคุณภาพเชิงเทคนิคของภาพและต้องไม่มีการตัดต่อ การลบหรือการเพิ่ม หรือการกระทำการใดๆ ที่ส่งผลต่อข้อเท็จจริงที่ปรากฏในภาพ

5. ภาพที่ส่งเข้าประกวดต้องไม่มีลายน้ำ เครดิตภาพ ตัวอักษร หรือกราฟิกใดๆ ลงบนภาพ รวมทั้งห้ามเว้นขอบภาพเป็นสีขาวหรือสีใด ๆ

6. ภาพถ่ายที่ส่งเข้าประกวดต้องไม่เคยได้รับรางวัลจากการประกวดใด ๆ มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการประกวดในเวทีสาธารณะ หรือการประกวดภายในของสมาคม ชมรม หรือองค์กรอื่นใด

7. ไฟล์ภาพถ่ายทุกไฟล์ที่ส่งเข้าประกวด แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยจะไม่ส่งคืนให้ผู้เข้าร่วมประกวด นอกจากนี้แล้วผู้ที่ส่งภาพเข้าประกวดต้องรักษาภาพต้นฉบับไว้ ในกรณีที่คณะกรรมการตัดสินภาพมีข้อสงสัย สามารถเรียกให้ผู้เข้าร่วมประกวดแสดงภาพต้นฉบับได้

8. ภาพถ่ายที่ส่งเข้าประกวดต้องไม่มีข้อผูกมัดในเรื่องกรรมสิทธิ์ภาพจากหน่วยงานต่าง ๆ รวมไปถึงต้องไม่ใช่ภาพที่ส่งขายตาม Stock Photo ทุกแห่ง ทั้งนี้ผู้จัดการประกวดจะไม่รับผิดชอบเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ที่เจ้าของผลงานมีสัญญาผูกพันต่อบุคคลหรือหน่วยงานใด ๆ ซึ่งเจ้าของผลงานต้องเป็นผู้รับผิดชอบในกรณีนี้เอง

9. แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ทั่วโลก) มีสิทธิที่จะนำภาพถ่ายทุกภาพที่ได้รับรางวัลไปเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ  เพื่อรณรงค์เพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจในประเด็นสิทธิมนุษยชน โดยไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์แก่เจ้าของภาพ และไม่ต้องแจ้งให้เจ้าของภาพทราบล่วงหน้าภายในระยะเวลา 4 ปี นับจากวันประกาศผลรางวัล ทั้งนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ทั่วโลก) จะระบุชื่อเจ้าของผลงานให้ทุกครั้งที่นำภาพถ่ายไปใช้ และเมื่อพ้นจากช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว หากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ทั่วโลก) มีความประสงค์จะใช้ภาพใด แอมเนสตี้ ประเทศไทยจะติดต่อขออนุญาตจากเจ้าของภาพก่อนเป็นรายกรณี

10. แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ทั่วโลก) มีสิทธิ์นำภาพที่เข้าร่วมการประกวดไปเผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ อาทิ สื่อโซเชียลมีเดีย สื่อออนไลน์ เว็บไซต์ การแสดงนิทรรศการ การตีพิมพ์ภาพลงในสูจิบัตร รวมถึงสื่อสิ่งพิมพ์อื่นๆ ขององค์กร เฉพาะที่เป็นกิจกรรมที่ไม่หวังผลทางการค้าได้ โดยไม่ต้องแจ้งให้เจ้าของภาพทราบล่วงหน้าภายใน 2 ปี และจะมีระบุชื่อเจ้าของผลงานทุกครั้งที่นำภาพถ่ายไปใช้ และเมื่อพ้นจากช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว หากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ทั่วโลก) มีความประสงค์จะใช้ภาพใด แอมเนสตี้ ประเทศไทยจะติดต่อขออนุญาตจากเจ้าของภาพก่อนเป็นรายกรณี

11. เจ้าหน้าที่และกรรมการของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และคณะกรรมการตัดสินรางวัลไม่มีสิทธิ์ร่วมส่งภาพถ่ายเข้าประกวดในครั้งนี้

12. การพิจารณาผลงานขึ้นกับดุลพินิจของกองประกวด และการตัดสินของกองประกวดถือเป็นที่สิ้นสุด หากปรากฏว่าภาพที่เข้าประกวดไม่เป็นไปตามกติกาข้อใดข้อหนึ่งที่กำหนดไว้ข้างต้น ผู้ส่งภาพเข้าประกวด ไม่มีสิทธิ์อ้างว่ากระทำผิดเพราะอ่านกติกาไม่ครบถ้วน คณะกรรมการฯ มีอำนาจในการตัดสินผู้ส่งภาพเข้าประกวด และการตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุด ผู้ส่งภาพเข้าประกวดไม่มีสิทธิ์อุทธรณ์ใด ๆ ทั้งสิ้น

13. แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนด และเงื่อนไข รวมถึงของรางวัล โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

 

หลักเกณฑ์การพิจารณา

1. ภาพถ่ายสามารถสะท้อนให้เห็นถึงประเด็นสิทธิมนุษยชน

2. ภาพถ่ายสามารถสะท้อนมุมมองของผู้ถ่ายภาพในเชิงสร้างสรรค์

3. ภาพถ่ายมีคุณค่าและความงามในเชิงศิลปะ

 

ช่องทางการสมัครเข้าร่วมโครงการ

ผู้ประสงค์จะส่งภาพถ่ายเข้าประกวดได้ตามลิงก์แบบฟอร์มนี้  https://forms.gle/C9mQDYPMjiht9ZKQA

โดยระยะเวลาที่เปิดรับภาพคือ วันนี้-15 พฤศจิกายน 2566

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อคุณเนาวรัตน์  โทร. 089-922-9585

 

ระยะเวลาดำเนินการ

เปิดรับผลงานตั้งแต่วันนี้-15 พฤศจิกายน 2566

ประกาศผลรอบแรกวันที่ 21 ธันวาคม 2566

ประกาศผลรางวัลและพิธีรับมอบในงานประกวด “รางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน” ซึ่งจะจัดขึ้นในปี 2567

หมายเหตุ วันเวลาอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม

 

คณะกรรมการตัดสิน (The Panel of Judges)

1. สุภิญญา กลางณรงค์ Cofact Thailand

2. ผศ. กานตชาติ เรืองรัตนอัมพร กลุ่มวิชาภาพยนตร์​และภาพถ่าย คณะวารสารศาสตร์​และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัย​ธรรมศาสตร์

​3. ยศธร ไตรยศ ช่างภาพ จาก Realframe

4.ภานุมาศ สงวนวงษ์ ช่างภาพ จาก Thai News Pix

5. ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย