#PortraitOfWHRDs : สุธารี วรรณศิริ

18 พฤศจิกายน 2563

Amnesty International Thailand

เรื่องราวของ: สุธารี วรรณศิริ
สัมภาษณ์และเรียบเรียง: กนิฎฐ์อาภา อารมย์ดี
ภาพ: Ivana Kurniawati

"สังคมไทยเป็นสังคมที่นอกจากจะยึดเรื่องระบบความอาวุโส ระบบอุปถัมภ์ สายสัมพันธ์ต่าง ๆ แล้ว ยังเป็นสังคมที่มีลักษณะชายเป็นใหญ่ มีลักษณะที่ผู้ชายจะถูกมอง หรือถูกจัดวางสถานะความสัมพันธ์ที่เหนือกว่าผู้หญิงในหลาย ๆ ด้าน หลาย ๆ มิติในสังคม ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนออกมาให้เห็นชัดเจนเช่นกันเวลาที่เราทำงาน ยกตัวอย่างเช่นเวลา เราเข้าไปคุยกับผู้มีอำนาจตัดสินใจเชิงนโยบาย กลุ่มต่าง ๆ อาจจะเป็นนักการเมือง สส. สว. หรือว่าเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานราชการ ที่เราพบส่วนใหญ่ถ้าระดับที่เป็นหัวหน้าก็มักจะเป็นผู้ชาย เวลาที่เราคุยในประเด็น หรือคุยในด้านเนื้อหาและมีการตั้งคำถาม ส่วนใหญ่ที่เราได้ยินกลับมามักจะเป็นการที่เราถูกเรียก หรือถูกมองว่าเป็นเด็ก “ตัวแค่นี้จะรู้อะไร” “น้องเป็นผู้หญิง น้องจะรู้อะไร” นี่เป็นคำที่เราเจอบ่อยมากเวลาเราทำงาน มันเป็นการเบี่ยงประเด็นที่เรากำลังพูดคุยหรือสนทนาการออกไปกลายเป็นการพูดถึงประเด็นอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง"

 

เราจะเห็นบ่อยมากว่าผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาพูดหรือว่าแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะ หรือออกมาเรียกร้องสิทธิของตัวเอง แม้กระทั่งสิทธิของคนอื่น ถ้าไม่ถูกพูดว่า “เธอเป็นผู้หญิงที่ก้าวร้าว เธอเป็นผู้หญิงที่ชอบใช้ความรุนแรงหรือเปล่า ทำไมต้องออกมาประท้วง ทำไมต้องออกมาชุมนุม” หรือว่า “เธอเป็นผู้หญิงที่ละเลยบทบาทหน้าที่ในฐานะแม่บ้าน หรือคนดูแลครอบครัว” ซึ่งคำพูดเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงกรอบคิดแบบเก่าที่ยังไปยึดติดอยู่กับอำนาจนิยม และสถานะของผู้หญิงที่ถูกกดให้ด้อยกว่าผู้ชาย 

 

"ถ้าเรามองไปในขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน ขบวนการเคลื่อนไหวโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสิทธิชุมชน ด้านสิ่งแวดล้อม คนที่อยู่ด้านหน้าและเป็นแกนนำ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการชุมนุมมาโดยตลอดก็คือ บรรดาแม่ ๆ ยาย ๆ หรือว่าผู้หญิงทั้งหลายที่เราเห็น ถ้าอย่างเป็นการชุมนุมเกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตยในกรุงเทพฯ เราก็จะเห็นคุณป้าทั้งหลายมายืนเป็นแถวหน้า เป็นเหมือนกำแพง เป็นเกราะกำบังให้ทุกคนในขณะที่ถ้าเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เราก็จะเห็นเป็นแม่ ๆ ย่า ๆ ยาย ๆ ที่อยู่ที่บ้านแล้วก็ออกมาเรียกร้องสิทธิ์อยู่เสมอ พอพวกเขาออกมาอยู่ตรงนี้ สิ่งที่พวกเขาเจอบางครั้งก็เป็นแรงกดดันจากทั้งภายในครอบครัวและภายในชุมชนเอง กดดันว่า “ทำไมเธอถึงต้องออกไปอยู่ตรงนั้น ทำไมถึงต้องออกไปเรียกร้อง” จนอาจทำให้ครอบครัวบอกว่า “เธอละเลยหน้าที่ในครอบครัวหรือเปล่า เธอละเลยการดูแลคนในครอบครัวหรือเปล่า” นี่ก็คือแรงกดดันที่ผู้หญิงต้องเผชิญ ในขณะที่ถ้าเป็นผู้นำผู้ชาย แกนนำผู้ชายกลับไม่ถูกตั้งคำถาม หรือถูกสงสัยแบบนี้"

 

ก่อนหน้านี้เราทำงานกับองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนแห่งหนึ่ง ในขณะที่ทำงานกับองค์กรก็มีการเก็บข้อมูล บันทึกข้อมูลสถานการณ์เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของแรงงานข้ามชาติที่เกิดขึ้นในฟาร์มเลี้ยงไก่แห่งหนึ่ง แต่ปรากฏว่าเมื่อแรงงานกลุ่มนี้ไปร้องเรียนกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เขากลับถูกนายจ้างฟ้องร้องแจ้งความกลับเพื่อดำเนินคดี เราออกมาเรียกร้องเพื่อต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคธุรกิจยุติการดำเนินคดีกับแรงงาน เพราะว่ามันไม่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ให้กับใคร นอกจากจะทำให้แรงงานซึ่งอาจจะอยู่ในสภาพที่ลำบากอยู่แล้ว ค่าแรงก็น้อยอยู่แล้ว ต้องมาเสียค่าทนาย ค่าเดินทางต่าง ๆ เพิ่มอีก โดยพวกเขาก็ยังอยู่ในความหวาดกลัว และที่สำคัญคือต่อไปในอนาคตถ้าแรงงานเห็นตัวอย่างว่าเมื่อเขาลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิของตัวเอง แล้วเขาโดนกระทำหรือโดนแจ้งคดีความในการปิดปากแบบนี้ก็จะไม่มีใครกล้าพูดหรือแจ้งการละเมิดสิทธิแรงงานต่อในอนาคต ซึ่งเราคิดว่าตรงนี้คือจุดที่สำคัญที่สุด เพราะว่าอำนาจทุกอำนาจ หรือการดำเนินธุรกิจ และการตัดสินใจนโยบายใด ๆ จะต้องมีการตรวจสอบได้ และต้องมีความรับผิดชอบต่อความผิดหรือความชอบที่เกิดขึ้น เหล่านี้เป็นที่มาที่เราเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีกับแรงงาน

 

"การคุกคาม หรือการข่มขู่เพื่อกดดันไม่ให้เราใช้เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการเสนอข้อมูลต่าง ๆ ของเรา มันเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย แต่พอเป็นผู้หญิง ในฐานะที่เป็นผู้หญิง เมื่อเราลุกขึ้นพูด ลุกขึ้นทำงานในประเด็นสาธารณะ มันมีปัจจัยที่เป็นแรงกดดันอื่น ๆ แวดล้อมมากกว่า เนื่องด้วยโครงสร้างทางสังคมที่ยังไม่พร้อมยอมรับการทำงาน หรือการมีปากมีเสียงของผู้หญิง"

 

พอเป็นผู้หญิง เราต้องใช้ความพยายามมากกว่าเยอะ ที่จะออกมายืน มาพูด อยู่ในจุดเดียวกับผู้ชาย ยิงเมื่อถูกโจมตี หรือถูกคุกคาม ความรุนแรงของสิ่งที่เกิดขึ้นมันกลับมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะว่าในบางกรณีเราก็พบว่ามีการข่มขู่คุกคามในด้านความรุนแรงทางเพศด้วย เช่นการล่วงละเมิดด้วยวาจา การข่มขู่ในลักษณะที่ไม่ใช่แค่ทำให้ผู้หญิงรู้สึกถูกละเมิด แต่ยังทำให้ผู้หญิงรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยในชีวิตประจำวัน 

 

การที่เราจะต้องมีคำว่าผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเพิ่มเข้าไป เพราะเราต้องการที่จะแสดงให้เห็นว่า ด้วยความที่เป็นผู้หญิง เรายังต้องทำงานในโครงสร้างของสังคมที่ยังปิดกั้นโอกาส พื้นที่ในการแสดงออก พื้นที่ในการแสดงความสามารถของผู้หญิง รวมทั้งพื้นที่ในการก้าวไปสู่ความสำเร็จของผู้หญิงมันยังไม่เท่ากับผู้ชาย ไม่ว่าจะเป็นในภาคหรือหน่วยงานอะไรก็ตาม เราจะเห็นภาพนี้อยู่ตลอด เพราะฉะนั้นเราจึงต้องการเพิ่มประเด็นให้เห็นว่า การเป็นผู้หญิงมันมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นปัญหาอุปสรรค หรือความยากลำบากมากกว่าผู้ชาย หรือกลุ่มคนอื่น ๆ ที่พยายามจะเข้าถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน 

 

"เวลาที่ผู้หญิงลุกขึ้นปกป้องสิทธิมันไม่ใช่แค่ประเด็นเรื่องสิทธินั้นเท่านั้น แต่มันคือการลุกขึ้นยืนเพื่อบอกว่า “ฉันคัดค้านของโครงสร้างของสังคมที่เอารัดเอาเปรียบผู้หญิงกลุ่มนี้อยู่” และในบางกรณีไม่ใช่แค่เรื่องโครงสร้างสังคม แต่ยังมีมิติทางด้านศาสนา มิติทางด้านวัฒนธรรม และมิติทางด้านเศรษฐกิจเข้ามาร่วมด้วย ในฐานะที่เราเป็นผู้หญิง มิติเหล่านี้ทำให้เกิดความซับซ้อนมาขึ้นไปอีกเวลาที่เราทำงาน"

 

เนื่องจากนักปกป้องสิทธิผู้หญิงหลายคนที่เราทำงานด้วยเป็นแม่ เขามีลูก เขาก็จะมองตลอดว่าสิ่งที่เขาทำ หรือว่าสิ่งที่เขาสู้ทุกวันนี้ เขาไม่ได้ทำไปเพื่อตัวเขาเอง แต่จริง ๆ แล้วเขาอยากเห็นอนาคตที่ดีกว่าสำหรับลูก สำหรับหลาน สำหรับคนรุ่นใหม่ที่กำลังจะเกิดตามมา ซึ่งนี่คือสิ่งที่เราเห็นได้ชัดมากเวลาทำงานกับผู้หญิง 

 

เรารู้สึกว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นทางด้านจิตใจมันไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกว่าเราถูกคุกคาม หรือความรู้สึกว่าเราได้รับความไม่เป็นธรรม ทั้งหมดล้วนเป็นความรู้สึกที่เจ็บปวด และสิ่งเดียวที่เราจะพยายามแก้ไข และกำจัดความเจ็บปวดจากความไม่เป็นธรรมนี้ได้ก็คือการต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม การที่เรายังต้องยืนหยัด การที่เรายังต้องส่งเสียง ยังต้องแสดงออกอย่างต่อเนื่องว่านี่คือความไม่เป็นธรรม และฉันกำลังต่อสู้กับมัน ฉันกำลังต่อสู้เพื่อที่จะเอาศักดิ์ศรี และสิทธิของฉันคืนมา เราคิดว่านี่คือสิ่งที่จำเป็น และช่วยในการเยียวยาจิตใจของเรา เยียวยาความรู้สึกที่เราถูกกระทำได้ดีที่สุด 

 

เราอยู่ในสังคมนี้ ดังนั้นมันจึงไม่มีพลังวิเศษของใครที่ไหนที่อยู่ดี ๆ ก็จะสามารถทำให้สังคมดีขึ้นได้แบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ การเปลี่ยนแปลงต้องมาจากการทำงานของคนที่อยู่ในสังคม เราทุกคนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญส่วนหนึ่งในสังคมอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเราอยู่เฉย ๆ ก็อาจจะอยู่ได้ บางคนก็อาจรู้สึกว่าก็ไม่เห็นต้องทำอะไร ฉันก็มีงานทำ พอถึงวันหยุดฉันก็ไปเที่ยวได้ แต่วันใดวันหนึ่งความเดือดร้อน หรือการละเมิดสิทธิก็จะมาเคาะประตูหน้าบ้านคุณ หรือแม้แต่เพื่อน ๆ หรือญาติพี่น้องของคุณ อย่างไรก็ตามวันนั้นจะต้องมาถึง ไม่มีทางที่เราจะหนีมันไปพ้น ดังนั้นมันก็อยู่ที่พวกเราที่จะต้องทำ เราต้องเป็นคนสร้างสังคมที่เราอยากเห็นด้วยมือของพวกเราเอง 

 

เราจะไม่มีวันรู้ว่าเราอยู่ภายใต้การจำกัดเสรีภาพ ถ้าเราไม่พยายามทำลายกำแพง หรือว่าเพดานของสังคมและโลกที่เราอาศัยอยู่ เพราะฉะนั้นเราอาจคิดว่าเราอยู่สบายดี แต่จริง ๆ แล้วเพดานที่เราอยู่มันเตี้ยมาก ถ้าเราไม่ลุกขึ้นยืน เราก็อาจจะสบายไปตลอดก็ได้ ตราบใดที่เรานั่งเฉย ๆ แต่ถ้าวันใดที่เราลุกขึ้นยืน และต้องเดินไปที่ไหนสักที่ เราก็จะรู้ว่าเพดานมันต่ำมากจนหัวเราชนเพดานแล้ว เราจะทำอย่างไรให้เราสามารถชูคอ เงยหน้าอ้าปากได้อย่างเต็มที่ ได้อย่างมีศักดิ์ศรี 

 

ตอนแรกก็คิดว่าถ้าเราหันหน้าไปคงเจอแต่กลุ่มลุงป้าน้าอา หรือคนวัยเดียวกัน แต่พอเห็นว่ามันมีกลุ่มใหม่ ๆ บางคนเป็นน้องมัธยม บางคนพึ่งเข้ามหาลัย เราเลยรู้สึกว่านี่แหละคือความหวัง นี่คือ ‘ทิศทางของสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง’ ที่เราเริ่มสัมผัสได้ และทำให้เรารู้สึกว่ามันคุ้มค่ากับการทำงานของเรา เพราะว่างานส่วนหนึ่งที่เราทำมาโดยตลอดก็คืองานเรื่องการอบรมให้ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน  

 

"ต้องบอกก่อนเลยว่าการทำงานเรื่องสิทธิ์ การทำงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมันคือ ‘การวิ่งมาราธอน  มันไม่ใช่การวิ่งแบบ 100 เมตรแล้วจบ มันคือการทำงานที่เราต้องค่อย ๆ ขยับเข้าไปใกล้เส้นชัย หรือสิ่งที่เราอยากเห็นทีละนิด มันต้องใช้ความอดทน ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้สั่งสมทักษะ ประสบการณ์ ทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น มันจะมีอยู่แล้วล่ะ วันที่เราวิ่ง ๆ ไปแล้วเราล้ม แต่ว่าสิ่งสำคัญคือเราอย่าหยุดวิ่ง เราพักได้ เราต้องเรียนรู้ การทำงานในประเด็นประชาธิปไตย หรือสิทธิมนุษยชน เราต้องเรียนรู้ที่จะพัก เรียนรู้ที่จะจะดูแลร่างกายจิตใจให้เข้มแข็งเพื่อที่เราจะมีแรงในการทำงานในระยะยาว การที่เราเรียนรู้ที่จะดูแลตัวเองไม่ใช่ความเห็นแก่ตัว แต่เป็นการสะสมทรัพยากรเพิ่มให้กับการต่อสู้ในระยะยาวด้วยซ้ำ"

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ก็เป็นองค์กรที่ให้การสนับสนุนและเรียกร้องให้ปล่อยตัว Pussy Riot และบางส่วนก็ได้รับการปล่อยตัวแล้ว วันนั้นที่เราไปดูคอนเสิร์ต เขาพูดว่า “Freedom doesn’t exist unless you fight for it every day” เสรีภาพมันจะไม่มีอยู่จริงถ้าเราไม่ต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพในทุก ๆ วัน มันทำให้เรารู้สึกว่าถึงแม้เราจะสามารถอยู่ได้อย่างสบาย ๆ ในสังคมนี้ แต่ว่าถ้าวันใดที่เราต้องเจอเหตุการณ์อะไรบางอย่างที่เหมือนกับถอดอากาศหายใจของเราไป และเสรีภาพเปรียบเสมือนอากาศที่เราหายใจ วันนั้นเราถึงจะรู้ว่าเสรีภาพมันมีคุณค่ามากแค่ไหน เราจะไปหวังให้คนอื่นนำท่อหายใจนั้นกลับมาให้เรา มันก็อาจจะช้าเกินไปด้วยซ้ำ เราเองที่จะต้องเป็นคนไปไขว่คว้า และตามหาเพื่อเอาอากาศหรือเสรีภาพนั้นกลับมาด้วยตัวเราเอง

 

-------------------------------------

 

สุธารี วรรณศิริ ปัจจุบันเป็นนักวิจัย และที่ปรึกษาโครงการด้านสิทธิมนุษยชน