The Amnesty Interns พี่ๆ ฝึกงานแอมเนสตี้แล้วเป็นไงกันบ้าง Ep.1 : พรพรัตน์ ศุภฤกษ์

9 สิงหาคม 2566

Amnesty International Thailand

The Amnesty Interns พี่ๆ ฝึกงานแอมเนสตี้แล้วเป็นไงกันบ้าง Ep.1 : พรพรัตน์ ศุภฤกษ์ จากนักทำงานวิชาการภาคทฤษฎีสู่นักออกแบบงานครีเอทีฟภาคปฏิบัติ กับบทบาทนักศึกษาฝึกงานองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน

 

 

สิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่แอมมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยผลักดันมาโดยตลอด ทั้งการเป็นส่วนหนึ่งในการเดินขบวนไพร์ด พาเหรด การทำผลิตภัณฑ์สินค้าที่เป็นการเฉลิมฉลองเดือนแห่งความหลากหลาย (Pride Month) เช่นเดียวกับ ยาหยี พรพรัตน์ ศุภฤกษ์ นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักกิจกรรมฝ่ายวิชาการที่วันๆ ทำแต่งานเอกสาร แต่ต้องมาเจอกับงานที่ต้องใช้ทั้งความคิดสร้างสรรค์และความรวดเร็ว ในฝ่ายสมาชิกและการระดมทุน ที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย อะไรคือเหตุผลที่ทำให้อยากมาเรียนรู้กระบวนการงานในด้านสิทธิมนุษยชน มาร่วมค้นหาตัวตนจากยาหยีได้ใน The Amnesty Interns พี่ ๆ ฝึกงานที่แอมเนสตี้แล้วเป็นไงกันบ้าง

 

รู้จักกับแอมเนสตี้ได้อย่างไร

“น่าจะเป็นช่วงที่มีม็อบเคลื่อนไหวในไทยเยอะๆ ก็รู้สึกจะเป็นช่วงนี้ช่วงที่รัฐบาลเข้าจับกุมม็อบกันช่วงปี 2020 และก็เหมือนกับว่าพอมีการที่คนถูกละเมิดมากขึ้น เราได้ยินเรื่องขององค์กรสิทธิต่างๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหว และช่วงนั้นเราอยู่ปี 1 พอดีจำได้ว่าช่วงนั้นที่เปิดเทอมก็คือเข้ามาเขามีม็อบที่ลานพญานาคเลย แต่ว่าเราไม่ได้ไปเพราะว่าแม่เราเป็นห่วง พอหลังจากนั้นเมื่อเหตุการณ์การเมืองเริ่มหนักขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็ออกมาเห็นอย่างที่บอกเป็นองค์กรต่างๆ มากขึ้นเราเห็นแอมเนสตี้ พวกแบบอินโฟกราฟฟิคและทำแคมเปญต่างๆ ในการเรียกร้องก็รู้จักจากตรงนั้นแหละ”

 

ความคาดหวังก่อนเข้ามาฝึกงาน

“อยากลองทำงานในด้านสิทธิมนุษยชนจริงจัง หวังว่าจะได้เห็นการทำงานของคนในองค์กร ได้เรียนรู้กระบวนการขั้นตอนต่างๆ ของการรณรงค์ในระดับองค์กร แล้วก็ได้ทำงานกับนักรณรงค์ รวมถึงการได้พูดคุยกับคนที่สนใจประเด็นสิทธิมนุษยชนด้วย”

 

ประเด็นสิทธิมนุษยชนที่สนใจ

“พูดตามตรงเราก็สนใจแทบจะทุกเรื่องเลย แต่ถ้าให้เลือกเรื่องที่สนใจที่สุดคงจะเป็นสิทธิของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะกลุ่มหญิงข้ามเพศ (Transgender) อาจจะเป็นเพราะเราก็เป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนกลุ่มนั้นด้วย แต่ประเด็นอื่นๆ ก็มี อย่างสิทธิแรงงาน สิทธิผู้ลี้ภัย แต่ถ้าจะให้บอกว่าสนใจในประเด็นอะไรมากที่สุดคงเป็นสิทธิของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+)”

 

 

ทำไมถึงเลือกมาฝึกงานที่นี่

“ส่วนหนึ่งเราอาจจะค่อนข้างจะคุ้นเคยกับที่นี่มาด้วย เคยเห็นเขาออกงานตามอีเว้นท์ด้วย แล้วก็เหมือนกับว่าเราค่อนข้างจะสนใจในประเด็นที่เป็นสากลโลกด้วย เพราะงั้นเลยค่อนข้างที่จะสนใจองค์กรที่ทำงานไม่ใช่แค่ในประเทศ แต่จะมีต่างประเทศด้วย และไม่ใช่ว่าไม่ได้มองว่าในไทยไม่สำคัญ แต่ว่าเราก็อยากที่จะมองมุมกว้างให้มากกว่านี้ และแน่นอนแอมเนสตี้เป็นองค์กรที่มีอยู่ทั่วโลก เราเลยสนใจที่นี่”

 

การเตรียมพร้อมก่อนมาฝึกงาน

“เราเตรียมใจก่อนเลย คือมาทำงานจริงจังด้วย เพราะว่าก่อนหน้านี้คือเราทำแต่เป็นพวกสายวิชาการ ก่อนหน้าที่จะมาทำฝึกงานที่นี่เราก็ทำกิจกรรมในคณะมาระดับหนึ่งอยู่แล้ว ส่วนมากจะเป็นกิจกรรมในเชิงวิชาการ เช่น ทำค่ายติว ค่ายวิชาการ ทำหนังสือของคณะ และก็งานจิปาถะทั่วไป จึงต้องเตรียมวางแผน เตรียมคิดงานต่างๆ พอมาถึงช่วงตอนที่จะต้องมาสัมภาษณ์ ทางฝ่ายที่เราฝึกงานด้วยโทร. มาสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับร้านค้าของแอมเนสตี้ เพราะว่าฝ่ายสมาชิกและการระดมทุน (Growth & Fundraising) จะทำเกี่ยวกับการสมัครสมาชิกและระบบร้านค้าเป็นหลัก แล้วพี่เขาถามเราถึงความเห็นของเราต่อตัวสินค้า และให้เราออกแบบงานสินค้าต่างๆ เพื่อเป็นการทดสอบเราก่อนด้วย”

 

หลังจากที่ได้เข้ามาฝึกงานที่นี่แล้วเป็นอย่างไรบ้าง

“เข้ามาที่นี่ครั้งแรกรู้สึกเลยว่าที่นี่เขาทำงานกันจริงจังมาก แต่ไม่ค่อยเครียดเท่าไหร่กับความจริงจังแต่เราเองก็จะมาเครียดในเรื่องของเนื้อหางานมากกว่า เพราะส่วนมากสภาพแวดล้อมการทำงาน พี่ๆ ที่นี่ รวมถึงเพื่อนที่เป็นเด็กฝึกงานด้วยกันก็ใจดี เฟรนด์ลี่ทุกคน ที่นี่มีความเป็นมืออาชีพจริงๆ เราแอบรู้สึกผิดที่เราแอบมีปัญหาในการปรับตัวบ้าง และเรื่องสุขภาพของเราที่อยู่ๆ ก็พังขึ้นมา แต่ถ้าเราสงสัยอะไรพี่เขาก็พร้อมที่จะบอกเรา เรามีปัญหาด้านสุขภาพ พี่ที่ปรึกษาฝึกงานก็เข้าใจเรา ซึ่งเป็นอะไรที่ดีมาก โดยรวมคือชอบบรรยากาศงานที่นี่มาก”

 

งานที่ได้รับมอบหมายในแต่ละวัน

“ตอนนี้ที่สำเร็จไปแล้วคือบัตรสมาชิกแบบพิเศษฉลองครบรอบ 30 ปีที่เราออกแบบไป และเป็นสินค้าที่จะเปิดโปรโมทในช่วงเดือนที่เขาเฉลิมฉลอง ส่วนงานจิปาถะอื่นๆ ก็ช่วยจัดของ ช่วยไปพับนู่นนี่นั่น ในช่วงนี้จะยุ่งอยู่กับงาน 30 ปี  แอมเนสตี้ ประเทศไทยอยู่ และเรื่องของการเดินขบวนไพร์ด พาเหรด ส่วนมากช่วงนี้กำลังจัดการกับงานที่กำลังจะมาถึงอยู่ ภาพรวมจริงๆ เราก็จะช่วยพี่เขาดูในเรื่องของโซเชียลมีเดียของร้านค้าแอมเนสตี้ และเว็ปไซต์ที่ขายของออนไลน์”

 

ความแตกต่างระหว่างการเรียนที่มหาวิทยาลัยกับการมาฝึกงานที่นี่

“จริงๆ มันแตกต่างกันมาก ๆ เลย เพราะงานที่นี่ส่วนมากล้วนเป็นงานปฏิบัติ เราต้องออกประสานงานกับหลายฝ่าย ประสานงานกับคนข้างนอก และมีจัดการข้อมูลจะเป็นข้อมูลจริงๆ ซึ่งมันต่างกับงานเราตอนที่เราเรียน มันคืองานวิชาการล้วนๆ ซึ่งในตอนนี้เราแทบจะยังไม่ได้ใช้ทักษะในงานของเราเลย การเรียนของเราคือการเข้าไปนั่งฟังอาจารย์ โต้ตอบบ้างเป็นบางครั้ง แต่พอมาทำงานี่นี่มันค่อนข้างที่จะได้ใช้ทักษะที่เกี่ยวกับการตลาดมากกว่า ซึ่งเราเรียนรัฐศาสตร์มาที่ไม่ได้มีสอนเรื่องเกี่ยวกับการตลาดและการออกแบบเลยด้วยซ้ำ แต่ด้วยความที่เราเป็นเด็กกิจกรรมได้ออกแบบกราฟิก โปสเตอร์อะไรพวกนี้ เลยไม่ต้องปรับตัวมากเท่าไหร่ ส่วนในเรื่องของการตลาดที่ผ่านมาเราก็ไม่ได้รู้เยอะในด้านนี้ ตรงไหนที่เราไม่เข้าใจจะมีพี่ๆ คอยแนะนำทางสว่างให้กับเราอยู่เสมอ”

 

ความท้าทายของงานที่เจอ

“หลัก ๆ คือเหมือนกับงานที่นี่ต้องใช้ความครีเอทีฟสูง เราคิดว่าเราเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์พอสมควร แต่ว่าพอมาอยู่ในสถานะการทำงาน มันมีข้อจำกัดเยอะ มันไม่เหมือนกับการที่เราใช้กับงานตัวเองคนเดียว มันเป็นงานองค์กร ซึ่งมีมีข้อจำกัด และมีสิ่งที่เราต้องคำนึงถึง โดยเฉพาะการทำงานที่เกี่ยวกับเรื่องที่มีความเซนซิทีฟเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีหลายอย่างมากๆ ที่เราต้องคำนึงถึง เราต้องคิดนู่นคิดนี่ และต้องคิดถึงกระบวนการของมันในระยะยาวอะไรแบบนี้ด้วย หลักๆ คือเรื่องของการวางแผนเริ่มคิดนี่แหละ”

 

สิ่งที่ได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากแอมเนสตี้

“สิ่งที่ประทับใจ คือประสบการณ์การทำงานจริงที่ได้ลงมือทำงานในองค์กรที่เจาะลึกในด้านสิทธิมนุษยชนที่เราสนใจ ต่อมากคือการที่เราได้มาเจอกับบุคลากรที่ทำงานในเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง ได้เห็นถึงเบื้องหลังการเคลื่อนไหวขององค์กรที่มีโครงสร้างที่เป็นระบบ อย่างเช่นตอนดูข่าว เราจะเห็นแค่ผลของการดำเนินการ หรือแค่ต้นเหตุของการเคลื่อนไหว การมาอยู่ที่นี่ทำให้เราได้เปิดมุมมองของกระบวนการขั้นตอนที่เราไม่เคยได้เห็น ทำให้เราเรียนรู้ระบบเพื่อจะนำไปปรับใช้ในการทำงานในด้านอื่นๆ ด้วย อีกอย่างหนึ่ง คือเรารู้สึกว่าเราได้เป็นส่วนหนึ่งในการเรียกร้องการเคลื่อนไหวที่เราเห็นว่ามันมีคุณค่า การที่เราได้มาทำงานที่นี่เหมือนกับว่าเราได้เปิดโลก ได้เห็นลู่ทางการทำงานในอนาคตของตัวเองอีกทางหนึ่ง”

 

งานที่ทำแล้วเราประทับใจมากที่สุด

“ตอนนี้เรายังไม่ได้ทำอะไรเยอะ เลยบอกไม่ได้ขนาดนั้น แต่จะมีเรื่องเรื่องที่เราช่วยพี่ๆ ทำในโปรเจคของกล่องสนับสนุนความหลากหายทางเพศ (Pride Box)  แต่เราไม่ได้ช่วยเยอะขนาดนั้น คือเรารู้สึกประทับใจกับกระบวนการทำงานนี้มาก การทำผลิตภัณฑ์ที่ว่ามีการเข้าไปร่วมมือกับองค์กรสิทธิอื่นๆ อย่างอันนี้รู้สึกจะเป็นสมัชชาคนจน เหมือนเป็นการเปิดโอกาสให้กับองค์กรอื่นๆ ได้เข้ามามีพื้นที่ในแอมเนสตี้ของเรา”

 

 

 

สิ่งที่อยากให้แอมเนสตี้ทำหรือผลักดันต่อในอนาคต

“คงอยากให้ทำแคมเปญอื่นๆ ต่อไปเรื่อยๆ แต่ดูเหมือนว่าแอมเนสตี้มีห้องเรียนสิทธิมนุษยชนเหมือนกัน เราคิดว่าถ้ามีการขยายเข้าไปในพื้นที่ที่ไม่ค่อยได้มีการให้ความรู้ในด้านนี้จะดีมากขึ้นไปอีก รวมไปถึงผลักดันแคมเปญที่ไม่ค่อยมีคนสนใจ เช่น สิทธิคนพิการ สิทธิการศึกษา อะไรพวกนี้จะเป็นเรื่องที่ดีมาก”

 

เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี แอมเนสตี้ประเทศไทย มีอะไรที่อยากบอกกับองค์กรนี้บ้าง

“ขอบคุณที่ทำงานกันมาอย่างไม่หยุดพัก ยังทุ่มเทกับงานเรียกร้องสิทธิมาโดยตลอด 30 ปีแล้ว และขอให้อยู่กับประเทศไทยไปนานๆ ขอให้มีปีที่ 40 50 60 ไปจนถึงเวลาที่ทุกคนตระหนักรู้สักทีว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่สำคัญ”

 

แนะนำ/เชิญชวนให้คนอื่นที่กำลังหาที่ฝึกงาน มาฝึกงานที่แอมเนสตี้

“อันดับแรกเลย คือบรรยากาศที่นี่ดีมากจริงๆ ทุกคนดูจริงจังมากๆ กับเรื่องของงานที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนจริง ดังนั้นถ้าเกิดใครสนใจงานที่เกี่ยวกับเอ็นจีโอที่เรียกร้องสิทธิ ที่นี่เป็นที่ที่เรารู้สึกว่าเป็นที่ที่ดีมากๆ ในการลองเข้ามาทำงานในด้านนี้ แล้วก็ที่นี่มีงานมาเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าตัวงานจะต้องมีความรับผิดชอบแต่ก็ได้บรรยากาศที่ทำงานที่ดี ทำให้เรามีแพสชั่นในการทำงานต่อไปได้ น้องๆ หรือคนที่สนใจอยากจะมาฝึกงานที่นี่รับรองเลยว่าจะได้ทำงานจริงแน่นอน”

 

ช่วง ถามตอบกับเด็กฝึกงานแอมเนสตี้

(โจทย์คือถามแล้ว ตอบให้เร็วก็พอ)

หากให้เลือกฝึกตำแหน่งอื่นที่ไม่ใช่ตำแหน่งเดิมเป็นเวลาหนึ่งวันในแอมเนสตี้ คุณจะเลือกฝึกตำแหน่งอะไร

นักกิจกรรมและห้องเรียนสิทธิ (HRE & Activism)

เสื้อ เสรีภาพ เสรีภาพ เสรีภาพ กับ เสื้อ Happy pride

เสื้อ เสรีภาพ เสรีภาพ เสรีภาพ

ขอสามคำให้กับ พี่เลี้ยงฝึกงานตัวเอง 

ขอบ คุณ ค่ะ

ระหว่าง สมรสเท่าเทียม กับ ยกเลิกเกณฑ์ทหาร อยากให้สิ่งไหนเกิดขึ้นก่อนกัน

สมรสเท่าเทียม

ระหว่าง พะเยา กับ สงขลา ถ้าให้เลือกเที่ยว 1 ที่ คุณจะเลือกไปเที่ยวที่ไหน

พะเยา เพราะเคยไปสงขลามาแล้ว

หากได้เป็นผู้อำนวยการแอมเนสตี้ ประเทศไทย สิ่งแรกที่จะทำคืออะไร 

สละตำแหน่งก่อน (เพราะงานน่าจะหนัก)

ส้ม หรือ สตอเบอรี่

สตอเบอรี่

กล้องฟิล์ม หรือ กล้องดิจิตอล

กล้องดิจิตอล

วิ่ง หรือ ตีแบด

วิ่ง

แคมเปญไหนของแอมเนสตี้ประเทศไทยที่คุณชอบมากที่สุด

คอนเทนต์บทความให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนรอบโลกอะไรประมาณนี้