ภาคเหนือ: วาระนโยบาย ประชาสังคม สิทธิมนุษยชนและการเลือกตั้ง ปี 2566

29 เมษายน 2566

Amnesty International

29 เมษายน 2566 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้จัดเวที Human Rights Agenda “วาระนโยบาย ประชาสังคม สิทธิมนุษยชนและการเลือกตั้ง ปี 2566: เพราะประเด็นสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ต้องถูกมองเห็น” ณ ลานประตูท่าแพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่เวลา 17.00 - 21.00 น. เพื่อเปิดพื้นที่ให้พรรคการเมืองแต่ละพรรคได้พูดถึงประเด็นสิทธิมนุษยชน พร้อมกับการแสดงวิสัยทัศน์ในประเด็นต่าง ๆ และตอบคำถามของภาคประชาสังคมที่ทำงานประเด็นเฉพาะที่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ 

สำหรับพรรคการเมืองที่มาเข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในงานจะประกอบไปด้วย ตัวแทนจากพรรคการเมือง 8 พรรค ได้แก่ พุธิตา ชัยอนันต์ ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ เขต 4 พรรคก้าวไกล, จักรวาลธวัฒน์ วรรณาวงค์ ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์, วัชรกรณ์ กันธิ ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ เขต 8 พรรคประชาไทย , ทรงธรรม โรจนเครือวัลย์ หัวหน้าพรรคพลังสยาม พรรคพลังสยาม, วิภาพรรณ วงษ์สว่าง ผู้สมัครส.ส.จังหวัดเชียงใหม่ เขต 3 พรรคไทยสร้างไทย, ลักษณารีย์ ดวงตาดำ โฆษกพรรคสามัญชน พรรคสามัญชน และจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ผู้สมัครส.ส.จังหวัดเชียงใหม่ เขต 5 พรรคเพื่อไทย 

ดำเนินรายการโดย กรรณิกา เพชรแก้ว สื่อมวลชนอิสระ และวัชลาวลี คำบุญเรือง นักวิชาการอิสระ 

โดย Human Rights Agenda “วาระสิทธิมนุษยชน” คือเวทีและเส้นทางที่เราจะเรียกร้องผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพรรคการเมืองให้ยึดมั่นในพันธกิจด้านสิทธิมนุษยชนต่อประชาชน ย้ำรัฐบาลใหม่ต้องดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศ และยุติการลอยนวลพ้นผิดเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิ

 

เมื่ออำนาจรัฐคุกคามประชาชนเกินขอบเขต

นพพล อาชามาส เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูล จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ตั้งคำถามต่อพรรคการเมืองต่าง ๆ ถึงนโยบายการจัดการกับคดีความทางการเมืองที่ยังดำเนินอยู่ และจะจัดการกับอำนาจที่ถูกใช้โดยรัฐอย่างไร เนื่องจากช่วงที่ผ่านมารัฐใช้อำนาจอย่างเกินขอบเขต ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2563 มีการดำเนินคดีทางการเมืองกับประชาชนกว่า 1,200 คดี นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการที่รัฐใช้อำนาจเข้าคุกคามประชาชนที่แสดงออกทางการเมือง 

พุธิตา ชัยอนันต์ ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ เขต 4 พรรคก้าวไกล ชี้ว่าปัญหาการใช้อำนาจโดยรัฐเกินขอบเขต และเป็นวาระเร่งด่วนของพรรคก้าวไกลที่ต้องเร่งแก้ไข โดยทางพรรคก้าวไกลจะทำการเสนอพ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีทางการเมืองที่เกิดขึ้นกับประชาชนทั้งหมดภายใน 100 วันหลังจากทำการจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้น การนิรโทษกรรมนี้จะยกเว้นเจ้าหน้าที่รัฐภายใต้การบัญชาของคณะรัฐประหารซึ่งจะมีคณะกรรมการเพื่อพิจารณาเกณฑ์การนิรโทษกรรม ประกอบไปด้วยภาคประชาชน, นักวิชาการ และนักสิทธิมนุษยชนด้วย โดยชี้ว่ากฎหมายลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนจำเป็นต้องถูกแก้ไข 

จักรวาลธวัฒน์ วรรณาวงค์ ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์ ตอบคำถามนี้ว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยมีประมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นแนวคิดที่พรรคประชาธิปัตย์ยึดมั่น แต่สิทธิหน้าที่ของประชาชนก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ โดยมองว่ากลไกหลายอย่างของรัฐธรรมนูญยังมีปัญหาอยู่ โดยเฉพาะสิทธิการแสดงออกของประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งพื้นฐานในระบอบรัฐธรรมนูญ และต้องปกป้องไว้ อีกทั้งยังจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยความเห็นชอบร่วมกันของทุกภาคส่วนในสังคม 

วัชรกรณ์ กันธิ ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ เขต 8 พรรคประชาไทย เผยว่าการเข้ามาขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ผ่านของตนทำให้ได้เห็นการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ และเชื่อว่าการที่ตนเข้ามาต่อสู้บนเวทีการเมืองจะทำให้สามารถจัดการกฎหมาย เพื่อทำให้คนเท่าเทียมกัน และแก้ไขรัฐธรรมนูญที่บิดเบี้ยวนีได้ 

ทรงธรรม โรจนเครือวัลย์ หัวหน้าพรรคพลังสยาม เสนอการแก้ปัญหานี้ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสิทธิขั้นพื้นฐานให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย นอกจากนี้ยังต้องปรับปรุงกฎหมายทั้งอาญาและแพ่งให้เข้ากับหลักสิทธิมนุษยชนด้วย แต่ก่อนหน้านั้นจำเป็นจะต้องศึกษาวัฒนธรรมประเพณีในพื้นที่ต่าง ๆ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการทำให้ผู้มีอำนาจหันมาเอาใจใส่ประชาชนมากขึ้น 

วิภาพรรณ วงษ์สว่าง ผู้สมัครส.ส.จังหวัดเชียงใหม่ เขต 3 พรรคไทยสร้างไทย พูดถึงนโยบายของพรรคไทยสร้างไทยที่จะผลักดันให้เกิดบทลงโทษสูงสุดแก่การทำรัฐประหาร ทั้งนี้ถ้าพรรคไทยสร้างไทยได้เป็นรัฐบาล จะสนับสนุนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยผ่านการบันทึกประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่มีผู้เสียสละเลือดเนื้อและโอกาสมากมาย รวมถึงส่งเสริมเพื่อเป็นการแสดงจุดยืนที่จะร่วมต่อสู้กับประชาชน 

ลักษณารีย์ ดวงตาดำ โฆษกพรรคสามัญชน กล่าวว่าสิทธิการแสดงออกถือเป็นเรื่องเร่งด่วน การเสนอยกเลิกกฎหมายประมวลอาญามาตรา 112 ของพรรคจึงถือเป็นการขยายเพดานการดูแลสิทธิเสรีภาพในประเทศไทย รวมไปถึงการเปิดพื้นที่หารือเกี่ยวกับกฎหมายมาตรา113 และ 116 ด้วย โดยเชื่อว่าสิทธิแสดงออกเป็นจุดเริ่มต้นในการมองเห็นปัญหาทุกอย่าง

 

เชียงใหม่เมืองท่องเที่ยว? แต่ทุนทางสังคมและศิลปะสร้างสรรค์อยู่ตรงไหน?

ภราดล พรอำนวย ศิลปินเจ้าของร้าน North gate และ ChiangMai Trust co-founder ได้ตั้งคำถามถึงประเด็นการสนับสนุนของรัฐที่มุ่งไปเรื่องการท่องเที่ยว แต่การสนับสนุนดังกล่าวกลับมุ่งเน้นไปที่กรุงเทพฯ เพียงที่เดียว  คำถามคือนโยบายสนับสนุนต้นทุนวัฒนธรรมทางสังคมบนความเชื่อในความหลากหลายทางวัฒนธรรมนั้น ผู้สมัครมีแนวคิดในเรื่องดังกล่าวอย่างไร  และจะดูแลภาคธุรกิจคนตัวเล็กตัวน้อยที่เป็นตัวประกอบหลักของธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่ต่างจังหวัดอย่างไรบ้าง?

จักรวาลธวัฒน์ วรรณาวงค์ ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอนโยบายการสนับสนุนธุรกิจฐานรากในจังหวัดเชียงใหม่นอกเหนือจากการท่องเที่ยว โดยใช้จุดแข็งอื่น ๆ อย่างวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงเอกลักษณ์ต่าง ๆ ผ่านการใช้เงินจำนวน 300,000 ล้านบาทเพื่อกระตุ้นธุรกิจ SME และการสนับสนุนเงินกองทุนหมู่บ้าน 2 ล้านบาทเพื่อส่งเสริมเศษรฐกิจฐานรากในชุมชน

วัชรกรณ์ กันธิ ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ เขต 8 พรรคประชาไทย ชี้ว่าจุดแข็งของจังหวัดเชียงใหม่คือประเพณีวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่ดึงดูดและกระตุ้นการท่องเที่ยว แต่กลับไม่ได้รับการสนับสนุนที่ดีพอจากรัฐบาล หนำซ้ำยังถูกย่ำยีด้อยค่า ตนกล่าวในฐานะศิลปินที่ผลักดันศิลปะประเพณีท้องถิ่นว่าจะส่งเสริมประเด็นนี้อย่างจริงจังถ้าได้เป็นรัฐบาล

ทรงธรรม โรจนเครือวัลย์ หัวหน้าพรรคพลังสยาม ตอบว่าจะต้องผลักดันการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ สร้างอาชีพให้คนในพื้นที่ โดยชี้ว่าการท่องเที่ยวรูปแบบดังกล่าวและการรักษาวัฒนธรรมประเพณี สามารถเป็นแหล่งรายได้ในมิติการท่องเที่ยวได้มาก

วิภาพรรณ วงษ์สว่าง ผู้สมัครส.ส.จังหวัดเชียงใหม่ เขต 3 พรรคไทยสร้างไทย ชี้ให้เห็นการเติบโตของ SME ขนาดกลางและเล็ก ที่ต้องชะลอตัวเพราะใบอนุญาตที่เข้ามาเป็นเขื่อนไขสำคัญ โดยพรรคไทยสร้างไทยมีนโยบายพักการขอใบอนุญาต ปลดล็อคให้เจ้าของธุรกิจขนาดกลางและเล็กสามารถประกอบอาชีพได้สะดวกขึ้น รวมไปถึงการสร้างกองทุนเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งทุนในการขยายกิจการได้ง่ายยิ่งขึ้น

ลักษณารีย์ ดวงตาดำ โฆษกพรรคสามัญชน เสนอในเรื่องของการทำลายเพดานทางศิลปะ โดยการยกเลิกพ.ร.บ.ความสะอาด และประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112 ให้กับศิลปินที่เรียกร้องเสรีภาพ ยกเลิกวัฒนธรรมรวมศูนย์ที่ถือเป็นการทำลายความหลากหลาย และความเป็นท้องถิ่น สร้างพื้นที่และสนับสนุนงานศิลปะในพื้นที่ รวมไปถึงการยกเลิกกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณี ซึ่งถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการท่องเที่ยว

พุธิตา ชัยอนันต์ ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ เขต 4 พรรคก้าวไกล กล่าวว่ารัฐชอบพยายามทำตัวเป็นตำรวจศีลธรรม ผูกติดความดีงามตามขนบธรรมเนียมประเพณี ทำให้ความคิดสร้างสรรค์ไม่เกิดขึ้น พรรคก้าวไกลมีความคิดในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนชื่อจากกระทรวงวัฒนธรรมเป็นกระทรวงวัฒนธรรม เป็นกระทรวงเศรษฐกิจและวัฒนธรรมสร้างสรรค์ เพื่อมุ่งเป้าสนับสนุนการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศให้ดียิ่งขึ้น 

 

สิทธิและการคุ้มครองชนเผ่าพื้นเมือง

สุมิตรชัย หัตถสาร จากศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ตั้งคำถามถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนและการคุ้มครองชนเผ่าพื้นเมือง โดยที่ผ่านมาไม่มีการประยุกต์ใช้แนวคิดสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง เนื่องมาจากการรัฐประหารถึง 2 ครั้งที่ผ่านมา และรัฐไทยเคยประกาศว่าประเทศไทยไม่มีชนเผ่าพื้นเมืองอีกด้วย

วัชรกรณ์ กันธิ ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ เขต 8 พรรคประชาไทย แสดงจุดยืนในการแก้ไขการเข้าถึงกฎหมายของชนเผ่าพื้นเมือง โดยเผยว่านี่เป็นมิติที่ต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ และปัญหาดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นในประเทศไทยบนพื้นฐานความเชื่อว่าคนทุกคนเท่าเทียมกัน มีสิทธิที่จะเข้าถึงกฎหมายการคุ้มครองเท่าเทียมกัน

ทรงธรรม โรจนเครือวัลย์ หัวหน้าพรรคพลังสยาม เผยว่าปัญหาในเชิงปฏิบัติของประเทศไทยในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเป็นจุดที่ต้องแก้ไข โดยเสนอให้พรรคการเมืองและคนรุ่นใหม่ร่วมเสนอความเห็น เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

วิภาพรรณ วงษ์สว่าง ผู้สมัครส.ส.จังหวัดเชียงใหม่ เขต 3 พรรคไทยสร้างไทย ชี้ว่าการเข้าถึงสิทธิที่เท่ากันยังเป็นภาระของประชาชนอยู่ ทั้งที่รัฐมีอำนาจและเครื่องมือเพื่อพิสูจน์ทุกอย่างแล้ว โดยเสนอว่ารัฐต้องเร่งรัดกระบวนการมากขึ้น ทบทวนการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการต่าง ๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์ ผลักดันให้ที่ดินส.ป.ก.กลายเป็นหลักในการส่งเสริมเศษรฐกิจ

ลักษณารีย์ ดวงตาดำ โฆษกพรรคสามัญชน กล่าวว่ากลุ่มชาติพันธุ์ยังได้รับสวัสดิการต่าง ๆ ไม่เท่ากับคนในสังคม พรรคสามัญชนเสนอนโยบายกำจัดความเหลื่อมล้ำด้วยการยกเลิกกฎหมายทวงคืนผืนป่าที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลคสช. การทำงานเชิงรุกในการให้สถานะบุคคลกับกลุ่มชาติพันธุ์และสามารถเข้าถึงสวัสดิการต่าง ๆ และสนับสนุนการทำงานข้ามแดนที่สอดคล้องกับความสามารถของกลุ่มชาติพันธุ์

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ผู้สมัครส.ส.จังหวัดเชียงใหม่ เขต 5 พรรคเพื่อไทย เสนอการผลักดันกฎหมายคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ โดยมีนโยบายส่งเสริมคุณภาพชีวิตและการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานแก่กลุ่มชาติพันธุ์

พุธิตา ชัยอนันต์ ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ เขต 4 พรรคก้าวไกล เสนอนโยบายการปลดล็อคที่ดิน การให้สัญชาติและการเข้าถึงสวัสดิการ โดยชี้ชัดว่าทัศนคติของรัฐที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์เป็นเรื่องที่ต้องเปลี่ยนแปลง

จักรวาลธวัฒน์ วรรณาวงค์ ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวสนับสนุน พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งจะเป็นหลักประกันสิทธิแก่กลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อสนับสนุนสิทธิชุมชนและการเข้าถึงสิทธิในการจัดการทรัพยากรในพื้นที่

 

สิทธิที่จะมีอากาศหายใจที่ดี

ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ เผยให้เห็นถึงความซับซ้อนของปัญหา PM2.5 ที่ไม่สามารถรับมือด้วยการแก้ปัญหารูปแบบภัยพิบัติได้อีกต่อไป แต่ต้องเป็นประเด็นสิทธิของประชาชนที่จะเข้าถึงอากาศสะอาดได้ กลายเป็นการตั้งคำถามต่อพรรคการเมืองถึงนโยบายการแก้ปัญหา PM2.5 อย่างยั่งยืน

ทรงธรรม โรจนเครือวัลย์ หัวหน้าพรรคพลังสยาม กล่าวว่าการทำงานของรัฐกลายเป็นจุดขัดแย้งและครอบงำกับการทำงานและนโยบายของคนในพื้นที่ที่มีปัญหาที่มีระบบการจัดการไฟป่าอยู่แล้ว ตนเชื่อว่าจำเป็นต้องมีการผลักดันกฎหมายการรักษาอากาศอย่างจริงจัง

วิภาพรรณ วงษ์สว่าง ผู้สมัครส.ส.จังหวัดเชียงใหม่ เขต 3 พรรคไทยสร้างไทย ยืนยันจุดยืนสนับสนุนพ.ร.บ.อากาศสะอาด นอกจากนี้ยังต้องมีการประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้านในประเด็นฝุ่นควันข้ามพรมแดน เปลี่ยนผ่านการจัดการอุตหกรรมการเกษตรและพลังงานที่ก่อมลพิษ แทนที่จะผลักภาระให้ประชาชนในประเทศ

ลักษณารีย์ ดวงตาดำ โฆษกพรรคสามัญชน เสนอการควบคุมกลุ่มนายทุนที่เร่งรัดผลผลิตทางการเกษตร และการปลูกพืชเชิงเดี่ยว จนเป็นสาเหตุให้เกิดการเผา โดยมีนโยบายการตรวจสอบกระบวนการดังกล่าวที่เป็นการบีบบังคับเกษตรกรจนหมดทางเลือก ต้องปลูกพืชเชิงเดี่ยวตามความต้องการของตลาดจนเกิดการเผาเพื่อเพาะปลูก เสนอให้มีการคืนสิทธิให้คนพื้นเมืองได้อยู่กับป่าเพื่อร่วมกันดูแลจัดการไฟป่าด้วยตัวเองได้อย่างเต็มที่ รวมไปถึงยังผลักดันให้เกิดพื้นที่สาธารณะที่ปลอดฝุ่น โดยประชาชนสามารถเข้าถึงอากาศสะอาดของชุมชนได้

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ผู้สมัครส.ส.จังหวัดเชียงใหม่ เขต 5 พรรคเพื่อไทย ชี้ว่าการแก้ปัญหาฝุ่นต้องใช้ความเข้าใจ เสนอนโยบายสนับสนุนพ.ร.บ.อากาศสะอาด แสดงจุดยืนเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาฝุ่นภายใน 4 ปี ต่อสู้กับกลุ่มนายทุนที่เป็นสาเหตุฝุ่นข้ามพรมแดน

พุธิตา ชัยอนันต์ ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ เขต 4 พรรคก้าวไกลเสนองบ 3 ล้านบาทในแต่ละตำบลเพื่อจัดการป้องกันการเผา โดยจะต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใสเพื่อที่งบจะสามารถส่งไปยังผู้ที่จัดการปัญหาได้จริง อีกทั้งยังต้องผลักดันพ.ร.บ.อากาศสะอาดเชิงรุก บังคับใช้บทลงโทษตามพ.ร.บ. และยังสนับสนุนการร่วมมือกับภาคประชาสังคมในการสืบหาแหล่งผลิตมลพิษเพื่อให้เห็นต้นตอปัญหาที่แท้จริง

จักรวาลธวัฒน์ วรรณาวงค์ ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้มีการติดตามปัญหาและผลักดันพ.ร.บ.อากาศสะอาด และนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อติดตามสถานการณ์ตั้งแต่ก่อนจะเกิดไฟป่า

วัชรกรณ์ กันธิ ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ เขต 8 พรรคประชาไทย แสดงจุดยืนดันพ.ร.บ.อากาศสะอาดเช่นเดียวกับพรรคอื่น ๆ พร้อมทั้งชี้ให้เห็นว่าการทำงานของประชาชนในพื้นที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐมากพอ ทั้งที่เป็นภาคส่วนที่ใส่ใจกับปัญหาในพื้นที่ของตัวเองที่สุด 

 

เมื่อสังคมไทยไม่ได้มีแค่สองเพศ และการศึกษาที่มุ่งสร้างชีวิตประชาชน

ชัญญา รัตนธาดา นักสิทธิประชาธิปไตย และ LGBTQ+ กลุ่ม Young Pride Club ได้ตั้งคำถามในประเด็นความเท่าเทียมทางเพศและการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการเลือกให้พรรคการเมืองตอบคำถามกฎหมายสมรสเท่าเทียมและพ.ร.บ.คู่ชีวิต, การแก้กฎหมายมาตรา 127, พ.ร.บ.รับรองเพศ, การยกเลิกกฎหมายมาตรา 301 และ 305, นโยบายคุ้มครองอาชีพประเวณี และนโยบายการสนับสนุนหลักสูตรเพศศึกษาและสิทธิมนุษยชนในทุกโรงเรียน

วิภาพรรณ วงษ์สว่าง ผู้สมัครส.ส.จังหวัดเชียงใหม่ เขต 3 พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่าพรรคไทยสร้างไทยได้นำเสนอหลายนโยบายไม่ว่าจะเป็นการเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ร่างแก้ไข ป.พ.พ.1448) การรับรองอัตลักษณ์ทางเพศรวมไปถึงการเข้าถึงสวัสดิการของบุคคลข้ามเพศ การสนับสนุนให้อาชีพค้าประเวณีถูกกฎหมาย คุ้มครองให้มีความปลอดภัยและมีสิทธิเท่าเทียมอาชีพอื่น ๆ และนโยบายเรียนฟรีจนถึงป.ตรี รวมไปถึงสวัสดิการเด็กเล็กและจัดทำหลักสูตรเพื่อลดการถูกกดขี่กดทับภายในโรงเรียน

ลักษณารีย์ ดวงตาดำ โฆษกพรรคสามัญชน น ย้ำพรรคสามัญชนผลักดันพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม โดยเชื่อว่าทั้ง LGBTQIAN+ ต่างมีสิทธิเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ยังรับข้อเสนอการเว้นคำนำหน้าชื่อในสูจิบัตร โดยส่งเสริมให้มีการให้ความรู้ด้านเพศศึกษาตั้งแต่วัยดรุณเพื่อเตรียมพร้อมให้เยาวชนสามารถกำหนดเพศของตัวเองได้เมื่อพร้อม รวมถึงผลักดันการทำแท้งปลอดภัยด้วยการยกเลิกกฎหมายมาตรา 301 และ 305 และนโยบายการคุ้มครอง Sex workers ให้เข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ได้อย่างเท่าเทียม นโยบายเรียนฟรีจนถึงป.ตรีและสนับสนุนการศึกษา Home School

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ผู้สมัครส.ส.จังหวัดเชียงใหม่ เขต 5 พรรคเพื่อไทย กล่าวว่าแม้พรรคเพื่อไทยจะสนับสนุนให้มีการผลักดันพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม แต่ก็เผยว่าการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเพื่อรองรับความหลากหลายในปัจจุบันอาจจะไม่เพียงพอในอนาคต ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการตามกระบวนการกฎหมายต่อไป โดยจำเป็นต้องศึกษาและทำความเข้าใจเพื่อปรับปรุงกฎหมายให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

พุธิตา ชัยอนันต์ ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ เขต 4 พรรคก้าวไกล บอกว่าหากพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลจะดันพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมทันทีภายใน 100 วัน เพื่อรับรองทุกอัตลักษณ์ทางเพศด้วยการเปลี่ยนคำนำหน้านามตามความสมัครใจและสอดคล้องกับเพศสภาพ จัดสวัสดิการให้ความรู้ทางเพศ ทำแท้งปลอดภัย และสนับสนุนให้ Sex worker ถูกกฎหมายเพื่อการคุ้มครองคนทำงานด้านดังกล่าว

จักรวาลธวัฒน์ วรรณาวงค์ ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าทางพรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนพ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล และสมรสเท่าเทียม รวมไปถึงนโยบายสนับสนุนการศึกษาเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ สนับสนุน Soft Power ของ LGBTQ มุ่งเน้นการเปิดพื้นที่ทางสังคมตามอัตลักษณ์ การคุ้มครองจากภัยคุกคามทางเพศทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ผลักดันกฎหมายคุ้มครองจากถูกข่มเหง สวัสดิการการทำแท้งปลอดภัยเช่นเดียวกับผู้หญิง

วัชรกรณ์ กันธิ ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ เขต 8 พรรคประชาไทย แสดงจุดยืนในการให้สิทธิความเป็นมนุษย์แก่สมาชิก LGBTQ+ สนับสนุนการเข้าถึงสวัสดิการต่าง ๆ เช่นฮอร์โมนเพศฟรีผ่านโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค

ทรงธรรม โรจนเครือวัลย์ หัวหน้าพรรคพลังสยาม เผยว่าการผลักดันพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมและการรับรองเพศเป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะมีความเกี่ยวโยงกับหลักสิทธิมนุษยชน ในส่วนของการศึกษาตนมองว่าควรจะมีทั้งในและนอกระบบเพื่อให้ตอบโจทย์มีทางเลือกมากขึ้น

 

การมีส่วนร่วมทางการเมืองของแรงงานข้ามชาติ การรวมกลุ่มของประชาชนและที่นั่งในสภาของผู้หญิง

ศุกาญจน์ตา สุขไผ่ตา ที่ปรึกษาจัดตั้งแรงงาน มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ได้ถามประเด็นการเลือกปฏิบัติเพราะเชื้อชาติ การมีส่วนร่วมทางการเมืองของแรงงานข้ามชาติ กฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน รวมไปถึงประเด็นบทบาทในสภาของผู้หญิง

ลักษณารีย์ ดวงตาดำ โฆษกพรรคสามัญชน เสนอนโยบายโอบรับแรงงานข้ามชาติพร้อมการคุ้มครองและสวัสดิการอย่างเท่าเทียม ผลักดันรัฐบาลให้รับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO (International Labour Organization)  87 และ 98 เพื่อสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มและต่อรองของแรงงาน พร้อมทั้งเสนอให้มีการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อความปลอดภัยของแรงงานด้วย

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ผู้สมัครส.ส.จังหวัดเชียงใหม่ เขต 5 พรรคเพื่อไทย ชี้ว่าสิทธิในการเลือกตั้งของแรงงานขึ้นอยู่กับทะเบียนบ้านของแรงงาน ซึ่งถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยสนับสนุนให้มีการร่างรัฐธรรมนูญที่สนับสนุนการหารือกันของทุกภาคส่วน ในส่วนของอัตราส.ส.บัญชีรายชื่อเพศอื่น ๆ จุลพันธ์กล่าวว่าการจัดสัดส่วนบัญชีรายชื่อนั้นก็ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเช่นกัน แต่พรรคการเมืองต่าง ๆ รวมถึงพรรคเพื่อไทยยังไม่ได้ให้ความสนใจในการเรียงลำดับรายชื่ออย่างจริงจัง และในส่วนของการเลือกปฏิบัติ จุลพันธ์สนับสนุนให้ภาครัฐเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงสวัสดิการที่จำเป็นและต้องการ

พุธิตา ชัยอนันต์ ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ เขต 4 พรรคก้าวไกล ดันการจัดตั้งสหภาพแรงงานที่ต้องจัดตั้งได้ด้วยแรงงานจากภาคส่วนต่าง ๆ เสนอนโยบายการเข้าถึงประกันสังคมมาตรา 33 ของแรงงานข้ามชาติ สิทธิลาคลอด 180 วัน โดยเรื่องโควตาสัดส่วนผู้หญิงในสภา พุธิตาย้ำว่าต้องเริ่มต้นจากสัดส่วนในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองด้วย

จักรวาลธวัฒน์ วรรณาวงค์ ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์ เสนอที่จะขยายนโยบายประกันรายได้เกษตรกรไปสู่แรงงานในภาคส่วนอื่น ๆ นโยบายการตรวจสุขภาพฟรีซึ่งถือเป็นสวัสดิการพื้นฐานในนโยบายสวัสดิการสังคมถ้วนหน้า รวมไปถึงการขยายสิทธิของแรงงานนอกระบบตามกฎหมายมาตรา 40 

วัชรกรณ์ กันธิ ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ เขต 8 พรรคประชาไทย ดันการทดสอบฝีมือแรงงาน เสนอให้มีการขึ้นค่าแรงตามระดับฝีมือในผลการทดสอบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับตลาดแรงงาน

ทรงธรรม โรจนเครือวัลย์ หัวหน้าพรรคพลังสยาม สนับสนุนให้มีการลดความเหลื่อมล้ำในประเด็นต่าง ๆ เช่นสวัสดิการของแรงงานข้ามชาติ การดูแลบุตร การเข้าถึงสวัสดิการสุขภาพ ที่อยู่อาศัยเป็นต้น

วิภาพรรณ วงษ์สว่าง ผู้สมัครส.ส.จังหวัดเชียงใหม่ เขต 3 พรรคไทยสร้างไทย ชี้ว่าแรงงานข้ามชาติต้องมีสิทธิเท่าเทียมกับแรงงานไทย โดยกระบวนการรับแรงงานข้ามชาติเข้าประเทศต้องมีความโปร่งใส ไม่เป็นเครื่องมีของธุรกิจสีเทา นอกจากนี้พรรคไทยสร้างไทยยังแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับพ.ร.บ.รวมกลุ่มและสนับสนุนอิสระในการทำงานของภาคประชาสังคม วิภาพรรณยกประเด็นแรงงานอิสระที่ไม่อยู่ในการคุ้มครองของประกันสังคม ซึ่งต้องหาทางทำให้เกิดความครอบคุมดูแลแรงงานในส่วนนี้ด้วย โดยพรรคเพื่อไทยเสนอนโยบายหลักประกันสำหรับแรงงานอิสระในการกู้ยืมเงินเพื่อเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ในฐานะแรงงานอิสระ 

 

ปลดล็อค กระจายอำนาจ จังหวัดจัดการตัวเอง

ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์สำนักวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยกปัญหาที่เกิดขึ้นหลังปีรัฐประหาร 2557 ที่ส่งผลให้การกระจายอำนาจหยุดชะงักลง กลายเป็นคำถามต่อพรรคการเมืองถึงนโยบายการกระจายอำนาจคืนสู่ท้องถิ่น และทัศนคติต่อแนวคิดที่ว่าการกระจายอำนาจคืนสู่ท้องถิ่นคือการทุบหม้อข้าวตัวเอง

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ผู้สมัครส.ส.จังหวัดเชียงใหม่ เขต 5 พรรคเพื่อไทย เสนอนโยบายการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ ที่ท้องถิ่นสามารถตัดสินใจได้เองว่าตนมีความพร้อมพอจะเลือกผู้ว่าฯ ของจังหวัดหรือไม่ และยังยกปัญหาการกระจายอำนาจที่ไม่ได้มีการแจกจ่ายงบประมาณให้กับท้องถิ่น โดยเสนอให้มีการกระจายทั้งอำนาจ หน้าที่ และงบประมาณสู่ท้องถิ่น

พุธิตา ชัยอนันต์ ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ เขต 4 พรรคก้าวไกล ชี้ว่าการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นคือการระเบิดพลังทางเศษรฐกิจ เป็นการแจกจ่ายงบประมาณไปใช้อย่างตรงจุดโดยคนที่รู้จักปัญหาในพื้นที่จริง ในส่วนของนโยบาย พรรคก้าวไกลเสนอนโยบายยกเลิกคำสั่งรัฐบาลคสช.ภายใน 100 วัน.จัดทำประชามติการกระจายอำนาจภายใน 1 ปี และกระจายงบประมาณให้กับท้องถิ่นทั่วประเทศ 2 แสนล้านบาทต่อปีภายใน 4 ปี

จักรวาลธวัฒน์ วรรณาวงค์ ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์ ชี้ว่าการให้ท้องถิ่นตัดสินใจอนาคตของตัวเองคือหัวใจสำคัญของการกระจายอำนาจ สนับสนุนให้จังหวัดที่มีความพร้อมได้เลือกตั้งผู้ว่าฯจังหวัดของตัวเอง

วัชรกรณ์ กันธิ ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ เขต 8 พรรคประชาไทย ผลักดันการกระจายอำนาจ โดยชี้ว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นได้รับรู้ถึงปัญหาและหาทางแก้ไขปัญหาในพื้นที่ของตัวเอง มองว่าการกระจายอำนาจจำเป็นต้องสอดคล้องกันทุกภาคส่วน

ทรงธรรม โรจนเครือวัลย์ หัวหน้าพรรคพลังสยาม ยกประเด็นการมีส่วนร่วมระหว่างส่วนกลางและท้องถิ่น จำเป็นต้องมีกลไกในการตรวจสอบความโปร่งใส่ของการกระจายอำนาจเพื่อที่การกระจายอำนาจจะสามารถกระจายสู่ท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง

วิภาพรรณ วงษ์สว่าง ผู้สมัครส.ส.จังหวัดเชียงใหม่ เขต 3 พรรคไทยสร้างไทย มองว่าควรรวบนายกอบจ.และผู้ว่าฯให้เป็นสิ่งเดียวกัน โดยมีประชาชนเป็นผู้เลือกและมีอำนาจสูงสุดในการปกครองท้องถิ่นพร้อมส่วนกลางที่ทำหน้าที่ผู้ประสานงาน ในส่วนของแนวคิดการทุบหม้อข้าว มองว่าไม่ส่งผลถ้าส่วนกลางมีส่วนช่วยให้การกระจายอำนาจเป็นไปได้อย่างราบรื่น

ลักษณารีย์ ดวงตาดำ โฆษกพรรคสามัญชน เชื่อว่าทุกจังหวัดพร้อมที่จะเลือกตั้งผู้ว่าฯของตัวเอง ในส่วนของแนวคิดการทุบหม้อข้าว พรรคสามัญชนเสนอการปฏิรูประบบภาษีให้กลับคืนสู่พื้นที่ โดยมองว่าการกระจายอำนาจไม่ใช่เพียงแค่การมีส่วนร่วม แต่รวมไปถึงกลไลภาษีและการกระจายงบประมาณคืนสู่ท้องถิ่นด้วย

เวที Human Rights Agenda “วาระนโยบาย ประชาสังคม สิทธิมนุษยชนและการเลือกตั้ง ปี 2566 : เพราะประเด็นสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ต้องถูกมองเห็น” ได้จบลงไปแล้ว โดยในช่วงท้ายของงานมีประชาชนได้ตั้งคำถามถึงพรรคการเมืองในหลายประเด็นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคนไร้บ้าน คำถามจากตัวแทนกลุ่มไรเดอร์ และคนรุ่นใหม่ที่มีคำถามถึงศิลปะและแนวคิดทางสังคม บรรยากาศงานของวันนี้มีผู้เข้าร่วมทั้งประชาชนทั่วไป นักกิจกรรมและคนรุ่นใหม่ โดยเราหวังว่าการแสดงวิสัยทัศน์ของพรรคการเมืองที่มีต่อคำถามของภาคประชาสังคมและประชาชน ณ ลานประตูท่าแพ จ. เชียงใหม่ ในครั้งนี้ คำตอบที่ทุกพรรคมีให้กับประชาชนนั้นจะไม่ถูกลืมเลือนหายไปหลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้น 


ทั้งนี้ยังสามารถดาวน์โหลด Human Rights Agenda “วาระสิทธิมนุษยชน” ได้ที่ https://www.amnesty.or.th/files/1316/8109/5175/Human_Rights_Agenda_Booklet.pdf