อาอีฉ๊ะ แก้วนพรัตน์: เพื่อฝันและอนาคต

16 มกราคม 2566

Amnesty International Thailand

 

“วันคริสต์มาสเขาให้เอาถุงเท้าไปแขวนที่ปลายเตียง ซานตาคลอสจะเอาของขวัญมาให้ เราแขวนจนถุงเท้าขึ้นรา ก็ไม่มีใครเอามาใส่ เราแขวนตลอด มันเป็นความหวังของเด็กคนหนึ่ง แล้วก็สรุปว่าเราแขวนจนถุงเท้าขึ้นรา ก็ไม่ได้ของขวัญ เพราะซานตาคือพ่อแม่ปู่ย่าตายาย แต่เขาไม่มีจะกิน”  

 

อาอีฉ๊ะ แก้วนพรัตน์ ในวัยเด็ก คือเด็กหญิงที่ภาวนาขอของขวัญเพียงอย่างเดียวคือ “สัญชาติ” 

สัญชาติ คือสิ่งที่จะทำให้เธอได้เรียนหนังสือเหมือนเพื่อนคนอื่น ๆ และได้มีโอกาสได้ชีวิตที่ดีกว่าวันวาน ด้วยเหตุนี้ จึงได้จุดประกายให้อาอีฉ๊ะก้าวเข้ามาสู่ขบวนการเคลื่อนไหวของ “พี่น้อง” ของเธอ พี่น้อง.. ที่หมายถึงกลุ่มชาติพันธุ์ คนจน และผู้ที่กำลังเรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกิน แม้ไม่เคยพบหน้ากันมาก่อนก็ตาม 

ปัจจุบัน อาอีฉ๊ะหวนคืนสู่บ้านเกิด ที่เกาะทุ่งนางดำ จังหวัดพังงา และได้ใช้สองมือสรรค์สร้าง “พื้นที่ชีวิต” ให้กับเด็ก ๆ บนเกาะที่ไม่มีแม้แต่โรงเรียนและโรงพยาบาล 

 “อย่าให้ใครมาขโมยความฝันของเรานะ” เธอบอกเด็ก ๆ 

หากรอยยิ้มคือสิ่งที่พี่น้องร่วมพื้นที่ชุมนุมจะนิยามภาพจำของอาอีฉ๊ะ วันนี้ เราอยากพาคุณย้อนเวลาไปพบกับเธอในฐานะอดีตเด็กไร้สัญชาติในประเทศไทย ก่อนที่วันหนึ่งเธอจะได้มอบฝันให้กับเด็กในบ้านเกิด 

 

มะริด ทวาย ตะนาวศรี 

ร้อยปีที่ยังฝากบาดแผล 

 

เราเจอกับอาอีฉ๊ะครั้งแรกในพื้นที่ชุมนุมที่ชาวจะนะออกมาชุมนุมประท้วงการทำโรงไฟฟ้าในพื้นที่ เธอกำลังอยู่หน้าเขียงอันใหญ่ พร้อมกับหั่นผักไปด้วย 

เรามอง เธอเปลี่ยนจากมีดอันใหญ่เป็นมีดอันเล็ก แล้วบรรจงแกะสลักมะเขือเปาะ “หญิง เอามีดไป” เธอบอก ก่อนหันไปหาไครียะห์ ระหมันยะ เยาวชนแถวหน้าของการชุมนุมพร้อมกับเรียกเธอว่า “ดาราภาคใต้”  

อาอีฉ๊ะมาพร้อมกับอารมณ์ขันเสมอ แม้เผชิญกับการสลายการชุมนุม และต้องคอยกังวลกับประกาศจากรัฐบาล แต่รอยยิ้มยังคงวาดบนหน้าของผู้ที่อยู่บนเสื่อผืนใหญ่ของเธอและพี่น้อง บนสะพานชมัยมะรุเชษฐ์  

ท่ามกลางรอยยิ้ม ในคืนวันหนึ่ง เธอได้เล่าให้เราฟังว่า ครั้งหนึ่งเธอเคยถูกเด็กสัญชาติไทยแถวบ้าน ถือไม้กวาดไล่ตี ขณะกำลังอินกับละครที่เล่าเรื่องราวของไทยรบพม่า 

 

เธอถูกเรียกว่าเป็นคนพม่า 

แต่อาอีฉ๊ะและบรรพบุรุษเกิดในประเทศไทย 

 

“จริง ๆ แล้วพวกพี่ไร้สัญชาติเพราะเราเรียกมันว่า เป็นการเสียสัญชาติเพราะการเสียดินแดน เราคือกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น บรรพบุรุษเราแบ่งเขตแดนไปกับยุคล่าอาณานิคมของอังกฤษ”

ประวัติศาสตร์ได้เล่าเรื่องราวการเสียดินแดนของประเทศไทยทั้งหมด  14 ครั้ง หนึ่งในนั้นคือวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2336 ที่มีการเสียดินแดน มะริด ทวาย และ ตะนาวศรี 

มะริด ทวาย และตะนาวศรี คือเมืองสำคัญที่ปรากฏในเอกสารประวัติศาสตร์กระแสหลักของรัฐไทยแบบรวมศูนย์ อาจเคยปรากฏในวิชาประวัติศาสตร์ของหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ แต่ที่ไม่มีใครเคยเล่า คือเรื่องของประชาชน

พ.ศ. 2367 เมียนมาได้กลายมาอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษฐานะอาณานิคม เขตแดนในมะริด ทวาย และตะนาวศรี ยังคงเป็นเส้นจาง กระทั่งปี 2411 ได้มีการปักเขตแดนระหว่างอาณานิคมอังกฤษในเมียนมา กับ “สยาม” เกมการเมืองได้ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ว่าการเสียดินแดนคือการ “เสียส่วนน้อยเพื่อรักษาส่วนใหญ่” แต่ผลพวงจากการเสียดินแดนครั้งนั้นที่ประวัติศาสตร์กระแสหลักไม่ได้เล่า คือการที่ประชาชนจำนวนหนึ่งต้องเสียสัญชาติโดยที่ไม่มีสัญญาณเตือนมาก่อน และยังคงไร้สัญชาติจวบจนศตวรรษให้หลัง 

ครอบครัวของอาอีฉ๊ะคือหนึ่งในนั้น

“บรรพบุรุษเราอยู่ในมะริด-ตะนาวศรี แต่วันหนึ่งเราถูกบอกว่า เราต้องเสียส่วนน้อยเพื่อรักษาส่วนใหญ่ จากนั้นก็ถูกทำให้กลายเป็นยกให้เมียนมา และกลายเป็นพลเมืองชั้นสองของเมียนมา

“เราไม่ต่างจากพลเมืองชั้นสองของกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วไป ในเมียนมา เรากลายเป็นชาติพันธุ์ “โยเดียชา” ที่แปลว่าไทยอยุธยา”

คนไทยพลัดถิ่นในตะนาวศรี คือคนพลัดถิ่นที่อยู่กับที่ ที่แม้จะไม่มีการอพยพข้ามพรมแดน แต่เป็นผลมาจากการปักปันเขตแดนระหว่างอาณานิคมอังกฤษในเมียนมา และราชอาณาจักรสยาม ทำให้ชุมชนชาวสยามในตะนาวศรี เปลี่ยนสถานะจาก “คนท้องถิ่น” กลายเป็น “คนพลัดถิ่น”  

“เราดูหนังแล้วเห็นพระที่กวาดต้อนไปเป็นเชลย ที่ท่านหยิบดินจากประเทศตัวเองข้ามน้ำไปอีกฝั่งหนึ่ง แล้วก็รู้สึกจุกมากเลย เราอาจจะเกิดไม่ทัน แต่เราได้ฟังจากพ่อแม่ ปู่ย่าตายายเล่า  

“เราไม่ได้ถูกบังคับให้ข้ามฝั่ง เราอยู่ตรงนั้น แต่มันไม่มีการประกาศก่อนว่าพื้นที่ที่เราอยู่จะเป็นของคนอื่นแล้วนะ

“ขณะนั้น เกิดการสู้กันระหว่างชนกลุ่มน้อย เคนไทยพลัดถิ่นถูกเกณฑ์ไปเป็นลูกหาบ หาบปืน หาบอาวุธ ให้เขายิงพี่น้องเรา คนจึงทนไม่ได้ แล้วอพยพมาอยู่ประเทศไทย ด้วยความหวังว่าน่าจะดีกว่า เพราะเราเป็นคนสยาม 

“แต่พอกลับมาก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น มันเป็นเรื่องของผลพวงจากการล่าอาณานิคมในสมัยก่อน เราไม่ได้มีความแค้นกับเพื่อนพี่น้องเมียนมาเลย เพราะทุกคนถูกกระทำกันทั้งหมดตามหน้าประวัติศาสตร์ เราไม่รู้ว่าความจริงเป็นอย่างไรหรอก เพราะผู้ชนะมักเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์เสมอ

เมื่อย้ายกลับข้ามเขตแดนมาที่ประเทศไทย คนไทยพลัดถิ่นกลับไม่ได้มีชีวิตที่สวยงามอย่างที่คิด แม้จะเป็นชาวสยามตามหน้าประวัติศาสตร์ แต่กลับกลายเป็นคนไร้สัญชาติ 

“เขามองเราว่าเป็นพวกหลบหนีเข้าเมือง พ่อแม่เราต้องทำงาน แต่กลับถูกตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจับ หลายคนโดนรีดไถ โดนข่มขืน แต่กลับแจ้งความไม่ได้ เราต้องซื้อรถด้วยเงินเราโดยที่ใช้ชื่อคนที่มีบัตรประชาชนไทย 

 “เราเข้าโรงเรียนไม่ได้ ตอนเราเข้าโรงเรียนต้องใช้ชื่อพ่อแม่คนอื่นที่มีสัญชาติเพื่อให้เข้าโรงเรียนได้ มันกลายเป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องทำเพื่อให้พวกเรามีอนาคต”

อาอีฉ๊ะต้องเจอกับอคติทางชาติพันธุ์ที่ในวันนั้นไม่มีใครเข้าใจ เธอถูกเพื่อนล้อที่โรงเรียน ถูกใช้คำพูดว่า “พม่าขี้ขโมย” แต่เด็กตัวเล็กในวันนั้นไม่สยบยอม เธอพยายามที่จะเถียง 

“มีไม่กี่คนหรอกที่พาตัวเองไปจบปริญญาตรีหรือป.6 ได้ บางคนไปไม่ถึงฝัน บางคนฆ่าตัวตาย เพราะที่ผ่านมาถูกกระทำเหมือนไม่ใช่คน”

 

UNHCR ระบุว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีบุคคลไร้สัญชาติแต่ไม่ไร้รัฐจำนวน  539,696 คน (ข้อมูลกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กรกฎาคม 2563)ในกรณีของบุตรชนกลุ่มน้อยที่ย้ายถิ่นเข้ามาในประเทศไทยนานแล้ว 36,943 คน เป็นเด็กเกิดใหม่นับจากปีพ.ศ. 2544 จำนวน 87,291 กลุ่ม (อดีต) เด็กและนักเรียนในสถานศึกษาและคนไร้รากเหง้าจำนวน 82,154 คน และเด็กเกิดใหม่ที่ได้รับการจดทะเบียนการเกิดแต่ยังไม่สามารถกำหนดสถานะในสัญชาติได้จำนวน 87,291 คน 

 

ในจำนวนนี้ ยังไม่รวมเด็กไร้รัฐซึ่งอยู่ในระบบโรงเรียนและได้รับการจัดสรรรหัสนักเรียนในระบบ G-Code ของกระทรวงศึกษาธิการอีกกว่า 90,000 คน และกลุ่มบุตรของแรงงานข้ามชาติที่ไม่สามารถพิสูจน์สัญชาติของประเทศต้นทางที่ไม่อาจทราบจำนวนได้ 

“คนจนในประเทศนี้ที่โดนกระทำแล้วใช่ไหม แต่ เราคือคนที่ไม่มีอะไรเลย เราโดยกระทำยิ่งกว่านั้นอีก เราโดนกระทำเหมือนไม่ใช่มนุษย์ สิ่งเดียวที่รู้ตอนนั้นคือเราต้องตั้งใจเรียน เรียนให้เก่งเหมือนคนอื่น อย่างน้อยเพื่อนก็ยอมรับ 

 “ตอนเราย้ายไปอีกชั้นหนึ่ง เขาให้เด็กเอาสูติบัตรและทะเบียนบ้านไป เราเลยเลี่ยงด้วยการหนีโรงเรียน แต่สุดท้ายครูพูดว่า เธอเป็นมะริดหรอ เธอเป็นพม่าหรอ เพราะเธอไม่มีเอกสารราชการ

“นี่คือชีวิตของเด็กไทยพลัดถิ่น เราเติบโตมาด้วยการต่อสู้ ความแค้น ความเจ็บปวดมาจนถึงทุกวันนี้ และเราต้องทำให้ทุกคนเห็น” 



สู่ขบวนการต่อสู้ 

 

“เราเริ่มเข้าสู่การพัฒนาชุมชนตอนอายุสิบขวบ เราพูดในตอนนั้นเลยว่าเราจะทำให้คนในประเทศนี้ยอมรับได้ว่ามีคนแบบนี้อยู่ ประวัติศาสตร์ต้องยอมรับเรื่องเสียส่วนน้อยเพื่อยอมรับส่วนใหญ่ ว่าได้ส่งผลให้มีคนแบบพวกเราอยู่ 

“ไทยอาจไม่เสียเอกราช แต่เสียคนไปเยอะมาก ตลอด 14 ครั้งที่ผ่านมา โดยที่ไม่ถามเลยสักนิดว่า คนที่เสียไปเขารู้ตัวรึเปล่า ทำไมเขาถึงไม่ได้รับการยอมรับ พอเข้ามาในประเทศไทยก็โดนล่วงละเมิดทางเพศ เราต้องต่อสู้ ทำตั้งแต่ขุดลอกคูคลอง เพื่อให้คนรู้จัก” 

เมื่อวันเด็กมาถึง สำหรับเด็กคนอื่นอาจได้ไปดูเครื่องบิน แต่อาอีฉ๊ะไม่สามารถเดินทางออกไปจากพื้นที่ได้แม้แต่ก้าวเดียว “ดังนั้นฝันวัยเด็กเพียงสิ่งเดียวคือ อยากได้บัตรประชาชน อยากมีสัญชาติไทย” 

การก้าวเข้าสู่การทำงานเพื่อพัฒนาชุมชน อาอีฉ๊ะได้พบเจอกับเครือข่ายทั่วประเทศ เธอในวัยสิบปีได้รับรู้ว่าในประเทศไทยยังมีพี่น้องที่มีปัญหาเรื่องที่ดิน มีคนที่อยู่ในชุมชุนแออัด มีคนจน กลุ่มชาติพันธุ์ 

“เราแค่อยากเป็นพลเมืองที่ได้รับการยอมรับจากประเทศนี้ เราก็เลยผลักดันเรื่องกฎหมายสัญชาติ พ.ร.บ.สัญชาติว่าด้วยการคืนสัญชาติให้คนไทยพลัดถิ่น”

วันที่ 13 มกราคม 2554 อาอีฉ๊ะได้เดินเท้าจากด่านสิงขร ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มาที่รัฐสภาเก่าในกรุงเทพมหานคร

“ทุกครั้งที่ไปม็อบ ไปเรียกร้องสิทธิ เราโดนด่าจากคนกรุงเทพฯ ว่า สร้างความเดือดร้อน ปิดถนน แต่ไม่มีใครอยากทำแบบนั้นหรอก

“แต่เพราะศูนย์รวมอำนาจอยู่ที่กรุงเทพมหานคร เวลาพี่น้องคนจนเคลื่อนแต่ละครั้ง พวกเราก็ต้องระดมทุนไปเอง คนอยู่ฝั่งทะเลก็ทำปลาเค็มไป คนอยู่ฝั่งก็มีข้าว มีผักเอาไป เราหยอดกระปุกออมสินเพื่อที่จะเดินเท้า เราไปด้วยตัวเองหลายรอบมาก ตั้งแต่จบม.6 

 

“จนถึงตอนนี้ เราเพิ่งได้สัญชาติมาแค่ 6 ปี”

 

สำหรับบุคคลไร้สัญชาติแล้ว บัตรเลขศูนย์ ซึ่งคือบัตรสำหรับกลุ่มบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนนั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญที่พวกเขาต้องทุ่มเทเงินทองเพื่อให้ได้มา แม้แทบไม่มีสิทธิรับรองเลยก็ตาม  

อาอีฉ๊ะกล่าวว่า ที่จังหวัดพังงาการทำบัตรแม้กระทั่งบัตรประชาชนเลขศูนย์คือสิ่งที่เป็นไปได้ยากอย่างยิ่ง “พังงาไม่เคยบอกว่ามีคนไทยพลัดถิ่นอยู่ เราต้องสู้ไปอีก พอสำรวจบัตรเลขศูนย์ก็ต้องมาดูใหม่ว่าพวกเขาเป็นกลุ่มคนไร้รากเหง้า เป็นคนสัญชาติพม่าไม่มีเชื้อสายไทย เป็นนักเรียน หรือเป็นอะไร จนถึงตอนนี้ปัญหานี้ก็ยังแก้ไม่จบ 

“เราไม่ได้หวังพึ่งการเมืองขนาดนั้นหรอก มันมาแล้วก็ไป แต่สิ่งที่สำคัญคือเรื่องของโครงสร้างที่ต้องปฏิรูปอย่างแท้จริง นั่นคือโครงสร้างข้าราชการไทย ที่มีความเหลื่อมล้ำ 

“ช่วงรัฐประหารใหม่ ๆ เราเคยบอกว่าขีปนาวุธไม่ได้ร้ายเท่าทัศนคติ แต่กลับเจอคนที่ไล่เราให้ไปอยู่ต่างประเทศ แต่ตอนนี้แค่ออกจากบ้านตัวเอง เรายังจะโดนจับอยู่เลย เราจึงพยายามต่อสู้เพื่อสิทธิของคนรุ่นใหม่ เราสู้เพื่อฝันของเด็กในการเรียนต่อ 

“พวกเรา (คนไทยพลัดถิ่น) ต้องเรียนด้วยเงินตัวเองหมดเลย พอเลยจากป.6 เราต้องรอเพื่อที่จะเข้าเรียนต่อ บางคนถ้าไม่มีเงินต้องรออายุ 16 เพื่อเรียนกศน. เราต้องพาตัวเองไปเรียนรามเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายให้มากที่สุด เราต้องหาเงินทุกอย่าง คู่ไปกับการต่อสู้เพื่อพี่น้อง ทั้งต้องหาเงินช่วยที่บ้านด้วย ต้องทำงาน ช่วยค่าหอน้อง หน่วยงานได้รับเราไปทำงานหลังมีบัตรเลข 0 แต่เราไม่เคยได้ทุนกยศ.เลย เพราะมันตั้งกู้ตั้งแต่ปี 1 แต่ตอนนั้นเรายังไม่มีสัญชาติ เลยทำให้กู้กยศไม่ได้จนถึงตอนนี้ 

“เพราะต้องเผชิญกับสิ่งนี้มาตลอด เราจึงสู้เรื่องสัญชาติ เราสู้เพื่อคนจน เราไปทุกประเด็นที่พี่น้องมีปัญหา เรารู้ว่าความเจ็บปวดที่ไม่ได้รับยุติธรรมเป็นอย่างไร หลังจากนั้นเราไปร่วมขบวนนักศึกษา เราก็บอกเขาว่าเราไม่พร้อมจะถูกจับนะ แม่เราไม่มีเงินประกันตัว 

“ถ้าเราโดนจับ เราจะเป็นเหมือนบุคคลสูญหาย ที่บ้านเราบอกว่าถ้าถูกจับเพราะประเด็นพี่น้องคนจน เขาพอขายบ้านไปประกันได้ แต่ถ้าเป็นหัวข้ออื่น เขาไม่มีปัญญาจริง ๆ” 



เพื่อชีวิต

 

“เราไปม็อบเรื่องสิทธิชุมชน ปากท้องชาวบ้าน สัญชาติและชาติพันธุ์” อาอีฉ๊ะบอก เธอยืนอยู่ตรงนั้นตอนที่ผู้ชุมนุมชาวจะนะโดนสลายการชุมนุม  

“ขอแก้ข่าวว่าตอนสลายการชุมนุมเราไม่ได้โดนจับนะคะ (หัวเราะ) มีแต่คนถาม แต่เราเป็นผู้ช่วยทนาย คืนนั้นพวกเราร้องเพลงกันทั้งคืน” 

“ที่ผ่านมาเราเห็นม็อบทุกรูปแบบ เราผ่านการถูกสลายการชุมนุม มองเห็นการตีรันฟันแทง เห็นคนตาบอด นิ้วขาด เราเห็นมาหมดแล้ว เราผ่านมาหมดเลย ตั้งแต่ที่ทำเนียบ จนถึงกระทรวงมหาดไทย เราพูดได้เลยว่าตอนนี้เราปิดตาเดินก็ไม่หลงแล้ว 

“แต่สิ่งที่เราประทับใจพี่น้องมาเสมอ คือพี่น้องให้เกียรติเรามาก ๆ เราบอกพี่น้องเสมอว่าถ้าสุขไม่ต้องนึกถึงเรา แต่ถ้าทุกข์แล้วไม่นึกถึงเราจะโกรธ ถ้าร่วมสุขได้ต้องร่วมทุกข์กันก่อน วันไหนคุณทุกข์แล้วไม่บอกเราเราจะโกรธมาก 

“เวลาไปม็อบ ไม่ว่าจะเป็นม็อบจะนะ หรือม็อบเทพา เราได้ช่วยเต็มที่คือการช่วยประสานงานให้กับพี่น้อง เรื่องบริจาคหรือเรื่องอะไรต่าง ๆ ทั้งตั้งแต่ก่อนพี่น้องจะเดินเท้า ตั้งครัว วางครัว เราช่วยพวกเขา ทำถุงยังชีพ 

“แต่เราจะให้เจ้าของปัญหาเป็นคนพูด เราจะอยู่แค่กับครัว คอยเก็บภาพรวมเพื่อประสานกับพี่น้อง  เวลาเราเห็นพี่น้องตรงนั้น เรารู้สึกเสมอเหมือนเราได้กลับบ้าน 

“กับพี่น้องจะนะ เรายังจำได้ดีว่าตอนที่เราโดนจับตอนจะไปที่พัทลุง เราถูกจับด้วยรถหกคัน พวกเราต้องค้างอยู่ที่ด่านปาโต๊ะ แต่รู้ไหม ข้าวมื้อแรกหลังจากปล่อยตัว คือข้าวจากพี่น้องจะนะ 

“เราจำได้ว่าบังนี (รุ่งเรือง ระหมันยะ) และก๊ะนูรี คือคนที่ทอดปลาให้เรากิน ข้าวมื้อนั้นสำคัญกับเรามาก เราจึงคิดว่าวันนึงเราต้องได้ไปต่อสู้เพื่อไปต่อแทนเขา” 

 “พี่น้องคนอื่นไม่รู้ว่าเราเป็นใคร มีวันหนึ่งก๊ะชาวจะนะคนหนึ่งถามเราบนรถว่า “ถามจริงนะ ทำไมบังแกนถึงเรียกว่าฉ๊ะว่าลูกสาวไทยพลัดถิ่น” เราเลยเล่าเรื่องของเราให้เขาฟัง เขาร้องไห้กันทั้งรถ 

“พี่น้องบอกว่า “เรายู่กับฉ๊ะ เรามีความสุข เราหัวเราะได้ในวันที่เราทุกข์ เราให้ฉ๊ะช่วย แต่ทำไมเราไม่รู้เลยว่าฉ๊ะทุกข์ขนาดนี้ ทำไมฉ๊ะไม่เล่าให้เราฟัง” ตั้งแต่นั้นมา ทุกคนช่วยกันระดมเงินคนละห้าสิบบาท คนละร้อยสองร้อย มาช่วยเราสร้างบ้าน ชาวจะนะบอกเราว่า เขาจะจัดงานเลี้ยงน้ำชา มาเพื่อระดมทุนสร้างบ้านให้เรา

“วันนั้นเราร้องไห้เลย” อาอีฉ๊ะเล่า 

“เราไม่ได้ช่วยพี่น้องเปล่า ๆ นะ เราได้ข้าวกินตอนไปช่วยเขา เวลาอยู่กรุงเทพฯ เด็กบ้านนอกมันเคว้งมาก ไม่รู้จะทำอะไร แต่การไปตรงนั้นเหมือนทำให้เราได้กลับไปเจอญาติ เจอความสุข เจอสิ่งที่เราขาดหาย เป็นพื้นที่จิตวิญญาณ เติมเต็มตรงนั้น  

“พี่น้องทำให้เรารู้ตัวว่า เราเป็นใคร มาจากไหน เรามาตรงนี้ได้ยังไง เราเคยเป็นแบบไหน เราจำได้ว่าน้ำพริกปลาทูบูดู คือสิ่งที่หล่อเลี้ยงเรามา แม้เราจะชอบอาหารญี่ปุ่นก็ตาม” 



กลับบ้านเกิด

 

“เราเป็นซึมเศร้ามาแปดปี เป็นเส้นเลือดในสมองตีบตอนอายุ 27-28 ต้องลาออกจากงานกลับมาอยู่บ้าน เรากลับมาทำค่าย ไม่ค่อยได้กลับบ้านตัวเองเลยด้วยซ้ำ ไปลงชุมชนกับเพื่อน ๆ เพราะลงมาบ้านต้องใช้เวลา 

“เรามาใช้ชีวิตด้วยโครงการ 1 ปี เดือนละสามพันบาท และทำงานที่มันทำได้ เราร่างกายไม่แข็งแรง”  

ก้าวแรกที่กลับมาที่บ้าน อาอีฉ๊ะหวนนึกถึงในวันที่เธอเป็นเด็กไร้สัญชาติ “ตอนเด็ก ๆ เราไม่มีความฝัน ต่อให้เรียนเก่งแค่ไหน เราก็ไม่รู้ว่าความฝันเราคืออะไร”

“เราเป็นทั้งคนไร้สัญชาติและคนจน วันคริสต์มาสเขาให้เอาถุงเท้าไปแขวนที่ปลายเตียง ซานตาคลอสจะเอาของขวัญมาให้ เราแขวนจนถุงเท้าขึ้นรา ก็ไม่มีใครเอามาใส่ 

“เราแขวนถุงเท้าตลอด มันเป็นความหวังของเด็กคนหนึ่ง แล้วก็สรุปว่า ต่อให้เราแขวนจนมันขึ้นรา ก็ไม่น่าได้ของขวัญ เพราะซานตาคือพ่อแม่ปู่ย่าตายาย แต่เขาไม่มีจะกิน”

ในวัยเด็ก รองเท้าหรือเสื้อเป็นมรดกตกทอด ระหว่างเธอ น้อง และหลาน เช่นเดียวกับพี่น้องคนจนทั่วประเทศ เธอพยายามรักษาของเพื่อให้พวกเขาได้ใช้ต่อ 

 “เราหวังแค่อยากมีบัตรประชาชน ตอนเด็กเราไม่มีฝันด้วย ตอนอายุ 19 เราตอบไม่ถูกว่าฝันคืออะไร เพราะเป้าหมายเดียวคือเราต้องมีสัญชาติไทย แต่อาชีพคืออะไร โตเป็นอะไรเราไม่รู้เลย จนเพื่อนถามว่า ถามจริง ๆ ว่าชอบอะไร ทำอะไรถนัดที่สุด เราตอบว่าชอบอ่านและชอบเขียนหนังสือ เพื่อนถามว่ามีความสุขมั้ย เราตอบว่าสุขมาก เรามีความสุขทุกครั้ง เพื่อนก็เลยบอกว่านั่นแหละฝันเรา

“เราตกใจว่านั่นคือฝันหรอ” เธอว่า

 “เรามีฝันหรอวะ เรามีแต่ความหวังที่จะได้สัญชาติ เพิ่งมารู้ว่าเราอยากเป็นนักเขียน”

“พอกลับมาอยู่บ้าน เราเห็นว่าบ้านเรามีทรัพยากรเยอะนะ เราเลยรู้สึกว่าเราไม่อยากให้เด็กเป็นแบบเรา เราเป็นเด็กส่งออกจากชุมชนไปที่อื่นเพราะที่เกาะไม่มีโรงเรียน ประชากรบ้านไม่เยอะขนาดสร้างโรงเรียนหรือโรงพยาบาล คนที่นี่เวลาป่วย ก็ป่วยข้างบน (ข้างบนฝั่ง) ตายข้างบน ฝังข้างบน ไม่มีใครมีโอกาสได้ตายที่บ้าน ที่เกาะมีกุโบแต่ไม่ได้ฝังใครเลย 

 “ระยะทางบ้านเราไปฝั่ง ก็แค่สามสิบนาทียังได้ แต่ลำบากมาก เวลาพ่อชักสิบห้าครั้ง กว่ารถกู้ภัยจะมาก็วุ่นวายมาก เราเลยรู้สึกเลยว่าถ้ากลับมา เราจะต้องทำพื้นที่ของเราให้เป็นพื้นที่ชีวิต พื้นที่ความหวัง ว่าเด็กจะชอบอะไร หรืออยากเป็นอะไร

 “เราบอกเด็กว่า “อย่าให้ใครมาขโมยความฝันของเรานะ” ฝันของเรา รักษามันไว้ เพราะเราไม่เคยมีฝัน เราอยากให้เขาได้ฝัน เด็กมาอยู่กับเราบางทีก็สอนเรื่องชีวิต ในวิถีของเขา สอนให้เด็กมุสลิมและพุทธอยู่ด้วยกันและรักกัน

เราจะอยู่ที่บ้านอย่างมีคุณค่าและความหมาย เราไม่รู้ว่าเรามีคุณค่ารึเปล่า แต่เด็กเรียกเราว่าครูฉ๊ะคนสวย แสดงว่าเรามีความหมายกับพวกเขา 

“เวลาไปไหนเด็กโทรตามตลอดเลย พวกเขายอมสมัครเฟซบุ๊กเพื่อจะตาม เราไม่ได้รับงบสนับสนุน แต่มีพี่ ๆ บางโครงการทำสาธารณศึกษามาแบ่งกับการทำงานให้เด็ก ๆ  

“บางวันมีไก่ เรากินไก่กันทั้งบ้าน เด็กกินอาหารกับเรา พอไม่มีตังค์ เราก็บอกเด็ก ๆ ว่าอยากกินอะไรให้เอามาเผื่อเพื่อน ๆ ด้วยนะ ใครมีอะไรมา เด็กเดินผ่านป่าเจอผักหวาน เห็ดน้ำหมาก ก็เก็บมาแล้วทำกินด้วยกัน

“พ่อแม่เราสนับสนุนทุกอย่างแม้เราจะไม่มี แต่เราทุกคนรู้สึกว่าเราอยากสร้างคน และอยากสร้างอนาคต เราขาดอะไรเราอยากให้เด็กได้มี เราไม่มีปากกา ดินสอวาดรูป ก็หาให้เด็ก ทำพื้นที่ชีวิตให้เด็ก เราได้จัดงานวันเด็กให้เด็ก เด็กบอกว่าอยากไปปิกนิคหน้าหาด พวกเรามีเงินสองพัน เราก็ไปบอกที่ร้านค้าหมู่บ้านว่าเราจะทำ พอคนนู้น คนนี้รู้เรื่อง ก็ช่วยกันหามาให้ จากงานเล็ก ๆ ก็มีคนซื้อลูกชิ้น มะละกอ อยากกินขนมจีนน้ำเงี้ยว เราก็ทำให้เขากิน อยากกินส้มตำ ก็ทำส้มตำกินด้วยกัน

“เด็กที่นี่ ของที่เขาอยากกิน มีไก่ทอด แต่ไม่มีพิซซ่า เคเอฟซีเลย อาจเพราะมันเป็นเกาะ แต่มันเป็นความบริสุทธิ์ของเขา ที่มันไม่มีอะไรแบบนั้นเข้ามา เขาไม่ได้ไม่เคยกินนะ เขาเคย 

“พวกเขามีโทรศัพท์ แต่บางวันเขามาอยู่กับเราก็ทิ้งโทรศัพท์ ครูที่โรงเรียนบอกว่าพัฒนาการในการเรียนของพวกเขาดีขึ้น (ครูที่โรงเรียนบอก)”

สองเท้าของอาอีฉ๊ะ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเด็กส่งออกจากบ้านเกิด ได้เดินคู่ไปกับเด็ก ๆ จาก “พื้นที่ชีวิต” จนถึงหน้าหาด 

น้ำ ขนม และผลไม้จากต้นไม้ข้างทาง คือเสบียงที่เด็ก ๆ และเธอได้ใช้ชีวิตร่วมกันเพื่อเดินเท้าหนึ่งกิโลเมตรไปหน้าหาด ระหว่างทางเธอได้สอนเรื่องสมุนไพรให้กับเด็ก ๆ ได้รู้ว่าบ้านของพวกเขานั้นมีต้นไม้อะไรบ้าง 

“พวกเราได้วาดรูป ได้เรียนผ่านต้นไม้ สี อาหาร สัตว์ที่มีในบ้าน เช่นสอนเขียนคำว่า ต้นปลาไหลเผือก จากนั้นเราเห็นว่าเด็กอ่านหนังสือเก่งและคล่องขึ้นเยอะ ตอนนี้เขาอ่านได้แล้ 

“เวลาเด็กทะเลาะกัน เราต้องให้เกียรติกันไม่ว่าศาสนาไหน เรามีความหลากหลาย เราบอกเด็กว่าเราทุกคนมีความสามารถต่างกันไป มีความเฉพาะตัว นิ้วมือห้านิ้ว ทุกนิ้วสำคัญหมด ต่อให้ครบหรือไม่ ก็ยังเป็นองค์ประกอบที่ต่างกันแค่สั้นและยาว ถึงศาสนาต่างกัน 

“เด็กถามว่าทำไมมีคนช่วยเราสร้างบ้านเยอะจัง เราบอกเด็กว่าถ้าเราช่วยคนอื่น คนอื่นก็จะช่วยเรา แต่เราอย่าไปเรียกร้อง ถ้าเขาจะช่วย เขาจะช่วยเอง ไม่ต้องไปขอเขา 

 

ฝันของเด็กมีทั้งเป็นเชฟ และเป็นครูภาษาไทย แม้ภาษาไทยของเขาจะไม่แข็งก็ตาม แต่อาอีฉ๊ะยังให้กำลังใจ 

เพราะฝันของเด็กนั้นจะมีลมหายใจเสมอ ที่ “พื้นที่ชีวิต” 

 

“เราไม่ได้ถูกเลี้ยงมาอย่างขาดแคลน เรารู้สึกแค่ว่าเรายังมีบ้านเนอะ แต่มันยังมีคนที่ไม่มีบ้าน เรายังมีมือทำมาหากิน เราเลยสบายใจ รู้สึกว่าไม่ได้ขาดอะไร เราเป็นผู้ให้มาตลอด พอเป็นผู้รับเลยรู้สึกไม่ค่อยดีเท่าไหร่ 

“เราไม่อยากให้ทุกข์เราทำให้ใครรู้สึกลำบากใจ แต่ถ้าเป็นเพื่อนทุกข์ เราพร้อมไปทุกที่”



คนทุกข์ทั้งผอง เป็นพี่น้องกัน

 

อาอีฉ๊ะบอกว่า “คนทุกข์ทั้งผอง เป็นพี่น้องกัน” 

“ถ้าเราเห็นเพื่อนทุกข์แล้วเราตัวสั่น คือเรามีจิตวิญญาณร่วมกันกับเขา ทั้งหมดที่พี่น้องทำคือทำเพื่อคนในอนาคต เพื่อลูก เพื่อหลาน ต่อให้เขาถูกจับก็ยังทำเพื่อลูกหลาน ทุกคนไม่เคยพูดว่าทำเพื่อตัวเอง เราคือคนที่รับช่วงต่อแล้วกลายไปเป็นผูู้เฒ่าผู้แก่ อย่างน้อยเขาทำให้เรารู้ว่าเราจะมีอนาคต 

เราทำเพื่อคนรุ่นหลัง เพราะฉะนั้นคนหนุ่มสาวจะจดจำว่าพวกเขาทำขนาดนี้ พวกเราโดนคนเมืองชี้หน้าด่าหลายครั้ง โดนกระสุน โดนแก๊สน้ำตา โดนทุกรูปแบบแต่เด็ก แต่อย่างน้อยเราได้ทำให้พื้นที่แห่งนี้มีความฝัน มีความหวัง มีอนาคต

“สิ่งที่เราอยากเห็นมาตลอด ถ้าเราเชื่อว่าคนเท่าเทียมกัน เราต้องยอมรับในความเป็นมนุษย์ ทำให้ไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ได้มีพื้นที่อย่างเท่าเทียมกัน เราหวังว่าวันนึงในสภา จะมีพี่น้องใส่ชุดร็องแง็ง บะบายะยา ปกาเกอะญอ ม้ง ฯลฯ ไปพูดปัญหาของตัวเอง อยากให้มีความเท่าเทียมอย่างแท้จริง”

 

และนี่คือฝันของเธอ