การลิดรอนเสรีภาพเกิดขึ้นทั่วโลก คำเตือนจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

24 กุมภาพันธ์ 2559

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดเผยรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ประจำปี 2558-2559 ซึ่งรวบรวมสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนตลอดปี 2558 โดยให้ภาพรวมของห้าภูมิภาคและข้อมูลของแต่ละประเทศทั้งหมด 160 ประเทศและดินแดน รายงานชี้ให้เห็นว่าการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนยังดำเนินต่อไปอย่างเข้มแข็งในทุกมุมโลก

 

สำหรับงานแถลงข่าวเปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี 2558-2559 จัดขึ้นพร้อมกันทั่วโลกในวันพุธที่ 24กุมภาพันธ์2559 สำหรับประเทศไทยนายชำนาญ จันทร์เรือง ประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เป็นตัวแทนมอบรายงานพร้อมทั้งข้อเรียกร้องถึงทางการไทย โดยมีนายอภิรัตน์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง ผู้อำนวยการกองการสังคม กระทรวงการต่างประเทศเป็นตัวแทนรัฐบาลไทยรับมอบรายงานฉบับดังกล่าว

 

สำหรับประเทศไทยมีหลายประเด็นที่น่าห่วงใย เช่น การขัดแย้งกันด้วยอาวุธในประเทศการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย การปราบปรามผู้เห็นต่างจากรัฐ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงและโทษประหารชีวิต

 

ซาลิล เช็ตตี้ (Salil Shetty) เลขาธิการใหญ่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวเตือน ในวาระแถลงรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกว่า การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในระดับสากลกำลังถูกคุกคาม จากการที่แต่ละประเทศใช้อำนาจปราบปรามอย่างกว้างขวางในนามของความมั่นคงและแสวงประโยชน์ในระยะสั้น นำไปสู่การลิดรอนเสรีภาพและสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

 

“ไม่ใช่แค่สิทธิของเราเท่านั้นที่ถูกคุกคาม แต่ยังรวมถึงกฎหมายและระบบที่คุ้มครองสิทธิเหล่านั้นด้วยผู้คนหลายล้านคนต้องทุกข์ทรมานอย่างมากจากการกระทำของรัฐและกลุ่มติดอาวุธ ในขณะที่รัฐบาลไม่มีความละอายและสร้างภาพว่า การทำงานคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง กฎหมายและระเบียบของประเทศชาติ”

 

จากการรวบรวมและตรวจสอบข้อมูลสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในปี 2558 แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลในหลายประเทศละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจนรัฐกว่า 112 ประเทศได้ทำการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายกับประชาชนของตนเอง และรัฐ 30 แห่งหรือมากกว่านั้นบังคับส่งกลับผู้ลี้ภัยอย่างผิดกฎหมายไปยังประเทศที่พวกเขาอาจได้รับอันตราย และในอย่างน้อย 19 ประเทศ รัฐบาลและกลุ่มติดอาวุธได้ก่ออาชญากรรมสงครามหรือการละเมิดอื่นๆ ต่อ “กฎหมายสงคราม”

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังเตือนถึงแนวโน้มที่น่ากังวล เนื่องจากรัฐบาลประเทศต่างๆ มุ่งโจมตีและคุกคามนักกิจกรรม นักกฎหมาย และบุคคลอื่นที่ทำงานคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมากขึ้น

 

“แทนที่จะตระหนักถึงบทบาทสำคัญของบุคคลเหล่านี้ในสังคม รัฐบาลในหลายประเทศกลับจงใจปิดปากไม่ให้พวกเขาส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในประเทศ รัฐต่าง ๆ เหล่านี้ได้ละเมิดกฎหมายในประเทศระหว่างการปราบปรามพลเมืองของตนเอง” ซาลิล เช็ตตี้กล่าว

 

สำหรับประเทศไทย ในรายงานระบุถึงการจับกุมผู้จัดกิจกรรมประท้วงอย่างสงบ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงละคร การโพสต์ความเห็นในเฟซบุ๊ก และการเขียนฝาผนัง และสำหรับการเพิกเฉยของรัฐบาลทหารต่อเสียงเรียกร้องของนานาชาติให้ยุติการสืบทอดอำนาจ และยุติการจำกัดสิทธิที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและการปิดปากผู้เห็นต่างโดยอ้าง “ความมั่นคง”

 

แชมพา พาเทล (Champa Patel) ผู้อำนวยการประจำสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก กล่าวถึงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยว่า

 

“แนวทางด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยยังเป็นเรื่องที่น่ากังวล ในขณะที่ระบอบปกครองของทหารฝังรากลึกมากขึ้น ส่งผลให้การเคารพสิทธิมนุษยชนถดถอยลงอย่างมากในปี 2558 ความพยายามปิดกั้นและปราบปรามผู้แสดงความเห็นต่างทางการเมืองได้ขยายตัวกว้างขวางอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนส่งผลให้มีการคุกคาม ดำเนินคดี และควบคุมตัวบุคคลจำนวนมากโดยพลการและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เพียงเพราะการใช้สิทธิของตนอย่างสงบ ทางการยังคงใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพื่อปิดกั้นเสียงที่เห็นต่างในระดับรุนแรงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนเช่นกัน”

 

สำหรับภาพรวมทั้งหมดของสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในแต่ละภูมิภาค โปรดดูรายงานประจำปี 2558-2559 ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล www.amnesty.org