สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 22-28 เมษายน 2567

2 พฤษภาคม 2567

Amnesty International 

สหรัฐอเมริกา: แอมเนสตี้เรียกร้องให้มหาวิทยาลัยเคารพและปกป้องสิทธิในการชุมนุมประท้วงของนักศึกษา

24 เมษายน  2567

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สหรัฐอเมริกาเรียกร้องให้ฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยทั่วสหรัฐอเมริกาปกป้องและอำนวยความสะดวกให้นักศึกษาทุกคนใช้สิทธิในการชุมนุมประท้วงหรือต่อต้านการชุมนุมประท้วงโดยสงบและปลอดภัยในวิทยาเขตของตน

การชุมนุมประเท้วงเพื่อสนับสนุนสิทธิของชาวปาเลสไตน์ทั้งในและรอบวิทยาเขตของวิทยาลัยเผชิญกับการขัดขวางและการปราบปรามโดยฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัย โดยแทนที่จะอำนวยความสะดวกและปกป้องสิทธิในการชุมนุมประท้วงของนักศึกษา ฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยกลับใช้ความพยายามอย่างมากในการปราบปราม แม้กระทั่งการนำทางการท้องถิ่นเข้ามาเกี่ยวข้องและเรียกร้องให้จับกุม ขณะเดียวกันก็พักการเรียนนักศึกษาที่เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงโดยสงบ

พอล โอ ไบรเอน กรรมการบริหาร แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สหรัฐอเมริกา เผยว่า สถาบันการศึกษาระดับสูงเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยให้นักศึกษาเข้าใจและเรียกร้องสิทธิมนุษยชนของตน ขั้นตอนใดๆ ที่ดำเนินการเพื่อปิดปาก คุกคาม หรือข่มขู่ผู้ที่รวมตัวกันเพื่อชุมนุมประท้วงโดยสงบและออกมาพูดถือเป็นการละเมิดสิทธิของพวกเขา

“การเป็นนักศึกษาไม่ได้หมายความว่าจะต้องทิ้งสิทธิในการชุมนุมประท้วงไว้หน้าประตูมหาวิทยาลัย”

เสรีภาพทางวิชาการถือเป็นหัวใจสำคัญของสิทธิในการศึกษาภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ อ้างอิงจากข้อมูลของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ฝ่ายบริหารมีหน้าที่รับผิดชอบในการส่งเสริมบรรยากาศที่เปิดให้มีมุมมองที่หลากหลาย และยังต้องประกันว่านักศึกษาทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการพูดคุยดังกล่าวได้ กิจกรรมในวิทยาเขตเป็นองค์ประกอบสำคัญของเสรีภาพและการพูดคุยดังกล่าว โรงเรียนและมหาวิทยาลัยควรประกันว่านักศึกษาทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นและความเชื่อของตนได้อย่างปลอดภัย และประกันการคุ้มครองสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ เนื่องจากนักศึกษาอาจต้องเสี่ยงกับความรุนแรงของตำรวจที่เป็นเรื่องจริงและทราบกันดีอยู่แล้ว ฝ่ายบริหารควรเรียกหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายให้มาสลายการชุมนุมในวิทยาเขตเป็นทางเลือกสุดท้ายเท่านั้น เช่น เมื่อเผชิญกับความรุนแรงที่แพร่กระจายหรือการยั่วยุให้เกิดความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติ

“สิทธิในการชุมนุมประท้วงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการออกมาพูดต่อต้านสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในฉนวนกาซาได้อย่างเสรี”

“นี่เป็นเรื่องจริงโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลสหรัฐฯ ยังคงจัดหาอาวุธให้กับกองทัพอิสราเอล และมีส่วนร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ ในการกระทำอันโหดร้ายที่เกิดขึ้นกับชาวปาเลสไตน์ทุกๆ วัน

แม้ว่าการวิพากษ์วิจารณ์การกระทำหรือนโยบายของรัฐบาลอิสราเอลนั้นไม่ได้เป็นการต่อต้านยิวและไม่ควรใช้เป็นข้ออ้างในการปิดกั้นผู้เห็นต่าง แต่ก็มีวิดีโอที่เผยแพร่ภาพของบุคคลรอบๆ การประท้วงในมหาวิทยาลัยบางแห่งใช้ถ้อยคำแสดงความเกลียดชังและเป็นอันตราย รวมถึงการยกย่องความรุนแรง เช่น การโจมตีที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมในอิสราเอล การต่อต้านยิว ความกลัวศาสนาอิสลาม หรือการมุ่งเป้าไปที่บุคคลและชุมชนสำหรับศาสนา ชาติพันธุ์ หรือสัญชาติ ล้วนถือเป็นความเกลียดชังและต้องถูกประณาม เราต้องนำผู้ที่กระทำ สนับสนุน หรือยินยอมให้เกิดการละเมิดและความรุนแรงดังกล่าวมารับผิดชอบไม่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใดและที่ใด สิทธิที่จะปราศจากการเลือกปฏิบัติเป็นหลักการพื้นฐานของกฎหมายสิทธิมนุษยชน และฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยควรติดต่อกับผู้จัดการชุมนุมประท้วงเพื่อห้ามการใช้ภาษาที่เลือกปฏิบัติหรือคุกคามซึ่งมุ่งเป้าไปที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในระหว่างการชุมนุมประท้วง

“เพื่อให้ชัดเจน การเลือกปฏิบัติและการส่งเสริมความรุนแรงต่อชุมชนชาวยิวถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน”

“พวกเราที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สหรัฐอเมริกา ขอประณามถ้อยคำแสดงความเกลียดชังและความรุนแรงด้วยถ้อยคำที่รุนแรงที่สุด”

ตลอดประวัติศาสตร์ การชุมนุมช่วยให้บุคคลและกลุ่มต่างๆ สามารถแสดงความเห็นต่าง ความคิดเห็น และแนวคิด เปิดเผยความอยุติธรรมและการละเมิด และเรียกร้องความรับผิดชอบจากผู้มีอำนาจ ด้วยการระดมพลังร่วมกัน ความคิดสร้างสรรค์ และการต่อต้าน ผู้คนที่ชุมนุมจึงเปรียบเสมือนปัญหากวนใจของผู้ที่ใช้อำนาจในทางที่ผิด การชุมนุมเป็นช่องทางหนึ่งในการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนให้ก้าวหน้า เพื่อช่วยเขย่าพลวัตและโครงสร้างอำนาจที่เปลี่ยนแปลงยากและไม่สามารถตรวจสอบได้

“ในขณะที่ภัยพิบัติด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซาทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน และมีคนสูญเสียชีวิตมากขึ้น ด้วยการสนับสนุนจากสหรัฐฯ จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่นักศึกษาจำนวนมากถูกกระตุ้นให้ออกมาชุมนุม”

“เรายังคงเรียกร้องให้ประธานาธิบดีไบเดนระงับการถ่ายโอนอาวุธทั้งหมดไปยังรัฐบาลอิสราเอลโดยทันที และทำให้เกิดการหยุดยิงทันทีและถาวรเพื่อปกป้องพลเรือน ประกันการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมโดยไม่มีการขัดขวาง และอำนวยความสะดวกในการปล่อยตัวตัวประกันอย่างปลอดภัย”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3wsAuwu

 

-----

 

 

โลก: แอมเนสตี้ส่งสัญญาณเตือนถึงช่วงเวลาสำคัญของกฎหมายระหว่างประเทศ ท่ามกลางการละเมิดหลักเกณฑ์อย่างโจ่งแจ้งของรัฐบาลและบรรษัท

24 เมษายน  2567

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ประจำปี 2566 ซึ่งเป็นการรวบรวมสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนใน 155 ประเทศ ระบุว่า โลกกำลังได้รับผลกระทบที่น่ากลัวจากความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้น และระบบกฎหมายระหว่างประเทศที่เกือบจะล่มสลาย

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เตือนถึงการล่มสลายของหลักนิติธรรม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งให้เกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็วของ AI ประกอบกับอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ (Big Tech) ทำให้เกิดความเสี่ยงของ “การเร่งให้เกิด” การละเมิดสิทธิมนุษยชน หากการกำกับดูแลยังคงล้าหลังเมื่อเทียบกับความก้าวหน้าขอ AI 

แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่น เผยว่ารายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ฉายภาพที่น่ากังวลของการปราบปรามสิทธิมนุษยชน และการละเมิดหลักเกณฑ์ระหว่างประเทศอย่างกว้างขวาง ท่ามกลางความไม่เท่าเทียมระดับโลกที่หยั่งรากลึกมากขึ้น ประเทศมหาอำนาจต่างแย่งชิงความเป็นใหญ่ และทำให้วิกฤตสภาพภูมิอากาศรุนแรงมากขึ้น

“การเพิกเฉยอย่างโจ่งแจ้งต่อกฎหมายระหว่างประเทศของอิสราเอล ส่งผลเลวร้ายยิ่งขึ้นเนื่องจากพันธมิตรของอิสราเอลก็ไม่สามารถยุติการนองเลือดอย่างทารุณของพลเรือนที่เกิดขึ้นในกาซาได้ ประเทศพันธมิตรหลายแห่งเหล่านี้ต่างเคยเป็นผู้ออกแบบระบบกฎหมายในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง  นอกจากสงครามของรัสเซียที่ยังคงกระทำต่อยูเครนแล้ว เราได้เห็นการขัดแย้งกันด้วยอาวุธและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ทั้งที่เกิดขึ้นในซูดาน เอธิโอเปีย และเมียนมา ระเบียบโลกที่อยู่บนพื้นฐานหลักเกณฑ์เสี่ยงจะถูกทำลายจนสิ้นเชิง”  

สภาวะที่ไร้กฎหมาย การเลือกปฏิบัติ และการลอยนวลพ้นผิดในความขัดแย้งและปัญหาอื่นๆ ถูกทำให้เกิดขึ้นได้จริง เพราะจากการใช้เทคโนโลยีใหม่หรือสิ่งที่มีอยู่แล้วอย่างปราศจากการกำกับดูแล และในปัจจุบันเทคโนโลยีเหล่านี้ถูกนำมาใช้เป็นอาวุธโดยหน่วยงานทหาร หน่วยงานการเมืองและบรรษัทอย่างสม่ำเสมอ ขณะที่แพลตฟอร์มของ Big Tech เป็นตัวจุดชนวนความขัดแย้ง พบการใช้สปายแวร์และเครื่องมือสอดแนมในวงกว้างเพื่อละเมิดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ขณะที่รัฐบาลใช้เครื่องมือแบบอัตโนมัติโดยมี ”กลุ่มที่อยู่ชายขอบ” อยู่ในกลุ่มเป้าหมายมากที่สุดในสังคม 

“ในโลกที่มีความสุ่มเสี่ยงมากขึ้น การส่งเสริมและการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างขาดการกำกับดูแล รวมทั้งการใช้ประโยชน์จาก AI เทคโนโลยีจดจำใบหน้า (facial recognition) และสปายแวร์ มีแนวโน้มจะนำไปสู่ศัตรูที่ร้ายกาจ จะยิ่งช่วยขยายตัวและทวีคูณการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ และสิทธิมนุษยชนในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน”

“ในปีสำคัญแห่งการเลือกตั้ง และท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของการเจราจาต่อรองเพื่อวิ่งเต้นในการต่อต้านการควบคุมกำกับ และการได้รับทุนสนับสนุนจาก Big Tech สะท้อนให้เห็นความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีที่เลวร้ายและปราศจากการกำกับดูแลว่า กำลังเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อเราทุกคน เพราะอาจถูกนำมาใช้เป็นอาวุธเพื่อเลือกปฏิบัติ เผยแพร่ข้อมูลเท็จ และสร้างความแตกแยก”  

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3Qtyyuu

 

-----

 

 

อิรัก: มีผู้ถูกประหารชีวิตอย่างน้อย 13 รายหลังการพิพากษาลงโทษในข้อหาก่อการร้ายที่กว้างและคลุมเครือมากเกินไป

24 เมษายน  2567

 

ทางการอิรักต้องยุติการประหารชีวิตทั้งหมดทันที แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวเมื่อวันที่ 24 เมษายน หลังจากที่ชายอย่างน้อย 13 คนถูกประหารชีวิตเมื่อวันที่ 22 เมษายน ในเรือนจำกลางนาชิริยาห์ ในเขตปกครองทางตอนใต้ของดิการ์ ภายหลังการพิพากษาลงโทษในข้อหาก่อการร้ายที่กว้างและคลุมเครือมากเกินไป

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกังวลว่าอาจมีผู้คนอีกจำนวนมากถูกประหารชีวิตอย่างลับๆ ท่ามกลางการขาดความโปร่งใสอย่างน่าเป็นห่วงเกี่ยวกับการประหารชีวิตในอิรักในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้แหล่งข่าวด้านความมั่นคงเคยยืนยันกับสื่อเกี่ยวกับการประหารชีวิตชาย 13 คนในวันที่ 25 ธันวาคม 2566 ซึ่งถือเป็นการประหารชีวิตจำนวนมากครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 แต่นักกิจกรรมและทนายความที่เป็นตัวแทนของนักโทษประหารบอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่ามีการประหารชีวิตไปแล้วหลายครั้งนับตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน โดยเสริมว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งนักโทษหรือครอบครัวและทนายความให้ทราบล่วงหน้า

“การประหารชีวิตของอิรักเมื่อเร็วๆ นี้น่าตกใจและน่าเศร้าใจ หลายปีที่ผ่านมา มรดกของการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้สร้างปัญหาให้กับระบบยุติธรรมของอิรัก ส่งผลให้ผู้คนหลายพันคนต้องโทษประหารชีวิตหลังจากการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรมอย่างร้ายแรง” ราซอว์ ซาลิฮี นักวิจัยประจำอิรัก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว

“การประหารชีวิตที่เกิดขึ้นหลังจากการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอาจเข้าข่ายการพรากชีวิตโดยพลการ รัฐบาลอิรักจะต้องจัดทำข้อตกลงชั่วคราวเพื่อพักใช้การประหารชีวิตอย่างเป็นทางการทันที และดำเนินการเพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งหมด”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3w912TE

 

-----

 

โลก: ข้อตกลงสนับสนุนการแข่งขันฟุตบอลโลกของ FIFA กับ Saudi Aramco ทำให้เกิดข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชน

25 เมษายน  2567  

 

สืบเนื่องจากข้อตกลงความร่วมมือระดับโลกเป็นเวลา 4 ปีระหว่าง FIFA กับ Saudi Aramco ทำให้บริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลของรัฐกลายเป็นผู้สนับสนุนการแข่งขันฟุตบอลโลกชายปี 2569 และฟุตบอลโลกหญิงปี 2570

สตีฟ คอคเบิร์น หัวหน้าฝ่ายความยุติธรรมด้านเศรษฐกิจและสังคม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า เป็นเรื่องตลกร้ายที่บริษัทของรัฐซาอุดีอาระเบียได้รับการพิจารณาว่าเหมาะสมที่จะสนับสนุนการแข่งขันฟุตบอลโลกหญิง ในขณะที่ผู้หญิงอย่างซัลมา อัลเชฮาบ และมานาฮิล อัล โอไตบี ยังคงถูกจำคุกในราชอาณาจักรเนื่องจากการออกมาพูดเพื่อความเท่าเทียมทางเพศโดยสงบ

“ขณะนี้ซาอุดีอาระเบียเป็นผู้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกชายปี 2577 แต่เพียงผู้เดียว ฟุตบอลโลกอาจต้องเผชิญการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปอีกหลายปีข้างหน้า เว้นแต่จะมีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อจัดการกับประวัติด้านสิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายของประเทศ

“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้ FIFA ทำข้อตกลงที่มีผลผูกพันกับซาอุดีอาระเบียเพื่อปกป้องผู้คนจากการแสวงหาประโยชน์ การเลือกปฏิบัติ และการปราบปรามก่อนที่จะสรุปข้อตกลงใดๆ เกี่ยวกับการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน เมื่อเดือนที่แล้ว แฟนฟุตบอล 12 คนจากกลุ่มชีอะฮ์ที่เป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศ ซึ่งมักเผชิญกับการเลือกปฏิบัติ ถูกตัดสินจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 1 ปีจากการสวดบทสวดพื้นบ้านและโพสต์วิดีโอของตัวเองทางออนไลน์

“Saudi Aramco เป็นหนึ่งในผู้ผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลรายใหญ่ที่สุดของโลก เมื่อปีที่แล้วได้ประกาศว่ามีกำไรต่อปีมากที่สุดเท่าที่บริษัทเคยทำได้เป็นจำนวนมากกว่า 1.61 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องว่ารายได้จาก Aramco ไม่ควรนำไปใช้เป็นทุนสำหรับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ปกปิดการละเมิด หรือพยายามบิดเบือนผ่านการใช้กีฬาฟอกตัวเอง”

“ถึงเวลาแล้วที่ซาอุดีอาระเบียต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ สนับสนุนการยุติอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล และให้ทุนสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียนที่อิงสิทธิมนุษยชน ซึ่งจำเป็นต่อการป้องกันอันตรายจากสภาพภูมิอากาศเพิ่มเติม”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/4biJUK2

 

----- 

 

สหรัฐอเมริกา: การสั่งห้ามใช้ TikTok จะไม่แก้ปัญหาการสอดแนมของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่

25 เมษายน  2567

 

สืบเนื่องจากการตัดสินใจของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่สั่งห้ามใช้ TikTok ทั่วประเทศ หาก ByteDance ซึ่งเป็นบริษัทแม่ไม่ขายการดำเนินงานของแอปในสหรัฐฯ ภายใน 270 วัน

ลอเรน อาร์มิสเตด รองผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ เทค เผยว่า การตัดสินใจของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่สั่งห้ามใช้ TikTok ทันทีจะล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่และอันตรายที่เกี่ยวข้องกับโมเดลธุรกิจที่เน้นการสอดแนมของบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ รวมถึง Meta และ Google การสั่งห้ามใช้ TikTok ยังเป็นการจำกัดสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกของผู้คนอย่างไม่ได้สัดส่วน ซึ่งรวมถึงเสรีภาพในการแสวงหา รับ และเผยแพร่ข้อมูล

“แม้จะสั่งห้ามใช้ TikTok แต่ของสภานิติบัญญัติของสหรัฐฯ กลับให้ตั๋วพิเศษกับ Meta และ Google โดยยอมให้เก็บเกี่ยวข้อมูลและละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของเราต่อไป แทนที่จะสั่งห้ามใช้ตามอำเภอใจ ทางการสหรัฐฯ ควรแก้ไขปัญหาเบื้องหลังของโมเดลธุรกิจที่เน้นการสอดแนมโดยกำหนดกฎระเบียบที่ควบคุมแพลตฟอร์มเทคโนโลยีทั้งหมดเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนของเราในยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง

“อันตรายของการรวบรวมข้อมูลจำนวนมากและอัลกอริทึมโซเชียลมีเดีย เช่น การขยายความเกลียดชังบนแพลตฟอร์ม Meta และความเสียหายจากเนื้อหาที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจิตของคนหนุ่มสาว ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว วิธีที่ดีที่สุดเพื่อประกันว่าแพลตฟอร์มเหล่านี้จะปลอดภัยคือรัฐต้องควบคุมภาคส่วนบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่อย่างจริงจัง จึงเป็นสาเหตุที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้สั่งห้ามใช้โฆษณาแบบกำหนดเป้าหมายและเรียกร้อง TikTok โดยเฉพาะให้หยุดใช้การสร้างประสบการณ์เฉพาะตัวขั้นสูงสำหรับหน้าฟีด 'For You' (สำหรับคุณ) เป็นค่าเริ่มต้น”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3y2UJS9