สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 15-21 เมษายน 2567

25 เมษายน 2567

Amnesty International Thailand

 

จอร์เจีย: ตำรวจต้องรับผิดชอบในการใช้กำลังเกินกว่าเหตุต่อผู้ชุมนุมประท้วง

17 เมษายน 2567

สืบเนื่องจากข่าวที่ตำรวจในจอร์เจียใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมโดยสงบในทบิลิซี ซึ่งผู้ชุมนุมรวมตัวกันต่อต้านร่างกฎหมาย "อิทธิพลต่างชาติ" ที่มีข้อโต้แย้ง

เดนิส คริโวชีฟ รองผู้อำนวยการภูมิภาคยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า สิ่งที่เราเห็นในทบิลิซีเมื่อวานนี้คือการตอบโต้อย่างโหดร้ายต่อผู้คนที่ใช้สิทธิในการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ทางการดำเนินการราวกับว่ามีอำนาจตัดสินว่าผู้คนจะสามารถชุมนุมประท้วงได้หรือไม่ และจัดกำลังตำรวจปราบจลาจลเพื่อใช้ความรุนแรงสลายและจับกุมผู้ชุมนุมประท้วงโดยพลการ มีหลายครั้งที่พบว่าตำรวจไล่ล่าและใช้กระบองทุบตีผู้ชุมนุมประท้วงที่หลบหนี และล้อมแล้วทุบตีอย่างไร้ความปราณีขณะพวกเขาอยู่บนพื้น

“แทนที่จะอำนวยความสะดวกให้กับการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ตำรวจกลับทำในสิ่งที่ดูเหมือนเป็นการลงโทษ เราขอเรียกร้องให้มีการสอบสวนอย่างรวดเร็ว เป็นกลาง และรอบด้านสำหรับการใช้กำลังในทุกกรณี และความรับผิดชอบสำหรับผู้ที่พบว่ามีส่วนรับผิดชอบในการใช้กำลังอย่างมิชอบด้วยกฎหมาย และเราขอย้ำเตือนทางการจอร์เจียว่าสิทธิในการชุมนุมประท้วงโดยสงบเป็นสิทธิพื้นฐาน และรัฐบาลจอร์เจียจะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของตน

“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังย้ำข้อเรียกร้องให้ยกเลิกร่างกฎหมาย “ว่าด้วยความโปร่งใสจากอิทธิพลต่างชาติ” ซึ่งพยายามจำกัดสิทธิในเสรีภาพการสมาคม และมีจุดมุ่งหมายอย่างชัดเจนที่จะใส่ร้ายและจำกัดองค์กรอิสระในภาคประชาสังคม และลดกิจกรรมของพวกเขา”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/4dg13pi

 

-----

 

 

ซีเรีย: การเสียชีวิตจำนวนมาก การทรมาน และการละเมิดอื่นๆ ต่อผู้ถูกควบคุมตัวภายหลังความพ่ายแพ้ของรัฐอิสลาม – รายงานฉบับใหม่

17 เมษายน  2567

ผู้ที่ถูกควบคุมตัวหลังจากการพ่ายแพ้ของกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) กำลังเผชิญกับการละเมิดอย่างเป็นระบบและเสียชีวิตเป็นจำนวนมากเนื่องจากสภาพที่ไร้มนุษยธรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรีย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวในรายงานฉบับใหม่

รายงานเรื่อง Aftermath: Injustice, Torture and Death in Detention in North-East Syria บันทึกข้อมูลว่ากลุ่มปกครองตนเองในภูมิภาคมีส่วนรับผิดชอบในการละเมิดสิทธิอย่างกว้างขวางต่อผู้ถูกควบคุมตัวมากกว่า 56,000 คน ซึ่งโดยประมาณเป็นผู้ชาย 11,500 คน ผู้หญิง 14,500 คน และเด็ก 30,000 คน ที่ถูกควบคุมตัวในสถานกักขังอย่างน้อย 27 แห่งและค่ายกักขัง 2 แห่ง ได้แก่ อัลฮอลและรอจ กลุ่มปกครองตนเองเป็นหุ้นส่วนสำคัญของรัฐบาลสหรัฐฯ และสมาชิกพันธมิตรอื่นๆ ที่เอาชนะกลุ่มไอเอสในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรีย โดยสหรัฐอเมริกามีส่วนเกี่ยวข้องในระบบการควบคุมตัวเกือบทุกด้าน

กว่า 5 ปีหลังจากการพ่ายแพ้ของกลุ่มไอเอส ผู้คนนับหมื่นยังคงถูกควบคุมตัวโดยพลการและไม่มีกำหนด หลายคนถูกควบคุมตัวในสภาพที่ไร้มนุษยธรรมและถูกทรมาน รวมถึงการทุบตีอย่างรุนแรง ให้อยู่ในท่วงท่าที่ปวดเมื่อย การช็อตด้วยไฟฟ้า และความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ อีกหลายพันคนถูกบังคับให้สูญหาย ผู้หญิงถูกแยกออกจากลูกอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ในบรรดาผู้ที่ถูกควบคุมตัวในระบบการควบคุมตัวนั้นเป็นเหยื่อของไอเอส เหยื่อชาวยาซิดีหลายสิบหรืออาจจะหลายร้อยคนอยู่ในหมู่ผู้ที่ถูกควบคุมตัว ผู้หญิงและเด็กหญิงที่ถูกควบคุมตัวจำนวนมากเป็นเหยื่อของการบังคับแต่งงานกับสมาชิกไอเอส และเด็กชายและชายหนุ่มจำนวนมากที่ถูกควบคุมตัวก็เป็นเหยื่อของการคัดเลือกเด็กโดยกลุ่มไอเอส

แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า กลุ่มปกครองตนเองได้ก่ออาชญากรรมสงครามด้วยการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย และมีแนวโน้มว่าจะก่ออาชญากรรมสงครามด้วยการฆาตกรรม

“เด็ก ผู้หญิง และผู้ชายที่ถูกควบคุมตัวในค่ายและสถานกักขังเหล่านี้ต้องเผชิญกับความโหดร้ายและความรุนแรงที่น่าตกใจ รัฐบาลสหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญในการสร้างและดูแลระบบนี้ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุที่ป้องกันได้หลายร้อยคน และต้องมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงระบบนี้

“ระบบการควบคุมตัวนี้ละเมิดสิทธิของผู้ที่ถูกมองว่ามีความเกี่ยวข้องกับไอเอส และยังล้มเหลวในการมอบความยุติธรรมและความรับผิดชอบให้กับเหยื่อและผู้รอดชีวิตจากอาชญากรรมของกลุ่มไอเอส

“ในขณะที่ภัยคุกคามจากกลุ่มไอเอสยังคงมีอยู่จริงทั่วโลก การละเมิดที่กำลังดำเนินอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรียมีแต่ตอกย้ำความทุกข์เพิ่มเติม และหมายความว่าเด็กรุ่นหนึ่งจะพบแต่ความอยุติธรรมอย่างเป็นระบบเท่านั้น กลุ่มปกครองตนเอง สมาชิกของกลุ่มพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐฯ และสหประชาชาติจะต้องดำเนินการเพื่อเยียวยาการละเมิดเหล่านี้และยุติวงจรของการละเมิดและความรุนแรง”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/4aGdtVT

 

-----

 

 

เวเนซุเอลา: การประหัตประหารภาคประชาสังคมและผู้เห็นต่างเกิดขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง

16 เมษายน 2567

“ในเวเนซุเอลา รัฐบาลของมาดูโรเริ่มต้นปีด้วยนโยบายปราบปรามที่เข้มงวดขึ้นอย่างน่าตกใจ ซึ่งใช้เพื่อพยายามจำกัดพื้นที่ภาคประชาสังคม เสียงวิพากษ์วิจารณ์ และฝ่ายค้าน” อานา ปิคเก้ ผู้อำนวยการภูมิภาคอเมริกา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวเพื่อตอบสนองต่อจำนวนการจับกุมนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมฝ่ายค้านโดยพลการที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการเสนอกฎหมายที่จะละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน

“ทางการของเวเนซุเอลาในฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการมุ่งเป้าไปที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน เช่น โรซิโอ ซาน มิเกล องค์กรภาคประชาสังคม เช่น เอ็นจีโอและผู้ทำงานด้านมนุษยธรรม และนักกิจกรรมพรรคฝ่ายค้าน ประชาคมระหว่างประเทศจำเป็นต้องทราบว่าเหล่านี้ไม่ใช่เหตุการณ์ใหม่หรือเกิดขึ้นอย่างโดดเดี่ยว แต่เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายของรัฐต่อใครก็ตามที่ถูกพิจารณาว่าเป็นภัยคุกคามต่อการกุมอำนาจอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลปัจจุบัน เหตุการณ์เหล่านี้อาจรวมอยู่ในการสอบสวนอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่ดำเนินการโดยสำนักงานอัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศ"

ในแถลงการณ์ต่อสาธารณะฉบับใหม่ที่ออกเมื่อวันที่ 16 เมษายน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลประณามการเพิ่มสูงขึ้นของการควบคุมตัวโดยพลการ การบังคับบุคคลให้สูญหาย การใช้กฎหมายอาญาอย่างมิชอบ การละเมิดกระบวนการอันควรตามกฎหมายและหลักประกันการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม การตีตราการรณรงค์ และการกระทำที่อาจเป็นการทรมานต่อบุคคลที่ถูกมองว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของนิโคลัส มาดูโร ซึ่งในกรณีนี้ส่วนใหญ่เชื่อมโยงกับพรรคฝ่ายค้าน Vente Venezuela ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังได้ผลักดันร่างกฎหมายที่กดขี่เพื่อประหัตประหารองค์กรภาคประชาสังคมและผู้เห็นต่างทางการเมืองด้วยการลงโทษที่รุนแรง เช่น โทษจำคุก

“ประชาคมโลกควรให้ความสนใจอย่างใกล้ชิดกับสถานการณ์ในเวเนซุเอลา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการเลือกตั้งนี้ เพื่อไม่ให้กลไกการปราบปรามของรัฐบาลของนิโคลัส มาดูโร จำกัดสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ ประชาคมโลกต้องสนับสนุนผู้ที่ประณามการละเมิดและยืนหยัดเพื่อสิทธิของตนในเวเนซุเอลา เราขอเรียกร้องให้ทางการเวเนซุเอลายุตินโยบายการปราบปรามทันทีและตลอดไป และให้ปล่อยตัวจาเวียร์ ทาราโซนา โรซิโอ ซานมิเกล และคนอื่นๆ ที่ถูกควบคุมตัวด้วยเหตุผลทางการเมืองในทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข ยกเลิกร่างกฎหมายที่โจมตีพื้นที่ภาคประชาสังคม และร่วมมือกับกลไกการตรวจสอบและความรับผิดชอบระหว่างประเทศ”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/4dbfhrE

 

-----

 

จอร์เจีย: หยุดร่างกฎหมาย “ว่าด้วยความโปร่งใสจากอิทธิพลต่างชาติ” ที่คุกคามภาคประชาสังคม

16 เมษายน 2567

สืบเนื่องจากข่าวที่รัฐสภาจอร์เจียได้ดำเนินการขั้นแรกในการอนุมัติร่างกฎหมาย “ความโปร่งใสของอิทธิพลจากต่างประเทศ” ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกัน โดยคล้ายกับร่างกฎหมาย “ตัวแทนต่างชาติ” ในปีที่แล้วที่มีการโต้แย้งกันอย่างกว้างขวางและท้ายที่สุดก็ถูกยกเลิกไป

เดนิส คริโวชีฟ รองผู้อำนวยการภูมิภาคยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า เราขอเรียกร้องอย่างเร่งด่วนให้ทางการจอร์เจียหยุดความพยายามอย่างต่อเนื่องในการบังคับใช้กฎหมายที่กดขี่ภาคประชาสังคมที่มีชีวิตชีวาของประเทศในทันที กฎหมายที่เสนอนี้เป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อสิทธิในเสรีภาพในการสมาคมและการแสดงออก และด้วยเหตุนี้ จะต้องไม่นำมาใช้

กฎหมายที่คล้ายกันซึ่งทั้งหมดจำลองมาจากกฎหมาย "ตัวแทนต่างชาติ" ที่อื้อฉาว กดขี่และตีตราของรัสเซีย ได้รับการพิจารณาโดยประเทศต่างๆ ทั่วภูมิภาคหลังสหภาพโซเวียต ทางการโดยพฤตินัยในภูมิภาคอับคาเซียที่แยกตัวออกจากจอร์เจียได้ประกาศแผนการลงมติกฎหมาย "ตัวแทนต่างชาติ" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามด้านกฎหมาย

“ความพยายามครั้งล่าสุดของรัฐบาลจอร์เจียในการผลักดันกฎหมายที่กดขี่ ขณะเดียวกันก็ปราบปรามการชุมชุมโดยสงบต่อต้านกฎหมายนี้ จะต้องยุติในตอนนี้ พันธมิตรระหว่างประเทศของจอร์เจียต้องไม่ละสายตาจากความพยายามอันโจ่งแจ้งในการควบคุมสิทธิมนุษยชนในประเทศ และความพยายามแอบแฝงในการออกกฎหมายที่เข้มงวดมากเกินไป ซึ่งจะขัดขวางความสามารถของประชาชนในการปกป้องสิทธิมนุษยชน”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3UyIDsL

 

-----

 

ทวีปอเมริกา: รัฐต้องมุ่งมั่นในการยุติความรุนแรงต่อนักปกป้องสิ่งแวดล้อม

15 เมษายน 2567

ไม่กี่วันก่อนที่จะเริ่มการประชุมครั้งที่สามของที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงระดับภูมิภาคว่าด้วยการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การมีส่วนร่วมของประชาชน และการเข้าถึงความยุติธรรมในเรื่องสิ่งแวดล้อมในลาตินอเมริกาและแคริบเบียน (COP3) หรือที่เรียกว่าความตกลงเอสคาซู ที่จะจัดขึ้นที่ซันติอาโก ชิลี ระหว่างวันที่ 22 ถึง 24 เมษายน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลตั้งข้อสังเกตถึงความกังวลถึงการขาดการคุ้มครองกลุ่มสิทธิมนุษยชน องค์กร และนักปกป้องสิ่งแวดล้อม ยังคงเผชิญอยู่ในภูมิภาคนี้ ดังนั้น องค์กรจึงเรียกร้องประเทศในลาตินอเมริกาและแคริบเบียนทั้งหมดที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันสนธิสัญญาให้ดำเนินการโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ ยังเรียกร้องประเทศต่างๆ ที่เป็นภาคีในสนธิสัญญาให้ใช้การประชุมที่กำลังจะมีขึ้นนี้เพื่อยืนยันความมุ่งมั่นของตนในการจัดการกับสถานการณ์ร้ายแรงที่กลุ่มคนเหล่านี้ต้องเผชิญ

อานา ปิคเก้ ผู้อำนวยการภูมิภาคอเมริกา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า การโจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อมในทวีปอเมริกาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมักเป็นอันตรายถึงชีวิต ความจริงที่ว่าประเทศที่อันตรายที่สุดสำหรับนักปกป้องสิ่งแวดล้อมบางประเทศยังไม่ได้เป็นภาคีในความตกลงเอสคาซูถือเป็นหลักฐานว่ารัฐบาลของประเทศนั้นไม่เต็มใจที่จะจัดการกับภัยคุกคามเหล่านี้ ประเทศต่างๆ ในลาตินอเมริกาและแคริบเบียนต้องมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนสนธิสัญญาระดับภูมิภาคนี้อย่างเร่งด่วน

“แผนปฏิบัติการอาจเป็นก้าวสำคัญในการจัดการกับความเสี่ยงที่กลุ่ม องค์กร และนักปกป้องสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคต้องเผชิญ มีความจำเป็นที่ประเทศภาคีและคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจลาตินอเมริกาและแคริบเบียนจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อลดความเสี่ยงร้ายแรงที่พวกเขาเผชิญ ซึ่งรวมถึงการให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อลักษณะร่วมกันของงาน และตระหนักว่าการคุ้มครองจำเป็นต้องจัดการทั้งมิติส่วนรวมและส่วนบุคคล มิติที่คาบเกี่ยวอื่นๆ ทั้งหมด เช่น เพศหรือชาติพันธุ์ ตลอดจนสาเหตุเบื้องหลังของความรุนแรงที่พวกเขาเผชิญ รวมถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ จะต้องถูกนำมาพิจารณาด้วย อย่างสุดท้าย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการเพื่อขจัดการลอยนวลพ้นผิดที่แพร่กระจาย ซึ่งเป็นลักษณะที่สอดคล้องกับการโจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/44muaU4