Media Awards 2024 ตากใบ, ชายชุดดำ, บุ้ง เนติพร, อานนท์ นำภา เมื่อเสรีภาพสื่อถูกท้าทาย แต่เสียงสิทธิมนุษยชนยังคงดังอยู่

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568 ในงาน Media Awards 2024 เป็นเหมือน แสงเทียนของคนทำงานสื่อ ที่ยังเชื่อในพลังของการบอกเล่าเรื่องราว งานนี้จัดขึ้นโดย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เพื่อยกย่องสื่อมวลชนที่ยังทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชน โดยเฉพาะผู้คนที่เสียงของพวกเขาถูกทำให้เงียบหายไป ไม่ว่าด้วยความรุนแรง การข่มขู่ หรือโครงสร้างอำนาจที่ทำให้พวกเขาไม่มีที่ยืน

ในยุคที่ Engagement และตัวเลขยอดเข้าถึง กลายเป็นสิ่งชี้เป็นชี้ตายของสื่อ และการไล่ล่ายอดคลิกอาจสำคัญกว่าการค้นหาความจริง สารคดีเชิงข่าวและข่าวสืบสวนสอบสวนกลับยิ่งถูกลดทอความสำคัญลง แต่รางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน 2567 (Media Awards 2024) ยังคงเป็นหลักฐานว่ายังมีนักข่าวที่เลือกจะเล่าเรื่องที่ควรถูกเล่า แม้จะไม่ใช่เรื่องที่คนอยากฟังเท่าไหร่นัก

‘ตากใบ – ชายชุดดำ – บุ้ง เนติพร’  ความยุติธรรมที่มีวันหมดอายุ?

– 20 ปีผ่านไป คดีตากใบจบลงเพราะหมดอายุความ

– 15 ปีผ่านไป คดีชายชุดดำถูกศาลยกฟ้อง

– 1 ปีผ่านไป บุ้ง เนติพรจากไป โดยไม่มีคำตอบว่าเธอจากไปเพราะอะไร

สามเรื่องราว สามชีวิต สามชะตากรรม ที่อาจดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกัน แต่ทั้งหมดนี้มีจุดร่วมเดียวกันคือ ความเงียบ… ความเงียบจากรัฐ ความเงียบจากกระบวนการยุติธรรม และความเงียบจากสังคมที่อาจลืมไปแล้วว่าเคยเกิดขึ้น

20 ปี ‘ตากใบ’ เมื่อความยุติธรรมมีวันหมดอายุ

“20 ปีผ่านไป คนรุ่นใหม่ที่เกิดไม่ทันเหตุการณ์ตากใบ กลับต้องเห็นมันเกิดขึ้นซ้ำสองในใจตัวเอง”

โศกนาฏกรรมตากใบในปี 2547 ถูกหยิบยกมาถ่ายทอดผ่านหลายผลงานข่าว เช่น “คดีตากใบสู่ประวัติศาสตร์ที่ไม่ขาดอายุความ” จาก Nation TV และ “รอมฎอนที่ 20 ของคดีตากใบ” จาก Decode ซึ่งได้รับรางวัลชมเชยในหมวดข่าวและสารคดีเชิงข่าว ทั้งสองเรื่องสะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการยุติธรรมที่ปล่อยให้คดีหมดอายุความ จนเปรียบเปรยได้ว่าเป็นกระบวนการยุติธรรมที่มีแต่ตัวอักษรในตำรา แต่ไม่มีความหมายในชีวิตจริง แต่ถึงแม้ตามหลักกฎหมาย คดีจะหมดอายุความไปแล้ว แต่ในใจของผู้สูญเสีย ความเจ็บปวดไม่มีวันหมดอายุ

หนึ่งในประเด็นที่ได้รับความสนใจจากผู้ที่ส่งผลงานเข้าประกวด คือ เหตุการณ์ 20 ปี คดีตากใบ โศกนาฏกรรมแห่งการสูญเสียที่จบลงเพราะคดีหมดอายุความ กระบวนการยุติธรรมที่ถูกกังขา คือสิ่งที่หลายผลงานพยายามสะท้อนให้เห็นถึงความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นจากผู้มีอำนาจ การละเมิดสิทธิมนุษยชน และความเห็นต่างในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 

“เหตุการณ์ตากใบทำให้เห็นถึงความล้มเหลว เหลวแหลก ของทุกวงการในบ้านเรา และที่แย่ที่สุดคือเรื่องของคดีความ วันนี้เขาไม่ต้องก่อเหตุตากใบรอบสอง แต่ตากใบถูกจุดในใจของคนรุ่นใหม่ที่เกิดไม่ทันเหตุการณ์ตากใบ กลายเป็นคนต้องเจอเหตุการณ์ตากใบสองครั้งในประวัติศาสตร์ 20 ปี”

ประโยคนี้เป็นความเห็นของ หนึ่งในผู้ผลิตสารคดีเชิงข่าว “คดีตากใบสู่ประวัติศาสตร์ที่ไม่ขาดอายุความ และ ตากใบภาค 2 จุดไฟในใจคน?” สถานีโทรทัศน์ Nation TV ที่กล่าวในตอนหนึ่งหลังรับมอบรางวัลชมเชยประเภทข่าวหรือสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อโทรทัศน์  เช่นเดียวกับสำนักข่าวออนไลน์ Decode ผู้ผลิตผลงาน เรื่อง “รอมฎอนที่ 20 ของคดีตากใบ” ที่ได้รับรางวัลชมเชยข่าวหรือสารคดีเชิงข่าวที่นำเสนอในรูปแบบคลิปวิดีโอที่เปิดใจว่า ทีมงานอยากใช้โอากาสนี้เพื่อย้ำเตือนว่าคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงรอคอยความยุติธรรมอยู่ แม้ในทางกระบวนการยุติธรรมจะหมดเวลาลงแล้วตามกฎหมายก็ตาม พร้อมย้ำเตือนว่า “การเรียกร้องความยุติธรรม ไม่ควรมีวันหมดอายุ”

‘ชายชุดดำ’ วาทกรรมที่ขังคนเป็นสิบปี

“พวกเขาต้องเป็น ‘ชายชุดดำ’ ให้รัฐไทยอีกนานแค่ไหน?” สารคดีจากประชาไท และ “Who’s the Black Shirt?” จาก The 101.world คือสองชิ้นงานที่บอกเล่าเรื่องราวของ อ้วน กิตติศักดิ์ สุ่มศรี ชายผู้ถูกกล่าวหาในคดีชายชุดดำ ที่ต้องติดคุก 8 ปี 2 เดือน โดยไม่มีโอกาสได้รับการประกันตัว

“2553 ผ่านมา 15 ปี ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนไหนที่ถูกลงโทษจากการใช้วาทกรรมชายชุดดำ นำไปสู่การจับกุมแพะรับบาป”

“ลูกของผมต้องไปโรงเรียนโดยแบกชื่อพ่อว่าเป็น ‘มือสังหาร’ แต่เมื่อผมเป็นอิสระ ไม่มีสื่อไหนบอกว่าผม ‘บริสุทธิ์’”

ไม่เพียงแค่เหตุการณ์ตากใบ คดีชายชุดดำ ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ปี 2553 ยังเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่กระบวนการยุติธรรมถูกตั้งคำถาม และมีผู้หยิบประเด็นนี้ส่งผลงานเข้ามาร่วมประกวดหลายชิ้น เนื่องจากในช่วงปี 2567 ที่ผ่านมา ศาลอาญาฯ ได้ยกฟ้องคดีชายชุดดำ เพื่อสะท้อนว่าหลังรัฐประหาร รัฐใช้วาทกรรมก่อการร้ายเพื่อจับกุมผู้บริสุทธิ์ ผ่านคำว่า “ชายชุดดำ” 

 “ปัญหาของกระบวนการยุติธรรมในแบบทหาร ที่ถูกนำมาใช้ในช่วงหลังรัฐประหาร และกระบวนการยุติธรรมนี้เอง ก็ไม่เคยช่วยให้ใครได้รับความยุติธรรม” 

เป็นหนึ่งในคำกล่าวบนเวทีจากตัวแทนสำนักข่าวประชาไท ผู้ผลิตผลงาน “พวกเขาต้องเป็น ‘ชายชุดดำ’ ให้รัฐไทยอีกนานแค่ไหน?” ในตอนหนึ่งระหว่างขึ้นรับมอบรางวัลชมเชยข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อสิ่งพิมพ์และออนไลน์ ไม่ต่างจากเจ้าของผลงาน “Who’s the Black Shirt?” The 101.world ที่ได้รับรางวัลชมเชยข่าวหรือสารคดีเชิงข่าว ที่นำเสนอในรูปแบบคลิปวิดีโอออนไลน์ ที่ย้ำให้เห็นว่าอิสรภาพของผู้บริสุทธิ์ที่ถูกพรากไปกว่า 8 ปีพร้อมกับตราบาปติดตัวว่า “เป็นมือสังหาร” แต่เมื่อความจริงปรากฏ กลับไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐหรือใครต้องมารับผิดชอบต่อความผิดพลาดนั้น ที่ทำให้ชีวิตคนๆ หนึ่งไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

“คุณอ้วนติดคุกนาน 8 ปี 2 เดือน จนพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองได้ มีคนอีกมากมายที่ถูกการเมืองอำนาจนิยมลากไปให้เจอกับความเลวร้าย โดยใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือเหตุการณ์ปี 2553 จนถึงปีนี้ผ่านมา 15 ปี ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนไหนเลยที่โดนลงโทษจากการใช้วาทกรรมจากคำว่าชายชุดดำจนทำให้ชีวิตคนๆ หนึ่งต้องมีตราบาป” 

ขณะที่ อ้วน กิตติศักดิ์ หนึ่งในคนธรรมดาที่ตกเป็นจำเลยในคดีชายชุดดำ กลายเป็นคนที่ต้องทนทุกข์ทรมานจาการคุมขังในสถานะ “แพะรับบาป” จากการใช้วาทกรรมที่ตีตรวนชีวิตผ่านคำว่า “ชายชุดดำ” เขาพูดบนเวทีด้วยน้ำเสียงสั่นเครือระหว่างเป็นตัวแทนแอมเนสตี้ ประเทศไทย ในการมอบรางวัลให้กับ The 101.world ว่า เพราะคำว่าชายชุดดำทำให้เขาต้องติดคุกมา 8 ปีกว่า สิ่งนี้เหมือนเป็นชนักติดหลังมาถึงทุกวันนี้สำหรับเขา ในตอนนั้นแม้จะมีหลักทรัพย์หรือไม่มีหลักทรัพย์ การถูกกล่าวหาว่าเป็นชายชุดดำก็ทำให้เขาไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว ชีวิตต้องเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ทุกนาทีตอนนั้นมีแต่คำว่าสูญเสีย สูญเสียพ่อแม่ สูญเสียครอบครัว สูญเสียการทำมาหากินให้ลูก สูญเสียโอกาสทุกอย่างไป

“ครอบครัว พ่อแม่ ต้องโดนประณาม ลูกไปโรงเรียนก็โดนว่าพ่อขี้คุก พ่อเป็นคนทำแบบนั้นแบบนี้ หลังจาก 8 ปี  1 เดือน 27 วัน ผมก็ได้ออกมาเป็นอิสระแล้ว พยายามสะท้อนข้อเท็จจริงให้สื่อเพราะตอนถูกกล่าวหาว่าเป็นชายชุดดำ หลายๆ อย่างที่ตีแผ่ออกไปหน้าหนึ่ง ทำให้ครอบครัวผมเสียหายหมดเลย พอผมจบคดีมากลับไม่มีการนำเสนอว่าผมเป็นคนที่บริสุทธิ์”

ความพยายามที่ต้องการกลั้นน้ำตาและเสียงสะอื้นที่เล็ดลอดออกมา จากความทุกข์ตรมหลังถูกกล่าวหาว่าเป็นชายชุดดำ ทำให้อ้วน กิตติศักดิ์ ใช้เวลาพูดไม่นาน แต่ในทุกคำพูดของเขาล้วนอัดแน่นไปด้วยความหมายและเต็มไปด้วยความรู้สึกที่ยากจะอธิบาย หากไม่ได้เผชิญชะตากรรมหรือถูกกระทำด้วยตัวเอง

บุ้ง เนติพร อีก 10 ปี เราจะพูดถึงเธออย่างไร?

ประชาไทได้รับรางวัลชมเชยจากการนำเสนอเรื่องราวของ บุ้ง เนติพร นักเคลื่อนไหวที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมือง และจากไปอย่างมีข้อกังขา

“ถ้าตากใบมีคำว่า ‘โจรใต้’ และชายชุดดำมีคำว่า ‘ก่อการร้าย’ ผมคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับบุ้งก็คือวาทกรรมแบบเดียวกัน”

“อีก 10 หรือ 20 ปีข้างหน้า เราจะมองบุ้ง เนติพร อย่างไร?”

กรณีของ บุ้ง เนติพร นักเคลื่อนไหวที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมือง แม้เธอจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่ข้อกังขาในกระบวนการยุติธรรมยังคงอยู่ รวมถึงสาเหตุของการเสียชีวิตที่ยังไร้คำตอบ สำนักข่าวประชาไทที่นำเสนอเรื่องนี้และได้รับรางวัลชมเชยข่าวหรือสารคดีเชิงข่าวรูปแบบคลิปวิดีโอออนไลน์ สะท้อนว่าผู้มีอำนาจมักใช้วาทกรรมเพื่อสร้างแพะรับบาปให้กับผู้เห็นต่างในหลายคดีที่ผ่านมา และอาจต้องใช้เวลาอีก 10-20 ปี กว่าที่เรื่องของบุ้ง เนติพร เสน่ห์สังคม นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย จะถูกพูดถึงในมุมที่แตกต่างออกไปอีกครั้ง

“ผมกำลังจะบอกว่า ช่วงที่เกิดเหตุการณ์ตากใบขึ้น สังคมเต็มไปด้วยวาทกรรมโจรใต้ แม้แต่กรณีชายชุดดำ หรือคนเสื้อแดง ณ เวลาที่เกิดเรื่องขึ้น สังคมเต็มไปด้วยคำว่าผู้ก่อการร้าย ผมคิดว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับบุ้งตอนนี้มันไม่ได้ต่างกันขนาดนั้น ผมเชื่อว่าอีก 10 ปี หรือ 20 ปี เราจะกลับมา Discover หรือพูดถึงเรื่องบุ้งกันใหม่ แล้วเรื่องจะไม่เป็นแบบที่เราเห็นในกระแสสังคมตอนนี้”

ทั้ง 3 คดีนี้ แม้จะเป็นเหตุการณ์ที่แตกต่างกัน แต่มีจุดร่วมเดียวกัน คือการถูกกดทับโดยผู้มีอำนาจรัฐ ที่สะท้อนว่าสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกทางการเมืองอย่างสันติ ที่ควรเป็นสิทธิพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย กำลังถูกจำกัดมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีคนที่เห็นต่างจากผู้มีอำนาจในรัฐ

“We Need to Talk About อานนท์”  เสียงที่ต้องไม่เงียบ

อีกประเด็นเป็นเรื่องของ ทนายอานนท์ นำภา นักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่เลือกใช้การพูดและการแสดงออกอย่างสันติในการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่วันนี้เขาถูกจองจำโดยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว ไทยรัฐพลัสได้รับรางวัลดีเด่นในหมวดข่าวสารคดีเชิงข่าวจากผลงาน “We Need to Talk About อานนท์”

“ผมหวังว่าทนายอานนท์จะได้รับความยุติธรรม เพราะการแสดงออกอย่างสันติไม่ควรเป็นเหตุให้ใครต้องถูกจำคุก”

คดีของ ทนายอานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเป็นอีกตัวอย่างที่ชัดเจน แม้เขาจะแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างทางการเมืองด้วยวิธีที่สันติผ่านการใช้กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์และคำพูดที่ประชาชนคนหนึ่งในประเทศสามารถใช้สิทธิเสรีภาพส่งเสียงออกมาได้ แต่ดูเหมือนไม่ง่ายนักในการออกมาแสดงความคิดเห็นกับเรื่องต่างๆ ในสังคม ปัจจุบันเขากลับถูกจองจำโดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัว

“ผมหวังว่าทนายอานนท์จะได้รับความยุติธรรม โดยส่วนตัวคิดว่าไม่ควรมีใครที่ทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างสันติ แล้วถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ เพราะมันคือสิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเรา” เสียงจากหนึ่งในผู้ผลิตผลงานเรื่องนี้

ขณะที่ ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวย้ำว่า แอมเนสตี้พยายามรณรงค์ว่า ไม่ควรมีใครถูกจำคุกเพียงเพราะการแสดงออกหรือใช้สิทธิของตัวเอง พร้อมเชิญชวนทุกคนเขียนโปสการ์ดและให้กำลังใจนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและผู้คนที่ถูกละเมิดสิทธิ ปีนี้ทนายอานนท์ เป็นเคสประเทศไทยในแคมเปญระดับโลก Write for Right 2024 หรือ เขียน เปลี่ยน โลก โดยแคมเปญนี้ได้เชิญชวนให้ทุกคนมาร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงไปกับคนทั่วโลก เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนของผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิผ่านการใช้ตัวอักษร เขียนจดหมายลงในโปสการ์ดถึงทนายอานนท์ มีจุดประสงค์เพื่อยืนหยัดเคียงข้างนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้ถูกละเมิดสิทธิ และครอบครัวของพวกเขา

ปิยนุช ย้ำว่าเรื่องที่สำคัญที่สุดที่สะท้อนผ่านกรณีของทนายอานนท์ คือการที่ใครหลายคนก็ตาม มีโอกาสตกอยู่ในชะตากรรมแบบเดียวกันกับเขา หลายคนอาจต้องลี้ภัย หลายคนอาจเสี่ยงโดนจับกุมคุมขังจากการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นและผ่านไปเรื่อยๆ อยู่ทุกวันในสังคมไทยและทั่วโลก ขณะที่สังคมอาจหลงลืมความสำคัญของคำว่าสิทธิมนุษยชน เพราะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวทั้งที่ในความเป็นจริงใกล้ตัวเรากว่าที่คิด ในช่วงสุดท้ายเธอกล่าวขอบคุณที่ยังมีสื่อมวลชนพูดถึงเรื่องของทนายอานนท์ นำพา อยู่ในกระแสข่าวทุกวันนี้ที่แข่งขันกันที่ Rating และยอดคนเข้าชม ที่เธอย้ำเช่นนี้เพราะมองว่า “พวกเราอาจจะเป็นอานนท์ นำพา เข้าสักวันหนึ่งเหมือนกัน”

เสียงของสื่อ เสียงของผู้คน เสียงที่ต้องไม่เงียบ ปิยนุช ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย พูดทิ้งท้ายว่า “การพูดถึงคนที่ถูกทำให้เงียบ คือการทำให้พวกเขายังมีตัวตนในสังคม” เธอเชิญชวนให้ทุกคนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ Write for Rights 2024 ผ่านการเขียนจดหมายและโปสการ์ดให้กำลังใจทนายอานนท์ และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ตามสโลแกน พลังจากปลายปากกา คนธรรมดาเปลี่ยนโลก และนอกจากทนายอานนท์ ทุกคนสามารถมารู้จักกับ 4 เคสรณรงค์หลักของประเทศไทย และผู้ถูกละเมิดสิทธิคนอื่นๆ ในแคมเปญ Write for Rights 2024 พร้อมลงชื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้พวกเขา ยืนหยัดเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ที่ https://buff.ly/4b6hVOL

Media Awards 2024 เมื่อเสรีภาพสื่อคือมากกว่าตัวเลข Engagement และสิทธิมนุษยชนคือเรื่องของทุกคน

ในยุคที่สื่อจำนวนมากต้องแข่งขันกันเพื่อยอดไลก์ แชร์ และตัวเลขการเข้าถึง (Engagement) ที่ถูกควบคุมโดยอัลกอริธึม ยังมีนักข่าวจำนวนไม่น้อยที่เลือกทำข่าวที่อาจไม่เป็นไวรัล แต่มีคุณค่าต่อสังคม Media Awards 2024 คือหลักฐานสำคัญว่ายังมีผู้คนในวงการสื่อที่ เชื่อมั่นในพลังของข้อมูลข่าวสาร เชื่อว่าหน้าที่ของสื่อคือ การตั้งคำถาม เชื่อว่าหน้าที่ของสื่อคือ การส่งเสียงแทนผู้ที่ไม่มีสิทธิส่งเสียง เพื่อผู้คนที่ถูกกดทับ เพื่อผู้คนที่ถูกทำให้เงียบ เพื่อสิทธิของทุกคน ที่ไม่ควรถูกลดทอนให้กลายเป็นเพียงตัวเลขบนหน้าจอ

เพราะไม่ว่าสังคมจะเปลี่ยนไปอย่างไร ไม่ว่า Engagement จะกลายเป็นตัวแปรสำคัญของวงการสื่อมากแค่ไหน สิทธิมนุษยชนก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องถูกพูดถึงเสมอ รางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน (Media Awards 2024) คือพื้นที่ของสื่อที่ยังเชื่อมั่นในคุณค่าของเสรีภาพ ท่ามกลางแรงกดดันและข้อจำกัดที่ถาโถมเข้ามา

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ขอขอบคุณและยกย่องนักข่าวทุกคนที่เลือกจะ เล่าเรื่องของผู้คน แม้รู้ว่ามันอาจไม่สร้าง Engagement สูงสุด เพราะท้ายที่สุด ไม่ว่ากระแสของสังคมจะเปลี่ยนไปอย่างไร ความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนจะยังต้องการเสียงของสื่อในการส่งต่อความจริง

“การส่งเสียงเพื่อสิทธิของผู้คน ไม่ควรถูกลดทอนให้กลายเป็นแค่ตัวเลข”

ดูผลงานที่ได้รับรางวัลทั้งหมดที่ ลิงค์

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแอมเนสตี้
บริจาคสนับสนุนแอมเนสตี้