นับเป็นเวลากว่า 8 ทศวรรษมาแล้ว ที่ประเด็นความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ปรากฏอยู่ในความรับรู้ของคนทั่วโลก เริ่มตั้งแต่ความพยายามของชาวยิวในการยึดครองดินแดนปาเลสไตน์ ภายใต้การชักนำของประเทศเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษ ต่อเนื่องด้วยการตั้งรัฐอิสราเอลขึ้นเมื่อปี 1948 หรือที่ชาวปาเลสไตน์เรียกว่าวันนักบา ซึ่งหมายถึงวันหายนะ จากการที่ชาวปาเลสไตน์ราว 7 – 8 แสนคน ต้องพลัดถิ่นอย่างถาวร ปัญหาในการแบ่งสรรปันส่วนดินแดนปาเลสไตน์ให้กับชนชาติต่างๆ ทั้งอาหรับและยิว ที่ไม่ลงตัว นำไปสู่การสู้รบเพื่อแย่งชิงผลประโยชน์เหนือดินแดนแห่งนี้
สงครามหลายต่อหลายครั้งเกิดขึ้นและยืดเยื้อบนผืนแผ่นดินปาเลสไตน์ ที่ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนภายใต้การยึดครองของอิสราเอล จนกระทั่งในเช้าวันที่ 7 ตุลาคม 2566 กลุ่มติดอาวุธชาวปาเลสไตน์ที่นำโดยกลุ่มฮามาสได้ก่อเหตุโจมตีในพื้นที่ทางตอนใต้ของอิสราเอลที่ติดกับฉนวนกาซา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตตามรายงานของสำนักข่าว AFP ถึง 1,195 คน โดยในจำนวนนี้เป็นพลเรือน 815 คน นอกจากนี้ กลุ่มติดอาวุธยังจับพลเรือน 251 คน เป็นตัวประกัน ซึ่งในจำนวนนี้มีแรงงานชาวไทยรวมอยู่ด้วย และนำตัวไปยังกาซา
4 ชนวนเหตุสำคัญที่นำไปสู่เหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2566

ในเวทีเสวนา หัวข้อ “สิทธิมนุษยชนในกาซา เมื่อเสียงของผู้สูญเสียต้องถูกได้ยิน” ในงาน “Light up Night จุดแสงให้กาซา ส่งเสียงเพื่อผู้สูญเสีย” ซึ่งจัดโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2568 ณ สวนครูองุ่น กรุงเทพ ผศ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์ – อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้กล่าวถึงปัญหาสำคัญ 4 ประการ ที่นำไปสู่เหตุโจมตีเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 ซึ่งประกอบด้วย
(1) ปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อชาวปาเลสไตน์ 48 (Palestinian 48) ซึ่งเป็นชาวอาหรับปาเลสไตน์ ที่อาศัยอยู่ในดินแดนอิสราเอล ทว่าถูกปฏิบัติเป็นพลเมืองชั้นสอง และได้รับสิทธิต่างๆ ที่ไม่เท่าเทียมกับชาวยิว
(2) ปัญหาในเขตเวสต์แบงค์ ไม่ว่าจะเป็น การสร้างนิคมชาวยิวที่ผิดกฎหมาย ขยายไปเรื่อยๆ ปัญหาสิทธิมนุษยชน การจำกัดสิทธิในการเดินทางหรือการใช้ถนน ไม่ให้ชาวปาเลสไตน์ใช้
(3) ปัญหาการจับกุมตัวชาวปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงค์โดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม เด็กและเยาวชนถูกคุมขังนานนับสิบปี รวมทั้งการซ้อม การทรมาน และการล่วงละเมิดทางเพศ สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดกลุ่มฮามาส ซึ่งจับตัวประกันไปเพื่อต่อรองแลกเปลี่ยนให้ปล่อยนักโทษในเรือนจำของอิสราเอล
(4) การปิดล้อมกาซาโดยอิสราเอลเป็นเวลายาวนานตั้งแต่ปี 2550 ทั้งทางบก ทางอากาศ ทางน้ำ จำกัดอาหาร จำกัดสาธารณูปโภค สภาพพื้นที่ที่ย่ำแย่และแออัด ทำให้องค์การสหประชาชาติออกรายงานในปี 2012 โดยระบุว่า ภายในปี 2563 กาซาจะเป็นพื้นที่ที่มนุษย์ไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ ด้วยสภาพที่น้ำเป็นพิษ ความแออัด ระบบบำบัดน้ำเสียไม่ดี
“ดังนั้น เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นปลายปี 2566 มันเป็นเหตุผลที่กลุ่มฮามาสและกลุ่มติดอาวุธที่ปาเลสไตน์ต้องการที่จะดึงสปอตไลต์ของโลกให้หันมาสนใจปัญหาที่เกิดขึ้นในกาซา ซึ่งผู้คนกำลังล้มตาย ซึ่งแน่นอนเราอาจจะไม่เห็นด้วยกับความรุนแรงอยู่แล้ว แต่เขาเรียกว่าถูกบีบให้ Do or Die ไม่สู้ ไม่ทำอะไรก็ตาย” อาจารย์มาโนชญ์กล่าว
เมื่ออิสราเอลต่อต้านความรุนแรงด้วยความรุนแรง
ไม่กี่วันหลังจากนั้น ทางการอิสราเอลได้ตัดสาธารณูปโภคที่จำเป็นต่อประชากรในกาซา และปิดกั้นทางเข้าออกทั้งหมด ซึ่งถือเป็นการลงโทษแบบรวมหมู่ (Collective Punishment) ตามด้วยการเปิดฉากโจมตีทางอากาศและภาคพื้นดินอย่างหนัก ส่งผลให้มีพลเรือนเสียชีวิตหลายหมื่นคน ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่เดือนหลังการโจมตีเริ่มขึ้น นอกจากนี้ รายงานจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยังระบุว่า การโจมตีจำนวนมากเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ไม่มีเป้าหมายทางทหารชัดเจน หรือเป็นที่พักพิงของผู้พลัดถิ่น ซึ่งชี้ให้เห็นถึงการโจมตีแบบไม่เลือกเป้าหมาย (Indiscriminate Attacks) ซึ่งละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ
ไม่เพียงแต่การทำลายชีวิตผู้คนเท่านั้น การโจมตีดังกล่าวยังทำลายโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อชีวิต ไม่ว่าจะเป็นสถานพยาบาล ระบบสาธารณสุข ระบบประปา-ไฟฟ้า และศูนย์อาหาร นำไปสู่การขาดแคลนอาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค และที่พักพิงอย่างรุนแรง พลเรือนในกาซากว่า 1.7 ล้านคน (มากกว่า 75% ของประชากร) ต้องพลัดถิ่น เกิดภาวะทุพโภชนาการเฉียบพลันในเด็ก และมีรายงานเด็กเสียชีวิตจากความหิวโหย โดยแอมเนสตี้ระบุว่า เป็นสถานการณ์ที่ “มนุษย์ไม่ควรต้องเผชิญ” และเป็นผลจากนโยบายของอิสราเอลที่จงใจใช้ความอดอยากเป็นอาวุธ
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับพลเรือนยังส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้ที่อยู่ในพื้นที่ เด็กจำนวนมากเผชิญกับการเห็นครอบครัวเสียชีวิตต่อหน้าต่อตา อีกทั้งรายงานของแอมเนสตี้ยังชี้ว่า การใช้ความรุนแรงต่อพลเรือนโดยไร้ที่หลบภัย สร้างความรู้สึก “ไร้ทางหนี ไร้ที่พึ่ง” อย่างเป็นระบบ และการบาดเจ็บทางจิตใจ (trauma) อย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น ไม่มีระบบสนับสนุนหรือบริการเยียวยาใดๆ ยิ่งกว่านั้น แอมเนสตี้ยังระบุอีกว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เป็น “การล่มสลายของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” เพราะนอกจากชาวปาเลสไตน์จะต้องใช้ชีวิตอยู่โดยไม่มีสุขอนามัยขั้นพื้นฐาน ยังไม่มีโอกาสแม้แต่จะฝังศพญาติอย่างเหมาะสม รวมทั้งมีรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อพลเรือนในลักษณะที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ (dehumanization) ทั้งจากคำพูดของเจ้าหน้าที่อิสราเอลและการกระทำในพื้นที่
ปฏิบัติการของอิสราเอล คือ “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”
อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษอาชญากรรมจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ค.ศ. 1948 หรือที่รู้จักกันในนาม Genocide Convention กล่าวถึงความหมายของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ว่า “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หมายถึงการกระทำใดๆ ก็ตาม ที่มีเจตนาเพื่อทำลายกลุ่มชาติพันธุ์ เชื้อชาติ ศาสนา และกลุ่มสถานภาพทางสังคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำลายเพียงบางส่วนบางคน หรือการทำลายทั้งกลุ่ม” บัญชา ลีลาเกื้อกูล ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ให้ข้อมูลจากรายงานของแอมเนสตี้ ชื่อว่า “‘You Feel Like You Are Subhuman’: Israel’s Genocide Against Palestinians in Gaza” ซึ่งตีพิมพ์เมื่อเดือนธันวาคม 2567 ระบุว่า อิสราเอลได้กระทำ อย่างน้อย 3 ใน 5 การกระทำต้องห้ามตามอนุสัญญาฯ ได้แก่
(1) การสังหารสมาชิกของกลุ่ม โดยชาวปาเลสไตน์ในกาซาเป็นเป้าหมายของการสังหารนี้ และในปี 2023 – 2024 มีการโจมตีทางอากาศถึง 15 ครั้ง ที่คร่าชีวิตพลเรือนเป็นจำนวนมาก รวมถึงโรงเรือนที่พัก โรงพยาบาล แล้วก็พื้นที่อพยพ พื้นที่พักพิงชั่วคราว
(2) มีการก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและจิตใจของกลุ่มชาวปาเลสไตน์ในกาซา ทั้งการเสียชีวิตจากการขาดสารอาหาร การจับเยาวชนและคุมขังในเรือนจำโดยปราศจากทนายความ ไม่มีการขึ้นศาล ไม่มีกระบวนการยุติธรรมที่ถูกต้อง การละเมิดสิทธิเด็ก ทั้งทางร่างกาย ทางจิตใจ และทางเพศ หญิงตั้งครรภ์ที่ไม่สามารถเข้าถึงการดูแลขั้นพื้นฐานได้ จนกระทั่งต้องแท้งลูก รวมไปถึงการทรมาน การควบคุมตัวโดยไม่เปิดเผยที่อยู่ และการบังคับสูญหาย
(3) การจงใจสร้างเงื่อนไขของชีวิตที่นำไปสู่การทำลายเป็นกลุ่ม เช่น การปิดล้อมความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การตัดน้ำ ตัดไฟ การทำลายโครงสร้างพื้นฐานที่มีความจำเป็นต่อชีวิต รวมถึงพื้นที่ทางการเกษตร โรงงานทำน้ำจืดถูกทำลาย การบังคับอพยพชาวกาซาหลายรอบ นอกจากนี้ พื้นที่เกือบ 70% ของกาซายังอยู่ภายใต้คำสั่งให้อพยพอยู่ตลอดเวลา มีเขต No Go Zone ซึ่งมีมาแล้วตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ 7 ตุลาคม ทว่าทุกครั้งที่มีคำสั่งให้อพยพ ทางรัฐอิสราเอลไม่สามารถประกาศพื้นที่ปลอดภัย (Safe Zone หรือ Safe Corridor) ให้กับผู้อพยพได้
ยิ่งกว่านั้น หลังจากที่อิสราเอลก็ได้ปิดล้อมฉนวนกาซาโดยสมบูรณ์ เป็นเวลา 2 เดือน รัฐได้แสดงเจตนาอย่างชัดเจนที่จะขยายปฏิบัติการทางทหารที่รุนแรง แล้วก็ยึดครองฉนวนกาซาอย่างผิดกฎหมาย มีการบังคับให้ชาวปาเลสไตน์ต้องอพยพ เพื่อตามที่ประกาศคือ การปิดฉากครั้งสุดท้าย อันนี้เป็นคำนิยามที่สามารถพิสูจน์ได้จากคำแถลงการณ์ของรัฐบาลอิสราเอล
ข้อมูลดังกล่าวจากรายงานของแอมเนสตี้ สะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในกาซาไม่ใช่แค่สงคราม แต่เป็น “กระบวนการทำลายล้างที่เป็นระบบและต่อเนื่อง สะท้อนถึงเจตนาและการกระทำที่ชัดเจน เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่อประชาชนชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา” เพราะฉะนั้น แอมเนสตี้จึงแสดงจุดยืนอย่างหนักแน่น และเรียกร้องว่า ต้องมีการหยุดยิงทันที ยุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ต้องยุติการปิดล้อม ต้องเปิดทางให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และต้องนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศ
“โดนัลด์ ทรัมป์” อีกหนึ่งตัวละครหลักในสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์

เมื่อพูดถึงความขัดแย้งครั้งใหญ่ระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ อีกหนึ่งประเด็นที่หลายคนจับตามองคือบทบาทของมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ที่บัดนี้กุมบังเหียนโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเป็นการขึ้นสู่อำนาจครั้งที่สองของผู้นำผู้นี้ และที่สำคัญคือ ทรัมป์เองก็มีความสัมพันธ์อันดีกับเบนจามิน เนทันยาฮู ผู้นำของอิสราเอล อย่างไรก็ตามอาจารย์มาโนชญ์ให้ความเห็นว่า
“ถามว่าทรัมป์มาแล้วมีผลอย่างไร คือเขาก็ต้องการให้มีการหยุดยิงแหละ แต่ด้วยวิธีการแบบทรัมป์ก็อาจจะดูวุ่นวายไปหน่อย บอกว่าเดี๋ยวจะยึดกาซาเอง ซึ่งผมไม่เชื่อว่าจะเป็นแบบนั้นจริง วันนี้เห็นชัด อิสราเอลบอกว่าเขาจะยึดกาซาโดยสมบูรณ์ จะยึดทำไม ในเมื่อทรัมป์บอกว่าจะยึดให้ แปลว่าเขาไม่ได้จะยึดจริง และอิสราเอลก็รู้ว่าทรัมป์มีแผนอะไร แต่ท้ายที่สุดคือทรัมป์พยายามทำให้ตัวเองได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ แต่ใช้วิธีการที่ไม่ดีเลย”
อย่างไรก็ตาม อาจารย์มาโนชญ์ ให้ความเห็นอีกว่า การหยุดยิงอาจจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว และหลังจากนั้นจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นอีกเป็นระยะ
“วันนี้เป้าหมายของอิสราเอลก็คือการยึดกาซาทั้งหมด แล้วก็เอาคนกาซาออกไปจากพื้นที่ ถ้าอเมริกายังสนับสนุนอิสราเอล ผมคิดว่าปัญหามันจะยืดเยื้อต่อไป แต่สิ่งที่อิสราเอลต้องการมากที่สุดขณะนี้ ถ้าจะให้หยุดยิง ถ้าจะให้ทุกอย่างจบก่อน พักรบ ฮามาสต้องวางอาวุธ แล้วก็ออกไปจากฉนวนกาซา ซึ่งฮามาสรับไม่ได้กับเงื่อนไขตรงนี้”
“ตอนนี้แนวทางที่จะเป็นไปได้ ที่สหรัฐอเมริกาต้องการผลักดัน ก็คือการเอา UN เข้าไปในฉนวนกาซา แล้วก็เอาประเทศอาหรับต่างๆ มาลงขันกันเพื่อฟื้นฟูกาซา แต่กันฮามาสออกไปจากกาซา แล้วให้กลุ่มอื่น เทคโนแครต ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการทั้งหลายที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองมาบริหารกาซา นี่คือวิธีการที่ผมคิดว่าหลายฝ่ายเห็นตรงกันมาก รวมทั้งสหรัฐอเมริกาด้วย แต่ประเด็นก็คือว่า อิสราเอลไม่ยอม” อาจารย์มาโนชญ์กล่าว
ไทยอยู่ตรงไหนในสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์

ในเหตุการณ์รุนแรงเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 แรงงานชาวไทยก็ตกเป็นเป้าโจมตีด้วยเช่นกัน โดยในเหตุการณ์ครั้งนี้มีคนไทยเสียชีวิตถึง 46 คน ถูกจับเป็นตัวประกัน 29 คน โดย 28 คนได้ถูกปล่อยตัวกลับมา แต่อีก 1 คน ยังไม่ทราบชะตากรรม
อาจารย์มาโนชญ์ ให้ข้อมูลว่า ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานของไทยระบุว่า มีแรงงานไทยที่ไปทำงานที่อิสราเอลประมาณ 25,000 คน และในจำนวนนี้ มี 5,000 คน อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ยิ่งกว่านั้น อาจารย์ยังตั้งข้อสังเกตว่า ยังมีแรงงานชาวอินเดียและชาวฟิลิปปินส์ ที่มีจำนวนใกล้เคียงกับแรงงานไทย และทำงานในภาคการเกษตรเช่นเดียวกัน แต่ชาวฟิลิปปินส์กลับถูกจับเป็นตัวประกันเพียง 1 – 2 คน ขณะที่ชาวอินเดียไม่มีผู้ใดถูกจับ อีกทั้งยังมีรายงานว่าสหภาพแรงงานของอินเดียออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการที่รัฐบาลส่งแรงงานไปยังอิสราเอล เนื่องจากเป็นการลดทอนความเป็นมนุษย์และทำให้แรงงานเป็นเหมือนสินค้า และยังเป็นการสนับสนุนการยึดครองปาเลสไตน์ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการขาดการดูแลความปลอดภัยของรัฐต่อแรงงานชาวไทยในต่างแดน
“แรงงานไทย 4 – 5 ปี ย้อนหลัง ที่อยู่ทำงานที่อิสราเอล ประมาณ 8,000 – 9,000 คน และน้อยลงเหลือ 2,000 คน ในช่วงโควิด แล้วก็กลับมา 8,000 – 9,000 คนใหม่ แต่ว่าในปี 2023 มันเพิ่มขึ้นมาเป็น 25,000 คน ทีนี้เหตุการณ์ครั้งล่าสุดมันเกิดขึ้นวันที่ 7 ตุลาคม เดือนสิงหาคม แรงงานไทยเรามีอยู่ที่นั่นประมาณ 8,000 – 9,000 คน แต่กันยายน ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์นี้ มันเพิ่มขึ้นไปถึง 25,000 คน ซึ่งอัตราการเพิ่มขึ้นมันน่าตกใจ อาจจะเป็นความบังเอิญหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ผมคิดว่าตัวเลขนี้สำคัญ”
สำหรับ อาจารย์มาโนชญ์ สิ่งที่น่ากังวลเกี่ยวกับแรงงานไทย คือการที่กระทรวงแรงงานของไทยยืนยันว่าแรงงานไทยจะถูกส่งไปทำงานในพื้นที่สีเขียว ซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัย แต่ไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าแรงงานชาติใดจะเข้าไปทำงานในพื้นที่เสี่ยงแทน นอกจากนี้ อาจารย์มาโนชญ์ ยังแสดงความกังวลต่อกรณีที่รัฐมนตรีกลาโหมของอิสราเอลยอมรับว่ามีการใช้ “คำสั่งฮันนิบาล” ที่มุ่งป้องกันไม่ให้มีการจับตัวประกันเข้าไปในกาซา โดยโจมตีพาหนะทุกคันที่มุ่งหน้าเข้าไปที่กาซา และสังหารทุกคนได้โดยไม่เลือกฝ่าย แน่นอนว่าแรงงานชาวไทยก็อาจจะไม่มีข้อยกเว้น
“ในแง่ของกฎหมายระหว่างประเทศ การส่งแรงงานของเราไปเท่ากับการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ รวมทั้งสนับสนุนการยึดครองที่ผิดกฎหมายของอิสราเอลหรือไม่ เพราะว่าในอนุสัญญาว่าด้วยการยึดครองดินแดนอย่างผิดกฎหมาย มันห้ามมีการโยกย้ายประชากรและแรงงานในนั้น แต่ถ้าเราส่งไปแบบนี้ เท่ากับเรากำลังละเมิดกฎหมายข้อนี้อยู่”
“กฎขององค์การแรงงานสากล หรือ ILO เขาพูดถึงเรื่องแรงงานบังคับ ซึ่งแม้ว่าแรงงานจะสมัครใจไปทำงานในพื้นที่เสี่ยง แต่ถ้าสมมติว่าเขาถูกจูงใจด้วยค่าแรงหรืออะไรก็ตาม ที่เขารู้ไม่เท่าทันหรือถูกนายจ้างหลอก หรืออะไรต่างๆ และไม่ได้รับการคุ้มครองที่มากพอ มันเข้าข่ายการค้ามนุษย์เลย เรื่องตรงนี้รัฐบาลไทยจะเอาอย่างไร กระทรวงแรงงานจะทำอย่างไร นักวิชาการหลายคนแนะนำว่าเราไม่ควรส่งแรงงานไปที่อิสราเอล” อาจารย์มาโนชญ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม อาจารย์มาโนชญ์เชื่อว่า ประเด็นเรื่องแรงงานอาจทำให้ประเทศไทยมีอำนาจต่อรองกับอิสราเอล เพื่อหยุดยั้งสงครามได้
“สำหรับประเทศไทย ผมเชื่อว่ามีอำนาจต่อรองกับอิสราเอลเป็นอันดับต้นๆ ของโลกในเรื่องแรงงาน เราควรใช้เรื่องนี้แสดงบทบาททางด้านสิทธิมนุษยชน หรือเรียกว่าอาวุธทางด้านมนุษยธรรม (Humanitarian Weapon) เพื่อช่วยเหลือผู้คนและเพื่อหยุดยั้งสงคราม เราทำได้ แค่ส่งสัญญาณว่า ถ้าไม่สงบ ไม่หยุดยิง เราเป็นห่วงแรงงานของเรา เราจำเป็นที่จะต้องงดการส่งแรงงานของเรา เท่านี้แหละ ผมเชื่อว่าไทยจะกลับสู่เรดาร์ของเวทีระหว่างประเทศ และสง่างามมากในมุมของสิทธิมนุษยชน”
ข้อเสนอแนะเพื่อยุติความรุนแรงในกาซา

ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นอนล ประเทศไทย ระบุว่า เรามีข้อเสนอแนะทั้งในส่วนของผู้ที่ละเมิด ในเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ขอให้ทางรัฐอิสราเอลหยุดการกระทำฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยทันที โดยไม่มีข้อต่อรอง คุณจะต้องหยุดใช้เป้าหมายประชากรโดยใช้เหตุผลว่าเป็นที่ซ่อนเร้นของผู้ก่อการร้ายฮามาส อันนั้นเป็นข้อเรียกร้องของแอมเนสตี้ต่อรัฐบาลอิสราเอล อิสราเอลต้องยุติการปิดล้อมฉนวนกาซาโดยทันที แล้วก็ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) เนื่องจากรายงานนี้เขียนไว้ตั้งแต่ปี 2567ตอนนี้เราทราบว่า ICJ ได้ประกาศแล้วว่าผู้นำของอิสราเอลเป็นอาชญากรที่เป็นที่ต้องการที่จะเอาเข้ามาในกระบวนการสอบสวน
“ในบริบทของการออกมาเพื่อแสดงบทบาทของประชากรโลก เราอยู่ภายใต้ร่มของการบริหารทางมนุษยธรรมเดียวกัน เราเรียกร้องให้รัฐต่างๆ เปล่งเสียง โดยไม่พยายามที่จะหลีกเลี่ยงเพียงเพราะใช้คำว่าสงคราม เพราะตรงนี้มันเกินขอบเขตของสงครามไปแล้ว มันคือความพยายามที่จะทำให้เกิดการล้างเผ่าพันธุ์ อันนี้ก็เป็นข้อเรียกร้องของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล” บัญชากล่าว
ในส่วนของประเทศไทยนั้น แอมเนสตี้มีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้
(1) ยกระดับท่าทีอย่างชัดเจน: หยุดใช้ถ้อยคำคลุมเครือ เช่น “การสู้รบ” ที่กลบเกลื่อนความรุนแรงที่เป็นระบบ ออกแถลงการณ์ทางการทูตที่สะท้อนความจริงบนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน และแสดงความกังวลต่อการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และการเข้าข่ายฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้นในฉนวนกาซา
(2) เรียกร้องอย่างชัดเจนให้มีการหยุดยิงถาวร: สนับสนุนเสียงเรียกร้องในเวทีระหว่างประเทศให้หยุดยิงทันทีและอย่างยั่งยืน และส่งเสริมการเจรจาที่ให้ความสำคัญกับสิทธิพลเรือน ไม่ใช่เฉพาะ “เสถียรภาพ” ระยะสั้น
(3) สนับสนุนกลไกความยุติธรรมระหว่างประเทศ: ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) และศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) สนับสนุนการอนุญาตให้ผู้เชี่ยวชาญอิสระเข้าเก็บข้อมูลในพื้นที่ และสนับสนุนการสอบสวนอาชญากรรมที่อาจเข้าข่ายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ไม่ว่าผู้กระทำจะเป็นฝ่ายใด
(4) ทบทวนความร่วมมือด้านความมั่นคงและการส่งออกอาวุธ: ตรวจสอบและระงับความร่วมมือด้านอาวุธหรือเทคโนโลยีที่อาจถูกนำไปใช้ละเมิดสิทธิมนุษยชน และไม่ส่งเสริมความสัมพันธ์ที่เอื้อต่อการลอยนวลพ้นผิดของผู้กระทำความรุนแรงต่อพลเรือน
(5) ปกป้องสิทธิแรงงานไทยในอิสราเอล: ตรวจสอบระบบการส่งแรงงานไทยไปยังพื้นที่ความขัดแย้ง ให้ข้อมูลและการเยียวยาอย่างมีศักดิ์ศรีต่อผู้รอดชีวิต ครอบครัวของผู้เสียชีวิต และผู้ที่ยังอยู่ในพื้นที่ รวมทั้งย้ำว่าความปลอดภัยของแรงงานไทยต้องไม่ถูกต่อรองกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
(6) ทำหน้าที่ในฐานะ “พลเมืองโลก” อย่างรับผิดชอบ: ไม่นิ่งเฉยต่อการกระทำที่เข้าข่าย อาชญากรรมร้ายแรงต่อมนุษยชาติ ยืนหยัดกับหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติและพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาระหว่างประเทศ และรับฟังเสียงของภาคประชาชนและกลุ่มสิทธิมนุษยชนที่เรียกร้องความชัดเจนจากรัฐบาล
ความหวังอยู่ที่ประชาชน
ปัจจุบันนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าอิสราเอลและพันธมิตรได้มองข้ามเรื่องมนุษยธรรมและระเบียบโลกต่างๆ โดยมุ่งไปยังเป้าหมายคือการเป็นผู้ชนะในสงคราม อีกทั้งกลไกอย่างคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติก็ยังไม่ได้มีประสิทธิภาพมากเท่าที่ควร แม้กระทั่งจะเปลี่ยนตัวผู้นำจากเนทันยาฮูเป็นคนอื่น ก็ยังไม่แน่ว่าปัญหาทั้งหมดจะได้รับการแก้ไข อย่างไรก็ตาม อาจารย์มาโนชญ์มองว่า ผู้ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงคือประชาชนชาวอิสราเอล ที่เริ่มมองปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ในมุมใหม่ โดยเฉพาะในมุมด้านมนุษยธรรมและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
“แต่สิ่งที่หวังคือประชาชนอย่างพวกเรา ภาคประชาสังคมอย่างแอมเนสตี้ เพราะว่าวันนี้กระแสแบบนี้มันมีพลังมากในโลกตะวันตก โลกตะวันตกขับเคลื่อนเรื่องปาเลสไตน์ยิ่งกว่าโลกมุสลิม ต้องการให้มีการหยุดยิงมากกว่าในตะวันออกกลางที่มีการดำเนินการด้วยซ้ำ กระแสการเรียกร้องสิทธิเพื่อชาวปาเลสไตน์ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นมา ผมเข้าใจว่าตั้งแต่ปี 2014 แล้ว ในโลกตะวันตก สื่อ ประชาชนเริ่มตื่นตัวมากว่ามันเกิดอะไรขึ้น พอมาเหตุการณ์ในครั้งนี้เราจึงเห็นว่าเขาออกมาเคลื่อนไหวเป็นจำนวนมาก” อาจารย์มาโนชญ์ทิ้งท้ายอย่างมีความหวัง
