แอมเนสตี้ ประเทศไทยแถลงข่าวผลรางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2567

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดงานประกาศผลและมอบรางวัล “รางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2567” (Media Awards 2024)  ณ โรงแรมเบสท์เวสเทิร์น จตุจักร กรุงเทพฯ โดยมอบรางวัลผลงานสื่อมวลชนดีเด่นด้านสิทธิมนุษยชนประเภทข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อหนังสือพิมพ์และสื่อออนไลน์ ข่าวหรือสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อโทรทัศน์ ข่าวหรือสารคดีเชิงข่าวที่นำเสนอในรูปแบบคลิปวิดีโอออนไลน์ และภาพถ่ายในหัวข้อ “สิทธิมนุษยชน”

พุทธณี กางกั้น ประธานกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวถึงบทบาทของสื่อมวลชนที่สำคัญต่อการสร้างสรรค์สังคมที่เป็นธรรมว่า รางวัลนี้ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องหมายแห่งความสำเร็จ แต่เป็นการแสดงออกถึงความกล้าหาญของผู้ที่ยืนอยู่ในแนวหน้าและเบื้องหลังของการทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชน แม้จะต้องเผชิญกับแรงกดดันและความไม่แน่นอนอย่างไม่หยุดยั้งขณะปฏิบัติหน้าที่ แต่ทุกผลงานที่ส่งเข้ามา ทำให้เห็นว่าสื่อมวลชนยังตระหนักถึงความสำคัญเรื่องสิทธิมนุษยชน พร้อมที่จะเป็นกระบอกเสียงของผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิรวมถึงส่งเสียงเคียงข้างนักสิทธิมนุษยชนที่ต้องดิ้นรนเพื่อให้ได้มาซึ่งความยุติธรรม

ปี 2567 ที่ผ่านมา หลายองค์กรสื่อยังคงต้องหาเงินทุนเพื่อหล่อเลี้ยงธุรกิจให้เดินต่อไปได้ ถือเป็นปีที่เต็มไปด้วยความท้าทายและแรงกดดันที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้เห็นสถานการณ์ที่ทำให้การรายงานข่าวเรื่องสิทธิมนุษยชนในแง่มุมต่างๆ อาจมีข้อจำกัดและถดถอยออกจากเสรีภาพและข้อเท็จจริง ขณะที่สื่อมวลชนจำนวนมากยังต้องเผชิญความท้าทายขณะปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะการเผชิญความเสี่ยงกับการถูกดำเนินคดี การถูกข่มขู่ และแรงกดดันจากผู้มีอำนาจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลให้เสรีภาพของสื่อเป็นประเด็นที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดเพราะเสรีภาพของสื่อเปรียบเสมือนเสรีภาพของประชาชน

พุทธณีกล่าวขอบคุณสื่อมวลชนทุกคนที่ยังคงยืนหยัดทำหน้าที่หนักแน่น ไม่ว่าจะเป็นนักข่าวภาคสนาม นักข่าวสืบสวนสอบสวน รวมถึงทุกคนที่นำเสนอเรื่องราวสิทธิมนุษยชน ทุกคนล้วนเป็นกำลังสำคัญในการบันทึกและนำเสนอเรื่องราวของผู้คนที่ถูกกดขี่รวมถึงสังคมที่ไม่มีเสียง และเป็นพื้นที่แบ่งปันเปิดเผยข้อมูลที่ถูกซ่อนเร้นจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน

“สื่อมวลชนเปรียบเสมือน “แสงเทียน” ที่ฉายแสงส่องให้คนในสังคมให้ตระหนักถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน และเชิญชวนให้เราต่างบ่มเพาะความเคารพซึ่งกันและกันมากขึ้น  ทั้งยังเป็นกระจกที่สะท้อนความเป็นจริงของสังคม ทำให้เสียงของประชาชนที่ต้องการให้โลกได้ยิน เรื่องราวของผู้ถูกกดขี่ ผู้ที่ถูกทำให้ไร้ตัวตน และผู้ที่ไม่มีโอกาสเปล่งเสียงของตนเอง ได้รับการบันทึกไว้และส่งต่อสู่สายตาสาธารณะ เพราะหากไม่มีสื่อมวลชนที่กล้าหาญ ไม่มีสื่อมวลชนที่กล้ายืนหยัดเพื่อความเป็นธรรม เรื่องราวเหล่านี้อาจไม่ถูกพูดถึงเลย”

ประธานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวทิ้งท้ายว่า คณะกรรมการตัดสินผลงานรางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2567 ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากสายสื่อมวลชนและสายสิทธิมนุษยชน จากการคัดสรรและตัดสินผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมดโดย ผลการตัดสินมีดังนี้

รางวัลดีเด่นข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อสิ่งพิมพ์และออนไลน์ 2 รางวัล ได้แก่

● ผลงานชุด ‘กะเทยพัทยาไม่เคยถูกมองในแง่ดี’ ที่พัทยา กะเทยต้องถูกตรวจฉี่ คนใช้ยาต้องถูกรีดไถ และตีตรา” สำนักข่าวไทยรัฐพลัส

● ผลงานเรื่อง “‘ศูนย์การเรียนสามเณรไร้รัฐ’ การศึกษาใต้ร่มกาสาวพัสตร์ที่ไร้เส้นพรมแดน”       The 101.world

รางวัลชมเชยข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อสิ่งพิมพ์และออนไลน์ 6 รางวัล ได้แก่

● ผลงานเรื่อง “บุตรของแรงงานข้ามชาติ ชีวิตใหม่ที่ไม่มีสถานะทางกฎหมาย เกิดและลืมตาบนแผ่นดินไทย แต่ไม่มีสูติบัตร” สำนักข่าวไทยรัฐพลัส

● ผลงานเรื่อง “รีไซเคิลบนดิน-ความสูญสิ้นของสายน้ำ: ‘โรงงานรีไซเคิลคลองกิ่ว’ ความผิดแทบทุกตารางนิ้วที่กฎหมายกลายเป็นเศษกระดาษ” The 101.world

● ผลงานเรื่อง การเดินทางของเม็ดเงิน: ธุรกิจข้ามชาติ ผลประโยชน์รัฐ ธุรกรรมการเงิน และสถานการณ์หลังรัฐประหารในเมียนมา” เว็บไซต์ WAY Magazine

● ผลงานเรื่อง “ถูกหลอกเป็นทาส ถูกคุมขัง และถูกดำเนินคดี: ชะตากรรม ‘อาชญากรถูกบังคับ’” สำนักข่าว HaRDstories

● ผลงานเรื่อง “คนยกตกบันได – ห้ามใช้ผู้ช่วยคนพิการ บันทึกประสบการณ์เลือก สว.2567 ระดับอำเภอ” สำนักข่าวออนไลน์ Thisable.me

● ผลงานเรื่อง “พวกเขาต้องเป็น ‘ชายชุดดำ’ ให้รัฐไทยอีกนานแค่ไหน?” สำนักข่าวประชาไท

รางวัลชมเชยประเภทข่าวหรือสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อโทรทัศน์ (ความยาวรวมไม่เกิน 20 นาที)         5 รางวัล ได้แก่

● ผลงานเรื่อง SEE TRUE เปลือยชีวิตผู้ชายขายบริการ” สถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี 32

● ผลงานเรื่อง “ตะกอนหาย เพราะเขื่อนโขง” สถานีโทรทัศน์ Nation TV

● ผลงานชุด “‘ชาวเลมอแกน’ เกาะพยาม ชีวิตที่ถูกลืม?” สำนักข่าววันนิวส์

● ผลงานชุด “คดีตากใบสู่ประวัติศาสตร์ที่ไม่ขาดอายุความ” และ “ตากใบภาค 2 จุดไฟในใจคน?” สถานีโทรทัศน์ Nation TV

● ผลงานเรื่อง “ดีเดย์ 25 มี.ค.นี้ ไทยคิกออฟ ‘ระเบียงมนุษยธรรม’” ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ (The Active) ไทยพีบีเอส

รางวัลดีเด่นข่าวหรือสารคดีเชิงข่าวที่นำเสนอในรูปแบบคลิปวิดีโอออนไลน์ 1 รางวัล ได้แก่

● ผลงานเรื่อง We Need to Talk About อานนท์ ชายผู้นำพาให้คนเท่ากัน” สำนักข่าวไทยรัฐพลัส

รางวัลชมเชยข่าวหรือสารคดีเชิงข่าวที่นำเสนอในรูปแบบคลิปวิดีโอออนไลน์ 4 รางวัล ได้แก่

● ผลงานเรื่อง Who’s the Black Shirt?” The 101.world

● ผลงานเรื่อง “รอมฎอนที่ 20 ของคดีตากใบ” สำนักข่าวออนไลน์ Decode

● ผลงานเรื่อง “เหมืองแร่โปแตชที่ “เศรษฐา” ต้องการ ทำลายผืนดินโคราชจริงหรือ ?”              สำนักข่าวบีบีซีไทย

● ผลงานเรื่อง “บุ้ง เนติพร‘ ความตายของกระบวนการยุติธรรม?” สำนักข่าวประชาไท

รางวัลที่ 1 ประเภทภาพถ่ายในหัวข้อ “สิทธิมนุษยชน”  ได้แก่

● ผลงานชุด “ความยุติธรรมที่รอคอย 20 ปี คดีตากใบ” ผลงานของ “ศุภสัณห์ กันณรงค์”

รางวัลที่ 2 ประเภทภาพถ่ายในหัวข้อ “สิทธิมนุษยชน”  ได้แก่

● ผลงานชุด “ห้องทะเบียนเคลื่อนที่ คืนสิทธิให้เด็กรหัส G” โดย ชนากานต์ เหล่าสารคาม

รางวัลที่ 3 ประเภทภาพถ่ายในหัวข้อ “สิทธิมนุษยชน”  ได้แก่

● ผลงานชุด “จากรัฐกะเหรี่ยงถึงระยอง: หนีสงครามสู่ชีวิตใหม่ไกลบ้าน” โดย วัจนพล ศรีชุมพวง

รางวัลชมเชยประเภทภาพถ่ายในหัวข้อ “สิทธิมนุษยชน”  ได้แก่

● ผลงานชุด Bamboo School บ้านหลังสุดท้ายของเด็กไร้สัญชาติ” โดย “ณฐาภพ สังเกตุ”

● ผลงานชุด ““ดวงดาวข้างกองขยะ” เก็บของเก่าเลี้ยงชีพ หวังการศึกษาเปลี่ยนชีวิต” โดย ชิน ชมดี

● ผลงานชุด “12 ปีแห่งความรักและการยอมรับ: เสียงหัวใจของคู่รักตาบอด” โดย อานันท์ ชนมหาตระกูล

● ผลงานชุด “บ้านที่กลับไม่ได้” โดย ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์

● ผลงานชุด “วิถีชีวิตเร่ขายแรงงานกลางตลาดสดใจกลางเมือง” โดย นายสุภณัฐ รัตนธนาประสาน (โดยสำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส)

● ผลงานชุด “ความทุกข์ในขุนเขา: การแก้ปัญหายาเสพติดในพื้นที่ห่างไกล ด้วยแนวทาง Harm Reduction” โดย วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

● ผลงานชุด “เครื่องช่วยความพิการและกายอุปกรณ์ของคนพิการศรีสะเกษ” โดย คชรักษ์ แก้วสุราช

ในตอนท้าย ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้กล่าวขอบคุณสื่อมวลชนที่เป็นบุคคลสำคัญที่สุดของงานในวันนี้ที่ได้ช่วยกันขับเคลื่อนและเป็นสื่อกลางในการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนและให้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนทั้งที่ผ่านมาและจะทำต่อไป และย้ำรางวัลเหล่านี้ไม่เพียงแต่เชิดชูผลงานของสื่อมวลชน แต่ยังยืนยันให้เห็นบทบาทของสื่อในการปกป้องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออกยังมีความสำคัญต่อสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ขอขอบคุณทุกคนที่ร่วมขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชนไปกับเรา เพื่อทำให้เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคน

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแอมเนสตี้
บริจาคสนับสนุนแอมเนสตี้