แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องว่า รัฐบาลสหรัฐฯ และรัฐบาลอื่น ๆ ต้องหาเงินทุนอย่างเร่งด่วนสำหรับโครงการด้านการศึกษาในเมียนมา ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นเส้นเลือดใหญ่สำหรับนักเรียน ครู และครอบครัวซึ่งอยู่ในประเทศที่กำลังเผชิญสงคราม พร้อมเตือนว่าหากไม่มีการดำเนินการใด ๆ อาจนำไปสู่ “ภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Lost Generation)”
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลรวบรวมข้อมูลด้วยการสอบถามคุณครูและนักเรียน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวได้แสดงให้เห็นถึงผลกระทบของบรรดานักเรียนชาวเมียนมาอันเนื่องมาจากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ ตัดความช่วยเหลือด้านต่างประเทศครั้งใหญ่ ซึ่งรวมถึงการยุติการให้เงินทุนกว่า 70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับโครงการด้านการศึกษาในเมียนมา ตามข้อมูลที่ผู้ที่เกี่ยวข้องดังกล่าวได้เปิดเผย
โจ ฟรีแมน นักวิจัยด้านเมียนมาของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า “การการยุติความช่วยเหลือด้านการศึกษาในเมียนมาร์นับตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2564 ส่งผลให้เยาวชนหลายล้านคนสูญเสียโอกาส จากการตัดสินใจของสหรัฐฯ ดังกล่าว ซึ่งทำให้โอกาสที่จะเกิดภาวะถดถอยทางการเรียนรู้มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น”
“แต่ยังไม่สายเกินไปที่จะเติมเต็มช่องว่างในระบบการศึกษาของนักเรียนชาวเมียนมา หากรัฐบาลและมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ และที่อื่น ๆ เร่งหาช่องทางให้พวกเขาสามารถศึกษาต่อได้ และป้องกันไม่ให้พวกเขาถูกส่งกลับไปยังพื้นที่ขัดแย้ง ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะถูกควบคุมตัวโดยพลการ การทรมาน และการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่น ๆ เช่นการโจมตีทางภาคพื้นดินและทางอากาศในพื้นที่ชุมชนของพวกเขา และการบังคับให้เป็นทหารเข้าร่วมในการสู้รบซึ่งมักใช้การละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นกลยุทธ์ในการทำสงคราม”
โครงการด้านการศึกษาที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสหรัฐฯ ซึ่งจัดตั้งขึ้นหลังการรัฐประหาร ได้ให้การสนับสนุนนักเรียนเมียนมาที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โครงการการศึกษาระดับอุดมศึกษาในรูปแบบออนไลน์ และบริการการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กในชุมชนชาติพันธุ์ พื้นที่ห่างไกล และชนบท
จากสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศที่เลวร้ายลงอย่างต่อเนื่องทำให้มีพลเรือนเสียชีวิตมากกว่า 6,000 ราย และถูกคุมขังมากกว่า 20,000 ราย โดยคาดว่าในปี 2568 จะมีผู้คนเกือบ 20 ล้านคนที่ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.7 ที่เกิดขึ้นในภาคกลางของเมียนมาเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 4,000 ราย โดยโรงพยาบาล บ้านเรือน วัดวาอาราม และโรงเรียนต่าง ๆ อย่างน้อย 1,000 แห่งได้รับความเสียหาย ซึ่งส่งผลให้ความต้องการดังกล่าวทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสร้างอุปสรรคเพิ่มเติมให้กับนักเรียนที่ต้องการศึกษาเล่าเรียนหลังจากที่ต้องเผชิญการขัดแย้งทางอาวุธในประเทศมานานกว่าสี่ปี
“หากสหรัฐฯ ยังคงเพิกเฉยต่อเยาวชนของเมียนมา รัฐบาลมหาวิทยาลัย และผู้บริจาคอื่น ๆ จะต้องก้าวเข้ามาให้การช่วยเหลือ”
โดยโจ ฟรีแมน ได้กล่าวว่า “การที่สหรัฐฯ ตัดความช่วยเหลือด้านต่างประเทศยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก รัฐบาลทรัมป์จะต้องเปลี่ยนแปลงแนวทางและไม่ทอดทิ้งนักศึกษาชาวเมียนมา เพื่อเติมเต็มความฝันของพวกเขาภายใต้สถานการณ์ที่ท้าทายอย่างยิ่ง แต่หากสหรัฐฯ ยังคงเพิกเฉยต่อเยาวชนของเมียนมา รัฐบาลมหาวิทยาลัย และผู้บริจาคอื่น ๆ จะต้องก้าวเข้ามาให้การช่วยเหลือ“
ภาคการศึกษาของเมียนมาอยู่ในภาวะยุ่งยาก
หลังจากที่กองทัพเมียนมาร์เข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 บรรดาครูและนักเรียนได้พากันเดินออกจากโรงเรียนเพื่อทำการชุมนุม และเข้าสู่ระบบการศึกษาคู่ขนานภายใต้รัฐบาลพลเรือนที่ถูกปลดออกโดยสร้างโรงเรียนขึ้นมาใหม่จากสิ่งก่อสร้างเดิมที่มีอยู่แล้วเช่น บ้านของผู้คน และดำเนินการทางออนไลน์
ซึ่งทางกองทัพตอบโต้ด้วยการจับกุมครูและโจมตีโรงเรียนทางอากาศ ขณะที่การขัดแย้งทางอาวุธทวีความรุนแรงขึ้นทั่วประเทศ โดยเฉพาะในสถานที่โรงเรียนในพื้นที่นอกเขตควบคุมของกองทัพที่ยังคงเปิดดำเนินการอยู่ จากสถานการณ์โดยรวมส่งผลให้จำนวนผู้ลงทะเบียนเรียนลดลงอย่างรวดเร็ว การเข้าถึงโรงเรียนที่เปิดให้บริการมีจำกัด และขาดแคลนสื่อการเรียนการสอน โดยหลังฉากนั้น โครงการทางการศึกษาที่ได้รับทุนจากสหรัฐฯ ได้ดำเนินงานที่สำคัญเพื่อเติมเต็มช่องว่างดังกล่าว และขณะเดียวกันก็ช่วยปกป้องนักเรียน ครู และผู้ปกครองจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน
ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้สัมภาษณ์ทั้งทางไกลและแบบตัวต่อตัวกับผู้คนมากกว่า 50 คนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทั่วเมียนมา ตั้งแต่รัฐชิน, ยะไข่, กะยา และกะเรนนี ตลอดจนเขตมาเกว สะกาย และมัณฑะเลย์ รวมทั้งบุคคลที่อาศัยอยู่ในต่างแดน ซึ่งรวมถึงนักเรียน ครู เจ้าหน้าที่การศึกษา ผู้ปกครอง และผู้รอดชีวิตจากการโจมตีทางอากาศในโรงเรียน โดยทุกคนเน้นย้ำถึงความสำคัญอย่างยิ่งของการศึกษาเพื่ออนาคตของประเทศ แม้จะประสบปัญหาในการดำเนินงานอยู่ตลอดเวลา
คุณครูท่านหนึ่งได้ให้สัมภาษณ์กับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า “แม้แต่ตอนที่กำลังสอนหนังสือ ก็รู้สึกกังวลอยู่เสมอ โดยเฉพาะตอนที่ได้ยินเสียงเครื่องบินแล่นผ่านศีรษะ ซึ่งมีบางครั้งที่ได้ยินเสียงปืนใหญ่ขณะสอน ซึ่งทำให้รู้สึกกังวลใจอย่างมาก”
“มีบางครั้งที่ได้ยินเสียงปืนใหญ่ขณะสอน ซึ่งทำให้รู้สึกกังวลใจอย่างมาก”
อีกท่านหนึ่งกล่าวว่า “เป้าหมายหลักตอนนี้คือการป้องกันไม่ให้เกิดการหยุดชะงักในการศึกษาของเด็กๆ ดังนั้นโรงเรียนต่างๆ จึงได้เปิดทำการอีกครั้งเท่าที่เป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม คุณภาพของการศึกษาอาจไม่ได้ดีเท่ากับก่อนเกิดการรัฐประหาร เนื่องจากมีความจำเป็นต้องย้ายสถานที่อยู่บ่อยครั้งจากปัญหาด้านความปลอดภัย โดยครูและนักเรียนมักต้องหลบหนีทั้งกลางวันและกลางคืน ซึ่งส่งผลต่อกระบวนการเรียนรู้”
ผู้ที่ให้สัมภาษณ์ล่าสุดส่วนใหญ่คือผู้ที่ได้รับทุนจากสหรัฐฯ ในโครงการทุนการศึกษาเพื่อความหลากหลายและการมีส่วนร่วม (Diversity and Inclusion Scholarship Program) หรือ โครงการ DISP โดยโครงการนี้ได้รับทุนจาก USAID มูลค่า 45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเปิดตัวในปี 2567 โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนนักศึกษา 1,000 คนจากเมียนมาให้ศึกษาในมหาวิทยาลัยทางออนไลน์ และทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในประเทศกัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย
แต่โครงการนี้กลับกลายเป็นหนึ่งในเหยื่อรายแรก ๆ ที่ถูกโจมตีอย่างเปิดเผยจากประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งแสดงจุดยืนต่อต้านทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วม โดยหนึ่งในประกาศแรก ๆ ของเขาในฐานะประธานาธิบดีคือการยกเลิกโครงการนี้ และยังกล่าวถึงโครงการอย่างเจาะจงอีกครั้งในการปราศรัยร่วมต่อรัฐสภาเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
“แม้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะกล่าวหาโครงการนี้อย่างผิด ๆ ว่าเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย แต่ความเป็นจริงนั้นไม่ใช่เลย นักศึกษาที่เราพูดคุยด้วยอธิบายว่าโครงการนี้เปรียบเสมือนสถานที่ปลอดภัยสำหรับพวกเขาในช่วงสงครามที่บ้านเกิด และเป็นการเติมเต็มความฝันของพวกเขา” โจ ฟรีแมน กล่าว
“โครงการนี้เปรียบเสมือนสถานที่ปลอดภัยสำหรับพวกเขาในช่วงสงครามที่บ้านเกิด
และเป็นการเติมเต็มความฝันของพวกเขา”
โจ ฟรีแมน นักวิจัยด้านเมียนมาของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
มิรันดา วัย 18 ปี กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลายตอนที่เกิดการรัฐประหาร และเช่นเดียวกับนักเรียนคนอื่น ๆ เธอได้เข้าร่วมการชุมนุมประท้วง โดยต่อมาครอบครัวของเธอได้หลบหนีไปยังเมียนมาตะวันออก ซึ่งเธอได้พบเห็นเหตุการณ์ยิงปะทะและการวางระเบิด ก่อนจะข้ามพรมแดนมายังประเทศไทยเพื่อหาที่พักพิงในที่สุด
มิรันดาซึ่งกำลังศึกษาปริญญาตรีด้านการจัดการการท่องเที่ยวในฟิลิปปินส์ กล่าวว่า “เมื่อฉันได้รับทุนการศึกษา DISP มันเปรียบเสมือนโอกาสทองสำหรับฉันที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง”
เธอเพิ่งเรียนจบภาคเรียนแรกเมื่อโครงการถูกยกเลิก ทำให้เธอกลายเป็นหนึ่งในบรรดานักเรียนหลายร้อยคนในภูมิภาคที่ไม่ได้รับการสนับสนุนต่อ
“ถ้าต้องกลับไปประเทศของเรา…เราคงจะต้องสูญเสียอีกครั้ง”
โอ๊คเลย์ นักศึกษาจากภาคกลางของเมียนมา เผชิญกับความท้าทายที่คล้ายคลึงกัน แต่เมื่อเขาได้รับทุนการศึกษา DISP ทำให้เขามีความหวังว่าอนาคตจะดีขึ้น
“ผมเคยประสบเหตุระเบิดและสงครามมากมายในหมู่บ้านของผม ซึ่งนั่นเป็นเรื่องเลวร้ายมาก” เขากล่าวกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล “ผมเชื่อว่านี่คือโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิต ผมรู้สึกตกใจและหมดหวังอย่างมาก”
นักศึกษาอย่างมิรันดาและโอ๊คเลย์หวาดกลัวที่จะกลับไปยังเมียนมา ซึ่งพวกเขาอาจถูกจับกุมเพราะสนับสนุนการประท้วงต่อต้านรัฐประหาร หรืออาจกลายเป็นเหยื่อของการโจมตีทางอากาศจำนวนมากของเมียนมา
“แม้ว่าเราอยากกลับเมียนมา แต่เราทำไม่ได้” โอ๊คลีย์กล่าว “สถานการณ์ในเมียนมาไม่ปลอดภัยอีกต่อไปแล้ว”
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ: [email protected]