บันทึกความทรงจำจาก "จะนะ" : พื้นที่แห่งวิถีชีวิตอันงดงามจนไม่อาจลืมได้ลง

9 กุมภาพันธ์ 2565

Amnesty International Thailand

เขียนโดย นฤมล คงบก และ ศุทธหทัย หนูหิรัญ นักศึกษาฝึกงานแอมเนสตี้ ประเทศไทย

หากพูดถึง “จะนะ” จังหวัดสงขลา เชื่อว่าคงมีคนเคยได้ยินและรู้จักกันมาบ้าง หรือชื่อนี้อาจไม่คุ้นหูสำหรับบางคน เราจึงอยากพาคุณที่กำลังอ่านได้เดินทางไปพร้อมกับเราซึ่งมีโอกาสได้ลงไปสัมผัสพื้นที่แห่งความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลจะนะ และได้สัมผัสกับอากาศอันแสนบริสุทธิ์ด้วยตัวเอง ในกิจกรรม Media Human Rights Tour การลงพื้นที่ส่งเสริมความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับสื่อมวลชน การเดินทางของเราในครั้งนี้ได้เปิดประตูให้เราเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ เกี่ยวกับวิถีชีวิตของพี่น้องชาวจะนะ หรือแม้แต่ความงดงามที่เราได้พบ จึงทำให้เราอยากเล่าเรื่องราวผ่านบทความ “บันทึกความทรงจำจาก “จะนะ” : พื้นที่แห่งวิถีชีวิตอันงดงามจนไม่อาจลืมได้ลง” เพื่อนำเสนอถึงเรื่องราวของอำเภอจะนะ ในมุมมองของเราที่พบเห็นมาจากการดำเนินชีวิตของผู้ที่รักและต้องการปกป้องบ้านเกิด

 

ก้าวแรกของการเริ่มทำความรู้จักกับ “จะนะ”

เรื่องราวของการเดินทางกำลังเริ่มต้นขึ้นเมื่อเราได้ก้าวเข้าสู่จังหวัดสงขลา ดินแดนที่อยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย โดยเป้าหมายของเราคือเพื่อมุ่งหน้าไปยัง อำเภอ ‘จะนะ’ นั่นจึงถือเป็นการเริ่มต้นของพวกเราที่แท้จริง เราได้สัมผัสกับ ‘วิถีชีวิต’ ของคนในพื้นที่ทันทีตั้งแต่ก้าวแรกที่ไปถึง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วการดำรงชีวิตของชาวบ้านเป็นการผสมสานเข้ากับทรัพยากรทางธรรมชาติที่นับตั้งแต่รุ่นสู่รุ่น และวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ของพี่น้องชาวจะนะ คือ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน หากบ้านไหนปลูกพืชผักสวนครัวก็จะนำมาแบ่งปันกัน หรือแม้แต่ของทะเลที่จับมาได้ก็ยังนำมาแบ่งปันให้แก่กัน “ใครไม่มีอะไรเราก็จะมาแลกเปลี่ยนกัน ใครไม่มีอะไร เราก็มาขอกัน แม้กระทั่งข้าวยังขอกันที่นี่ ‘วันนี้มีข้าวเย็นมั้ย’ หมายถึงว่าข้าวเหลือบ้างมั้ย อะไรแบบนี้ พอบอก 'มี ๆ มาเอา’  นี่คือวิถีชีวิต เป็นวิถีของคนที่นี่ เขาช่วยเหลือกัน เกื้อกูลกัน” มัยมูเนาะ หรือที่พี่น้องชาวจะนะเรียกกันว่า นิเนาะ เล่าให้เราฟังด้วยรอยยิ้มที่แฝงไปด้วยความอบอุ่น

 

ข้าวดอกราย อาหารท้องถิ่นตำบลสะกอม

 

อาหารท้องถิ่นของจะนะอย่าง ‘ข้าวดอกราย’ ซึ่งมีส่วนผสมของปลาย่างหรือปลาต้ม และสมุนไพรหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น ตะไคร้ หอมแดง พริกสด มะขาม และกะปิ ซึ่งเป็นวัตถุดิบตัวสำคัญของความอร่อย เพราะเป็นกะปิที่จะมีความหอมและมีความมันในตัวของกุ้งแบบสดๆ จากทะเลจะนะ แต่ข้าวดอกรายก็จะมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ‘ข้าวสามัคคี’ เพราะหากมีการทำข้าวดอกรายแต่ละครั้งพี่น้องจะนะจะพากันขนวัตถุดิบมาคนละชนิด สองชนิด แล้วมาล้อมวงทำกินด้วยกัน ซึ่งเป็นความน่ารักของพี่น้องชาวจะนะ และอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ของพี่น้องชาวจะนะที่มีส่วนผสมถึง 12 ชนิด คือ ‘คั่วเคย’ ซึ่งมีหน้าตาคล้ายๆน้ำพริก มีส่วนผสมของ ตะไคร้ พริก ข่า หัวกระชาย พริกไทย หัวหอม กระเทียม ขมิ้น หัวเปราะ และมะพร้าวทึนทึก โดยวิธีการทำคือตำส่วนผสมทุกอย่างเข้าด้วยกันเหมือนเครื่องแกงทั่วไป และนำเครื่องแกงไปผัดให้หอม คั่วเคยมีสรรพคุณช่วยขับลม บรรเทาอาการหวัด คัดจมูก และแก้เจ็บคอ

สิ่งเหล่านี้เป็นวิถีชีวิตของพี่น้องชาวจะนะที่มีการพึ่งพากับธรรมชาติ เพราะวัตถุดิบของอาหารล้วนมาจากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นที่จะนะ ซึ่งเราได้เห็นมากับตาของตัวเองและสัมผัสได้ถึงความสุข ความอบอุ่น ในการดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายผ่านการเล่าเรื่องของพี่น้องชาวจะนะ

 

มากกว่าหนึ่ง “อาชีพ” เลี้ยงปากท้องของพี่น้องชาวจะนะ

ความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่ในพื้นที่จะนะนั้น ไม่ได้เป็นแค่ความงดงามที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่สิ่งนี้เปรียบเสมือนการนำที่ทางให้พี่น้องชาวจะนะ ได้มีโอกาสสร้างรายได้ สร้างอาชีพ ที่ไม่เพียงแค่เลี้ยงคนหนึ่งคน แต่สามารถเลี้ยงได้หลายครอบครัว เพราะยังมีอาชีพอีกหลากหลายที่เชื่อมโยงอยู่กับวิถีชีวิตของพี่น้องชาวจะนะ โดยอาชีพหลักหนึ่งอาชีพนั้น สามารถกระจายรายได้ให้กับพี่น้องชาวจะนะอีกหลายคน และเท่าที่เราได้มีโอกาสได้เข้าถึงพี่น้องชาวจะนะ เหมือนกับว่าเราได้ค้นหาอาชีพที่ถูกซ่อนอยู่หรืออาจเป็นอาชีพที่คุณไม่คิดว่าจะได้พบในอำเภอจะนะ

 

“ท้องทะเล” ย่อมมาคู่กับ “การประมง”

รุ่งเรือง ระหมันยะ หรือบังนี นายกสมาคมรักษ์ทะเลจะนะ ได้เล่าให้เราฟังว่า เขาอยู่กับอาชีพประมงมาตั้งแต่จำความได้ เพราะในยามที่คลื่นลมทะเลสงบพ่อและแม่จะพาบังนีนั่งเรือประมงตั้งแต่ยังเด็ก ทำให้บังนีได้เห็นขั้นตอนการออกทะเล “เหมือนเป็นกีฬาชนิดหนึ่งที่ต้องมานั่งดู เมื่อดูเขาเสร็จเราก็ไปโรงเรียน” เรารับรู้และสัมผัสได้ถึงความผูกพันธ์กับอาชีพประมงตลอดการถ่ายทอดเรื่องราว ไม่เพียงเท่านั้นทะเลในสายตาของบังนี นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ทะเลไม่ใช่แค่ทะเล แต่เท่าที่เราได้รับฟัง ทะเลยังเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญสำหรับบังนีมาตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การดูลักษณะน้ำที่จะส่งผลกับปลา การดูคลื่นลม แม้กระทั่งการเรียนรู้อุปนิสัยของปลา นั่นจึงทำให้บังนีสามารถประกอบอาชีพประมงได้อย่างแข็งแกร่ง และถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์แก่ลูกหลานได้ เมื่อเราถามถึงรายได้จากการทำอาชีพประมงจากบังนีแล้วนั้น ก็ได้ทราบการทำประมงไม่ได้มีรายได้แน่นอนเหมือนกับการกรีดยาง แต่บังนีและพี่น้องชาวจะนะได้มีการเก็บข้อมูลเรื่องรายได้จากการออกทะเลกันมาก่อน คือ โดยเฉลี่ยแล้วจะได้ประมาณวันละ 1,000 บาท แต่เป็นรายได้ที่คิดจากแค่ 20 วัน เพราะวันศุกร์จะมีการทำศาสนกิจของศาสนาอิสลาม ทำให้ไม่ได้มีการออกทะเลกันเท่าไหร่ บังนีจึงได้กล่าวถึงอาชีพประมงว่าเปรียบเสมือนงานอดิเรกของพี่น้องชาวจะนะเสียมากกว่า

 

 

การทำประมงของพี่น้องจะนะไม่ได้มีแค่ชาวประมงที่ออกทะเล แต่ยังมีอาชีพที่ยึดโยงกันอีกมากมาย เช่น อาชีพถักอวน-ผ่าอวน-สาวอวน อาชีพปลดสัตว์ทะเล อาชีพปลดขยะทะเล สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นอาชีพของพี่น้องชาวจะนะทั้งสิ่น ซึ่งอันนี้ก็แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน อาชีพต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ได้มีการจำกัดอายุ อย่างม๊ะน่าดิย๊ะ ซึ่งมีอายุ 57 ปี ผู้ประกอบอาชีพการทำอวน ที่ตนได้ทำมาตลอดตั้งแต่หลังแต่งงาน พร้อมกับแนะนำให้เรารู้จักอวนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น อวนหมึก อวนกุ้ง อวนปู อวนปลาอินทรีย์ อีกทั้งม๊ะยังเล่าให้เราฟังว่าถ้านั่งทำทั้งวันก็มีรายได้แล้ว 500 บาทต่อวัน ถ้าเมื่อยม๊ะก็ลุกขึ้นเดินดูต้นไม้ใบหญ้าบริเวณบ้าน เมื่อหายเมื่อยก็กลับมานั่งทำต่อ “งานเราทำเมื่อไหร่ก็ได้ กลางคืนเราก็กลับมาทำได้ เพราะมันเป็นงานของเรา”

 

 

“อวนนี้คือ ภูมิปัญญาชาวบ้าน มีเฉพาะที่นี่ ที่อื่นทำไม่ได้ เฉพาะอวนที่ออกกลางคืน เค้าเรียกอวนใย ที่อื่นไม่มี เค้าทำกันไม่ได้ เป็นภูมิปัญญาเฉพาะคนที่นี่” หลังจากที่เราได้ดูวิธีการทำอวนแล้ว ก็ได้มาพบกับนิเดาะซึ่งกำลังนั่งสาวอวนอยู่ริมตลิ่ง ทำให้เราคิดขึ้นได้ว่านี่ก็เป็นครั้งแรกที่เราได้รู้จักกับ ‘อวน’ และนิเดาะยังบอกกับเราว่าอวนหนึ่งผืนสามารถกระจายรายได้ให้คนในหมู่บ้านได้หลายครอบครัว เพราะมีการจ้างทำอวน จ้างปลดอวน จ้างสาวอวน ทำให้พี่น้องชาวจะนะตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุจะมีรายได้กันอยู่ตลอด ซึ่งเราได้สัมผัสกับคำบอกเล่าของนิเดาะเมื่อเดินชมบรรยากาศริมตลิ่ง เพราะเราได้เห็นเด็กเล็ก ๆ ไปจนถึงผู้สูงอายุนั่งปลดกุ้ง ปลดปู ปลดขยะทะเล และสาวอวน หากเราจะเรียกว่าเป็นธุรกิจภายในครอบครัวก็ย่อมได้

 

“ทุ่งนา” ความงดงามที่อยู่เคียงข้าง “ท้องทะเล”

ทันทีที่เราได้เริ่มเดินทางไปยัง ตำบลป่าชิง อำเภอจะนะ ก็ได้พบกับพื้นที่หลายพันไร่ที่หลายล้อมไปด้วย ‘ทุ่งนา’ มันทำให้เราเกิดความรู้สึกตื่นเต้นและแปลกใจไปพร้อม ๆ กัน จนเราได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสกับผืนดินที่เต็มไปด้วยต้นข้าวพันธุ์ ‘ลูกปลา’ ตามคำบอกเล่าของพี่รัตน์หรือคุณเธียรรัตน์ แก้วนะ หนึ่งในสมาชิกเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นและยังเป็นเจ้าของท้องทุ่งนาแห่งนี้ด้วยเช่นกัน

 

 

“ในพื้นที่บ้านป่าชิงปลูกข้าวเป็นพันธุ์พื้นถิ่น คือ พันธุ์ข้าวลูกปลาที่มีมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย จากปู่ย่าแล้วก็มารุ่นพ่อรุ่นแม่แล้วก็สืบทอดมาที่พี่อีกทีนึง” บทสนทนาได้เริ่มต้นขึ้นกลางวงพูดคุยและนั่นก็เป็นการเริ่มต้นเล่าเรื่องของพี่รัตน์ โดยพูดถึงข้าวที่อยู่คู่กับคนในตำบลป่าชิงมานานแล้ว และยังเป็นข้าวสายพันธุ์เฉพาะของจะนะให้เราฟัง โดยวิธีการทำนาข้าวของที่นี่ต้องขึ้นอยู่กับน้ำฝนตามธรรมชาติเท่านั้น เพราะที่นี่ไม่มีแหล่งน้ำอย่างภาคอื่น ๆ ในการปลูกข้าว ทำให้ผลผลิตที่ออกมาไม่สามารถบอกได้เลยว่าจะมากหรือน้อย แต่มีข้าวออกมาอย่างแน่นอน แม้ต้องรอคอยธรรมชาติที่คาดเดาไม่ได้แต่ ‘ข้าว’ ก็ยังสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ เราได้ทราบจากพี่รัตน์ว่าข้าวสารขายได้ถึงกิโลกรัมละ 35-50 บาท

ไม่เพียงเท่านั้นพี่รัตน์ยังกล่าวถึงการรวมกลุ่มที่เกิดขึ้นของที่นี่ โดยใช้ชื่อว่า ‘กลุ่มจะนะแบ่งสุข’ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความคิดต่อยอดและเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวลูกปลา โดยการแปรรูปให้เป็นสินค้าต่าง ๆ ซึ่งเราเองก็ไม่คาดคิดว่าข้าวจะสามารถเป็นอะไรได้มากแค่ไหน จนเมื่อพี่รัตน์ได้เล่าให้เราฟังต่อว่า ขนมแสนอร่อยอย่างคุกกี้ ทองม้วนสด มีวัตถุดิบที่สำคัญและซ่อนเอกลักษณ์ให้กับขนมเหล่านี้คือ ‘แป้งข้าวลูกปลา’ นั่นเอง หรือแม้แต่ข้าวยำนอกกรอบ ข้าวกล้องงอกก็ล้วนมาจากฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ของคนจะนะทั้งสิ้น นอกจากนี้พี่รัตน์ยังบอกกับเราว่าที่จะนะมี ‘วันอนุรักษ์ข้าวลูกปลา’ ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวข้าว ซึ่งเป็นการรวมตัวทำกิจกรรมอย่าง ประกวดพันธุ์ข้าว แข่งขันตำข้าว ฝัดข้าว ตามแบบฉบับวิถีชีวิตดั้งเดิมที่อบอวลไปด้วยความสุข ตัดภาพมาที่คนฟังอย่างเรามันทำให้เรารู้สึกว่า ‘จะนะ’ เป็นพื้นที่ติดทะเลก็จริงแต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะมีเพียงแค่ทะเลเท่านั้นที่โอบอุ้มพี่น้องชาวจะนะทั้งหลายไว้ เพราะตำบลต่าง ๆ ที่กระจายอยู่นั้นย่อมมีความแตกต่างกันไปตามบริบทพื้นที่ของตนเอง เช่นเดียวกับตำบลป่าชิงพื้นที่แห่ง ‘ท้องทุ่งนา’ นั่นทำให้เราค้นพบอีกหนึ่งเสน่ห์ที่ถูกซ่อนไว้ในจะนะ

 

“ภูเขา ทุ่งนา และท้องทะเล” ส่วนหนึ่งของตำนานแห่งเสียงที่แสนไพเราะของ “นกเขาเล็กไทย”

‘กรงนกที่ถูกแขวนไว้หน้าบ้านตลอดสองข้างทางของถนน’ เชื่อว่าหลายคนกำลังสงสัย นั่นคงเป็นความรู้สึกเดียวกันกับเราในตอนที่เห็นครั้งแรก แต่แล้วความสงสัยของเราก็ได้คลายลงเมื่อได้รู้ว่าจะนะเป็นเมืองต้นกำเนิดของนกเขา และพี่น้องชาวจะนะล้วนแล้วแต่เลี้ยง ‘นกเขา’ ซึ่งนอกจากจะสร้างชื่อเสียงให้กับอำเภอจะนะแล้ว การเลี้ยงนกเขายังสร้างรายได้ให้กับพี่น้องชาวจะนะอย่างมหาศาล แต่เราก็ยังสงสัยต่อมาว่าแล้วทำไมจะนะถึงกลายเป็นพื้นที่ของการเลี้ยงนก เมื่อได้สอบถามกับคุณสะมะแอ มะขะเหร็น หรือที่ชาวจะนะเรียกกันว่า ยีหวัง ซึ่งเป็นรองประธานชมรมนกเขาของอำเภอจะนะ ได้บอกถึงสภาพภูมิศาสตร์ของจะนะให้เราฟังว่า “จะนะมีทั้งบรรยากาศ ภูเขา นา ทะเล ที่อยู่ ติดกันหมด นี่คือภูเขา ไปตรงนั้นก็นา ตรงนั้นก็ทะเล” เพราะบรรยากาศที่ดีจะทำให้นกเขามีเสียงขันที่ไพเราะ และเสียงที่ไพเราะก็นำมาซึ่งมูลค่าทางการตลาดของนกเขา

 

 

เราได้มีโอกาสเข้าไปอยู่ในวงล้อมการแข่งขันอันเต็มไปด้วยเสียงของนกเขา ที่สลับกันเปล่งเสียงแห่งความไพเราะที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละตัว และความโชคดีของเราก็ได้พบกับคุณลุงประกอบ จินตนา หรือที่รู้จักกันในนาม ‘ตำนานนกเขาแห่งจะนะ’ โดยคุณพ่อของคุณลุงประกอบเป็นผู้ริเริ่มการเพาะพันธุ์นกเขาในปีพ.ศ. 2491 พูดถึงเรื่องการฟังเสียงนกของชาวจะนะ คุณลุงประกอบเล่าว่าทุกบ้านจะเลี้ยงนกเขา ชาวจะนะทุกคนจึงได้ยินเสียงนกเขามาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ทำให้มีพรสวรรค์ในการฟังเสียงของนกเขา และคุณลุงประกอบยังฝากบอกถึงความเข้าใจผิดว่านกเขาที่จะนะไม่ใช่นกเขาชวา แต่เป็น ‘นกเขาเล็กไทย’ ซึ่งการเลี้ยงนกเขาสามารถสร้างรายได้ให้กับพี่น้องชาวจะนะอาทิตย์ละไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท ปัจจุบันวัยรุ่นส่วนใหญ่ในจะนะก็เริ่มมีการประกอบอาชีพเกี่ยวกับนกเขา เช่น ทำกรงนก ทำผ้าคลุมกรงนก จากการบอกเล่าของยีหวังและคุณลุงประกอบ ทำให้เรายิ่งอัศจรรย์ใจกับความมากมายหลากหลายทางอาชีพของพี่น้องชาวจะนะมากขึ้นไปอีกเท่าตัว

 

มอบความรักกลับคืนสู่ “ธรรมชาติ”

“ปี 57 เรามีเรือประมงประมาณ 60 ลำ ปี 2563 เราก็ทำการสำรวจพันธุ์ปลาเพิ่ม พบว่ามีปลาเศรษฐกิจมีทั้งหมด 181 ชนิด ซึ่งมันเพิ่มขึ้นมา จากที่มีเรือประมง  60 ลำ ตอนนี้เพิ่มเป็น 86 ลำ” เราขอย้อนกลับมาในตอนที่ได้ฟังเสียงนี้จากบังนี สะท้อนให้เราเห็นภาพความสมบูรณ์ของสัตว์ระบบนิเวศในทะเล เช่น ปลาการ์ตูน ปลาเสือ กุ้ง หอย ปู และสัตว์ทะเลที่หายากอย่างโลมา เต่า ฉลามวาฬ ความอุดมสมบูรณ์ทางทะเลเหล่านี้มาจากฝีมือของกลุ่มดูแลทรัพยากรธรรมชาติในนามของเครือข่าย ‘สมาคมรักษ์ทะเลจะนะ’ สมาชิกในเครือข่ายนั่นก็คือคนในอำเภอจะนะ ประกอบไปด้วย 3 ตำบล 3 หมู่บ้านในอำเภอจะนะ คือ นาทับ ตลิ่งชัน และสะกอม

 

 

‘พี่น้องชาวจะนะรักทรัพยากรของตัวเองมาก’ เราเชื่ออย่างนั้น ด้วยถ้อยคำของบังนีที่เล่าย้อนไปในอดีตช่วงปี 2557 ที่ได้เริ่มการอนุรักษ์ท้องทะเลให้เหมาะสมกับว่า ‘สมบูรณ์’ โดยมีกิจกรรมที่ช่วยฟื้นฟูทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็น การสำรวจ เก็บข้อมูล สร้างโครงการธนาคารปู ปลูกบ้านให้ปลา และทำกันเรื่อยมาจนทุกวันนี้จึงส่งผลให้ระบบนิเวศในท้องทะเลจะนะได้รับการฟื้นฟูและดีขึ้นเรื่อย ๆ ‘ทะเลเหมือนตู้ ATM’ คำเปรียบเปรยบจากบังนีที่จะบอกเราว่าอยากไปเบิกอาหารเมื่อไหร่ก็ได้ แต่สำหรับเราพี่น้องชาวจะนะไม่ใช่แค่เบิกออกเท่านั้น พวกเขายังคอยสร้างและฝากกลับเข้าไปให้ ATM นี้ยั่งยืนต่อไป เราเองจึงอดคิดไม่ได้ว่าสิ่งนี้คงเป็นความรักรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้น สำหรับพี่น้องชาวจะนะ ‘ธรรมชาติ’ คงเป็นมากกว่าความผูกพันธ์ด้วยซ้ำ ไม่ใช่แค่อยู่ด้วยกันมานาน ไม่ใช่แค่ต้องการผลผลิต หรือเป็นช่องทางหารายได้เท่านั้น แต่พี่น้องชาวจะนะเลือกที่จะดูแล ฟื้นฟู อนุรักษ์ และคอยเติมเต็มคำว่า ‘อุดมสมบูรณ์’ กลับคืนสู่ธรรมชาติเสมอ

 

ทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิม “ถ้าเราต้องเปลี่ยนไป”

ในปี 2562 ทันทีที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ จะนะ ถูกรับเลือกเป็น “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” แห่งที่ 4 โดยถูกเพิ่มลงในโครงการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ที่กำเนิดขึ้นในปี 2559 นั่นหมายความว่า จะนะ ไม่อยู่ในแบบแผนนี้ตั้งแต่แรก แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับที่นี่         อะไรจะเปลี่ยนแปลงไป จะเกิดกระทบหรือไม่ เราเองคงตอบคำถามนี้ได้ไม่ดีพอจึงอยากนำเสนอผ่านมุมมอง ความรู้สึกของพี่น้องจะนะเพราะเสียงของพวกเขาคงเป็นคำตอบที่สำคัญมากที่สุด

 

 

“ถ้าอุตสาหกรรมเกิดขึ้นแน่นอนว่าทะเล หมู่บ้าน จะเป็นแค่เรื่องเล่าให้ลูกหลานฟัง คือม๊ะไม่อยากให้เกิดกรณีแบบนี้ ไม่อยากให้แค่มันเป็นเรื่องเล่าแค่เพียง 'ลูกเอ้ย หลานเอ้ย เมื่อก่อนนะทะเลบ้านเรานั้นสมบูรณ์มาก'.. ไม่อยากได้ยิน ไม่อยากได้ยินคำนี้” บทสนทนาที่จริงจังเกี่ยวกับ ‘อุตสาหกรรม’ น้ำเสียงและแววตาของม๊ะสุใบเดาะ ผกาเพชรหนึ่งในนักรบผ้าถุง ทำให้เราจดจำภาพนั้นได้เป็นอย่างดี มันแฝงไปด้วยอารมณ์และความรู้สึกสะเทือนใจ หากอุตสาหกรรมเข้ามาแล้วจะทำให้เรื่องราว วิถีชีวิตในพื้นที่จะนะ กลายเป็นเพียงความทรงจำของคนในพื้นที่เท่านั้น

ตัวแทนแห่งตำนานนกเขาอย่าง คุณลุงประกอบ จินตนา ได้กล่าวว่า “สารเคมีจากโรงงานที่เขาเอาเข้ามาจะกระทบกับสิ่งมีชีวิตทั้งหมดนั่นแหละ ไม่ว่าจะเป็นคน หรือสัตว์ทุกชนิด” 

 

 

 “เราอยากให้เปรียบเทียบอย่างนี้มากกว่าคือตอนนี้บ้านเรายังไม่มีนิคม ทุกอย่างยังอยู่เป็นปกติตามฤดูกาลของมันแต่จากการที่เราไปศึกษาดูงานที่อื่นไม่ว่าจะเป็นนิคมที่ไหนก็แล้วแต่ปรากฏว่าที่ไหนที่มีนิคม ยิ่งถ้ามีท่าเรือด้วยมันจะเป็นอุปสรรคและก็เป็นปัญหากับชาวประมงมาก” บังนีพูดในฐานะชาวประมงและบอกกับเราอย่างใจเย็น เพราะเขาไม่สามารถกล่าวได้ว่าการสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะเกิดความเสียหายให้กับพื้นที่จะนะมากน้อยแค่ไหน แต่เลือกที่จะเปรียบเทียบจากการได้เรียนรู้ของตนเอง เราจึงค่อย ๆ เห็นภาพว่าอาชีพประมงจะเป็นอย่างไรต่อไปหากมีอุตสาหกรรมเกิดขึ้น

“ถ้าจะนะขึ้นชื่อเรื่องอุตสาหกรรม คนที่มาแค่เรื่องอุตสาหกรรมไหม เราอยากให้ขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งการเกษตร เป็นแหล่งอาหาร พวกนี้เราตั้งใจอย่างงั้น อยากให้จะนะเป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นแหล่งผลิตอาหาร” พี่รัตน์เจ้าของผืนนาข้าวลูกปลา บอกความตั้งใจของตนเองออกมาให้เราฟัง หากอุตสาหกรรมเข้ามานาข้าวและการเกษตรจะอยู่อย่างยากลำบาก พี่รัตน์ยืนยันกับเราแบบนั้น หากเป็นเช่นนั้นจริง ความปรารถนาของพี่รัตน์ที่ต้องการให้ท้องทุ่งนาของจะนะเป็นพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวเชิงศึกษาของชุมชน คงจางหายไปด้วยเช่นกัน นั่นคงเป็นสิ่งที่น่าสะเทือนใจที่สุดสำหรับเรา

 

“เสียงของพวกเขา” ดังออกมาเพื่อสื่อสารกับ “การพัฒนา” ในอนาคต

“เราต้องคุยกัน โดยให้นักวิชาการที่ถูกยอมรับทั้งสองฝ่ายมาตกลงกัน และมาดูว่าจะนะมันเหมาะจะเป็นอะไร มันจะเจริญไปด้านใด ทำยังไงให้คนจะนะที่มีจำนวนในพื้นที่เฉพาะ 3 ตำบล มีอยู่ประมาณ 30,000 คน เขามีงานทำ เราต้องศึกษากัน และหาคำตอบว่าจำเป็นไหมที่ต้องสร้างท่าเรือ” เสียงจากครูกอเฉม สะอุ ท่ามกลางวงสนทนาของกลุ่มนักรบผ้าถุง สะท้อนว่าพี่น้องชาวจะนะไม่ได้คัดค้านการสร้างนิคมอุตสาหกรรมแบบหัวชนฝา แต่พี่น้องชาวจะนะต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบชุมชนของตนเองตามรูปแบบของ ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ อย่างแท้จริง ซึ่งเราเข้าใจว่าครูกอเฉมต้องการให้รัฐบาลคำนึงถึงผลประโยชน์ของพี่น้องชาวจะนะเป็นอันดับแรก เพราะพี่น้องชาวจะนะมีอาชีพหลักของตัวเองอยู่แล้ว หากจะมีการพัฒนาที่เกิดขึ้นจากนิคมอุตสาหกรรม หมายความว่าอาชีพและวิถีชีวิตของพี่น้องชาวจะนะต้องยังคงอยู่ไว้ดังเดิม หรือเกิดการพัฒนาขึ้นในรูปแบบใหม่ที่ผลประโยชน์จะเกิดขึ้นกับพี่น้องชาวจะนะ

 

 

 

เมื่อวิถีชีวิตของพี่น้องชาวจะนะซึ่งผูกพันกับธรรมชาติมาตลอด แต่อยู่มาวันหนึ่งกลับได้รับรู้ว่าพื้นที่ของตนเอง อาจถูกแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมของพี่น้องชาวจะนะที่มีวิถีการดำเนินชีวิตตามแบบศาสนาอิสลาม “อะไรจะเกิดขึ้นกับบ้านของเขา แล้วพวกเราจะหากินอะไร หรือว่าหาดสวยที่ยาวไปมันจะยังอยู่ไหมหากอุตสาหกรรมเกิดขึ้น แล้วอากาศล่ะ ถ้าเกิดนิคมอุตสาหกรรมขึ้นเราจะมีอากาศบริสุทธิ์แบบนี้อีกไหม นกเขาชวาที่ตัวเป็นล้าน ๆ เค้าจะอยู่ได้มั้ย เรามาศึกษากันก่อน เราไม่ได้คัดค้านแบบว่า ไม่เอา เราไม่เอา ไม่ใช่.. ไม่ใช่แบบนั้น ให้มาศึกษากันก่อนว่า ถ้าเกิดขึ้นผลกระทบเป็นอย่างไร” การตั้งคำถามของสุใบเดาะ ผกาเพชร์ หรือนิเดาะ หนึ่งในสมาชิกนักรบผ้าถุง สะท้อนว่าแท้จริงแล้วพี่น้องชาวจะนะไม่ได้ต่อต้านการสร้างนิคมอุตสาหกรรม แต่พี่น้องชาวจะนะอยากให้รัฐบาลเข้ามาพูดคุยกับเจ้าของพื้นที่ เพื่อศึกษาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับ ‘บ้าน อาชีพ และการดำรงชีวิต’ ของพวกเขา

“แต่ทำยังไงที่ว่าเราจะต้องให้เค้าเข้าใจใช่มั้ยว่าให้กระทบน้อยที่สุด หรือว่าให้เขาเอาสิ่งอื่นเข้ามาช่วย เช่น การปลูกป่าเพิ่ม ให้อากาศมันสดชื่น ให้มันได้ออกซิเจนจากต้นไม้ หรือว่าทำสิ่งแวดล้อมที่ให้มันกลับตัวเข้ากับพวกนกเขาได้ ผมว่ามันก็เป็นเรื่องที่ดี อันนี้ต้องทำความเข้าใจกับผู้บริหารในด้านที่จะมาลงทุนทำโรงงานในพื้นที่ตรงนี้” คำกล่าวของคุณลุงประกอบที่แสดงให้เห็นว่าคุณลุงไม่ได้คัดค้านการสร้างนิคมอุตสาหกรรม แต่คุณลุงต้องการเสนอแนะวิธีการแก้ไขปัญหาที่อาจะสร้างผลกระทบให้กับความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่จะนะ และในขณะที่เราได้ฟังคุณลุงเล่าเรื่องราวการแข่งขันนกเขาในชุมชนของจะนะ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สร้างความสามัคคี ความรักใคร่กลมเกลียวให้กับพี่น้องในชุมชนจะนะ และยังมีการแข่งขันกันในระดับอาเซียน โดยคุณลุงประกอบอยากให้การแข่งขันนกเขากลายเป็นเกมกีฬา ที่สามารถสร้างกติกาอย่างถูกต้องขึ้นมา เพื่อเป็นการต่อยอดไประดับยุโรปหรือระดับโลก ซึ่งทำให้เราคิดว่าหากหน่วยงานรัฐเข้ามาสนับสนุนกิจกรรมของพี่น้องชาวจะนะ จะเป็นการสร้างผลประโยชน์ให้กับประเทศได้มากมายอย่างแน่นอน

จากการตั้งเครือข่ายสมาคมรักษ์ทะเลจะนะของ 3 ตำบล นอกจากเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรแล้ว บังนียังต้องการให้รัฐบาลเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเรื่องเครื่องมือทำลายล้างเครื่องมือผิดกฎหมาย และไม่สามารถตกลงกันได้ภายในชุมชน บังนีได้บอกกับเราว่าทะเลจะนะเป็นทะเลแบบเปิด คือ ไม่มีการห้ามจับสัตว์น้ำ ซึ่งการแก้ไขปัญหาในปัจจุบันเป็นการสร้างธนาคารปูขึ้นภายในตำบลนาทับ และตำบลสะกอม โดยให้พี่น้องชาวจะนะนำปูมาฟักไข่แล้วปล่อยลงสู่ทะเล แต่การแก้ไขปัญหาที่บังนีต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาลเพิ่มเติม คือการกักกันบริเวณ และการไม่จับปลาในช่วงฤดูวางไข่ ซึ่งบังนีได้ให้เหตุผลกับเราว่า “องค์กรที่เข้มแข็งและมีหน่วยงานรัฐเข้ามาเสริม มันก็จะยิ่งเสริมความแข็งแรงขององค์กร และเพิ่มขีดความสามารถในการอนุรักษ์ของเรา เราก็เลยคิดว่าอนาคตต่อไปข้างหน้าเราจะจดแจ้งชุมชนชายฝั่งแล้วก็ตั้งขอบเขตอนุรักษ์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น”

 

“จะนะ” ยินดีที่ได้รู้จัก.. และหวังว่าจะพบกันอีกครั้งในวันที่งดงามกว่าเดิม

 

 

 

การเดินทางไปพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ของเราในครั้งนี้ นอกจากจะได้สูดอากาศบริสุทธิ์ ได้เห็นความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล และความสวยงามของท้องทุ่งนาแล้วนั้น เรายังได้รับประทานอาหารทะเลสด ๆ จากทะเลจะนะ และอาหารที่เป็นแบบเฉพาะถิ่น อีกทั้งยังได้รับรู้ข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งเราต้องขอขอบคุณนิเนาะ (มัยมูเนาะ ชัยบุตรดี), นิเดาะ (สุใบเดาะ ผกาเพชร), ม๊ะน่าดิย๊ะ มะเสาะ คุณครูกอเฉม สะอุ, ยีหวัง (สะมะแอ มะขะเหร็น), คุณลุงประกอบ จินตนา, ก๊ะอัสมา, บังนี (รุ่งเรือง ระหมันยะ), พี่รัตน์ (เธียรรัตน์ แก้วนะ) และพี่น้องชาวจะนะทุกคนที่ให้การต้อนรับเราอย่างอบอุ่น หากมีโอกาส ‘จะนะ’ จะเป็นสถานที่ที่เราจะกลับไปเยี่ยมชมความสวยงามอีกครั้งอย่างแน่นอน