“เบนจา อะปัญ” : วันหนึ่งแสงดาวจะส่องพราวบนฟ้าไทย

6 ตุลาคม 2564

Amnesty International Thailand

คืนวันนั้นเบนจากำลังวุ่นวายกับช่วงเวลาใกล้สอบของเธอ กว่าที่เราจะได้คุยกันจึงเป็นเวลาพลบค่ำ เธอกล่าวขอโทษกับตารางชีวิตที่แสนวุ่นวาย แต่เราเข้าใจดีว่าช่วงใกล้สอบของนักศึกษา เขาและเธอต้องเผชิญกับอะไรบ้าง และมันจะยิ่งวุ่นวายมากขึ้นไปอีกเมื่อเธอต้องวิ่งเข้าออกประตูหน่วยงานราชการของไทย ด้วยคดีที่ประเดประดังเข้ามาไม่เว้นแต่ละวัน 

 

นอกเหนือไปจากการเป็นนักกิจกรรมแล้ว เบนจาเป็นนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ อินเตอร์ (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

“ชีวิตมันเปลี่ยนไปมากเลย จริง ๆ เราให้ความสำคัญกับเรื่องเรียนมาก ๆ ในชีวิตเลย แต่ตอนนี้เราต้องลดเวลาในการใช้ชีวิต ลดเวลาในการเรียน ที่ไม่ใช่เป็นเพราะเรื่องของการเคลื่อนไหว แต่มันเป็นเพราะผลกระทบจากคดีต่าง ๆ ที่เราได้มาจากการเคลื่อนไหว อย่างถ้าเราเป็นเด็กกิจกรรมในมหาลัย เราคงแบ่งเวลาได้ดีกว่า แต่พอมันเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีคดีพ่วงมาด้วย เราปฏิเสธมันไม่ได้เลย ว่าจะไม่ไปรับทราบข้อกล่าวหา” 

 

สำหรับเบนจาแล้ว เธอไม่ใช่ยอดมนุษย์ ไม่ใช่คนที่จะมีมุมที่ต้องถือไมค์เพื่อปราศรัยตลอดเวลา ในมุมหนึ่งเธอคือเยาวชนที่ชอบหนังเรื่องจูโน่ อยากส่งเพลงเพื่อนเล่นไม่เล่นเพื่อน (Tilly Birds) ให้คนที่ชอบ และเคยปีนรั้วโรงเรียนเพื่อโดดเรียนไปเดินสยาม – เธอคือคนธรรมดาแบบนั้น วันนี้เราจึงขอชวนเบนจามาคุยกันในบทความชุด “Only The Young เมื่อความหวังถูกจุดด้วยมือของคนรุ่นใหม่” เพื่อพาคุณไปรู้จักผู้หญิงผมสีสดคนนี้ให้มากกว่าที่เคย 

  

ว่าด้วยเรื่องของอวกาศ

เบนจา อะปัญ มีความฝันอยากเป็นนักบินอวกาศ  

“เราชอบดูท้องฟ้า ชอบนั่งมองท้องฟ้ามาก ๆ แล้วก็จะสงสัยไปเรื่องว่ามันเป็นยังไงกันนะ” เบนจาเริ่มต้นเล่าให้เราฟัง แม้ไม่ได้เห็นหน้ากัน แต่เรารับรู้ได้ผ่านน้ำเสียงว่าตอนนี้เธอกำลังยิ้ม แม้ในปัจจุบัน ประเทศไทยจะเต็มไปด้วยแสงรบกวนทำให้เราไม่อาจเห็นดาวได้มากเท่าไรนัก แต่เมื่อได้คุยกัน น่าแปลกที่เราเองก็มองเห็นดาวไปพร้อมกันกับเธอ 

 

“เราชอบคิดว่าตอนนี้เราหันหน้าไปทางไหน มันมีดาวอะไรอยู่เหนือหัวเรา สิ่งที่เราชอบที่สุดคือการค้นคว้าไปเรื่อย ๆ อะไรก็ได้ที่เป็นการศึกษาค้นคว้าและสำรวจอวกาศ เช่น การสำรวจดาวอังคาร แล้วก็เลยอยากเป็นวิศวะ เพื่อที่เราจะได้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องยนต์ที่จะได้ออกไปนอกโลก”

 

เบนจาบอกว่า เธอฝันอยากเป็นนักบินอวกาศมาตั้งแต่เด็ก เพื่อที่จะได้ออกไปนอกโลก ทว่าเมื่อเติบโตขึ้นมา ก็ได้รับรู้ว่าการเป็นนักบินอวกาศนั้นเต็มไปด้วยข้อจำกัดและมีความเป็นไปได้ที่ยากเกินไป เนื่องจากมีเรื่องของสัญชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยประเทศที่ได้ไปอวกาศนั้นมักจะให้โอกาสกับนักบินที่มีสัญชาติของประเทศนั้น ๆ 

 

“ก็เลยคิดว่า ถ้าเราไปอวกาศไม่ได้ เราขอเป็นส่วนหนึ่งในการออกนอกโลกก็ได้ นี่เลยเป็นเหตุผลที่ทำให้เราอยากเรียนวิศวะ”

 

เบนจาพบว่า เมื่อเธอศึกษาเรื่องของอวกาศ เธอก็ได้อ่านบทความของต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยี นวัตกรรมต่าง ๆ ที่สะท้อนกลับมาในประเทศไทย นำมาสู่คำถามว่า ‘ทำไมเราไม่มีเหมือนเขาบ้าง’ และทำให้เธอรู้สึกว่าประเทศนี้ต้องการการพัฒนา

 

“ถ้าการเมืองดี การที่ประเทศเราจะไปดวงจันทร์มันจะไม่ใช่เรื่องเพ้อเจ้อเลย เพราะเราเชื่อว่ามนุษย์ต้องศึกษาหาความรู้ใส่ตัวเองอยู่เสมอ การไปสำรวจนอกโลกมันก็คือการศึกษาของมนุษย์เหมือนกัน แต่พอเป็นประเทศไทยแล้ว เรากลับรู้สึกว่าเรื่องเหล่านี้มันเกินจินตนาการและความฝันของเรา เพราะในเรื่องพื้นฐาน เช่น ถนนเรียบ หรือว่าระบบการคมนาคมต่าง ๆ ประเทศเราก็ยังไปไม่ถึงไหนเลย” 

 

รงเรียนกับเบนจา

เบนจาเป็นคนที่ชอบเรียนหนังสือ เธออยู่ในกลุ่มเพื่อนที่เป็นเด็กเนิร์ด แต่จะซนกว่าเพื่อนหลาย ๆ คนในกลุ่ม อย่างไรก็ตาม เธอเป็นอีกหนึ่งคนที่โดนเรียกเข้าห้องปกครองตั้งแต่สมัย ม.1 เพราะทรงผมของเธอ 

 

“ตอนนั้นกลัวมาก มีปัญหากับอาจารย์ตั้งแต่เข้า ม.เลย เพราะโรงเรียนยังมีกฎให้ไว้ผมสั้นอยู่ เราเข้าห้องปกครองทุกปี เพราะเรื่องทรงผมเรื่องเดียว จนต้องไปรายงานตัวทุกเช้า เพื่ออาจารย์อยากดูพัฒนาการทรงผมเรา”

 

ตอนนั้นเบนจาทำผมยังไงนะ?

 

“เราซอยผม แต่โรงเรียนห้ามซอยผม ห้ามไว้หน้าม้า.. คือจริง ๆ นะ เรามาโรงเรียนก็ต้องมีสังคมนิดหนึ่ง เวลามาเรียนเราก็อยากมั่นใจสักหน่อยรึเปล่า ถ้ามาโรงเรียนแล้วไม่มั่นใจ เราก็คงไม่ได้อยากอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนั้น เรารู้สึกว่าทรงผมมันไม่เกี่ยวกับการเรียนเลย โรงเรียนเอกชนหลาย ๆ ที่เขาก็ให้ไว้ผมยาว มีแต่โรงเรียนในไทยนี่แหละที่ยังบังคับเรื่องทรงผมอยู่” 

 

เมื่อจบ ม.3 เธอก็ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดม ในกรุงเทพมหานคร ที่คราวนี้เธอสามารถไว้ผมหน้าม้าและไว้ผมยาวได้แล้ว ในตอนนั้น เบนจาเป็นเด็กกิจกรรมในชมรม เธอช่วยดูเบื้องหลังละครเวที และการแสดงเพื่อต้อนรับน้องใหม่ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้เธอได้เข้าไปสู่การเป็นนักกิจกรรมในเวทีการเมืองไทยเช่นเดียวกัน

 

“เราเริ่มสนใจเรื่องการเมืองตั้งแต่ตอนมัธยมปลายเลย เราสนใจเรื่องพลวัตการเมืองไทย ติดตามข่าวว่ารัฐบาลทำอะไรไว้บ้าง แต่ยังไม่ได้ไปเรียกร้องอะไร จำได้ว่าตอนนั้นเพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์) เริ่มต้นเคลื่อนไหวแล้ว”  

 

หลังจากที่จบเตรียมอุดมฯ เบนจาได้ก้าวเข้าสู่รั้วมหาลัยแห่งแรก คือคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ก่อนที่ในเดือนสิงหาคม ปี 2562 เธอได้เริ่มต้นทำกิจกรรมการเมืองอย่างเต็มตัว ด้วยความที่อยากทำกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนสังคม 

 

หลังจากนั้น เบนจาได้ย้ายมาเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้ขึ้นเวทีแรกที่ม็อบตุ้งติ้งที่สีลม โดยหัวข้อการปราศรัยแรกที่เธอพูด คือเรื่อง “วงการวิทยาศาสตร์กับผู้หญิง”

 

“เรามักจะเห็นว่าผู้ชายมีบทบาทในวงการวิทยาศาสตร์มากกว่าผู้หญิง แม้ปัจจุบันผู้หญิงในวงการนี้จะมีมากขึ้นก็ตาม แต่ถ้าเราย้อนกลับไปแล้ว เราจะเห็นว่ามีแต่ผู้ชาย ชื่อของผู้หญิงจะโผล่มานิดเดียวเอง 

เราตั้งคำถามตอนที่เจอโปสเตอร์กิจกรรมของคณะเก่า บนโปสเตอร์กิจกรรมของคณะ ที่ให้ศิษย์เก่ามาเป็นผู้ช่วยสอน (Mentor) ให้คณะ และในลิสต์นั้นมีแต่ชื่อผู้ชาย เราก็ไม่เข้าใจว่าทำไมวงการวิศวะถึงมีแต่ผู้ชายจริง ๆ หรอ ทำไมเราไม่ค่อยเห็นบทบาทของผู้หญิงในหน้าตาของวงการวิทยาศาสตร์  ทำไมเราถึงต้องเจอกับคำถามว่า พอเป็นผู้หญิงแล้ว ถึงจะเรียนวิศวะไม่ได้ ทำไมคนเราต้องมาแบ่งขีดกันแค่เพราะเรื่องเพศด้วย”

 

แม้ในสังคมปัจจุบันที่เธอต้องพบเจอ เบนจาจะไม่มีเพื่อนที่มีอคติทางเพศ จากการล้อมรอบไปด้วยกลุ่มคนที่พร้อมขับเคลื่อนเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ แต่เธอก็มองเห็นว่าที่ผ่านมาผู้หญิงในหลายมิติเองมักจะโดนกด แม้จะออกมาเคลื่อนไหวเป็นจำนวนไม่น้อย แต่ผู้ชายมักจะเป็นภาพที่โดดเด่นในขบวนการเคลื่อนไหว ซึ่งกลุ่มของเธอเองก็พยายามที่จะให้ความสำคัญกับการให้สัดส่วนทางเพศของผู้ปราศรัย เพื่อจะได้เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เกิดความเท่าเทียม 

 

สำหรับการเมืองในภาพใหญ่ เบนจามองว่าการเมืองในสภา ยังคงมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ชาย ที่พูดกับสมาชิกสภาราษฎรหญิง ด้วยการใช้สรรพนามที่สะท้อนให้เห็นทัศนคติที่มีต่อผู้หญิงเช่นกัน ด้วยคำพูดที่ทำให้เห็นมุมมองว่าผู้หญิงไม่มีความสามารถเท่ากับผู้ชาย หรือแม้กระทั่งแนวคิดของสังคมที่มีภาพจำว่าผู้หญิงเก่งภาษาแต่ไม่เก่งคำนวณก็ยังคงมีอยู่

 

“ซึ่งมันไม่เกี่ยวด้วยซ้ำ แต่ว่าเราก็ต้องค่อย ๆ ปรับกันไปแหละค่ะ ด้วยฐานความคิดว่าทุกคนเท่าเทียมกัน เราจะปฏิบัติ (treat) ต่อทุกคนเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศอะไรก็ตาม” 

 

 

คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย

“เราเคยโดนว่า เป็นแค่นักศึกษา ไปตั้งใจเรียนเถอะ เปลี่ยนอะไรไม่ได้หรอก จากในโซเชียลมีเดีย”เบนจาเล่า เมื่อเราถามว่าเธอเคยโดนแสดงความคิดเห็นแบบไหนต่อเรื่องการเคลื่อนไหวบ้าง

 

“แล้วเราก็เคยเจอคำพูดจากศาล ที่บอกว่าสิ่งที่เพื่อนเราทำมันผิด เพราะมันคือเรื่องของการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ ตอนเรารณรงค์ให้ปล่อยเพื่อนเรา เราก็โดนเรื่องละเมิดอำนาจศาล เขาบอกว่ามันผิด แต่ไม่ได้มองลึกไปกว่านั้นเลยว่าเราทำเพราะอะไร”

 

แต่ที่ยังไม่หยุดเคลื่อนไหว เป็นเพราะเธอมองเห็นว่าประเทศยังไม่ถึงจุดที่พัฒนา และอีกหลายปัญหาต้องได้รับการแก้ไข แม้ความตั้งใจนี้จะทำให้ชีวิตของเบนจาต้องเปลี่ยนไป แต่เธอก็ยังยืนยันที่จะสู้ต่อ 

 

“เราว่าทุกวันนี้ ภารกิจสำคัญของคนไทยหลาย ๆ คน ไม่ใช่การหาความสุขให้ชีวิตอีกต่อไปแล้ว แต่คือการทำยังไงให้ตัวเราไม่ตาย” เบนจากล่าว 

 

“ทุกวันนี้เรากลัวความผิดหวังมากที่สุด เรากลัวคนผิดหวังกับเรา มันคือความกลัวในใจเล็ก ๆ เรากลัวหลาย ๆ คนผิดหวังท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ย่ำแย่ ว่าทำไมสู้กันมาขนาดนี้แล้วเรายังไม่ชนะ มันก็เกิดเป็นความเครียดขึ้นมา” 

 

นอกเหนือไปจากการกลัวความผิดหวัง เบนจาต้องเผชิญกับการมองเห็นเพื่อนของตัวเองถูกคุมขังในเรือนจำ เธอจำได้ว่าครั้งแรกที่ต้องเจอกับสถานการณ์นี้ คือคืนวันที่ 14 และ 15 ตุลาคม 2563 

 

ตอนนั้นเพนกวินโดน รุ้งโดน แล้วก็นัทโดน เราช็อคมากที่เพื่อนถูกจับไป และมันต้องตั้งสติมากว่าเราจะเอายังไงกันต่อ เรื่องเพื่อนก็ส่วนหนึ่งที่ว่าเพื่อนเราโดนจับไปนะ ส่วนเรื่องต่อมาคือแล้วขบวนการล่ะ เราจะเอายังไงกันต่อ เราต้องไปกันต่อโดยไม่มีเพื่อนถูกไหม มันเป็นความกังวลใจสองด้านมาก ๆ 

 

ปกติเราเคลื่อนไหวกับเพื่อนๆ เราคิดกันอยู่ด้านเดียว แค่ว่าขบวนการจะไปยังไง เราจะทำอะไรกันบ้าง แต่พอเมื่อไหร่ที่มันมีคนถูกจับ เมื่อนั้นมันจะเริ่มมีความกังวลใจเพิ่มเข้ามา 

 

ในแต่ละวันที่พระอาทิตย์ขึ้น มันหมายความว่าเพื่อนเราต้องติดคุกอีกหนึ่งวัน แล้วเราทำอะไรไม่ได้ ในเรื่องของเพื่อนมันก็ดูเหมือนสิ้นหวัง แต่เพื่อนที่เข้าไปก็จะบอกว่าให้เราสู้กันต่อ  พูดจริงๆ ว่าเราเองก็รู้สึกว่า ไม่ได้ พวกมึงต้องออกมา ไม่ใช่ว่าแบบเราเคลื่อนกันต่อโดยไม่มีพวกเขาไม่ได้นะ มันทำได้ แต่ว่าจิตใจเราก็ไม่โอเคหรอก ถ้าให้เราต้องมองข้ามเรื่องเพื่อนไปการเมืองหลักอย่างเดียว

 

 ยังไงเรื่องเพื่อนก็เป็นเรื่องที่ติดอยู่ในใจเราทุกวันทุกวินาทีว่ายังมีคนยังอยู่ในนั้นนะ ซึ่งจริงๆ แล้วเราไม่จำเป็นต้องมาเซฟเพื่อนด้วยซ้ำ เพราะมันไม่ควรมีใครเข้าไปอยู่ในนั้นตั้งแต่แรก มันไม่ควรมีใครต้องถูกเอาไปขังคุก แค่เพราะว่า ออกมาเรียกร้อง ให้ประเทศมันเปลี่ยนแปลงและพัฒนาขึ้น มันไม่ควรมีใครต้องถูกทำแบบนี้เลย

 

อย่างไรก็ตาม เธอยืนยันว่าเธอยังมีความหวัง

 

“เราอยากให้ทุกคนอดทน เราเข้าใจถ้าพูดอย่างนี้แล้วคนจะโกรธ ว่าทุกวันนี้เรายังอดทนไม่มากพออีกเหรอ เราอยากให้ทุกคนอดทน หลาย ๆ คนอาจมองว่า เราสู้กันไปอย่างนี้เราจะชนะไหม ซึ่งเราอยากให้มองถึงอนาคตที่มันจะเกิดขึ้นได้จากการเคลื่อนไหว

 

ถ้าเรามองในแง่ของการเปลี่ยนแปลง มันไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ภายในข้ามคืนอยู่แล้ว การทำสิ่งต่างๆ ต้องใช้เวลา จะต้องอดทนกับมัน ต้องช่วยกันหล่อหลอมให้มันเข้าที่เข้าทาง

 

เราอยากให้เรานึกถึงอนาคตที่เราอยากมี นึกถึงภาพอนาคตที่เราจะสร้างได้ด้วยวิธีการต่างๆ ในอนาคต ว่าประชาชนจะสามารถขับเคลื่อนกันยังไง และในระหว่างทางที่ประยุทธ์ยังไม่ออก เราจะสะสมแนวร่วม ในการสร้างประเทศใหม่ของเรายังไง ให้มันเกิดขึ้นได้จริง 

 

สมมติประยุทธ์อยู่จนถึงวันที่เราเลือกตั้งใหม่ อยู่ครบวาระเลย ไม่ออก การเลือกตั้งครั้งหน้าเราคาดหวังอะไร เราคิดว่านี่มันไม่ใช่การต่อสู้ระยะสั้น ดังนั้นเราเลยอยากให้ทุกคนมีความหวังนะ  มันอาจจะไม่ใช่วันนี้พรุ่งนี้ เดือนหน้า เราเองก็ต้องอดทน แล้วก็ต้องมีความเพียรกับมัน ต่อสู้ในทุกแบบที่เราพอจะทำได้” 

 

 

ถ้าการเมืองดี

ความเครียดคือเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงไปได้ เบนจาจึงใช้เวลาว่างที่จะพอทุเลาความกังวลด้วยการปลูกต้นไม้ เธอบอกว่า เธอเป็นคนที่ใจร้อน แต่การปลูกต้นไม้ได้ช่วยให้เธอมีความอดทน และเป็นความอดทนในการพยายามที่จะปลูกสิ่งสิ่งหนึ่งให้ได้เติบโตด้วยน้ำมือของตัวเธอเอง

 

“เรามีคติว่าเราจะไม่ปลูกต้นไม้ด้วยความเร่งรีบ เราจะไม่บอกให้เขารีบโตนะ เราจะค่อย ๆ ปลูก ให้เขาได้โตในแบบของเขา เพราะเขาช่วยฮีลจิตใจเราได้ และเขาทำให้เราใจเย็น” 

 

เธอบอกเราว่า ถ้าการเมืองดี เบนจาอยากจะเรียนต่อ และตั้งใจเรียนให้ถึงที่สุด และหวังว่าตัวเองจะมีเวลาให้ได้เรียนอย่างเต็มที่

 

“เราอยากมีเวลาไปเดินเล่น กินอะไรอร่อย ๆ หาประสบการณ์ใหม่ ๆ มาเติมเต็ม ได้เดินทาง หรือแม้กระทั่งการได้ออกไปร้านหนังสือวันเสาร์อาทิตย์ ได้นั่งกินกาแฟที่ร้านริมแม่น้ำเจ้าพระยา ไปเดินเล่นฝั่งพระนคร ได้ไปแบ็คแพ็ค และไปเที่ยวต่างจังหวัด” 

 

และนี่คือความฝันอันเรียบง่าย ของเบนจา อะปัญ 

 

จนถึงวันนี้ ในทุก ๆ ครั้งที่พระอาทิตย์ขึ้น เพื่อนของเบนจายังคงอยู่ในเรือนจำ สามารถส่งจดหมายออนไลน์ถึงเพื่อน #ราษฎร ได้ที่ : https://bit.ly/3kO1g8V

 

 

ถามตอบคำถามกับเบนจา

เธอบอกเราว่า “อันนี้ยากกว่าคำถามข้างบนอีก!” 

 

วีรกรรมสุดเปรี้ยวกับเพื่อนสนิท 

ปีนรั้วออกจากโรงเรียน เพราะอยากโดดเรียนไปเดินสยาม แล้วก็ตอนประถม เคยใส่ชื่อปลอมลงตอนเดินสำรวจเอ็กซ์โป เพราะไม่อยากให้ใครรู้ว่าไป 

 

หนังหรือซีรีส์ที่ชอบ

จูโน่!

 

หนังสือที่ชอบ

ตอบยากมาก ชอบหลายเล่มเลย แต่นิยายที่ชอบ ชอบเพอร์ซี่ แจ็คสันค่ะ ชอบตัวละครธาเลีย เกรซ 

 

เพลงที่อยากส่งให้คนที่ชอบ 

เพื่อนเล่นไม่เล่นเพื่อน

 

เวลามีความรักทำอะไรให้คนที่ชอบ

ให้กำลังใจ ทำให้เขารู้ว่าเขาไม่ได้ลำบากหรือเคว้งคว้างอยู่คนเดียว

 

ไอดอล

ในแง่ของทัศนคติ ชอบอาจารย์ปรีดี

 

จะเลือกคนที่เรารักหรือคนที่รักเรา 

เลือกคนที่เรารัก

 

ชอบของคาวหรือของหวาน

ของคาว

 

ชอบวิชาอะไร

ชอบวิชาฟิสิกส์

 

แล้วเกลียดวิชาอะไร?

เกลียดวิชาพระพุทธศาสนา

 

ถ้าเป็นนายกจะทำอะไร

จะแก้ปัญหาโควิด

 

สามคำที่นิยามความเป็นตัวเอง

ขอใช้สิทธิข้าม!

 

อยากขอบคุณใครในชีวิต

อยากขอบคุณแม่ จริง ๆ แม่เขาก็เป็นห่วงเรา และเขาเป็นคนที่พยายามช่วยซัพพอร์ตเราตลอด มันมีหลายครั้งที่บางอย่างเขาก็ไม่เข้าใจเราเลย หรือไม่เห็นด้วย แต่เขาก็พยายามทำความเข้าใจว่าเราทำอะไรอยู่ กำลังเจอปัญหาอะไร และเขาเป็นคนเปิดกว้างกับเรามาก ๆ ตั้งแต่เด็กจนโต เราพูดกับเขาได้เสมอ ถ้าล้มเหลวก็เรียนรู้และปรับปรุงกับแม่ได้เสมอ

 

เขาคือคนที่สอนให้เราตั้งคำถามตั้งแต่เด็ก ไม่บอกว่าที่เราทำมันถูกหรือผิด แต่จะถามว่าถ้าทำแบบนี้คนอื่นจะชอบไหม แล้วถ้าเขาทำแบบนี้กับเรา เราจะชอบไหม ประมาณนี้ค่ะ 

 

ความฝันตอนเด็ก 

อยากเป็นนายก

 

อีกสิบข้างหน้าอยากทำอะไร 

อยากเปลี่ยนแปลงประเทศในทางที่ตัวเองทำได้

 

ประเทศไทยเป็นคนแบบไหน

ประเทศไทยเป็นคนที่ทรุดโทรม

 

ตอนนี้อยากไปเที่ยวที่ไหน

อยากไปสวิสเซอร์แลนด์