ส่องพ.ร.บ. ควบคุมเอ็นจีโอและภาคประชาสังคมในต่างประเทศ

16 กรกฎาคม 2564

Amnesty International Thailand

ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 เห็นชอบหลักการของร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกันและให้รับร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. ....  รวมทั้งความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประกอบการยกร่างกฎหมายก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป นั้น สำนักงานกฤษฎีกา ได้เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อพิจารณา พร้อมเชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นในเบื้องต้น ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (สำนักงานปลัดกระทรวงและกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ) กระทรวงมหาดไทย (กรมการปกครอง) กระทรวงแรงงาน (กรมการจัดหางาน) กระทรวงการต่างประเทศ (กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และกรมองค์การระหว่างประเทศ) กระทรวงยุติธธรม (กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ) สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน 

 

โดยสำนักงานกฤษฎีกาจะเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นต่อหลังการเพิ่มเติมของร่างฯ จากสำนักงานป้องกั้นและปราบปรามการฟอกเงิน ที่มีมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 โดยจะรับฟังผ่านระบบกลางทางกฎหมายซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาของสำนักงานฯ(https://lawtest.egov.go.th/ )อีกครั้งหนึ่ง วันที่ 1 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2564 

 

วันนี้ เราจึงขอคุณมา “ส่อง” กฎหมายที่มีลักษณะคล้ายกันกับ ร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกันและให้รับร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. ....   ในต่างประเทศ ว่าแต่ละประเทศอย่าง รัสเซีย จีน ฮังการี และอินเดีย มีกฎหมายเพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้อย่างไรกันบ้าง 

 

รัสเซีย 

รัสเซียเริ่มจัดระเบียบเอ็นจีโอต่างชาติ ด้วยกฎหมายฉบับแรกเมื่อปี พ.ศ. 2549 หลังตระหนักชัดถึงภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ ที่แฝงอยู่ในกลุ่มเอ็นจีโอต่างชาติ ซึ่งขณะนั้นรัสเซียมีเอ็นจีโอทั้งต่างชาติและท้องถิ่นในประเทศมากมายอย่างไม่น่าเชื่อถึงประมาณ 450,000 กลุ่ม ก่อนที่กฎหมายฉบับที่ 2 จะออกมาเมื่อปี 2555 

 

ในเดือนพฤษภาคม 2558 วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียได้ลงนามผ่านร่างกฎหมายฉบับใหม่ ซึ่งอนุญาตให้อัยการรัสเซียสามารถประกาศให้กลุ่มเอ็นจีโอต่างชาติเป็น “กลุ่มเคลื่อนไหวที่ไม่พึงปรารถนา” และสั่งปิดองค์กรได้ หากกลุ่มดังกล่าวเข้าข่ายบ่อนทำลาย “ความมั่นคงของรัฐ” หรือ “ค่านิยมพื้นฐานของรัสเซีย” ทำให้กลุ่มหรือข้อความรณรงค์เสี่ยงที่จะถูกสั่งห้ามเคลื่อนไหวในรัสเซีย รวมถึงอาจถูกระงับบัญชีธนาคาร ปรับเงิน และจำคุกสูงสุด6ปี หลังผู้นำรัสเซียได้ลงนามผ่านกฎหมายดังกล่าว กฎหมายฉบับล่าสุดน่าจะเป็นการอุดช่องโหว่ แก้ไขข้อบกพร่องของ 2 ฉบับแรกแม้กฎหมายฉบับใหม่จะมีเป้าหมายเล่นงานเอ็นจีโอต่างชาติโดยเฉพาะ แต่หลายกลุ่มเอ็นจีโอของรัสเซียเองแสดงความวิตกว่าอาจได้รับผลกระทบด้วย เพราะกฎหมายระบุว่า กลุ่มเคลื่อนไหวท้องถิ่นที่ทำงานร่วมกับ “กลุ่มผู้ไม่พึงปรารถนา” จะถูกสั่งห้ามเคลื่อนไหวในประเทศ มีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 6 ปี และปรับ 500,000 รูเบิล 

 

จีน

 

รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน (PRC) ได้ออกกฎหมายควบคุมเอ็นจีโอภายในประเทศที่มีชื่อว่า กฎหมายองค์กรการกุศล ส่วนเอ็นจีโอต่างประเทศพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CCP) ได้เน้นย้ำต่อสาธารณชนถึงความจำเป็นในการควบคุม เอ็นจีโอ ต่างประเทศในการประชุมพรรคที่สำคัญตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 การอภิปรายของพรรคและสภาแห่งรัฐ การประชุมครั้งนี้ทำให้ทราบว่ารัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน (PRC) มองว่า เอ็นจีโอ ต่างประเทศเป็น ประภัยความมั่นคงเป็นอันดับแรก ในวันที่ 28 เมษายน 2559 จึงมีมติผ่านร่างกฎหมาย บริหารกิจกรรมองค์กรนอกภาครัฐโพ้นทะเลในจีนแผ่นดินใหญ่ หรือ “Law of the People’s Republic of China on Administration of Activities of Overseas Nongovernmental Organizations in the Mainland of China” ซึ่งเป็นกฎหมายที่พิจารณาร่วมกับ กฎหมายความมั่นคงอื่น ๆ เช่น กฎหมายการก่อการร้าย กฎหมายความมันคงทางไซเบอร์ และกฎหมายความมันคงของชาติ เป็นต้น ซึ่งมีเนื้อหาในการจำกัดสิทธิเสรีภาพ คือ ต้องไม่ทำลายความสามัคคีของคนในชาติหวังทำลายความมั่นคงทางเชื้อชาติ รวมทั้งต้องไม่ทำกิจกรรมทางการเมืองและศาสนา

 

ฮังการี

ในประเทศฮังการี รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีวิคเตอร์ ออร์บาน (Viktor Orban) ได้ผลักดันกฎหมายว่าด้วยความโปร่งใสขององค์กรที่ได้รับเงินสนับสนุนจากต่างชาติ (Transparency Law) โดยมีผลใช้บังคับมาตั้งแต่ปี 2560 รัฐบาลได้ให้เหตุผลว่าเพื่อต้องการสร้างความโปร่งใสแก่องค์กรเอกชน ป้องกันการฟอกเงินและอาชญากรรมอื่นๆ แต่นักวิชาการมองว่ากฎหมายนี้มีขึ้นเพื่อจัดการกับเครือข่ายของนายโซรอสโดยตรง

 

กฎหมายนี้กำหนดมาตรการที่เข้มงวดแก่องค์กรเอกชนที่รับเงินสนับสนุนจากต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นจากประเทศสมาชิกใน EU หรือจากประเทศอื่นๆ โดยมีมาตรการที่สำคัญ 3 ประการ คือ การจดทะเบียน (Registration) การประกาศ (Declaration) และการเผยแพร่ต่อสาธารณะ (Publication)

 

กล่าวคือองค์กรเอกชนที่ได้รับเงินสนับสนุนจากภายนอกประเทศต่อปีเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่กำหนดไว้ (7.2 ล้านโฟรินท์ หรือประมาณ 740,000 บาท) จะต้องจดทะเบียนต่อศาลในฐานะเป็น “องค์กรเอกชนที่ได้รับเงินสนับสนุนจากต่างชาติ” และจะต้องรายงานชื่อผู้บริจาคที่มียอดบริจาคต่อปีเกินกว่าอัตราที่กำหนดไว้ (5 แสนโฟรินท์ หรือประมาณ 51,000 บาท) รวมทั้งจำนวนเงินที่บริจาคในการจดทะเบียนด้วย ข้อมูลเหล่านี้จะถูกเปิดเผยในฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งสาธารณะสามารถเข้าถึงได้โดยเสรี นอกจากนี้ องค์กรเหล่านี้จะต้องระบุสถานะของตนเองไว้อย่างชัดเจนทั้งในเว็บไซต์และเอกสารเผยแพร่ต่างๆ ว่าได้รับเงินสนับสนุนจากต่างชาติด้วย โดยการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวมีโทษทางอาญาตามที่กำหนดไว้

 

อินเดีย 

 

ไม่มีกฎหมายควบคุมหรือส่งเสริม เอ็นจีโอเป็นการเฉพาะ แต่ใช้มาตรการการควบการรับเงินจากต่างชาติ The foreign Contribution (Regulation)Act,2010 แทนในการควบคุมเอ็นจีโอ มีเนื้อหา บุคลใดๆที่ดำเนินโครงการ ทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การศึกษา ศาสนา สังคมที่รับเงินต่างชาติต้องมาขึ้นทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา กลุ่มเอ็นจีโอในอินเดียถูกกวาดล้างครั้งใหญ่โดยอ้างมาตรการที่กล่าวมาข้างต้น โดยรัฐบาลอินเดียระบุว่า เอ็นจีโอหลายกลุ่ม เช่น กรีนพีซ กำลังทำลายเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการรณรงค์ต่อต้านโครงการพัฒนาสำคัญหลายโครงการของรัฐบาล ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลอินเดียจึงเห็นชอบการเพิกถอนใบอนุญาตเอ็นจีโอ ที่อ้างการใช้เงินบริจาคต่างชาติ มาใช้ในการทำลายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอีกทั้งรัฐบาลเห็นว่า เป็นภัยคุกคามต่อความสามัคคีของคนในชาติ เพราะเอ็นจีโอมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีเป้าหมายสร้างความแตกแยกระหว่างกลุ่มคนต่างศาสนา เชื้อชาติ สังคม ภาษา และชนชั้นวรรณะ
สำหรับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายกวาดล้างเอ็นจีโอของรัฐบาลอินเดีย ระบุว่า การกวาดล้างเอ็นจีโอเป็นความพยายามปิดปากเสียงฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาล และส่งผลกระทบอย่างหนักต่อองค์กรการกุศลในอินเดีย อย่างเช่น โรงเรียนสำหรับเด็กวรรณะจัณฑาล ที่เป็นกลุ่มชนชั้นต่ำของสังคมอินเดีย ซึ่งโรงเรียนจะต้องปิดตัวลง หากรัฐบาลสกัดกั้นเงินทุนจากต่างชาติ



 

ผลกระทบร่างพ.ร.บ. ในประเทศไทย 

หากร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกันและให้รับร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. ....  ผ่านการพิจารณาและนำมาบังคับใช้ในประเทศไทย ผลจะไม่ได้เกิดขึ้นแต่เพียงกับเอ็นจีโอเท่านั้น แต่รวมถึงการรวมอื่นต่าง ๆ และคณะบุคคล อีกด้วย เนื่องจากคำว่า “คณะบุคคล” นั้นมีการตีความอย่างกว้างขวาง และรัฐบาลเองก็ยังมีอำนาจใจการพิจารณาว่าจะยกเว้นองค์กรใดในการบังคับใช้กฎหมายนี้ ซึ่งอาจรวมไปถึง กลุ่มสถาบันวิชาการ กลุ่มชุมชน มูลนิธิ งานแสดงศิลปะ องค์กรนักศึกษา โครงการทีทำกิจกรรมเพื่อสังคม ฯลฯ 

 

ผลกระทบจะมีอะไรบ้าง?

 

ทุกกลุ่มต้องจดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย

ไม่ว่าคุณจะรวมกลุ่มในรูปแบบใด ก็อาจถูกตีความอยู่ใต้พ.ร.บ.นี้ ที่กำหนดนิยามไว้อย่างกว้างขวาง หากไม่จดทะเบียน จะกลายเป็นกลุ่มที่ผิดกฎหมาย

 

เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาควบคุมการดำเนินกิจกรรมได้ 

กลุ่มใดก็ตามที่รับทุนจากต่างประเทศ เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจเต็มที่ที่จะพิจารณาว่ากิจกรรมใดบ้างที่จะสามารถกระทำโดยใช้เงินทุนนั้น และมีบทบัญญัติให้อำนาจแก่ทางการไทยในการตรวจสอบองค์กรต่างๆ อย่างใกล้ชิด 

 

กระทบความเป็นส่วนตัวและปิดกั้นการแสดงออก

เจ้าหน้าที่ไทยสามารถเข้าไปในสำนักงานขององค์กรภาคประชาสังคม ทำสำเนาข้อมูลจราจรทางอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้าและไม่ต้องมีหมายศาล ซึ่งเป็นการคุกคามสิทธิและความเป็นส่วนตัว

 

อาจเกิดการลงโทษที่รุนแรง

หากไม่จดทะเบียนอาจต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถือเป็นการลงโทษทางอาญาที่รุนแรงเกินความจำเป็นต่อประชาชน

 

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จึงขอเชิญชวนองค์กรภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ ร่วมส่งภาพถ่ายหรือวิดีโอในการทำงานเพื่อสังคม ในองค์กรของท่าน เพื่อนำไปเผยแพร่ในสาธารณะ ในแพลตฟอร์มออนไลน์ ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย แสดงให้เห็นความสำคัญขององค์กรภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วย ต่อร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ. ... ซึ่งมีเนื้อหาที่ประกอบด้วยบทบัญญัติจำกัดสิทธิเสรีภาพในการสมาคมและสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ อย่างเกินควร 

อีกทั้งยังไม่ได้ให้เหตุผลที่เพียงพอในการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการสมาคม และอ้างอิงเหตุผลเพื่อกำหนดข้อจำกัดที่นอกเหนือไปจากที่สามารถกระทำได้ภายใต้กรอบสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ร่าง พ.ร.บ.ฯ ฉบับนี้บังคับใช้กับองค์กรภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ ทั้งหมดที่เป็นองค์กรจัดตั้งขึ้นเพื่อทำงานให้สังคมโดยรวมและไม่แสวงหาผลกำไร อาทิ เช่น มูลนิธิ สมาคม ชมรม ฯลฯ และบังคับให้องค์ดังกล่าวต้องจดเบียน ทำให้องค์กรที่ไม่ได้จดทะเบียนกลายเป็นองค์กรที่ผิดกฎหมาย ซึ่งไม่สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และยังกำหนดความผิดทางอาญาใหม่ที่กว้างและคลุมเครือ อีกทั้งยังกำหนดให้มีโทษจำคุกต่อบุคคลที่ดำเนินงานในองค์กรที่ไม่ได้ทำการจดทะเบียนอีกด้วย 

ดังนั้น การทำงานของภาคประชาสังคม จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปหากร่าง พ.ร.บ.ฯ ฉบับนี้ถูกบังคับใช้ในราชอาณาจักรไทย 

สามารถอ่านบทความสรุปภาพรวมและผลกระทบของกฎหมายนี้เพิ่มเติมได้ที่  https://bit.ly/3bk8spq  

ข้อมูลทั้งหมดที่ได้มาทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ใช้สำหรับการประชาสัมพันธ์และเป็นกระบอกเสียงให้เห็นถึงความสำคัญขององค์กรภาคประชาสังคมและเอ็นจีโอเท่านั้น 

ลิงค์สำหรับการส่งข้อมูล: https://forms.gle/DBrYxAxWG38hATLu5