รู้จักณัฐชา ลี ลูกครึ่งไทย-ไต้หวัน ผู้หวังสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม

28 สิงหาคม 2562

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย
ผู้เขียน สัณหนัฐ สิทธิวุฒิวรพันธุ์
ภาพถ่ายโดย ยศธร ไตรยศ

การฝึกงานถือเป็นก้าวแรกที่จะพานักศึกษาเข้าสู่โลกแห่งการทำงานก่อนที่นักศึกษาจะสำเร็จการศึกษา ดังนั้นการเลือกที่ฝึกงานให้ตรงกับสายงานที่เราเลือกจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก วันนี้แอมเนสตี้ ประเทศไทยพาไปคุยกับ ณัฐชา ลี ลูกครึ่งไทย-ไต้หวัน นักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าเหตุใด คนรุ่นใหม่อย่างณัทชา ถึงต้องเดินทางลงมาจากเชียงใหม่เพื่อมาฝึกงานกับองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอย่างแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

 

ทำไมถึงอยากทำงานด้านสิทธิมนุษยชน

ที่อยากทำงานด้านสิทธิมนุษยชนเพราะว่า อยู่ไต้หวันมา 10 ปีทำให้เห็นข้อแตกต่างและข้อจำกัดระหว่างสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยและไต้หวัน เนื่องจากตอนอยู่ไต้หวันไม่เคยมีใครมาห้ามเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก ทำให้ทราบว่าในประเทศไทยยังมีการกีดกันและมีข้อจำกัดในการใช้สิทธิและเสรีภาพอยู่เยอะมาก ไม่ว่าจะจากศาสนา จารีต ประเพณี หรือแม้แต่มุมมองและความคาดหวังของสังคม ทำให้รู้สึกอึดอัดเหมือนถูกกีดกันและโดนสังคมบังคับให้เป็นสิ่งที่ไม่เป็นตัวของตัวเอง เช่น การที่ผู้หญิงต้องเป็นแม่บ้านแม่เรือน ห้ามเที่ยวกลางคืน ห้ามดื่มสุรา ฯลฯ ทำให้รู้สึกว่ามันละเมิดสิทธิที่จะเป็นตัวของตัวเอง ทำให้อยากทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้

 

69292316_883738875358187_681569180540993536_n.jpg

คำว่า “สิทธิมนุษยชน” หมายถึงอะไรสำหรับณัฐชา

สิทธิมนุษยชนหรือ Human Rights มาจากคำว่า Human คือมนุษย์และ Right คือความถูกต้องความเป็นธรรม ดังนั้นสิทธิมนุษยชนคือการที่มนุษย์ทุกคนทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันและควรจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมยุติธรรม และเวลานึกถึงสิทธิจะนึกถึงเสรีภาพ โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็นคือการที่สามารถแสดงออกได้โดยที่สังคมเคารพความแตกต่างซึ่งกันและกัน และสิทธิก็คือการเป็นตัวของตัวเองโดยไม่ถูกบังคับ กีดกัน อย่างเรื่องเพศ ซึ่งเราไม่ควรถูกเลือกปฏิบัติจากมุมมองทางเพศหรือรสนิยม และสิทธิที่จะชอบหรือรักใครควรจะเป็นสิทธิของเรา

 

รู้จักแอมเนสตี้ได้ยังไงและทำไมถึงเลือกที่จะมาฝึกงานกับแอมเนสตี้

รู้จักแอมเนสตี้เพราะว่าเคยอ่านข่าวและบทความเกี่ยวกับแอมเนสตี้ และอาจารย์พูดถึงบ่อยๆ และเลือกที่จะมาฝึกงานที่แอมเนสตี้เพราะว่าเคยฝึกงานกับ NGO ที่ทำงานด้านสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ ผู้ลี้ภัย และชนกลุ่มน้อยที่เชียงใหม่ เลยมาลองฝึกงานที่แอมเนสตี้ เพราะว่าแอมเนสตี้ก็มีงานที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ ผู้ลี้ภัย และชนกลุ่มน้อยแต่เป็นบริบทของผู้ลี้ภัยในเมือง เลยมาฝึกเพื่อหาความแตกต่างระหว่างการทำงานของแอมเนสตี้และ NGO อื่นๆ เพื่อเอากลับไปประยุกต์ใช้กับที่เชียงใหม่ และอีกเหตุผลก็คือ อยากทำงานด้านสิทธิ เพื่อช่วยส่งเสริมเรื่องสิทธิและเสรีภาพในประเทศไทย โดยเฉพาะสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก

 

ทำงานฝ่ายไหน แต่ละวันทำอะไรบ้าง งานหนักไหม

ได้ฝึกงานกับฝ่าย Growth and Fund raising โดยงานในแต่ละวันคือการ ช่วยงานนิทรรศการ ช่วยโปรโมทแอมเนสตี้ ชวนคนเข้ามาเป็นสมาชิก และงานในแต่ละวันมักจะไม่ได้ถูกจำกัดไว้ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ดังนั้นแต่ละฝ่ายจะสามารถช่วยฝ่ายอื่นได้อย่างอิสระ และในแต่ละวันงานไม่หนักมาก กำลังโอเค ไม่เยอะหรือน้อยเกิน

 

69400237_748837092203678_591702934106931200_n.jpg

สนใจประเด็นหรือปัญหาอะไรของสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

สนใจเรื่องผู้ลี้ภัย สิทธิของ LGBT และ การละเมิดสิทธิในการแสดงออก

 

พอได้เข้ามาฝึกงานได้ทำประเด็นหรือปัญหาที่สนใจไหม

ได้ทำ ได้เข้าร่วมหลายๆกิจกรรมกับทางแอมเนสตี้ เช่นงานสัมมนาของ LGBT กิจกรรมวันผู้ลี้ภัย (Refugee day) และงานเสวนาเรื่องผู้ลี้ภัยชายแดน

 

คิดว่าการได้มาฝึกงานกับแอมเนสตี้จะเป็นประโยชน์ต่อตัวณัทชาเอง และสังคมอย่างไรบ้าง

ทำให้ได้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน และสามารถเอาความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการฝึกงาน ไปเผยแพร่ให้เพื่อนๆ รุ่นน้อง และสังคม เพื่อให้คนรุ่นต่อๆ ไปสามารถนำความรู้ไปใช้เพื่อพัฒนาสังคมและเปลี่ยนแปลงประเทศ

 

สุดท้ายนี้ มีอะไรจะแนะนำหรือชักชวนให้นักศึกษาฝึกงานคนอื่นเลือกมาฝึกงานกับแอมเนสตี้ไหม

เนื่องจากองค์กรแอมเนสตี้เป็นองค์กรขนาดกลาง ไม่ใหญ่หรือเล็กมาก จึงทำให้การทำงานที่นี่นั้นสามารถเรียนรู้ได้จากทุกหน่วยงานไม่ถูกจำกัดไว้ที่แผนกใดแผนกหนึ่ง เนื่องจากทุกแผนกต้องทำงานร่วมกัน ทำให้ได้รับความรู้ที่หลากหลาย และการเข้ามาทำงานที่แอมเนสตี้ จะทำให้เรารู้วิธีการทำงานขององค์กรสิทธิ จากที่เราเป็นแค่ผู้ดูจะกลายเป็นผู้ทำ

 

หากสนใจมาร่วมฝึกงานกับแอมเนสตี้ ประเทศไทย สมัครได้ที่นี่